แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

2.jpg


ตอนที่ ๓๓

ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ ธรรม

หลวงปู่สี ฉันทสิริ

(วัดเขาถ้ำบุญนาค จ.นครสวรรค์)

1.png



ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ ธรรม

มองไปตามพื้นดินในป่าใหญ่ เราจะมองเห็นธรรมหล่นเกลื่อนกลาด ธรรมเหล่านั้นก็คือใบไม้แห้ง เป็นสิ่งที่แสดงสภาวธรรมให้เห็นถึงความเป็นอนิจจัง ใบไม้หลุดร่วงลงมาจากต้น แปรสภาพสลายกลายเป็นอื่นในที่สุด หรือไม่ก็รอการถูกเหยียบย่ำป่นปี้แหลกสลายกลายเป็นผง เป็นดินไปในที่สุด


เมื่อเป็นดินแล้ว ต่อมาเมล็ดพันธุ์หลานลงมา จากสูงมาต่ำ กลายเป็นฐานรองรับให้เมล็ดพันธุ์นั้นงอกงาม เป็นต้น เป็นใบเจริญเติบโต แตกกิ่งก้านสาขา ออกดอกออกผล ผลิใบอ่อน เจริญไปตามกาล กลายเป็นใบแก่ จากเขียวเป็นเหลือง แล้วก็หลุดร่วงลงมาหมุนเวียนเปลี่ยนไปอยู่เช่นนี้ ยามใดที่เงยหน้ามองขึ้นไปเบื้องบน ก็จะพบใบไม้บนต้น ยังมีมากมายเป็นแสนเป็นล้านๆ ใบ

พระพุทธเจ้าพระองค์จึงรับสั่งแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่า ธรรมที่พระองค์ได้แสดงมาแล้ว เป็นเพียงใบไม้แห้งเพียง ๑ กำมือเท่านั้น ส่วนธรรมที่ยังมิได้แสดง ตลอดอายุของพระองค์ ยังมีมากดุจดังใบไม้ในป่า

ช่างละเอียดลึกซึ้ง สุดจะประมาณได้ ท่านจึงห้ามเอาไว้ว่า อย่าไปรู้จักโลกเลย ไม่ว่าใครๆ เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิตชั้นไหน ก็ไม่มีวันจะรู้จักโลกได้ทั้งหมด นอกจากพระบรมศาสดาของเรา แม้กระนั้นก็ยังไม่อาจแสดงความรู้ของพระองค์ได้หมดสิ้น

พระองค์จึงกล่าวไว้ว่า จงมองโลกให้แคบเข้า แคบเข้า แคบเข้า จนเหลือเพียงกายและจิตเท่านี้ เมื่อรู้จักกายและจิตแล้ว ก็รู้จักโลกทั้งหมด แต่เพียงกายและจิต ตามที่มันเป็นจริง เจ้ากายและจิตนี้นับเป็นกองขยะที่ยิ่งใหญ่รกไปด้วย กิเลส ตัณหา โทสะ โมหะ ที่หนาแน่นเหนียวแน่นยากจะกวาดล้างทำลายให้สะอาดได้ แม้จะสิ้นเปลืองภพชาติ เกิดตายนับไม่ถ้วน

พระพุทธองค์ท่านเห็นว่า จะให้มนุษย์รู้จักโลกได้ทั้งโลก ก็จะทำให้ฟุ้งซ่าน เวียนเกิดเวียนตายไม่รู้จักจบ จึงทรงกำหนดให้รู้จักแต่ “กาย” ในกาย “จิต” ในจิต แม้อย่างนั้น การทำความรู้จักกายกับจิตตามสภาพความเป็นจริงของมันก็ต้องข้ามภพข้ามชาติ กว่าจะรู้ว่ากายก็ดีจิตก็ดี สุดท้ายนั้นก็เป็นอนัตตาไปทั้งสิ้น มนุษย์พากันยึดถือผูกพันกับสิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่ของตนเป็นตุเป็นตะเป็นวรรคเป็นเวร

คำสอนของหลวงปู่ที่พยายามกล่าวย้ำให้ทุกคนหมั่นปฏิบัติธรรม ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรม ดังคติธรรมของหลวงปู่สีว่า “ความดีสิคงทน แต่ความจนสิอยู่นาน”


คติธรรมของหลวงปู่ที่ว่า ความดีสิคงทน นั่นหมายความว่า ให้ทุกคนสร้างความดี เพราะความดีเป็นสิ่งที่ไม่ตายทั้งปัจจุบันและอนาคต ส่วนคำที่ว่า “ความจนสิอยู่นาน” นั่นหมายถึง คนที่จนปัญญา ไม่รู้จักแสวงหาใส่ตัวก็เป็นคนจนตลอดไป

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หนังสือชีวประวัติ, วัตรปฏิบัติ, ปฏิปทา, และปาฏิหาริย์ หลวงปู่สี ฉันทสิริ เล่มที่ ๑: ชนินทร์ ดีนาน (หลานหลวงปู่สี) ข้อมูล และจักรภพ เจริญรัตน์ เรียบเรียง. หน้า ๗๔-๗๕, ๘๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๒

ที่แท้ – ก็ใบลานเปล่า

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

(วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) จ.สุราษฎร์ธานี)

1.png



ใคร ที่เคยไปเยี่ยมชมโรงมหรสพทางวิญญาณของท่านพุทธทาสภิกขุเถระ ณ สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา ก็คงจะเคยเห็นภาพปริศนาธรรม หรือ “โกอาน” ภาพหนึ่ง ซึ่งวาดเป็นเต่าหิน บนหลังเต่าตัวนั้นมีคัมภีร์วางซ้อนกันอยู่ เห็นภาพนี้แล้วชวนให้นึกถึงสำนวน “ปีศาจคาบคัมภีร์” ขึ้นมาทันที สำนวนนี้แม้จะมี “ภูมิหลัง” ต่างกันอยู่บ้าง แต่โดยความมุ่งหมายหรือ “สาระ” ไม่ต่างกันเลย

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีซีไรต์ ศิษย์สวนโมกข์ ได้ถอดปริศนาธรรมที่ว่าเป็นกวีนิพนธ์ไว้ งานเขียนชื่อ “หญ้าหอมและดอกไม้ร่วง” ดังนี้

“เจ้าเต่าโง่ใบ้บ้าช่างน่าขำ
มีพระธรรมอยู่บนหลังยังเง่างี้
ใครจะโง่กว่าใครดูให้ดี
ใครกันที่สงบได้อยู่ในตัว”


แม้จะต่างกาลเทศะกันสักหน่อย แต่สาระแห่งธรรม ยังล้ำลึกสมัยอยู่เสมอ

ในครั้งพุทธกาล พระมหาเถระรูปหนึ่ง เป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎก มีลูกศิษย์ลูกหาในสำนักหลายร้อยคน เธอเกิดความหยิ่งถือตัว เพราะมัวเมาในความเป็นพหูสูตและกิตติคุณของตนเอง แม้จะมีศิษย์หามากมาย สอนคนให้ตรัสรู้ธรรมมาแล้วนับไม่ถ้วน แต่กระนั้นตัวเองก็ไม่เคย “ลิ้มรสธรรม” ด้วยตนเอง ได้แต่บำเพ็ญตนเป็น “ป้ายบอกทาง” หรือ
“ฉลากข้างขวด”

จำเนียรกาลผ่านไป เมื่อสมโอกาสได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นว่า ขืนปล่อยให้ท่าน “เจ้าสำนัก” หลงตัวเองต่อไปแบบนี้ไม่ได้การแน่ ตั้งแต่นั้นมาเมื่อเธอเข้าเฝ้า พระโอวาทพระองค์จึงตรัสปฏิสันถารแปร่งๆ หูว่า

“มานี่สิ ท่านใบลานเปล่า”
“เชิญนั่งทางนี้ ท่านใบลานเปล่า”
“อ้าว จะกลับแล้วหรือ ใบลานเปล่า”


ได้ฟังแบบนี้ทุกครั้งที่พาศิษย์เข้าเฝ้าหา พระผู้เฒ่าก็ชักสงสัย ทำไมจึงตรัสกะเราว่า ใบลานเปล่าอยู่เรื่อย เรื่องนี้เห็นทีไม่ธรรมดาแน่ ตรองอยู่ไม่กี่อึดใจ ท่านเจ้าสำนักก็แจ้งจางปาง

“ชะรอยจะทรงทราบว่าเราว่างเปล่าจากมรรคผลเป็นแน่ อนิจจา หลงเป็นทัพพีเสียนมนาน” พลันที่มองเห็นตนเองเป็นเสมือนทัพพี ท่านก็วิ่งเจ้นยื่นใบลาออกจากเจ้าสำนัก และตั้งแต่นั้นมาก็เที่ยวตะลอนไปทั่ว นัยว่าจะตั้งหน้าเรียนกรรมฐานสถานเดียว แต่คำตอบคือ

“อาจารย์ พวกกระผมไม่บังอาจสอนอาจารย์หรอก”
“โอ อาจารย์ อย่าให้พวกกระผมบาปมากไปกว่านี้เลย”
“อาจารย์ ท่านพูดอะไรน่ะ ท่านเป็นถึงเจ้าสำนักใหญ่ อะไรๆ ที่อาจารย์ไม่รู้มีหรือพวกกระผมจะล่วงรู้”


คนแล้วคนเล่าที่ท่านผู้เฒ่าซอกซอนไปหา ต่างให้คำตอบคล้ายๆ กัน นั่นคือไม่มีใครริบังอาจ “สอนหนังสือสังฆราช” กระทั่งสุดท้าย ท่านตรงดิ่งไปหาสามเณรน้อยคราวเหลนรูปหนึ่ง อายุเพิ่งเจ็ดขวบแค่นั้นเอง แต่ขอโทษเถอะ เธอมิใช่สามเณรก.ธรรมดาๆ หากคือเณรน้อยอรหันต์ทีเดียว

ยังมีอะไรอีกที่พระอรหันต์ไม่รู้ เพราะฉะนั้น….
“หลวงตาแก่รูปนี้ ทะนงตนว่ารู้มาก เป็นเจ้าสำนักใหญ่ ศิษย์หามากมายทั่วยุทธภพ ฉะนี้นี่เล่าถึงได้เป็นหลวงตาเฒ่าแบกคัมภีร์ไปวันๆๆ ได้การละ”


เณรน้อยชี้ให้หลวงตาห่มจีวรอย่างดี จากนั้นสั่งให้ลุยน้ำ หลวงตาใจถึง ไม่บ่นสักคำ เดินเทิ่งๆ ลงน้ำอย่างสงบ และอีกสารพัดที่เณรสั่งให้ทำ หลวงตาไม่อุทธรณ์เช่นกัน สุดท้ายเณรน้อยให้ “โกอาน” ไปข้อหนึ่งเป็น “การวัด”

“มีจอมปลวกอยู่แห่งหนึ่ง มีรู ๖ รู เหี้ยวิ่งเข้าไปหลบอยู่ในรูหนึ่ง ท่านจงปิดรูทั้ง ๕ เสีย แล้วจงรอจับเหี้ย ณ รูที่หก”

ไอคิวระดับ “เจ้าสำนัก” ฉายา “พระไตรปิฎกเคลื่อนที่” ฉะนี้ก็ไม่ต้องคิดให้มากความ พอจบปริศนาท่านก็บรรลุ “ซาโตริ” สว่างโพลง ยกระดับตนเองเป็น “พระอรหันต์” คนหนึ่งในโลกทันที

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ท่านพุทธทาสภิกขุ. โลกลี้ลับ ๑๔๑ ปีที่ ๑๓ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๙: ว.วชิรเมธี เรียบเรียง. หน้า ๖๐-๖๑.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๑

ความสำเร็จ

พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)

(วัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) จ.สุราษฎร์ธานี)

1.png



“…เมื่อประสบความสำเร็จ สิ่งแรกก็คือดีใจจนลืมตัว และโง่ลงในบางอย่างสำหรับจะประมาทหรือสะเพร่าในอนาคต ความสำเร็จ เป็นครูที่ดีน้อยกว่า ความไม่สำเร็จ แต่มีเสน่ห์จนคนทั่วไปเกลียดความไม่สำเร็จ

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ เราจะได้อะไรที่มีค่ามากกว่าความสำเร็จไปเสียอีก แต่คนทั่วไปมองในแง่ลบ เห็นเป็นความเสียหาย และเกิดทุกข์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก เป็นโชคร้ายไปเสียโน่น

ถ้าต้อนรับความไม่สำเร็จอย่างถูกต้อง มันจะมอบความรู้ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จถึงที่สุดในกาลข้างหน้า จนกลายเป็นผู้ทำอะไรสำเร็จไปหมด…”

ส่วนหนึ่งของข้อเขียนปูชนียบุคคล “ท่านพุทธทาส” ซึ่งแสดงไว้ในห้องนิทรรศการเกี่ยวกับ “ชีวิตผลงานท่านพุทธทาส” ณ อาคารคณะธรรมทาน ที่ตั้งอยู่หน้าประตูด้านทิศใต้ของวัดธารน้ำไหล

ในพระสูตรหนึ่งที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ในเรื่องความปรารถนาของมนุษย์ที่จะทำให้สำเร็จสมหวังได้ยาก ๔ ประการ คือ

ขอให้สมบัติจงเกิดจงมีแก่เราในทางที่ชอบ
ขอยศจงมีแก่เราและญาติพี่น้อง
ขอให้เราเป็นผู้อายุยืนนาน
เมื่อตายจากโลกนี้ไป ขอให้เราได้ไปเกิดในสวรรค์


ความปรารถนาทั้ง ๔ ข้อที่กล่าวมานี้ จะสมหวังได้ มิใช่ด้วยเหตุเพียงปรารถนาอ้อนว้อน มิได้ทำอะไรเลย หรือทำอะไรที่ไม่ตรงเหตุ ผลย่อมไม่บังเกิด ความสำเร็จในชีวิตย่อมเกิดจากการวางแผนที่ดี มิใช่ทำเหตุเพียงเล็กน้อยแต่หวังผลไว้สวยหรู

ถ้าเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่มีค่าแล้วได้มาง่ายๆ ก็จะไม่หมดกำลังใจ อยากได้ผลอย่างไร ควรสร้างเหตุให้เกิดผลอย่างนั้นด้วยความอุตสาหะพยายามอย่างเต็มที่

ในโลกนี้…….ไม่มีอะไรฟรี!

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • ท่านพุทธทาสภิกขุ. พรหมปัญโญบูชา: เมธา พรพิพัฒน์ไพศาล เรียบเรียง, ๒๕๔๑. หน้า ๑๐๓-๑๐๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

อาสาฬหบูชาเทศนา


แสดง ณ สวนโมกขพลาราม ไชยา
๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๒


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ (๓ จบ)
ปวตฺติตํ ภควตา ธมฺมจกฺกํ อปฺปติวตฺติยํ
สมเณน วา เทเวน วา พฺรหฺมุนา วา
เกนจิ วา โลกสมิญฺจิตีติ
ธมฺโม สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


๖. การเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง

1.png


      

        ณ บัดนี้ อาตมาจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา-ความเชื่อ วิริยะ-ความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย จนกว่าจะยุติลงด้วยความสมควรแก่เวลา

       ธรรมเทศนาในโอกาสนี้ ท่านทั้งหลายก็ทราบได้เป็นอย่างดีแล้วว่า ปรารภอาสาฬหบูชา ซึ่งเวียนมาครบรอบแต่ละปีๆ วันนี้เราจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา เพื่อให้สำเร็จประโยชน์เต็มหรือมากเท่าที่จะมากได้ จึงต้องทำความเข้าใจแก่กันและกันก่อน
ดังนั้นธรรมเทศนานี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่กิจการนั้น

ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดีๆ การกระทำก็จะมีประโยชน์จริงหรือคุ้มค่าของเวลา ซึ่งท่านทั้งหลายเป็นอันมากมาจากที่ไกล ถ้าไม่ได้อะไรคุ้มกัน มันจะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดู มันน่าเวทนาหรือว่าน่าสงสาร น่าหัวเราะน่าอะไรไปตามเรื่อง จึงขอให้สนใจพิเศษ ให้สำเร็จประโยชน์ คือให้ได้อะไรที่คุ้มกันกับการมา

ข้อแรก เราประกอบพิธี เป็นการต้อนรับกิจกรรมที่มีในวันอาสาฬหปุณณมี เช่นวันนี้ คือ เป็นวันที่พระพุทธองค์ประกาศพระธรรมจักรให้เป็นไปในโลก ซึ่งไม่มีใครต้านทานได้ จะเป็นสรณะหรือเป็นพราหมณ์ เป็นเทวดาเป็นพรหม เป็นอะไรที่ไหนก็สุดแท้ทั่วไปในจักรวาลนี้ ไม่มีใครต้านทานได้

ข้อนี้ก็น่าจะรู้เหมือนกัน ทำไมพระบาลีจึงว่า ไม่มีใครต้านทานได้ ก็เพราะว่าเป็นความจริง เป็นความจริงที่ยิ่งพิสูจน์ยิ่งเห็นจริง ยิ่งพิสูจน์ผู้พิสูจน์ก็ยิ่งพ่ายแพ้แก่ความจริง และตามความเป็นจริงนั้น มันก็มีอยู่ว่า มีสมณะหรือพราหมณ์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเป็นอันมาก มีอยู่ในประเทศอินเดียในสมัยนั้น ซึ่งพร้อมที่จะคัดค้านต้านทานอยู่เสมอ พระพุทธองค์ก็ได้ทรงอุบัติขึ้นมา เพื่อสอนธรรมะอันใหม่แปลกไปจากเดิม

ถ้ากล่าวโดยสรุป ท่านทั้งหลายควรจะจำไว้สั้นๆ ว่า ลัทธิของเดิมนั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า อาตมัน ได้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร จนรู้ดีรู้ชั่ว พ้นออกไปได้จากดีจากชั่วเหมือนกัน แล้วก็ไปอยู่เป็นตัวตนนิรันดร จำไว้ตรงนี้ มันไปอยู่เป็นตัวตนนิรันดร

ส่วน พระพุทธองค์ ได้ทรงอุบัติขึ้นมาแล้ว ตรัสสอนอย่างเดียวกันแหละ แต่ไม่มีอัตตาดอก มีแต่จิต จิตเท่านั้นแหละ จิตนี้เป็นผู้รู้สิ่งทั้งปวง จนไม่ยึดดียึดชั่ว ไม่ติดอยู่ในดีในชั่ว หลุดพ้นจากดีจากชั่วเหมือนกันแหละ แต่แล้วมันกลายเป็นความว่างนิรันดร


ฝ่ายโน้น ฝ่ายพราหมณ์ ฝ่ายฮินดู ไรก็ตาม เขาไปจบกันที่ตัวตน มีตัวตนนิรันดร ฝ่ายพุทธนี้มีจุดจบว่า ว่างนิรันดร ว่างจากกิเลส ว่างจากความทุกข์ ว่างจากตัวตน ว่างจากปัญหาทั้งหลายทั้งปวง จิตเข้าถึงความว่างนิรันดร จุดจบมันต่างกันอย่างนั้น จำไว้ง่ายๆ ก็จะไม่ต้องเถียงกัน อันหนึ่งมันไปสู่ตัวตนนิรันดร อันนี้มันไปสู่ความว่างนิรันดร

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสอย่างนี้ เอ้าใครจะค้านก็ค้าน มันก็ปรากฏว่าไม่มีใครค้าน แต่ที่ท่านตรัสนี้ ตรัสเรื่องอริยสัจจ์ ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก ไม่ต้องพูดเรื่องตายแล้วหรือหลังตายแล้วหรือก่อนตาย ไม่ต้องพูดดอก ว่าแต่มันไม่มีทุกข์โดยประการทั้งปวง เมื่อดำรงชีวิตอยู่ในหลักธรรมอันนี้ คืออริยมรรคมีองค์แปดนี้ ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความทุกข์โดยประการทั้งปวงแล้วก็เลิกกัน เรียกว่าไม่มีตัวตนเหลืออยู่นิรันดรอะไรสำหรับจะยึดมั่นถือมั่น นี่ความต่างกัน


เมื่อธรรมจักรของพระองค์ประกาศออกไปว่าอย่างนี้ ก็ไม่มีลัทธิไหน คณะไหน ศาสดาไหน จะคัดค้านได้ ตามบาลี อปปติวตฺติยํ คือให้ถอยกลับอันนี้ออกไป แล้วก็ไม่มีอะไรตีโต้ให้ถอยกลับได้นี่ บาลีว่าอย่างนี้ พระพุทธองค์ได้ประกาศธรรมจักรออกไปแล้ว ไม่มีใครตีโต้ให้ถอยกลับได้ ไม่ว่าพวกนั้นจะเป็นสมณะ เป็นพราหมณ์เป็นเทพ เป็นพรหม เป็นอะไรก็สุดแท้ ใจความสำคัญของวันอาสาฬหปุณณมี คือวันเพ็ญเช่นวันนี้มีอย่างนี้

พระองค์ประกาศธรรมจักรเหมือนกับประกาศอาณาอำนาจ แต่เป็นอำนาจทางจิตวิญญาณ มันเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญสำหรับคนมีปัญญา คนโง่ก็ไม่มีความหมายอะไรดอก มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นสำหรับคนโง่ แต่มันมีความหมายมากสำหรับคนมีปัญญา ว่าต่อไปนี้จะชนะความทุกข์ถึงที่สุด


พูดกันตรงๆ อย่างลับหลังไม่เกรงใจก็พูดว่า เขาไปจบอยู่ที่ตัวตนถาวรนิรันดร มันก็มีตัวตนถาวรนิรันดร นั่นแหละที่อยู่เป็นภาระ เดี๋ยวนี้เราเลิก ไม่มีตัวตน ไปตั้งแต่ต้น มีแต่จิตหลุดพ้น สู่ความว่างถึงที่สุด ว่างจากกิเลส ว่างจากทุกข์ ว่างจากตัวตน ว่างจากปัญหา ว่างจากอะไรทุกอย่าง แล้วก็เรียกว่า นิพพานๆ ถึงได้ตั้งแต่ยังไม่ตาย แล้วก็ไม่ต้องตายก็ถึงได้ ครั้นถึงแล้วก็ไม่ต้องตาย ถึงความว่างจากตัวตนนี่

หลักเกณฑ์อย่างนี้ คำสอนอย่างนี้ ยังไม่มีใครสอน ก่อนหน้าโน้นไม่ได้สอนกันถึงขนาดนี้ แม้คำสอนที่ว่าหลุดพ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้ายังหลังไปกว่านั้น ก่อนโน้นก็มีไปตามเรื่องของเขา เชื่ออะไรก็เคารพบูชาบวงสรวงอ้อนวอนสิ่งเหล่านั้นเป็นพวกๆ ไป

จะยกตัวอย่างอีกสักข้อหนึ่ง ที่ว่าก่อนนี้ ก่อนพระพุทธเจ้าเกิดมานี่ ในอินเดียเขาก็สอนเรื่องนรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้ากันอยู่ตลอดเวลา และเป็นที่เชื่อถือกันทั่วๆ ไป ในหมู่ประชาชนทั้งหลาย เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านเกิดขึ้นในหมู่คนที่เขาเชื่อกันฝังหัวแน่นแฟ้นอย่างนี้ ท่านก็ไม่คัดค้าน ไม่ไปยกเลิกให้มันป่วยการ ใช้สำนวนนั้นไปด้วยกันว่า


ทำดี ตายแล้วไปสุคติโลกสวรรค์ ทำชั่ว ตายแล้วไปทุคติวินิบาตนรก ก็พูดอย่างนี้ ไม่ต้องไปเถียงกันว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้าจริงหรือไม่ ไม่พูด ไม่ต้องพูด เรื่องนี้ไม่ต้องพูด ต่อมาวันหนึ่ง จะเรียกว่าวันดีคืนดีก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สฬายตนิกนิริยา มยา ทิฏฐา - นรกเป็นไปทางอายตนะทั้ง ๖ ฉันเห็นแล้ว มยา ทิฏฐา แปลว่า ฉันเห็นแล้ว สฬายตนิกสคฺคา มยา ทิฏฐา - สวรรค์เป็นไปในทางอายตนะทั้ง ๖ ฉันเห็นแล้ว

นี่ลองคิดดูซิ มีความหมายที่สำคัญพิเศษอยู่อย่างหนึ่งว่า พระพุทธเจ้านั้น ท่านไม่ได้กล่าวคำคัดค้านขัดแย้งแก่ใครๆ เขาจะว่าอย่างไรก็ไม่คัดค้าน ไม่ขัดแย้ง แต่ตัวเองจะต้องการพูดออกไป ในลักษณะที่ไม่ต้องคัดค้าน ไม่ขัดแย้ง พุทธบริษัทนอกรีตน่ะ ชอบค้านกัน ชอบขัดแย้งกัน ชอบคัดค้านกัน ทะเลาะกันเองนี่ ไม่ต้องพูดถึงกับพวกอื่นดอก แม้แต่ในพวกกันเองก็ยังคงคัดค้านกัน ไม่เอาอย่างพระพุทธเจ้า จะไม่กล่าวคำขัดแย้งกับใครๆ

นี่มาดูว่า เขาพูดกันอยู่ว่า นรกอยู่ใต้ดิน สวรรค์อยู่บนฟ้า ก็ตามใจ ท่านบอกว่า มันอยู่ที่อายตนะ แล้วฉันก็เห็นแล้วด้วย ท่านก็อธิบายไปตามที่จะเป็นอย่างไร คือว่าเมื่อมันทำผิด มีผัสสะผิด เวทนาผิด อะไรผิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นนรกขึ้นมาที่นั่น เวลานั่น ที่นั่น เดี๋ยวนั้น แก่บุคคลนั้น ตามสมควรแก่ที่ทำผิด ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว สวรรค์ก็เหมือนกัน เมื่อปฏิบัติถูกต้องในขณะแห่งผัสสะเวทนาแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์ดอก มันยิ่งพอใจ เป็นสวรรค์อยู่ที่นั่น


แม้แต่อย่างนี้เท่านี้ เรื่องว่าเพียงเท่านี้ ก็ไม่มีใครคัดค้านหรือขัดแย้งกันได้ เพราะมันเห็นอยู่ด้วยตำตา เห็นอยู่ด้วยตา ว่าผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นนรก ถูกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสวรรค์ ไม่ต้องเชื่อใคร นี่เขาเรียกว่าเชื่อตนเอง ตามหลักกาลามสูตร ขอร้องว่าให้ช่วยกันศึกษาให้ดีๆ มีประโยชน์มาก

