แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๙

ทำอะไรไม่ผิดเลย

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

(วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



จงระลึกถึงคติพจน์ ว่า
“ทำอะไรไม่ผิดเลย ก็คือ คนไม่ทำอะไรเลย”

ความผิดนี้แหละเป็นครูอย่างดี ควรจะรู้สึกบุญคุณของตัวเองที่ทำอะไรผิดพลาด และควรสบายใจที่ได้พบกับอาจารย์ผู้วิเศษคือ ความผิด จะได้ตรงกับคำว่า “เจ็บแล้วต้องจำ”


ตัวทำเองผิดเอง นี้แหละเป็นอาจารย์ผู้วิเศษ เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อจะได้จดจำไว้สำรวมระวังไม่ให้ผิดต่อไป แล้วตั้งต้นใหม่ด้วยความไม่เลินเล่อเผลอประมาท อดีตที่ผิดไปแล้วก็ผ่านพ้นล่วงเลยไปแล้ว แต่อาจารย์ผู้วิเศษยังคงอยู่คอยกระซิบเตือนใจอยู่เสมอทุกขณะว่า ระวัง ! อย่าประมาท !  อย่าให้ผิดพลาดเช่นนั้นอีกนะ !

จงสังเกตพิจารณาดูให้ดีเถิด จะเห็นได้ว่า นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ทางโลกก็ดี และทางผู้วิเศษที่เป็นศาสดาจารย์ในทางธรรมทั้งหลายก็ดี ล้วนแต่ผ่านพ้นอุปสรรคความผิดพลาดนับครั้งไม่ถ้วนด้วยกันทุกคน


ความระลึกได้และความรู้ตัว ที่จะทำอะไรไม่ผิดนั้น ข้อสำคัญอยู่ที่ สติ ถ้ามีสติคุ้มครองกายวาจาใจอยู่ทุกขณะ จะทำอะไรไม่ผิดพลาดเลย ที่ผิดพลาดเพราะขาดสติ คือ เผลอ เหม่อ เลินเล่อ ประมาท ละเลิง หลงลืม จึงผิดพลาด

ธรรมดาชีวิตทุกชีวิต ทั้งมนุษย์และสัตว์ ตลอดทั้งพืชพันธ์พฤกษาชาติเป็นอยู่ได้ด้วยต่อสู้ ตรงกับคำว่า “ชีวิตคือการต่อสู้” เมื่อต่อสู้ไม่ไหวขณะใจก็ต้องถึงที่สุดแห่งชีวิต คือ ความตาย เพราะฉะนั้นยังมีสติอยู่ตราบใด ถึงตายก็ตายแต่กาย


เช่นเดียวกับชีวิตพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ท่านมีสติไพบูลย์อยู่ทุกขณะจิต ท่านจึงทำอะไรไม่ผิดและถึงซึ่งอมตธรรมคือ ธรรมที่ไม่ตาย ตรงกับคำว่า ปรินิพพาน คือ นามรูปสังขารร่างกายที่เรียกว่า เบญจขันธ์ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แตกดับไปเท่านั้น

เพราะฉะนั้นความฝึกฝนสติ (ความระลึกรู้ก่อนทำ ก่อนพูด ก่อนคิด) สัมปชัญญะ (รู้ตัวทุกขณะที่กำลังทำอยู่ พูดอยู่ คิดอยู่) เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็มีสติตรวจตราพิจารณาดูว่าบกพร่องอย่างไร หรือเรียบร้อยบริบูรณ์ดี ถ้าบกพร่อง ก็รีบแก้ไขเพื่อให้สมบูรณ์ต่อไป ถ้าเรียบร้อยดีแล้ว ก็พยายามให้เรียบร้อยดียิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงที่สุด

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
        • ท่านผู้ให้แสงสว่าง: จากบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์: ท.เลียงพิบูลย์ เรียบเรียง: กรมช่างอากาศ สะพานแดง, ๒๕๒๐. หน้า ๑๗๖-๑๗๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

สมเด็จเจ้าคุณนรฯ๑.JPG


ตอนที่ ๑๘

คำเตือนสติและโอวาทของท่านธัมมวิตักโก

เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต

(วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



จาก...พระครูปัญญาภรณ์โศภน



เห็นเสือหมอบ    อย่าเชื่อ        ว่าเสือไหว้
เผลอเมื่อไร       เสือกิน          สิ้นทั้งขน
เป็นคนต้อง       เกรงเยงยำ     น้ำใจคน
เขาถ่อมตน       อย่าเหมา       ว่าเขากลัว

เขาไม่สู้           อย่าเหมา       ว่าเขาแพ้
คชสีห์แท้         หรือจะสู้         หมูชั่ว
วางตนสม        คมประจักษ์    ในฝักตัว
ชาติคนชั่ว        ลบหลู่           อย่าสู้มัน

เมื่อน้ำไหว      ไหลเชี่ยว        เป็นเกลียวกล้า
เอานาวา         ขวางไว้         ภัยมหันต์
เรื่องของคน     ปนยุ่ง           นังนุงครัน
ต้องปล่อยมัน   เป็นไป          ใจสบาย

อวดฉลาด       พูดออก          บอกว่าโง่
ฟังเขาโอ้        อวดอ้าง         อย่าขวางเขา
ขัดคอเขา       เขาโกรธ         พิโรธเรา
เป็นเรื่อง         เร่าร้อนใจ       ไม่เป็นการ

