แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๑

คิดว่าไม่มีดี



ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในผลการปฏิบัติของตน โดยที่มักจะขาดการไตร่ตรองว่าสาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ดังที่เคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อได้มานั่งบ่นให้ท่านฟังในความอัตภาพอับวาสนาของตนในการภาวนาว่าตนไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นสิ่งต่างๆ ภายใน มีนิมิตภาวนาเป็นต้น ลงท้ายก็ตำหนิว่าตนนั้นไม่มีความรู้อรรถรู้ธรรมและความดีอะไรเลย

หลวงพ่อนั่งฟังอยู่สักครู่ ท่านจึงย้อนถามลูกศิษย์จอมขี้บ่นผู้นั้นว่า
“แกแน่ใจหรือว่าไม่มีอะไรดี แล้วแกรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือเปล่า”

ลูกศิษย์ผู้นั้นนิ่งสักครู่จึงตอบว่า “รู้จักครับ”
“เออ นั่นดี แล้ว แกทำไมจึงคิดว่าตัวเราไม่มีดี”

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเมตตาของท่าน ที่หาทางออกทางปัญญาให้ศิษย์ผู้กำลังท้อถอยด้อยความคิด และตำหนิวาสนาตนเอง หากปล่อยไว้ย่อมทำให้ไม่มีกำลังใจในการปฏิบัติเพื่อผลที่ควรได้แห่งตน


pngegg.5.3.1.png


ตอนที่ ๒๒

“พ พาน” ของหลวงพ่อ



หลวงพ่อเคยปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า
“ถ้าแกเขียนตัว พ พานได้เมื่อไร นั้นแหละจึงจะดี”

ผู้เขียนถามท่านว่า
“เป็นอย่างไรครับ พ พาน”

ท่านตอบว่า
“ก็ตัว พอ น่ะซิ”


คนเราจะมีชีวิตอยู่ในโลก ไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมีฐานะแล้วจึงจะมีความสุข มีคนที่ลำบากอีกมาก แต่เขารู้จักว่าอะไรคือสิ่งที่พอตัว ก็สามารถอยู่อย่างเป็นสุขได้

นี่ก็อยู่ที่คนเรา รู้จักคำว่า “พอ” ก็จะมีแต่ความสุข แต่ถ้าไม่รู้จัก “พอ” ถึงแม้จะร่ำรวย มีเกียรติ ตำแหน่งใหญ่โตอะไร มันก็ไม่มีความสุขได้เหมือนกัน



pngegg.5.3.2.png


ตอนที่ ๒๓

การสอนของท่าน



วิธีวัดอย่างหนึ่งว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมได้ดีเพียงใดนั้น ท่านให้สังเกตดูว่า ผู้นั้นสามารถฝึกตน สอนตัวเองได้ดีเพียงใด การเตือนผู้อื่นไม่ให้หลงผิดได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การเตือนตนเองให้ได้ย่อมดีกว่า

การสอนของหลวงพ่อท่านจะทำให้เราดูเป็นตัวอย่าง ท่านสอนให้เราทำอย่างที่ท่านทำ มิได้สอนให้ทำตามที่ท่านสอน ทุกอย่างที่ท่านสอนท่านได้ ทดลองทำและปฏิบัติทางจิตจนรู้จนเห็นหมดแล้วทั้งสิ้น จึงนำมาอบรมแก่ศิษย์

เหมือนเป็นแบบอย่างให้เราได้ยึดถือตามครูอาจารย์ว่า การแนะนำอบรมหรือสอนธรรมผู้อื่นนั้น เราต้องปฏิบัติจนแน่ใจตนเองเสียก่อน และควรคำนึงถึงสติปัญญาความสามารถของตน ถ้ากำลังไม่พอแต่จะรับภาระมาก นอกจากผู้มาศึกษาจะไม่ได้รับประโยชน์แล้ว ตนเองยังจะกลายเป็นคนเสียไปด้วย ท่านว่าเป็นการไม่เคารพธรรมและไม่เคารพครูอาจารย์อีกด้วย


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๔

หัดมองชั้นลึก



ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ล้วนมีความหมายชั้นลึกโดยตัวของมันเองอยู่เสมอ ไอน์สไตน์มองเห็นวัตถุ เขาคิดทะลุเลยไปถึงการที่จะสลายวัตถุให้เป็นปรมาณู สองพี่น้องตระกูลไรท์มองเห็นนกบินไปมาในอากาศ ก็คิดเลยไปถึงการสร้างเครื่องบินได้

พระพุทธเจ้าแต่ครั้งเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงพบคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านก็มองเห็นถึงความคิดไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

หลวงพ่อเคยเตือนสติลูกศิษย์รุ่นหนุ่มที่ยังมองเห็น สาวๆ ว่าสวยว่างาม น่าหลงใหลใฝ่ฝันกันนักว่า

“แกมันดูตัวเกิด ไม่ดูตัวดับ
ไม่สวยงาม ไม่งาม เน่า เหม็น
ให้เห็นอย่างนี้ได้เมื่อไร ข้าว่าแกใช้ได้”


pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๒๕

เวลาเป็นของมีค่า



หลวงพ่อเคยบอกว่า.....

