แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๘

ทามาก็อต จิ



ทามาก็อต จิ หรือสัตว์เลี้ยงคอมพิวเตอร์ที่แสนจะขี้อ้อนกำลังแพร่ระบาดและเป็นที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ญี่ปุ่นและในบ้านเรา จนทางโรงเรียนต้องห้ามนักเรียนไม่ให้นำมาโรงเรียน เพราะจะทำให้เสียการเรียน เนื่องจากต้องคอยดูแลทามาก็อตยิ่งกว่าไข่ในหิน ต้องคอยป้อนอาหารให้ทาน พาเข้าห้องน้ำ เจ็บป่วยต้องพาไปหาหมอและอื่นๆ อีกจิปาถะ มิฉะนั้น...มันจะตาย

จากเรื่องทามาก็อต จิ เจ้าสัตว์เลี้ยงปลอม ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งในอดีต คือ ตลิ่งสูง ซุงหนัก ของนิคม รายยวา กวีซีไรต์ เมื่อหลายปีก่อน

ครั้งนั้น นิคมได้นำเสนอเรื่องความเป็น ของจริง และ ของปลอม ได้อย่างไพเราะกินใจยิ่งนัก นิคม ได้ให้คำงายตัวเอกของเรื่องเรียนรู้และพบคำถามได้โดยการ “ประสบ” กับคำตอบอันเป็นรูปธรรมหลายๆ ครั้ง จนสามารถโยงเข้าสู่ปริศนาในใจได้

คำงาย...เริ่มแกะช้างใหญ่เท่าตัวจริง เขาเริ่มตั้งคำถามว่า “เราเคยเดินทางไกล ได้พบเห็นอะไรหลายอย่าง แต่ตัวเราเองเป็นของใกล้ที่สุด เรากลับไม่เคยเห็นมันเลย” จนเมื่อคำงายแกะช้างได้เป็นตัวเป็นตนแล้ว แต่เขายังหาความเป็นช้างไม่ได้

จนวันหนึ่ง เมื่อเขาอยู่บนหลังพลายสุด ยามที่พลายสุดตกมัน เมื่อเขากุมสติได้ เขาพบว่าสิ่งนี้เองที่เราอยากรู้ เขาคิดขณะความอุ่นและอ่อนละมุนจากตัวช้างแล่นซ่านใต้ร่างเขา มันมีอารมณ์มีเลือดเนื้อ มีชีวิตและวิญญาณ เขาสัมผัสได้ถึงความมุทะลุรุนแรงที่กำลังทะยานไปข้างหน้า รู้สึกถึงความหวาดกลัวและหวั่นไหวชั่วขณะของมัน ความเศร้า ความเจ็บปวด และความตกใจ ขณะดิ้นรนและวิ่งพล่านฟัดเหวี่ยงอยู่กับแอ่งที่หาทางออกไม่ได้

สิ่งที่คำงายค้นพบนี้ ไม่ใช่เพียงแต่ชีวิตและเลือดเนื้อของช้างตัวหนึ่งเท่านั้น แต่คือชีวิตและเลือดเนื้อของมนุษยชาติที่ขาดหายไปในโลกปัจจุบัน โลกที่ผู้คนชื่นชมกับชีวิตที่เป็น “ซาก” มากกว่าชีวิตที่เป็น “จริง”

ดังนั้น คำงายจึงหันกลับมาพิจารณาช้างไม้ของเขาอีกครั้งหนึ่ง และฉงนฉงายนักว่า “คนเรานี่แปลกจริงๆ ไม้ใหญ่มันก็ใหญ่ของมันอยู่แล้ว ใครไม่ได้ทำให้รูปช้างใหญ่ แต่ท่อนไม้มันใหญ่ของมันเอง ตัวมันจริงๆ คือต้นไม้ใหญ่ แต่คนกลับไม่เห็นความสวยและมีค่าของมันตอนมีร่มเงามีชีวิต กลับโค่นมัน ลิดกิ่งใบให้เป็นซากไม้ แล้วเอามาแกะให้เหมือนซากช้างชื่นชมมัน มากกว่าได้เห็นช้างหรือต้นไม้ที่มีชีวิตจริงๆ เสียอีก ทำไปทำมาจะไม่มีของจริงเลยสักอย่าง ไม่ว่าช้างหรือไม้”

