แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๘

ทำไฉน ? จึงจะฝันดี

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

(วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่)

1.png


การนอนหลับ เป็นความจำเป็นแก่ชีวิตมนุษย์เท่าๆ กับการกิน การกินเป็นการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยอาหาร การนอนหลับเป็นการบำรุงซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยการพักผ่อน

ข้อสังเกตความสุขสบายของร่างกายที่เห็นได้ง่าย คือ การกินได้นอนหลับ ถ้ากินไม่ได้นอนไม่หลับแล้ว ก็ทำนายไว้ล่วงหน้าได้ดีทีเดียวว่า ชีวิตของผู้นั้นใกล้จุดอันตรายเข้าไปทุกที

สิ่งที่คู่กับการหลับคือ “ความฝัน” ดังคำพังเพยที่ว่า
“กินมากถ่ายมาก พูดมากโกหกมาก นอนมากฝันมาก”

คนที่ไม่เคยฝันคือ คนที่ไม่เคยนอนหลับนั่นเอง ความฝันคืออะไร ความฝันคือการที่สามารถเห็นปรากฏการณ์ในเวลาหลับ โบราณท่านแบ่งเหตุแห่งความฝันไว้เป็น ๔ ประการ คือ

๑. ฝันเพราะธาตุกำเริบ หมายความว่า ธาตุทั้งสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นไปโดยไม่สม่ำเสมอคือ ธาตุส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง เช่น คนที่รับประทานอาหารที่ย่อยยาก ทำให้เกิดท้องอืดท้องเฟ้อ เป็นเหตุให้เกิดความละเมอเพ้อฝันได้

๒. ฝันเพราะหน่วงเอาอารมณ์ที่ผ่านพบมาแล้ว สิ่งที่เราได้ผ่านพบมาแล้ว เช่น รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ มีความรู้สึกเย็นร้อนอ่อนแข็งเป็นต้น ถ้าเป็นส่วนที่ชอบใจก็ทำให้จิตใจระลึกถึง นึกอยากได้ ถ้าไม่ชอบใจก็ทำให้จิตใจระลึกถึงไม่อยากจะได้ผ่านเข้ามาอีก การที่จะยึดหน่วงเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นอารมณ์ก็เป็นเหตุให้ฝันได้

๓. ฝันเพราะเทวดาสังหรณ์ เรื่องเทวบุตรเทวดาเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะเป็นคนละพรรคละพวกกับมนุษย์ เทวบุตรเทวดาเป็นพวกกายทิพย์ ตามมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้เหมือนกับคลื่นเสียงของวิทยุ หูของมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะฟังได้ ต่อเมื่อเปิดวิทยุรับ จึงสามารถจะฟังเสียงได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่อยากจะเห็นเทวดาก็ต้องทำตาให้เป็นทิพย์ จึงจะสามารถเห็นเทวดาได้ เทวดาดังกล่าวนี้ เมื่อท่านประสงค์จะให้มนุษย์คนใดทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า ท่านก็บันดาลให้เกิดนิมิตฝันในเวลาหลับ

๔. ฝันเพราะอำนาจ “กุศล” “อกุศล” บันดาล คำว่า กุศล อกุศลในที่นี้ หมายถึง บุญ-บาป ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั่นเอง เรื่องบุญ เรื่องบาป เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่สามารถจะปรากฏผลให้เห็นได้ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า คนที่รูปสวยรวยทรัพย์ ไม่ใบ้บ้าบอดหนวกชื่อว่าคนมีบุญ คนที่มีลักษณะตรงกันข้ามชื่อว่าคนมีบาป


บุญบาปที่ยังไม่ให้ผล จะชี้ให้ตัวตนยังไม่ได้ แต่สามารถติดตามคนผู้กระทำเหมือนเงาที่ติดตามคนไปทุกหนทุกแห่ง ท่านเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ยังไม่ผลิดอกออกผล ก็บอกไม่ได้ว่าดอกผลอยู่ตรงไหนของต้นไม้ ฉะนั้น บุญบาปที่บุคคลทำไว้แล้วนั้น เป็นเหตุดลบันดาลให้เกิดความฝันได้

ความฝันเป็นสิ่งที่เอาแน่นอนไม่ได้ เราฝันดี แต่ไม่ได้รับผลดีเหมือนฝันก็ได้ เราฝันร้าย แต่ไม่ได้รับผลร้ายเหมือนฝันก็ได้ คนที่ไปเที่ยวที่ไหนมานานๆ เมื่อนึกถึงสถานที่ที่เคยไป จำได้เพียงเลือนลางก็มักจะพูดว่า “นึกถึงแล้วเหมือนกัน”


หรือคนที่นึกถึงความหลังที่ผ่านมา สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ลุ่มๆ ดอนๆ ก็มักจะเปรียบชีวิตอย่างนี้ว่า “เหมือนฝัน” แสดงให้เห็นว่า ชีวิตกับความฝันมีลักษณะคล้ายคลึงกัน บางคืนนอนฝันไปว่าถูกหวยรวยทรัพย์ ดีอกดีใจ ตื่นขึ้นมายังดีใจไม่หาย แต่แล้วก็เหลวไม่เป็นไปดั่งฝัน

บางวัน นอนฝันไปว่าถูกจองจำทำโทษ ได้รับความทุกข์ทรมานอกสั่นขวัญหาย ตื่นขึ้นมาอกยังเต้นอยู่ แต่ก็ไม่เป็นไปดั่งฝันอีก เช่นเดียวกับชีวิตในหนหลัง บางตอนรุ่งโรจน์เต็มไปด้วยความชุ่มชื่นรื่นเริง จะปรารถนาสิ่งใดก็ได้ดังใจหวัง ชีวิตบางตอนอับเฉาเหี่ยวแห้ง เต็มไปด้วยความทุกข์ระทม มีแต่ความพลาดหวัง จะหันหน้าไปพึ่งใครมีแต่เบือนหน้าหนี

ความสุข ความทุกข์ เหล่านั้น เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนสายน้ำไหล เมื่อไหลผ่านไปแล้วจะให้ไหลย้อนกลับคืนอีกไม่ได้ จะไปเอาอะไรจริงจังกับชีวิตและความฝัน คนนอนหลับแล้วฝัน ยังพอจะเล่าเรื่องความฝันให้คนอื่นแก้ว่าร้ายหรือดี

แต่มีความฝันอีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาจจะเล่าให้ผู้อื่นแก้ได้ ความฝันชนิดนี้คือ “ความฝันของคนที่ตื่นอยู่” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความละเมอเพ้อฝัน เมื่อฝันหนักๆ เข้า จนไม่สามารถจะยับยั้งจิตของตัวเอง ก็จะกลายเป็นคนวิกลจริตผิดธรรมดา ความฝันชนิดนี้เป็นภัยต่อชีวิต จึงไม่ควรฝัน

ยังมีความฝันอีกอย่างหนึ่ง เป็นความฝันที่ทางพระพุทธศาสนายกย่องว่าเป็นความฝันที่ดีคือ “ความฝันของคนที่เจริญเมตตา” ดังที่ท่านแสดงไว้ในอานิสงส์ของการเจริญเมตตาว่า คนที่เจริญเมตตาดีแล้วย่อมไม่ฝันร้าย หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข

เมตตาเป็นอาการของจิตที่ประกอบด้วยความรู้สึกที่ดีงาม รู้จักหัวอกเขาหัวอกเรา ไม่เอาแต่ใจตนเองเป็นประธาน รู้จักให้อภัย ไม่มีการผูกอาฆาตจองเวร จะนึกคิดและทำสิ่งใดก็มุ่งหมายความสามัคคีสงบสุขเป็นที่ตั้ง


เมตตาจิตนี้ ควรจะให้มีทุกกาลและทุกสถานที่ แต่ถ้าไม่สามารถจะเจริญได้ทุกกาล ทุกสถานที่ อย่างน้อยที่สุดควรจะเจริญเวลาก่อนนอนเป็นประจำ เพราะเวลานอนเป็นเวลาที่ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน ได้รับความสงบ ควรจะให้จิตใจได้รับอารมณ์ที่สะอาดปราศจากความสะดุ้งหวาดหวั่น เป็นโอกาสได้พักผ่อนนอนทั้งกายและใจ ก่อให้เกิดความสุขทั้งส่วนกายและส่วนจิต หลับก็เป็นสุข แม้จะฝันก็ไม่ฝันร้าย ตื่นขึ้นมาเบิกบานแจ่มใส

คนเราที่หลับลงไปคืนหนึ่งก็เหมือนตายไปครั้งหนึ่ง และเมื่อตื่นขึ้นมาก็เหมือนการเกิดใหม่ ชีวิตเป็นของมีค่า ควรจะให้ตายดีและเกิดดี แม้ในสมัยที่ยังหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งเป็นเหมือนตายๆ เกิดๆ อยู่นี้ เมื่อจะสรุปความตอบปัญหาตามัวข้อที่ตั้งไว้ก็ได้ใจความว่า การที่จะฝันดีนั้น พึงปฏิบัติดังนี้

๑. อย่ารับประทานอาหารมากเกินไป น้อยเกินไป และอย่ารับประทานอาหารที่ย่อยยาก


๒. อย่าเก็บเอาเรื่องที่ล่วงไปแล้วมาครุ่นคิด ก่อให้เกิดความฟุ้งซ่านในเวลาก่อนจะนอน


