แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๘

อะไรได้ อะไรเสีย



คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ในชีวิตคนเรานั้น ต้องประสบความสูญเสียทุกคน บางคนสูญเสียคนรัก พ่อ แม่ ลูก เมีย ญาติ เพื่อน อันเป็นเหตุแห่งความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่สำคัญยิ่ง

การสูญเสียเงินทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ ก็เป็นต้นเหตุหนึ่งของความทุกข์โทมนัสอันใหญ่หลวงของอีกหลายๆ คน ของที่เคยมี เคยได้ กลับเป็นของที่ไม่มี ไม่ได้ คนที่เคยรักต้องพลัดพรากจากไกลกัน การค้าที่เคยมีกำไรกลับกลายเป็นขาดทุนเสียหาย จนทำใจให้ยอมรับได้ยาก

หากยังจำกันได้ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อปี ๒๕๓๔ มีความตอนหนึ่งว่า

“การขาดทุนของเรา
เป็นการได้กำไรของเรา (Our loss is our gain)”


ซึ่งท่านได้อธิบายว่า

“ถ้าเราทำอะไรที่เป็นการกระทำ แล้วเราก็เสีย แต่ในที่สุด ก็ไอ้ที่เราเสียนั้นมันเป็นการได้ เพราะว่าทางอ้อมได้”

เป็นพระราชดำรัสที่มีความไพเราะลึกซึ้ง กินใจยิ่งนัก สำหรับนักปฏิบัติแล้ว ถ้าเราพร้อมที่จะเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต สิ่งที่ได้มา สิ่งที่เสียไป ความทรงจำอันสวยงามหรือไม่งาม สิ่งที่ยังมีชีวิตหรือสิ้นไป ก็จะเป็นครูของเรา

เสียงหลวงพ่อแว่วมาในความคิดคำนึงของข้าพเจ้าทันที
“ถูกเป็นครู ผิดก็เป็นครู”


แต่ผิดเป็นครูที่ดีกว่า เพราะทำให้เราไม่ประมาท
ให้ผิดในวันนี้ เป็นถูกของวันหน้า
ให้สิ่งที่เสียไป คือสิ่งที่ได้มา
อย่างที่ในหลวงท่าน...ได้มอบไว้ให้พวกเรา


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๙

อารมณ์ขันของหลวงพ่อ



ญาติโยมคณะหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ชอบแสวงหาพระหาเจ้า หลวงปู่ หลวงพ่อองค์ไหนที่ว่าดังว่าดี มีคนขึ้นกันมาก โยมคณะนี้จะพากันไปไหว้ ไปทำบุญกัน และก็เป็นธรรมดาที่หลายคนที่นับถือหลวงพ่อดู่ในฐานะที่เป็นเกจิอาจารย์ดัง คิดว่าท่านคงให้หวยเบอร์เหมือนอย่างอาจารย์บางองค์

เมื่อสบโอกาส โยมคนหนึ่งก็เข้ามากราบเรียนขอหวยจากหลวงพ่อ ในวันนั้นเผอิญข้าพเจ้าได้มีโอกาสมากราบนมัสการหลวงพ่ออยู่ด้วย หลวงพ่อมองหน้าโยมคนนั้นพร้อมกับชี้มือไปที่ปฏิทินรายเดือนที่มีรูปในหลวงแบบที่ธนาคารทั้งหลายชอบแจก ซึ่งติดอยู่ข้างฝาที่ด้านหลังท่าน แล้วท่านก็ว่า

“นั่นแหละ แกไปสลับเลขเอาเอง มีเลขรางวัลครบทุกตัว ข้าให้ตั้งแต่รางวัลที่หนึ่งยันเลขท้ายสองตัวเลย ถ้าไม่ถูกให้มาด่าข้าได้”

ข้าพเจ้าขำจนแทบกลิ้ง แต่โยมที่ขอหวยจากหลวงพ่อคงขำไม่ออกและคงเข็ดไม่กล้าขอหวยจากหลวงพ่อไปอีกนาน หลังจากที่โยมคนนั้นกลับไปแล้ว หลวงพ่อได้ให้โอวาทกับศิษย์ที่เหลือและข้าพเจ้าว่า

“คนเรานี่ก็แปลก ให้ธรรมะของดีไม่เอา จะเอาแต่หวยเบอร์...”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๐