นี้ขอโอกาสพูดเรื่องส่วนตัวสักหน่อยนะ มันเกี่ยวข้องกัน อาตมาบอกว่า นรกมันอยู่ที่เมื่อมันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง สวรรค์มันอยู่เมื่อชอบใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ พูดให้ใกล้เข้ามาอีก คือความหมายก็ไม่ต่างจากที่พระพุทธเจ้าดอก เมื่อมันเกลียดน้ำหน้าตัวเอง มองดูตัวเองแล้ว มีแต่สิ่งที่น่าเกลียด มันก็เป็นนรกขึ้นมาทันที ที่นี่และเดี๋ยวนี้ พอมองดูตัวเองแล้วพอใจ ถูกต้อง ยกมือไหว้ตัวเองได้ มันก็เป็นสวรรค์ขึ้นมาทันที


แต่มีคนเขียนจดหมายมาด่าว่า ท่านพุทธทาสเป็นมิจฉาทิฏฐิ ยกเลิกนรก ยกเลิกสวรรค์ เขียนด่าตามหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับก็มี คิดดูซิ นี่เรียกว่ามันยังต่างกัน แต่มันจริงหรือไม่จริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครจะชอบอย่างไร ก็ตัดสินใจเอาเองว่านรกอยู่ที่ไหน? มันจะอยู่ที่นรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า หรือว่าอยู่ที่อายตนะถูกหรือผิด หรือว่าเมื่อมันพอใจตัวเอง หรือเมื่อมันเกลียดตัวเอง นี่เป็นตัวอย่างของคำว่า อันใครๆ ต้านทานให้หมุนกลับไม่ได้

สรุปความว่า นรกของผู้มีปัญญา มันอยู่ในอกในใจ ของคนโง่มันก็อยู่ใต้ดิน อยู่บนฟ้า ไกลลิบ ได้กันต่อตายแล้วโน้น ส่วนนรกสวรรค์ของผู้มีปัญญานั้น มันอยู่ในอกในใจ ได้กันที่นี่เดี๋ยวนี่ และทันทีที่ทำอย่างนั้น ที่เป็นอย่างนั้น

นี่มันก็คงจะช่วยได้บ้าง ให้พุทธบริษัทเรารู้กันขึ้นมาว่า พุทธศาสนานี้เป็นอย่างไร กล่าวไปตามหลักพุทธศาสนามันก็ไม่ถูกไม่ตรงกัน แต่ว่าไม่กล่าวอย่างให้ขัดแย้งหรือทะเลาะกัน กล่าวไว้เอาเอง ชอบใจอย่างไหนก็เอาอย่างนั้น นี่เป็นตัวอย่างของคำว่า ปวตฺติตํ อปฺปติวตฺติยํ สมฺเณน ว่าประกาศไปแล้ว ไม่มีใครต่อต้านได้ในโลกทั้งจักรวาลนี้

นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญที่พุทธบริษัท จะต้องนำเอามาทำไว้ในใจ แล้วก็จะสำเร็จประโยชน์ต่อไป คือดับทุกข์ของตนได้ แล้วก็บูชาความประเสริฐความมีประโยชน์ที่สุด สำหรับสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสในวัน
อาสาฬหบูชาในวันนี้ คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วน่าบูชาอย่างยิ่ง

ก็คือ เป็นการประกาศชัยชนะของมนุษย์ที่พ่ายแพ้แก่ความทุกข์ตลอดมา เดี๋ยวนี้มีธัมมจักรชนิดที่ทำลายความทุกข์นั้นได้ แล้วยังมีส่วนที่ว่าสูงสุดขึ้นไปจนถึงที่สุด ไม่มีใครจะบัญญัติคำสอนใดๆ ให้สูงขึ้นไปกว่านี้ได้ มันสูงสุดอย่างนั้น นี่เรียกว่าควรบูชา

เพราะฉะนั้น เราจึงทำการบูชากัน ไม่ใช่หลับหูหลับตาบูชา เป็นพิธีรีตอง สนุกสนาน สรวลเฮฮา อย่างนั้นไม่ถูกไม่เป็นพุทธบริษัทดอก ต้องบูชาด้วยความรู้ถูกต้องพอใจถือเอาเป็นสรณะ จึงจะเรียกว่าบูชาที่แท้จริง เราต้องทำใจให้ถูกต้อง คือเข้าใจเรื่องนี้ พอใจเรื่องนี้ แล้วจึงจะเป็นการบูชา นี้เป็นข้อแรกที่ต้องทำความเข้าใจ

ทีนี้ ข้อถัดมาที่จะบอกให้ทราบว่า วันนี้คือวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระธรรม โดยเรียงลำดับว่า วันวิสาขบูชา เป็นวันพระพุทธเจ้า กำหนดไว้ว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า วันนั้นเป็นวันพระพุทธเจ้า


ครั้นมาถึงวันนี้ คือ วันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันพระธรรม คือวันที่พระพุทธองค์ได้ประกาศธรรม ออกมาเป็นครั้งแรกในโลก จนได้นามว่า ปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระธรรมได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาในโลก ในลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างจากที่เขาเคยรู้กันมาก่อน หรือกำลังรู้กันอยู่ มันมีของแปลกของใหม่ออกมา นี่คือตัวธรรมะที่แสดงออกมา

เราไม่ต้องเชื่อตามใครดอก เรามีเหตุผลของเราเอง ที่จะถือว่า วันนี้เป็นวันพระธรรม เป็นวันที่พระธรรมปรากฏออกมาแสดงธัมมจักร เสร็จแล้วมีผู้มีดวงตาเห็นธรรมเพียงองค์เดียว จะเรียกว่าวันพระสงฆ์อย่างไรได้ ใครจะเรียกว่าวันพระสงฆ์ก็ตามใจเถอะ อาตมาเห็นว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม เพราะพระธรรมได้ปรากฏออกมา

ควรจะสนใจ ในสิ่งที่เรียกว่าพระธรรม อันเป็นความหมายสำคัญของคำๆ นี้ คือคำว่าพระธรรม ดูกันโดยทั่วไปในชั้นแรกก็ว่า พระธรรมได้ทำให้เกิดพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายขึ้นมา พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานเกิดขึ้นในโลก นั้นก็เพราะพระธรรม เพราะรู้ธรรม เพราะตรัสรู้ธรรม บรรลุธรรม เปลี่ยนแปลงไปตามธรรม นี่เรียกว่าพระธรรมได้ทำให้เกิดพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์

พระธรรมนี้ ยังเป็นทางมาแห่งความสงบสุข สันติสุขในโลก ทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม ถ้ามีธรรมะอยู่ก็จะมีสันติสุข ทั้งส่วนบุคคลและส่วนสังคม ถ้ามีธรรมะอยู่ก็จะมีสันติสุข ไม่ต้องเชื่อใคร ไปลองดูด้วยตนเอง ลองปฏิบัติธรรมมีธรรมะ ก็ปรากฏแก่ตนเองว่ามีสันติสุข นี่เป็นใจความสำคัญของคำว่าธรรม

ในลัทธิอื่นอีกหลายลัทธิ เขาก็มีพระธรรมเหมือนกันแหละ ก็มีความสุขตามแบบนั้น แต่เราไม่ชอบใจ เราชอบใจพระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และถือว่าให้ได้บรรลุความสุขที่สมบูรณ์แท้จริงหรือสูงสุด อย่าเขลาไปนะ ว่าพระธรรมมีใช้แต่ในพุทธศาสนา เหมือนที่สอนในโรงเรียน ในโรงเรียนหลับตาสอนเด็กๆ ว่า ธรรมะ คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หารู้ไม่ว่าลัทธิอื่น ศาสนาอื่นเขาก็เรียกพระธรรมเหมือนกันแหละ เขาเรียกธรรมตามแบบของเขา

แล้วธรรมะๆ นี้ มีในคำพูดของมนุษย์ก่อน ก่อนศาสนาเกิดขึ้นมา เมื่อคนๆ หนึ่ง เขาได้มองเห็นสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่ หน้าที่นี้จำเป็นสำหรับชีวิต เขาเรียกมันว่า ธรรมะ ธรรมคือหน้าที่ เขาเอาคำธรรมะไปใช้ เพราะคำว่าธรรมะมีความหมายว่า ยกขึ้นไว้ ชูขึ้นไว้ ไม่ให้พลัดตกลงไป คำๆ นี้ มันมีความหมายอย่างนั้น


เอาคำนี้มาเรียกสิ่งที่เขาสังเกตเห็นใหม่ คือหน้าที่ ใครมีหน้าที่ หน้าที่ก็จับยึดขึ้นไว้ไม่ให้ตกลงไปในความทุกข์ ก็เรียกว่า ธรรมะ บอกกันเรื่อยๆ จนมาสูงขึ้นๆ เป็นลัทธิศีลธรรมลัทธิศาสนา จนเป็นคำสูงสุดในพระพุทธศาสนา สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์สิ้นเชิง สูงสุดสิ้นเชิง ธรรมะคือสิ่งที่ทำให้เกิดสันติสุข

มาเดี่ยวนี้ก็อยากจะชี้ให้เห็นว่า ธรรมะนั่นแหละคือตัวชีวิต ขาดธรรมมันต้องตาย คือขาดหน้าที่ ขาดหน้าที่แล้วมันต้องตาย ไม่ทำหน้าที่ มือ ตีน แขน ขา ไม่ทำหน้าที่ ตับ ไต ไส้พุง ไม่ทำหน้าที่มันก็ตายแหละ หรือว่าตัวเซลล์ทั้งหลายที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตนี้มันหยุดทำหน้าที่ มันก็ตายวูบเดี๋ยวนั่นแหละ มันอยู่ได้ด้วยการที่สิ่งทั้งปวงมันทำหน้าที่ ทำหน้าที่ธรรมคือ หน้าที่เป็นชีวิต เป็นคู่ชีวิต อยากจะให้ถือกันอย่างนี้ว่า ธรรมะเป็นคู่ชีวิต

คู่ชีวิตอย่างคู่ผัวตัวเมีย แยกกันอยู่สัก ๓ เดือน ก็ไม่ตายดอก แต่คู่ชีวิตคือธรรมะ คือหน้าที่นี้ หยุดเดี๋ยวเดียวก็ตาย อย่างเซลล์ทั้งหลาย พอหยุดทำหน้าที่ก็ตาบวูบเดียววินาทีเดียว นี้ใครเป็นคู่ชีวิตกันแน่ หมายความว่า ต้องมีอยู่กับชีวิต ชีวิตจึงจะมีอยู่ สิ่งนั้นแหละคือคู่ชีวิต ฉะนั้นคู่จากชีวิตอย่างยิ่งก็คือธรรมะ ออกไปชีวิตก็ตายทันที ควรจะรู้จักไว้ในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็ทำให้มีธรรมะ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ตลอดเวลา นี่ธรรมะๆ อย่าทำเล่นกับธรรมะ

เอ้า ทีนี้มันยังมีพิเศษว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม อย่างนี้ผู้ใดไม่เห็นธรรม แม้จะจับจีวรของเราถือไว้ไปไหนไปด้วยกัน จับจีวรไว้ไม่ปล่อยก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นเรา ถ้าเขาไม่เห็นธรรม ต่อเมื่อเขาเห็นธรรม จึงจะเห็นเรา ไม่ต้องจับจีวร อยู่ที่ไหนด้วยกัน อยู่กันคนละยุคคนละสมัยก็ได้ เช่นเดี๋ยวนี้ เห็นธรรมเถอะ จะชื่อว่าเห็นพระพุทธองค์ นี่มันมีความสำคัญอย่างนี้ ว่าต่อเมื่อเห็นธรรม จึงจะเห็นพระพุทธองค์ ไม่มีธรรมก็คือไม่มีพระพุทธองค์ ไม่มีอะไรมาช่วยดับทุกข์

ทีนี้ ธรรมคืออะไร ธรรมนั้นคืออะไร? มีตรัสไว้ในพระบาลีแห่งอื่นว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อนั้นชื่อว่าเห็นธรรม ไม่จำกัดว่าที่ไหนเมื่อไร เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วก็เห็นธรรม

อะไรคือปฏิจจสมุปบาท? คำนี้ตามตัวหนังสือมีใจความว่า อาการที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นมา อาการที่อาศัยกันแล้วดับลงไป ฟังให้ดี กิริยาอาการที่มันอาศัยซึ่งกันและกันแล้วเกิดขึ้น หรือเมื่อจะดับ อาศัยซึ่งกันและกันแล้วก็ดับลง อาการนี้เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ผู้ใดเห็นอาการนี้ ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ชื่อว่าเห็นธรรม มันก็เลยไปเข้ากับบทต้นว่า เห็นธรรมคือเห็นพระองค์ เห็นพระองค์คือเห็นธรรม ดังนั้นการเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละ คือเห็นพระองค์โดยแท้จริง

ดูให้ดี ฟังให้ดี บางทีจะมีประโยชน์ที่สุดก็ได้ เมื่อเหลือบตาไป มองเห็นอาการที่มันอาศัยกันเกิดขึ้น อาการที่อาศัยกันแล้วดับลงไปในสิ่งใด ก็ให้เห็นสิ่งนั้นโดยชัดเจน โดยประจักษ์ ก็ชื่อว่าเห็นปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นการเห็นธรรม และได้เห็นพระองค์ มันเห็นได้ทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา แต่ว่าที่มันไม่เห็น ก็เพราะว่ามันโง่ ตามันไม่ลืม ไม่ลืมตา หรือคือมันไม่เข้าใจนั่นแหละ

จะเห็นว่าธาตุหลายๆ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อาศัยกันเกิดขึ้น เป็นรูปร่างอะไรขึ้นมา แล้วแยกกันก็ดับไป อย่างนี้ก็ได้ แล้วที่มันใกล้ชิดหน่อยก็ว่า ตากับรูปอาศัยกันเกิดจักษุวิญญาณ แล้วผัสสะมันก็เกิดขึ้นมา หรือว่าจะเห็นให้ละเอียดง่ายๆ อย่างที่วิทยาศาสตร์เขาสอนกัน ธาตุหลายธาตุมาประชุมกันเข้าแล้ว มันก็เกิดขึ้นมา เช่น ธาตุ ๒ ธาตุ อาศัยกันแล้วก็เกิดเป็นน้ำขึ้นมา หรือว่าเกิดเป็นไฟขึ้นมา

และให้เห็นว่ามีอยู่ในที่ทั่วไป เห็นได้ในที่ทั่วไป เดี๋ยวนี้คุณจะมองไปทางไหน ดูไปที่ใบไม้ มันก็มีอะไรอาศัยกัน อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นเป็นใบไม้อยู่ ถ้าไม่ได้อาศัยกันแล้ว ก็มันไม่เป็นใบไม้ขึ้นมา แล้วมันจะอาศัยกันดับลงไปหล่นลงไป ที่เปลือกไม้ก็ดี นี่เรียกว่าโดยทั่วไป แต่มันก็ไม่เห็นใช่ไหม มันไม่เห็นอาการอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง เห็นเป็นเที่ยง เที่ยงแท้แน่นอนตายตัวอยู่ที่ตรงนั้นเลย กลายเป็นโง่ ว่าเป็นของเที่ยงแท้อยู่ตลอดเวลาไปเสียอีก


แทนที่จะเห็นว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดูไปที่ต้นไม้ต้นนั้น คุณเห็น อ้าว มันก็อยู่อย่างนั้นคงที่ตายตัวอยู่อย่างนั้น นี้มันไม่เห็น ถ้ามันเห็นว่าทุกๆ ส่วน ทุกๆ เซลล์ ทุกๆ อะไรของต้นไม้นั้น มันมีการอาศัยกันเกิดขึ้นอาศัยกันดับลง คือความเปลี่ยนแปลง เพราะมีความเปลี่ยนแปลง มันจึงกว้างขวางออกไปได้ เซลล์นี้ดับไป เกิดเซลล์ใหม่ใหญ่กว่ามากกว่า ต้นไม้ก็ใหญ่โตออกไป

แม้ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต มันก็อาศัยกันเกิดขึ้นเป็นสิ่งใหม่แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป ต้องอาศัยกันหน่อยในสิ่งที่ไม่มีชีวิตศึกษาอย่างวิทยาศาสตร์ ธาตุทั้งหลาย อย่างโบราณก็ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประสมกันก็เปลี่ยนรูปเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ออกมา แล้วก็สลายแยกกัน ถ้าได้วิญญาณธาตุ อากาศธาตุ เข้าไปผสม เลยกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ธาตุทั้ง ๔ ก็เกิดวัตถุล้วนๆ ธาตุทั้ง ๖ ก็เกิดสิ่งมีชีวิต แล้วรวมกันเป็นคนก็ได้ เป็นสัตว์ก็ได้ เป็นต้นไม้ต้นไร่ก็ได้ บรรดาสิ่งที่มีชีวิต

ใครสามารถหลับตา แล้วเห็นความเปลี่ยนแปลง ปรุงแต่งของสิ่งเหล่านี้ ของธาตุเหล่านี้ ปรุงแต่งกันอยู่เป็นสิ่งที่มีชีวิต พรึบไปหมด สะพรั่งทั่วไปหมด ไปหมดทั้งโลกทั้งจักรวาล นั่นแหละเรียกว่าเห็น เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ เห็นอาการที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วดับลง


มันแปลกหน่อย ที่ว่าต้องหลับตา เห็นง่ายกว่าลืมตา ลืมตามันเห็นไปเสียทางหนึ่ง อาจจะโง่จะผิดก็ได้ เห็นตายตัวอยู่อย่างนั้น เที่ยงแท้อยู่อย่างนั้น ถ้าหลับตาแล้ว มองเถอะ จะค่อยๆ เห็นว่า มัน โอ้ เปลี่ยนแปลงจริง อาศัยกันเกิดของใหม่ คือของเก่าดับของใหม่เกิดอย่างนี้ อย่างนี้เรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ช่วยจำไว้ให้ดีเถอะ มีประโยชน์ที่สุดแหละ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นสิ่งนี้คือเห็นพระพุทธเจ้า

เดี่ยวนี้เราไม่เห็นพระพุทธเจ้า ก็คือไม่เห็นสิ่งนี้ แม้ที่สุดแต่ว่าในของที่ใกล้ตัวเรา อาหารการกินที่เราบริโภคนี้ มันก็เปลี่ยนแปลงไป เข้าไปในร่างกาย มันก็เปลี่ยนแปลง ไปเกิดเป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นอะไรก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป อาศัยกันเกิดขึ้นอย่างนี้ อาศัยกันดับลงอย่างนี้ เดี๋ยวก็ถ่ายอุจจาระปัสสาวะออกมาอะไรก็ตาม ขอให้มองเห็นอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลงอยู่ในทั่วๆ ไป

สมมติว่าเอาดินมาก้อนหนึ่ง วางไว้ตรงนั้น แล้วก็ดูอยู่ทุกวัน ก็จะเห็นว่ามันค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือ เอาดอกไม้มาดอกหนึ่งวางไว้ตรงนั้น ทิ้งไว้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจนไม่มีเหลือ อาศัยกันเกิดขึ้น เมื่อมันออกจากต้น มันออกมาเป็นดอกไม้ พอทิ้งไว้แล้ว ก็อาศัยกันดับลง เปลี่ยนแปลงไปจนไม่มีเหลือ

ข้อนี้คือความโง่สูงสุด มหาศาลที่สุด ใหญ่หลวงที่สุด ความโง่ของเราที่สุดมันก็อยู่ตรงนี้ มันไม่เห็นอาศัยกันเกิดขึ้น มันไม่เห็นอาศัยกันดับไป มันเห็นเป็นเพียง เป็นตัวเป็นตนเที่ยงแท้ เป็นตัวเป็นตนอย่างนั้นเสียเรื่อย

ในร่างกายนี้ ถ้าดูให้ดีเถอะ มันมีแต่อาศัยกันเกิดขึ้นอาศัยกันดับลง ทุกเซลล์ทุกกลุ่มของเซลล์ แล้วกระทั่งทุกๆ ส่วนของเนื้อหนัง ร่างกายมีชีวิตมีแต่ส่วนที่อาศัยกันเกิดขึ้น ในระบบเลือดก็เป็นอย่างนั้น ลองหลับตา เห็นว่าในตัวเรานี้มีแต่การอาศัยกันเกิดขึ้น แล้วก็อาศัยกันดับลง บางคนง่วงนอนแล้วพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันจะเห็นได้อย่างไร ว่าในตัวเรานี้เต็มไปด้วยอาการที่เรียกว่า อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง

เอ้า ข้างนอกจะเห็นได้ง่ายกว่าก็ดูซิ ก็ดูที่ตัวคนอื่นก็ได้ ที่สัตว์อื่นก็ได้ มีทั่วๆ ไป ที่อาตมาจะระบุว่า ทุกๆ ปรมาณูหรือทุกๆ เซลล์ ที่ประกอบกันขึ้นด้วยปรมาณูหรือว่าที่เนื้อที่ตัวของเรานี้ ใช้ภาษาไทยพูดกันทีก็ว่าทุกขุมขน ทุกขุมขนทั้งเนื้อทั้งตัวแต่ละขุมขน แสดงอาการอาศัยกันเกิดขึ้นอาศัยกันดับลงอยู่ทั่วทุกขุมขน เห็นไม่เห็นก็ตามใจเถอะ ดูเถอะมันอาจจะเห็นได้ว่า มันมีอาการของปฏิจจสมุปบาทอยู่ทั่วทั้งตัวทุกขุมขน มีอะไรเกิดดับที่นั่น

นี่แสดงว่า เราเห็นปฏิจจสมุปบาทได้ทุกขุมขน เท่ากับว่าเราเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกขุมขนของเรา ไม่มีใครเชื่อแล้วว่าบ้าอีก แล้วถ้าเห็นพระพุทธเจ้าอยู่ทุกขุมขนของเรา ไม่มีใครเชื่อ นี่เขาอุปโลกน์ให้อาตมาเป็นคนสอน หลอกลวงสอน บ้าบอนี่ ก็เช่นอย่างนี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้จะบอกท่านทั้งหลายว่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ทุกขุมขนน่ะ คนโง่ไม่เห็นเอง อาการแห่งปฏิจจสมุปบาท มีทั่วไปทุกขุมขน ทำไมไม่เห็น มีอาการอย่างนั้นที่ไหน ก็เรียกว่ามีพระพุทธเจ้าที่นั่น

นี่ ตอนนี้ฟังยาก ว่าถ้ามันมีการเกิดขึ้นดับลง อาการอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลงแล้ว มันก็ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งแสดงอาการอย่างนั้น สิ่งใดแสดงอาการอย่างนั้น นั่นแหละคือพระพุทธเจ้า แต่ละปรมาณูมันก็แสดงอาการอาศัยกันเกิดขึ้นอาศัยกันดับลง แม้ทุกขุมขนก็มีสิ่งที่แสดงให้เห็นอาการเกิดขึ้นอาศัยกันดับลง ก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น ทำไมไม่เห็น แล้วทำไมไม่เห็นว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ทุกปรมาณูทุกหนทุกแห่ง

เอ้า ทีนี้อยากจะพูดไปถึงพวกเซ็นบ้าง พวกเซ็นเขาพูดเล่นพูดจริงอะไรก็ไม่รู้ เขาพูดทำนองท้าทายหรือว่าจะเป็นเรื่องสอนคนโง่ก็ตามใจ เขาว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่ทั่วไป แม้ในกองของสกปรก เช่นขี้หมาเป็นต้น เพราะว่าในกองของสกปรกนั้น มันมีสิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลงอยู่ตลอดเวลา ในกองของสกปรกที่เต็มไปด้วยความสกปรก จะดูด้วยตาไม่เห็น แต่ดูด้วยใจมันเห็น


นี่ก็ได้เปรียบซิ มันไม่เห็นของสกปรกนี่ เห็นพระพุทธเจ้าไปเสียหมดนี่ ไม่ว่าจะมองไป ของสะอาดหรือของสกปรก เห็นพระพุทธเจ้าไปเสียหมด อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับไป เป็นพระพุทธเจ้าไปเสียหมด ไม่มีสะอาดไม่มีสกปรก เพราะอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท มันมีอยู่ทุกๆ ปรมาณูจริงๆ นี่ เขาจึงพูดว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่มีที่ว่างเว้น อย่างนี้ว่าอย่างไร

อาตมาผู้เอามาพูดก็จะพลอยถูกด่าแทนพวกนั้นไปเสียอีก ที่ว่ามีแม้ในกองของสกปรก ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทั่วๆ ไป ไม่ว่าในที่อะไร ที่เราจะเรียกว่าสกปรกหรือสะอาด บรรดาสังขารทั้งหลายและทุกๆ ปรมาณูของมันมีอาการอันนี้ สังขารทั้งปวงมีอาการอย่างนี้ ทุกๆ ปรมาณูดีไหม เห็นพระพุทธเจ้าเต็มไปหมด จนไม่มีที่ว่าง

ถ้าว่า ในอากาศนี้มีธาตุ ธาตุที่เป็นอากาศผสมกันเป็นอากาศ ปรมาณูของอากาศเหล่านี้ ก็อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง พระพุทธเจ้าก็เต็มไปด้วยอากาศ คนเห็นอย่างนี้เป็นคนโง่หรือเป็นคนฉลาด จะเป็นที่ไหนก็ตามใจ จะในน้ำก็ดี บนบกก็ดี บนฟ้าก็ดี ในสิ่งของก็ดี นอกสิ่งของก็ดี มีแต่อาการที่ว่าอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง คือปฏิจจสมุปบาท

อาการของปฏิจจสมุปบาท มีเห็นได้ทั่วไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ตรงไหนมันแสดงอาการอย่างนี้ ก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงนั้นแหละ คือผู้แสดงอาการของปฏิจจสมุปบาท ช่วยฟังให้ดีซิ สิ่งที่แสดงอาการของปฏิจจสมุปบาทมีอยู่ที่ไหน ก็มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่ตรงนั้น นี่รวยเลย มีพระพุทธเจ้าทุกหนทุกแห่งเต็มไปหมด เราหายใจเข้าหายใจออก หายใจเข้าออกเป็นพระพุทธเจ้า แม้ในลมหายใจ มันก็เป็นอย่างนั้น หายใจเข้าออกเป็นพระพุทธเจ้าไปหมด ดีไม่ดีไม่เข้าใจก็ว่าบ้า


แต่ว่าธรรมะที่มีอยู่เป็นบาลีเป็นหลักฐาน มันปรากฏอยู่อย่างนี้ ว่าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นธรรม ก็เห็นที่อาการของปฏิจจสมุปบาท ในลมหายใจที่หายใจเข้าออกอยู่ ก็เป็นพระพุทธเจ้าทั้งนั้นเลย แต่ละปรมาณูอณูของมันมีอาการอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง รวยพระพุทธเจ้า เอาหรือไม่เอาก็ตามใจ บางทีจะเรียกว่าบ้าบอเสียอีก เอาอะไรมาพูดก็ไม่รู้ แต่ก็ต้องเอามาพูดแหละ