๓. พยายามสร้างความดีให้เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตลอดเวลาที่ผ่านไป


๔. อย่าสร้างความฝันอันเลื่อนลอยหลอกตัวเองในเวลาตื่น


๕. ก่อนจะนอนให้ไหว้พระสวดมนต์เป็นประจำ หลังจากไหว้พระสวดมนต์ แล้วให้เจริญเมตตา คือ ให้ถอนจิตจากอารมณ์ที่ประกอบด้วยอาฆาตพยาบาท และให้ระลึกถึงคนอื่นด้วยความปรารถนาดี และแผ่เมตตาตามบทสวดมนต์

ขอให้ทุกท่านผู้อ่านจงฝันดีมีความสุขทั่วกันทุกท่านเทอญฯ

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • เกร็ดสารธรรม. เชียงใหม่: สลากภัตปีที่ ๗๖ งานบุญสืบสานสลากภัตประจำปี ๒๕๔๗ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗. หน้า ๕-๑๐.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๗

มนต์รัก

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

(วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่)

1.png



ในเรื่องนิราศพระแท่นดงรัง เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า ระหว่างที่สุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้ สุนทรภู่เดินทางเข้าไปในป่า ได้เห็นแมลงภู่คลึงเคล้าเกสรดอกไม้ เพื่อต้องการรสหวานจากดอกไม้ จึงแสดงความรู้สึกออกมาเป็นคำกลอนว่า

ระรวยรื่นชื่นหอมพยอมสด      สุคนธรสโรยร่วงพวงเกสร
ต้องพระพายชายช่ออรชร      หมู่ภมรคลึงเคล้าเฝ้าเชยชม


เพราะได้มองเห็นภาพแมลงภู่นี้เอง ทำให้สุนทรภู่เกิดความคิดต่อไปว่า ดอกไม้กับแมลงภู่เป็นของคู่กัน เกิดมาเพื่อแก่กันและกัน เช่นเดียวกับหญิงกับชายก็เกิดมาเป็นของคู่กัน จึงให้คำกลอนเปรียบต่อไปว่า

แมลงภู่เป็นคู่ของบุปผา            โบราณว่ามีจริงทุกสิ่งสม
หญิงกับชายก็เป็นคู่ชูอารมณ์     ทั่วปฐมกัปกัลป์พุทธันดร


ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงตามที่กล่าวมา ความเป็นอยู่ระหว่างหญิงกับชาย จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่หนุ่มถึงแก่ และจนกระทั่งตายจากกันไป ความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของหญิงชายในฐานะอื่นจะไม่กล่าวถึง


จะขอพูดถึงเฉพาะความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว ที่ทำให้ทุกคนจึงดิ้นรนขวนขวายหาความรัก บางคนถึงกับยอมเสียสละชีวิตก็เพื่อความรักและคนรัก เพื่อจะให้สมปรารถนาในความรักนี่เอง จึงมักจะมีเรื่องแปลกๆ เกิดขึ้นในระหว่างชายหนุ่มหญิงสาว จะเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง

มีหนุ่มน้อยผู้หนึ่ง ชื่อ จุ่น กำลังแตกเนื้อหนุ่ม มองเห็นโลกเป็นเมืองสวรรค์ แม้จะยังอยู่ในวัยเรียน เขาก็หาเห็นความสำคัญของการศึกษาไม่ การเรียนเป็นเหมือนยาที่ขมขื่นสำหรับเขา เขาไม่ชอบแม้กระทั่งเครื่องแบบของนักเรียน แต่กลับไปชอบเครื่องแต่งตัวที่ออกแบบมาใหม่ๆ เช่น กางเกงทรงทรมาน กางเกงขาสั้นจุ๊ดจู๋ เสื้อลายแบบฮาวาย จักรยานแบบเสือหมอบและเรื่องที่ยิ่งใหญ่ก็คือ นายจุ่นริเริ่มรักระหว่างเรียน

เขามีแฟนอยู่คนหนึ่ง ชื่อ สี อายุรุ่นราวคราวเดียวกันและยังเป็นนักเรียนอยู่เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่นายจุ่นกลับจากโรงเรียนแทนที่จะตรงกลับบ้าน เขาจะต้องเถลไถลผ่านไปทางบ้านแฟนเสียก่อน วันหนึ่งๆ ขอให้ได้เห็นหน้า หรืออย่างน้อยที่สุดได้เห็นหลังคาบ้านก็ชื่นใจ นี่กระมังที่ท่านเรียกว่า “มนต์รัก” เมื่อหนุ่มน้อยใช้ความพยายามไปมาหาบ่อยๆ นางสาวสีก็ชักเห็นใจ เริ่มสนใจพ่อหนุ่มจุ่นมากขึ้นทุกวัน จึงให้ความสนิทสนมมากขึ้น

วันหนึ่งหนุ่มน้อยไปเยี่ยมคนรัก ขณะที่ขี่จักรยานผ่านไปทางหลังบ้าน ก็พอดีแพล่นโผล่หน้าออกมาทางหน้าต่างพร้อมยิ้มให้ เจ้าหนุ่มยังไม่ทันจะพูดว่าอะไร แฟนสาวก็ม้วนกระดาษชิ้นเล็กๆ โยนมาให้เจ้าหนุ่มคลี่ออกอ่านด้วยหัวใจเต้นตุ๋มๆ ต่อมๆ อ่านแล้วไม่ว่าอะไร เป็นแต่ยิ้มตอบให้แฟน แสดงว่าเข้าใจความหมายตลอดแล้ว ในจดหมายข้างในมีข้อความสั้นๆ ว่า

“ขอให้พาไปดูหนังอาทิตย์ที่จะถึงนี้ ขัดข้องตอบให้ทราบด้วย” เรื่องที่จะปฏิเสธเห็นจะไม่มีแน่ เจ้าหนุ่มม้วนกระดาษยัดใส่กระเป๋ากางเกง ปั่นจักรยานกลับบ้าน บอกไม่ถูกว่าตัวเองกลับบ้านมาเมื่อไร และระหว่างทางที่ผ่านมาได้พบกับใครบ้าง กลับมาถึงบ้านเดินตรงเข้าไปในห้องหนังสือ หยิบกระดาษปากกามาจะเขียนจดหมายตอบ


คุณจุ่นก็เกิดปัญหาโดยไม่ได้คาดฝันไว้ก่อน ปัญหานั้นเกี่ยวกับปัญหาทรัพย์จาง เมื่อเขาเปิดดูกระเป๋าสตางค์เหลืออยู่เพียง ๑ บาทเท่านั้น เจ้าหนุ่มรู้สึกตัวเบาหวิวต้องวางปากกาไว้ที่เดิม เปลี่ยนความคิด มาคิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้า “เอ! มีสตางค์ ๑ บาท เราจะพาแฟนไปดูหนังได้อย่างไร”

เขาคิดและคิดต่อไปว่า “ขโมยสตางค์แม่เห็นท่าจะดี ไม่ได้ ไม่ได้…….เราจะเสียคน ขอท่านตรงๆ ดีกว่า ว้า…..คุณแม่หมู่นี้ก็แย่ ได้ยินบ่นว่าไม่มีสตางค์จ่ายค่ากับข้าว ทำอย่างไรดีฮึ…….”


ความคิดของเขาวนอยู่ในบ้าน หาทางออกไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เขาคิดถึงเพื่อนฝูง คิดถึงเพื่อนคนไหนก็เจอแต่ชนิดหน้าชื่นอกตรมทั้งนั้น นายจุ่นคิดปัญหาเรื่องทรัพย์จางไม่ตก ต้องลุกขึ้นเดินไปเดินมา คนอื่นไม่รู้เรื่องของเขา ก็เข้าใจว่านายจุ่นคงคิดเลขการบ้าน ในระหว่างที่เขาเดินไปเดินมานี้เอง ความคิดใหม่ใสแจ๋วก็เกิดแก่เขา “โรงจำนำ โรงจำนำ” เขาท่องอยู่ในใจ “อะไรละ! ที่จะเอาไปจำนำ”  

“นาฬิกา” เขาตอบตัวเขาเอง พอเรื่องจะลงเอยเข้า หนุ่มน้อยจ้องสะดุดกับความคิดของตัวเองอีก เพราะมีความคิดอีกอย่างหนึ่งซ้อนขึ้นมาว่า “นาฬิกา” นอกจากจะไว้ใช้สำหรับดูเวลาแล้ว ยังแสดงหลักฐานของผู้เป็นเจ้าของด้วย เราเคยดูนาฬิกาทุกวัน ถ้าเอาไปจำนำเสีย แฟนของเราไม่เห็นก็จะถาม ถ้าเราโกหก แฟนอาจจะจับโกหกได้ ทั้งความภูมิฐานของเราก็จะหมดไปด้วย ไม่ได้…..นาฬิกาต้องงดไว้ก่อน

เขาห้ามตัวเองแต่ไม่ยอมทอดทิ้งความพยายาม เขาพยายามนึกถึงของใช้ต่างๆ ที่เขามีอยู่ เสื้อ กางเกง ปากกา ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นของต้องใช้อยู่เป็นประจำ เขามองไปรอบๆ ห้อง สายตาเขาไปหยุดต้องอยู่กับสิ่งๆ หนึ่ง แล้วยิ้มออกมาได้ หนุ่มน้อยมั่นใจเหลือเกินว่าเป็นสิ่งที่ซ่อนเร้นคนอื่นไม่อาจจะล่วงรู้ว่า มีหรือไม่มี ยิ่งแฟนด้วยแล้ว ไม่สนใจเรื่องเช่นนี้แน่ๆ ก็ยิ้มออกมาอย่างภาคภูมิใจ