เรื่องของทามาก็อต จิ คำงายและพลายสุด เป็นตัวอย่างอันดีให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นในเรื่อง ของจริง ของปลอม

บทสนทนาตอนหนึ่ง ที่หลวงพ่อดู่ท่านพูดคุยกับข้าพเจ้าและเพื่อนครั้งที่ได้กราบนมัสการและถวายดอกบัวแก่ท่าน ก่อนที่จะถวายดอกบัว เพื่อนของข้าพเจ้าได้นำดอกบัวมาพับกลีบบัวให้ดูเหมือนเป็นดอกกุหลาบ อีกกลุ่มก็เอาดอกบัวมาพับกลีบเข้าไปทีละชั้นจนเห็นเกสรดอกบัวที่อยู่ด้านใน

หลวงพ่อท่านนั่งมองดูอยู่ ในที่สุดท่านได้ฝากข้อคิดการไปทำบุญครั้งนั้นให้ข้าพเจ้าว่า


“ดอกบัวที่พับกับดอกบัวที่ไม่ได้พับ อย่างไหนอยู่ได้นานกว่ากัน”
“อย่างที่ไม่พับครับ” ข้าพเจ้าตอบ


“เอ้อ! ก็เรามันอยากนี่นา อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ ข้าฝากแกไปคิดดู”

พับกันไป พับกันมา...ในที่สุดของจริงก็อยู่ได้ทนนานตามธรรมชาติกว่าของที่ถูกพับ และดูจริงๆ แล้วดอกบัวที่ถูกพับเป็นดอกกุหลาบนั้น จะดูเป็นดอกบัวก็ไม่ใช่ จะเป็นดอกกุหลาบก็ไม่เชิง

เอาความเป็นดอกบัว...ถวายท่านดีกว่า
ข้าพเจ้าตอบกับตัวเอง


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๙

ไตรสรณาคมน์



คุณหมออมรา มลิลา เป็นฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรมได้ดียิ่งผู้หนึ่ง ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือและถือเป็นแบบอย่าง วันหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านที่ธรรมสถานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทสนทนาวันนั้น ได้พูดกันถึงพระไตรสรณาคมน์ คุณหมอได้ฝากข้อคิดในเรื่องที่กล่าวกันว่า การขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง จะสามารถกำจัดภัยได้จริงนั้น ถึงอย่างไรจึงกำจัดภัยได้จริง คุณหมอได้อธิบายว่า

การถึงพระพุทธ เพื่อเป็นสรณะนั้น หมายถึง การเข้าใจถึงศักยภาพของจิตแท้ที่เป็นพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ใครก็ตามที่เชื่อเช่นนี้ จนพากเพียรบากบั่นฝึกอบรมจิตใจของตนให้เกิดเป็นสัมมาทิฏฐิตั้งมั่นในมรรค ไม่ย่อหย่อน อ่อนแอท้อแท้ เกียจคร้านที่จะปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป


จนในที่สุด ใจนั้นถึงพร้อมด้วยสติ สมาธิ ปัญญา และมีกำลังพอที่จะขุดรากถอนโคนกิเลสอาสวะทั้งปวงออกไปจากจิตใจได้ จิตของผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากสิ่งที่เศร้าหมองคือ อวิชชา ตัณหา อุปทาน ตื่น เบิกบาน เป็นพุทธะ มีความบริสุทธิ์เทียบเท่ากับพระอรหันต์ทั้งปวงและของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่ความสามารถทางอภิญญาอาจยิ่งหย่อนกว่ากันได้

การถึงพระธรรม คือ การมีสติรักษาใจให้น้อมเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตมาเป็นธรรมะสอนใจแทนการปล่อยให้ปรุงคิดเตลิดไปตามสัญญา อารมณ์เกิดเป็นความทุกข์ เกิดเป็นความคับข้องใจ หรือเมื่อใดใจคิดฟุ้งซ่าน ก็หยุดกำหนดรู้อยู่ปัจจุบัน คือขณะเดี๋ยวนี้ เฉพาะหน้าแต่ละขณะ ใจที่ฝึกเช่นนี้จะเปรียบเสมือนมีธรรมของพระพุทธองค์เทศน์ให้ฟังอยู่ในใจตลอดเวลา