ของหายาก



เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ มีเรื่องประทับใจที่ข้าพเจ้าต้องบันทึกไว้เรื่องหนึ่งคือ วันที่ข้าพเจ้าได้รับพระและตะกรุดเป็นที่ระลึกจากหลวงพ่อ เรื่องมีอยู่ว่า

วันนั้นมีคนมากราบนมัสการหลวงพ่อมาก หลังจากที่ข้าพเจ้าได้กราบหลวงพ่อและขอโอกาสหลีกมานั่งภาวนาที่หอสวดมนต์ สักครู่ใหญ่ก่อนที่จะเลิกภาวนา จู่ๆ ก็มีนิมิตเป็นองค์หลวงพ่อดู่ลอยเด่นพร้อมรัศมีกายสว่างไสวอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า และมีเสียงท่านบอกข้าพเจ้าว่า “ข้าให้แก”

ในขณะนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้นึกแปลความหมายนิมิตเป็นอื่นใด เข้าใจเพียงว่าท่านคงให้ธรรมะ ข้าพเจ้าบังเกิดความปีติมาก หลังจากเลิกภาวนาแล้ว ข้าพเจ้าได้เดินไปหลังวัด เพื่อไปนมัสการหลวงน้าสายหยุด ระหว่างทางผ่านกุฏิของหลวงพี่องค์หนึ่ง เป็นพระภิกษุที่ข้าพเจ้าเคยเห็นท่านอยู่ที่วัดสะแกหลายปี แต่ไม่เคยได้สนทนาอะไรเป็นกิจจะลักษณะกับท่านมาก่อนเลยประการหนึ่ง และไม่เคยเอ่ยปากขออะไรจากท่านอีกประการหนึ่ง

แต่วันนั้นนับเป็นเหตุการณ์ประหลาดอัศจรรย์สำหรับข้าพเจ้า ที่หลวงพี่เกิดนึกเมตตาข้าพเจ้าอย่างกะทันหัน ท่านบอกข้าพเจ้าว่า...เดี๋ยวก่อน จากนั้นท่านกลับเข้าไปในกุฏิชั่วอึดใจ ท่านออกมาพร้อมกับพระผงแบบหยดน้ำรูปพระพุทธเจ้าและรูปหลวงพ่อดู่ ๒-๓ องค์ และตะกรุดขนาดเล็กกะทัดรัดของหลวงพ่อ ยื่นให้ข้าพเจ้าและบอกว่า “หลวงปู่เก็บเอาไว้ใช้”

เป็นที่แปลกใจยิ่งสำหรับข้าพเจ้า ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นภายหลังจากที่ข้าพเจ้าได้นิมิตว่าได้รับ “อะไร” จากหลวงพ่อเมื่อห้านาทีที่ผ่านมา

ข้าพเจ้าได้มาเรียนเรื่องนี้ถวายให้หลวงพ่อฟัง
ท่านยังได้ให้โอวาทข้าพเจ้าอีกว่า...


“...ข้าให้แก นั้น ข้าให้พุทธัง ธัมมัง สังฆัง เครื่องรางของขลังภายนอกนั้น...หาไม่ยาก พระพุทธัง ธัมมัง สังฆัง หายากกว่า แกไปตรองดูให้ดีเถอะ”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๑

คนหายาก



ในพระพุทธศาสนาได้พูดถึงบุคคลหายากในโลกนี้มี ๒ ประการ คือ บุพการี และบุคคลผู้มีกตัญญูกตเวที

บุพการี หมายถึง บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน หรือคือ ผู้มีพระคุณนั่นเอง ได้แก่ พระพุทธเจ้า ครูอาจารย์ มารดาบิดา และพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม ในที่นี้จะขอพูดถึงพ่อแม่ของเรา

ในมงคลสูตรได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
มาตาปิตุอุปัฏฐานัง เอตังมังคะละมุตตะมัง การบำรุงมารดาและบิดาเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต

มีผู้กล่าวว่า “วันแม่” สำหรับลูกหลายๆ คนมีวันเดียวในหนึ่งปี แต่สำหรับแม่แล้ว “วันลูก” มีอยู่ทุกวัน

ความข้อนี้เป็นจริงอย่างที่ไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ โดยทั่วไปแล้วความรักที่แม่มีต่อลูกนั้น ย่อมมีมากกว่าความรักที่ลูกมีต่อแม่ ในบทสวด เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนา ได้กล่าวเปรียบได้ว่า
“มาตาปุตตัง วะ โอระสัง เทวะตานุกัมปิโต…”

คำแปลตอนหนึ่งของบทสวดมนต์มีความว่า...