สิ่งที่นายจุ่นหมายมั่นปั้นมือนั้นคือ “มุ้ง” เขาจึงตกลงเอามุ้งไปจำนำเป็นราคา ๕ บาท พอได้สตางค์ คว้าจักรยานคู่ชีพปั่นกลับบ้าน ตรงเข้าไปในห้อง ลงมือเขียนจดหมายนัดแม่ยอดดวงใจทันที……

วันเวลาผ่านไปมันช่างช้าเสียจริงๆ อีก ๑ วัน เท่านั้น ที่จะถึงวันที่นัดหมายไว้ ดูเหมือนเป็นเวลาตั้ง ๑ เดือน พอถึงวันนัด เขาก็ไปคอยอยู่ ณ ที่ได้นัดหมายไว้ คอยแล้วคอยเล่า เดินงุ่มง่ามไปมาจนเวลาที่นัดหมายไว้ผ่านไป ไม่ปรากฏแม้แต่เงาแม่โฉมงาม พ่อหนุ่มน้อยกัดฟันไว้แน่นเพื่อดับโมโห “ไม่น่าเล้ย เราอุตส่าห์นอนเลี้ยงยุงตลอดคืน กลับมาทรยศต่อเราได้”

เขานึกน้อยใจ ความคิดของเขาเดือดพล่านนึกไปร้อยแปดพันประการ ถ้าเจอหน้าแม่ยอดรักเข้าไปในขณะนั้น เขาคงจะประท้วงรักด้วยศอก ด้วยกิริยาที่รุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ ขณะที่ความคิดกำลังเดือดพล่านถึงขีดสุด เขาได้ล้วงกระเป๋าเพื่อหยิบเอาตั๋วจำนำออกมาดู และเพื่อความแน่ใจในการกระทำของเขา พอเหลือบเห็นเท่านั้น เจ้าหนุ่มแทบจะช็อคตาย เพราะกระดาษที่ล้วงขึ้นมานั่น แทนที่จะเป็น “ตั๋วจำนำ” แต่กลับเป็นจดหมายที่นัดกับแม่โฉมงามไว้

วิมานลอยเจ้าหนุ่มต้องทะลายลง เพราะความผิดพลาดของตัวเอง นายจุ่นปั่นจักรยานกลับบ้านด้วยความผิดหวัง กลับถึงบ้านไม่ยอมพูดกับใคร เข้าห้องปิดประตูนอน รำพึงรำพันอยู่ในห้องเดียวดายว่า “ความรักเป็นอย่างนี้เอง” ผู้หลักผู้ใหญ่จึงสอนว่า ความรักทำให้คนตาบอด ความรักเป็นไฟ ความรักไม่ใช่เรื่องสำหรับลอง ไม่ใช่ของสำหรับเล่น เลิกเสียทีดีกว่า เรียนหนังสือดีกว่า

ความรักของนายจุ่นได้จบลงแล้ว ขอให้ท่านผู้อ่านนึกถึงแมลงภู่ที่เคล้าเกสร เพื่อต้องการน้ำหวานจากดอกไม้ ตามคำกลอนของสุนทรภู่ที่ไปเคล้าเกสรดอกไม้ จะไม่ทำดอก สี และกลิ่นของดอกไม้ให้ช้ำเลย แต่ก็ไม่สามารถเอารสหวานจากดอกไม้นั้นได้


บรรดาหนุ่มน้อยทั้งหลาย ที่ทำตนเป็นแมลงภู่บินร่อนแสวงหาน้ำหวาน คือความรักจากดอกไม้ คือหญิงสาวทั้งหลาย ควรรักษาลักษณะและความดีของแมลงภู่ไว้ด้วย ความรักนั้นจึงจะราบรื่นไม่พบอุปสรรคระหว่างรัก

ความรักตามหลักศาสนานั้น หาได้มุ่งให้สมปรารถนาเพียงรูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัสถูกต้องเท่านั้นไม่ ที่แน่นั้นหมายถึง ทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมพร้อมใจกันเพื่อทำประโยชน์ เพื่อสร้างความดีร่วมกันต่างหาก


พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้เปรียบเทียบความรักของหนุ่มสาวไว้ว่า ทางสายรักมีลักษณะเหมือนทางที่ลื่นหล่ม มีตม มีโคลนเฉอะแฉะ คนเดินทางรักก็เหมือนเดินทางลื่นและอาจหกล้ม และอาจตกหล่มจมโคลนเอาง่ายๆ

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่า “รักคุณเข้าแล้ว” ก็ต้องเตือนตนไว้ล่วงหน้าว่า นี่เรากำลังเดินทางลื่นหล่ม อีกก้าวหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะต้อง “หกล้มเข้าแล้ว” ก็ได้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • เกร็ดสารธรรม. เชียงใหม่: สลากภัตปีที่ ๗๖ งานบุญสืบสานสลากภัตประจำปี ๒๕๔๗ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร, ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๗. หน้า ๑๑-๑๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

= ตอนที่ ๑๑ =

สู้ไพรีไม่หาอาวุธ


ผู้ที่เป็นคู่เวรหรือเป็นข้าศึกศัตรูต่อกัน คอยหาโอกาสทำลายล้างผลาญกัน ชื่อว่า ไพรี การที่บุคคลคิดจะสู้ไพรีเพื่อชัยชนะ แต่ไม่หาอาวุธหรือเครื่องมือไว้ป้องกันตัว จะเอาชนะไพรีได้อย่างไร ท่านกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า มีบุคคล ๔ จำพวก คือ

• ไม่บำเพ็ญประโยชน์แต่ริหากัลยาณมิตร
• ไม่มีพรรคพวกยังต้องการเดินทางกันดาร
• ไม่มีภูมิรู้แต่อยากแถลงข้อความในที่ประชุม
• ไม่มีศาสตราวุธยังอุตริอยากรบ


ความหวังของคน ๔ จำพวกนี้ นอกจากไม่อาจสมปรารถนา ยังกลับจะเป็นผลร้ายแก่ตนเองเสียอีก การสู้รบกับข้าศึกศัตรูภายนอกจะต้องเตรียมอาวุธไว้ฉันใด การปฏิบัติธรรมเพื่อนำชัยชนะมาสู่ตัว ก็ต้องเตรียมอาวุธไว้ฉันนั้น ทางธรรมท่านกล่าวว่า สัตว์โลกถูกรุมด้วยศัตรู ๔ เหล่า คือ

• ถูกตัณหาก่อสร้างขึ้น
• ถูกความตายสกัดขัดขวาง
• ตั้งอยู่บนกองทุกข์
• ถูกชราห้อมล้อมไว้


รวมความว่า สัตว์โลกอยู่ในอำนาจของศัตรู ๒ จำพวก กล่าวคือ กิเลสคอยก่อกวนความสงบสุข ทำให้เร่าร้อนอยู่เสมอ ๑ ศัตรูคือ ความเจ็บและความตายคอยเบียดเบียนขัดขวางและตัดรอนทอนกำลังอยู่เสมอ ๑


อาวุธที่จะนำมาสู้รบกับศัตรู ๒ จำพวกนี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายอย่าง แต่ที่เป็นสาธารณะทั่วไปคือ ปัญญา ท่านทั้งหลายพึงรบมารด้วยอาวุธคือ ปัญญา ดังนี้ ด้วยเหตุนี้ ผู้จะรบศัตรู หรือมารในทางธรรมปฏิบัติ พึงเตรียมอาวุธ คือ ปัญญาไว้

ปัญญาที่จะได้มานั้นมีอยู่ ๓ ทาง คือ เกิดจากการได้ยิน ได้ฟัง หรือการศึกษาเล่าเรียน ๑ เกิดจากการคิดพิจารณา ๑ เกิดจากการอบรม คือการทดลองหรือปฏิบัติตามที่ได้ยิน ได้ฟัง และคิดพิจารณาแล้ว ๑


ผู้ที่จะเอาชนะกิเลสแต่ไม่แสวงหาปัญญาไว้ ชื่อว่า “สู้ไพรีไม่หาอาวุธ”

10.1.png



= ตอนที่ ๑๒ =

ไม่หยุดไม่ถึงพระ


บรรดาปัญหาทั้ง ๑๒ ข้อ ข้อสุดท้ายนับว่าเป็นข้อสำคัญ หรือเป็นหัวใจของปัญหาทั้ง ๑๑ ข้อนั้นก็ได้ เพราะปัญหาทั้ง ๑๒ ข้อที่กล่าวมาแล้ว โดยความมุ่งหมายก็เพื่อเป็นคติเตือนใจให้บุคคลละความชั่ว ให้ทำความดี


หรือรวมความว่า ให้หยุดจากความชั่วให้เข้าถึงพระ คำว่าพระในที่นี้ คือหมายถึง พระพุทธศาสนานั่นเอง คำว่า “พระพุทธศาสนา” จะขอกล่าวความหมายโดยย่อว่า ได้แก่ ความสงบ