เมื่อไม่มีสิ่งกระทบก็รู้อยู่กับปัจจุบัน เมื่อมีสิ่งกระทบไม่ว่าจะเป็นผัสสะจากภายนอกหรืออารมณ์ของใจเอง ก็จะหมุนให้คิดเป็นมรรคทุกครั้ง จะเปลี่ยนจากความคิดที่เป็นกิเลสให้เป็นมรรคดังนี้เรื่อยไป ดังนั้นความคิด คำพูด หรือการกระทำด้วยกายทุกอย่างๆ จะเป็นการกระทำเพื่อความสิ้นสุดแห่งทุกข์ถ่ายเดียว

การถึงพระสงฆ์ คือ การน้อมตนให้ปฏิบัติดัง “พระสงฆ์” คือ เป็นผู้ปฏิบัติดี (สุปฏิปันโน) ปฏิบัติตรง (อุชุปฏิปันโน) ปฏิบัติถูก (ญายปฏิปันโน) ปฏิบัติชอบ (สามีจิปฏิปันโน) ตลอดเวลาที่จะระลึกได้

การปฏิบัติดังกล่าวมานี้คือ การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่จะเป็นสรณะที่พึ่งอันแท้จริง สามารถกำจัดทุกข์กำจัดภัยได้จริง

ข้าพเจ้าฟังคุณหมออธิบายจนจบได้แต่อมยิ้ม
ใบหน้าของหลวงพ่อดู่ลอยเด่นพร้อมกับเสียงของท่านดังขึ้นมาในโสตประสาทของข้าพเจ้าว่า


"นั่นแหละ พระไตรสรณาคมน์ ใครเชื่อพระ ก็เป็นพระ ใครละได้ ก็ไม่ใช่คน"

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๐

ไม่พอดีกัน



ข้าพเจ้าเคยได้ยินผู้อำนวยการวัยห้าสิบท่านหนึ่งในธนาคารปรารภกับผู้ใหญ่อีกท่านว่า สมัยหนุ่มๆ มีเรี่ยวแรงดีแต่เงินเดือนน้อย อยากไปเที่ยวเมืองนอกก็ไปไม่ได้ เพราะไม่มีสตางค์ แต่ทุกวันนี้มีเงินเดือนมาก อายุก็มากขึ้นตามมา มีเงินไปเที่ยวได้อย่างสบาย แต่ไม่มีแรงไป

ข้าพเจ้านึกถึงคำคมที่ อุดม แต้พานิช หรือ “โน้ต” ศิลปินตลกและนักเขียนที่โด่งดังสุดขีดจากเดี่ยวไมโครโฟนและงานเขียนหนังสือที่ขายดีติดอันดับยอดขายที่สูงสุดคนหนึ่งในบ้านเราขณะนี้ ได้เล่าไว้ในหนังสือ Note Book หน้า ๑๓๑ ว่า

มีแรง  มีเวลา ไม่มีเงิน
มีแรง  มีเงิน  ไม่มีเวลา
มีเงิน  มีเวลา ไม่มีแรง


นี้เป็นข้อคิดที่ดีทีเดียว ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคำสอนหลวงพ่อดู่ที่สอนข้าพเจ้าให้ตั้งอกตั้งใจภาวนาตั้งแต่อายุไม่มากในเวลาที่พอมีเรี่ยวแรง มีเวลา (จะมีเงิน หรือไม่มีเงิน ช่างมัน!)

“ข้อสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือ ต้องไม่ประมาท
ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร?”


เคนเห็นไหม เพื่อนเรา คนที่เรารู้จักที่ตายไปแล้วนั่นน่ะ เขาเตือนเรา
ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็นเสียแต่วันนี้ เวลาจะตายมันก็ไม่เป็นเหมือนกัน
เหมือนกับคนที่เพิ่งคิดหัดว่ายน้ำ เวลาใกล้จะจมน้ำตายนั่นแหละ ก็จมตายไปเปล่าๆ


หลวงพ่อดู่ได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า

แกไม่ปฏิบัติหนึ่งวันนี่ เสียหายหลายแสน
วันนึงก็มีความหมาย
ข้าฝากให้แกไปคิดเป็นการบ้าน”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๑