เพราะว่าสิ่งที่มันเขียนอยู่ในพระบาลีก็มีอย่างนี้ แล้วเอาพระบาลีคัมภีร์ออกไปเสีย ดูเอง ดูด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยบาลี มันก็เห็นอย่างนี้ มันไม่ได้เห็นอย่างอื่นนี้ เห็นการอาศัยกันเกิดขึ้น การอาศัยกันดับลง แล้วก็เห็นพระพุทธเจ้าคือเห็นความจริง คือ เห็นความจริง ว่าไม่ใช่ตัวตน เห็นความจริงอย่างยิ่งว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยากเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นอย่างนี้ เห็นอย่างนี้กันเถิด

มื่อไม่เข้าใจ ก็จะหาว่าเป็นคำพูดบ้าที่สุด ที่จะมีคนว่าในสากลจักรวาลนี้ เต็มไปด้วยพระพุทธเจ้า เขาฟังไม่ออกว่าอะไร แต่คนที่ฟังออกก็ว่า โอ้ มันเต็มไปด้วยอาการที่อาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง เต็มไปทั้งจักรวาล คืออาการของปฏิจจสมุปบาท มีสิ่งที่แสดงอาการนี้ สิ่งนั้นแหละคือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเลยเต็มไปหมดทั้งสากลจักรวาล

ดีไหม เรามีพระพุทธเจ้ากันเต็มเนื้อเต็มตัว แม้แต่ลมหายใจสำหรับเข้าออกก็เต็มไปด้วยพระพุทธเจ้า ดีไหม แต่ว่าคนโง่ก็ไม่เห็น ไม่ได้รับประโยชน์อะไร ไม่ได้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เบื่อหน่ายคลายกำหนัด ในสิ่งที่ยึดถือเป็นตัวตน มันโง่เหลือที่จะโง่ ยึดถือว่ากลุ่มสังขารทั้งหมดนี้ คือตัวกู
นี้คือตัวตน นี่คือตัวกู

ไม่ได้เห็นว่า มันเป็นเพียงสักว่าธาตุตามธรรมชาติ มีอนุภาคน้อยๆ ที่สุด ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นร่างกาย เป็นอะไรนี้ แต่ละอันก็เป็นอันเกิดขึ้นดับไป ถ้าเห็นอย่างนี้มันก็เห็นธรรมะ เห็นความจริง ไม่ยึดมั่นสิ่งใดโดยความเป็นตัวตนหรือของตน ลองจำไว้สักคำว่า ถ้ารู้ธรรมะจริง จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเหลียวดูไปทางไหน เพราะมีอาการของปฏิจจสมุปบาท

ขอแทรกตรงนี้หน่อยนะ ว่าท่านเข้าใจเรื่องนี้ ถ้าเข้าใจที่กำลังพูดนี้ คุ้มเวลาที่จะมาจากจังหวัดไกลๆ เสียค่ารถแพง เสียเวลามาก เหนื่อยมาก จะคุ้มค่า ถ้าเข้าใจในสิ่งที่กำลังพูดนี้

เห็นปฏิจจสมุปบาทด้วยตนเอง จนไม่ต้องเชื่อใคร นี่คือหลักพระพุทธศาสนา ที่ว่าไม่ต้องเชื่อใคร ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ต้องเชื่อพระไตรปิฎก ไม่ต้องเชื่อครูบาอาจารย์ ไม่ต้องเชื่อใคร อย่างที่กล่าวไว้ในกาลามสูตร ขอให้ไปทบทวนอ่านดูอีกที เชื่อที่ตัวเห็นอยู่เองหรือมันเป็นอยู่อย่างนี้ มันเป็นทุกข์ขึ้นมาเพราะเหตุนี้ มันไม่ดับทุกข์เพราะเหตุนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ เชื่อตัวเอง เห็นด้วยตัวเอง โดยการแสดงของพระพุทธเจ้า ก็พูดแล้ว พระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แสดงให้เห็นอยู่ที่เกิดขึ้นดับไป

พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นอยู่อาการอย่างนั้น ก็เชื่อพระพุทธเจ้าโดยตรงนั้นแหละ แต่พระพุทธเจ้าห้ามว่า ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าชนิดที่เป็นบุคคล หรือว่าเป็นพระคัมภีร์ ให้เชื่อการเห็นด้วยตัวเอง เชื่อทั้งหมดด้วยจิตใจ ไม่ต้องเชื่อเพราะว่าเขียนไว้ในคัมภีร์ หรือว่าได้ยินอย่างนั้นอย่างนี้


แต่ว่าเรื่องมันตรงกันกับที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสออกมา มันก็ตรงอย่างเดียวกับที่เราเห็นเองเห็นด้วยตนเองก็ใช้ได้ แต่ว่าถ้ายังไม่เห็นเองไม่สำเร็จประโยชน์ ยังได้ยินแต่พระพุทธเจ้าตรัสเขียนไว้ในพระคัมภีร์ ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ยังดับทุกข์ไม่ได้ จนกว่าจะเห็นด้วยตนเอง ว่ามันเกิดดับเกิดดับอย่างนี้จริง

นี่อาการอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง ไปทั่วทุกแห่ง ไม่ว่าที่ไหน ทุกๆ ปรมาณู ที่ประกอบกันขึ้นเป็นจักรวาลมันอย่างนี้เองโดยธรรมชาติ มันเป็นอย่างนี้ ข้อนี้ก็จะมาถึงข้อที่จะบอกว่า มันเป็นอย่างนี้เองโดยธรรมชาติ ไม่ต้องมีพระเป็นเจ้าที่ไหนมาทำให้เป็นอย่างนี้ ไม่ต้องอาศัยเทวดาที่ไหนมาทำให้เป็นอย่างนี้ อาการที่มันอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยกันดับลง มันเป็นของมันเอง โดยกฎของธรรมชาติ ไม่ต้องอาศัยพระเจ้ามาช่วยทำ เทวดามาช่วยทำ ผีสางมาช่วยทำ

ทีนี้เรื่องมันก็เกี่ยวขึ้นมาถึงว่า มันปรุงแต่งกันจนเกิดเป็นความทุกข์หรือความสุขก็ตาม แล้วแต่จะเรียก มันมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุทั้งหลายอยู่ตามธรรมชาติ มีหลายธาตุอย่างนั้น มันมาอาศัยกัน เนื่องกัน การเกิดขึ้นดับลงของมันเข้ามาเนื่องกัน มีการปรุงแต่งกัน เกิดของใหม่ขึ้นมาจากธาตุก็เป็นกลุ่มแห่งเซลล์ มีกลุ่มแห่งเซลล์เกิดขึ้นในชีวิต เป็นระบบขยายตัวออกไป มันก็เกิดระบบประสาทสำหรับรู้อารมณ์ขึ้นมา นี่ระบบประสาทมันก็เกิดขึ้น โดยที่พระเจ้าไม่ต้องมาช่วยทำ ให้มันเป็นของมันเองได้โดยธรรมชาติ

เมื่อมีระบบประสาทสำหรับรู้สึก แล้วมันก็หนีไม่พ้น มันช่วยไม่ได้ที่จะไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่าผัสสะหรือสัมผัส เพราะว่าสิ่งที่จะเข้ามาถูกกับระบบประสาทนั้น มีอยู่ทั่วไป คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ ทั้ง ๖ อย่างนี้ มีอยู่ในที่ทั่วไป มันก็ง่ายนิดเดียวที่จะมากระทบ กระทบกันเข้ากับระบบประสาท ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าสัมผัสหรือผัสสะ มันก็มีขึ้นมา อย่างที่ช่วยไม่ได้


เมื่อมีระบบประสาทแล้ว ทำอย่างไรเสีย จะต้องมีสัมผัสแน่นอน เพราะสิ่งที่จะสัมผัสนั้น มันมีอยู่ทั่วไปหมด นี่จะทำอย่างไร ครั้นเมื่อมีการสัมผัสแล้ว ทำอย่างไรเสียก็ต้องมีเวทนา ไม่มีใครห้ามได้ ไม่มีใครมาช่วยได้ ที่จะมาห้ามไม่ให้เกิดเวทนา มีสัมผัสแล้วมันก็มีเวทนา ไม่ต้องอาศัยพระเจ้า

ครั้นมีเวทนา รู้สึกเวทนาแล้ว ก็ต้องมีตัณหา อยากไปตามอำนาจแห่งเวทนานั้น แล้วก็มีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู พอมีเวทนาแล้ว มันก็เกิดตัวกู ผู้เป็นเจ้านายของเวทนา นี้เป็นความลับของความที่ว่ามันมิใช่ตัวตน ตัวตนตัวกูเกิดขึ้นจากความโง่ ที่โง่มาจากเวทนา

เช่น พอเจ็บขึ้นมา มันก็เกิดความรู้สึกว่ากูผู้เจ็บ กูเจ็บขึ้นมา เคี้ยวอาหารอร่อยอยู่ในปากตามระบบประสาทเท่านั้นแหละ พออร่อยครอบงำแล้ว มันเกิดตัวกูผู้อร่อยขึ้นมา เกิดความรักขึ้นมาในใจแล้ว มันก็จะเกิดตัวกูผู้รัก เกลียดขึ้นมาในใจแล้ว มันก็เกิดตัวกูผู้เกลียด ตัวกูนี้มันมาทีหลัง เป็นปัญหาเป็นความทุกข์ยากลำบาก เมื่อมันเกิดตัวกู
ให้มันเกิดตัวกู แล้วมันก็ไม่มีปัญหาอะไร มันเป็นอย่างนี้

โดยที่ว่าตามธรรมชาติ จะมีพระเป็นเจ้าหรือไม่มีพระเป็นเจ้า มันก็เป็นอย่างนี้ จะมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น หรือพระพุทธเจ้าไม่เกิดขึ้น มันก็เป็นอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับผีสางเทวดา ไม่เกี่ยวกับโชคชะตาราศี ไม่เกี่ยวกับดวงดาวบนสวรรค์ ไม่เกี่ยวกับหมอดู ไม่เกี่ยวกับอะไรทุกอย่าง ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับความเป็นสัตว์เดรัจฉานหรือความเป็นมนุษย์ มันต้องเป็นอย่างนี้ ตามธรรมชาติมันเป็นอย่างนี้

ขอให้เห็นความจริงอันนี้ คือจะเห็นพระพุทธเจ้าเต็มไปหมดทั้งจักรวาล อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น อาศัยกันแล้วดับลง ในรูปแบบต่างๆ กัน เป็นรูปธรรมก็มี เป็นนามธรรมก็มี เป็นกรรมก็มี เป็นวิบากก็มี เป็นได้ทุกอย่าง อาการที่อาศัยกันเกิดขึ้นอาศัยกันดับลง ในที่สุดก็เกิดความทุกข์ หรือความสุขแล้วแต่เรื่อง เป็นผลออกมาจากการปรุงแต่งขั้นสุดท้าย นี่เกิดทุกข์หรือสุขเกิดมาจากการปรุงแต่งอย่างนี้ ถ้ามันถูกต้องตามที่เป็นสุข ก็เรียกว่าเป็นสุข ถ้าถูกต้องตามที่เป็นทุกข์ ก็เรียกว่าเป็นทุกข์

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ชัดเจนว่า สุขและทุกข์ไม่ได้เกิดจากกรรมเก่า สุขและทุกข์ไม่ได้เกิดจากพระเจ้าบันดาล ช่วยฟังกันไว้ให้ดีๆ บรรดาที่นั่งกันอยู่ที่นี่ นี่อาจจะมีหลายคนที่เชื่อว่า สุขทุกข์เกิดจากกรรมเก่า มันค้านกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สุขและทุกข์มิได้เกิดจากกรรมเก่า แต่ว่าเกิดจากการทำผิดหรือถูกต่อกฎปฏิจจสมุปบาทที่ว่านี้แหละ กฎปฏิจจสมุปบาทที่ว่านี้ ทำไปในทางให้มันเกิดทุกข์ก็เกิดทุกข์ ทำไปในทางที่ไม่ให้เป็นทุกข์หรือเป็นสุขก็เกิดสุข นี่สุขทุกข์มิได้เกิดมาจากกรรมเก่า แต่ว่ามันเกิดมาจากการกระทำผิดหรือกระทำถูกต่ออาการของปฏิจจสมุปบาท

แล้วอีกอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นการบันดาลของพระเจ้าอิศวร นิมฺมานเหตุ อิศวรในที่นี้หมายถึงพระเจ้า มิใช่เหตุเพราะการบันดาลของอิศวรในภาษาบาลีเรียกว่าอิศวร ไม่ใช่เป็นผลของกรรมเก่า ไม่ใช่เกิดมาจากการบันดาลของพระเจ้า มันเกิดมาจากการผิดหรือถูกต่อกฎเกณฑ์ของปฏิจจสมุปบาท ในฝ่ายไหน เรียกว่ามันถูกก็แล้วกัน มันไม่มีผิดดอก มันถูกสำหรับเป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์ มันถูกสำหรับเป็นสุขก็เป็นสุข มันมีแต่ถูก แต่เราสมมติเรียกว่า มันไม่ตรงกับความต้องการแล้วก็ผิด ผิดเป็นทุกข์

นี่ก็เป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนา ว่าอาการแห่งปฏิจจสมุปบาทมีอยู่อย่างนี้ โดยธรรมชาติแล้วก็ปรุงแต่งกันขึ้นเป็นความทุกข์ หรือเป็นความสุขอยู่ในตัวมันเอง จงเห็นด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อ เพราะเชื่อคนอื่นไม่สำเร็จประโยชน์ ต่อให้เชื่อ เชื่ออย่างไรก็ไม่สำเร็จประโยชน์ เว้นไว้แต่จะมองเห็นเองว่ามันเป็นอย่างนี้ แล้วมันก็เปลี่ยนการกระทำอย่างที่ทำแล้วไม่เป็นทุกข์ นี้ เราจะต้องมีแนว มีระเบียบปฏิบัติ หรือมีแนวระบบสำหรับปฏิบัติแล้วจะไม่เป็นทุกข์

เอ้า ทีนี้เราก็จะมาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อสิ่งต่างๆ มันเป็นอย่างนี้ เราทำอย่างไรจึงจะดำเนินไปแต่ในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ ต้องปฏิบัติถูกต้องไปในทางที่จะไม่เป็นทุกข์ ก็ต้องพูดถึงอริยมรรคมีองค์แปด อริยมรรคมีองค์แปดนั่นแหละ เป็นหัวใจของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสในวันนี้


ในวันที่คล้ายวันนี้ คือวันเพ็ญอาสาฬหะ เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา หัวใจของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น ได้พูดถึงมัชฌิมาปฏิปทาก่อนนะ ไปเปิดดูซิไปเปิดดูพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระพุทธเจ้าได้เริ่มขึ้นว่า อย่าไปทำสุดโต่ง ๒ ข้าง กามสุขัลลิกา อัตตกิลมถา แล้วมาตั้งอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา  

มัชฌิมาปฏิปทาเป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้ใด ท่านได้ตรัสรู้ขึ้นมาเฉพาะด้วยตนเอง แล้วก็แจกออกไปเป็นอย่างนั้นๆ เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสวดกันได้ทุกคน ท่องกันได้ทุกคน แต่ดูยังไม่ได้รับประโยชน์คุ้มกัน เพราะยังไม่เป็นมรรคจริงๆ ขึ้นมา มันเป็นแต่เสียงท่องเสียงสวดมนต์

มรรคมีองค์แปด ใน ๘ องค์นั้น สององค์แรก เป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ รวมกันเป็นแปด เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ดูกันง่ายๆ ว่า ปัญญามาก่อน ใน ๘ องค์นั้น ปัญญามาก่อน ๒ องค์ แล้วจึงถึงศีล ๓ องค์ ถึงสมาธิอีก ๓ องค์ พระพุทธเจ้าตรัส ปัญญา ศีล สมาธิ นี้มันผิดจากความรู้สึกของคนทั่วไปที่เคยฟังแต่ว่าศีล สมาธิ ปัญญา


อาตมาถูกศาสดาคนหนึ่งในกรุงเทพฯ ด่าว่าสอนผิด สอนปัญญาก่อน เขาสอนศีลก่อน เน้นเรื่องศีลก่อน เราสอนไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญามาก่อนแล้วศีลเข้ารกเข้าพง ศีลเข้ารกเข้าพงมันเดินไปไม่ถูก สมาธิก็เข้ารกเข้าพง ถ้าไม่มีปัญญามาก่อน ให้ถือว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ถูกต้องแล้ว ท่านตรัสปัญญา ศีล สมาธิ ตามอริยมรรคมีองค์ ๘

ดังนั้น ถ้าพูดกันอย่างการปฏิบัติจริงๆ แล้ว ต้องเรียงลำดับว่า ปัญญา ศีล สมาธิ นี่ไตรสิกขาที่จะปฏิบัติกันจริงๆ ถ้าว่าเอาไว้พูดกันเล่น สำหรับเรียนในโรงเรียน ท่องกันเล่นได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ตายโหงก็ไม่ดับทุกข์อะไรได้ ถ้าไม่เอาปัญญามาก่อน มันต้องเอาปัญญามาก่อน ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญานำหน้าศีล ศีลเดินถูกทาง สมาธิก็ถูกทาง มันก็ส่งเสริมให้เกิดปัญญาขั้นต่อไป ที่สูงกว่าปัญญาทีแรก มันก็ตัดกิเลสและดับทุกข์ได้

ฉะนั้นไตรสิกขามีอยู่ ๒ รูปแบบ รูปแบบหนึ่ง สำหรับพูด สำหรับท่อง ก็เรียกว่าศีล สมาธิ ปัญญา รูปแบบหนึ่ง ที่จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ดับทุกข์จริง ต้องเรียกว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ช่วยจำกันไว้บ้าง แม้มันจะไม่คุ้นปาก มันลำบากในการที่จะพูด ช่วยกันพูดให้มันคุ้นปากว่า ปัญญา ศีล สมาธิ


เดี๋ยวนี้กูจะปฏิบัติแล้ว ต้องเป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ ไม่มีปัญญาแล้วศีลก็ผิดหมดแหละ เป็นสีลัพพัตตปรามาส คือศีลที่งมงาย ผิดความประสงค์ สมาธิก็ผิดหมด เป็นสมาธิที่งมงาย ไม่ตรงตามประสงค์นี่เขาเรียกว่า สีลัพพัตตปรามาส เพราะว่าปัญญามันไม่นำมาก่อน ถ้าปัญญานำมาก่อน ก็เป็นศีลที่ถูกต้อง เรียกว่า ศีลวิสุทธิ เมื่อมีศีลวิสุทธิก็มีจิตตวิสุทธิ แล้วก็สุทธิๆ ๆ ต่อไปจนสิ้นกิเลสสิ้นอาสวะ นี่ปัญญาต้องมาก่อนอย่างนี้

เมื่อพูด เมื่อท่องก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อปฏิบัติต้อง ปัญญา ศีล สมาธิ ทีนี้ พอเอาเข้าจริง พอถึงเวลาที่จะตัดกิเลสได้จริง พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อริยสัมมาสมาธิ มีบริขาร ๗ คำนี้สำคัญมาก แต่ว่าไม่เคยมาคุ้นหู ไม่เคยได้ยิน เพราะว่ามันอยู่นอกการพูดจา อริยสัมมาสมาธิมีบริขาร ๗ คือ


ยกเอาสัมมาสมาธิตัวสุดท้ายเป็นหลัก เป็นตัวประธาน แล้วเอาอีก ๗ องค์ ที่เหลือเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ สมาธิเฉยๆ ถ้าไม่น้อมไปเพื่อนิพพาน ก็เรียกว่าสมาธิเฉยๆ ถ้าสมาธิมันน้อมไปเพื่อนิพพาน เรียกว่า สัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธินี้เอาทั้ง ๗ องค์ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต อาชีโว วายาโม สติ มาเป็นบริวาร

ฉะนั้นสัมมาทิฏฐิมาก่อนแหละ รู้หนทาง รู้ทิศทาง รู้ความถูกต้อง ว่าจะไปทางไหนอย่างไรกัน เป็นผู้นำทาง แล้วก็ปรารถนาที่จะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ แล้วก็นำมาให้เป็น สัมมาวายามะ เดินถูกทาง สัมมาสติ เดินถูกทาง เอามาเป็นบริวารของสัมมาสมาธิ


ส่วนสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโวนั้น ท่านถือว่าตามปกติมันมักจะถูกต้องอยู่แล้ว แม้ไม่ใช่ในพุทธศาสนา คนธรรมดาสามัญก็มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ถูกต้องเป็นส่วนมากแล้ว แต่ถึงอย่างไร ก็ต้องภายใต้การควบคุมของสัมมาทิฏฐิอยู่นั่นเอง

นี่ทั้ง ๘ องค์ ทำงานประสานกันอย่างไม่แยกกันได้เลย เรียกว่า อริยสัมมาสมาธิ มีบริวาร ๗ สมาธิเป็นตัวแม่ทัพ ที่จะมีกำลังตัดกิเลส แล้วก็อีก ๗ องค์รอบๆ มาช่วยทำหน้าที่ครบรอบทุกอย่างเป็น ๗ อย่าง เรียกว่ามีบริวาร ๗ ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา จะตัดกิเลส จะรบกิเลส จะทำลายกิเลสจริง ต้องมาในรูปของสิ่งที่เรียกว่า อริยสัมมาสมาธิ มีบริวาร ๗ มีบริขารก็ได้ บริขาร ๗ หรือบริวาร ๗ ก็เหมือนกันแหละ

ท่านทั้งหลายจะมองเห็นได้ว่า ปัญญาสำคัญ ให้เกิดความถูกต้อง มิฉะนั้นมันก็ไม่ถูกต้อง จะมีความเชื่ออย่างไรๆ ถ้าปัญญาไม่มานำแล้ว ความเชื่อมันผิดทางเสมอไป มันไปตามชอบใจของกิเลสเสีย แต่ถ้าปัญญามากำกับไว้ จะถูกทางของการดับทุกข์

เพราะฉะนั้น ขอให้รู้กันอย่างยิ่งว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นศาสนาของปัญญา ใช้ปัญญาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นกำลังเป็นเบื้องหน้า ศาสนาอื่นเขาจะใช้ความเชื่อ หรือจะใช้อะไรเป็นกำลังก็ตามใจเขา มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าศาสนาพุทธแล้ว ก็ต้องเอาปัญญาเป็นหัวใจ


พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นปัญญาทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีปัญญา รู้ไม่ได้ ตื่นไม่ได้ มันเบิกบานไม่ได้ดอก เรามีปัญญาเป็นหัวใจของพระศาสนา ฉะนั้น จงมีปัญญาเป็นเครื่องดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา ทั้งหมดมันจะถูกต้อง ปัญญาถึงขนาดเห็นปฏิจจสมุปบาท ในที่ทุกหนทุกแห่ง ปัญญาถึงขนาดมีพระพุทธเจ้าทุกขุมขน หลายคนยังไม่เชื่อ ว่าบ้าแล้ว ก็ตามใจ อาตมายังคงขอยืนยันอย่างนี้ว่า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อาการแห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นแหละคือธรรม จงเห็นอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท ที่มีอยู่ทั่วทุกขุมขนนั่นแหละว่าเป็นธรรมะ เห็นธรรมะแล้วเห็นพระองค์ ขอยืนยันอีกทีนะ ย้ำอีกทีว่า ถ้ามีความรู้เรื่องนี้แล้วคุ้ม คุ้มค่าที่มาไกล จังหวัดไกล เปลืองมาก เหนื่อยมาก เสียเวลามาก อะไรมาก จะคุ้มถ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าอย่างนี้แล้วจะคุ้ม

ต่อไปนี้ก็ดำเนินชีวิตด้วยปัญญา เสมือนหนึ่งว่าชีวิตนี้มันเดินได้ ชีวิตมันเดินไปตามแบบของชีวิต เดินทางด้วยปัญญาตลอดเวลา มีปัญญาอย่างนี้แล้ว เห็นพระพุทธเจ้าตลอดเวลา จะพบพระพุทธเจ้าทุกหนทุกแห่ง เดินทางไปกับพระพุทธเจ้านั่นเอง มีพระนิพพานตลอดเวลา ตลอดทาง รายทาง เดินไปกับพระพุทธเจ้า เดินไปกับการที่มีนิพพาน คือความไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ เป็นนิพพานน้อยๆ เรื่อยๆ ไป จนในที่สุดก็เป็นนิพพานที่สมบูรณ์

เดี๋ยวนี้ ขอให้เห็นธรรมะคือเห็นองค์พระพุทธเจ้า แล้วก็ไม่โง่ ไม่หลงเป็นตัวเป็นตน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถูกต้อง ไม่มีความหลงอยู่กับพระพุทธเจ้า เดี๋ยวจะตกใจว่า จะรู้อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า เห็นอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า รู้อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า ดับทุกข์อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า แล้วก็เป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง หลายคนว่าบ้าแล้ว ไม่เป็นไร อาตมาบ้าก็ได้ แต่ยังพูดอยู่อย่างนี่แหละ

ขอให้เราเดินทางไปกับพระพุทธเจ้า คือ ปัญญาที่เห็นปฏิจจสมุปบาทนี้ เดินทางไปกับพระพุทธเจ้า มีนิพพานน้อยๆ เรื่อยไป จนเป็นนิพพานเต็มที่ ตลอดเวลานี้ รู้อย่างเดียวกับพระพุทธเจ้ารู้ เห็นอย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าเห็น ดับทุกข์อย่างเดียวกับที่พระพุทธเจ้าดับทุกข์ แล้วก็กลายเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง คือ สามารถแสดงปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจน อย่างแจ่มแจ้ง นี่เป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง

วันนี้เรียกว่า วันเพ็ญอาสาฬหปุณณมี พระจันทร์เต็มดวงในหมู่กลุ่มดาวฤกษ์ ชื่อว่าอาสาฬหะ เรียกว่า อาสาฬหปุณณมี วันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตร ประกาศมัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรคมีองค์แปด สรุปย่นได้เป็นไตรสิกขา เป็นปัญญา เป็นศีล เป็นสมาธิ


แต่ว่าถ้าว่าทำหน้าที่ถึงที่สุดแล้วก็กลายเป็นอริยสัมมาสมาธิ ทั้ง ๘ องค์ ยกสัมมาสมาธิขึ้นเป็นประธาน แล้วนอกนั้นก็แวดล้อม สัมมาสมาธิก็เต็มไปด้วยปัญญา เต็มไปด้วยสัมมาทิฏฐิ เมื่อสัมมาสมาธิเต็มไปด้วยปัญญา สัมมาทิฏฐิก็ตัดกิเลสไม่ต้องสงสัย