ท่านแสดงเปรียบเทียบพระพุทธศาสนาว่า น้ำมหาสมุทรมาจากแม่น้ำสายต่างๆ แต่เมื่อว่าโดยรสแล้วมีรสอยู่รสเดียวคือ “รสเค็ม” เท่านั้น ฉันใดพระพุทธศาสนา เมื่อว่าโดยลักษณะคำสอนแล้ว ย่อมมีลักษณะวิธีต่างๆ แต่เมื่อว่าโดยรสแล้วมี “วิมุตติ” ความหลุดพ้นจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง


ผู้ใดเข้าถึงขั้นหลุดพ้นโดยปริยาย คือ โดยสิ้นเชิงไม่มีกิเลสที่จะก่อกวนให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นอีก นั่นคือ ความสงบ และนั่นคือ จุดหมายขั้นสุดท้ายของพระพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ย่อมจะได้รับความสงบสุขอย่างแท้จริง ไม่กลับกลายเป็นความทุกข์อีก ผู้นั้นชื่อว่าเข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์

ตรงกันข้ามกับผู้ที่กล่าวว่า นับถือพระพุทธศาสนาแต่ไม่หยุด คือไม่ละเว้นความชั่ว ผู้นั้นหาได้ชื่อว่านับถือพระพุทธศาสนา หรือเข้าถึงพระแล้วไม่พึงเห็นพระ เช่น องคุลิมาล เป็นตัวอย่าง

มีเรื่องเล่าว่า โจรองคุลิมาลฆ่ามนุษย์เสียมากต่อมาก จนจำไม่ได้ว่าจำนวนเท่าใด ต้องตัดเอานิ้วร้อยเป็นพวงมาลัย จึงได้ชื่ออย่างนั้น วันหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จไปโปรด พอองคุลิมาลเห็นนึกแปลกใจ ที่พระสมณโคดมเสด็จมาแต่ลำพัง และนึกดีใจที่จะได้นิ้วมนุษย์มาร้อยเป็นพวงมาลัยเพิ่มขึ้นอีก จึงเดินรี่เข้าไปหา แม้จะพยายามก้าวเท่าไรก็ไม่ทัน ถึงกับวิ่งก็ยังไม่ทันอยู่อีก จึงได้ร้องตะโกนไปว่า “สมณะหยุดก่อน”

พระพุทธองค์ทรงตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว ท่านต่างหากยังไม่หยุด” เมื่อองคุลิมาลไม่เข้าใจ จึงทูลถามไปว่า “ท่านกำลังเดินอยู่แต่กล่าวว่าหยุดแล้ว ส่วนข้าพเจ้า ผู้หยุดแล้วแต่กลับกลายว่าไม่หยุด ท่านหมายความว่าอย่างไร”

พระองค์ตรัสตอบว่า
“ดูก่อนองคุลิมาล เราเลิกเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายแล้ว เราวางศาสตราวุธแล้ว ส่วนท่านสิไม่สำรวมในสัตว์ เที่ยวเบียดเบียนล้างผลาญชีวิตสัตว์ เราจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ท่านชื่อว่ายังไม่หยุด”  

ด้วยพุทโธวาทเพียงเท่านี้ องคุลิมาลรู้สึกซาบซึ้งในความหมาย จึงวางศาสตราวุธ และยอมตนเป็นศิษย์ขออุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา เมื่อท่านพยายามปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอยู่ ต่อมาไม่ช้านานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์


คือ วิมุตติ หลุดพ้นจากกิเลสความเศร้าหมองทั้งปวง ได้รับความสงบสุข ไม่มีความสุขใดจะยิ่งกว่า ถึงกับเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจเสมอ ดั่งที่ท่านสุชีโวภิกขุถอดเป็นคำกลอนไว้ในหนังสือ “ใต้ร่มกาสาวพัสตร์” ว่า

        ผู้เอยผู้ใด                      ลำพองใจประมาทมาก่อน
แต่กลับตัวได้ไม่นิ่งนอน           ถ่ายถอนชั่วช้าสร่างซาไป
ผู้นั้นเหมือนจันทร์วันเพ็ญ         ลอยเด่นดูงามอร่ามใส
ไม่มีเมฆมัวหมองเท่ายองใย     ส่องหล้าทั่วไปสว่างเอย


นี่คือความหมายของปริศนาข้อสุดท้าย

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

= ตอนที่ ๙ =

หนีจระเข้ใหญ่ไพล่ลงน้ำ


หมายความว่า จระเข้เป็นสัตว์ประเภทดุร้าย และที่อยู่ของจระเข้ก็คือ น้ำ คนที่กลัวจระเข้ จะหนีจระเข้ แต่กลับวิ่งลงน้ำ เท่ากับวิ่งลงไปหาจระเข้อีก ไม่พ้นจระเข้ได้ฉันใด คนบางคนก็ฉันนั้น

กล่าวคือ กลัวความทุกข์ ต้องการจะหนีความทุกข์ แต่ก็ยังก่อเหตุแห่งความทุกข์อยู่ คือผู้ที่ไม่รู้จักเหตุแห่งความทุกข์นั่นเอง


เช่น สำคัญความเกียจคร้าน ไม่ทำอะไรว่าเป็นความสุข สำคัญอบายมุขคือ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ว่าเป็นทางแห่งความเพลิดเพลิน เป็นทางแห่งความเจริญ สำคัญการเบียดเบียนกันว่า เป็นทางแห่งความสุข

เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์ ผู้สำคัญของที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ผู้สำคัญสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข และผู้สำคัญสิ่งที่มิใช่ตัวตนว่าตัวตนนั่นเอง ชื่อว่า “หนีจระเข้ใหญ่ไพล่ลงน้ำ”


10.1.png


= ตอนที่ ๑๐ =

ต้องจองจำกลับยินดี


โลกที่เราอาศัยอยู่นี้เปรียบได้หลายอย่าง ที่ได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ ก็คือ โลกนี้เปรียบเหมือนโรงละครใหญ่ ข้าพเจ้าคิดว่า คำเปรียบเทียบนี้เป็นการเปรียบเทียบให้เกียรติแก่โลกนี้อย่างสูง ความจริงโลกนี้คือ ตะรางที่สำหรับขังนักโทษอย่างใหญ่มหึมานั่นเอง แต่เหล่าหมู่มนุษย์สำคัญผิดคิดไปว่า การเกิดมาในโลกนี้เป็นความสุข


พระพุทธองค์ตรัสว่า “โลกนี้ตั้งอยู่บนกองแห่งความทุกข์” โลกนี้เป็นสวรรค์สำหรับคนโง่ แต่มันเป็นนรกสำหรับคนที่รู้ความจริงของมัน แล้วคนที่เกิดมา ซึ่งเท่ากับตกอยู่ในกรงขังอันมหึมา และเต็มไปด้วยความทุกข์นานาประการ เช่น แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น

บางคนยังสร้างกรงและหาโซ่มาใส่ตัวเองอีก ถึงเช่นนั้นบางคนกลับพูดว่า “ดีเสียอีกที่เข้าอยู่ในคุกในตะราง บ้านไม่ต้องเช่า ข้าวไม่ต้องซื้อ ถ้าอยู่ตามธรรมดา ข้าวก็ต้องซื้อกิน บ้านก็จะต้องเช่าเขาอยู่ บางทีก็ยังหาไม่ได้เสียอีก” นี่เรียกว่า ต้องจองจำกลับยินดี

อีกประการหนึ่งท่านกล่าวว่า การต้องจองจำด้วยเชือกโซ่เป็นต้น เป็นเครื่องจองจำภายนอกแก้ได้ง่ายและมีกำหนดเวลาพ้นโทษ ยังมีเครื่องจองจำภายในที่แก้ได้ยาก และไม่มีกำหนดพ้นโทษเมื่อไร เครื่องจองจำนั้นคือ ความรักความติดในทรัพย์สมบัติ ในบุตรภรรยาสามี ดังคำโคลงในโลกนิติว่า

มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว      พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ      หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงปอ       รึงรัดมือนา
สามบ่วงใครพ้นได้        จึ่งพ้นสงสาร


รวมความว่า ทรัพย์สมบัติ บุตรภรรยาสามีเป็นบ่วง แต่ละอย่างที่ผูกจิตใจไว้เพื่อทำให้มนุษย์ติดอยู่ คนบางคนเจ็บหนักไม่มีหวังจะรอด ยังเป็นห่วงเรือรั่ว เรื่องตะเกียงลานเสียยังไม่ได้แก้ มีผู้บอกให้นึกถึงพุทธคุณบทว่า “อรหังๆ” กลับได้ยินว่า อะไรหายๆ ก็มี ทั้งหมดนี้ชื่อว่า
ต้องจองจำกลับยินดี”
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

= ตอนที่ ๗ =

อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง


คำว่า ลูกอ่อน หมายเอาลูกอ่อนตรงๆ ก็ได้ หรือหมายเอาอัตภาพทั่วไปของคนเราก็ได้ คำว่า อุ้ม หมายถึง การหลงรักจนผิดธรรมดา หรือเกินควร

ความรักใดที่จะยิ่งกว่าความรักที่แม่ให้แก่ลูกเป็นอันไม่มี ดังคำกลอนบทหนึ่งที่ว่า

รักอะไรหรือจะแท้เท่าแม่รัก
ผูกสมัครสายเลือดไม่เหือดหาย
รักอื่นยังประจักษ์ว่ารักกลาย
จืดจางง่ายไม่จีรังดั่งมารดา