“...บัณฑิตชาติอยู่ในสถานที่ใด พึงเชิญท่านที่มีศีลสำรวมระวัง ประพฤติพรหมจรรย์ในที่นั้น เทวดาเหล่าใดมีในที่นั้น ควรอุทิศทักษิณาทานเพื่อท่านเหล่านั้นด้วย เทวดาที่ได้บูชาแล้ว นับถือแล้ว ท่านย่อมบูชาบ้าง ย่อมนับถือบ้าง ท่านย่อมอนุเคราะห์เขา ประหนึ่ง มารดาอนุเคราะห์บุตรผู้เกิดจากอก ผู้ที่ได้อาศัยเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมมีแต่ความเจริญทุกเมื่อ”

มารดาบิดาเป็นพระพรหมของลูก เป็นครูอาจารย์คนแรกของลูก และเป็นเทวดาองค์แรกของลูก จึงเป็นผู้ควรรับการสักการบูชาจากลูก พระพุทธเจ้าได้สอนไว้ใน มาตาปิตุคุณสูตร ว่า...”

บุตรไม่อาจตอบแทนคุณแก่มารดาบิดานั้นให้สิ้นสุดโดยประการใดๆ ด้วยอุปการะอันเป็นโลกียะ แม้จะทำให้ท่านทั้งสองนั่งอยู่บนบ่าขวา บนบ่าซ้ายของลูก ลูกปรนนิบัติดูแลท่านตลอดหนึ่งร้อยปี ก็ไม่สามารถตอบแทนบุญคุณท่านได้

ส่วนบุตรคนใด ทำให้มารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้ตั้งอยู่ในศรัทธา ทำให้มารดาผู้ไม่มีศีลให้ตั้งอยู่ในศีล ทำให้มารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ถี่เหนียวให้ตั้งอยู่ในจาคะ ทำให้มารดาบิดาผู้มีความหลวง ให้ตั้งอยู่ในปัญญาสัมมาทิฏฐิ บุตรนั้นจึงจะได้ชื่อว่า ได้ทำการตอบแทนบุญคุณของมารดาบิดาอย่างเต็มที่

ลูกที่ไม่มีความฉลาด ย่อมไม่เห็นคุณค่าความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก
ลูกที่มีความฉลาด ย่อมเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
วันนี้...เราได้ทำสิ่งดีๆ ให้พ่อกับแม่...แล้วหรือยัง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๒

ด้วยรักจากศิษย์



...หลวงพ่อครับ ถ้าหากหมุนเข็มนาฬิกาให้เดินย้อนกลับได้ ผมขอหมุนกลับไปเป็นปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้ เริ่มมากราบหลวงพ่อ รอยยิ้มและภาพอากัปกิริยาของหลวงพ่อเมื่อคราวที่สอนพวกเขา หลวงพ่อหัวเราะและเอามือตบที่หน้าตัก พวกเรายังจำได้ดี พวกเรายังจำได้ และจะพยายามทำตามที่หลวงพ่อสอนให้ถอยหลัง ไม่ให้หลวงพ่อต้องผิดหวังครับ

...หลวงพ่อขา หลวงพ่อเคยบอกว่า ปฏิบัติมากๆ เถอะจะดี สมบัตินอกกายไม่จีรัง กินเข้าไปเดี๋ยวก็ขี้ออกมา เสื้อผ้าสวยๆ หามาแต่ง เดี๋ยวก็ต้องทิ้ง เงินตอนตายญาติเอาใส่ปาก สัปเหร่อก็เอาไปซื้อเหล้า เสื้อผ้าก็ถอดออกเหลือตัวเปล่าให้เขาออกไปเผา...ที่แท้เราไม่มีอะไรสักอย่าง

...หลวงพ่อเจ้าคะ หนูรู้ตัวดีว่าใจตัวเองถ้าเผลอ มันก็จะลงต่ำอยู่ร่ำไป ถ้าไม่มีหลวงพ่อคอยเป็นกำลังใจ ขอหลวงพ่ออยู่เป็นกำลังใจให้หนูตลอดไปนะคะ