เราได้รับพระโอวาทอันประเสริฐสูงสุด คืออริยมรรคมีองค์แปด หรือเรียกว่าธัมมจักร วันนี้พระองค์ได้ประกาศธัมมจักร ใครๆ ไม่อาจจะต่อต้านได้ ที่ใช้คำว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ใครๆ ก็ดี ไม่ต่อต้านได้ หมายความว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่มีใครต่อต้านได้ ความจริงที่พระองค์ทรงเปิดเผย ทรงแสดงนี้ ไม่มีใครต่อต้านได้

ขอให้เรารู้จักสิ่งนี้ในวันนี้ เรามาประชุมกันที่นี่ เรียกว่าพิธีอาสาฬหบูชา มารู้จักหนทางที่ทรงแสดงไว้ให้พบพระพุทธเจ้าทั่วไป ทุกปรมาณูทุกขุมขน เดินทางไปด้วยสติ ปัญญา ที่เห็นพระพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าไปทั่วทุกขุมขน มีนิพพานตลอดทาง จบเรื่องของการที่จะเดินทาง นี่เรื่องเกี่ยวกับธรรมะก็หมด ได้ความรู้นี้เกินคุ้มที่มาลำบากที่นี่

นี่เหลือข้อสุดท้ายอีกข้อหนึ่ง เป็นข้อแถมพก หรือผนวกแล้วแต่จะเรียกว่า ต่อนี้ไปจะต้องช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดูเหมือนพระเยซู คัมภีร์ไบเบิลที่ว่า เมื่อได้มาเปล่าๆ ก็ขอให้ไปเปล่าๆ อย่าคิดสตางค์ เราก็เหมือนกันแหละ


ชาวพุทธนี้ก็เหมือนกัน ได้รับพระธรรมดับทุกข์จากพระพุทธเจ้ามาเปล่าๆ ก็ขอให้ไปเปล่าๆ อย่าค้ากำไรเลย อย่าอวดดี อย่ายกหูชูหาง อย่าตั้งตนเป็นพระศาสดา หาประโยชน์หากำไร อย่างนั้นมันล้มเหลวหมดแหละ มีความบริสุทธิ์ใจเสียสละโดยแท้จริง เผยแผ่ธัมมจักรออกไปให้ทั่วโลก

อาตมาขอชักชวนท่านทั้งหลาย ว่าจงช่วยกันเผยแผ่ธรรมะไปให้ทั่วโลก ทั่วโลกนี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกคน ทุกคนมันรู้ธรรมะไม่ได้ดอก แต่ให้ทั่วๆ ไปทั้งโลกมันได้ ทั่วๆ ไปทั้งโลกมันมีคนพอที่จะรู้ธรรมะได้ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคน เพราะว่าคนที่ไม่อาจจะรู้ธรรมะ เป็นปทะปรมะอะไรโปรดไม่ได้นี้ก็มีอยู่ พวกนี้ก็รู้ไม่ได้ ยังต้องเก็บไว้ก่อน แต่ว่าที่อาจจะรู้ธรรมะได้ มีอยู่ที่ไหนในโลก แล้วช่วยกันหน่อย ให้ได้ธรรมะทั่วกันไปทุกคน

ที่เรายินดีสั่งสอนอบรมฝึกฝนพวกฝรั่งที่มาทุกเดือนๆ ก็เพื่อความประสงค์อันนี้ ว่าใครสามารถจะรู้ธรรมะได้ ขอให้ได้รู้เถิด เรายอมเหน็ดเหนื่อยยอมลำบากทุกอย่างทุกประการ เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า ตอบสนองพระคุณพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่ท่านได้ประทานให้แก่เรา


แล้วมีพระพุทธประสงค์ว่า จะช่วยกันทำให้แผ่ไปทั่วสากลจักรวาล รู้ธรรมะทั้งเทวดาและมนุษย์ มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า ให้พุทธบริษัททั้งหลายช่วยกันทำให้ธรรมวินัยนี้แผ่ไปทั่วทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก อะไรก็ตามหมดสิ้น ทรงประสงค์อย่างนั้น

เมื่อเราได้รับประโยชน์อันนี้แล้ว ก็จะต้องสนองพระคุณอันนั้น ช่วยทำให้มันแผ่ออกไปทั่วโลก ทำโดยตรงก็สอนโดยตรง ทำโดยอ้อมก็ช่วยร่วมมือให้ความสะดวก เรียกว่าทัพหลังก็ได้ ผู้ที่สอนโดยตรงก็สอนไป พวกที่สอนไม่ได้โดยตรงก็ช่วยหุงข้าวให้พวกที่สอนได้กินก็ได้ นี่เรียกว่าโดยอ้อม ช่วยกันอย่างนี้แล้ว มันก็สำเร็จประโยชน์


ธรรมะได้รับการเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ เข้าใจแจ่มแจ้งแล้วเผยแผ่ออกไป นี่เป็นข้อแถมพกข้อสุดท้าย ว่าธรรมะเป็นอย่างไร ดับทุกข์เป็นอย่างไร ได้รับประโยชน์ด้วยดีแล้ว ก็ขอให้ช่วยกันเผยแผ่ต่อไป หรือสืบอายุพระศาสนาไว้ ให้คนที่จะมาทีหลังได้รับประโยชน์ นี่แหละคือบูชาอย่างยิ่ง ไม่มีบูชาอื่นยิ่งกว่า

เดี๋ยวนี้เราเรียกว่าอาสาฬหบูชา การบูชาที่ทำในวันเพ็ญอาสาฬหะ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่จะทำอย่างเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในวันนั้นในสมัยพระพุทธเจ้า วันเพ็ญอาสาฬหะ พระพุทธเจ้าได้ทำอย่างไรให้แก่โลก โลกได้รับอะไรในวันเพ็ญอาสาฬหะ เราต้องช่วยกันทำให้วันเพ็ญอาสาฬหะวันนี้ เป็นเหมือนอย่างนั้น


รู้ธรรมะเหมือนปัญจวัคคีย์รู้ ครั้นรู้แล้วก็เผยแผ่ต่อไป นี่เรียกว่า อาสาฬหบูชาที่แท้จริง ได้รับประโยชน์เกินคำจนกล่าวไม่ถูก แม้ว่าท่านทั้งหลายต้องมาจากที่ไกล เหนื่อยมาก เสียเงินมาก เสียเวลามาก ลำบากมาก อะไรก็ตาม มันก็ได้รับประโยชน์เกินค่า ขอให้เป็นอย่างนี้

ในที่สุดนี้เป็นอันว่า อาตมาได้เตรียมจิตใจของท่านทั้งหลาย ให้มีความเหมาะสมแล้ว เหมาะสมแล้วสำหรับจะประกอบพิธีอาสาฬหบูชา ก็จะได้ยุติการแสดงธรรมเทศนา เพื่อประกอบพิธีอาสาฬหบูชาสืบต่อไป

       ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ปาฐกถาเรื่อง

๕. สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยไป


โดย

พุทธทาสภิกขุ


แสดงท่ามกลางที่ประชุมใหญ่ พุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๐๙
ณ พุทธสถาน เชียงใหม่

1.png



      เพื่อนพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งที่เป็นสมาชิกและมิได้เป็นสมาชิก
พสล. ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์

     ข้าพเจ้าได้รับคำขอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จากท่านประธานขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พสล.) ให้มากล่าวอะไรสักอย่างหนึ่ง กะท่านทั้งหลายในสถานที่นี้ ในวันนี้ ข้าพเจ้าขอพูดกะท่านทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ แห่งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นเพื่อนที่จะร่วมมือกันแก้ไข หรือกำจัดความทุกข์ของมนุษย์เป็นส่วนรวมให้หมดไป ท่านทั้งหลายต้องให้อภัยและโอกาสเพื่อให้ข้าพเจ้าพูดอะไรตรงๆ ตามความรู้สึกอันแท้จริง เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และตรงตามสปิริตของพุทธบริษัทเรา คือพูดจริง ทำจริง และรักเพื่อนมนุษย์กันจริง

      เรื่องที่ข้าพเจ้าจะพูด ในเวลาอันจำกัดนี้ คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และรู้สึกว่าเป็น สิ่งที่พวกเรายังสนใจกันน้อยไปหน่อย ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจการอันใหญ่หลวงของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็ในระยะที่กิจการของพุทธบริษัทเราทั่วทั้งโลก ดำเนินมาจนถึงขั้นนี้ สิ่งที่กล่าวนั้นมีอยู่ ๒-๓ เรื่องด้วยกัน แต่มันสัมพันธ์กันอย่างที่จะแยกกันไม่ออก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องถือโอกาสกล่าวถึงมันอย่างสัมพันธ์กันเป็นลำดับไป และต้องขออภัย ถ้าหากมันได้ทำให้ท่านต้องฟังด้วยความอดกลั้นอดทน หรือถึงกับและมีความกระเทือนใจบ้าง ข้าพเจ้าจะได้พูดเป็นเรื่องๆ ไป ดังนี้ :-

     เรื่องที่หนึ่ง คือ บรรดาพุทธสมาคมต่างๆ ในโลกพุทธบริษัทเรา ที่ทำการเผยแพร่พุทธธรรมอยู่ในเวลานี้ มักจะสนใจแต่ในเรื่องวิธีดำเนินงานและประสานงานกันมากเกินไป มากกว่าที่จะสนใจในตัวธรรมที่เป็นหัวใจในพุทธศาสนาในขั้นสูงสุดและแท้จริง พร้อมทั้งการปฏิบัติธรรมในขั้นนั้นให้เหมาะสมกัน และมีอยู่ไม่น้อยที่หนักไปในเรื่องพิธีรีตองมากจนน่ารำคาญ เมื่อเป็นเช่นนั้นนานเข้า ผลที่เกิดขึ้นก็คือ :-

     (๑) ทำให้เราและคนในเครือของเขา รู้จักธรรมตัวจริงที่จะต้องรู้ด้วยจิตใจโดยตรงนั้นน้อยไป และเพราะรู้จักธรรมตัวจริงน้อยไป ก็ทำให้เกิดผล คือ

          (ก.) เราขาดผู้ที่มีจิตใจในการปฏิบัติงานเพื่อเห็นแก่ธรรมแท้

          (ข.) ทำให้ขอบวงแห่งความหมายของความเป็น พสล. เป็นต้น แคบเข้ามา ไม่ตรง ไม่เต็มตามที่ธรรมชาติเปิดไว้ให้และต้องการ ซึ่งจะได้กล่าวในข้อถัดไปโดยละเอียด

     (๒) ทำให้ชาวพุทธพวกที่หนักในธรรมและธรรมปฏิบัติให้ความสนใจและความนับถือในกิจการของเราน้อยไป หรืออาจจะถึงกับไม่ไว้ใจก็มี ข้อนี้ทำให้เกิดผลคือ

           (ก.) เราจะดำเนินงานและขยายงานให้เต็มตามวัตถุประสงค์จริงๆ ได้ยาก เหมือนกลิ้งครกขึ้นภูเขา แต่แล้วก็ต้องทนเอา คือทำไปอย่างพอให้ผ่านๆ ไป พอไม่ให้สมาคมล้ม

           (ข.) ครั้นเป็นเช่นนี้นานวันเข้า สักวันหนึ่งในกาลข้างหน้า เราอาจจะถูกเขากล่าวหาถึงขนาดว่าสังคมพุทธบริษัทพวกนี้ ทำอะไรกันแต่พอเป็นพิธี เพียงเพื่อความสนุกสนานของตนเอง ดูๆ คงจะเป็นการเที่ยวทัศนาจรหรือเที่ยวปิคนิคระหว่างประเทศไปเสียแล้วกระมัง  

           (ค.) และในที่สุด พวกสมาชิกและกรรมการทั้งหลายก็จะเสียน้อย กลายเป็นผู้ที่ทำงานเพียงเพื่อความสนุกสนาน ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้อื่นกันเสียเป็นส่วนมาก ในที่สุดองค์การหรือสมาคมของเรา ก็ต้องล้มเลิกไปโดยแน่นอน ดังนั้น เราต้องนึกถึงเรื่องนี้กันให้มากเป็นพิเศษ แล้วรีบทำการป้องกัน แก้ไข และปรับปรุงให้สุดความสามารถเสียแต่ต้นมือ

      เรื่องที่สอง คือ สิ่งที่เราต้องแก้ไขปรับปรุง ให้ทันท่วงทีก่อนแต่จะสายเกินไป ดังที่กล่าวแล้วนั้น พอจะแยกออกได้ ดังต่อไปนี้ :-

      (๑) จัดให้เกิดความสนใจ การศึกษาค้นคว้า การปรึกษาหารือ ทำความเข้าใจกันเป็นพิเศษ ในสิ่งที่เรียกว่า “หัวใจของพุทธศาสนา”

อันเป็นการปฏิบัติเพื่อกำจัดกิเลสของแต่ละคนโดยตรง แทนที่จะเป็นเพียงเรื่องศีลธรรม เพื่อประโยชน์ทางสังคมและการเมือง หรือเป็นเพียงวรรณคดีอันไพเราะหรือเป็นปรัชญาที่น่าสนใจของโลกเท่านั้น ความทุกข์ของมนุษย์ในโลก เกิดมาจากกิเลสของเขาโดยตรง มิได้เกิดมาจากการที่เขาไม่มีความรู้เรื่องศีลธรรมของสังคม หรือไม่รู้วรรณคดีอันไพเราะ หรือมีความรู้ทางปรัชญาอันลึกซึ้งเหล่านั้น

ความรู้เหล่านั้น เขามีกันแล้วมากมาย ก็ยังกำจัดกิเลสไม่ได้ เขาจะต้องเข้าถึง “หัวใจของพุทธศาสนา” ชนิดที่จะช่วยให้เขาสามารถควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเขา เพื่อไม่ให้เกิดกิเลสขึ้นมาได้ ให้สุดความสามารถของเขา เมื่อเขาทำได้เช่นนั้น ศีลธรรมทางสังคมของเขาก็จะดีเอง และมนุษยธรรมก็จะแผ่ครอบคลุมไปทั่วโลกเอง

ความสงบเย็นหรือสันติภาพอันถาวรของโลกนั้น เป็นสิ่งที่มีขึ้นไม่ได้ด้วยเหตุเพียงการรู้วรรณคดีและปรัชญาของพุทธศาสนา ซึ่งกำลังขยายตัวออกไปอย่างยืดยาดและฟั่นเฝือยิ่งขึ้นทุกที ตามปริมาณแห่งการศึกษาแผนใหม่ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา หรือตามที่มีการแยกนิกายออกไปมากมายในวงของพุทธบริษัทเอง ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องปัญหาของปรัชญาไปเสียทั้งนั้น ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ในขั้นที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาเสียเลย

กล่าวคืออย่างหนึ่งก็คือ คนเหล่านั้นได้เอาตัวธรรมแท้ ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น ไปแปรรูปทำเป็นวรรณคดีและปรัชญาเสียหมด จนไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางจิตใจโดยตรงเสียเลย จึงได้มีแต่เรื่องพูด พูด พูดกันไป จนเกือบไม่มีเรื่องกระทำ

หัวใจของพุทธศาสนานั้น อาจจะสรุปลงได้ในคำพูดเพียงคำเดียวว่า “ธรรมะ” คำว่า “ธรรม” ที่มีความหมายพิเศษเช่นนี้ จะได้อธิบายกันโดยละเอียดในตอนที่สาม สรุปความเฉพาะในข้อนี้คือ พวกเราต้องรีบประชุมกันแก้ไขปรับปรุงกิจการ ให้หนักไปในทางการปฏิบัติตัวธรรมแท้ ในขั้นที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แล้วปัญหาปลีกย่อยทางศีลธรรมและอื่นๆ ก็จะถูกสะสางไปในตัวเองโดยอัตโนมัติ

     (๒) การขยายขอบเขตแห่งกิจการของพุทธสมาคมต่างๆ เช่น พสล. เป็นต้น ออกไปให้เต็มตามความหมายของคำว่า “ธรรม” ในขั้นที่เป็นหัวใจพุทธศาสนา

นั่นคือ การถอนความรู้สึกว่าเรา ว่าเขาออกไปเสีย เพื่อให้สมกับความหมายของคำว่า เวิลดฺ เฟ็ลโลวฺชิป เป็นต้น นั่นเอง และสมกับความหมายของคำว่า “ธรรม” ซึ่งเล็งถึงธรรมชาติแท้ อันมิอาจแบ่งแยกเป็นชาตินั้น ชาตินี้ได้เลย แม้จนกระทั่งไม่อาจแบ่งแยกเป็น พุทธ คริสต์ อิสลาม เป็นต้น ไปได้ด้วย ความหมายของคำว่า “ธรรม” ชนิดนี้ ข้าพเจ้ายกไปรวมอธิบายในตอนที่สามคราวเดียวกันหมด เพื่อประหยัดเวลา

     (๓) การรีบแก้ไขข้อผิดพลาด ที่กำลังมีอยู่ในวงการศึกษาทางพุทธศาสนาของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้อผิดพลาดอยู่ในหนังสือที่แต่งขึ้นโดยชาวต่างประเทศ ซึ่งมีการอธิบายเรื่องกรรม และเรื่องการเกิดใหม่ไว้อย่างผิดๆ จนไม่เป็นพุทธศาสนาเสียเลย และแม้ในวงชาวพุทธเราเอง ก็อธิบายพระพุทธภาษิตบางคำ ผิดไปจากพุทธประสงค์หรือผิดไปจากข้อเท็จจริง จนทำให้หลักเกณฑ์อันนั้น ใช้ปฏิบัติไม่ได้ไปเสียก็มี

ตัวอย่างเช่น คำว่า “ชาติ” (BIRTH) นั้น ที่มีความหมายถึงการคลอดจากท้องแม่ ที่มีความหมายถึงการเกิดขึ้นของความรู้สึกว่า “ตัวฉัน” หรือ “ตัวกู” คราวหนึ่งๆ ซึ่งหมายถึง อีโกอิสมฺ ที่กำลังเดือดจัดก็มี ถ้าเอาความหมาย ๒ อย่างนี้ไปปนกันหรือกลับมาเสียแล้ว เราก็ไม่อาจจะเข้าใจพระพุทธโอวาทในตอนนั้นได้ หรืออาจจะเข้าใจเป็นอย่างอื่น จนไม่อาจจะปฏิบัติได้ตรงตามพุทธประสงค์

คำว่า “การเกิดใหม่” ในทางพุทธศาสนานั้น ต้องไม่ถูกอธิบายไปในรูปของการอวตาร หรืออินคารุเนชั่น อย่างแบบฮินดูหรืออุปนิษัท ดังที่ทำกันอยู่โดยมากในหนังสือทางพุทธศาสนาที่เขียนโดยนักศึกษาฝรั่งแทบทั้งหมด และคำว่า “เกิดใหม่” ในหลักธรรมของพุทธบริษัทนั้น จะต้องใช้กันได้กับการเกิดขึ้นแห่ง Conception ว่า “ตัวฉัน” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการเกิดใหม่ ชนิดที่ตายเข้าโลงแล้วจึงไปเกิดเป็นไหนๆ

คำว่า “ชาติ” หรือความเกิดในหลักธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น หมายถึง การเกิดแห่งความรู้สึกที่เป็นอีโกอิสมฺดังที่กล่าวแล้ว หาใช่เป็นการเกิดจากท้องแม่ดังที่เข้าใจกันอยู่ทั่วๆ ไปไม่ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์คนหนึ่งๆ ได้ วันละหลายๆ รอบ และเป็นตัวความทุกข์ชนิดที่ตรัสไว้ในเรื่องอริยสัจสี่นั่นเอง เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ มิใช่เป็นเพียงเรื่องทางปรัชญาสำหรับถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนที่กำลังกระทำก็อยู่ทั่วๆ ไป

โดยที่แท้แล้ว เป็นเรื่องอริยสัจชนิดที่ต้องปฏิบัติกันเป็นประจำวัน คือ การควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อได้รับอารมณ์ อย่าให้มีการปรุงแต่งทางจิต (คือตัวปฏิจจสมุปบาทนั้นเอง) ขึ้นมา ด้วยอำนาจของอวิชชา จนเกิดความทุกข์สิ้น สำหรับเรื่อง “กรรม” ในพุทธศาสนา นั้นต้องพูดกันถึงเรื่องกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว จึงจะเป็นเรื่องกรรมในพุทธศาสนา

การพูดกันแต่เพียงเรื่องกรรมดำกรรมขาว คือกรรมดีกรรมชั่ว และผู้ทำจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้นเสมอไปนั้น ยังไม่ใช่เรื่องกรรมในพุทธศาสนาเพราะคำสอนเช่นนั้นมีอยู่ก่อนพุทธศาสนา และมีในศาสนาอื่นทั่วๆ ไป พระพุทธองค์ได้ตรัสเรื่องกรรมที่แปลกออกไป คือเรื่องกรรมที่ไม่ดำไม่ขาว และเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาวทั้งปวง ดังที่ปรากฏอยู่ในบาลีอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หมวดที่ชื่อว่า กัมมวัคค์

กล่าวโดยที่แท้แล้ว การปฏิบัติตามอัฏฐังคิกมัคค์นั่นเอง คือ กรรมที่ไม่ดำไม่ขาว ทำลุถึงนิพพาน อันเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมทั้งปวง เรื่องกรรมชนิดนี้เท่านั้น ที่เป็นหลักของพุทธศาสนาที่ไม่ซ้ำใคร ที่จะกล่าวได้เต็มปากว่า เป็นเรื่องกรรมในพุทธศาสนาโดยตรง ชาวต่างประเทศผู้แต่งหนังสือเหล่าโน้น มิได้กล่าวถึงกรรมชนิดนี้เลย กล่าวถึงแต่กรรมดำกรรมขาว แล้วยังแซวอรรถาธิบายส่วนตนเสียยืดยาว จนจะเข้ากันไม่ได้กับพุทธศาสนาไปเสียอีก

การที่ยังมีใครในโลกเขียนหนังสือทางพุทธศาสนาขึ้นมาอย่างผิดๆ เช่นนี้ ก็ควรจะตกเป็นหน้าที่ของสมาคมชาวพุทธ เช่น พสล. เป็นต้น จะต้องจัดการทำสังคายนา หรือสกรูติไนสฺ ทำความเข้าใจกันเสียใหม่ให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาที่ถูกต้องก็มีขึ้นในโลกไม่ได้ แต่ลู่ทางแห่งโชคดียังมีอยู่ก็คือ ถ้าเราสนใจในตัว “ธรรม” ที่เป็นหัวใจแท้ของพุทธศาสนา คือเรื่อง “ไม่มีตัวตน” (อนัตตา = SELFLESS) กันจริงๆ แล้ว ก็จะเกิดการค้นหาเรื่องกรรมหรือการกระทำชนิดที่เพิกถอนกรรมทั้งปวงขึ้นมาเอง และในที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องเดียวกันต่อไป

เรื่องความไม่มีตัวตน (อนัตตา) นี่แหละ ทำให้ไม่มีความรู้สึกว่า “ตัวฉัน” หรือ “ตัวกู” และจะนำไปสู่ความเป็น เวิลดฺ เฟ็ลโลวฺชิป ที่แท้จริง และเป็นทีเดียวหมดทั้งโลกได้ในที่สุด ถึงกับไม่มีการแบ่งเป็นพุทธ คริสต์ อิสลาม เหลืออยู่ในโลกเลย การปฏิบัติเพื่อทำลายความรู้สึกว่าตัวตนเสียนั่นแหละ คือตัวธรรมแท้ของธรรมชาติ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบและนำมาสอน

แล้วพวกเราเอามาปิดป้ายชื่อให้ว่า “พุทธศาสนาของเรา” จนเกิดการแบ่งแยกกันเป็นเราเป็นเขา กระทั่งทำให้พวกเราซึ่งกำลังเรียกตัวเองว่าพุทธบริษัท ก็พลอยกลายเป็นผู้ที่ไม่มี “ธรรม” แท้ ซึ่งเป็นธรรมชาติอันลึกซึ้ง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้นไปด้วย คงมีแต่พุทธศาสนาเนื้องอกใหม่ๆ ซึ่งมีการแบ่งแยกเราเขากันมากขึ้นทุกที ซึ่งย่อมหมายถึงการยกตนเองขึ้นเหนือผู้อื่นมากขึ้นทุกทีด้วยเหมือนกัน ดังนั้น เราจงมาพูดกันถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ เรื่อง “ธรรม” ที่เป็นขั้นหัวใจของพุทธศาสนากันให้ชัดเจนต่อไปจะดีกว่า

     เรื่องที่สาม คือ เรื่องสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ตามความหมายอันสมบูรณ์หรือสิ้นเชิง ข้าพเจ้าจะได้แยกความหมายของคำว่าธรรม ออกเป็นชนิดๆ ไป แล้วจึงค่อยชี้ให้เห็นว่า ความหมายชนิดไหน เป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา

     (๑) คำว่า “ธรรม” ในความหมายทั่วไป และกว้างที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราจะต้องทำความเข้าใจกันในขั้นแรก และจะต้องขอพูดถึงเรื่องนี้มากสักหน่อย

คำว่า “ธรรม” ในภาษาบาลีก็ตาม ในภาษาสันสกฤตก็ตาม เป็นคำที่มีความหมายกว้างที่สุด คือ ความหมายถึงสิ่งทุกสิ่งทั้งที่มนุษย์รู้จักและยังไม่รู้จัก คำๆ นี้เป็นคำพูดคำเดียวที่ประหลาดที่สุดในโลก จนไม่อาจจะแปลไปเป็นภาษาอื่นได้ นอกจากภาษาที่ให้กำเนิดแก่คำๆ นี้เอง เพื่อเป็นการประหยัดเวลา และเป็นการเข้าใจได้ง่ายแก่ทุกท่านในที่นี้ โดยเฉพาะข้าพเจ้าขอเสนอบทจำกัดความบทหนึ่งของคำๆ นี้ ตามที่ข้าพเจ้าเห็นว่าถูกต้องที่สุด ตามหลักแห่งภาษาทั้งสองนั้น

คำจำกัดความนั้น มีว่า “สิ่งที่เรียกว่า ธรรม นั้นคือ (๑) ตัวธรรมชาติ (NATURE) (๒) ตัวกฎของธรรมชาติ (LAW OF NATURE) (๓) ตัวหน้าที่ (DUTY) ที่มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติ และ (๔) ตัวผล (RESULTS) ต่างๆ อันเกิดขึ้นจากการกระทำหน้าที่นั้นๆ นั่นเอง

สิ่งทั้ง ๔ ประเภทนี้ สรุปลงได้ในคำพูดเพียงพยางค์เดียวว่า “ธรรม” อันเป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลก ดังที่กล่าวแล้ว ผู้ที่รู้ภาษาบาลีดี ย่อมยืนยันความจริงข้อนี้ได้ดี ขอให้ไปศึกษาเอาอย่างละเอียดจากผู้รู้ภาษาบาลีเถิด

ภาษาทางพุทธศาสนา เรียกตัวธรรมชาติว่า สภาวธรรมเรียกกฎของธรรมชาติว่า สัจธรรม เรียกหน้าที่ ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติตามกฎของธรรมชาติว่า ปฏิปัตติธรรม และเรียกผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ว่า ปฏิเวธธรรม หรือเรียกโดยทั่วไปอีกอย่างหนึ่งว่า วิปากธรรม

ดังนั้นเป็นอันว่าสิ่งทั้งสี่นี้ มีคำอธิบายอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วในคัมภีร์ของพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่รวมกันแล้วก็ยืดยาวเท่ากับปริมาณของพระไตรปิฎก พร้อมทั้งอรรถกถาทั้งหมดรวมกัน แต่อย่างไรก็ตาม ท่านทั้งหลายจะเห็นได้เองแล้วว่า เรื่องทั้งสี่เรื่องนั้น ล้วนแต่เกี่ยวกับธรรมชาติทั้งนั้น ไม่แง่ใดก็แง่หนึ่ง

ดังนั้นจึงถือว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องตายตัวเด็ดขาดอยู่ในตัวธรรมชาติ และไม่อาจจะแยกออกจากสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติไปได้เลย ธรรมชาติที่แท้ชนิดนี้ ไม่มีการแยกเป็นเขาเป็นเรา เป็นยุโรปหรือเอเชีย เป็นพุทธ เป็นคริสต์ หรืออิสลาม เป็นต้นได้ แต่มนุษย์ได้ดื้อดึงต่อธรรมชาติอย่างหลับหูหลับตา โดยทำการสมมติแยกมันออกเป็นเรา เป็นเขา จนได้ ด้วยการทำไปตามความรู้สึกที่ฝืนกฎธรรมชาติ หรือผิดกฎธรรมชาติ ซึ่งกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผิดธรรม

เพราะหลักธรรมชาติสี่ประการดังกล่าวแล้วนั้น รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” “เพียงคำเดียว” เมื่อผิดกฎธรรมชาติหรือผิดธรรมแล้ว ก็ต้องได้รับผลตามกฎของธรรมชาติและเกิดปัญหายุ่งยากต่างๆ ขึ้นมา จนมนุษย์ไม่สามารถสะสางได้ตามลำพัง โดยปราศจากความรู้อันเป็นหัวใจของธรรมหรือของธรรมชาตินั้นๆ ซึ่งเรียกในที่นี้ว่า “หัวใจของพุทธศาสนา”

เมื่อสิ่งที่เรียกว่าธรรม มีอยู่ถึง ๔ ประการ ดังที่กล่าวแล้ว หรืออาจจะมากกว่านั้นได้ ดังนี้แล้ว เราจะระบุธรรมส่วนไหนของประเภทไหนว่า เป็นธรรมชนิดที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาโดยเฉพาะเล่า ?