ในมโหสถชาดกมีเรื่องเล่าว่า เทวดาตั้งปัญหาถามพระเจ้าวิเทหราชว่า


“บุคคลประหารคนอื่นด้วยมือ ด้วยเท้า แต่กลับเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร พระองค์เห็นใครเป็นที่รักของผู้ถูกประหาร”


มโหสถตอบแทนพระเจ้าวิเทหราชว่า ได้แก่ “บุตร”
ยิ่งตบและยิ่งทึ้งผมบิดามารดา ก็ยิ่งเป็นที่รักของบิดามารดา


เทวดาถามว่า
“ผู้ที่ชอบด่า แต่ไม่อยากให้ผู้ถูกด่าเดือดร้อน พระองค์ทรงเห็นว่าใครเป็นผู้ด่า”


ตอบว่า ได้แก่ “บิดามารดา” คำว่าบุตรเท่าไร ก็ไม่อยากให้ประสบเหตุร้ายอย่างที่ตนด่า กลับทวีความรักในตัวบุตรยิ่งๆ ขึ้นไป

ตามความในปัญหา ๒ ข้อที่ได้กล่าวนี้ ชี้ให้เห็นว่า บิดามารดามีความรักในบุตรเพียงไร แต่ถ้าบิดามารดาใช้ความรักผิด คือตามใจบุตรจนเกินไป จะให้บุตรเล่าเรียน จะให้ทำงานก็กลัวบุตรจะลำบาก สู้อุตส่าห์ประคบประหงม แม้บุตรจะเจริญวัยใหญ่โตพอจะช่วยตนเองได้ ก็ไม่ยอมวางมือ ไม่วายที่จะเป็นห่วงอย่างนี้ เรียกว่ารักผิด


โบราณท่านสอนว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี รักมีให้ค้า รักหน้าให้คิด รักมิตรให้เตือน” แปลว่า รักลูกจะต้องให้วิชาจรรยาแก่ลูก และสอนให้ลูกทำการงานเป็นด้วย นักปราชญ์ท่านสอนว่า “มีหลักที่ดีและถูกต้องข้อหนึ่งว่า ความช่วยเหลืออันดีที่สุด ที่พ่อแม่จะพึงให้แก่ลูกนั้น คือ สอนให้เขารู้จักช่วยตัวเอง”

ข้อว่า ลูกอ่อน หมายเอาอัตภาพร่างกายนั้น ขยายความว่า ร่างกายของเราแต่ละคนนั้น ไม่ผิดอะไรกับลูกอ่อน เราต้องบริหารรักษาอยู่ตลอดเวลา เริ่มแต่ตื่นนอนเป็นต้นไปคือ เราต้องล้างหน้า แปรงฟัน หวีผมแต่งตัว หาอาหารให้รับประทาน หาน้ำให้ดื่ม ถูกร้อนมากนักก็ไม่ได้ ถูกหนาวมากนักก็ไม่ได้


นอกจากนี้ยังต้องระวังอันตรายนานาประการ ถ้าถึงคราวเจ็บไข้ได้ทุกข์ ยิ่งต้องเพิ่มการบริหารยิ่งขึ้น อันการบริหารรักษาร่างกายนี้ ถ้าเป็นไปตามธรรมดาคือ บริหารรักษาพอให้ชีวิตเป็นอยู่ก็พอทำเนา บางคนทำด้วยความลุ่มหลง ไม่พิจารณาว่าจำเป็นหรือไม่ มุ่งเพื่อความสวยงาม หรืออนุโลมตามสมัย ยิ่งกว่าความจำเป็นแก่ชีวิต

เช่น หนุ่มสาวสมัยใหม่บางคน อุตส่าห์หาเครื่องประดับให้ร่างกาย ไม่ว่าส่วนไหนของร่างกายตั้งแต่ปลายผมถึงปลายเท้า ต้องเอาเครื่องวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยเพื่อตามสมัย เพื่อให้ทันฝรั่ง ไม่ต้องคำนึงถึงความหมดเปลือง และพิจารณาว่าจำเป็นแก่การครองชีพหรือไม่ ลักษณะอย่างนี้เป็นผลร้าย ยิ่งกว่ามารดาเลี้ยงลูกอ่อนเป็นไหนๆ


ปัจจัยเครื่องอาศัยอันจำเป็นแก่ชีวิต ตามหลักทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ ๔ อย่าง คือ เครื่องนุ่งห่ม ๑ อาหาร ๑ ที่อยู่อาศัย ๑ ยารักษาโรค ๑ ทั้ง ๔ อย่างนี้นับว่าจำเป็นที่สุดแก่ชีวิต นอกจากนี้ เป็นแต่เครื่องพิจารณา ให้รู้เท่าทันธรรมดาของมัน คือ เป็นของไม่เที่ยงจะต้องสลายไปในที่สุด ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยความยึดมั่นในขันธ์ ๕

ด้วยเหตุนี้ ผู้เข้าใจผิดในขันธ์ ๕ ชื่อว่า “อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง”

10.1.png



= ตอนที่ ๘ =

หลงทางไม่ถามไถ่


ทางมี ๒ ชนิด คือ   
ทางกาย ๑      
ทางใจ ๑


ทางกายเป็นสิ่งที่มองเห็นด้วยตา ไปด้วยเท้าหรือด้วยยานพาหนะเป็นต้น ทางใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไปด้วยความรู้สึกนึกคิด หรือด้วยความนับถือเชื่อถือ เป็นต้น


การที่เราจะรู้ว่าทางไปทิศเหนือหรือทิศใต้และไปได้ใกล้ไกลแค่นั้นแค่นี้ ก็เพราะเราได้ยินได้ฟังจากคนอื่นหรือศึกษาจากตำรับตำราเป็นต้น เราจึงไปมาได้สะดวกไม่ผิดพลาด ถ้าเราไม่ทราบมาก่อน นึกอยากไปนั่นไปนี่ก็นึกเดาไปเอง อาจจะถึงจุดหมายปลายทางก็ได้ และขณะที่เดินทางก็ทำความไม่สะดวกใจ ทำความสงสัยให้ไม่รู้จักจบ

ถ้าสมมติว่าหลงทางมีคนพอที่เราจะถามได้ เราก็ไม่ถาม อวดดื้อถือดี เดินไปตามความคิดเห็นของตนเอง ผลสุดท้ายไม่ถึงจุดประสงค์ เราจะโทษทางหรือคนอื่นนั้นไม่ถูก มันเป็นความผิดของเราเอง ผิดตรงที่ว่า “หลงทางแล้วไม่ถาม” ทางกายเราอาจหลงได้ฉันใด ทางใจก็ฉันนั้น และทางใจยังอาจหลงได้ง่าย และมีผลร้ายยิ่งกว่าทางกายเสียอีก ดังคำกลอนสอนจิตที่ว่า

ผู้หลงเถื่อนกู่ก้อง   พอร้องรับ
ผู้หลงหับตัณหา     สุดตาเห็น


และคำพังเพยโบราณอีกบทหนึ่งว่า “ถลำช่องชักได้ ถลำใจชักยาก” ซึ่งแสดงว่า ความหลงทางใจสำคัญกว่าความหลงทางกาย ความหลงทางกายก็เนื่องมาจากความเข้าใจผิดนั่นเอง  

ความหลงทางใจนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อมี ๓ คือ


• ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ คือ การทำความชั่วเมื่อไม่มีคนรู้ ไม่มีคนจับได้ ไม่มีคนลงโทษหาเป็นความชั่วไม่ ต่อเมื่อมีคนรู้จับได้และลงโทษต่างหากจึงจัดเป็นความชั่ว การทำความดี ถ้าไม่มีคนรู้ไม่มีคนชม ไม่มีคนให้รางวัล หาเป็นความดีไม่ ต่อเมื่อมีคนรู้ มีคนเห็น มีคนชม และให้รางวัลต่างหาก จึงจัดเป็นความดี


ความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ คือปฏิเสธการกระทำ ถือปัจจัยภายนอก คือบุคคลเป็นผู้อำนวย ผิดหลักทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าการกระทำของคนนั้นเองเป็นเหตุ

• ความเห็นว่าหาเหตุมิได้ คือ มีความเชื่อว่าคนเราเป็นไปตามคราวเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ถึงคราวเคราะห์ดี ก็ได้ดีเอง ทำอะไรมีคนชอบ ให้ความสนับสนุน ถึงคราวเคราะห์ร้าย ทำอะไรมีแต่คนติ คอยขัดขวางตัดรอน เสื่อมลาภ เสื่อมยศ


ความเห็นว่าหาเหตุมิได้ คือปฏิเสธเหตุอันไม่ปรากฏ ถือปัจจัยภายนอก คือคราวสมัยเป็นผู้อำนวย ผิดหลักทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าสิ่งทั้งปวงเกิดแต่เหตุ เมื่อไม่มีเหตุจะมีผลไม่ได้

• ความเห็นว่าไม่มี คือ มีความเข้าใจว่าสัตว์บุคคลไม่มี ต่างเป็นแต่ธาตุประชุมกัน เกื้อกูลกันบ้าง ทำร้ายกันบ้าง ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เป็นแต่เพียงธาตุอย่างหนึ่งกระทบกับธาตุอีกอย่างหนึ่งเท่านั้น