“คนฉลาดน่ะ เขาไม่เคยมีเวลาว่าง”

เวลาเป็นของมีค่า เพราะไม่เหมือนสิ่งอื่น แก้วแหวนเงินทอง สิ่งของทั้งหลาย เมื่อหมดไปแล้วสามารถหามาใหม่ได้

แต่สำหรับเวลาแล้ว หากปล่อยให้ผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า

“สมควรแล้วหรือยังกับวันคืนที่ล่วงไปๆ คุ้มค่าแล้วหรือกับลมหายใจที่เหลือน้อยลงทุกขณะ”


pngegg.5.3.2.png


ตอนที่ ๒๖

ต้องทำจริง



ในเรื่องของความเคารพครูอาจารย์และความตั้งใจจริงในการปฏิบัติ หลวงพ่อเคยบอกว่า

“การปฏิบัติ ถ้าหยิบจากตำราโน้นนี้ (หรือ) แบบแผนมาสงสัยถาม มักจะโต้เถียงกันเปล่า โดยมากชอบเอาอาจารย์โน่นนี่ว่าอย่างนั้นอย่างนี้มา

การจะปฏิบัติให้รู้ธรรม เห็นธรรม ต้องทำจริง จะได้อยู่ที่ทำจริง ข้าเป็นคนมีทิฐิแรง เรียนจากครูอาจารย์นี้ ยังไม่ได้ผลก็จะต้องเอาให้จริงให้รู้ ยังไม่ไปเรียนกับอาจารย์อื่น ถ้าเกิดไปเรียนกับครูอาจารย์อื่นโดยยังไม่ทำให้จริงให้รู้ ก็เหมือนดูถูกหมิ่นครูอาจารย์”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๗

ล้มให้รีบลุก



เป็นปกติของผู้ปฏิบัติธรรม ช่วงใดเวลาใดที่สามารถปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้า จิตใจสงบเย็นเป็นสมาธิได้ง่าย สามารถพิจารณาอรรถธรรมให้ผ่านทะลุจิตใจได้โดยตลอดสาย ช่วงดังกล่าวมักจะต้องมีปัญหา และอุปสรรคที่เข้ามาไม่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อมาขวางกั้นการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติคนนั้น ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สามารถเตรียมใจรับกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ ธรรมที่กำลังพิจารณาดีๆ ก็ต้องโอนเอนไปมาหรือล้มลุกคลุกคลานอีกได้

ผู้เขียนเคยกราบเรียนให้หลวงพ่อถึงปัญหาและอุปสรรคที่กำลังประสบอยู่

หลวงพ่อเมตตาให้กำลังใจว่า.....


“พอล้มให้รีบลุก รู้ตัวว่าล้มแล้วต้องรีบลุก แล้วตั้งหลักใหม่ จะไปยอมมันไม่ได้”


……ก็เหมือนกับตอนที่แกเป็นเด็กคลอดออกมากว่าจะเดินเป็น แกก็จะต้องหัดเดินจนเดินได้ แกต้องล้มกี่ทีเคยนับไหม พอล้มแกก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ใช่ไหม…..ค่อยๆ ทำไป”

หลวงพ่อเพ่งสายตามาที่ผู้เขียนแล้วเมตตาสอนว่า
“ของข้าเสียมามากกว่าอายุแกซะอีก ไม่เป็นไร ตั้งมันกลับไป”

ผู้เขียน “แล้วจะมีวิธีป้องกันไม่ให้ล้มบ่อยได้อย่างไร”


หลวงพ่อ “ต้องปฏิบัติธรรมให้มาก ถ้ารู้ว่าใจเรายังแข็งแกร่งไม่พอ ถูกโลกเล่นงานง่ายๆ แกต้องทำให้ใจแกแข็งแกร่งให้ได้ แกถึงจะสู้กับมันได้”

เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังใจของนักปฏิบัติ ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้งก็ตาม แต่ทุกๆ ครั้งเราจะได้บทเรียน ได้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป ให้น้อมนำสิ่งที่เราเผชิญมาเป็นครู เป็นอุทาหรณ์สอนใจของเราเอง เตรียมใจของเราให้พร้อมอีกครั้ง ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๘