ใครมีปาก       อยากพูด         ก็พูดไป
เรื่องอะไร       ก็ช่าง              อย่าฟังขาน
เราอย่าต่อ      ก่อก้าน           ให้ร้าวราน
ความรำคาญ   ก็จะหาย          สบายใจ

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ท่านผู้ให้แสงสว่าง: จากบันทึกของคุณตริ จินตยานนท์: ท.เลียงพิบูลย์ เรียบเรียง: กรมช่างอากาศ สะพานแดง, ๒๕๒๐. หน้า ๑๘๓-๑๘๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_7340.JPG


ตอนที่ ๑๗

บทสวดทิพย์มนต์สมัยพระสมณโคดมเสวยพระชาติเป็นพระฤาษี

ท่านพ่อลี

(วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ)

1.png



ในสมัยหนึ่งที่พระพุทธเจ้าพระสมณโคดม เสวยพระชาติเป็นพระฤาษีอยู่ในป่า ท่านได้สวดบททิพย์มนต์ เป็นประจำทุกวัน มีสิ่งน่าอัศจรรย์เกิดขึ้นคือ บรรดาสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่านั้น เมื่อได้เข้ามาสู่บริเวณที่พำนักของพระฤาษี สัตว์ทั้งหลาย อาทิเช่น ช้างป่า เสือ หมี เก้ง กวาง เหล่านี้ จะกลายเป็นมิตรกันทันที ไม่มีการไล่ล่าทำลายกัน สัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ต่างก็พากันเป็นมิตรต่อกันด้วยอานุภาพแห่งทิพย์มนต์ที่แผ่ออกไปทุกวันในเขตที่พระฤาษีบำเพ็ญพรตอยู่

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ หลวงปู่หลอดได้เดินทางจากป่ามาสู่กรุงเทพเป็นครั้งแรก ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอโศการามของท่านพ่อลี ศิษย์หลวงปู่มั่น ซึ่งบททิพย์มนต์นั่นเอง ท่านพ่อลีเป็นผู้ค้นพบจากพระไตรปิฎก ท่านนำมาศึกษาและนำมาให้พระ เณร แม่ชี ที่วัดอโศการามสวดกัน หลังจากทำวัตรเช้าวัตรเย็นทุกวัน

การสวดทิพย์มนต์เพื่อสิริมงคลแก่ผู้สวด เพื่อให้มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ เพื่อส่งกุศลให้ผู้ป่วยให้ทุเลาจากอาการเจ็บป่วย หรือสวดส่งกุศลให้หลวงปู่ ครูอาจารย์ที่มีอายุมากให้มีพละกำลัง หรือสวดเพื่อบรรเทาเวทนา หรือสืบชะตาต่ออายุ


ทิพย์มนต์



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (สามจบ)


พุทธัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ ธัมมัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ สังฆัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ ธัมมัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ สังฆัง อายุวัฑฒะนัง ชีวิตัง ยาวะ นิพพานัง สะระณัง คัจฉามิ

๑. วาโย จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ


วาโย จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ


วาโย จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๒. เตโช จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

เตโช จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ

เตโช จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๓. อาโป จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

อาโป จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ

อาโป จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๔. ปะฐะวี จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

ปะฐะวี จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ

ปะฐะวี จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะ
วะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๕. อากาสา จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

อากาสา จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ

อากาสา จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

๖. วิญญาณัง จะ พุทธะคุณัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

วิญญาณัง จะ ธัมเมตัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สวากขาโต ภะคะวาตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหีติ

วิญญาณัง จะ สังฆานัง อะระหัง พุทโธ อิติปิ โส ภะคะวา นะมามิหัง สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา เอสะภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรังปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

ธาตุประริสุทธานุภาเวนะ สัพพะทุกขา สัพพะภะยา สัพพะโรคา วิมุจจันติ อิติ อุทธะมะโธ ติริยัง สัพพะธิ สัพพัตตะตายะ สัพพาวันตังโลกัง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเปกขา สะหะคะเตนะ เจตะสา จะตุททิสัง ผะริตตะวา วิหะระติ สุขัง สุปะติ สุขัง ปะฎิพุชฌะติ นะปาปะกัง สุปินัง ปัสสะติ มะนุสสานัง ปิโย โหติ อะมะนุสสานัง ปิโย โหติ เทวะตา รักขันติ นาสสะ อัคคิ วา วิสัง วา สัตถัง วา กะมะติ ตุวะฏัง จิตตัง สะมาธิยะติ มุขวัณโณ วิปปะสีทะติ อะสัมมุฬะโห กาลังกะโรติ อุตตะริง อัปปะฏิวิชฌันโต พรหมมะโล กูปะโค โหติ อิติ อุทธะมะโธ ติริยัง อะเวรัง อะเวรา สุขะชีวิโน กะตัง ปุญญัง ผะลัง มัยหัง สัพเพภาคี ภะวันตุเต ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะ เทวะตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ สัพพะธัมมานุภาเวนะ สัพพะสังฆานุภาเวนะ โสตถี โหนตุ นิรันตะรุง อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะมามิหัง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • เจริญสุข ยืนตระกูล เรียบเรียง. "ความเป็นมาของบทสวดทิพย์มนต์" โลกทิพย์ ๒๕๘ ปีที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๓๖. หน้า ๖๙-๗๑.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖

อาหารของผู้บรรลุธรรมชั้นสูง

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์)

1.png



ตลอดระยะเวลาเดือนกว่าที่ถ้ำผาบึ้ง หลวงปู่ได้ปฏิบัติฝึกฌานสมาบัติ หรือฌานสมาธิ ปฐมมรรรค ทุติยมรรค ตติยมรรค และจตุตถมรรค จนได้พระนิพพานเป็นอารมณ์ได้อย่างถาวร สามารถระงับดับสังขารทั้งหลาย จนหมดทั้งเหตุ หมดทั้งปัจจัย รวมเรียกว่า ปสโมสุโข คือ ดับไปโดยไม่มีส่วนเหลือ “ธรรมสากัจฉา” ในความเป็นพระอรหันต์

ออกจากถ้ำผาบึ้ง ก็ถึงเขตสกลนคร อำเภอวาริชภูมิ หลวงปู่ดูลย์ ท่านได้พบกับพระปรมาจารย์มั่นที่นี่ ในต้นปี ๒๔๖๖ และในครั้งนี้ ไม่มีการกราบเรียนผลการปฏิบัติหรือแนะนำแนวทางปฏิบัติต่อไปอันใดอีก

นั้นเป็นเพราะท่านปรมาจารย์ทราบด้วยญาณทัศนะแห่งตนว่า “ณ บัดนี้เป็นต้นไป ท่านดูลย์คือพระอรหันต์องค์ต่อจากท่าน” รวมการเจริญอายุครองเพศแห่งร่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ ๑๔ พรรษากว่า” ในบัดนี้ หลวงปู่ดูลย์ท่านถือว่าเป็นเพียงการเริ่มต้นเดินทางบนสายธารแห่งความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การพบปะกันในครั้งนี้ของพระอรหันต์ ๒ ท่าน จึงมีแต่การสนทนาธรรม หรือการกระทำธรรมสากัจฉาในเรื่องทางจิตวิญญาณล้วนๆ ซึ่งพอนำสรุปได้ดังนี้

หลักของความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์ของความเป็นพระอรหันต์ คือ มีพรหมวิหารธรรม ๔
เป็นธรรมประจำใจ ในการครองชีวิตและปฏิบัติต่อเพื่อนสัตว์โลกทั้งหลาย

มีเมตตา เจริญธรรมข้อนี้ในเวลาปกติได้ทุกๆ ขณะจิต โดยตั้งเจตนาไว้ว่า ขอสัตว์ทั้งหลายจงอย่าได้มีเวรแก่กันและกัน จงอย่าได้มีความลำบากกายและใจ จงมีความสุขรักษาตนให้พ้นภัยยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นไปเพื่อละความพยาบาท

กรุณา เจริญเมื่อได้รู้ได้เห็นว่า เพื่อนสัตว์โลกได้รับความทุกข์ร้อน ต้องช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว หรือหนีเอาตัวรอดเพียงคนเดียว เป็นไปเพื่อละวิหิงสา

มุทิตา เจริญเมื่อทราบว่า ผู้นั้นได้รับความสุข ความเจริญหรือความสำเร็จ เป็นไปเพื่อละความริษยาให้คงทน

และอุเบกขา เจริญเมื่อความทุกข์ความวิบัติได้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นแต่สุดวิสัยที่จะช่วยได้ ต้องเจริญอุเบกขา คือวางใจให้เป็นกลาง ปรารภว่าสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เขาทำกรรมเช่นนั้นมาก็ต้องได้รับกรรมเช่นนั้น ซึ่งเป็นการรักษาอาการละความทุกข์ ความฟุ้งซ่าน ละความหงุดหงิดให้อยู่ยืนนาน

ขณะเดียวกันต้องห่างไกลจากโลกธรรม ๘ อยู่ทุกขณะจิต มีลาภ – อลาภ – ยศ – อยศ – นินทา – สรรเสริญ – สุข - ทุกข์

และปัจจัย ๔ คือเครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาและอุปกรณ์รักษาโรค ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งที่แตกดับได้ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีความแปรปรวนเป็นสาระ จึงไม่โลภอยากได้และหลงใหลหลุ่มหลงหมกหมุ่นมัวเมาเคลิ้มลำพอง ไปตามบารมีอำนาจ ยศ ฐาน บรรดาศักดิ์และความมั่งคั่งที่ปรารถนาให้มีอยู่ และจิตไม่น้อยเนื้อต่ำใจ ไม่โทษฟ้าโทษดิน ก้าวพ้นจากความเศร้าโศกร่ำไร ดับความทุกข์ มีแต่ความกระปรี้กระเปร่า ชื่นบาน สงบกาย สบายใจ”

นอกจากพรหมวิหาร ๔ แล้ว ปฏิปทาของหลวงปู่ดูลย์ก็ยังมี คือ มากด้วยขันติ โสรัจจะ อดทน สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ไม่แสดงกิริยาอันเคลื่อนคลายจากสมณสารูปมาโดยตลอด

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • พลังเหนือโลก ฉบับที่ ๓๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๒๘: สุภักดิ์ ตลับทอง เรียบเรียง. หน้า ๒๑-๒๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕

พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

(วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์)

1.png



การปฏิบัติธรรม หมายถึง การปฏิบัติฝึกจิตให้ปลอดพ้นจากกิเลสอย่างแท้จริง ด้วยวิถีทางสมถะและวิปัสสนากรรมฐานตามลำดับ