     (๒) “ธรรม” ส่วนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา พระพุทธภาษิตในสังยุตตนิกาย ตรัสไว้ในตอนหนึ่งเป็นใจความว่า ธรรมทั้งหมด (ทั้งสภาวธรรม สัจธรรม ปฏิปัตติธรรม และปฏิเวธธรรม) ที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น มีปริมาณมากเท่ากับใบไม้หมดทั้งป่า ส่วนธรรมที่ทรงนำมาสอนนั้น (เท่ากับใบไม้เพียงกำเดียว จากใบไม้หมดทั้งป่านั้น กล่าวคือ เฉพาะเรื่องอริยสัจสี่ในส่วนที่เป็นการปฏิบัตินั้นเอง

อีกแห่งหนึ่งตรัสไว้ในบาลี อลคัททูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มีขอบเขตแคบเข้ามาอีกโดยตรัสว่า ตถาคตกล่าวสอนแต่เรื่องความทุกข์ และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น ในบาลีจูฬตัณหาสังเขยยสูตร มัชฌิมนิกาย ได้ตรัสไว้อย่างรัดกุมถึงที่สุด โดยตรัสไว้เป็นใจความว่า คำสอนของพระองค์ทั้งหมดทั้งสิ้น สรุปลงได้เป็นประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวว่า

สพเพฺ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ซึ่งแปลว่า “สิ่งทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นตัวตนหรือของตน” ดังนี้ จากพระพุทธภาษิตเหล่านี้ ทำให้เราสรุปความได้ว่า “ธรรม” ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น คือหลักความจริงที่ว่า

     (๒.๑) ธรรมชาติทั้งปวง ทั้งที่เปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ใครจะไปถือเอาว่าเป็นตัวตน หรือเป็นของตนไม่ได้

     (๒.๒) กฎของธรรมชาติมีอยู่อย่างเด็ดขาดว่า ถ้าไปยึดถือหรือมั่นหมายสิ่งใด ว่าเป็นตัวตนหรือของตนก็ตามเข้าแล้ว จะต้องเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที ไม่โดยตรงก็โดยเร้นลับ

    (๒.๓) ดังนั้นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติก็คือ กระทำสิ่งต่างๆ ที่ควรกระทำ และรับผลแห่งการกระทำนั้นๆ ไปโดยไม่ต้องมีความยึดถือว่าตัวตนหรือของตน ดังที่ได้กล่าวแล้ว


     (๒.๔) เรามีชีวิตอยู่ด้วยกันในโลกนี้ ด้วยความยินยอมกันได้ทุกประการ โดยไม่ต้องเบียดเบียนกัน เพราะไม่มีความยึดมั่นสิ่งใด โดยความเป็นของตนหรือเป็นตัวตนนั่นเอง นี้คือตัว “หลักธรรม” ส่วนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาและตรงตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย – “ธรรมทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่น” ดังที่กล่าวมาแล้ว

“ความไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง” ในที่นี้ ต้องอยู่ในรูปของการปฏิบัติทางกาย วาจา ใจ อยู่แล้วจริงๆ มิใช่เพียงแต่อยู่ในตำรับตำรา ในรูปของปรัชญาหรือวรรณคดี หรือจิตวิทยาอันไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่กำลังเป็นอยู่ในเวลานี้ เราควรย้ำข้อความนี้ลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า “ธรรม” ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น คือความไม่ยึดมั่นถือมั่น ที่อยู่ในรูปของการปฏิบัติโดยตรง

การปฏิบัติที่กล่าวนี้ ย่อมเรียกหาความรู้แห่งเรื่องนี้เอาเองในเบื้องต้น และนำมาซึ่งผลอันพึงปรารถนามาได้ในที่สุด โดยตัวมันเอง เกี่ยวกับเรื่องนี้เราจะต้องระลึกถึงบุคคลเป็นอันมากในครั้งพุทธกาล ได้เข้าถึงตัวแท้ของพุทธศาสนา และเป็นพระอรหันต์กันเป็นจำนวนมากมาย โดยไม่มีความรู้ทางปรัชญา วรรณคดี หรือจิตวิทยาของพุทธศาสนา ชนิดที่พวกเรากำลังรู้กันอยู่อย่างฟุ่มเฟือยในสมัยนี้เลย

ท่านเหล่านั้นมีแต่การปฏิบัติโดยตรง โดยอาศัยสปิริตจวล เอ็กซฺปีเรียนซฺ (Spiritual Experience) ของตนเอง ที่เข้ารูปกันได้กับคำสอนของพระพุทธองค์ที่ตนได้ฟังอยู่ในขณะนั้น เป็นปทัฏฐานโดยไม่ต้องเกี่ยวกับปัญหาอันยุ่งยากทางปรัชญาเป็นต้น ดังที่กล่าวแล้ว แม้ว่าในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาเท่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้อความที่อยู่ในรูปของปรัชญา วรรณคดี จิตวิทยา ตรรกวิทยา และอื่นๆ เช่น โบราณคดี เป็นต้น อย่างมากมายก็ตาม ก็มิได้ถือว่านั่นเป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนาเลย แต่เป็นเพียงเครื่องห่อหุ้มและประดับประดาหัวใจของมันเท่านั้น

ดังนั้น เราจึงถือว่าความรู้เรื่องตัวธรรมชาติก็ดี เรื่องกฎของธรรมชาติก็ดี เรื่องหน้าที่ของมนุษย์ตามกฎของธรรมชาติก็ดี และเรื่องผลอันจะพึงได้รับจากการกระทำหน้าที่นั้นก็ดี อันล้วนแต่เป็นความรู้ซึ่งจะทำให้เราไม่เกิดความยึดมั่นเท่านั้น ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือสรุปเป็นกฎสั้นๆ ว่า ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ที่มนุษย์ปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือหัวใจของพุทธศาสนา

เมื่อเราได้เข้าถึงธรรมที่เป็นหัวใจแห่งพุทธศาสนาของเราอย่างถูกแล้ว เราก็จะได้เหลียวมองไปยัง “ธรรม” ที่เป็นหัวใจแห่งศาสนาอื่นๆ ที่เป็นของเพื่อนร่วมโลกของเราดูบ้าง เพื่อ “เวิลดฺ เฟ็ลโลวฺชิป (World Fellowship)” ของเรา จะขยายตัวออกไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ คือเต็มตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ หรือที่ธรรมชาติเรียกร้องต้องการก็ตาม

     (๓) “ธรรม” ที่เป็นหัวใจจริงของพุทธศาสนานั้น เป็นสิ่งเดียวกันกับ “ธรรม” ที่เป็นหัวใจของศาสนาอื่นด้วยกับทุกศาสนา ข้าพเจ้าขอยืนยันความเห็นข้อนี้ เพื่อการพิสูจน์ เพราะเป็นสิ่งที่ควรพิสูจน์อย่างยิ่ง

สิ่งแรกที่สุด ที่เราจะต้องมองให้เห็นกันเสียก่อน ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ประจักษ์กันแล้วว่า ศาสนาที่แท้จริงทุกศาสนา ย่อมมุ่งหมายเพื่อกำจัดความมีตัวเป็นของตน ของคนทุกคนในโลก ไม่มีศาสนาไหนเลย ที่เว้นจากความมุ่งหมายอันนี้ ศาสนาที่มีพระเป็นเจ้า (God) ก็สอนให้มอบตัวเองให้แก่พระเป็นเจ้าเสีย หรือทำให้เป็นตัวของพระเป็นเจ้าไปเสีย อย่ามีตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัว ไม่ว่าในขนาดที่จะเป็นอีโกอิสมฺ (E
goist) หรือเป็นเซ็ลฟิชเนสสฺ (Selfishness) ก็ตาม

แม้ในบางศาสนาจะสอนว่ามีโซล หรืออาตมัน ก็สอนให้มีอย่างชนิดแท้จริง คือโซล หรืออาตมัน ที่เป็นอันเดียวกันกับพระเป็นเจ้า มิใช่มีอาตมัน ชนิดที่เป็นที่ตั้งแห่งความเห็นแก่ตัวของตัว โดยเฉพาะส่วนศาสนาที่ไม่มีพระเป็นเจ้า เพราะถือการกระทำของตนเองเป็นหลัก ก็ยังคงสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัวอยู่นั่นเอง และยังสอนเลยไปถึงการทิ้งตัว หรือลืมความมีตัวของตัวเสีย โดยไปเห็นแก่อุดมคติของมนุษย์ และทำทุกอย่างเพื่อมนุษย์ เพื่อมนุษยธรรม เพื่ออุดมคติของมนุษย์โดยตรง

แม้ที่สุดแต่ลัทธิศาสนาที่ถูกจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิในครั้งพุทธกาล เช่น พวกที่สอนเรื่องอนัตตาอย่างผิดๆ เป็นต้น ก็ยังมีการสอนเพื่อทำลายความรู้สึกว่ามีตัวตน หรือทำลายความเห็นแก่ตนอยู่นั่นเอง

ดังนั้น เราจึงควรถือเป็นหลักว่า ศาสนาที่แท้จริงทุกศาสนา ล้วนมีแต่มีความมุ่งหมายที่จะทำลายความยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวเป็นของตัว อย่างตรงกันแท้โดยหลักการใหญ่ ส่วนการที่จะมีข้อแตกต่างปลีกย่อยเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติเป็นต้นบ้างนั้น ย่อมไม่เป็นการหักล้างความเหมือนกันในส่วนที่เป็นหัวใจดังที่กล่าวแล้ว

ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ย่อมเป็นการเพียงพอสำหรับการที่เราจะถือว่า คำพูดเพียงประโยคสั้นๆ ประโยคเดียวที่ว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น ย่อมตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นหัวใจของศาสนาอื่นทุกศาสนาด้วย และนั่นคือเหตุผลอันชอบธรรม ที่เราจะกล่าวว่า เวิลดฺ เฟ็ลโลวฺชิป (World Fellowship) นั้น ต้องมีขอบเขตครอบคลุมไปถึงศาสนาทุกศาสนา ไม่ควรจะจำกัดอยู่แต่ในขอบเขตของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นธรรม จะไม่ตรงตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้ หรือต้องการ

เราต้องนึกไว้เสมอว่า ธรรมหรือธรรมชาตินั้น เป็นของสิ่งเดียวแบ่งแยกไม่ได้ ถ้าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งธรรม หรือแห่งธรรมชาติแล้ว เราก็ควรพยายามไปในทางที่จะขยายเขตแห่งเวิลดฺ เฟ็ลโลวฺชิป ออกไปเต็มตามเจตนารมณ์ของธรรม หรือของธรรมชาตินั้น แม้เรายังไม่ได้ขยาย หรือขยายไม่ได้ เพราะทำความเข้าใจกันยังไม่ได้ก็ตาม

เราก็ควรจะยอมรับอยู่แล้วว่า ยังมีเพื่อนพุทธบริษัทที่เรายังไม่ยอมรับเขาว่าเป็นพุทธบริษัทอยู่เต็มไปในโลกนี้ ทั้งที่เขาเหล่าโน้นก็ยังไม่รู้สึกตัวว่าเป็นเช่นนั้น ดังนั้นขอให้เรามาพิจารณากันเป็นข้อสุดท้ายที่นี่ ในวันนี้ว่า ขอบเขตของความเป็นพุทธบริษัทนั้น ธรรมชาติกำหนดไว้อย่างไรและเพียงไหน

     (๔) ใครก็ตามในโลกนี้ ที่ยึดถือหลักแห่งการมีชีวิตเป็นอยู่ ด้วยการควบคุมและทำลายอีโกอิสมฺแล้ว ต้องถือว่าเขาเหล่านั้น เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงอยู่แล้วทั้งหมดทั้งสิ้น เราไม่จำเป็นจะต้องพูดถึงว่า ใครเป็นเถรวาท ใครเป็นมหายาน ซึ่งเป็นเรื่องของทะเบียนหรือบัญชีเหมือนบัญชีของปศุสัตว์ที่เราเลี้ยงไว้เป็นคอกๆ มากกว่าอย่างอื่น พุทธศาสนาโดยเนื้อแท้หรือพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้น มิได้เป็นเถรวาทหรือมหายานเลย  

พระพุทธองค์ยังทรงมีชีวิตอยู่ ในรูปแห่งธรรมและวินัยธรรมและวินัยที่เป็นอย่างแท้จริงนั้น จะเป็นเถรวาทหรือมหายานไปไม่ได้ จะเป็นได้ก็แต่เพียงแยกกัน ตามที่เราพวกไหนเลือกเอาธรรมและวินัยส่วนไหนเป็นหลักปฏิบัติของตนตามรสนิยม หรือตามที่สิ่งแวดล้อมบังคับ

เนื้อแท้ของธรรมและวินัยนั้น คือการปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นในตัวตนหรือของตนด้วยกันแต่อย่างเดียว เมื่อความจริงเป็นอยู่ดังนี้ ความเป็นเถรวาทหรือมหายานอันแท้จริงก็มิได้มี เพราะทุกคนมุ่งหมายทำอย่างเดียวกัน เพื่อผลอย่างเดียวกัน แตกต่างกันเพียงวิธีที่สะดวกเป็นส่วนตัว

ความแตกต่างทำนองนี้ อาจจะแตกต่างกันได้เป็นอย่างมาก แม้ภายในวงเถรวาทกันเอง หรือในวงมหายานกันเอง และอาจจะเป็นไปได้ในบางกรณี ถึงกับว่าความแตกต่างหรือขัดแย้งกันภายในวงเถรวาทกันเองนั้น อาจจะมีมากไปเสียกว่าความแตกต่างหรือขัดแย้ง อันมีอยู่ในระหว่างเถรวาทกับมหายานในส่วนทิฏฐิหรือความเห็น ซึ่งกำลังดำเนินไปตามความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกของตัวด้วยซ้ำไป

ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยธรรมหรือโดยธรรมชาติแล้ว หามีเถรวาทหรือมหายานที่แท้จริงไม่ แต่กลับไปมีของจริง (TRUTH) หรือข้อเท็จจริง (FACT) อยู่ที่ว่า ใครก็ตามปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว คนนั้นเป็นพุทธบริษัทแท้ ใครก็ตามปฏิบัติเพื่อความเห็นแก่ตัว คนนั้นไม่ใช่พุทธบริษัทเสียเลย ดังนี้ไปเสียมากกว่า

เมื่อเราถือหลักว่า ใครมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยการควบคุมและทำลายความเห็นแก่ตัว ผู้นั้นเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง ดังนี้แล้ว เราก็อาจจะมองเลยออกไปนอกเขตที่เราสมมติกันอยู่ ในบัดนี้ว่าเขตของพุทธบริษัทมองให้กว้างออกไปด้วยสายตาอันนี้ จนกระทั่งทั่วโลก จนกระทั่งทุกๆ โลก กี่ร้อยกี่พันโลก แม้เป็นโลกที่เรายังมองไม่เห็นด้วยตา เราก็เชื่อว่ามีอยู่เหล่านั้นให้ทั่วถึง

เราก็จะพบด้วยความดีอกดีใจ ว่าเพื่อนพุทธบริษัทของเรานั้น มีอยู่ทั่วไปทั้งโลกและทุกๆ โลก หรือในทุกๆ ศาสนาที่มีการสอนให้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนหรือของตน อย่างตรงตามที่ธรรมชาติกำหนดไว้และต้องการ และตรงตามเจตนารมณ์ของ “ธรรมะ” ที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ขอบเขตแห่ง พสล. เป็นต้นของเรา มีอยู่อย่างใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ เรากำลังให้ความสนใจแก่มันน้อยเกินไป หรือถึงกับไม่สนใจกันเสียเลย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะเรียกว่าเราพุทธบริษัทส่วนน้อย กำลังทำการแบ่งแยกและตีตนออกห่างจากเพื่อนพุทธบริษัทส่วนใหญ่ ในลักษณะที่ไม่ตรงตามที่ธรรมชาติต้องการได้หรือไม่ นั้นเป็นสิ่งที่ต้องคิดดูกันให้ดี หรือเอาไปคิดกันเสียใหม่ให้หลายครั้งหลายหน ถ้าเราเข้าถึงความหมายของคำว่า “ธรรม” กันอย่างถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว การคิดได้อย่างถูกต้องนั้น จะเป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย

     สรุปความ ข้อความที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าขอสรุปใจความสั้นๆ เพื่อความสะดวกแก่ท่านทั้งหลายในที่นี่ว่า ในเวลาที่แล้วมา พวกเราสนใจในตัว “ธรรม” ซึ่งเป็นหัวใจของพุทธศาสนากันน้อยไป เราศึกษาเรื่อง อนัตตา สุญญตา เรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น และเรื่องปฏิจจสมุปบาทหรือเรื่องอริยสัจกันแต่ในรูปของวรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา เป็นต้น แต่มิได้อยู่ในรูปของการปฏิบัติดังเช่นที่เคยกระทำกันในครั้งพุทธกาล

เราพูดกันแต่เรื่องวิธีดำเนินงานและประสานงานในการประกาศธรรม จนลืมพูดกันถึงตัวธรรมแท้จริงที่ควรประกาศ เราพูดกันแต่การประกาศราวกะว่าเราเป็นพระอรหันต์ผู้จบกิจในพระศาสนากันแล้วทุกคน ดังนั้นเรื่องที่ประกาศออกไป จึงเป็นเพียงเรื่องจริยธรรมทางสังคมหรือการเมืองกันเสียมากกว่า แทนที่จะเป็นเรื่องทางปรมัตถธรรม ในระดับที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อเรารู้จักตัวธรรมแท้กันน้อยเกินไป สิ่งที่เราประกาศออกไปนั้น จะไม่เพียงพอที่จะให้เกิดความสนใจแก่นักศึกษาและนักปฏิบัติที่กำลังก้าวหน้า อันมีจำนวนมากขึ้นทุกทีในโลกปัจจุบันนี้ องค์การที่เป็นปึกแผ่น เช่น องค์การพสล.นี้ ควรมีกิจการที่ทำให้คนเข้าถึงหัวใจพุทธศาสนาจริงๆ ยิ่งกว่ากิจการทางธุรการหรือวิธีการ ที่เนื่องด้วยพิธีรีตองทางศีลธรรมหรือวัฒนธรรมเป็นต้น ซึ่งเป็นเพียงพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น

เมื่อเราศึกษาพุทธศาสนาในแง่ของปรัชญากันอย่างเพียงพอแล้ว เรายังต้องประชุมกัน เพื่อหาวิธีแปรรูปของเรื่องที่เป็นปรัชญานั้น ให้มาอยู่ในรูปของการปฏิบัติ ที่คนสมัยนี้จะปฏิบัติกันได้จริงๆ ให้จนได้ เพื่อเข้าถึงตัวธรรมแท้ให้ได้ เมื่อเข้าถึงตัวธรรมแท้กันได้จริงๆ แล้ว เราก็สามารถขยายวงของ พสล. เป็นต้นออกไป เป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งโลกได้ โดยไม่จำกัดอยู่ในแต่ขอบวงในของคนจำนวนน้อยที่แบ่งแยกเป็นเราเป็นเขากันอยู่

การทำโดยวิธีนี้จะสิ้นเปลืองน้อยแต่ได้ผลมาก และสูงกว่าการกระทำชนิดที่เป็นการเข็นผู้ไม่รู้จักธรรมเข้าไปในธรรม โดยอาศัยพิธีรีตองอันสง่าเป็นเครื่องมือ หรือแม้แต่อาศัยเกียรติของสมาคมที่มีเกียรติเป็นเครื่องผลักดันเป็นต้นก็ตาม

ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านทั้งหลายว่า ข้อความที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคล ที่เสนอแก่ท่านทั้งหลาย ด้วยความหวังดีแก่เพื่อนมนุษย์และพุทธศาสนา หากแต่เป็นความเห็นของผู้ที่ได้สนใจในกิจการเผยแพร่พุทธศาสนาทั่วๆ ไปมาแล้ว เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี จึงหวังว่าจะได้รับความสนใจของท่านทั้งหลายบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อนำไปพิจารณากันดูตามสมควร เพื่อหาทางปรับปรุงกิจกรรมของพุทธบริษัทเป็นส่วนรวมให้ก้าวหน้าสืบไป

     ขอให้สรรพสัตว์จงได้รับประโยชน์

จากการเสียสละของพวกเราอย่างสูงสุดเถิด


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

๔. ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนานิกายต่างๆ


โดย

พุทธทาสภิกขุ


แสดง ณ สมาคมพุทธบริษัทไทย-จีนประชา
๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๓


1.png



     ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย บรรดาประชุมกันอยู่ ณ สถานที่นี้      


     ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี ที่ได้มีโอกาสพบเห็นเพื่อนพุทธบริษัท ที่ยังไม่ได้เคยพบกันมาก่อน โดยเฉพาะพุทธบริษัทชาวจีน ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยคิดว่าจะมีอยู่อย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคงถึงเพียงนี้ และข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณสมาคม ในการที่ขอร้องให้ข้าพเจ้ามากล่าวปาฐกถาในวันนี้ ซึ่งข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง

และยังมีอีกอย่างหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าจะต้องแถลงให้ทราบเสียแต่เบื้องต้นว่า การกล่าวปาฐกถาในวันนี้นั้น ข้าพเจ้าต้องขอโอกาสกล่าวอย่างฉันญาติ คือพูดอะไรได้ตรงๆ ตามชอบใจ ไม่ต้องเกรงใจกัน หรือต้องระมัดระวังคำพูดอะไรให้มากมายไป ไม่มีอะไรเคลือบแฝงทางการเมือง เพราะเราเป็นพวกเดียวกันโดยแท้จริง


คือ เป็นพวกที่กำลังศึกษาและปฏิบัติ เพื่อพ้นจากปวงทุกข์ในโลกนี้ ถ้าถือเอาศาสนาเป็นใหญ่ ข้าพเจ้าก็เป็นพุทธบริษัท ท่านทั้งหลายก็เป็นพุทธบริษัท แม้จะถือเอาเชื้อชาติเป็นประมาณ ข้าพเจ้ามีเลือดแห่งเชื้อชาติจีน เพราะบรรพบุรุษบางคนของข้าพเจ้าเป็นจีน เพราะฉะนั้นจะมีอะไรอีกเล่า ที่จะเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้พูดจากันโดยเปิดเผย ตรงไปตรงมา และถ้าบางคำเกิดไม่ไพเราะขึ้น ท่านทั้งหลายจะไม่ให้อภัย

เนื่องจากครั้งนี้เป็นครั้งแรก และมีเวลาจำกัดไม่มากมายนัก ข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะกล่าวถึง ข้อที่ควรทราบในเบื้องต้นโดยสังเขปทั่วไป จะเหมาะกว่าที่จะกล่าวถึงเรื่องใหญ่และละเอียดซับซ้อน จะได้ทันแก่เวลา และเป็นเหมือนการทดลองซักซ้อมกันดูก่อนว่า เราเข้าใจหลักใหญ่ในเบื้องต้นตรงกันหรือไม่


และเพื่อทราบว่าด้วยวิธีการแสดงสองภาษา คือ จีน-ไทย มีผู้แปลคู่กันไปเช่นนี้ จะสามารถแสดงให้เกิดผลได้เพียงไหน ถ้าปรากฏว่าเป็นผลดี หวังว่าสมาคมจะได้จัดให้มีการแสดงทำนองนี้เป็นประจำ ทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพุทธบริษัทชาวจีนและชาวไทย ได้เป็นอย่างน่าชื่นใจทุกประการ