ธรรมะจากสัตว์



เวลาพระพุทธเจ้าตรัสสอนเหล่าพระสาวก ท่านมักจะยกสัตว์ต่างๆ มาแสดงเปรียบเทียบให้ได้แง่คิดทางธรรมอยู่เสมอ นับเป็นวิธีสอนธรรมที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจและมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนทีเดียว

ดังตัวอย่าง เช่น ยกเรื่องงูพิษเปรียบกับการศึกษาเล่าเรียน ถ้าเรียนไม่ดี เรียนไม่เป็น ได้ความรู้มาผิดๆ ความรู้นั้นอาจจะเป็นอันตรายดุจเดียวกับงูพิษที่ขนดหาง ย่อมถูกงูพิษแว้งกัดเอาได้

ยกลิงโง่อยากลองเอามือจับตัง เอาเท้าถีบและใช้ปากกัด ผลที่สุดติดตังดิ้นไม่หลุด เปรียบเหมือนคนที่ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องเต็มไปด้วยความเห็นผิด ความเข้าใจที่ผิด ในที่สุดก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก

ยกเต่าหดหัวอยู่ในกระดอง ได้ยินเสียงอะไรที่ผิดปกติก็จะหดหัวเข้ากระดองปลอดภัยไว้ก่อน เปรียบดังผู้ปฏิบัติที่สำรวมอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นอะไร ได้ยินอะไร..ก็มีสติ ไม่ยินดี ยินร้ายไปตามเสียงเร้าจากภายนอกก็ย่อมปลอดภัยจากกิเลสได้

ยกนกเขา ที่ร้องเสียง คู คู เหมือนคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวหวงแหนโภคทรัพย์ ไม่แบ่งปันคนอื่น ตัวเองก็ไม่กินไม่ใช้ บุญกุศลก็ไม่ทำ ได้แต่ถนอมกอดทรัพย์ภูมิใจว่าทรัพย์ของกูของกูหลงยึดติดอยู่อย่างนั้น

ในบรรดาเรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้ เรื่องที่หลวงพ่อดู่นำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้ศิษย์ได้ฟังกันบ่อยๆ คือเรื่องนกเขา ที่ร้องเสียง คู คู ได้ฟังเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจให้ศิษย์ทั้งหลายอย่าได้ประมาทและหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า

ตัวเรา.......................ตัวเขา
ไม่ใช่เรา....................ไม่ใช่เขา
ของเรา.....................ของเขา
ไม่ใช่ของเรา..............ไม่ใช่ของเขา


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๒

คุณธรรม ๖ ประการ



หลวงพ่อดู่เคยปรารภธรรมเกี่ยวกับเรื่องการเจริญโพชฌงค์ อันเป็นคุณธรรมที่ทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติตามได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีแต่ความเย็นใจในทุกที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ท่านได้แสดงไว้กับคุณวรวิทย์ ด่านชัยวิจิตร ซึ่งได้นำมาถ่ายทอดให้ข้าพเจ้าได้รับฟัง ด้วยเป็นธรรมะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อีกทั้งมีความไพเราะทั้งอรรถและธรรม จึงขอฝากไว้กับศิษย์หลวงพ่อให้ได้นำไปพิจารณากัน

“ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารทั้งหลาย ผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสารนั้น ถ้าประกอบด้วยคุณธรรม ๖ ประการนี้ ย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานถึงความเยือกเย็นอย่างยอดเยี่ยม คุณธรรม ๖ ประการนั้น คือ

• ข่มจิตในสมัยที่ควรข่ม
• ประคองจิตในสมัยที่ควรประคอง
• ยังจิตให้ร่าเริงในสมัยที่ควรร่าเริง
• วางเฉยจิตในสมัยที่ควรวางเฉย
• มีจิตน้อมไปในมรรค ผล อันประณีตสูงสุด
• ยินดียิ่งในพระนิพพาน


ผู้ปฏิบัติที่มีความชาญฉลาดย่อมจะต้องศึกษาจิตใจและอารมณ์ของตนให้เข้าใจ รู้จักวิธีกำหนดปล่อยวางหรือควบคุมจิตใจและอารมณ์ให้ได้ เปรียบเสมือนเวลาที่เราขับรถยนต์จะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงวิธีการขับขี่ปลอดภัย บางครั้งควรเร่ง บางคราวควรผ่อน บางทีก็ต้องหยุด

เร่งในเวลาที่ควรเร่ง
ผ่อนในเวลาที่ควรผ่อน
หยุดในเวลาที่ควรหยุด
ก็จะสามารถถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย


เปรียบเหมือนการปฏิบัติธรรมนี่ล่ะ ทำนองเดียวกันให้พิจารณาอย่างนี้


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๓

ที่สุดแห่งทุกขเวทนา



“ธรรมนั้นอยู่ฟากตาย ไม่รอดตายไม่เห็นธรรม”

เป็นคำสอนธรรมที่ไพเราะ กินใจ และเป็นประโยชน์ในการนำมาขบคิดพิจารณาให้แจ่มแจ้งกับตนเองอย่างยิ่ง

วันหนึ่งขณะที่ข้าพเจ้านั่งปฏิบัติภาวนา ใจมีความสงบระงับพอสมควร เวลาผ่านไปได้สัก ๒-๓ ชั่วโมง ทุกขเวทนาอันเนื่องมาจากความปวดเมื่อยตามร่างกายเริ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งแรก ข้าพเจ้าอาศัยกำลังสมาธิเข้าข่มความเจ็บปวด โดยพยายามให้จิตจดจ่ออยู่กับภาวนาให้มั่นคงขึ้น ความปวดเมื่อยก็หายไป แต่ก็เป็นเพียงชั่วขณะไม่นานนัก ความปวดเมื่อยนั้นก็กลับคืนมาอีกและรุนแรงขึ้น

ข้าพเจ้าจึงตั้งคำถามตัวเองว่า...
“ที่ว่าเจ็บปวด มันปวดตรงไหน ที่จิตหรือที่กาย”
“เจ็บที่กาย” ข้าพเจ้าตอบตัวเอง
“เออ เจ็บที่กาย มันก็ต้องไม่เกี่ยวกับจิต ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าว่า จิตกับกายเป็นคนละส่วนกัน เราจะต้องเห็นจิตเห็นกายว่าเป็นคนละส่วนด้วยตัวเรา และต้องไม่ทุรนทุรายจากความเจ็บปวดอันนี้” ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองอีก


เวลาผ่านไปอย่างช้าๆ แต่อนิจจาความเจ็บปวดมิได้หายไปไหนเลย กลับทวีความรุนแรงถึงขนาดที่ขาทั้งสองข้างของข้าพเจ้าสั่นระริกและกระตุกด้วยความเจ็บปวดเอง ขณะนั้นเกิดเป็นความร้อนทั่วร่างกายโดยเฉพาะที่หัวเข่าที่นั่งขัดสมาธิเกิดความเจ็บปวดแสนสาหัสเหมือนมีใครมาบิดขาและดึงให้ยึดออก เป็นความทรมานที่สุดครั้งหนึ่งของการปฏิบัติภาวนาของข้าพเจ้าทีเดียว

ข้าพเจ้าบอกกับตนเองว่า วันนี้ต้องให้เห็นที่สุดของทุกขเวทนาให้ได้ เราจะไม่ยอมลุกจากที่นั่งโดยไม่ผ่านทุกข์ ไม่เห็นที่สุดของทุกขเวทนา ถ้าเราลุกแปลว่าเราไม่เชื่อพระพุทธเจ้า ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าจริง เราต้องผ่านทุกข์ให้ได้ ให้ใจเราเห็นได้ว่า จิตกับกายนี้เป็นคนละส่วนกัน ถ้าหากวันนี้เราแพ้ก็ไปหาผ้าถุงมานุ่งเสีย แล้วไม่ต้องมาปฏิบัติอีกเลย ปฏิบัติไปก็ตายเปล่า เพราะคนขี้แพ้ทำอะไรมันก็แพ้อยู่วันยังค่ำ เวลาจะตายมันเจ็บปวดเพียงไรจะทนไหวหรือ

เมื่อตกลงกับตัวเองดังนี้แล้ว ความเจ็บปวดก็ยังมิได้หายไปไหนเลย คราวนี้กลับเพิ่มความรุนแรงขึ้นจนน้ำตาข้าพเจ้าไหลออกมาเป็นสาย ในใจขณะนั้นข้าพเจ้าไม่หวังอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องการแม้กระทั่งความสงบ นึกเพียงอย่างเดียวว่า เราทำอยู่นี้ทำด้วยศรัทธาด้วยความรักหลวงพ่อดู่และขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