จิต คือ พุทโธ

จิต นี้ก็คือ ธรรม เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่ไปไม่มา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ไม่อาจจัดเป็นลักษณะรูปหรือนามได้

เมื่อได้เข้าถีงสภาวะดังกล่าวของจิตแล้ว อาการต่างๆ ของจิตที่เป็นไป หรือจะเรียกว่ากิริยาแห่งจิตก็ได้ ทั้งในภาคสมถะและวิปัสสนาตามลำดับ ย่อมต้องถือว่าเป็นของภายนอก เป็นสิ่งแปลกปลอมปรุงแต่ง ไม่ควรยึดถือเอาเป็นแก่นสารสาระ


แม้แต่ฌานสมาบัติก็เป็นเพียงของประจำโลกเท่านั้น มิใช่เป็นหนทางวิเศษแต่อย่างใดเลย จะเห็นได้จากการบำเพ็ญเพียรของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ พระองค์ทรงละเสียซึ่งลักษณะธรรมเหล่านี้โดยสิ้นเชิง คือ

เมื่อพระองค์ออกจาก จตุตถฌาน ละเวทนาขาดสิ้น สภาวะจิตถึงการดับรอบตัวเองแล้ว ภวังคจิตขาดแล้วไม่สืบต่ออีกเลย สิ้นสุดสังสารวัฏฏ์ ณ ขณะนั้นเลย เรียกว่า นิพพาน

ฉะนั้น ไม่ว่าแสง สี ฌานสมาบัติใดๆ หรือแม้แต่ภวังคจิตเองก็ไม่น่าจะไปกำหนดรู้เพื่อการถืออะไร เพราะเป็นของเกิดๆ ดับๆ เป็นของปรุงแต่งขึ้น เป็นของประจำโลก จิตที่กล่าวถึงนี้แลแท้จริงก็มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่ร่ำไป จึงกล่าวได้ว่า ตัวจิตเองก็ไม่คงทนถาวรอะไร ถึงซึ่งการดับรอบ โดยสิ้นเชิงเช่นกัน เมื่อกล่าวเป็นธรรมเป็นจริงแล้ว แม้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ยังหมายถึง สมมติบัญญัติอยู่นั่นเอง

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสว่า พระองค์ได้ทำลายเรือน หรืออาณาจักรของตัณหาแล้ว ตัณหาไม่สามารถสร้างเหย้าเรือนให้เป็นภพเป็นชาติ แม้ตัวจิตเองยังสภาพเดิม คือ ฐีติจิต ฐีติธรรม อันเป็นธรรมดา


ด้วยเหตุนี้เอง ภิกษุทั้งหลายพึงสังวรอย่างยิ่งยวด ไม่พึงปรับอาบัติหรือโทษต่างๆ แก่พระอรหันต์ ก็อย่าว่าแต่ความผิดบาปเลย แม้ความดี พระอรหันต์ท่านก็ละได้เด็ดขาด ท่านอยู่เหนือความดีความชั่วทั้งหลายแล้วโดยสิ้นเชิง อย่าถือพระสูตรบางอย่างที่ว่า มีการปรับโทษพระอรหันต์ เช่น ความผิดที่ไม่ร่วมสมาคม หรือสังฆกรรมกับหมู่สงฆ์ดังนี้

เมื่อจักปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่ควรวุ่นวายกับชาดกนิทาน ของแปลกของปลอมอะไรนั่น มุ่งพิจารณาจิตไม่ว่าพบเห็น ได้ยิน ได้ฟังสิ่งใด ให้ย้อนเข้ามาในจิตให้ได้ จนสามารถรู้จิต เห็นจิต เข้าถึงสภาวะความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม จนถึงความดับรอบของจิตใจในขั้นสุดท้าย

การพ้นสมมติบัญญัติย่อมหมายรวมไปถึงธรรมด้วย เช่นอายตนะทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเสมือนฉายา หรือแม้ตัวจิตเองก็ตาม มิว่าจะพูดกันครั้งใด ก็ไม่พ้นสมมติบัญญัติไปได้

การหยุดคิดลึก นั่นก็หมายถึง หยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว หยุดกิริยาแห่งจิต ซึ่งหมายถึง หยุดสังสารวัฏฏ์นั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะกำหนดจิตคิดถึงสิ่งใดๆ สิ่งนั้นก็ยังเป็นสิ่งภายนอก เป็นของปรุงแต่งขึ้นในโลก เช่น การกำหนดรู้ ย่อมมีสิ่งที่ต้องกำหนด (อาจจะเป็นรูปก็ดี นามก็ดี) เสื่อมสลาย เพราะเป็นของปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ฉะนั้น สภาวะของอุเบกขาสัมโพชฌงค์ จึงเป็นของยากที่จะแสดงออกเป็นคำพูด มีแต่ความนิ่งวางเฉย พร้อมกับรู้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเสมอกันสิ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล เรา เขา หรือแม้พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และสัตว์โลกทั้งหลาย ก็มีสภาพอันเดียวกันเสมอกัน แต่ที่เห็นแตกต่างกัน เพราะการยึดถือในสิ่งที่แตกต่างกันคือ ผิดไปจากสัจธรรมแท้เท่านั้น

