ตอนที่ ๓๖ บทเรียนทางธรรม
บทที่ ๑ ความกตัญญูและกุศโลบายในการหาบุญ
ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ไปกราบหลวงพ่อดู่ในราวปี พ.ศ.๒๕๒๕ โอวาทที่ท่านมอบให้แก่ลูกศิษย์หน้าใหม่คนนี้ก็คือ “ทำบุญกับพระที่ไหนๆ ก็ต้องไม่ลืมพระที่บ้าน พ่อแม่เรานี้แหละ...พระอรหันต์ที่บ้าน”
ครั้งนั้นยังจำได้ว่าข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ได้ซื้อดอกบัวไปถวายท่านด้วย ท่านรับและนำไปบูชาพระพุทธรูปใกล้ๆ แล้วก็ให้โอวาทอีกว่า “พวกแกยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ยังต้องแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่ คราวหน้าอย่าไปเสียเงินเสียทองซื้อดอกไม้มาถวาย ระหว่างทางมาวัด หากเห็นสระบัวที่ไหนก็ให้ตั้งจิตนึกน้อมเอาดอกบัวถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ใช้ได้แล้ว”
นอกจากนี้ วิธีหาบุญแบบง่ายๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แล้วก็สามารถทำได้ทั้งวัน ที่หลวงพ่อท่านแนะนำก็คือ ตื่นเช้ามา ขณะล้างหน้าหรือดื่มน้ำ ก็ให้ว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ธัมธัง สรณัง คัจฉามิ, สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ก่อนจะกินข้าวให้นึกถวายข้าวพระพุทธ
ออกจากบ้านเห็นคนอื่นเขากระทำความดี เป็นต้นว่า ใส่บาตรพระ จูงคนแก่ข้ามถนน ฯลฯ ก็ให้นึกอนุโมทนากับเขา ผ่านไปเห็นดอกไม้ที่ใส่กระจาดวางขายอยู่หรือดอกบัวในสระข้างทาง ก็ให้นึกอธิษฐานถวายเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า “พุทธัสสะ ธัมมัสสะ สังฆัสสะ ปูเชมิ” แล้วต้องไม่ลืมอุทิศบุญให้แม่ค้าขายดอกไม้หรือรุกขเทวาที่ดูแลสระบัวนั้นด้วย
ตอนเย็นนั่งรถกลับบ้าน เห็นไฟข้างทางก็ให้นึกน้อมบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า “โอมอัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา” กลับมาบ้าน ก่อนนอนก็นั่งสมาธิ เอนตัวนอนลงก็ให้นึกคำบริกรรมภาวนาไตรสรณาคมน์จนหลับ ตื่นขึ้นมาก็บริกรรมภาวนาต่ออีก
นี่เรียกว่า เป็นกุศโลบายของหลวงพ่อดู่ที่ต้องการให้พวกเราคอยตะล่อมจิตให้อยู่แต่ในบุญในกุศลตลอดทั้งวันเลยทีเดียว
บทที่ ๒ ระวังตกต้นตาล
ด้วยความที่ข้าพเจ้าเป็นคนที่สนใจอ่านหนังสือธรรมอยู่เสมอๆ ทำให้สัญญาหรือความจดจำมันล่วงหน้าไปไกลกว่าการปฏิบัติชนิดไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว
เช้าวันหนึ่ง ในช่วงที่ข้าพเจ้ารู้จักและไปกราบหลวงพ่อใหม่ๆ ข้าพเจ้าถามท่านว่า “หลวงพ่อครับ พระท่านสอนว่าบุญก็ไม่ให้เอา บาปก็ไม่ให้เอา และอย่าไปยินดียินร้ายกับสิ่งทั้งปวง” ทีนี้อย่างไรผมถึงจะหมดความยินดียินร้ายครับ”
หลวงพ่อท่านยิ้มและตอบหัวเราะว่า “เบื้องต้นก็จะขึ้นยอดตาล ก็มีหวังตกลงมาตายเท่านั้น”
ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเขินและได้คิดว่าการปฏิบัติธรรมที่ถูกที่ควรนั้น ไม่ควรจะอ่านตำรับตำรามาก แต่ควรปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป มุ่งประกอบเหตุที่ดีอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยไม่เร่งรัดหรือคาดคั้นเอาผล และที่สำคัญคือ อย่าสำคัญผิดคิดว่า “สัญญา” เป็น “ปัญญา” เพราะหากยังเป็นแค่สัญญาหรือความรู้ที่เป็นเพียงการจดการจำ มันยังไม่ช่วยให้เราเอาตัวรอดหรือพ้นทุกข์ได้
บทที่ ๓ อย่าประมาท
หลวงพ่อดู่ ท่านพูดเตือนเพื่อให้พวกเราไม่ประมาท รีบทำความดีเสียแต่ยังแข็งแรงอยู่ เพราะเมื่อแก่เฒ่าลงหรือมีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนก็จะปฏิบัติได้ยาก ท่านว่า
“ปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาวนี้แหละดี เพราะเมื่อแก่เฒ่าไปแล้ว จะนั่งก็โอย จะลุกก็โอย หากจะรอไว้ให้แก่เสียก่อนแล้วจึงค่อยปฏิบัติ ก็เหมือนคนที่คิดจะหัดว่ายน้ำเอาตอนที่แพใกล้จะแตก มันจะไม่ทันการณ์”
นอกจากนั้น ท่านยังแนะให้หาโอกาสไปโรงพยาบาล ท่านว่า “โรงพยาบาลนี้แหละ” เป็นโรงเรียนสอนธรรมะ มีให้เห็นทั้งเกิด แก่ เจ็บ และตาย ให้หมั่นพิจารณาให้เห็นความจริง ทุกข์ทั้งนั้น……
“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
บทที่ ๔ ให้หมั่นดูจิต
คำสอนของหลวงพ่อที่ข้าพเจ้าได้ยินแทบจะทุกครั้งที่ไปนมัสการท่านก็คือ
“ของดีอยู่ที่ตัวเรา ของไม่ดีก็อยู่ที่ตัวเรา”
ให้หมั่นดูจิต รักษาจิต”
นับเป็นโอวาทที่สั้นแต่เอาไปปฏิบัติได้ยาวจนชั่วชีวิตหรือยาวนานตราบเท่าจนกว่าจะพ้นจากวัฏฏะสงสารนี้ไปได้ ซึ่งสอดคล้องกับพุทธพจน์ที่ว่า...
“ผู้ใดหมั่นตามดูจิต ผู้นั้นจะพ้นจากบ่วงแห่งมาร”
การขาดการตามดูจิต รักษาจิต เป็นเหตุให้เราไม่ฉลาดในความคิดหรืออารมณ์ การฟังมามากก็ไม่อาจช่วยอะไรเราได้ เพราะเพียงแค่การฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ภายนอก โดยปราศจากโยนิโสมนสิการ หมั่นตรึกพิจารณาสิ่งต่างๆ ให้เป็นธรรม หรือนัยหนึ่งคือ ขาดการฟังธรรมในใจเราเองบ้าง ธรรมต่างๆ ที่ได้ยินฟังมานั้นก็ย่อมไม่อาจสำเร็จประโยชน์เป็นความดับทุกข์ได้เลย
บทที่ ๕ รู้จักหลวงพ่ออย่างไร
เช้าวันหนึ่ง ในเดือนมกราคม ๒๕๓๓ ก่อนหน้าที่หลวงพ่อจะละสังขารไม่กี่วัน ในขณะที่รอใส่บาตรอยู่หน้ากุฏิของท่าน หลวงพ่อได้พูดเป็นคติแก่สานุศิษย์ ณ ที่นั้นว่า....
“ตราบใดก็ตามที่แกยังไม่เห็นความดีในตัว
ก็ไม่นับว่าแกรู้จักข้า
แต่ถ้าเมื่อใดที่เริ่มเห็นความดีในตัวเองแล้ว
เมื่อนั้น ข้าว่าแกรู้จักข้าดีขึ้นแล้ว”
นับเป็นคำพูดที่แสดงนัยแห่งเป้าหมายของการปฏิบัติที่ท่านได้เมตตาพร่ำสอนศิษยานุศิษย์ไว้อย่างชัดเจนที่สุดตอนหนึ่ง รวมทั้งเป็นกำลังใจแก่ผู้ที่ศรัทธาในตัวท่าน ไม่ว่าผู้นั้นจะมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดท่านหรือไม่ หรือแม้แต่จะมาทันได้พบสรีระสังขารแห่งท่านหรือไม่ก็ตาม
พ.อ. มกราคม ๒๕๔๑
|