อย่าทำเล่น



เคยมีผู้ปรารภกับผู้เขียนว่าปฏิบัติธรรมมาหลายปีเต็มที แต่ภูมิจิต ภูมิธรรม ไม่ค่อยจะก้าวหน้าถึงขั้น “น่าชมเชย” ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตัวเองและหมู่เพื่อนเป็นโรคระบาดคือโรคขาอ่อน หลังอ่อน ไม่สามารถจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ ต้องอาศัยนอนภาวนาพิจารณา “ความหลับ” เป็นอารมณ์เลยต้องพ่ายแพ้ต่อเจ้ากรรมนายเวร คือ เสื่อและหมอนตลอดชาติ

พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกำไรแสนมหากัป ครั้นออกบวชก็ทรงเพียรปฏิบัติอยู่หลายปี กว่าจะได้บรรลุพระโพธิญาณ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน ฯลฯ ท่านปฏิบัติธรรมตามป่าตามเขา บางองค์ถึงกับสลบเพราะพิษไข้ป่าก็หลายครั้ง หลวงพ่อดู่ท่านก็ปฏิบัติอย่างจริงจังมาตลอดหลายสิบพรรษา กว่าจะได้ธรรมแท้ๆ มาอบรมพร่ำสอนเรา

แล้วเราล่ะ ปฏิบัติกันจริงจังแค่ไหน
“ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” แล้วหรือยัง


pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๒๙

อะไรมีค่าที่สุด



ถ้าเราลองคิดดูกันแล้ว สิ่งที่มีค่ามากที่สุดในชีวิตเราตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายคืออะไร หลายคนอาจตอบว่า ทรัพย์สมบัติ สามี ภรรยา บุคคลที่รัก หรือบุตร หรืออะไรอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่า ชีวิตของเรานั้นมีค่ามากที่สุด เพราะถ้าเราสิ้นชีวิตแล้ว สิ่งที่กล่าวข้างต้นก็ไม่มีความหมายใดๆ

ชีวิตเป็นของมีค่ามากที่สุด ในจำนวนสิ่งที่เราอยู่ในโลกนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เป็นของมีค่าที่สุดในโลก สิ่งต่างๆ ในโลกช่วยให้เราพ้นทุกข์ชนิดถาวรไม่ได้ แต่พระธรรมช่วยเราได้ ผู้มีปัญญาทั้งหลายควรจะผนวกเอาสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดทั้งสองนี้ให้ขนานทาบทับเป็นเส้นเดียวกัน อย่าให้แตกแยกจากกันได้เลย ดังพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า

การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นของยาก
การได้มีชีวิตอยู่เป็นของยาก
การได้ฟังพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นของยาก
การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า เป็นของยาก

อะไรจะมีค่ามากที่สุด สำหรับผู้ที่ได้นมัสการหลวงพ่อนั้นคงไม่ใช่พระพรหมผง หรือเหรียญอันมีชื่อของท่าน

หลวงพ่อเคยเตือนศิษย์เสมอว่า


“ข้าไม่มีอะไรให้แก
(ธรรม) ที่สอนไปนั้นแหละ ให้รักษาเท่าชีวิต”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๐

ขอเพียงความรู้สึก



นักปฏิบัติภาวนาหลายท่านชอบติดอยู่กับการทำสมาธิแบบสงบ ไม่ชอบที่จะใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ให้เห็นเหตุและผล ให้ลงหลักความจริง

หากจะถามว่า……พิจารณาอย่างไร ?

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อเคยยกตัวอย่างให้ข้าพเจ้าฟังว่า หากใจเราว่างจากการพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับความจริงของชีวิตแล้ว เรื่องที่ควรสนใจศึกษาน้อมนำพิจารณาให้มากอีกเรื่องหนึ่งคือ พุทธประวัติ ประวัติครูอาจารย์องค์ต่างๆ ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ฯลฯ การพิจารณานั้น ขอให้เทียบเคียงความรู้สึกว่า

ในระยะแรกของการศึกษา……เราอาจจะยังไม่มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามากนัก แต่เมื่อเราได้ปฏิบัติภาวนามากขึ้น ได้พิจารณามากขึ้น การได้อ่านเรื่องของเจ้าชายสิทธัตถะ จะไม่เป็นเพียงการอ่านเรื่องราวของเจ้าชายที่ละทิ้งปราสาทราชวัง ทิ้งพระชายา พระโอรส เหมือนสมัยเราเป็นเด็กที่เพิ่งเริ่มศึกษาพุทธประวัติ