      ข้อแรกที่ข้าพเจ้าจะกล่าวต่อไปนั้น คือ ปัญหาเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนานิกายต่างๆ โดยเฉพาะคือ มหายานกับหินยาน และในนิกายใหญ่ๆ นิกายหนึ่งๆ นั้น ก็ยังแบ่งเป็นนิกายย่อยๆ อีกเป็นอันมาก ข้อนี้ทำให้เกิดความหนักอกหนักใจแก่คนบางคน ซึ่งไม่เข้าใจในเรื่องนี้


โดยเข้าใจไปว่า เมื่อหลายนิกายกล่าวข้อความไม่ตรงกันแล้ว จะมีถูกพวกหนึ่ง มีผิดพวกหนึ่ง เลยไม่ทราบว่าจะถือเอาข้างไหนดี หรือเกิดมีคนบางพวกถือมั่นตามที่พวกตนเคยถือมาแต่ก่อนแล้วติเตียนพวกอื่นก็มี ความเสียหายเช่นนี้ ถ้ามีขึ้น ก็เกิดจากความเข้าใจผิดในปัญหาระหว่างนิกายนั่นเอง ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องกล่าวก่อนเรื่องอื่น

ในเรื่องนี้ ท่านจงพิจารณาดูอย่างง่ายๆ คือ ขึ้นชื่อว่าแสงไฟแล้ว ย่อมส่องทางให้แก่ผู้ส่องทั้งนั้น เราจะใช้กระจกตะเกียงสีขาว สีแดง สีเขียว หรือสีอะไรก็ตามที มันย่อมส่องให้เราเห็นถนนหนทางที่เราจะเดินไปได้ด้วยกันทั้งนั้น ขอแต่ให้มันมีแสงก็แล้วกัน สีเขียวสีแดงเหล่านั้น ไม่ทำให้เราต้องถึงกับเดินไปไม่เห็น หรือถึงกับหลงทาง ครั้นเราเดินไปถึงที่ๆ เราต้องการแล้ว ตะเกียงที่มีสีต่างกันนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย


บางทีจะเป็นการฉลาดเสียอีก ในการที่เราอยู่ในภูมิประเทศที่ต่างกัน แล้วเราจะใช้ตะเกียงมีกระจกสีต่างกัน คือให้ตรงกับความต้องการหรือความเหมาะสมของเรา ดีกว่าที่จะทำตามๆ กัน เพื่อให้เหมือนกันไปหมด ทั้งที่เรามีจิตใจ มีการศึกษา หรือที่อยู่อาศัยต่างกัน

มหายานกับหินยานนั้น ท่านทั้งหลายก็เห็นได้แล้วว่า เป็นพุทธศาสนาหรือแสงสว่างด้วยกัน จะมีผิดกันบ้างก็ตรงที่เครื่องประกอบภายนอกเล็กๆ น้อยๆ อันเนื่องมาจากความต้องการปลีกย่อยของบุคคลผู้นำพระศาสนาไปเผยแพร่ในที่นั้นๆ ซึ่งมีประชาชนต่างกัน มีขนบธรรมเนียมต่างกัน มีความจำเป็นบางอย่างที่ครอบงำเขาอยู่ต่างกัน แต่ทั้งสองนิกายก็ยังคงเป็นศาสนา หรือแสงสว่างอยู่นั่นเอง


เวลาล่วงมาตั้ง ๒๐๐๐ ปีกว่าแล้ว ใครจะไปชี้ได้โดยเด็ดขาดว่า ตะเกียงดวงไหนเป็นตะเกียงดวงเก่า และใครจะไปยืนยันได้ว่า ถ้าผิดจากตะเกียงดวงเก่าแล้วมันจะไม่ให้แสงสว่าง ใครบ้างที่สามารถทำตะเกียงที่จุดขึ้นแล้ว จะไม่มีแสงเสียเลยแม้แต่เล็กน้อย และใครบ้างจะคัดค้านว่า ถ้าใช้กระจกหน้าตะเกียงเป็นสีต่างๆ แล้ว มันจะหมดคุณภาพในการส่องถนนหนทางสำหรับเดิน

พุทธศาสนาในธิเบต ก็ไม่เหมือนกับพุทธศาสนาในประเทศจีน ในประเทศจีนก็ไม่เหมือนกันแท้กับในญี่ปุ่น, ในญี่ปุ่นก็ยิ่งไม่เหมือนกับในอินเดีย, ในอินเดียไม่เหมือนในพม่า, ในพม่าก็ไม่เหมือนในลังกา, ถึงแม้ในลังกา ก็มิใช่ว่าจะตรงกันทุกประการกับพุทธศาสนาในประเทศไทย แต่ทั้งนั้นทั้งนี้ ขอให้เข้าใจว่ามันไม่เหมือนกันเฉพาะตัวตะเกียง หรือสีของกระจกหน้าตะเกียงเท่านั้น แต่แสงสว่างของตะเกียงทั้งหมดนี้ย่อมส่องให้เห็นภาพของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราได้ด้วยกันทั้งนั้น


แม้ว่าแสงสว่างนั้นๆ จะมากน้อยกว่ากันบ้าง มันก็ไม่อาจจะลวงตาจนทำให้เราเห็นภาพนั้น ผิดจากความเป็นจริงไป เช่น เห็นเลขหนึ่งเป็นเลขสอง หรือเห็นโต๊ะเป็นเก้าอี้ไปได้เลยเป็นอันขาด ถ้าไม่เชื่อ ท่านลองอ่านหนังสือด้วยไฟสีแดง สีเขียว สีม่วง สีขาว หรือสีอะไรก็ตามดูเถิด มันจะได้ความที่อ่านออกมานั้นเหมือนกันหมด

ฉะนั้นเป็นอันว่า ไม่มีปัญหาในระหว่างนิกาย ที่เราจะต้องระแวงต่อกันหรือถึงกับรังเกียจกัน ความเป็นพุทธบริษัทชาวจีนหรือชาวไทย ไม่สามารถบิดผันแสงสว่างของพุทธศาสนาที่จะส่องทางแห่งความรอดพ้นจากปวงทุกข์ให้แก่ชาวโลก ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ พุทธศาสนาอย่างจีนหรือพุทธศาสนาอย่างไทย จึงเป็นอันเดียวกันเพราะเหตุนี้

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จะเป็นกี่ล้านองค์ก็ตาม สอนอย่างเดียวกันหมด ไม่แตกต่างกันเลยฉันใด พุทธศาสนาของพระองค์ ไม่ว่านิกายไหน ย่อมสอนมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกัน ให้แสงสว่างมีคุณภาพทำนองเดียวกันฉันนั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ควรวิสัชนากันนั้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับนิกายนั้น นิกายนี้


แต่มันเป็นปัญหาที่ว่าพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ทุกๆ พระองค์ได้ประทานแสงสว่างไว้อย่างไรต่างหาก ไม่มีปัญหาเรื่องฆราวาสหรือบรรพชิต แต่เป็นปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะสมัครมีแสงสว่างนั่นหรือไม่ต่างหาก ไม่มีปัญหาเรื่องผู้ชายหรือผู้หญิง เด็กหรือผู้ใหญ่ มั่งมีหรือยากจน ฉลาดหรือโง่ แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่าเขาจะสมัครเดินทางแนวแห่งแสงสว่างนั่นหรือไม่เท่านั้น

แสงสว่างอันนี้ เป็นของกลางสำหรับมนุษย์ทุกคน กระทั่งถึงสัตว์เดรัจฉานที่รู้จักรักสุขเกลียดทุกข์ทั่วไปหมด เพราะว่าชีวิตทั้งหลายแก่พวกพุทธบริษัท การแบ่งแยกควรมีเฉพาะเรื่องการกินอยู่ การแต่งงาน การบ้านการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องโลกๆ เท่านั้น ทั้งสากลจักรวาล ตามที่เขาประมาณกันว่ามีอยู่ประมาณสามหมื่นจักวาล เรามาพิจารณาดูกันบัดนี้เถิดว่า ตัวเราและสหายของเราทั้งในสามหมื่นจักรวาลนั้น กำลังต้องการอะไร เรื่องนี้เองเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าจะได้กล่าวเป็นข้อที่สอง และถือว่าเป็นใจความสำคัญของปาฐกถาวันนี้

เราจะต้องถามตัวเราเองให้รู้เรื่องเด็ดขาดแน่นอนลงไปเสียก่อนว่า “เราต้องการอะไร?” ตั้งแต่เราเกิดมา เราไม่เคยหยุดนิ่ง เราเล่าเรียน เราทุกสิ่งทุกอย่าง เราวิ่งไปวิ่งมาเสมอ กระทั่งในวันนี้ เราประชุมกันอยู่ในที่นี่ ทั้งหมดนี้เราทำไปไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยนั้น เราต้องการจะทำสิ่งอื่นๆ ต่อไปอีก ไม่เคยนึกว่าจะสิ้นสุด การที่เป็นเช่นนี้ เราต้องการอะไร ถึงใครจะให้ฉันหรือทำชื่อเสียงให้แก่เราสักเท่าใด เราไม่เคยคิดว่าเราจะหยุดขวนขวายเพียงเท่านั้น เรายังดิ้นรนต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด
        
เมื่อเป็นเด็ก จงนึกดูให้ดี เราต้องการอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกับที่เรากำลังต้องการในบัดนี้ ครั้นเป็นหนุ่มเป็นสาวต้องการต่างจากเมื่อเป็นเด็กไปอีกอย่างหนึ่ง ครั้นมีอายุเป็นผู้ใหญ่กลางคน เราเปลี่ยนความต้องการต่อไปอีก กระทั่งเราเป็นคนอายุสูง เราก็เปลี่ยนความต้องการอยู่เสมอไป สมมติว่าถ้าเราจะสามารถมีอายุยืนต่อไปได้อีกสักพันปี เราก็คงจะเปลี่ยนความต้องการของเราทุกๆ ๕๐ ปี หรือถ้าสมมติว่าเราจะมีอายุได้สักล้านปี เราก็คงเปลี่ยนความต้องการของเราเองทุกๆ ๕๐ ปีอีกเหมือนกัน


จงดูเถิด เราต้องการอะไรกันแน่ และตัวเราเมื่ออายุเท่าไร ที่เราถือว่าเป็นตัวเราจริงๆ ถ้าเราอยากจะมีตัวเราสักคนหนึ่ง เราชอบที่จะชี้ลงไปว่า ตัวเราเมื่ออายุเท่าไรเป็นตัวเราที่เราพอใจจะยอมรับว่าเป็นตัวของเรา เราคงไม่ยอมรับว่าตัวเราที่โง่เขลา ทำชั่ว เดือดร้อน ว่าเป็นตัวเราที่แท้จริง แต่ในที่สุด เราก็หาตัวเราที่ฉลาด ที่ทำดีอย่างเดียว มีสุขเป็นที่พอใจตนเองอยู่เสมอ ไม่พบอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าว่าแต่เราจะทราบถึงว่าเราต้องการอะไรเลย ตัวเราคืออะไร ตัวไหนกันแน่คือตัวเรา เราก็หาไม่พบกันเสียแล้ว

พระศาสนาของเรา ทั้งฝ่ายหินยานและมหายาน เป็นเครื่องส่องสว่างให้เราพบสิ่งที่จะช่วยให้เราฉลาด ทำดีจริงๆ และเป็นสุขพอใจตนเองอยู่เสมอ แล้วยิ่งกว่านั้น ยังสอนสิ่งที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกชั้นหนึ่ง คือชั้นสูงสุดจริงๆ เป็นที่ปรารถนาของผู้เบื่อต่อการที่จะมีตัวเรา แต่ว่าชั้นนี้ อาจจะสูงเกินไปจนไม่เป็นที่ต้องการของงานทั่วไปก็ได้ ฉะนั้น เราจึงวางหลักสำหรับบรรดาสัตว์ที่ยังอยู่ในชั้นที่จะต้องมีตัวเราไปก่อน เมื่อเข้าใจและทำได้ถึงที่สุดแล้ว เราจึงไต่ขึ้นไปหาชั้นที่วางสำหรับผู้ที่เบื่อหน่ายต่อการที่จะมีตัวเราต่อไป

เมื่อเราเป็นพลเมืองดีของชาติ เป็นสุภาพบุรุษของโลก มีเงิน มีเกียรติครบถ้วน ตามที่ชาวโลกเขาต้องการกันแล้ว ก็นับว่าเราประพฤติสำเร็จลุล่วงไปได้ชั้นหนึ่ง แต่เป็นชั้นที่ยังไม่ช่วยให้เรารู้จักตัวเราอย่างแท้จริง เพราะบางคราวเราก็เกิดเบื่อหน่ายต่อความมั่งมีศรีสุขเหล่านั้นของเราขึ้นมาอย่างไม่นึกฝัน ยังอยากทำชั่วแปลกๆ ใหม่ๆ ต่อไปก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็แปลว่าเรายังไม่พบ “ตัวเราที่แท้จริง” ยังพบแต่ตัวเราที่หลอกๆ เหมือนผีหลอก


เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่พบได้เลยว่า “เราที่แท้จริงนั้น ต้องการอะไร” เมื่อไม่ทราบแน่ว่าเราที่แท้จริงต้องการอะไร ก็จำเป็นต้องหลับตาทำไปตามอำนาจความหลอกตัวเองอยู่ร่ำไปเท่านั้น เป็นเหมือนการติดคุกของพวกหลอก ตกนรกของความหลอก ทั้งที่ยังมีชีวิตเป็นๆ อยู่ทีเดียว และยืดยาวไม่ค่อยจะมีที่สิ้นสุดได้เลย เพราะฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ให้ดี คือ หาให้พบในขั้นต้น ที่เราถือว่ามีตัวเรา ว่าอะไรเป็นตัวเราที่แท้จริง ที่พอจะยึดถือเอาเป็นประมาณให้ได้เสียก่อนว่า เรากำลังต้องการอะไร

ตัวเราที่แท้จริง ที่บริสุทธิ์ ที่สงบเย็นเป็นสุข ที่สว่างแจ่มใสนั้นเท่านั้น ที่พอจะถือได้ว่าเป็นเราที่แท้จริง เป็นตัวเราดั้งเดิมหรือหน้าตาดั้งเดิมของเรา ตัวเรามีกำลังร้อนระอุเพราะความทะเยอทะยาน กำลังสกปรกมืดมัวนั้น ใครก็คงไม่อยากจะยอมรับว่าเป็นตัวเรา เพราะเหตุว่าเมื่อเอาสิ่งที่ทำให้ร้อน ให้สกปรก ให้มืดมัวเหล่านั้นออกไปเสียแล้ว สิ่งที่บริสุทธิ์และเป็นสุขแจ่มใสจะเหลืออยู่ มันเป็นสิ่งคนละอย่างและแยกออกจากกันได้ เราจึงสมัครเลือกเอาข้างสิ่งที่บริสุทธิ์ผุดผ่องว่าเป็นตัวเราเสมอ


ของที่เข้ามาหุ้มห่อ จนทำให้เราไม่รู้จักตัวเอง และไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรนั้น เป็นเพียงสิ่งที่เหมือนกับโคลนหรือของสกปรกที่มาฉาบทาเข้าที่เราเท่านั้น หาใช่ตัวเรา หรือหน้าตาดั้งเดิมของเราไม่ ครั้นเขาชำระล้างสิ่งนี้ออกไปเสียได้ ด้วยอาศัยคำสอนทางพระศาสนา เราก็เห็น “หน้าตาดั้งเดิมของเรา” หรือเรารู้จักตัวเราที่แท้จริง ถูกต้องสมกับที่เรารักที่จะมีตัวเรา

ตัวเราที่ดั้งเดิมแท้จริงนั้น เหมือนเป็นตัวเดียวกันหมด แบ่งแยกเป็นจีนก็ไม่ได้ เป็นไทยก็ไม่ได้ เป็นฝรั่งก็ไม่ได้ เป็นคนดีก็ไม่ได้ คนชั่วก็ไม่ได้ เพราะเราได้ชะล้างเอาสี หรือฉลากยี่ห้อที่ปิดปุปะไว้ชั้นนอกๆ ออกหมดแล้ว ล้างดินล้างโคลนล้างไคลอันสกปรกออกหมดสิ้นแล้ว มันจึงไม่มีลักษณะอะไรที่ทำให้เห็นว่าแตกต่างกัน จนถึงกับแบ่งแยกแตกพวกกันได้


เนื้อหนังร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เราว่ามันเป็นไปตามอำนาจของธาตุทั้งหลายที่ปรุงแต่งมันขึ้นมา มันจึงเป็นเพียงเปลือกหุ้มตัวเราอยู่นั้น ครั้นเราเอาออกเสียให้หมด เราก็เข้าถึงความไม่มีหญิง ไม่มีชาย อวัยวะที่ทำให้เกิดความรู้สึกระหว่างเพศไม่มีแล้ว ความรู้สึกว่าหญิง ว่าชายก็มีขึ้นไม่ได้ เราจึงไม่มีหญิงไม่มีชายในตัวเราที่แท้จริง

ตัวอย่างเพียงเท่านี้ ก็เป็นการแสดงเพียงพอแล้วว่า ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เรากำลังนึกคิดกันอยู่ในบัดนี้นั้น หาใช่ความนึกคิดของตัวเราดั้งเดิมที่บริสุทธิ์ไม่ มันเป็นเพียงผลของอวิชชา หรือความโง่เขลาที่เพิ่งจะพอกหุ้มเข้าภายหลัง มันพอกเสียมิดชิด และสนิทจนตัวเราดั้งเดิมไม่มีโอกาสที่จะแสดงตัวเองที่ถูกต้องออกมาได้ เพราะคนใหม่เข้ามาเป็นนายเสียราบคาบ จนคนเก่าไม่มีโอกาสที่จะแสดงตนว่า คนที่อยู่ข้างในนั้นต่างหาก เป็นคนที่บริสุทธิ์ถูกต้อง คนใหม่ที่เข้ามาบังหน้า ก็ไม่ยอมหลีกทางไป คนเก่าก็ต้องถูกเก็บซ่อนข้างในตลอดมา

ท่านทั้งหลายจงมองดู “หน้าตาดั้งเดิมของตนเอง” เถิด, มันไม่มี หัว หู ปาก จมูก ที่จะแสดงว่าเป็นจีน หรือไทย หรือฝรั่งแขก ฯลฯ มันไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีเด็กผู้ใหญ่ ไม่มีเศรษฐีหรือคนขอทาน ไม่มีคนโง่หรือฉลาด ครั้นท่านมองเห็นมันจริงๆ จนถึงกับสลดสังเวช ออกอุทานว่า “พุโธ่ ตัวเราเอ๋ย” ดังนี้แล้ว ท่านก็จะรู้จักว่า ตัวเราที่แท้จริงนั้นคืออะไร และพร้อมกันนั้นก็จะเห็นเองว่า เรากำลังต้องการอะไร ตัวเราที่แท้จริงดั้งเดิมนั้นต้องการอะไร และเปลือกนอกของมันต้องการอะไร ตัวเรากับเปลือกนอกของเรานั้น หาใช่สิ่งเดียวกันไม่

ความต้องการผู้หญิงสักคนหนึ่งนั้น เป็นความรู้สึกของความเป็นชาย ความต้องการผู้ชายสักคนหนึ่งนั้น เป็นความรู้สึกของความเป็นหญิง ความต้องการตุ๊กตาสักตัวหนึ่งนั้น เป็นความรู้สึกของความเป็นเด็ก ความต้องการรถยนต์คันใหญ่ๆ สักคันหนึ่ง หรือบ้านใหญ่ๆ สักบ้านหนึ่งนั้น เป็นความรู้สึกของความเป็นผู้ใหญ่ ฯลฯ เมื่อความเป็นหญิง หรือความเป็นชาย ความเป็นเด็ก หรือความเป็นใหญ่เหล่านี้ ไม่มีในตัวเราดั้งเดิมแท้จริงแล้ว มันก็ไม่ต้องการผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่ต้องการตุ๊กตาหรือรถยนต์ หรือบ้าน ฯลฯ เป็นต้น เหล่านั้นเลย แม้ท่านลองคิดดูอีกทีหรือว่า มันต้องการอะไร?

ตัวเราดั้งเดิมนั้น ไม่ต้องการอะไรเลย เพราะมันเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งอยู่เหนือธรรมชาติที่เป็นสังขาร หรือรูปนาม ความต้องการนั่น ต้องการที่นั้น ต้องการสำหรับร่างกาย และสำหรับบำรุงจิตที่กำลังถูกกิเลสตัณหาห่อหุ้ม หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความต้องการเป็นรูปและนามที่ยังเต็มไปด้วยความยึดถือตัวเราดั้งเดิม ซึ่งพ้นไปจากความเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีร่างกายเป็นเนื้อหนัง มันก็ไม่ต้องการอาหาร ไม่ต้องการเสื้อผ้า เป็นต้นนี้ เป็นเพียงของร่างกายหรือของจิตที่ยึดถือเอาร่างกายนี้ว่า เป็นตัวตนหรือของตน อันเรียกว่า สักกายทิฏฐิ เป็นกิเลสอันแรกที่ปุถุชนต้องละ เพื่อความบรรลุมรรคผลสูงๆ ขึ้นไป

เพราะฉะนั้น ในขั้นต้นๆ ของการปฏิบัติ จึงมีหลักสำคัญแต่อย่างเดียว คือ รู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นหาให้พบว่า ถ้าจะมีตัวเราที่แท้จริงกันแล้ว สภาพเช่นไรเป็นตัวเราที่แท้จริง สภาพเช่นไรเป็นตัวปลอมหรือกิเลส ครั้นหาพบแล้ว เราจะได้เลิกการทำตามอำนาจของกิเลสและควบคุมกิเลสนั้นๆ ให้อยู่ในอำนาจของเรา ในที่สุดก็จะมีความสุข เบาสบาย บริสุทธิ์ ผ่องใส


ทั้งนี้เพราะเหตุว่า สิ่งที่ควรได้รับสมมติว่าเป็นตัวเราอันแท้จริงนั้น ไม่ต้องการอะไร มันจึงไม่ขาดแคลนอะไร เป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ การเป็นเช่นนี้ นับว่าได้ปฏิบัติเสร็จสิ้นไปชั้นหนึ่ง คือ ถอนความรู้สึกว่าตัวเราออกมาเสียได้ จากนามและรูป ไม่เห็นว่านามรูปเป็นเรา หรือของเราอีกต่อไป ทั้งยังเห็นอีกด้วยว่า ตัวเราได้สลัดของปลอมทิ้ง ไม่มีอาลัยเยื่อใยอีกต่อไป กำหนดเพ่งจ้องเพื่อจะเข้าถึงของจริง เป็นผู้มีการปฏิบัติที่แน่วแน่ต่อนิพพาน ไม่มีผิดพลาดนี้ นับว่าเป็นการปฏิบัติขั้นหนึ่ง คือได้พบของจริง

ครั้นได้เล็งเห็นของจริง หรือหน้าตาดั้งเดิมที่บริสุทธิ์แล้ว การปฏิบัติในขั้นต่อไปก็มีว่าของจริงอันนั้น เป็นตัวเราหรืออะไรกันแน่ ของจริงนั้น เราถือว่าเป็นตัวเราที่แท้จริง หรือหน้าตาดั้งเดิมของเรา คือหน้าตาที่ปราศจากกิเลส หรือสิ่งที่ไม่มีกิเลส แต่เราควรจะตั้งอกตั้งใจพิจารณาดูให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าการปฏิบัติในขั้นนี้ นับว่าเป็นขั้นสำคัญที่สุด เราจะลุถึงนิพพานได้หรือไม่ ก็เพราะการปฏิบัติขั้นนี้


การพิจารณาในขั้นนี้ ก็คือ การพิจารณาลงไปอีกครั้งหนึ่งว่า ของจริงอันประเสริฐที่เราได้พบใหม่นี้ มันเป็นอะไร คือเป็นตัวเรา หรือมิใช่ตัวเรา เป็นเพียงของจริงล้วนๆ ไม่เป็นตัวของเราหรือของใคร ใช่หรือไม่ หรือว่ามันเป็นตัวเราเอาจริงๆ

ถ้าความยึดมั่น หรืออุปาทาน ยังเหลืออยู่บ้าง เราก็ยังคงยึดถือว่าของจริงอันนั้นเป็นตัวเรา ไปอีกสักพักหนึ่ง แม้เราจะได้หยั่งถึงของจริงนั้นด้วยปัญญาแล้วก็ตาม เราก็ยังไม่สามารถเข้าถึงของจริงนั้นโดยสิ้นเชิง เพราะจิตยังมีอุปาทานสำหรับยึดถือเหลืออยู่ เป็นเครื่องกั้นไว้ไม่ให้เราเข้าถึงของจริงอันนั้น


ทั้งที่เรากำลังมองเห็นจ่อหน้ากันอยู่ หรือลูบคลำอยู่บางส่วน เปรียบเหมือนเราอยู่ในกรงเหล็กซี่ห่างๆ เรามองเห็นที่ว่างนอกกรงได้ดี ยื่นมือออกมาคว้าที่ว่างนอกกรงก็ได้ ทั้งเราเห็นชัดเหลือเกินว่า ที่นอกกรงนั้นไม่มีการกักขัง แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังออกมานอกกรงไม่ได้อยู่นั่นเอง

ข้อนี้เป็นฉันใด การที่เรามองเห็นความจริงแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงความจริงให้เด็ดขาดได้ เพราะเหตุที่มีอุปาทานว่า นั่นแหละคือตัวเรา อันเป็นเหมือนซี่กรงที่กั้นเราได้ ไม่ให้เราเข้าถึงสิ่งนั้นโดยอิสระ เราจึงเข้าถึงนิพพานไม่ได้ ทั้งที่เราเห็นอยู่ตำตา ยื่นมือคว้าก็ถึง ดุจคนอยู่ในกรงยื่นมือออกมาคว้าที่ว่างนอกกรง แต่จะออกมาทั้งตัวไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น เราทุกคนจะต้องระมัดระวังให้ดี มิใช่ว่าเราพอสักว่ามองเห็นหน้าตาดั้งเดิม คือสภาพที่ไม่มีกิเลสเจือปนแล้ว เราจะเข้าถึงนิพพานได้ทันทีก็หาไม่ ทั้งนี้เพราะว่า เรายังมีความยึดถือเหลืออยู่เล็กน้อย แล้วไปยึดถือเอาสิ่งที่ไม่มีกิเลสนั้นแหละว่าเป็นตัวเราไปเสีย เราต้องฉลาดอีกครั้งหนึ่ง


ฉลาดเป็นครั้งสุดท้าย คือ รู้ว่าแม้ของจริงอันนั้น หาใช่ตัวเราไม่ เป็นธรรมชาติล้วนๆ ฝ่ายอสังขตะ เป็นธรรมบริสุทธิ์ เป็นธรรมล้วนๆ เท่านั้นมีอยู่เอง ไม่เกิด ไม่ตาย เป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง ไม่เป็นตัวเรา ไม่ควรจะเรียกว่าตัวเรา เพราะคำว่าเรา หรือความรู้สึกตัวเรานั้น เป็นความรู้สึกของกิเลสที่เป็นเหมือนโคลนที่เข้ามาหุ้มตัวเรา ที่เราได้ล้างออกเรื่อยๆ จนหมดสิ้นไปแล้ว