ความเห็นว่าไม่มี ผิดหลักทางพระพุทธศาสนา ที่ถือว่าสัตว์บุคคลไม่มีจริงแต่ไม่ปฏิเสธเหตุ คือการกระทำและผลแห่งบุญและบาป สัตว์บุคคลหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปได้ตามอำนาจแห่งเหตุ

บุคคลที่ตกอยู่ในความเห็นทั้ง ๓ อย่างนี้ ได้ชื่อว่า ผู้หลง ถ้าไม่ถาม คือศึกษาหาความรู้และปฏิบัติแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ก็ไม่มีโอกาสประสบผลที่มุ่งหมายได้ นับวันแต่จะจมดิ่งลงไปสู่ความพินาศฉิบหายโดยลำดับ


โอวาทคำสอนของท่านฟังแล้วให้พิจารณาเหตุผล ไม่เชื่ออย่างงมงาย เมื่อเห็นเหตุผลแล้ว จึงให้เริ่มลงมือปฏิบัติตามทันที ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามเช่นนี้ ถือว่า “หลงทางไม่ถามไถ่”
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

= ตอนที่ ๕ =

ของสั้นสัญญาว่ายาว


ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ชื่อว่าของสั้น เพราะจะเป็นอยู่ได้อย่างมากไม่เกินหนึ่งร้อยปี หากจะอยู่เกินนี้บ้างก็จะต้องตายเพราะชรา นักปราชญ์โบราณของล้านนาไทยได้กำหนดที่สุดของชีวิตของมนุษย์ไว้อย่างมากไม่เกิน ๙๐ ปี ดังคำกลอนว่า

สิบปี๋                อาบน้ำบ่หนาว
ซาวปี๋               แอ่วสาวบ่ก้าย
สามสิบปี๋          บ่หน่ายสงสาร
สี่สิบปี๋              เยียะก๋ารเหมือนฟ้าผ่า
ห้าสิบปี๋            สาวน้อยด่าบ่เจ็บใจ
หกสิบปี๋            ไอเหมือนฟานโขก
เจ็ดสิบปี๋           บะโหกเต็มตั๋ว
แปดสิบปี๋         ไค่หัวเหมือนไห้
เก้าสิบปี๋           ไข้ก็ต๋ายบ่ไข้ก็ต๋าย


ตามความหมายของคำกลอนนี้ ย่อมแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงของชีวิตโดยลำดับ เมื่อถึง ๙๐ ปีแล้ว จะมีอันตรายของชีวิตมาตัดรอนหรือไม่ก็ตาม ชีวิตจะต้องแตกดับไปตามธรรมดาของมัน และในระหว่างความเป็นอยู่นั้น ชีวิตย่อมมีอันตรายรอบด้าน อาจจะแตกดับลงในขณะใดก็ได้ ท่านกล่าวว่า

ชีวิตความเป็นอยู่ ๑
พยาธิความป่วยไข้ ๑                       
กาลเวลา ๑
ที่ทิ้งกาย ๑
คติวิถีชีวิตหรือภพชาติข้างหน้า ๑


ทั้ง ๕ นี้ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย จะให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ คือ เราจะปรารถนาว่าจะมีชีวิตอยู่เท่านั้นเท่านี้ปี เวลาจะตายจะด้วยโรคภัยไข้เจ็บอย่างนั้นอย่างนี้ จะขอตายเวลานั้นเวลานี้ เดือนนั้นปีนี้ และจะปรารถนาว่าขอให้ตายที่นั่นที่นี่ ขอตายอยู่กับบ้านหลังนั้นที่เรือนหลังโน้น หรือดับชีพแล้วขอให้ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นฟ้า หรือจะขออยู่กับคนโน้นคนนี้


เหล่านี้จะให้เป็นไปตามความปรารถนาไม่ได้ แล้วแต่กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ ก็อะไรเล่าที่ทำให้ชีวิตล่วงไปหมดไป ท่านแสดงว่ากาลเวลาเป็นผู้ผลาญเป็นผู้ทำลาย กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวของมันเอง นักปราชญ์ท่านผูกเป็นปริศนาไว้ว่า   

“พญายักษ์หนึ่งนามีนัยน์ตาสองข้าง ข้างหนึ่งสว่างข้างหนึ่งริบหรี่ มีปากสิบสองปาก มีฟันไม่มาก ปากละสามสิบซี่ กินสัตว์ทั่วปฐพี ยักษ์ตนนี่คือใคร”

“ตอบว่า พญายักษ์นั้นคือพระกาล ได้แก่วันเดือนปี ตาสองข้างคือข้างขึ้นข้างแรม หรือกลางคืนกลางวันก็ได้ สิบสองปากคือปีหนึ่งมี ๑๒ เดือน และฟันสามสิบซี่คือเดือนหนึ่งมี ๓๐ วัน กินสัตว์ทั่วปฐพี คือกลืนชีวิตสัตว์ทั่วแผ่นดิน


ผู้ที่หลงผิดคิดว่าชีวิตนั้นเป็นของยาวของมาก แล้วตั้งอยู่ในความมัวเมาประมาท ไม่แสวงหาความดี ได้ในคำว่า “ของสั้นสัญญาว่ายาว”

10.1.png



= ตอนที่ ๖ =

ปอกมะพร้าวเอาปากกัด


มะพร้าวเป็นผลไม้ที่มีลักษณะพิเศษกว่าผลไม้อื่นๆ คือเปลือกนอกมีกะลาแข็งหุ้มเนื้อและน้ำไว้ข้างใน การจะรับประทานน้ำมะพร้าวต้องปอก ต้องเจาะลงไปโดยลำดับ และการปอกการเจาะนั้นจะต้องใช้มีดใช้ขวาน เพียงแต่มือเปล่าหรือใช้ปากกัด ย่อมไม่อาจจะได้รับประทานเนื้อหรือน้ำมะพร้าวได้

ฉันใดก็ดี คำว่ามะพร้าวนี้ท่านเปรียบเหมือนพระพุทธศาสนา นับแต่เวลาที่พระสมณโคดมพุทธะผู้เป็นเจ้าของนิพพานแล้วเป็นเวลา ๒๕๐๐ ปีกว่า พระพุทธศาสนาต้องผ่านอุปสรรคนานาประการ ย่อมจะมีเปลือกมีกะพี้ เข้าไปแทรกแซงอยู่เป็นธรรมดา ผู้นับถือศาสนาจะต้องเป็นคนหนักในเหตุผล ไม่เป็นคนเชื่อง่าย


ถ้าไปยินอะไรที่เป็นเรื่องศาสนาแล้วเป็นคนเชื่อง่ายรับเอาๆ เหมือนคนเห็นมะพร้าวแล้วกระหาย อยากจะรับประทานน้ำ คว้ากัดเอาๆ ย่อมไม่ได้รับผล จะต้องพิจารณาหาเหตุผลให้ถ่องแท้แน่ใจ แล้วลงมือปฏิบัติตาม จึงจะได้รับผลสมปรารถนา

อีกประการหนึ่ง เรื่องของพระพุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องสักแต่ว่าพูดด้วยปาก หรือนับถือด้วยปากเท่านั้น เป็นเรื่องของการทำคือ การปฏิบัติ นักศึกษาศาสนาบางคนชอบค้นคว้าศึกษาในเรื่องศาสนา แต่ผลการศึกษาของเขาชอบข่มขู่คนอื่นด้วยโวหาร เรียนไว้เพื่อโต้ตอบ หาเรียนเพื่อนำไปปฏิบัติไม่


การนับถือศาสนาสำคัญอยู่ที่ลงมือปฏิบัติ การปฏิบัติเป็นหลักใหญ่ของพระพุทธศาสนา คนที่เชื่องมงายก็ตาม คนที่ดีแต่พูดก็ตาม ชื่อว่านับถือศาสนา ในข้อว่า “ปอกมะพร้าวเอาปากกัด”
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

= ตอนที่ ๓ =

รักผู้อื่นยิ่งกว่ารักตัว


ความรักมี ๒ ชนิด คือ

รักตัวเองและรักผู้อื่น
คนที่เอาใจใส่ต่อการศึกษาก็ดี คนขยันหมั่นเพียรในการทำมาหาเลี้ยงชีพก็ดี คนที่รู้จักป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นแก่ตนก็ดี ชื่อว่าผู้รักตัวเอง พ่อแม่รักลูกหรือลูกรักพ่อแม่ก็ดี อาจารย์รักศิษย์หรือศิษย์รักอาจารย์ก็ดี ตลอดถึงมิตรรักมิตรเป็นต้นก็ดี ชื่อว่ารักคนอื่น  


ความรักทั้งสองนี้ท่านกล่าวว่า “ไม่มีความรักอันใดยิ่งไปกว่าความรักตัว” ความหมายว่า ใครจะแสดงความรักออกมาโดยอาการใดก็ตาม ก็ล้วนแต่มุ่งผลขั้นสุดท้ายเพื่อตัวเอง เมื่อทำตัวให้ดีแล้วชื่อว่าทำทุกอย่างให้ดีตามไปด้วย