...หลวงปู่ครับ ได้เจอะเจอหลวงปู่ในชีวิตนี้ ผมถือเป็นบุญหลาย พระท่านว่า ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละ มุตตะมัง การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต...ได้มาเจอหลวงปู่ ผมถือว่าไม่เสียชีวิตเกิดแล้วครับ

หลวงพ่อครับ...ใครจะคิดว่าหลวงพ่อดู่กับหลวงปู่ทวดเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ ผมไม่สนใจหรอกครับ หากหลวงพ่อเป็นหลวงปู่ทวดจริงๆ ผมถือว่าพวกเราโชคดีที่สุดครับ ความที่หลวงพ่อ...เป็นหลวงพ่อดู่ เป็นหลวงพ่อดู่..อย่างเดียวที่ทำให้ผมรักและเคารพหลวงพ่อจนเต็มล้นหัวใจ ไม่มีอะไรจะทำให้เต็มไปกว่านี้อีกแล้วครับ


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๓

ด้วยรักจากหลวงพ่อ



เมื่อครั้งที่หลวงพ่ออาพาธในช่วง ๒-๓ ปีก่อน ที่ท่านจะจากพวกเราไป คุณธรรมอันโดดเด่นคือ ความอดทนและความเมตตาของท่านยิ่งชัดเจนในความรู้สึกของข้าพเจ้า

บ่อยครั้งที่ศิษย์จอมขี้แยอย่างข้าพเจ้า ไม่สามารถที่จะกลั้นน้ำตาไว้ได้ในความคิดคำนึงว่า ความขี้เกียจ ความไม่เอาไหน ไม่เอาถ่านของเรา ทำให้ท่านต้องทนนั่งแบกธาตุขันธ์ที่เจ็บป่วยสอนศิษย์โง่ๆ อย่างเรา ทั้งอบรมก็แล้ว พร่ำสอนก็แล้ว ว่ากล่าวตักเตือนก็แล้ว ศิษย์จอมขี้เกียจก็ยังไม่สามารถเอาตัวเองเป็นที่พึ่งได้

สรีระของหลวงพ่อเปลี่ยนแปลง ผ่ายผอมและซูบซีดลง แต่ตรงกันข้ามกับกำลังใจของท่านที่เอ่อล้นด้วยความรักและห่วงใยศิษย์ที่กลับเพิ่มทวีคูณขึ้นในหัวใจของท่าน จนยากที่ศิษย์ทุกชีวิตได้ในความรักและความปรารถนาดีของท่าน

ในโลกของข้าพเจ้า ความรักของหลวงพ่อยิ่งใหญ่อย่างยิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ท่านสอนให้ศิษย์ทั้งหลายรู้จักวิธีที่จะหยิบยื่นความรัก...ความปรารถนาดี...ให้กับคนรอบข้าง ดังที่ท่านได้ปฏิบัติแบบอย่างไว้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน...อย่างสม่ำเสมอและยาวนาน และยืนยันคำพูดของท่านที่ว่า

“แกคิดถึงข้า   ข้าก็คิดถึงแก

แกไม่คิดถึงข้า    ข้าก็ยังคิดถึงแก”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๔

ต้องเคยเจอกัน



“นายหลิม” เป็นชื่อที่หลวงพ่อเอ่ยถึงข้าพเจ้าเมื่อเวลาท่านพูดกับหมู่คณะ แต่หากเวลาท่านพูดกับข้าพเจ้า ท่านจะใช้สรรพนามแทนท่านเองว่า "ข้า" และเรียกข้าพเจ้า "แก" อยู่เสมอ

แม้ว่าข้าพเจ้าจะมิได้เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหลวงพ่อสักเท่าใดนัก เพียงแต่ได้ไปวัดสะแก เดือนละ ๒-๓ ครั้ง ในช่วง ๗-๘ ปีก่อน ที่ท่านจะจากพวกเราไป แต่ข้าพเจ้ากลับรู้สึกว่า ได้คุ้นเคยเหมือนกับว่าได้เคยอยู่ใกล้ชิดท่านเป็นเวลานาน และข้าพเจ้าเชื่อว่าศิษย์คนอื่นๆ ก็มีความรู้สึกเหมือนกับข้าพเจ้าเช่นกัน

ครั้งหนึ่งในคราวที่ปลอดคน คงมีแต่หลวงพ่อกับข้าพเจ้าเพียงลำพัง ข้าพเจ้ากราบเรียนถามท่านว่า ข้าพเจ้าโชคดีที่ในชีวิตนี้ ได้มารู้จักกับท่าน ได้มากราบนมัสการ ได้มาเรียนธรรมจากท่าน ข้าพเจ้าคงเคยพบท่านมาแล้วในอดีตถึงได้...

ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะพรรณนาคำถามต่อไป หลวงพ่อท่านยิ้มด้วยเมตตาและตอบข้าพเจ้าว่า


“ถ้าแกไม่เคยเจอข้า แกมาไม่ถึงวัดสะแกนี่หรอก”


ถ้อยคำของหลวงพ่อยังเป็นกำลังใจแก่ข้าพเจ้าตราบจนทุกวันนี้

ภาพอิริยาบถต่างๆ ของท่านยังติดตราตรึงอยู่ในใจข้าพเจ้าตลอดมา ทุกครั้งที่ไปวัดสะแก ทุกครั้งที่ได้เห็นหลวงพ่อ ทุกครั้งที่รำลึกถึงท่าน ข้าพเจ้ารู้สึกอบอุ่น ปลื้มปีติ และอดภูมิใจไม่ได้ที่ได้มา...เป็นลูกศิษย์ของท่าน...เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อดู่...เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ วัดสะแก


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๕

หลวงพ่อกับศิษย์ใหม่



หลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ ท่านเป็นพระที่มีความเมตตา เป็นห่วงเป็นใยแก่ศิษย์ที่ระลึกถึงท่านทุกคนอย่างที่ไม่ต้องสงสัย มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับความรักความเมตตาอาทรของท่านที่มีต่อศิษย์ หนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์นั้นก็คือ เรื่องของพระเพื่อนสหธรรมิกของข้าพเจ้า

ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ระหว่างช่วงเทศกาลเข้าพรรษา พระนวกะจากวัดบวรนิเวศวิหาร จำนวน ๓ รูป คือ ท่านสุภาพ ท่านกิตติศักดิ์ และท่านสมศักดิ์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อมานมัสการหลวงพ่อดู่ ที่วัดสะแก ทั้งสามองค์ต่างมีความตั้งใจตรงกันว่าจะนำดอกไม้ ธูปเทียน มาถวายตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อ เพื่อกราบนมัสการและถวายตัวเป็นศิษย์ เพื่อขอเรียนพระกรรมฐาน

ครั้งกำหนดวันได้เรียบร้อยตรงกันดีแล้ว ก็ออกเดินทางโดยไม่มีโอกาสได้กราบเรียนให้หลวงพ่อทราบล่วงหน้าก่อน เมื่อเดินทางมาถึงที่หมายคือวัดสะแก ก็เป็นช่วงเวลาใกล้เพลแล้ว ที่บริเวณปากทางเข้าวัดต่างองค์ต่างปรึกษาหารือกันว่าจะไปกราบหลวงพ่อก่อนดีหรือจะแวะฉันเพลก่อนดี ถ้าหากแวะฉันเพลก่อน ก็จะติดเวลาที่หลวงพ่อพักหลังเวลาเพล จะทำให้หลวงพ่อมีเวลาพักผ่อนน้อยลง ต้องเสียเวลามานั่งรับแขก แต่หากไปกราบนมัสการท่านเลย ทั้งสามองค์ต่างก็มีกังวลว่า แล้วจะได้ฉันเพลกันหรือไม่

ในที่สุดก็ตัดสินใจว่า ไม่ได้ฉันก็ไม่เป็นไร ไปกราบหลวงพ่อให้สมความตั้งใจก่อนดีกว่า ครั้นพอเดินเข้าประตูวัดได้ประมาณสักร้อยเมตร ก็มีศิษย์ฆราวาสของหลวงพ่อคนหนึ่งตรงเข้ามาหาแล้วบอกว่า

“หลวงพ่อนิมนต์ให้ฉันเพลที่นี่ ท่านไม่ต้องกังวล หลวงพ่อให้เด็กจัดอาหารให้แล้ว”