เมื่อความเจ็บปวดรุมเร้าข้าพเจ้าอย่างแสนสาหัสถึงขนาดเจียนอยู่เจียนไป จนข้าพเจ้ารู้ตัวดีว่าไม่สามารถทนต่อไปได้อีกแล้ว แต่ใจก็ยังไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมลุก และไม่ยอมขยับเขยื้อนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองเหมือนเด็กที่ยืนกำหมัดกัดฟัน แล้ววิ่งเข้าไปชกกับคู่ต่อสู้ที่รูปร่างสูงใหญ่ได้เปรียบกว่าทุกประตู ข้าพเจ้าทั้งร้องไห้ทั้งตะโกนอยู่ในใจว่า “ผมทำถวายหลวงพ่อครับ”

สิ้นคำกล่าวของข้าพเจ้านี้ เหมือนกับหลวงพ่อท่านรับทราบ พลันเกิดเหตุอัศจรรย์เป็นนิมิตที่ข้าพเจ้าจดจำไว้ตลอดชีวิต คือ ข้าพเจ้าเห็นหลวงพ่อดู่เป่าพรวดลงมาที่กระหม่อมของข้าพเจ้า ความรู้สึกขณะนั้นดุจน้ำทิพย์ที่ชโลมรดตั้งแต่ศีรษะจดจรดปลายเท้า ทุกขเวทนา ความปวดเมื่อยที่เมื่อสักครู่ราวกับถูกก้อนหินที่มีน้ำหนักร้อยกิโลทับไว้ก็พลันหายไปในพริบตา เกิดเป็นความเย็นกายเย็นใจตั้งแต่ศีรษะจนจรดปลายเท้า ไม่มีที่ใดที่ความเจ็บปวดซ่อนเร้นหรือหลงเหลืออยู่เลย

ข้าพเจ้าเริ่มมีความมั่นใจในการปฏิบัติมากขึ้น ความลังเลสงสัยในวิถีทางปฏิบัติเริ่มหมดไป มีแต่ความปลาบปลื้มปีติในธรรมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน สังเกตดูจิตกับอารมณ์ถูกแยกออกเป็นคนละส่วนเหมือนแก้วที่ใส่น้ำไว้ แก้วกับน้ำแม้อยู่ด้วยกัน แก้วก็เป็นแก้ว น้ำก็เป็นน้ำ อยู่กันคนละส่วนฉันใด จิตก็เป็นจิต..เป็นผู้รู้ อารมณ์ก็เป็นอารมณ์..เป็นผู้ถูกรู้ฉันนั้น เมื่อหยุดอยู่สักพักหนึ่ง จึงน้อมเอาความสงบมาพิจารณาธรรมารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบใจต่อไป

อย่างนี้กระมังที่ท่านหลวงตา (พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน) เคยสอนไว้ว่า
การต่อสู้กับกิเลส ถ้าสู้กับมัน ชกกับมัน หากสู้ไม่ไหวถูกมันจับขาได้อีก ปากเรามีก็ต้องกัดต้องด่ามัน ให้สู้จนยิบตา

ข้าพเจ้าเริ่มเข้าใจบทเรียนบทนี้แล้ว ความเข้าใจที่เริ่มมีมากขึ้นพร้อมกับความรักที่มีต่อหลวงพ่อดู่ก็มากขึ้นเช่นกัน


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๔

พุทธนิมิต



การตอบคำถามของหลวงพ่อแก่ศิษย์ช่างสงสัยอย่างข้าพเจ้า บางครั้งท่านไม่ตอบตรงๆ แต่ตอบด้วยการกระทำการแสดงให้ดู และการตอบของท่านก็ยังความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ เป็นอย่างยิ่ง ดังเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เกิด “พุทธนิมิต” เมื่อคืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หนึ่งคืน ที่วัดสะแก

เหตุเริ่มแรกเกิดจากเมื่อตอนกลางวัน ในวันนั้นข้าพเจ้าได้มากราบนมัสการหลวงพ่อที่วัด พร้อมกับพกพาเอาความสงสัยสองเรื่อง คือ เวลาที่หลวงพ่อหลวงปู่ทั้งหลายท่านจะไปช่วยลูกศิษย์ที่อยู่ห่างกันคนละที่ในเวลาเดียวกัน ท่านไปได้อย่างไร