มีคนบางคน บางพวก แม้จะพูดว่ารักตัวเองหรือแสดงตัวเองว่ารักตัว แต่การกระทำของตัวนั้นเป็นไปเพื่อรักคนอื่น เช่น หนุ่มสาวบางคู่หลงรักกันและกัน ยอมทำความชั่วความผิดต่างๆ เป็นการรักษาน้ำใจคู่รัก การกระทำเช่นนี้ควรเรียกว่า ความรักทำให้คนตาบอด คือมองไม่เห็นเหตุผลที่ถูกต้อง


พ่อแม่บางคนเป็นห่วงลูก รักลูก กลัวลูกจะอด กลัวลูกจะไม่เทียมบ่าเทียมไหล่คนอื่นเขา สู้อุตส่าห์ตรากตรำทำงาน แม้จะผิดถูกอย่างไรไม่คำนึงถึง หรือคนแก่คนเฒ่าบางคน มัวเมาห่วงลูกห่วงหลาน จะไปวัดไปวาหาความสงบบ้าง ก็หาโอกาสไม่ได้ตลอดชีวิต

เหล่านี้ชื่อว่า “รักผู้อื่นยิ่งกว่ารักตัว”


10.1.png



= ตอนที่ ๔ =

ของควรกลัวกลับกล้า


ความกลัวมี ๒ ชนิด คือ
กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ๑
กลัวในสิ่งควรกลัว ๑


ความกลัวย่อมเป็นของธรรมดาของมนุษย์และสัตว์ทั่วไป ยิ่งกว่านั้น สัตว์บางจำพวก และคนบางคนกล้าในสิ่งที่ไม่ควรกลัว เช่นที่เล่าว่า


ไส้เดือนทั้งหลายกินดินเป็นอาหาร แต่ไม่กล้ากินมาก เพราะกลัวดินจะหมด นางนกต้อยติวิดนอนหงายทับไข่ของมันเพราะกลัวฟ้าจะตกทับ นกกะเรียนไม่กล้าเหยียบดินเต็มเท้า เพราะกลัวแผ่นดินจะไหว พวกพราหมณ์เที่ยวหาเมียสาว เพราะกลัววงศ์สกุลจะขาดตอน (ธรรมเนียมพราหมณ์อินเดียสมัยโบราณ) ทั้งสี่เหล่านี้ได้ชื่อว่า กลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว

บางคนจะทำงานบางอย่างซึ่งเหมาะสมกับวิทยฐานะของตนแล้ว แต่กลัวจะต่ำต้อยน้อยหน้า ผลที่สุดกลายเป็นคนว่างงาน บางคนจะทำความดี เช่นจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาหรือไปวัดฟังเทศน์ ฟังปาฐกถา ก็ไม่กล้าทำ บ่นว่าอายบ้าง อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า กลัวต่อสิ่งที่ไม่ควร การทำความชั่วทุจริต ทั้งหลายเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะมีผลเป็นความทุกข์ เดือดร้อน


พระพุทธองค์ได้ประทานโอวาทไว้ว่า “ถ้าเธอทั้งหลายกลัวต่อความทุกข์ ถ้าความทุกข์ไม่เป็นที่พอใจของพวกเธอ ก็อย่าทำบาปกรรมทั้งหลายในที่ลับตาและที่แจ้ง” ในการทำความชั่วนั้นคนขลาดสรรเสริญ แต่นักปราชญ์ไม่สรรเสริญคนกล้าเลย สัตบุรุษทั้งหลายไม่ทำบาปเพราะกลัวต่อบาปนั่นเทียว

ด้วยเหตุนี้ ความชั่วทุจริตเป็นสิ่งที่ควรกลัว คนที่ทำความชั่วชื่อว่า “ของควรกลัวกลับกล้า”

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

หลวงปู่จันทน์๖.JPG


ตอนที่ ๔๖

ธรรมะในปริศนา ๑๒ ข้อ

หลวงปู่จันทร์ กุสโล

(วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จ.เชียงใหม่)

1.png



พระพุทธพจนวราภรณ์ หรือหลวงปู่จันทร์ กุสโล ได้กล่าวว่า ปริศนาธรรม ๑๒ ข้อ ธรรมดาปริศนาเป็นปัญหาที่ดิ้นได้ อาจจะตีความหมายไปได้หลายแง่ แต่จุดประสงค์ก็เพื่อเป็นคติเตือนใจอย่างเดียวกัน และคำอธิบายปริศนาธรรมต่อไปนี้ เป็นเพียงความหมายแง่หนึ่งเท่านั้น


สารบัญ


๑.   กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก

๒.   นอนมากไม่รู้จักตื่น

๓.   รักผู้อื่นยิ่งกว่ารักตัว

๔.   ของควรกลัวกลับกล้า

๕.   ของสั้นสัญญาว่ายาว

๖.   ปอกมะพร้าวเอาปากกัด

๗.   อุ้มลูกอ่อนรัดไว้ไม่วาง

๘.   หลงทางไม่ถามไถ่

๙.   หนีจระเข้ใหญ่ไพล่ลงน้ำ

๑๐.  ต้องจองจำกลับยินดี

๑๑.  สู้ไพรีไม่หาอาวุธ

๑๒.  ไม่หยุดไม่ถึงพระ


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) ลิขิตธรรมเมื่อครั้งยังเป็นพระเปรียญ ประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๗-๒๔๙๘. ธรรมะในปริศนา. เชียงใหม่: ที่ระลึกในงานฉลองอายุครบ ๘๖ พรรษา ๒๖ พ.ย. ๒๕๔๖, ๒๕๑๒. หน้า ๑-๒๘.

4.png




= ตอนที่ ๑ =

กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก


การกินของคนเรา รวมกล่าวแล้วมี ๒ อย่าง
๑.   กินเพราะหิว และ
๒.   กินเพราะความอยาก


ความหิวและความต้องการของร่างกาย ร่างกายจะทรงอยู่ได้เพราะอาหาร มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงจะมีชีวิตอยู่ได้เพราะอาหาร การกินเพราะความหิวจึงเป็นการจำเป็น การกินเพราะความหิวมีเวลาอิ่มและเบื่อได้ ทั้งมีขีดจำกัด ตามขนาดกระเพาะของแต่ละบุคคล

ความอยาก เป็นอาการของใจที่ประกอบด้วยตัณหา การกินด้วยความอยาก หามีอะไรเป็นขอบเขตจำกัดไม่ ยิ่งหามาสนองความอยากได้มากเท่าใด ก็ยิ่งจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้นเท่านั้น ที่สุดของความอยากไม่มี


ผู้ที่กินด้วยความอยาก ย่อมไม่มีเวลาอิ่ม ท้องจะต้องแตกตายเหมือนตาชูชก ผู้กินด้วยความอยาก หาใช่กินเฉพาะทางปากเท่านั้นไม่ บางคนยังสามารถกินสิ่งที่ไม่น่าจะกินได้ เช่น กินจอบ กินเสียม กินตึก กินถนนหนทาง และรถเรือนเป็นต้น ไฟไม่อิ่มเชื้อ ทะเลไม่อิ่มน้ำฉันใด คนที่มีโลภตัณหาก็ไม่อิ่มในสิ่งใดๆ ดังภาษิตโตปเทศว่า

ธรรมดาไฟย่อมไม่พักพอไม้เชื้อ
ทะเลใหญ่ไม่ปรากฏว่าเบื่อน้ำ
มฤตยูไม่เคยอิ่มหนำประชาสัตว์
นางผู้งามจำรัสก็ไม่รู้สึกจุใจในผู้ชาย


ใคร่ขอเปลี่ยนวรรคสุดท้ายเป็น “คนละโมภสมบัติก็ไม่รู้สึกจุใจในสิ่งใด” ด้วยเหตุนี้ ผู้กินด้วยความโลภตัณหา ชื่อว่า “กินเท่าไหร่ไม่หายอยาก”


10.1.png



= ตอนที่ ๒ =

นอนมากไม่รู้จักตื่น


การตื่นมี ๒ อย่าง
ตื่นจากหลับ   และ
ตื่นจากความมัวเมา


คนบางคนนอนขี้เซา นอนไม่รู้จักตื่น ไม่รู้จักเวลาที่ควรนอนและไม่ควรนอน ไม่ว่าเช้าหรือสาย ไม่ว่าบ่ายหรือเย็น ไม่ว่ากลางคืนหรือกลางวัน การนอนย่อมบอกลักษณะของบุคคลได้ดังคำโคลงโลกนิติบทหนึ่งว่า

บรรทมยามหนึ่งไซร์      ทรงฤทธิ์
หกทุ่มหมู่บัณฑิต          ทั่วแท้
สองยามพวกพาลัย       นรชาติ
นอนสี่ยามนั่นแล้          เที่ยงแท้เดรัจฉาน

ผู้ที่รู้จักแบ่งเวลา ไม่เห็นแก่การนอนหลับนอนมากนัก ชื่อว่าผู้ตื่นจากหลับ ถ้ามีลักษณะตรงกันข้ามชื่อว่า นอนมากไม่รู้จักตื่น

อีกประการหนึ่ง บางคนเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติคอยสำรวมระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมประพฤติชั่วทางกายและทางวาจา แม้มีประมาณน้อย ก็คอยระวังโดยไม่รู้เท่าทันความจริงว่าของมากมาจากของน้อย ของน้อยนั่นเองเมื่อมารวมตัวมากเข้า สามารถทำความเสื่อมเสียให้ ดังคำกลอนบทหนึ่งว่า