หากแต่เราจะสามารถเข้าใจความรู้สึกของเจ้าชายสิทธัตถะ ในแต่ละเหตุการณ์ของพุทธประวัติได้อย่างดีจากศรัทธาธรรมดาที่เคยมีในใจ จะเริ่มก่อตัวมั่นคงมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็น
ตถาคตโพธิสัทธา คือ ความเชื่อในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เมื่อนั้นความปีติ อิ่มเอิบ และสงบเย็นจะปรากฏขึ้นในใจ ใจกับธรรมที่เคยแยกเป็นคนละส่วนกัน จะกลายเป็นใจกับธรรมที่ผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การฟังเทศน์จากครูอาจารย์ที่เคยฟังผ่านเพียงโสตวิญญาณ จะกลายเป็นการฟังธรรมที่การฟังนั้นสัมผัสลงสู่มโนวิญญาณ สามารถเข้าถึงความรู้สึกของใจอย่างแท้จริง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๑

คลื่นกระทบฝั่ง



ข้าพเจ้าขอเล่าเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ มานี้ ที่ข้าพเจ้าเชื่อว่าหลวงพ่อดู่ท่านเมตตามาโปรด โดยเฉลยปัญหาข้อขัดข้องใจในการปฏิบัติธรรมของข้าพเจ้า

เรื่องมีอยู่ว่าในระหว่างนั้น ข้าพเจ้ามีข้อขัดข้องในการปฏิบัติว่าจะมีอุเบกขาวิธีอย่างไรจึงจะสามารถควบคุมอารมณ์ ควบคุมจิตใจของเราให้เป็นไปในทางที่เราต้องการได้

ในคืนนั้น ขณะที่ข้าพเจ้าเดินจงกรมภาวนา เมื่อใจเกิดความสงบดีแล้ว ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนได้ยินเสียงหลวงพ่อดู่บอกข้าพเจ้าว่า คำตอบที่ข้าพเจ้าต้องการนั้นอยู่ในหนังสือ “อุปมลมณี” ซึ่งเป็นหนังสือเรื่องราวชีวิตและการปฏิบัติธรรมตลอดจนรวมธรรมคำสอนของท่านพระโพธิญาณเถระหรือ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีใจความว่า


ธรรมอุปมา


การอุปมาเป็นวิธีการสอนธรรมะที่ดูเหมือนหลวงพ่อชอบมากที่สุด และเป็นวิธีที่ท่านถนัดมากที่สุดด้วย ท่านยกเอาธรรมชาติรอบด้านเข้ากับสภาวะ เข้ากับปัญหาถูกกับจริตนิสัยของคนนั้น อุปมาอุปไมยประกอบการสอนธรรมะ จึงทำให้ผู้ฟังเกิดภาพพจน์ตามไปด้วย ทำให้ผู้ฟังสามารถมองปัญหาได้อย่างทะลุปรุโปร่ง หมดความสงสัยในหลักธรรมที่นำมาแสดง ตัวอย่างการอุปมาของหลวงพ่อ ได้แก่

.....“การทำกรรมฐาน ทำเหมือนระฆังใบนี้ ระฆังนี้ตั้งไว้เฉยๆ เสียงไม่มีนะ สงบ สงบจากเสียง เมื่อมีเหตุกระทบขึ้นมา (หลวงพ่อตีระฆังดัง ๑ ที) เห็นไหมเสียงมันเกิดขึ้นมา แก้ไขทันท่วงทีเลยชนะด้วยปัญญาของเรา แก้ปัญหาแล้วก็สงบ ตัวของเราเหมือนระฆังนี้”

.....“เหมือนกับคลื่นในทะเลที่กระทบฝั่ง เมื่อขึ้นมาถึงแค่ฝั่งมันก็สลายเท่านั้น คลื่นใหม่มาก็ต่อไปอีก มันจะบอกฝั่งไปไม่ได้ อารมณ์มันจะเลยไป ความรู้ของเราไปไม่ได้เหมือนกับเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะพบกันที่ตรงนั้น มันจะแตกร้าวอยู่ที่ตรงนั้น มันจะหายก็อยู่ตรงนั้น เห็นว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ ฝั่งทะเล อารมณ์ทั้งหลายผ่านเข้ามาเหมือนคลื่นทะเล”

ขณะนั้นเป็นเวลาดึกมากแล้ว ข้าพเจ้าจึงคิดว่าสมควรแก่เวลาพักผ่อน จึงได้ขึ้นมาที่ห้องนอน ที่ตู้หัวเตียงมีหนังสืออยู่หลายเล่มแต่เหมือนมีสิ่งใดดลใจให้ข้าพเจ้าหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาชื่อ “พุทธทาส สวนโมกขพลารามกำลังแห่งการหลุดพ้น” ซึ่งรวมคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ มีใจความว่า