พร้อมกับเรื่องนี้ ในวันนั้นข้าพเจ้าได้นำรูปภาพปาฏิหาริย์ของครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ศิษย์ของท่านเหล่านั้นถ่ายภาพ ได้รวบรวมมาถวายให้หลวงพ่อท่านดู มีภาพของพระอาจารย์จวน ด้วยความงวยงงสงสัย ข้าพเจ้าจึงถามท่านว่า ภาพเหล่านี้ถ่ายกันจริงหรือว่าทำขึ้นมา

หลวงพ่อพิจารณารูปเหล่านั้นทีละใบจนครบ ใช้เวลาประมาณหนึ่งนาที แล้วรวบเข้าไว้ด้วยกัน ยกมือไหว้ แล้วบอกข้าพเจ้าว่า
“ข้าโมทนาสาธุด้วย ของจริงทั้งนั้น”

ไม่มีคำอธิบายอื่นใดนอกจากนี้

ครั้นตกเวลากลางคืนประมาณสองทุ่ม ข้าพเจ้ากับเพื่อนๆ มาที่กุฏิหลวงพ่ออีกครั้ง มีลูกศิษย์มากมายต่างมาสรงน้ำหลวงพ่อในโอกาสวันคล้ายวันเกิดท่าน...วันวิสาขปุรณมี เมื่อคณะที่มาสรงน้ำหลวงพ่อเดินทางกลับไปหมด เหลือแต่ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ อีก ๖ คน มีพี่พรสิทธิ์ วันชัย ชาติ นก บุ้ง และเล็ก


พวกเราขออนุญาตหลวงพ่อถ่ายรูปกับท่านไว้เป็นที่ระลึก โดยมีวันชัยกับบุ้งเป็นคนถ่าย ข้าพเจ้าจำได้ดีว่า เมื่อหลวงพ่ออนุญาตแล้ว ศิษย์ตากล้องทั้งสองผลัดกันถ่ายภาพได้ประมาณสิบภาพ แล้วทุกคนก็กราบนมัสการท่านอีกครั้ง บรรยากาศคืนนั้น ข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่แปลกไปกว่าทุกวัน จำได้ว่าบริเวณกุฏิหลวงพ่อเย็นสบาย...เย็นเข้าไปถึงจิตถึงใจข้าพเจ้าอย่างยิ่ง

เมื่อนำฟิลม์ทั้งหมดไปล้าง ปรากฏว่ามีภาพปาฏิหาริย์ “พุทธนิมิต” เกิดขึ้น ข้าพเจ้าขอแบ่งเป็นสองส่วน


ส่วนแรก เป็นภาพพุทธนิมิต คือ เป็นภาพพระพุทธเจ้าที่ถ่ายได้โดยไม่มีวัตถุที่เป็นพระพุทธรูป เหตุอัศจรรย์อีกประการหนึ่งคือ เป็นภาพที่อยู่ต้นฟิลม์ที่มิได้ตั้งใจถ่าย เป็นภาพที่ผู้ถ่ายต้องการกดชัตเตอร์ทิ้ง

ส่วนที่สอง เป็นภาพหลวงพ่อดู่ที่มีแสงสีเป็นรังสีต่างๆ รอบๆ องค์ท่าน สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นี่เป็นการตอบคำถามที่หลวงพ่อเมตตาตอบข้าพเจ้าที่ได้ถามท่านไว้สองคำถามเมื่อตอนกลางวัน

ภาพ “พุทธนิมิต” เป็นการตอบคำถามที่ว่า เวลาที่หลวงพ่อหลวงปู่ทั้งหลายท่านจะไปช่วยลูกศิษย์ที่อยู่ห่างกันคนละที่ในเวลาเดียวกัน ท่านไปได้อย่างไร ส่วนภาพหลวงพ่อดู่ที่มีแสงสีเป็นรังสีต่างๆ รอบๆ องค์ ท่านก็เป็นการตอบคำถามที่ว่า ภาพครูบาอาจารย์องค์ต่างๆ ที่ข้าพเจ้านำมาถวายให้ท่านดูนั้น “เป็นของจริง”


ข้าพเจ้าเชื่อแน่เหลือเกินว่า หลวงพ่อคงมิได้ตอบคำถามข้าพเจ้าเพียงสองคำถามเท่านั้น จึงขอฝากท่านผู้ที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ ให้นำไปพิจารณาด้วยดีก็จะได้รับประโยชน์อีกมากทีเดียว