น้ำน้อยน้อยฝอยกระเซ็นอยู่เป็นนิตย์
ยังพังอิฐพังหินดินสลาย
มอดน้อยน้อยคอยแคะแทะไม่วาย
ยังทำลายไม้คร่าวเสาโตโต


แม้ความชั่วทุจริตก็เช่นเดียวกัน ถึงมีประมาณน้อยก็ไม่ควรประมาท ผู้มีสติตื่นตัวอยู่เสมอเช่นนี้ ชื่อว่าผู้ตื่นจากความมัวเมาประมาท ส่วนผู้ที่หลงใหลไร้สติ ปล่อยตัวให้จมอยู่ในความชั่ว ชื่อว่า “นอนมากไม่รู้จักตื่น” ผู้เช่นนี้แม้มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายแล้ว

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๕

ปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙

(วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ทรงตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปรารถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายเลยดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้เป็นได้


เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึ่งของตัวเอง เราได้ทำแล้ว

ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ”

แล้วตัวของเราท่านทั้งหลายก็เกิด แก่ เจ็บ และมีความตายเป็นที่สุดเพียงเท่านี้ มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ   

เมื่อความเป็นจริงก็เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลาย จึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวาย สะสมสิ่งในที่สุดก็จะต้องทิ้งจะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเรา ซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่า โดยหาสารประโยชน์อันใดมิได้ เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมี ที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ ซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า

แม้หากสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริง ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้มีจริง ดังที่ปรากฏในอดีตกาลยอมรับแล้ว เราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญและความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายมิขาดทุนหรือ เวลาในชีวิตของเราที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ กลับต้องโมฆะเสียเปล่า ก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น “โมฆบุรุษ” โดยแท้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • วิธีสร้างบุญบารมี: กองทุน ธรรมวิหาร ธรรมสถานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๔๘. หน้า ๒๘-๓๗.


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๔

ปรัชญาธรรมจากหลวงปู่

หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ

(วัดธาตุมหาชัย จ.นครพนม)

1.png



= ตอนที่ ๑ =

น้ำร้อนลวกลิ้น


มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นพระชอบปฏิบัติ มีการสำรวมในการฉันอาหารมาก ในการฉันอาหารของท่านนั้น ท่านจะฉันเฉพาะในบาตร เมื่อตักบาตรใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว ท่านจะใช้น้ำเปล่าเทลงไปในบาตร เพื่อจะให้อาหารนั้นไม่มีรส แล้วจึงค่อยฉัน


ก่อนเข้าพรรษา ๑ เดือน ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ภิกษุรูปนั้นได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่ ก็มากราบนมัสการ และขอฟังธรรมกับหลวงปู่ เมื่อกราบนมัสการเรียบร้อยแล้ว ภิกษุรูปนั้นจึงกล่าวว่า….หลวงปู่ครับ ผมอยากจะขอธรรมจากหลวงปู่สักข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติด้วยครับ

หลวงปู่…..
(นิ่งสักครู่) นี่คุณ มีพระรูปหนึ่งนะ เมื่อเวลาฉันอาหารในบาตร เขาจะต้องเอาน้ำเปล่าเทลงไปในบาตร เพื่อละลายรสในอาหาร เพื่อสำรวมลิ้น ไม่ให้ลิ้นสัมผัสรสอาหาร ตามธรรมชาติของลิ้นนั้น มันมีหน้าที่รู้รส จะห้ามมันไม่ให้รู้รสไม่ได้ แต่เมื่อรู้รสแล้ว ไม่ให้ไปติดในรสต่างหาก ถ้าไม่อยากให้ลิ้นรู้รส ก็เอาน้ำร้อนลวกลิ้นก็สิ้นเรื่อง จะได้ไม่ต้องลำบากในการเอาน้ำเปล่าเทใส่บาตรตลอดไป

ภิกษุรูปนั้นก็เลยได้เกิดปัญญาในการฉันอาหาร มีความประทับใจในธรรมะที่หลวงปู่ได้ชี้ทางปัญญา ให้เกิดความทึ่งในตัวหลวงปู่มาก ว่าท่านรู้ได้อย่างไร

10.1.png



= ตอนที่ ๒ =

ใส่บาตรพระ


วันหนึ่ง หลวงปู่พร้อมด้วยศิษย์รูปหนึ่ง ไปสวดมนต์เย็นที่บ้านโยมคนหนึ่ง โยมคนนี้แกเคยบวชเป็นพระปฏิบัติมาก่อน รู้จักระเบียบวินัยของพระดี กล่าวกับหลวงปู่ว่า

โยม.….
    หลวงปู่ครับ ทุกวันนี้ไม่รู้เป็นยังไง ผมไม่ค่อยใส่บาตรพระเลย เพราะพระในเมืองส่วนมากทำตัวไม่เหมาะสมกับเพศสมณะ ผมจึงต้องเลือกใส่บาตรพระบางรูปเท่านั้น จะทำไงดีครับ


หลวงปู่…  คุณโยม อย่าไปมองที่ตัวบุคคลซิ ให้ทำใจตัวเองให้เข้าถึงพระ ตั้งใจไว้ว่าวันนี้เราจะใส่บาตรพระ ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ ใจเราก็บริสุทธิ์ เห็นคนนุ่งเหลืองห่มเหลือง เป็นพระบริสุทธิ์ไปหมด ทานของเราก็บริสุทธิ์ตั้งแต่นั้นมา โยมคนนี้ก็เลยใส่บาตรพระได้ทุกรูป โดยไม่ต้องเลือกใส่บาตรอีกเลย


10.2.png



= ตอนที่ ๓ =

วันเกิด


หลวงปู่นั้นชอบอบรมสั่งสอนลูกศิษย์เกี่ยวกับพระคุณของแม่อยู่เสมอว่า

หลวงปู่…..
     การจะดูคนว่าคนไหนเป็นคนกตัญญูต่อแม่หรืออกตัญญู ให้ดูที่วันเกิดของคนนั้น


ลูกศิษย์…..    ดูยังไงครับ

หลวงปู่…..    คนที่มีความกตัญญูต่อมารดานั้น เมื่อถึงวันเกิดของเขา เขาจะเข้าวัดทำบุญทำกุศล และอุทิศส่วนบุญกุศลให้มารดาของเขา ละเว้นสิ่งไม่ดีทั้งหลาย


ลูกศิษย์…..   แล้วคนเนรคุณละครับ

หลวงปู่…..
   คือคนที่ถึงวันเกิดที ก็จัดงานเลี้ยงฉลอง กินเหล้าเมายาสนุกสนาน ไม่คิดทำบุญทำกุศลให้แม่ของตัวเอง เพราะความหลงมาปิดบัง เขาไม่รู้หรอกว่าวันที่เขาเกิดนั้น เป็นวันที่แม่ของตัวเองเจ็บมากที่สุด ต้องเสียเลือดเสียยาง ต้องเอาชีวิตเข้าแลกถึงจะได้เราออกมาดูโลก หรือบางทีก็ตายไปเลยก็มี นี่แหละคนอกตัญญูล่ะ


10.3.png



= ตอนที่ ๔ =

ปล่อยนก


ในวันหนึ่ง หลวงปู่ได้พาศิษย์ไปนมัสการพระธาตุพนม ในบริเวณนั้นมีพวกจับนกขังไว้ในกรง เพื่อให้ผู้ที่มาแสวงบุญได้ซื้อนกไปปล่อย มีคนขายนกผู้หนึ่ง เดินเข้ามาหาหลวงปู่แล้วพูดขึ้นว่า

คนขายนก…
หลวงปู่ครับ ไม่ซื้อนกไปปล่อยเอาบุญบ้างหรือครับ


หลวงปู่…..  ไม่หรอกโยม หลวงปู่ไม่ปล่อยมันหรอก เพราะหลวงปู่ไม่ได้ทำบาปไปจับมันมา โยมนั้นแหละควรที่จะเป็นผู้ปล่อยมันเอง เป็นการไถ่บาป เพราะโยมเป็นผู้ทำบาป จับมันมาขังไว้


10.4.png



= ตอนที่ ๕ =

ปลดหนี้


มีลูกศิษย์ได้ทำวัตถุมงคลรุ่น “ปลดหนี้” มาให้หลวงปู่อธิษฐานให้ญาติโยมได้ไปบูชา มีโยมคนหนึ่งถามหลวงปู่ว่า

โยม…..
     หลวงปู่ค่ะ พระรุ่นปลดหนี้นี้ จะช่วยให้หนูหมดหนี้ได้รึเปล่าคะ


หลวงปู่…..
  ได้ซิ เราก็ทำมาหากินไปเรื่อยๆ เมื่อมีเงินก็นำไปใช้หนี้เขา แต่อย่าเอาหนี้ไว้ข้างหน้าล่ะ ให้เอาไว้ข้างหลัง ใจก็ส่วนใจ หนี้ก็ส่วนหนี้ อย่าให้หนี้มันมีอำนาจเหนือใจ ถ้าใจเป็นหนี้แล้ว ทำอะไรก็ไม่ขึ้น ไม่มีวันที่จะปลดหนี้ให้หมดหรอก จำไว้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
        • ภาพชุดสุดยอดวัตถุมงคลของท่านเจ้าพระคุณพระสุนทรธรรมากร. หน้า ๓๖-๓๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 02:43 , Processed in 0.066016 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.