หลักการปฏิบัติเกี่ยวกับพลังทางเพศ


มันเป็นไปโดยอัตโนมัติไม่ได้มีแผนการคือ เราทำงานที่เราชอบหามรุ่งหามค่ำ แล้วพลังงานที่เหลือที่รุนแรงทางนั้นมันก็ลดมันก็หมดไป แรงกระตุ้นอยากมีชื่อเสียง อยากให้มีประโยชน์แก่ผู้อื่นที่เขาคอยรอผลงานของเรา อันนี้มันมีมากกว่า นี่ก็เลยทำเสียจนหมดแรง พอเพลียก็หลับไป พอตื่นขึ้นมาก็ทำอีก ไม่มีโอกาสใช้แรงไปทางเพศตรงกันข้าม เราไม่ได้เจตนาโดยตรง มันเป็นไปเอง

เหตุการณ์มันบังคับให้เป็นไปเองคือ เราหาอะไรทำให้มันง่วนอยู่กับงาน พอใจในงาน เป็นสุขในงาน มันก็ซับบลีเมท (sublimate หมายถึง กลั่นกรองทำให้บริสุทธิ์ -ผู้เขียน) ของมันเอง เอาแรงทางเพศมาใช้ทางสติปัญญา เอาแรงงานกิเลสมาใช้เป็นเรื่องของสติปัญญา ต้องมีงานอันหนึ่งซึ่งพอใจหลงใหลขนาดเป็นนางฟ้า เหมือนกับเรียนพระไตรปิฎก ต้องหลงใหลขนาดนางฟ้า ความรู้สึกทางเพศมันก็เกิด แต่ว่าความรู้สึกทางนี้ (ความคิดที่จะเป็นประโยชน์ส่วนรวม) เหมือนกับสิ่งต้านทาน เช่นว่า

คลื่นกับฝั่ง คลื่นมันก็แรงเหมือนกัน แต่ว่าฝั่งมันแข็งแรงพอจะรับ (หัวเราะ)


ถาม - วิกฤตแบบจวนเจียนจะไปไม่ได้ ตัดสินใจอย่างไร นั่นมันเรื่องคิดฝัน เวลามันช่วยได้ หรือว่าไม่รู้ไม่ชี้ (หัวเราะ) มันช่วยได้ มันเหมือนกับคลื่นกระทบฝั่ง พอพ้น พ้นเวลามันก็ไม่รู้ว่าหายไปไหน แต่สรุปแล้ว มันต้องทำงาน พอถึงเวลาเข้า มันต้องทำงานมันนีกถึงงาน อยู่ไปทำงานเสีย ความคิดฝันนั่นก็ค่อยๆ ซาไปๆ มันไปสนุกในงาน

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๒

ปรารภธรรมเรื่อง “การเกิด”



บ่ายร่มลมเย็นวันหนึ่ง ในอริยาบถสบายๆ ของหลวงพ่อที่กุฏิท่าน หลวงพ่อได้ปรารภธรรมเกี่ยวกับเรื่อง  “การเกิด” ให้กับศิษย์ได้ฉุกคิดเป็นการบ้าน

ท่านได้ปรารภไปว่า
“คนเราเกิดมาไม่เห็นมีอะไรดี มีดีอยู่อย่างเดียว สวดมนต์ไหว้พระ ปฏิบัติภาวนา”

ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงคำสอนท่านพุทธทาสภิกขุจากหนังสือ “เล่าไว้เมื่อวัยสนทยา” ซึ่งสัมภาษณ์โดยพระประชาปสันนธัมโม ท่านพุทธทาสภิกขุได้พูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิตว่า คือ เกิดมาควรจะได้อะไร เกิดมาทำไม ?

คนส่วนใหญ่สมัยเป็นเด็กๆ ไม่มีทางรู้  ไม่มีทางรู้ว่าเกิดมาทำไม พ่อแม่ก็ไม่ได้สอนว่าเกิดมาทำไม เพียงแต่ได้รับการดูว่าทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ที่เรียกว่าดีๆ ให้เรียนหนังสือ ให้ประพฤติดีก็ดีแต่ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม จนกระทั่งเป็นหนุ่มสาวก็ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม เพื่อประโยชน์อะไร แต่ก็ได้ทำทุกๆ อย่างตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่สอนให้ทำ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีมีให้ทำ จึงมีการศึกษา มีอาชีพสำหรับทำมาหากิน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางคนจนเลยวัยผู้ใหญ่ล่วงถึงวัยชรา ก็ไม่มีโอกาสแม้จะคิดหา

คำตอบที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าขออนุญาตขีดเส้นใต้คำว่า
ที่สำคัญที่สุดในชีวิตนี้

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้เฉลยคำตอบนี้ไว้ว่า.....
“เกิดมาให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ คือให้มีชีวิตที่เย็น ที่ไม่เป็นทุกข์เลย”

สรุปได้ว่า เพื่อแสวงหาความสุขที่ไม่กลับกลายเป็นความทุกข์อีก
มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งที่ว่า.....