ทุกองค์ต่างแปลกใจ เหมือนกับหลวงพ่อจะ...รู้ล่วงหน้า ว่าจะมีพระเดินทางมาหา จึงให้ลูกศิษย์จัดเตรียมอาหารไว้ถวายพระด้วย

จากนั้นพระทั้งสามองค์ได้ขึ้นมาที่หอสวดมนต์บริเวณตรงข้ามกุฏิของหลวงพ่อ ก้มลงกราบพระ ๓ ครั้ง แล้วหันมาทางหลวงพ่อ ยกมือไหว้ท่านจากระยะไกลก่อนที่จะเข้ามากราบท่าน แต่จะนั่งพับเพียบก็ยังไม่กล้านั่ง ได้แต่นั่งคุกเข่าอยู่ ต่างองค์ต่างนั่งกระสับกระส่ายด้วยคิดกังวลกันว่า คงต้องอาบัติ หากต้องนั่งฉันโดยไม่มีอาสนะในที่เดียวกับที่นั่งของฆราวาส เพราะตามพระวินัยแล้ว ภิกษุจะไม่นั่งเสมอหรือร่วมอาสนะเดียวกับอนุปสัมบัน (หมายถึง ผู้ที่ยังไม่ได้อุปสมบท ได้แก่ คฤหัสถ์และสามเณร หรือผู้ที่ไม่ใช่ภิกษุหรือภิกษุณี)

สักครู่หนึ่ง ฆราวาสคนเดิมก็เข้ามาบอกว่า
“...หลวงพ่อท่านให้จัดเตรียมอาสนะมาให้แล้ว”


ทั้งสามองค์จึงได้อาสนะปูนั่งฉันจนเรียบร้อยไม่ต้องอาบัติ นี้เป็นอัศจรรย์เหมือนหลวงพ่อสามารถรู้วาระจิตของพระทั้งสามเป็นครั้งที่สอง

เมื่อฉันเสร็จ จึงได้กราบนมัสการท่าน ได้แต่นั่งข้างล่าง ไม่กล้านั่งเสมอกับท่าน หลวงพ่อท่านได้เมตตาเป็นที่สุด โดยเรียกให้พระใหม่นั่งข้างบนเสมอกับท่าน และบอกว่า


“เราลูกพระพุทธเจ้าเหมือนกัน”

ท่านสุภาพ ท่านกิตติศักดิ์ และท่านสมณศักดิ์ ต่างถวายตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อท่านกล่าวอนุโมทนา แล้วได้แนะนำให้ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงน้าสายหยุด ภูริทัตโต ที่กุฏิหลังวัด

วันนั้น พระนวกะทั้งสามองค์เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยความปลื้มปีติและใจที่เป็นสุขอย่างยิ่ง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๖

คาถาของหลวงพ่อ



หากใครที่ได้เคยเดินทางไปวัดเจติยาคีรีวิหาร ภูทอก จังหวัดหนองคาย และได้กราบนมัสการพระอาจารย์จวน กุลเชษโฐ หากได้มาชมองค์เจดีย์ที่ประตูเจดีย์พิพิธภัณฑ์ของท่าน จะเป็นบานประตูไม้ประดู่แผ่นเดียวแกะสลักด้วยลายที่เรียบง่าย ปิดทองและกระจกสี เพื่อรักษาเนื้อไม้ กลางประตูด้านในสลักเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึง คาถายูงทองของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่ศิษย์ของท่านทุกองค์ต่างให้ความเคารพและระลึกถึงโดยสวดสาธยายเป็นประจำว่า

“...นโม วิมุตตานัง นะโม วิมิตติยา”

คืนวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกราบนมัสการเรียนถามหลวงพ่อดู่ว่า


“ลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น มีคาถายูงทองเป็นเครื่องระลึกถึงครูบาอาจารย์ แล้วลูกศิษย์ของหลวงพ่อควรใช้คาถาบทใดเป็นเครื่องระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์บ้าง”

หลวงพ่อได้วิสัชนาโดยให้ข้าพเจ้าไปเปิดดู “อุณหิสส วิชัยสูตร” ในหนังสือมุตโตทัย ซึ่งเป็นคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ (รวบรวมและเรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล)

พระสูตรนี้มีความไพเราะทั้งอรรถและพยัญชนะที่ควรศึกษา จดจำ และทำความเข้าใจให้แยบแคบอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า