(สัจธรรมแท้มีหนึ่งเดียว แต่คนเราไปยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่สัจธรรมแท้ จึงกลายเป็นนานาทัศนะแตกต่างกัน….ผู้เขียน) ความประพฤติปฏิบัติและจริยธรรมก็แลดูผิดแผกกันไปต่างๆ นานา

การที่บุคคลใดสามารถปฏิบัติเข้าถึงสภาวะที่จะตัดสินใจได้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งภายนอกกับตัวเรานี้ แท้จริงเป็นของสิ่งเดียวกันโดยแท้ (นี่คือสภาวะของความเป็นอยู่ของผู้บรรลุพระนิพพาน)


จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สภาวะเป็นจริง หรือที่เรียกว่าสัจธรรมนั้นมีอยู่ตลอดกาล หากไม่ท้อถอยหรือละความเพียรเสียก่อน ย่อมมีโอกาสเข้าถึงสัจธรรมได้เป็นที่แน่นอน

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • พลังเหนือโลก ฉบับที่ ๓๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๒๘: สุภักดิ์ ตลับทอง เรียบเรียง. หน้า ๒๗-๒๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔

ใต้รอยบาทหลวงพ่อเดิม

ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์

(วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์)

1.png



หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ (ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์) อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เป็นพระผู้เปี่ยมล้นไปด้วยบารมีอันสูงส่ง ได้รับการถวายนามจากศิษยานุศิษย์ว่าคือ “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว”

โดยแท้จริง อภินิหารของหลวงพ่อเดิมทั้งจากตัวของหลวงพ่อเองและจากวัตถุมงคลเป็นที่โจษขานกันมานานแสนนานจนถึงปัจจุบันนี้ หนึ่งในนั้นคือ
รอยเท้าของหลวงพ่อเดิม

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ศิษย์ผู้สืบทอดวิชาคชศาสตร์จากหลวงพ่อเดิม ได้เล่าเรื่องราวสมัยที่หลวงพ่อเดิมท่านยังมีชีวิตอยู่ว่า ในสมัยนั้นนิยมมาขอให้หลวงพ่อเดิมประทับรอยเท้าบนผ้าขาว สีที่ใช้ก็คือครามผงผสมน้ำนี่เอง เอามาทาฝ่าเท้าหลวงพ่อให้ท่านเหยียบ และการเหยียบตอนแรกเหยียบกระดานเปล่า ติดขัดบ้าง ไม่ติดขัดบ้าง ก็ว่ากันไปตามสะดวก


ต่อมามีผู้คนไปเกิดประสบการณ์ต่างๆ เช่น ยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า ตีไม่แตก บางทีก็เอาไปโบกไล่เครื่องบินให้วนไปที่อื่นหรือโบกปัดระเบิดบ้าง โดยบางบ้าน รอบๆ บ้านพินาศยับเยินด้วยแรงระเบิดทำลาย แต่บ้านที่มีรอยเท้าหลวงพ่อเดิมกลับปลอดภัย ไม่มีกระเบื้องแตกสักแผ่น เล่าลือกันหนักเข้า หลวงพ่อก็ต้องนั่งประทับรอยเท้าจนขาเมื่อย

หลวงพ่อจรัญได้ถามหลวงพ่อเดิมตรงๆ ว่า

หลวงพ่อจรัญ :
“ที่หลวงพ่อเหยียบรอยเท้าให้เขาไปนั้นมันคืออย่างไรครับ บอกให้กระผมได้ตาสว่างสักครั้งหนึ่งเถิด”

หลวงพ่อเดิม :
เทพเจ้าแห่งวัดหนองโพมองดูหน้าหลวงพ่อจรัญก่อนจะกล่าวตอบด้วยน้ำเสียงอันดังกังวานว่า “เฮ้อ ตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสีย หูดีก็ได้ หูร้ายก็เสีย”

หลวงพ่อจรัญ :
ถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก เพราะหลวงพ่อเดิมท่านตอบไม่ตรงคำถาม จึงรุกเข้าถามไปว่า “ไม่ใช่อย่างนั้นหลวงพ่อ กระผมต้องการรู้ว่าที่เขาเอาไปใช้กันนะ ดีทางไหนกันแน่ ถึงได้มาขอกันจนเหยียบไม่ได้หยุด”

หลวงพ่อเดิม :
“เอ้องั้นเรอะ ฟังน่ะ เขาว่าดีเอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก โพกหัวแล้วตีไม่แตก นั่นเขาว่ากันอย่างนั้น ฉันไม่ได้ว่าน่ะ เขาว่ากันไปเองแหละ

หลวงพ่อจรัญ :
“อ้าวแล้วงั้นหลวงพ่อให้เขาเอาไปทำไมกันล่ะ ถ้าหลวงพ่อไม่ได้ว่าดี เขาว่ากันเองล่ะก็”

หลวงพ่อเดิม : “เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกับฉัน ที่คุณธรรมะของฉันที่ฉันฝากไว้ในรอยเท้ามันไม่ใช่อย่างที่เขาเล่าลือกัน”

หลวงพ่อจรัญ :
ธรรมะอะไรกันครับหลวงพ่อ ช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจหน่อย ผมงงไปหมดแล้ว