ความรู้สึกว่าเรา หรืออุปาทานนั้น ไม่มีแล้ว เท่ากับซี่กรงหักหมดแล้ว เราจึงออกมานอกกรงได้ เรียกว่าจิตหลุดออกมาได้ หรือจิตพ้นจากอุปาทานเท่านั้นเอง หามีตัวเราไม่ จิตนั้นก็ไม่ใช่ตัวเรา เพราะจิตนั้น ไม่มีความยึดถือตัวมันเองว่าตัวเรา จึงได้หลุดออกมาได้ ท่านจึงตรัสว่า “การหลุดพ้นนั้นมีแล้ว มีแต่ตัวผู้หลุดพ้นหามีไม่” นี่แหละคือ การหลุดพ้นตามแบบของพุทธศาสนา

การหลุดพ้นตามแบบของพระพุทธศาสนานั้น เราที่เป็นพุทธบริษัทจะต้องเข้าใจให้ดีๆ ไม่ว่าพุทธศาสนาอย่างหินยานหรือมหายานก็ตาม ย่อมเป็นการหลุดพ้นอย่างเด็ดขาด ไม่มีเยื่อใยของอุปาทานเหลืออยู่แม้แต่เล็กน้อย การหลุดพ้นที่ไม่เด็ดขาด ยังมีอุปาทานเหลืออยู่บ้างโดยไม่รู้สึกตัวนั้น เป็นการหลุดพ้นของพวกอื่นเขา หาใช่ของพุทธศาสนาไม่


การหลุดพ้นชนิดนั้น หลุดพ้นแต่เพียงจากความยึดถือที่หยาบๆ ไม่สามารถหลุดพ้นจากความยึดถือชั้นละเอียด จะต้องทำการปฏิบัติต่อไปอีกชั้นหนึ่ง จึงจะเป็นการลุถึงนิพพาน แต่ไม่เป็นไร การหลุดพ้นซึ่งยังไม่ถึงที่สุดนั้น ย่อมจะถึงที่สุดได้ในภายหลัง เพราะเมื่อดำเนินขึ้นมาถึงขั้นนี้แล้ว ย่อมไม่ไปทางไหนเสีย ย่อมจะตามมาทางเดียวกัน คือถึงนิพพานในที่สุดเหมือนกัน เป็นแต่ต้องเสียเวลามากไปหน่อยเท่านั้นเอง คือเขาจะต้องหลงต่อไปอีกสักพักใหญ่ จนกว่าจะเกิดความฉลาดครั้งสุดท้าย

รวมความว่า ใครปฏิบัติทำลายความเศร้าหมองของกิเลสห่อหุ้มอยู่ได้ จนสามารถมองเห็น “หน้าตาดั้งเดิม” ที่ปราศจากกิเลสแล้ว ต้องให้รู้แจ้งครั้งหนึ่งว่า “หน้าตาดั้งเดิม” นั้น ก็เป็นเพียงธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ หาใช่ตัวเราไม่ จิตของผู้ที่มองเห็นหน้าตาดั้งเดิมนั้น บริสุทธิ์มาก พอที่จะไม่เที่ยวยึดถือเอาอะไรว่าเป็นตัวเราอีกต่อไป


การพูดว่า ตัวเราในขั้นนี้ ถ้ามีพูด ก็สักว่าพูด เพราะมีคำจะพูดเท่านั้น หาได้มีความยึดถือกอดรัดเอาสิ่งที่บริสุทธิ์นั้นมาเป็นตัวเราอีกก็หาไม่ จิตที่หลุดพ้นจากความยึดถือก็หมดทุกข์ เพราะทุกข์มีอยู่ที่จิต ซึ่งมีความยึดถือเท่านั้น เมื่อเราทำจิตให้หลุดพ้นจากความยึดถือได้นั่น ก็คือการทำให้ทุกข์หมดสิ้นไป เรียกว่า “ที่สุดของความทุกข์” หรือนิพพาน

      จึงขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า จิตของผู้ใดก็ตาม เมื่อหมดอาสวะมาคราวละน้อยๆ ตามลำดับ จนถึงขั้นที่มองเห็น “หน้าตาดั้งเดิม” ของตนเองแล้ว จงระมัดระวังพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเถิด เป็นครั้งสำคัญขั้นสุดท้ายแล้ว จงพิจารณาดูอีกครั้งหนึ่ง จนเห็นตามที่เป็นจริง ว่าแม้สภาพดั้งเดิมที่บริสุทธิ์นั้น ก็หาใช่ตัวเราไม่ เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ล้วนๆ เป็นสภาพแห่งอสังขตะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่านิพพาน ในฐานที่เป็นแดนที่ดับทุกข์ทั้งปวง

      เท่าที่กล่าวมาตั้งแต่บัดนี้ นับว่ายืดยาวเกินเวลาอยู่แล้ว ขอสรุปเป็นหลักใหญ่ๆ สั้นๆ อีกครั้งหนึ่งว่า


      (๑) พุทธศาสนาทุกนิกาย เป็นแสงสว่างส่องทางไปพระนิพพานด้วยกันทั้งนั้น


      
(๒) สัตว์ทุกๆ สัตว์ สมควรจะเข้าถึงนิพพานเหมือนกันหมด ไม่แบ่งแยกเป็นจีนเป็นไทย ไม่มีนิพพานสำหรับชนจีนต่างหากจากนิพพานสำหรับชนชาติไทย


      
(๓) ข้อปฏิบัติในขั้นต้น คือ ชะล้างความโง่เขลาหยาบๆ ออกเสียจากจิต จนจิตนั้นสามารถมองเห็นหน้าตาดั้งเดิมของมันในเมื่อยังไม่ถูกกิเลสห่อหุ้ม


      
(๔) ข้อปฏิบัติขั้นปลาย ยากมาก ประณีตมาก ต้องระวังให้ดี คือ ระวังอย่าให้มีอุปาทานเหลืออยู่ สำหรับยึดถือธรรมที่บริสุทธิ์นั้นว่าเป็นตัวเราเลย เพียงแต่เราสมมติกันเล่นๆ ว่า นี่คือหน้าตาดั้งเดิมของเขา ก็มากเกินไปเสียแล้ว

      ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าหวังว่าท่านผู้ฟังทุกคนคงจะมองเห็นความจริงในข้อที่ว่า การเป็นชนชาติจีนหรือไทย เป็นหินยานหรือมหายาน เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์นั้น มันมีอยู่เพียงผิวนอกๆ ของเปลือกที่ห่อหุ้มของจริง ครั้นเอาเปลือกหรือโคลนที่สกปรกนั้นออกเสียแล้ว ไม่มีอะไรที่จะกำหนดลงไปว่า ใครเป็นจีนหรือไทย ใครเป็นหินยานหรือมหายาน เป็นพุทธหรือเป็นคริสต์


เพราะมันยังเหลืออยู่แต่จิตใจ ที่กำลังบริสุทธิ์ผุดผ่องเสมอเหมือนเป็นอันเดียวกันหมด ทั้งสามหมื่นจักรวาล เสวยวิมุตติสุขอันเกิดจากการได้เข้าถึงธรรมอันบริสุทธิ์หรือนิพพานอยู่จนกว่าจะหมดเหตุหมดปัจจัย แล้วจิตนั้นก็ดับไปเป็นครั้งสุดท้าย คงเหลืออยู่แต่ธรรมบริสุทธิ์ คือนิพพาน เป็นอนันตกาลไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับให้สัตว์ที่มีปัญญาหน่วงเอาเป็นอารมณ์ ถอนตนขึ้นมาเสียจากหล่มเลนลึก กล่าวคือ การสำคัญผิดยึดถือตัวตนเท่านั้น

และหวังว่าท่านทุกคน คงจะรู้จักฉวยโอกาสอันประเสริฐ คือความไม่มัวหลงพะวงอยู่ในสิ่งที่หลอกให้หลงจนเกิดความเบียดเบียนกันขัดขวางกัน แทนที่จะช่วยส่งเสริมกันให้ลุถึงนิพพาน อันเป็นที่ทุกคนควรปรารถนา ครั้นได้โอกาสอันนี้มาแล้ว ก็จะรีบมองให้ทะลุโลกหรือร่างกาย ละวัตถุต่างๆ อันหลอกหลวง ให้เห็นธรรมอันเป็นสิ่งที่จริงแท้


จงรีบมองให้เห็นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง และความคิดที่ผิดๆ อย่างอื่นๆ นั้น เป็นเพียงโคลนที่เพิ่งจะเข้ามาพอกมากขึ้น เหมือนดินที่พอกหางหมู ฉะนั้น คงไม่เป็นการเหลือวิสัย ในการที่ชะล้างมันออกเสีย ครั้นสิ่งโสโครกเหล่านั้นหลุดไปหมดแล้ว จิตใจก็สว่างเอง รู้สิ่งทั้งปวงเอง ไม่ต้องมาประชุมกัน ศึกษาหาความรู้ ดังที่เรากำลังประชุมกันอยู่ที่นี่อีกต่อไป

ความเป็นพระพุทธเจ้าก็มีอยู่ในเราแล้ว ความเป็นพระโพธิสัตว์ก็มีอยู่ในเราแล้ว ความเป็นพระอรหันต์ก็มีอยู่ในเราแล้ว เมื่อใดกิเลสที่ห่อหุ้มอยู่ถูกทำลายหมดสิ้นไป เมื่อนั้นความเป็นพระพุทธเจ้า ความเป็นพระโพธิสัตว์ และความเป็นพระอรหันต์ ก็ปรากฏออกมาเอง เรากำลังหลงว่า เรานี้เป็นเรา หาใช่เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์ หรือเป็นพระอรหันต์ไม่ นี่ก็เพราะคนเรานั้น หาใช่คนที่แท้จริงไม่ แต่เป็นผีหรือกิเลสที่เข้ามาอยู่แทนที่ปัญญาหรือความรู้ของเรา


ฉะนั้น เราอย่ายึดถือเอาความรู้สึกที่หลงใหลอยู่ในโลกนี้ ว่าเป็นเราเลย ในที่สุดเราก็จะได้พบ “หน้าตาดั้งเดิมของเรา” ที่บริสุทธิ์ และเห็นในที่สุดอีกครั้งหนึ่งว่า นั่นคือธรรมที่บริสุทธิ์เท่านั้น หาใช่ตัวตนอะไรไม่ แต่เป็นสิ่งที่ควรปรารถนาของบรรดาสัตว์ทั่วทั้งสามหมื่นจักรวาล เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกเป็นเราเป็นเขาได้เลย


ขอให้ความนับถือจงมีแด่
พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพระอรหันต์ทั้งปวง !
ขอความสวัสดี และสมประสงค์ในธรรมอันบริสุทธิ์
จงมีแด่ท่านทั้งหลาย !
สวัสดี !!!

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

คำแปลปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษ

เรื่อง

๓. ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท


แสดงในงานฉัฏฐสังคายนา ที่ประเทศพม่า พ.ศ.๒๔๙๗

โดย
พุทธทาส อินฺทปัญโญ

1.png



      เพื่อนร่วมการเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย !


     ข้าพเจ้าขอโอกาสเพื่อแสดงธรรมกถานี้ ในฐานะเป็นเครื่องหมายแห่งการแสดงความเคารพสักการะของประชาชนชาวไทยทั้งปวง ต่อความยิ่งใหญ่และสง่างามของการทำฉัฏฐสังคายนาในความอำนวยการของสภาพุทธศาสนาแห่งสหภาพพม่า ภายใต้ความอุปถัมภ์ของ พณฯ ท่านอัคคมหาถิริถุธัมมะดร.บาอู และคณะรัฐบาลของพณฯ ท่าน


     สิ่งแรก ที่ข้าพเจ้าจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลายในบัดนี้ ก็คือ ความรู้สึกปิติยินดีของผองพุทธบริษัทชาวไทย ทั้งบรรพชิตและฆราวาส ในการที่ปวงชนชาวพม่าได้พากันทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ กำลังทรัพย์ และอื่นๆ ในการประกอบการทำฉัฏฐสังคายนาอันประเสริฐครั้งนี้ เพื่อสักการบูชาความยิ่งใหญ่และสูงส่งของพุทธศาสนา ที่ล่วงกาลมาถึงวาระที่จะครบ ๒๕๐๐ ปี การทำเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และความยั่งยืนมั่นคงของหลักธรรมแห่งเถรวาทเช่นนี้ อย่าว่าแต่มนุษย์ทั่วไปเลย แม้แต่ทวยเทพในแดนสวรรค์ ซึ่งกำลังเพลิดเพลินอยู่ในกามสุขก็จักต้องหยุดการทำเช่นนั้นชั่วคราว เพื่อมาทำอนุโมทนาสาธุการต่อกิจการของเราด้วยโดยไม่ต้องสงสัยเลย

     สิ่งถัดมา ที่เป็นคุณประโยชน์ในการกล่าว ก็คือ ความภาคภูมิใจในการที่ประเทศทั้งสองของเรานี้ ยังคงเป็นเหมือนป้อมค่าอันมั่นคงของลัทธิเถรวาทแต่ต้นมาจนบัดนี้ แท้จริงลัทธิเถรวาทในผืนแผ่นดินไทย ตามภูมิศาสตร์ในปัจจุบันนั้น ได้เคยประสพวิกฤติการณ์ในการปะทะกับลัทธิอาจาริยวาทหรือมหายานถึงสองสมัย กล่าวคือ ในสมัยศรีวิชัยทางตอนใต้สุดของประเทศครั้งหนึ่ง และในยุคสมัยที่กษัตริย์ผู้นับถือลัทธิมหายานจากต่างประเทศเข้ามายึดครองในบางส่วนทางภาคกลางของประเทศ อันเรียกกันว่าสมัยลพบุรีนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในระยะเวลาอันไล่เลี่ยกัน คือในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ แต่อย่างไรก็ตาม ลัทธิเถรวาทของประเทศไทยก็ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องมั่นคงสืบมา ทั้งนี้ เป็นเพราะอำนาจความจริงแท้ในตัวลัทธิ ซึ่งเป็นความคงกระพันชาตรีอยู่ในตัวลัทธินั่นเอง ลัทธิเถรวาทในประเทศพม่า ข้าพเจ้าจึงคิดว่าคงไม่เคยประสพโชคชะตาอันขลุกขลักเช่นนี้ หวังว่าเพื่อนพุทธบริษัทชาวพม่าจักมีความเห็นใจพุทธบริษัทในประเทศไทยในข้อนี้เป็นอย่างมาก

     เรื่องถัดไปอีก ก็คือ ความศักดิ์สิทธิ์อย่างน่าอัศจรรย์แห่งสัมพันธไมตรีในระหว่างประเทศของเราทั้งสอง มีคนกล่าวว่า ประเทศไทยกับประเทศพม่านั้น ในสมัยบรรพบุรุษเคยวิวาทกันตลอดเวลา แล้วจักมีไมตรีอันปราศจากความระแวงต่อกันได้อย่างไร ข้าพเจ้าต้องขอโอกาสหยุดสักนิดหนึ่ง เพื่ออดกลั้นการยิ้มหัวในคำกล่าวข้อนี้ จงคิดดูเถิด ! โดยแท้จริงแล้ว กิเลสต่างหากที่ทำการวิวาทกัน หาใช่เราไม่ ! คนเรา เมื่อถูกกิเลสครอบงำเสียแล้วนั้น ก็ยังวิวาทกันถึงกับฆ่ากันตาย คู่สามีภรรยาที่รักเลือกกันอย่างยิ่ง ก็ยังวิวาทกันถึงกับเสียเลือดเนื้อ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีทายาทสืบมาจากสามีภรรยาคู่นั้นได้อีกตั้งหลายคน ! ข้อนี้เป็นเพราะปัจจัยสำคัญอันเดียว คือความรักหรือไมตรี อันมีรากฐานตั้งอยู่บนความเคารพในธรรมเป็นสื่อ จึงไม่รู้จักสลาย


ในระหว่างประเทศของเราทั้งสองนั้น มีสัมพันธปัจจัยอันประเสริฐของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือตัวหลักธรรมอันบริสุทธิ์แห่งเถรวาทนั่นเอง เป็นเครื่องยึดหน่วงความรักฉันพี่น้อง และสามารถทำลายความระแวงทั้งปวงแต่หนหลังให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ไม่มีอะไรที่น่าชื่นใจสำหรับเรายิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ในโลกนี้ ! ไม่มีอะไรในพิภพนี้ ที่น่าบูชายิ่งไปกว่าหลักธรรมแห่งเถรวาทแล้ว สำหรับเรา ! ตลอดเวลาที่หลักธรรมแห่งพระพุทธศาสนา ยังควบคุมหัวใจเราทั้งหลายอยู่ พายุอันร้ายกาจแห่งความอาฆาตจองเวรจากทุกทิศทางนั้น จักไม่ก่อรูปขึ้นได้อีกเลย ขอให้เราจงพากันยึดมั่นหลักธรรมแห่งเถรวาทนี้ เป็นเครื่องคุ้มครองอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ทดลองกันอีกแต่อย่างใด


ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่เราทั้งสองฝ่ายแล้วว่า การเสียสละทุกอย่างที่เราร่วมมือกันทำเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคนทุกคนในประเทศทั้งสองของเรานั่นแหละ คือชีวิตของเรา ! ผิดไปจากนี้แล้ว เราจักต้องตาย ไม่ว่าในทางกายหรือทางวิญญาณ หรืออย่างน้อยก็จะได้รับทุกข์เจียนตาย โดยไม่ต้องสงสัยเลย


ลัทธิพุทธศาสนาของบางนิกาย ซึ่งเจือปนด้วยลัทธิพราหมณ์เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เหมาะสำหรับเราโดยแท้จริง ข้าพเจ้าจึงได้ย้ำมากเป็นพิเศษ ถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของพุทธศาสนาชนิดอย่างเถรวาท ฉะนั้นการร่วมแรงร่วมใจกันในการทำฉัฏฐสังคายนา ซึ่งโดยเนื้อแท้ย่อมเป็นการรักษารากฐานอันมั่นคงของหลักเถรวาทเรา จึงเป็นเสมือนหนึ่งการมีคลังแห่งปัจจัยอันเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงดวงวิญญาณแห่งประเทศของเราทั้งสองโดยตรงและของเพื่อนบ้านอื่นๆ ของเราทั้งโลกโดยปริยาย

     ข้าพเจ้าได้กล่าวอารัมภกถา ถึงเรื่องอันเกี่ยวกับชีวิตและความตายของประเทศทั้งสองของเรา ทั้งโดยตรงและโดยปริยาย มาพอสมควรแก่เวลา ที่จำกัดไว้ทั้งหมดเพียง ๑ ชั่วโมงแล้ว ต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะได้กล่าวถึงเนื้อหาของเรื่องที่จะกล่าวในวันนี้ กล่าวคือ เรื่อง “ลักษณะอันน่าอัศจรรย์บางประการของเถรวาทเรา” ต่อไปเท่าที่เวลาจะอำนวย


โปรดสังเกตว่าข้าพเจ้าจะกล่าวแต่เพียง “บางประการ” เท่านั้น ข้อนี้เพราะว่า นอกจากเวลาจำกัดแล้ว ความน่าอัศจรรย์ของลัทธิเถรวาทเรา ยังมีมาก และลึกซึ้งยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทร จึงเหลือวิสัยที่ข้าพเจ้าจะมีนำมากล่าวให้หมดสิ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนใดที่จะเป็นไปเพื่อความสุขสถาพรของมนุษยชาติโดยตรงแล้ว ข้าพเจ้าจะได้พยายามกล่าวถึงส่วนนั้นก่อนส่วนอื่น


หากข้อความตอนใด ได้ทำให้เกิดความรำคาญหรือยิ่งไปกว่านั้นแก่ท่านผู้ใดแล้ว โปรดยกโทษให้ เพราะว่าเจตนาอันแท้จริงของข้าพเจ้าผู้กล่าว ก็คือ “เจตนาเพื่อเสริมสร้างสิ่งสวัสดีร่วมกัน” กล่าวคือ มุ่งหมายจะนำไปสู่ความเข้าใจตามหลักเกณฑ์ของเถรวาทเรา อันถูกต้องแท้จริงเท่านั้น


บัดนี้ ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงความน่าอัศจรรย์ของความเป็นเถรวาทบางอย่าง บางประการสืบไป ดังต่อไปนี้ :-


     (ก) พุทธศาสนาอย่างเถรวาท เป็นลัทธินิกายที่โลกยอมรับว่า ประสบความสำเร็จในการรักษาหลักอันบริสุทธิ์ผุดผ่องดั้งเดิมไว้ได้ โดยมีหลักการที่ยอมให้มีแต่การเพิ่มเข้า เพียงเพื่อรักษาความเคร่งครัดของหลักเดิม ไปตามเดิม รังเกียจ เกลียดกลัวการถอดถอน เปลี่ยนแปลงแก้ไขของเดิม แม้ในเรื่องเล็กน้อยที่สุด


ในการกล่าวถึงความน่าอัศจรรย์ประการแรกของเถรวาทเรานั้น ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทราบกันเสียก่อนว่า ในปัจจุบันนี้ เป็นที่เชื่อถือกันอย่างแน่นอนแล้วว่า ไม่ว่าพุทธศาสนาลัทธินิกายไหน ล้วนแต่มีพระไตรปิฎกเป็นของตัวเอง และล้วนแต่มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลายุคแรกๆ และยุคถัดมาด้วยกันทั้งนั้น ข้อนี้ เป็นสิ่งที่เห็นกันอยู่อย่างชัดแจ้งโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์กันอีก


สำหรับฝ่ายเถรวาทเรา มีความแปลกประหลาดเป็นพิเศษ ในข้อที่เราไม่มีหลักการที่ให้สิทธิอันถูกต้อง เพื่อการแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่พระศาสนาทรงบัญญัติไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้อที่เล็กน้อยเพียงไร หรือเพื่อประโยชน์อะไร ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์เองได้ทรงอนุญาตไว้ ให้แก้ไขสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ในวันที่จะเสด็จปรินิพพาน(๑) ความเป็นเถรวาทอันเคร่งครัดเช่นนี้ ได้มีมาตั้งแต่ครั้งที่สงฆ์มีพระมหากัสสปะเป็นประธานได้ประกาศตั้งเป็นสถาบันขึ้นไว้ ในฐานะเป็นความสำเร็จชิ้นสุดท้าย แห่งการปฐมสังคายนามาทีเดียว(๒) เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันการเพิกถอนแก้ไขทุกๆ อย่าง แม้จะเล็กน้อยเพียงไร


สำหรับการเพิ่มเข้านั้น หากเราจะมีบ้าง ตามที่เชื่อกันเป็นส่วนมาก ก็มีแต่การเพิ่ม เพื่อคุ้มครองหรือสนับสนุนของเก่า ให้ยังคงเคร่งครัดหรืออธิบายหลักของเดิม ไปตามแนวเดิมให้กว้างขวางออกไปเท่านั้น ของเดิมกับของเพิ่มเติมยังคงอยู่ในร่องรอยอันเดียวกันเสมอ ข้อนี้ ผิดจากหลักการของลัทธินิกายฝ่ายอื่นจากเถรวาท ซึ่งมีการกระทำที่เป็นการแก้ไขของเดิมออกไปจากหลักเดิมตามมากตามน้อยเอาทีเดียว


***หมายเหตุ:
(๑) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๑๗๘/๑๔๑)
(๒) บาลี ปัญจสติกขันธ์ จุลวรรค วินัยปิฎก. (๗/๓๘๕/๖๒๐)



เถรวาทเรา ไม่มีการเพิ่มในลักษณะที่เป็นการงอกเงยเรื่อยเปื่อยไปตามอำนาจของกาลเทศะหรือสิ่งแวดล้อมอย่างอื่นจนกระทั่งสูญเสียหลักเดิม เช่น กลายกลับไปเป็นลัทธิที่มีพระเป็นเจ้า หรืออาตมัน โดยปริยายหรือโดยตรง หรือยิ่งกว่านั้นถึงกับกลายกลับไปเป็นไสยศาสตร์ โบรมโบราณต่างๆ อีก เรายอมรับว่ามีความขลาดต่อการกระทำเช่นนั้น เรายินดีที่จะรับคำกล่าวหาว่าขี้ขลาดตาขาวต่อการกระทำเช่นนั้นอย่างชื่นตา


แต่ก็เพราะความขลาดนี้เอง ที่ได้เป็นและกำลังเป็นเครื่องช่วยรักษาความเป็นเถรวาทของเราไว้ได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่องตั้งแต่ต้นมา ขอให้เรายังคงขลาดโดยทำนองนี้กันสืบไปเถิด การเพิ่มของเรา แม้หากจะมีมากเพียงไรก็ตาม ต้องเป็นเพียงการเพิ่มเพื่อเป็นบริวารแวดล้อมหรือสนับสนุนของเดิม ให้เด่นชัดเคร่งครัดยิ่งขึ้นถึงที่สุดเท่านั้น


ถ้าเผอิญมีของผิดของปลอม ปนติดเข้ามาบ้าง เพราะอำนาจเหตุการณ์บางอย่างบังคับ ก็จะมาปรากฏอยู่ในลักษณะที่เข้ากับเนื้อแท้ของลัทธิเดิมไม่ได้ โดยตัวมันเองเป็นเครื่องแสดงเอง พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลัก ซึ่งเรียกว่า “มหาปเทสสี่” ไว้อย่างเฉียบขาดสองหมวด หมวดหนึ่ง สำหรับทางฝ่ายธรรม
(๑) และอีกหมวดหนึ่ง สำหรับฝ่ายวินัย(๒) เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยความผิดถูกของสิ่งซึ่งเกิดเป็นปัญหาขั้นทุกๆ ประการ


ในที่สุดสิ่งที่ปนปลอมเข้ามาเหล่านั้น เมื่อถูกพิสูจน์โดยหลักมหาปเทสนั้นแล้ว ก็ตกอยู่ในสภาพที่ใครๆ อาจเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นของแปลกปลอมเข้ามา และจะร่วงหล่นไปเองในที่สุด แม้จะยังหลงเหลืออยู่ในคัมภีร์ใดบ้าง ก็จะยังคงอยู่ในสภาพที่ไม่มีใครสนใจ เพราะลักษณะแห่งความขัดต่อหลักเดิมของมันนั่นเอง


     นี้แล นับว่าเป็นความน่าอัศจรรย์ประการแรกของเถรวาท และมีรากฐานอันมั่นคง ตั้งอยู่บนพระพุทธวจนะในมหาปรินิพพานสูตร(๓) ที่ว่า “ยาวกีวญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขู อปญฺญตฺตํ น ปญฺญเปสสนฺติ, ปญฺญตฺตํ น สมุจฺฉินฺทิสฺสนฺติ, ยถาปญฺญตฺเตสุ สิกฺขาปเทสุ สมาทาย วตฺติสฺสนฺติ, วุฑฺฒิเยว ภิกฺขเว ภิกฺขูนํ ปาฏิกงฺขา โน ปริหานิ” ดังนี้


ซึ่งมีใจความว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุทั้งหลาย ยังไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่เคยบัญญัติ ไม่เพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว คงสมาทานศึกษาในสิกขาบทที่บัญญัติไว้แล้วอย่างเคร่งครัด อยู่เพียงใดก็เป็นที่หวังความเจริญได้ ไม่มีความเสื่อมอยู่เพียงนั้น” ดังนี้.