รู้ก่อน     แก้ก่อน
รู้หลัง     แก้หลัง
ไม่รู้       ไม่แก้
รู้แล้ว     ทำไมไม่แก้


นั่นน่ะซิ รู้แล้ว………ทำไม (ยัง) ไม่แก้ !
ข้าพเจ้าอุทานกับตัวเอง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๓

กรรมฐานพาลจิตเพี้ยน



เมื่อหลายปีก่อน มีการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “โรคจิตกับกรรมฐาน” จัดโดยธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนั้นมีการเชิญจิตแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช มาเล่าถึงปัญหาโรคจิตที่เกิดจากการนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ว่าที่จริงแล้วการทำกรรมฐานไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคจิตแต่ประการใด การที่คนทั่วไปนั่งวิปัสสนากลับมาแล้วเกิดอาการทางจิตที่คนอื่นมองว่า “เพี้ยน” หรือเป็นโรคประสาท เป็นเพราะทำไม่ถูกวิธี

จิตแพทย์ท่านนั้นได้กล่าวว่า การที่มีผู้ไปทำวิปัสสนากลับมาแล้วผิดปกติมีไม่มากนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากก็คือ ปัจจุบันมีสำนักสอนการปฏิบัติรวมทั้งวิปัสสนาเกิดขึ้นอย่างมากมาย จนทำให้คนคิดว่าเป็นแฟชั่นที่กำลังได้รับความนิยม คาดว่ามีสำนักน้อยใหญ่ทั่วประเทศเป็นพันแห่ง สาเหตุที่ทำให้คนมุ่งเข้าสู่สำนักกรรมฐานเหล่านี้ เนื่องมาจากความทุกข์ความผิดหวังในชีวิต จึงต้องหาที่พึ่งทางใจไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยว

สรุปได้ว่า คนที่เพี้ยนจากการทำกรรมฐานนั้น ส่วนใหญ่มีความอ่อนแอทางจิตใจอยู่แล้ว และมาพบกับแนวทางวิธีการสอนที่ผิดๆ เช่น อ่านตำราแล้วนำไปตีความเอง เพิ่งฝึกใหม่แต่คิดค้นวิธีปฏิบัติเองนอกแบบของครูอาจารย์ ฟังจากเพื่อนที่เล่าให้ฟังต่อๆ กันมา


หรือเจ้าสำนักกรรมฐานใช้วิธีพิสดารต่างๆ เพื่อสร้างความขลังให้สำนักตนด้วยการฝึกแบบแปลกๆ เช่น ให้เข้าไปนั่งคนเดียวในป่าช้า หรือนั่งบังคับให้เห็นรูปนิมิตต่างๆ ซึ่งมองไม่เห็นแล้วก็จะว่าเป็นคนไม่มีบุญ จนทำให้คนที่ฝึกแบบที่ผิดๆ เกิดความกลัว หวาดระแวง เกิดเป็นอาการเพี้ยนๆ ต่างๆ ตามมา

อาการเพี้ยนนี้มิใช่เพิ่งเกิดในสมัยปัจจุบัน หากแต่ในครั้งพุทธกาลก็มีหลักฐานปรากฏในพระวินัยปิฎก ภาค อาทิกรรมิกะ คือวันหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานชื่อที่ว่าด้วยการพิจารณาร่างกายดุจซากศพแก่พระภิกษุ

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าผาสุกวิหารธรรมคือ ทรงพักผ่อนส่วนพระองค์เป็นเวลา ๑๕ วัน ในระหว่างนี้จะไม่เสด็จออกบิณฑบาต จะมีแต่พระภิกษุผู้ทำหน้าที่คอยอุปัฏฐากอยู่ ไม่ทรงรับแขกและงดการแสดงธรรม


พระภิกษุที่ได้ฟังพระพุทธเจ้าสอนเรื่อง อสุภกรรมฐาน ได้นำคำสอนไปปฏิบัติโดยไม่มีครูอาจารย์คอยควบคุมอย่างใกล้ชิด ก็เกิดอาการวิปริตเห็นร่างกายเป็นซากศพเป็นที่น่าขยะแขยงเป็นทุกข์ จึงจ้างวานคนอื่นให้ฆ่าตัวเองบ้าง ลงมือฆ่ากันเองบ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสร็จจากผาสุกวิหารธรรม ทรงทราบเรื่องเข้า จึงทรงสอนให้ภิกษุที่เหลืออยู่ให้พิจารณากรรมฐานในแนวใหม่

อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องพระภิกษุกลุ่มหนึ่งเรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลลงเข้าป่าหาที่สงบ ปฏิบัติกรรมฐานจนได้บรรลุฌานเป็นความสงบแล้ว ไม่นานก็เกิดความสำคัญผิดคิดว่า ตนได้สำเร็จขั้นอรหันต์แล้ว จึงชวนกันออกจากป่ากลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้บอกความประสงค์เรื่องนี้แก่พระอานนท์

