ตอนที่ ๔๖ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
สานุศิษย์ – ผมข้องใจเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
หลวงปู่ทวด – คือปัญหาเรื่องกฎแห่งกรรม ภาวะมนุษย์คล้ายๆ ว่า มนุษย์เรานี่ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า มนุษย์ดูความดีความชั่ว ความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จในตอนที่มนุษย์ผู้นั้นทำสิ่งนั้นไปแล้ว คือ
ในกฎแห่งสังสารวัฏ กฎแห่งกรรมเขาถือหลักที่ว่า หว่านพืชเช่นไรก็ต้องได้พืชเช่นนั้นเป็นสิ่งแน่นอน ทีนี้ บางครั้งที่ว่าเราไปเห็นคนทำชั่วเขาสบาย ไอ้คำว่าสบายอันแท้จริงอยู่ที่ไหน สบายที่แท้จริงมันอยู่ที่นามธรรม ที่เราเห็นว่าภายนอกเขาสบาย แต่ภายในเขาไม่สบาย เรามองไม่เห็น ที่เรานึกว่า เขาทำชั่วแล้วเขาสบายแล้วเขาดี เพราะยังไม่ถึงวาระสุดท้าย
ถ้าภาษาชาวบ้าน เขาก็เรียกว่า ดูหนังดูละครยังไม่จบเรื่อง มนุษย์ทุกๆ คนยังเป็นปุถุชนยังเป็นคนอยู่นั้น ต้องเข้าใจว่าความดีและความชั่วย่อมที่จะดูกันยาก เพราะว่ากรรมวิบากน่ะมันละเอียดถี่ยิบที่มันวิบากกัน ซึ่งถ้าท่านเคยศึกษามา ท่านโตเป็นหมอดูตัวฉกาจ แต่เมื่อท่านเวลานี้ไปอยู่โลกวิญญาณแล้ว ท่านไม่กล้าดูหมอดูให้เขา
เพราะวิบากกรรมนี่มันถี่ยิบ ถี่ยิบจนที่เราเรียกว่าตามไม่ทันในกฎของศูนย์รวมกรรม มนุษย์เราเป็นสื่อกลางของการใช้กรรม สิ้นจากโลกมนุษย์ ถ้าไม่สำเร็จจากด้านฌานญาณ จึงเรียกว่า โลกมนุษย์คือสื่อกลางของการใช้กรรม
ฉะนั้นที่เราไม่เข้าใจ เพราะเราไปถือเรื่องของวัตถุภายนอกเป็นสิ่งที่ว่า เขาทำชั่วได้ดี ความจริง คนที่เขาทำความชั่วก็ดี คนที่เขาไม่มีหิริโอตัปปะในใจก็ดี บุคคลเหล่านี้ท่านต้องมองสีหน้าเขาให้นาน จะรู้สึกว่าเขาไม่มีความสุขเลย เพราะภายในสิ่งที่เขาทำ เขาย่อมรู้
ทีนี้ อย่างที่ว่าทำไมจึงส่งผลช้า ท่านต้องเข้าใจว่า บารมีสะสม อย่างเวลานี้ผู้นำโลกมนุษย์หลายๆ ประเทศที่เคยอยู่นรกบำเพ็ญเป็นกัปๆ กัลป์ๆ ซึ่งเป็นหมื่นๆ ล้านๆ ปีทิพย์แล้ว ได้มีโอกาสเกิดขึ้นมาสู่โลกมนุษย์ แต่ความที่ว่าอนุสัยมันเป็นสิ่งที่ตัดยาก
ทีนี้ ที่เขามีความสบายอยู่ พูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือว่า แบบเขาเก็บเงินเก็บไว้ฝากธนาคารอยู่ แล้วเขาใช้เงินจากธนาคารที่เขาฝากอยู่เป็นอันมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราก็นึกว่า ทำไมเขาชั่วแล้วเขาได้ดีนั้น เพราะเงินเก่าเขามี บารมีเก่าของเขามีก็ดี
ทีนี้ เรื่องบารมีแห่งการส่งผลของกรรมนี้ มันไม่ใช่สามารถดูแค่ปัจจุบันชาติ ไม่สามารถที่จะลงข้อยุติในปัจจุบันในเดี่ยวนี้แลบัดนี้ เพราะว่าทุกอย่างก่อนที่จะเกิดเป็นมนุษย์เกิดเป็นอะไรคลุกเคล้าอยู่ในสังสารวัฏเป็นกัปๆ กัลป์ๆ แห่งชีวิตของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นสิ่งยึดถือหลักที่ว่า
สร้างความดีย่อมได้ดี สร้างความชั่วย่อมได้ชั่ว แต่ว่าผลมันคล้ายกัน เขาเรียกว่า ต่างกรรมต่างวาระ ต่างกรรมต่างวิบาก ที่แบบจะตามใจที่เราคิดไม่ได้หรอกในโลกมนุษย์
บางคนเขาอาจอยู่ในโลกมนุษย์สบาย แต่เขาไปใช้กรรมในโลกวิญญาณแสนที่จะลำบาก ซึ่งมนุษย์ก็ไม่สามารถจะเห็น อันนี้เป็นเรื่องที่ว่าเกิดช่องว่างมนุษย์กับโลกวิญญาณ และเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องพยายามฝึกจิตให้ถึงธรรมก็ย่อมที่จะรู้ผลอย่างแท้จริงว่า
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
เจริญพร
(เทศน์เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๘)
|