หลวงพ่อเดิม :
“รอยเท้าของฉันเหยียบไว้เป็นที่ระลึกว่า ฉันคือหลวงพ่อเดิมที่ในหลวงท่านพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นครูนิวาสธรรมขันธ์ หมายถึงว่า เป็นที่ตั้งแห่งธรรมทั้งปวง ฉันปฏิบัติในกรอบแห่งความดี ฉันไม่เบียดเบียน ฉันสร้างความเจริญในถิ่นกันดาร ฉันทำดีเพื่อให้พระศาสนารุ่งเรือง

เมื่อได้รอยเท้าของฉันไปแล้ว ก็จะระลึกว่าหลวงพ่อเดิมท่านทำดี เราควรทำความดีความเจริญตามรอยเท้าของท่านไป เป็นคนดี คิดดี ทำดี อยู่แต่ในศีลธรรมอันดีงาม นั้นแหละรอยเท้าของฉันจึงจะขลัง ไม่ใช่เอาไปโพกหัวแล้วยิงไม่ออก แต่ไม่เคยมีใครถามฉันสักราย เห็นแต่เอารอยเท้าไปติดตัวแล้วหายเงียบ”

หลวงพ่อเดิม :
“เอารอยเท้าฉันไปนะ ฉันเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ ฉันเป็นพระที่เธอนับถือ ฉันไม่เก่งอะไรหรอก แต่ฉันสร้างความดี เธอจงเอารอยเท้าฉันไปดูให้ติดตาม แล้วทำความดีตามรอยเท้าของฉัน แล้วเธอจะประสบความสุขความเจริญทั่วหน้า

มีหลายรายเอารอยเท้าฉันไป แล้วเอาไปประกอบกรรมชั่ว ไปปล้นเขา ไปจี้เขา ไปลักวัวควายเขา ถูกยิงตายคาที่ตายโหง รอยเท้าฉันอยู่กับตัวช่วยอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่เดินตามรอยเท้าฉันไปในทางดี กลับแหกคอกไปในทางชั่ว แล้วจะมาหวังพึ่งอะไรได้เล่า”

นี่คือ ปรัชญาชีวิตในรอยเท้าของหลวงพ่อเดิม ที่ท่านฝากเอาไว้กับบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้คิดกันต่อมา

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • คุณประเจียด คงศาสตรา และคุณสุรเวท เสนภูษา ผู้เขียน: สำนักพิมพ์ ๙๙ มีเดีย, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๕. หน้า ๔๖-๔๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓

ปัจฉิมโอวาทของหลวงปู่มั่นในวาระสุดท้ายของชีวิต

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png



ตอนสุดท้ายแห่งธรรมที่พอยึดได้ว่าเป็นปัจฉิมโอวาท เพราะท่านมาลงเอยในสังขารธรรมเช่นเดียวกับพระปัจฉิมโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่สงฆ์เวลาจะเสด็จปรินิพพาน โดยท่านยกเอาพระธรรมบทนั้นขึ้นมาว่า

“ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง มีความเกิดหรือเจริญขึ้นแล้ว เสื่อมไปดับไป จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

จากนั้นท่านก็อธิบายต่อใจความว่า คำว่าสังขารในพระปัจฉิมโอวาทนั้นเป็นยอดธรรม พระองค์ทรงประมวลมาในคำว่าสังขารทั้งสิ้น แต่พระประสงค์ทรงมุ่งสังขารภายในมากกว่าสังขารอื่นใดในขณะนั้น เพื่อเห็นความสำคัญของสังขารอันเป็นตัวสมุทัย เครื่องก่อกวนจิตให้หลงตาม ไม่สงบลงเป็นตัวของตัวได้


เมื่อพิจารณาสังขารคือ ความคิดปรุงของใจทั้งหลาย ละเอียดรู้ตลอดทั่วถึงแล้ว สังขารเหล่านั้นก็ดับ เมื่อสังขารดับ ใจก็หมดการก่อกวน แม้มีการคิดปรุงอยู่บ้างก็เป็นไปตามปกติขันธ์ ที่เรียกว่าขันธ์ล้วนๆ ไม่แฝงขึ้นมาด้วยกิเลสตัณหาอวิชชา ถ้าเทียบกับการนอนก็เป็นการนอนหลับอย่างสนิท ไม่มีการละเมอเพ้อฝันมาก่อกวนในเวลาหลับ

ถ้าหมายถึงจิตก็คือ “วูปสมจิต” เป็นจิตสงบที่ไม่มีกิเลสนอนเนื่องอยู่ภายใน จิตของพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งปวงเป็นจิตประเภทนี้ทั้งนั้น ท่านจึงไม่หลงใหลใฝ่ฝันหาอะไรกันอีก นับแต่ขณะที่จิตประเภทนี้ปรากฏขึ้น คำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ก็มีมาพร้อมกัน ความสิ้นกิเลสก็สิ้นไปในขณะเดียวกัน ความเป็นพระอรหันต์ก็เป็นขึ้นพร้อมในขณะเดียวกัน จึงเป็นธรรมอัศจรรย์ก็ไม่มีอะไรเทียบได้ในโลกทั้งสาม


พอแสดงธรรมถึงที่นี้แล้วท่านก็หยุด นับแต่วันนั้นมาไม่ปรากฏว่าได้แสดงที่ไหนในเวลาใดอีกเลย จึงได้ยึดเอาว่าเป็นปัจฉิมโอวาท และได้นำลงในประวัติท่านเป็นวาระสุดท้าย สมนามว่าเป็นปัจฉิมโอวาท

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ๒๕๓๘. หน้า ๓๓๓-๓๓๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒

การฝึกซ้อมสติปัญญากับความเจ็บป่วย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png



การฝึกซ้อมสติปัญญากับความเจ็บป่วย คือ ต้องพิจารณาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นด้วยสติปัญญาอย่างเข้มแข็งและแหลมคม ไม่เช่นนั้นก็แก้ทุกขเวทนาไม่ได้ ไข้ไม่สร่างไม่หายได้เร็วกว่าธรรมดาที่ควรเป็นได้

ผู้ที่สติปัญญาผ่านทุกขเวทนาในเวลาเป็นไข้ไปได้อย่างอาจหาญ ย่อมได้หลักยึดทั้งเวลาปกติและเวลาเจ็บไข้ได้ทุกข์ ตลอดเวลาจวนตัวจริงๆ ไม่ท้อแท้อ่อนแอและเสียทีในวาระสุดท้าย เป็นผู้กำชัยชนะในทุกขสัจไว้ได้อย่างประจักษ์ใจ และอาจหาญต่อคติธรรมดาคือ ความตาย

การรู้ทุกขสัจด้วยสติปัญญาจริงๆ ไม่มีการอาลัยในเวลาต่อไป จิตยึดความจริงที่เคยพิจารณารู้แล้วเป็นหลักในใจตลอดไป เมื่อถึงคราวจวนตัวเข้ามา สติปัญญาประเภทนั้นจะเข้ามาเทียมแอกเพื่อลากค้นทุกข์ด้วยการพิจารณาให้ถึงความปลอดภัยทันที ไม่ยอมทอดธุระนอนจมทุกข์อยู่ดังแต่ก่อนที่ยังไม่เคยกำหนดรู้ทุกข์เลย แต่สติปัญญาประเภทนี้จะเข้าประชิดข้าศึกทันที

กิริยาท่าทางภายนอกก็เป็นเหมือนคนไข้ทั่วไป คือมีการอิดโหยโรยแรงเป็นธรรมดา แต่กิริยาภายใน คือใจกับสติปัญญาจะเป็นลักษณะทหารเตรียมออกแนวรบ ไม่มีการสะท้านหวั่นไหวต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นมากน้อยในขณะนั้น มีแต่การค้นหามูลความจริงของกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นที่รวมแห่งทุกข์ในขณะนั้นอย่างเอาจริงเอาจัง


ไม่กลัวว่าตนสู้หรือทนทุกข์ไม่ไหว กลัวแต่สติปัญญาจะไม่รู้รอบทันกับเวลาที่ต้องการเท่านั้น การพิจารณาธรรมของจริง มีทุกขสัจเป็นต้น กับผู้ต้องการรู้ความจริงอยู่อย่างเต็มใจที่เคยรู้เห็นมาแล้วนั้น ท่านไม่ถือเอาความลำบากมาเป็นเครื่องกีดขวางทางเดินให้เสียเวลาและทำความอ่อนแอแก่ตนอย่างไร้ประโยชน์ที่ควรจะได้เลย

มีแต่คิดว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ประจักษ์ขึ้นมาในปัจจุบัน ไม่พ้นสติปัญญาศรัทธาความเพียรไปได้ เมื่อรู้ความจริงแล้ว ทุกข์ก็จริง กายก็จริง ใจก็จริง ต่างอันต่างจริง ไม่มีอะไรรังควานรังแกบีบคั้นกัน สมุทัยที่ก่อเหตุให้เกิดทุกข์ก็สงบลง ไม่คิดปรุงว่ากลัวตายหรือไข้ไม่หายอันเป็นอารมณ์เขย่าใจให้ว้าวุ่นขุ่นมัวไปเปล่าๆ

เมื่อสติปัญญารู้รอบแล้ว ไข้ก็สงบลงในขณะนั้น หรือแม้ไข้ยังไม่สงบลงในขณะนั้น แต่ไม่กำเริบรุนแรงต่อไป และไม่ให้ใจให้เกิดทุกขเวทนาไปด้วย ที่เรียกว่าป่วยกายป่วยใจกลายเป็นไข้สองซ้อน เพราะคำว่าธรรมแล้วเหตุกับผลลงกันได้ จึงจะเรียกว่า สวากขาตธรรม ตามที่ประทานไว้

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ๒๕๓๘. หน้า ๒๕๘-๒๕๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑

อย่าให้ใจเหมือน

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png


ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเขียนโดย ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เล่าถึงคราวที่หลวงปู่ขาวเกิดความสงสัยในการปฏิบัติและได้เรียนถามหลวงปู่มั่นว่า

“ในครั้งพุทธกาล ตามประวัติว่ามีผู้สำเร็จมรรคผลนิพพานมาก และรวดเร็วกว่าสมัยนี้ ซึ่งไม่ค่อยมีผู้ใดสำเร็จกัน แม้ไม่มากเหมือนครั้งโน้น หากมีความสำเร็จได้ ก็รู้สึกจะช้ากว่ากันมาก”

หลวงปู่มั่น ท่านตอบว่า……

“กิเลสของคนในพุทธสมัย มีความเบาบางมากกว่าในสมัยปัจจุบัน แม้การอบรมก็ง่าย ผิดกับสมัยนี้อยู่มาก ประกอบกับผู้สั่งสอนในสมัยนั้นก็เป็นผู้รู้ยิ่งเห็นจริงเป็นส่วนมาก มีพระศาสดาเป็นพระประมุขประธานแห่งพระสาวกในการประกาศสอนธรรมแก่หมู่ชน