พระอานนท์เข้าไปกราบทูลพระพุทธเจ้า เพื่อขออนุญาตเข้าเฝ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต แต่รับสั่งให้พระอานนท์บอกพระภิกษุเหล่านั้นให้ไปพิจารณาซากศพในป่าช้าก่อน ซึ่งในขณะนั้นในป่าช้ามีคนตายใหม่ ยังไม่ได้เผา พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้ไปดูศพในป่าช้า


เมื่อดูศพที่กำลังขึ้นอืดก็บังเกิดความเกลียด และเมื่อไปดูศพหญิงสาวที่เพิ่งตาย เมื่อแลเห็นอวัยวะทุกส่วนยังสดอยู่ก็บังเกิดราคะ พระภิกษุเหล่านั้นจึงทราบว่า พวกตนยังไม่ได้บรรลุธรรมใดๆ ก็เกิดความสลดสังเวชในความสำคัญผิดของตน หลังจากนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในเวลาต่อมา

นี้เป็นหลักฐานว่า การปฏิบัติกรรมฐานตามหลักศาสนาพุทธแล้ว ต้องมีครูอาจารย์คอยดูแลควบคุมแนะนำว่า ภาพที่เห็นและความคิดที่เกิดขึ้นในขณะที่เจริญกรรมฐานหรือเวลานั่งกรรมฐาน ตลอดจนอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้น มีความหมายอย่างไรและควรวางอารมณ์ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร มิฉะนั้น ผู้ทำกรรมฐานจะเกิดเป็นความเห็นผิดในเบื้องต้น ต่อมาจะพัฒนากลายเป็นมีจิตใจวิปริตและเพี้ยนที่สุด แล้วเกิดอาการรุนแรงจนควบคุมไม่ได้ กลายเป็นคนวิกลจริตก็มี

ผู้ปฏิบัติจึงควรเริ่มต้นศึกษาพุทธศาสนาด้วยการศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจก่อนที่จะลงมือนั่งสมาธิเจริญภาวนา เพราะการทำสมาธิแต่เพียงอย่างเดียวก็มีโทษ มิใช่มีประโยชน์ด้านเดียว


ตัวอย่างของครูอาจารย์ท่านหนึ่งในสมัยนี้ที่อธิบายเรื่องของความเห็นความเข้าใจที่ถูกหรือสัมมาทิฐิได้ดียิ่งคือ ท่านพระอาจารย์ทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี โดยท่านได้อธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือชื่อ “สัมมาทิฏฐิ” ทั้งสามเล่ม

หากจะแบ่งผู้ทำกรรมฐานออกเป็นสองกลุ่มคือ พวกที่ไม่มีนิสัยรู้เห็นนิมิต กับพวกที่มีนิสัยชอบรู้เห็นนิมิตต่างๆ ขณะที่ภาวนา พวกแรกมักไม่มีปัญหาในเรื่องเรียนพระกรรมฐานแล้วจิตเพี้ยน แต่พวกหลังที่มักจะมีนิมิตต่างๆ นี้ จะเป็นพวกที่มีโอกาสเสี่ยงในเรื่องจิตเพี้ยน

ดังนั้น จึงขอฝากผู้ปฏิบัติที่มักมีนิมิตภาวนา ไม่ว่าเป็นนิมิตประเภทภาพ เสียง กลิ่น หรือสิ่งอื่นใดก็ตาม หลวงพ่อท่านเคยสอนไว้ว่า “อย่ายินดียินร้ายและอย่าน้อมใจเชื่อในนิมิตที่เกิดขึ้น” ท่านสอนไม่ให้ปฏิเสธ หรือว่าไม่ให้เชื่อนิมิตที่เกิดขึ้นทันที แต่สอนให้เชื่อหรือปฏิเสธทันทีก็ต่อเมื่อความจริงปรากฏขึ้นเท่านั้น

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านได้เคยแนะนำวิธีละนิมิตกับศิษย์คนหนึ่งในหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” เรียบเรียงโดยพระโพธินันทมุนี หรืออดีตพระครูนันทปัญญาภรณ์ว่า

“นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั่นก็จะหายไปเอง”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๔

จะไปทางไหน



หลวงพ่อเคยพูดถึงความรู้สึกห่วงใยของท่านที่มีกับบรรดาศิษย์ว่า หลายคนก่อนจะมาเกิดนี่ พวกที่อยู่บนสวรรค์ก็ได้ไปร่ำลาพระก่อน พอลงมาแล้วก็มาเพลิดเพลินหลงติดอยู่กับโลก ครั้นเมื่อตายไปแล้วก็ไปเกิดในที่ลำบาก ในอบายภูมิมีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ไม่สามารถกลับขึ้นไปรับผลบุญบนสวรรค์ชั้นพรหมหรือพระนิพพานได้