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ข้าพเจ้าได้นำภาพเหล่านี้มาถวายให้หลวงพ่อดูและกราบเรียนขอคำอธิบายจากท่าน

ท่านตอบอย่างรวบรัดว่า “เขาทำให้เชื่อ”
หลวงพ่อเน้นเสียง สีหน้าเกลื่อนยิ้มด้วยเมตตา


Rank: 8Rank: 8

IMG_5796.JPG



ตอนที่ ๘๕

หลวงพ่อดู่ หลวงปู่ทวด



วันหนึ่งในคราวที่ปลอดคน ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่ที่กุฏิของหลวงพ่อกับท่านโดยลำพัง หลวงพ่อได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า มีลูกศิษย์นายทหารคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ทวดท่านไปหลอกเขา

“หลอกยังไงหรือครับ” ข้าพเจ้าถามท่าน
“เขาว่าเวลาที่เขาภาวนาอยู่ หลวงปู่ทวดไปยืนอยู่ข้างหน้าเขา สักพักตัวท่านก็เปลี่ยนไป หัวเป็นหลวงปู่ทวด ตัวเป็นข้า…..”


ท่านตอบข้าพเจ้าว่า “เขาจำรอยสักรูปผีเสื้อที่มือข้าได้”
หลวงพ่อได้เล่าต่อว่า “เมื่อหลวงปู่ทวดไปหลอกเขาโดยแสดงให้เห็น หัวเป็นหลวงปู่ทวด ตัวเป็นข้า แล้วสักพักก็เปลี่ยนใหม่ ทีนี้
หัวเป็นข้า ส่วนตัวเป็นหลวงปู่ทวดถือไม้เท้า กลับไปกลับมาอย่างนี้”

เรื่องที่หลวงพ่อเล่าให้ข้าพเจ้าฟังนี้ ตรงกับนิมิตที่ศิษย์ของหลวงพ่อหลายคนเคยมีนิมิตเกี่ยวกับท่าน คือเป็นนิมิตที่เป็นรูปพระพุทธเจ้าอยู่ตรงกลาง ด้านขวาด้านซ้ายมีรูปหลวงปู่ทวดและหลวงพ่อดู่อยู่ สักพักภาพทั้งสามก็ค่อยๆ เลื่อนมารวมเป็นภาพเดียวกัน คือเป็นภาพพระพุทธเจ้า

หากหลวงพ่อดู่และหลวงปู่ทวดมิใช่พระองค์เดียวกันแล้ว สมควรแล้วหรือที่นิมิตที่ศิษย์นายทหารท่านนั้นจะเห็นศีรษะหลวงพ่อดู่ไปวางบนลำตัวหลวงปู่ทวด สมควรแล้วหรือที่ศีรษะหลวงปู่ทวดมาวางบนลำตัวหลวงพ่อดู่ และสมควรแล้วหรือที่ภาพพระพุทธเจ้า หลวงปู่ทวด หลวงพ่อดู่มารวมเป็นภาพเดียวกัน

ข้าพเจ้าเชื่อว่า หลวงพ่อดู่เป็นพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาพุทธภูมิเช่นเดียวกับหลวงปู่ทวด ส่วนท่านจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่นั่น ข้าพเจ้าไม่ทราบได้ เพราะเป็นวิสัยของผู้มีญาณเท่านั้นที่จะพึงทราบ


เหตุที่บันทึกเรื่องนี้ไว้ก็เพียงเพื่อเตือนใจตัวเองที่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้เคยเมตตาเล่าเรื่องนี้ให้ข้าพเจ้าฟัง และหากเป็นประโยชน์กับใครบ้าง ช่วยสร้างศรัทธาปสาทะให้เกิดความพากเพียรที่จะก้าวล่วงความทุกข์ให้ได้แล้ว ข้าพเจ้าขอโมทนาด้วยอย่างยิ่งครับ

IMG_8289-removebg-preview.3-removebg-preview.png



.....จบเนื้อหาหนังสือ “พรหมปัญโญบูชา” แล้ว

สวัสดีค่ะ

Rank: 1

สาธุ

Rank: 1

อนุโมทนา สาธุ
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 20:39 , Processed in 0.052365 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.