การสอนจึงไม่ค่อยผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความจริง ทรงถอดออกมาจากพระทัย และใจที่บริสุทธิ์ล้วนๆ หยิบยื่นให้ผู้ฟังอย่างสดๆ ร้อนๆ ไม่มีธรรมแปลกปลอมเคลือบแฝงออกมาด้วยเลย ผู้ฟังก็เป็นผู้มุ่งต่อความเจริญอย่างเต็มใจ ซึ่งเป็นความเหมาะสมทั้งสองฝ่าย ผลที่ปรากฏเป็นขั้นๆ ตามความคาดหมายของผู้มุ่งความจริง

จึงไม่มีปัญหาที่ควรขัดแย้งได้ว่า สมัยนั้นคนสำเร็จมรรคผลกันทีละมากๆ จากการแสดงธรรมแต่ละครั้งของพระศาสดาและพระสาวก ส่วนสมัยนี้ไม่ค่อยมีใครสำเร็จได้ คล้ายกับคนไม่ใช่คน ธรรมไม่ใช่ธรรม ผลจึงไม่มี

ความจริงคนก็คือคน ธรรมก็คือธรรมอยู่นั่นเอง แต่คนไม่สนใจธรรม ธรรมก็เข้าไม่ถึงใจ จึงกลายเป็นว่า คนก็สักว่าคน ธรรมก็สักว่าธรรม ไม่อาจยังประโยชน์ให้สำเร็จได้

แม้คนจะมีจำนวนมากและแสดงให้ฟังทั้งพระไตรปิฎก จึงเป็นเหมือนเทน้ำใส่หลังหมา มันสลัดออกเกลี้ยงไม่มีเหลือ ธรรมจึงไม่มีความหมายในใจของคน เหมือนน้ำไม่มีความหมายบนหลังหมาฉะนั้น”

ข้าพเจ้าอดนำมาถามตัวเองไม่ได้ว่า……..
“แล้วเราล่ะ เวลานี้ใจเราเป็นเหมือนหลังหมาหรือเปล่า”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • พรหมปัญโญบูชา: เมธา พรพิพัฒน์ไพศาล เรียบเรียง, ๒๕๔๑. หน้า ๑๒๗-๑๒๘.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๐

คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

(วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร)

1.png



ในหนังสือ “ประวัติหลวงปู่มั่น” โดยท่านหลวงตามหาบัวได้กล่าวถึงเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า

“ที่ท่านสอนว่าให้คบนักปราชญ์นั้น เป็นความจริงหาที่แย้งไม่ได้เลย ดังคณะลูกศิษย์เข้าอยู่อาศัยสดับตรับฟังความดีงามจากครูอาจารย์วันละเล็กละน้อย ทำให้เกิดกำลังใจและซึมซาบเข้าภายในไปทุกระยะจนกลายเป็นคนดีตามท่านไปได้ แม้ไม่เหมือนท่านทุกกระเบียด ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ของลูกศิษย์ที่มีครูอาจารย์สั่งสอน อนึ่งการคบคนพาลก็ทำให้มีส่วนเสียได้มากน้อยตามส่วนแห่งความสัมพันธ์กัน

ที่ท่านสอนไว้ทั้งสองภาคนี้มีความจริงเท่ากัน คือทำให้คนเป็นคนดีได้เพราะการคบกับคนดี และทำให้คนเสียได้เพราะการคบกับคนไม่ดี เราพอทราบได้ระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ที่คบกันนานๆ อย่างน้อยลูกศิษย์นั้นๆ ย่อมพอมีหลักยึดได้จากอาจารย์ และคนที่หลวมตัวเข้าไปอยู่กับคนพาล อย่างน้อยย่อมมีการแสดงออกในลักษณะแห่งคนพาลจนได้ มากกว่านั้นก็ดังที่เห็นๆ กันไม่มีทางสงสัย นี่กล่าวถึงพาลภายนอก


แต่ควรทราบว่า พาลภายใน ยังมีและฝังจมอยู่อย่างลึกลับในนิสัยของมนุษย์เราแทบทุกราย คำว่าพาลในที่นี้ หมายถึง ความขลาดเขลาย่อหย่อนต่อกลมารยาของใจที่เป็นฝ่ายต่ำ ซึ่งคอยแสดงออกในทางชั่วและต่ำทรามโดยเจ้าตัวไม่รู้ หรือแม้รู้แต่เข้าใจว่าเป็นเพียงอยู่ภายในไม่ได้แสดงออกภายนอกให้เป็นสิ่งที่น่าเกลียด

ความจริงขึ้นชื่อว่าของไม่ดีแล้ว จะมีอยู่ ณ ที่แห่งใด ย่อมเป็นของน่าเกลียดอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ถึงกับต้องแสดงออกมาจึงจะเป็นของน่าเกลียด เพราะมันเป็นของน่าเกลียดน่ากลัวอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมปราชญ์ฉลาดแหลมคม จึงทรงสอนให้ละและถอดถอนโดยลำดับจนหมดสิ้น ไม่มีคำว่า “สิ่งไม่ดี” เหลืออยู่เลยนั่นแล”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • ลิขิตธรรมโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี. ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, ๒๕๓๘. หน้า ๒๔๓-๒๔๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-6 17:54 , Processed in 0.097739 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.