พระพุทธเจ้าเคยเปรียบบุคคลไว้ ๔ จำพวกว่า บุคคลที่มืดมาแล้วมืดไป เปรียบกับบุคคลที่มาจากภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ครั้นมาเกิดแล้วก็ประกอบแต่กรรมชั่ว เมื่อตายจากโลกมนุษย์ก็กลับไปสู่อบายภูมิอีก

บุคคลที่มืดมาแล้วสว่างไป เปรียบได้กับบุคคลที่มาจากภพภูมิที่ต่ำกว่ามนุษย์ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ครั้นมาเกิดแล้วก็ประกอบแต่กรรมดี เมื่อตายจากโลกมนุษย์ เขาก็สามารถไปสู่สุคติมีสวรรค์ พรหม พระนิพพานได้

บุคคลที่สว่างมาแล้วมืดไป เปรียบได้กับบุคคลที่มาจากภพภูมิที่สูงกว่าภูมิมนุษย์ ได้แก่ สวรรค์ พรหม ครั้นมาเกิดแล้วก็ประกอบแต่กรรมชั่ว เมื่อตายจากโลกมนุษย์ก็กลับไปสู่อบายภูมิ

บุคคลที่สว่างมาแล้วสว่างไป เปรียบได้กับบุคคลที่มาจากภพภูมิที่สูงกว่าภูมิมนุษย์ ได้แก่ สวรรค์ พรหม
ครั้นมาเกิดแล้วก็ประกอบแต่กรรมดี เมื่อตายจากโลกมนุษย์ เขาก็สามารถไปสู่สุคติมีสวรรค์ พรหม พระนิพพานได้

จะมืดมาหรือสว่างมา ข้าพเจ้าคิดว่าไม่สำคัญเท่ากับจะมืดไปหรือสว่างไป เพราะอย่างไรเสีย เราก็ได้มาเกิดแล้ว แต่ขณะนี้เรายังไม่ได้...ไป

ในประวัติของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อคราวที่ในหลวงรัชกาลที่ ๔ ทรงให้ขุดสระน้ำและปลูกพระตำหนักกลางสระน้ำอย่างสวยงาม ท่านได้ตรัสถามสมเด็จโตว่า “สวยไหม ขรัวโต”


สมเด็จโตกราบทูลตอบว่า “สวยมากมหาบพิตร ดุจราชรถอันวิจิตร”

เท่านี้แหละ ในหลวงทรงกริ้วไปหลายวัน เพราะท่านเป็นปราชญ์เชี่ยวชาญภาษาบาลี คำกราบทูลของสมเด็จโตว่า “ดุจราชรถอันวิจิตร” นี้ตรงกับภาษิตบทหนึ่งว่า

“สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ อันตระการดุจราชรถอันวิจิตร ที่พวกคนโง่หลงติดอยู่ แต่ผู้รู้หาติดข้องอยู่ไม่”

ข้าพเจ้าขอฝากความรัก ความห่วงใย และปรารถนาดีของหลวงพ่อมากับบทความนี้ ให้ศิษย์ทั้งหลายได้นำไปเป็นข้อคิดและแนวทางปฏิบัติโดยทั่วกันเทอญ


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๕

เปรียบศีล



ดิฉันเป็นคนช่างสังเกตและขี้สงสัยว่า ทำไมในบทสวดมนต์การสมาทานพระกรรมฐานของหลวงพ่อถึงได้ต้องมีการอาราธนาศีล ซึ่งมีผู้แนะนำให้ทำเป็นประจำทุกวัน ด้วยความอดรนทนไม่ได้ เมื่อสบโอกาสที่ได้มากราบนมัสการหลวงพ่อ จึงเรียนถามท่าน


“หลวงพ่อเจ้าคะ ทำไมเวลาสวดมนต์ จึงต้องขอศีลทุกวันคะ”

หลวงพ่ออธิบายว่า “ก็เหมือนเชือกล่ะ เอ็งเคยเห็นเชือกไหม ห้าเส้นควั่นเป็นเกลียว ถ้าเส้นหนึ่งขาดเราก็ผูกใหม่ สองเส้นขาดเราก็ผูกสองเส้นใหม่ แล้วถ้าเอ็งไม่ผูกมันจะเป็นยังไงล่ะ ? หลวงพ่อจบคำตอบด้วยคำถาม

ดิฉันนั่งนึกอย่างเห็นภาพ….เชือกก็คงบางลง และคงขาดทีละเส้น สองเส้น….จนหมด


หลวงพ่อมองข้าพเจ้าแล้วยิ้ม


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:33 , Processed in 0.049997 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.