“ผู้ใดมาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ที่พึ่งแล้ว ผู้นั้นย่อมชนะได้ซึ่งความร้อน อุณหิสส คือความร้อนอันเกิดแก่ตน มีทั้งภายในและภายนอก ภายนอกมีเสือสาง ค่างแดง ภูตผีปีศาจ เป็นต้น ภายในคือ กิเลส วิชัย คือความชนะ ผู้ที่มาน้อมเอาสรณะทั้งสามนี้เป็นที่พึ่งแล้วย่อมจะชนะความร้อนเหล่านั้นไปได้หมดทุกอย่าง ที่เรียกว่า “อุณหิสสวิชัย”

สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญ อันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่าหรือเรือนร่างก็ตาม สรณะทั้งสามปรากฏแก่เขาอยู่ทุกเมื่อ จึงว่าเป็นที่พึ่งแก่บุคคลจริง เมื่อปฏิบัติตามสรณะทั้งสามจริงๆ แล้ว จะคลาดแคล้วจากภัยทั้งหลาย อันก่อให้เกิดความร้อนอกร้อนใจได้แน่นอนทีเดียว”

สมดังที่หลวงพ่อดู่ท่านพร่ำย้ำเตือนศิษย์อยู่เสมอว่า


“พุทธัง ธัมมัง สังฆัง
ใครเชื่อจริง ทำจริง
ก็จะเจอของจริง”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๗

วัตถุสมบัติ ธรรมสมบัติ



ท่ามกลางความหลากหลายของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดและกระแสแห่งความแสวงหา ใจทุกดวงที่มีความเร่าร้อนวุ่นวายสับสน เป้าหมายคือเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่เมื่อได้สิ่งที่คิดว่าต้องการมาแล้ว ก็ดูเหมือนว่ายิ่งแสวงหาก็ยิ่งดิ้นรนมากขึ้น สิ่งที่ได้มานั้น มีสุขน้อยมีทุกข์มาก หากจะมีสุขบ้างก็เป็นเพียงสุขเล็กน้อยในเบื้องต้น แต่ในที่สุดก็กลับกลายเป็นทุกข์อีก เป็นอย่างนี้...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า


อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่เพียงพอที่จะให้เกิดความชุ่มฉ่ำเย็นใจอบอุ่นได้ยาวนาน หากแต่เป็นอารมณ์ที่ค้างใจอยู่ตลอดเวลา ทำให้อยากดิ้นรนแสวงหาสิ่งใหม่มาทดแทนอยู่เสมอ นี่เป็นธรรมดาของ...วัตถุสมบัติ

ส่วน..ธรรมสมบัตินั้น จะยังมีความชุ่มชื่นเพียงพอให้เกิดขึ้นแก่จิตใจได้ มีลักษณะเป็นความสุขที่ไม่กลับกลายมาเป็นความทุกข์อีก

วัตถุสมบัติ...ยิ่งใช้ นับวันยิ่งหมดไป ต้องขวนขวายแสวงหาเพิ่มเติมด้วยความกังวลใจ


ธรรมสมบัติ...ยิ่งใช้ นับวันยิ่งเจริญงอกงามขึ้น ก่อให้เกิดความสุขเย็นใจแก่ตนและคนรอบข้าง

คงไม่มีใครที่ได้รู้จักหลวงพ่อดู่ปฏิเสธว่า หลวงพ่อท่านเป็นแบบอย่างที่ดีของบุคคลที่ใช้ธรรมสมบัติ ยังความสงบเย็นให้แก่ใจทุกดวงที่ได้เข้ามาใกล้ชิดท่าน ไม่เฉพาะคนหรือสัตว์ แต่รวมไปถึงเหล่าเทพยดาและอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ศิษย์ของหลวงพ่อหลายคนต่างมีประสบการณ์อันเป็นปัจจัตตัง และสามารถเป็นประจักษ์พยานได้อย่างดี

หลวงพ่อเคยบอกข้าพเจ้าว่า


“คนทำ (ภาวนา) เป็นนี่ ใครๆ ก็รัก
ไม่เฉพาะตนหรือสัตว์ที่รัก
แม้แต่เทวดาเขาก็อนุโมทนา”


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:39 , Processed in 0.045334 second(s), 14 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.