     (ข) พุทธศาสนาอย่างเถรวาท มีอริยอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลักสำคัญ และเห็นกันได้ชัดอยู่แล้วว่า เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับชีวิตมนุษย์โดยตรง ซึ่งถ้าปราศจากหลักธรรมหมวดนี้เสียแล้ว ไม่มีใครในโลกไหนๆ ก็ตามสามารถมีชีวิตอยู่เป็นปกติสุขได้ หรือสามารถดำเนินไปจนลุถึงความรอดพ้นหรือนิพพานของตนได้ ดังนั้น จึงใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ ทั้งเพื่อผลทางฝ่ายโลกิยะและโลกุตตระ


***หมายเหตุ:
(๑) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๑๔๔/๑๑๒)
(๒) มหา. วิ. (๕/๑๓๑/๙๒)
(๓) มหาปรินิพพานสูตร. มหา. ที. (๑๐/๙๑/๗๐)



ขอให้ทุกคนถือเอาอริยอัฏฐังคิกมรรค ในฐานะเป็นหัวใจของพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝ่ายเถรวาท โดยปราศจากความลังเลจากทุกคนเถิด พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “อยเมวาริโย อฏฐงฺคิโก มคฺโค ฯลฯ อิทํ วุจฺจติ ภิกฺขเว พฺรหฺมจริยํ(๑) ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวอริยมรรคมีองค์แปดนี้ว่า เป็นตัวพรหมจรรย์” ดังนี้ ซึ่งหมายถึง เป็นตัวพุทธศาสนา


***หมายเหตุ:
(๑) มหาวารวรรค. สํ. (ไทย. ๑๙/๓๑/๑๑๒)


อริยมรรค มีองค์แปดดังนี้ มิใช่อะไรอื่น นอกไปจากการทำถูก หรือพยายามทำให้ถูกในองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ ในความขัดแย้ง, ความมุ่งหมาย, การพูดจา, การทำงาน, การเลี้ยงชีวิต, การพากเพียร, การมีเครื่องระลึกประจำใจ, และการตั้งใจแน่วแน่เป็นอันเดียว อันบุคคลจะต้องทำกันในทุกๆ แบบของการดำรงชีพ ในฐานะเป็นศิลปะแห่งการครองชีวิตนั่นเอง สิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ที่พอจะเรียกได้ว่า พุทธศิลปะอย่างถูกต้องตรงตามความหมายของคำๆ นี้


เพราะเหตุที่หลักธรรมหมวดนี้ อยู่ในวิสัยที่วิญญูชนตามปรกติ จะเข้าถึงได้
(๑) นี่เอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า อัฏฐังคิกมรรคนี้ เป็นเอหิปสฺสิโก คือเปิดเผยให้แก่ทุกคน หรือทุกคนต้องมาดูและปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงยกย่องธรรมหมวดนี้โดยเกียรตินามว่าเป็น “หนทาง” หรือ “กระแส”(๒) ซึ่งพื้นฐานของมันมีความลาดเอียงเทไปทางนิพพานอยู่ตามธรรมชาติ(๓) สามารถทำบุคคลผู้ก้าวลงสู่ให้ไหลเลื่อนตรงยังพระนิพพาน โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จึงจัดว่าเป็นทางแห่งนิพพานสำหรับคนทุกคนโดยแท้ !


องค์ประกอบประการแรก กล่าวคือ การปฏิบัติถูกต้องในทางความคิดเห็น หรือเรียกได้สั้นๆ ว่า ความเข้าใจอันถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) นั้น ย่อมประมวลเอาปัญญา หรือความเข้าใจอันถูกต้องทุกชนิดเข้าไว้ทั้งหมด เช่น โลกุตตรปัญญา ในเรื่องอริยสัจสี่ประการ(๔) อันเกี่ยวกับความทุกข์และความดับทุกข์โดยตรง


***หมายเหตุ:
(๑) มหาโควินทสูตร, มหา. ที. (ไทย. ๑๐/๒๘๕/๒๓๔), และมหาวาร. สํ. (๑๙/๒๓/๖๙), และ จตุก. อํ. (๒๑/๓๒๙/๒๔๕)
(๒) มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๔๓๔/๑๔๓๐)
(๓) มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๔๙/๑๘๙ และ ฯลฯ)
(๔) บาลีมหาสติปัฏฐานสูตร. มหา. ที. (ไทย. ๑๐/๓๔๘/๒๙๙)



เรื่องกฎแห่งการปรุงแต่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ ของสิ่งทั้งปวง ซึ่งเรียกว่า กฎแห่งปฏิจจสมุปบาท(๑) เรื่องลักษณะอันเด็ดขาดตายตัวของสิ่งทั้งปวง ที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ-ทุกขํ-อนตฺตา และเรื่องกฎแห่งกรรม หรือกฎแห่งเหตุและผล ซึ่งทุกๆ เรื่อง เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จะนำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน กล่าวคือ เกิดนิพพิทา ความหน่ายต่อโลกียธรรมทั้งปวง


***หมายเหตุ:
(๑) นิทาน สํ. (ไทย ๑๖/๒๑/๔๔), และ ติก. อํ. (ไทย. ๒๐/๒๒๗/๕๐๑)



ยิ่งกว่านั้น คำว่า
“สัมมาทิฏฐิ” นี้ ยังครอบคลุมตลอดลงไปถึงปัญญาอย่างโลกิยะ ที่เป็นกุศล ที่สามารถนำบุคคลเข้าถึงประโยชน์สุขอย่างโลกทุกชนิดอีกด้วย


พระพุทธองค์ได้ตรัสเรียก ความเข้าใจอันถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ไว้อย่างเร้าใจคนทุกคนว่า “รุ่งอรุณแห่งกุศลธรรมทั้งมวล” และอีกอย่างหนึ่งว่า “รุ่งอรุณแห่งการแทงตลอดจตุราริยสัจ”
(๒) ซึ่งเป็นนิมิตอันแสดงล่วงหน้าว่า นิพพาน หรือความดับสนิทของปวงทุกข์ จักต้องมีมาโดยแน่แท้ดุจเดียวกับรุ่งอรุณในเวลารุ่งสาง เป็นนิมิตของเวลาเที่ยงวัน อันจักตามมาอย่างแน่นอน ฉันใดก็ฉันนั้น


ทุกคนอาจมองเห็นความจริงในข้อที่ว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจอันถูกต้องอย่างสมบูรณ์แล้ว ความมุ่งหมายอันถูกต้อง การพูดจา การทำการงาน การเลี้ยงชีวิต การพยายาม การมีสติครองตัว และการปักใจแน่วแน่อย่างถูกต้อง ย่อมเกิดตามขึ้นมาโดยลำดับ และต่อนั้นไปก็จะลุถึงความพ้นทุกข์ทุกประการได้ในเวลาอันควร

***หมายเหตุ:
(๒) ทสก. อํ. (ไทย ๒๔/๒๕๔/๑๒๑), และ มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/๕๕๒/๑๗๒๐)


ความจริงข้อนี้ มีกล่าวไว้ในบาลีอังคุตตรนิกาย(๑) ว่า “สมฺมาทิฏฺฐิสมาทานา สพฺพํ ทุกฺขํ อุปจฺจคา คนล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้ ด้วยการสมาทานสัมมาทิฏฐิ” ดังนี้ ดังนั้นพระองค์จึงทรงยกย่องสัมมาทิฏฐินี้ว่าเป็น “รุ่งอรุณของความรอดพ้น” ผลจึงเท่ากับว่าพระองค์ได้ทรงประทานความหวังอันใหญ่หลวงไว้กับพวกเราอย่างน่าอัศจรรย์ เราควรพยายามรีบบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์ประกอบองค์แรกของอริยมรรคนั้น ด้วยความขยันขันแข็ง และซึมทราบในพระกรุณาคุณจริงๆ


ความหวังอันใหญ่หลวงนั้นคือ ความจริงที่ว่า เมื่อใดเราเพ่งพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้ง ที่เรียกให้ถูกต้องในที่นี้ว่า สัมมาทิฏฐิชนิดที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น เมื่อนั้นเราจะได้สมาธิประเภทเดียวกันกับที่เรียกว่า อนันตริยสมาธิ ไม่มากก็น้อยพร้อมกันในขณะนั้น โดยไม่ต้องเจตนาและในลักษณะที่มีสัดส่วนกับการเห็นแจ้งนั้นทุกคราวไป


ตามกฎธรรมชาติแล้ว ไม่มีผู้ใดสามารถเพ่งพิจารณาสิ่งใด โดยปราศจากจากสมาธิที่เกิดขึ้นเอง ถ้าเป็นการเพ่งของสัตว์ตามธรรมชาติธรรมดา สมาธิที่พลอยเกิดนั้น ก็เป็นอย่างธรรมดา ถ้าเป็นการเพ่งพิจารณาอย่างมีระเบียบและตามหลักวิชาสมาธิที่พลอยเกิดนั้น ก็ต้องเป็นอย่างมีระเบียบและเป็นหลักวิชาไปตามกัน เมื่อใดเพ่งพิจารณาเพื่อสัมมาทิฏฐิให้ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อนั้นสมาธิก็เบ่งตัวสูงขึ้นไปตาม จนเป็นบาทฐานที่เพียงพอแก่การเกิดของสัมมาทิฏฐิอย่างเป็นอัตโนมัติ

***หมายเหตุ:
(๑) จตุก. อํ. (ไทย ๒๑/๖๘/๔๙)


ถ้าปราศจากสัมมาทิฏฐิเสียแล้ว เราก็ไม่ทราบว่าจะเพ่งพิจารณาได้อย่างไรกัน กำลังของสัมมาทิฏฐิที่มีอยู่ก่อนนั่นแหละ จะส่งเสริมกำลังของสมาธิที่กำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ตลอดเวลา แล้วสมาธิที่เกิดขึ้นใหม่ ก็จะย้อนกลับไปส่งเสริมกำลังของสัมมาทิฏฐิกำลังจะเกิดใหม่ โดยส่วนสัดของกำลังที่เหมาะสมกันอีก


เกี่ยวกับความจริงเรื่องนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส, นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน, ยมฺหิ ฌานํ จ ปญฺญา จ, ส เวนิพฺพานสนฺติเก. กล่าวคือ ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา, ปัญญาไม่มีแก่คนที่ไม่มีฌาน, ผู้ใดมีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นอยู่ใกล้ต่อนิพพาน”(๑) ดังนี้ ของสองอย่างนี้ เป็นปัจจัยเกื้อกูลต่อกัน ดังนั้น จึงไม่มีใครสามารถมีสมาธิโดยไม่มีปัญญา หรือมีปัญญาโดยไม่มีสมาธิ ของสองสิ่งนี้ส่งเสริมกันและกันอยู่อย่างอัตโนมัติ คือเป็นไปเอง


***หมายเหตุ:
(๑) บาลีภิกขุวรรค, ธ. ขุ. (ไทย ๒๕/๖๕/๓๕)


ความเป็นอัตโนมัติหรือเป็นไปเองในเรื่องนี้ จะเห็นตัวอย่างได้จากการยิงศร เมื่อคนจับคันศรและลูกศรขึ้น เล็งตรงไปยังสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น เขาไม่จำเป็นที่จะต้องตั้งเจตนาเพื่อให้เกิดสมาธิ เจตนาเพื่อให้เกิดสมาธินั้น ย่อมเป็นไปเองตามธรรมชาติและพร้อมกันกับเล็ง ถ้าความรู้ในวิธีที่จะยิงให้ถูกมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น สมาธิในการเล็งก็แน่นแฟ้นเอง ความรู้ หรือความแน่ใจ ย่อมเพิ่มกำลังให้แก่สมาธินั้นตลอดเวลา


โดยทำนองเดียวกันนี้ ความเข้าใจอันถูกต้องในคุณค่าของความหลุดพ้นที่ตนมุ่งหมาย ย่อมก่อให้เกิดกำลังแก่สมาธิโดยไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นได้ และตรงตามคำที่ตรัสว่า “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้น จงพยายามระดมกำลังเพ่งพิจารณา เพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด มันจะดึงดูดให้เกิดสมาธิที่เพียงพอ และเหมาะสมแก่การที่จะใช้เพื่อพิจารณานั้น อยู่ในตัวเองและพร้อมกันนั่นเอง โดยปรกติผู้ที่มีอนามัยดี มีสติปัญญา ย่อมทำเช่นนั้นได้อย่างน่าพอใจ


สำหรับเรื่องเกี่ยวกับสมาธิทั่วไป พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในบาลีอังคุตตรนิกาย(๑) ว่า มีอยู่ ๔ ประเภทด้วยกัน คือ ๑) สมาธิเพื่อการชิมความสุขอย่างสูงในปัจจุบันทันตาเห็นในชาตินี้ ได้แก่ การเจริญรูปฌานสี่ มีปฐมฌานเป็นต้น ๒) สมาธิเพื่อให้เกิดญาณทัสสนะ ซึ่งเป็นตาทิพย์ชนิดหนึ่ง ได้แก่ การเจริญอาโลกสัญญาและทิวาสัญญา ๓) สมาธิเพื่อความสมบูรณ์ของสติและสัมปชัญญะ และการดับไปของเวทนา สัญญา และวิตก ๔) สมาธิเพื่อดับอาสวะทั้งสี่ ได้แก่ การเพ่งพิจารณาดูการก่อขึ้น และการสลายไปของเบญจขันธ์ อันประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน


จากเรื่องนี้ เราอาจะเห็นได้ชัดว่า ในบรรดาสมาธิทั้งสี่ประเภทนั้น สมาธิประเภทที่สี่ ก็คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ ตามที่กล่าวไว้ทั่วๆ ไป ในคัมภีร์นั่นเอง

***หมายเหตุ:
(๑) บาลี โรหิตัสวรรค, จตุก. อํ. (ไทย ๒๑/๕๗/๔๑)



การเจริญสมาธิประเภทนี้ เห็นได้ชัดทีเดียวว่า เป็นการเจริญปัญญาโดยตรง ข้อนี้ทำให้เห็นว่า คำว่า “การสมาธิ” คำนี้ มีความหมายกว้างกว่าที่เข้าใจกันอยู่ทั่วๆ ไป ซึ่งมักจะหมายถึงกันแต่เพียงการทำรูปฌาน ๔ อย่างเท่านั้น


เพราะฉะนั้น สมาธิตามหลังแห่งการปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่สามารถแยกจากปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิไปได้เลย สมาธิตามหลักของฝ่ายเถรวาทเรา จักต้องไปด้วยกันกับปัญญา ที่มุ่งต่อจุดหมายคือวิมุตติเสมอไป ไม่โดยเปิดเผย ก็ต้องโดยเร้นลับ โดยไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้ มันไม่ใช่เป็นเพียงการนั่งสงบๆ และติดต่อกันไป ดังที่เข้าใจกันโดยมากเลย !


สำหรับสัมมาสมาธิ ที่เป็นองค์ประกอบของอัฏฐังคิกมรรคโดยตรงนั้น ในบาลีทั่วไป พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสระบุไว้เป็นรูปฌานทั้งสี่ และทรงระบุไว้ในบาลีมหาจัตตารีสกสูตร
(๑) ว่าได้แก่ เอกัคคตาจิต ที่แวดล้อมและนำทางโดยสัมมาทิฏฐิที่รู้ดีรู้ชอบ ว่าอะไรผิดอะไรถูก ฯลฯ เป็นต้น


เพราะฉะนั้น สมาธิที่จะมีลักษณะว่าเป็น “สัมมา” ได้นั้น จักต้องอาศัยกำลังของสัมมาทิฏฐิเสมอไป ถ้ามิฉะนั้นแล้ว รูปฌานทั้งสี่นั้นจักตกไปเป็นรูปฌานของฝ่ายลัทธิอื่นๆ เช่น ดาบส เป็นต้น และไม่สามารถจะเป็นองค์ประกอบของอัฏฐังคิกมรรคไปได้ และไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายปลายทางของพุทธบริษัท กล่าวคือ นิพพานได้


จากข้อเท็จจริงอันนี้ ย่อมเห็นได้ว่า สัมมาทิฏฐิ กับ สัมมาสมาธิ นั้น จักต้องควงแขนไปไหนไปด้วยกันตลอดเวลา จึงจะเป็นหลักธรรมอันถูกต้องของฝ่ายเถรวาทเรา


***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาจัตตารีสสูตร, อุปริ. ม. (ไทย. ๑๔/๑๘๐/๒๕๓)



ข้อที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า เมื่อใดสัมมาทิฏฐิหรือความเข้าใจอันถูกต้อง กำลังทำหน้าที่อยู่อย่างดีแล้ว จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเลย ในการเจริญองค์แห่งมรรคที่เหลืออยู่อีก ๖ องค์(๑) กล่าวคือ สัมมาสังกัปโป-ความมุ่งหมายอันถูกต้อง, สัมมาวาจา-การพูดจาอันถูกต้อง, สัมมากัมมันโต-การทำการงานอันถูกต้อง, สัมมาอาชีโว-การดำรงชีพอันถูกต้อง, สัมมาวายาโม-การพยายามอันถูกต้อง, สัมมาสติ-การมีสติเครื่องครองตัวอันถูกต้อง


ธรรมชาติของสัมมาทิฏฐินั้น ย่อมรู้สิ่งทั้งปวงดี ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรทำได้ อะไรไม่มีทางจะทำได้ อะไรมีผลควรทำ และอะไรไม่มีผลคุ้มค่าของการทำ อะไรต้องทำอย่างไร ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า อำนาจความเห็นแจ้งอย่างถูกต้องของสัมมาทิฏฐินั้นเอง ช่วยผลักดันบุคคลให้ทำไปแต่ในแนวแห่งความรู้ที่ถูกต้องนั้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้


ดังนั้น ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐินั่นเอง คนเราจึงสามารถมีและต้องมีการมุ่งหมายแต่ในจุดหมายที่ถูกต้อง พูดจาแต่ในการพูดที่ถูกต้อง ประกอบกรรมแต่ในกรรมที่ถูกต้อง ดำรงชีพแต่ในวิถีทางที่ถูกต้อง ประกอบกรรมแต่ในกรรมที่ถูกต้อง ดำรงชีพแต่ในวิถีทางที่ถูกต้อง ขวนขวายแต่ในความพยายามที่ถูกต้อง ทำสติแต่ในทางแห่งการทำสติที่ถูกต้อง โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงเลยโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุดังกล่าวนี้ องค์ประกอบแห่งอัฏฐังคิกมรรค ๖ องค์ที่เหลือนี้ จึงเป็นของไม่ยากที่จะปฏิบัติ เพราะอำนาจแห่งสัมมาทิฏฐินั่นเอง


***หมายเหตุ:
(๑) ทสก. อํ. (ไทย. ๒๔/๒๕๕/๑๒๑)



เมื่อพิจารณาดูกันอีกทางหนึ่ง ยังจะเห็นได้ต่อไปอีกว่า องค์แห่งมรรคที่เป็นประเภทศีล คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันโต และสัมมาอาชีโวนั้น จำจะต้องมีธรรมะชื่ออื่นที่เป็นเครื่องสนับสนุน เช่น ต้องมีหิริโอตตัปปะ และ อินทรียสังวร เป็นต้น สนับสนุนให้เต็มเปี่ยม อาศัยอำนาจของสัมมาทิฏฐิอีกนั่นเอง ที่ธรรมะประเภทที่เป็นเครื่องสนับสนุนนี้ จะมีขึ้นได้โดยง่ายอย่างน่าอัศจรรย์


แม้องค์มรรคประเภทสมาธิ คือ สัมมาวายาโม สัมมาสติ และสัมมาสมาธิเอง ซึ่งต้องการธรรมะที่มีหน้าที่สนับสนุน เช่น กายปัสสติ เป็นต้น ธรรมเหล่านั้น ก็สามารถมีมาโดยง่าย ด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิดังกล่าวแล้วอีกนั่นเอง ดังนั้น สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นทั้งผู้ทำโปรแกรมการเดินทางและเป็นทั้งมรรคคุเทสก์เสร็จไปในตัว แก่องค์มรรคองค์อื่นๆ ทั้งสิ้น


จนถึงกับพระพุทธองค์ทรงไม่ประทานเกียรตินามให้ในบาลีมหาจัตตารีสกสูตรว่า “ปุพพงฺคมา(๑) ผู้ทำหน้าที่” ดังกล่าวแล้ว แม้ในองค์แห่งมรรคที่เป็นกลุ่มปัญญา ได้แก่ สัมมาสังกัปโป และสัมมาทิฏฐิเองก็เช่นเดียวกัน จักต้องมีวิธีแห่งการบำเพ็ญให้เกิดขึ้น ภายใต้การนำของสัมมาทิฏฐิด้วยกันที่ก้าวล่วงหน้าไปแล้วเท่านั้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่โลกุตตรสัมมาทิฏฐิเป็นเจ้ากี่เจ้าการแล้ว อำนาจของสัมมาทิฏฐิชนิดนี้ สามารถกำจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นทุกชนิด จากองค์มรรคที่เหลืออีก ๖ องค์ ดังที่กล่าวข้างต้น หรือแม้ของทั้ง ๗ องค์ คือรวมสัมมาสมาธิเข้าด้วยกัน ความเห็นแจ้ง ที่เกิดจากโลกุตตรสัมมาทิฏฐิในตัวอย่าง ๔ ประเภท ที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น อาจสรุปให้เหลือสั้นๆ แต่เพียงว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นเช่นใดที่น่าเป็นสำหรับเรา” ดังนี้


เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติเต็มอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิที่มีหลักว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ฯลฯ” ดังนี้แล้ว มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปโป มิจฉาวาจา มิจฉาสติ และมิจฉาสมาธิ ย่อมไม่มีช่องทางที่จะเหลืออยู่ในจิตของบุคคลนั้นได้เลย และที่แน่นอนยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก ก็คือว่า จิตชนิดนั้นจักน้อมไปเอง จากความเป็นผิด (มิจฉัตตะ) ทุกๆ ประการ ไปสู่ความเป็นถูก (สัมมัตตะ) ทุกๆ อย่างในลักษณะที่สมบูรณ์ และในที่สุดก็จักดำเนินต่อไปจนกระทั่งลุถึง “ความดับสิ้นเชิง”


คือ นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดของความทุกข์ทั้งปวง พร้อมทั้งต้นเหตุของมัน เพราะอำนาจความที่ไม่เกาะเกี่ยวผูกพันอยู่ในสิ่งใดๆ ในโลกไหนๆ ความเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ มีขึ้นได้เพราะอำนาจของสัมมาทิฏฐิที่ว่า “ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นเช่นใดที่น่าเป็นสำหรับเรา” ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น

***หมายเหตุ:
(๑) มหาจัตตารีสกสูตร. อุปริ. ม. (ไทย. ๑๔/๑๘๐/๒๕๔)



ข้อที่น่าอัศจรรย์ที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ อริยมรรค มีองค์แปดนี้ สามารถทำให้โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ เกี่ยวกับความจริงข้อนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ในราตรีที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ว่า “อิเม จ สุภทฺท ภิกฺขุ สมฺมา วิหเรยฺยํ, อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส, - ดูก่อนสุภัททะ! ถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ พึงอยู่โดยชอบไซร้ โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์”(๑) ดังนี้


***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาปรินิพพานสูตร. (ไทย. ๑๐/๑๗๖/๑๓๘)



คำว่า “อยู่โดยชอบ” นั้น หมายถึง ชอบ ๘ ชนิดในอัฏฐังคิกมรรคนั่นเอง ข้อนี้เป็นเพราะเหตุว่า พระองค์ได้ตรัสไว้ในคราวเดียวกันนั้นว่า ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์แปด ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑-๒-๓-๔ กล่าวคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ตามลำดับ และว่าอริยมรรคมีองค์แปดนั้น มีในธรรมวินัยของพระองค์(๑)


ทำไมอริยมรรคมีองค์แปด จึงสามารถทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์เล่า ? ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะเห็นได้ไม่ยากเลย เมื่อบุคคลใดเป็นอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ มีความเข้าใจอันถูกต้องเป็นต้น และมีความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด ดังนั้นแล้ว ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น ย่อมเป็นการตัดอาหารของกิเลสทุกชนิดและทุกชั้นไปในตัว กิเลสตกอยู่ในฐานะที่ถูกล้อม ปิดทางมาแห่งอาหาร (บอยค็อต) หมดทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จนผอมหนักเข้าและตายไปเองในที่สุด


เพียงแต่ทุกคนเป็นอยู่ให้ถูกต้องตามหลักของอัฏฐังคิกมรรคเท่านั้น กิเลสนั่นจะขาดอาหารและตายไปเองตามลำดับ เมื่อกิเลสสิ้นไป ในอันดับที่เรียกว่า สมณะที่หนึ่งคือโสดาบันแล้ว ย่อมแน่นอนที่จะเลื่อนขึ้นไปจนถึงขั้นที่สี่ คือพระอรหันต์ อย่างไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้(๑) ฉะนั้น จึงนับว่าความหวังอันใหญ่ยิ่งสำหรับทุกคน เพราะการพากเพียรทำเพียงเพื่อบรรลุความเป็นสมณะที่ ๑ นั้น ไม่เป็นการเหลือวิสัยสำหรับใครเลย


การทำจิตใจให้แจ่มอยู่ด้วยการพิจารณาความจริงที่ว่า “ไม่มีความเพลิดเพลินอะไรที่ควรยึดถือ ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีความเป็นอะไรที่น่าเป็นสำหรับเรา” นั่นเอง จะทำให้จิตผละจากสิ่งทั้งปวง น้อมไปสู่ “ความดับไม่มีอะไรเหลือ” อยู่เป็นปรกติ เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันไว้ เมื่อจิตแน่วแน่อยู่กับความจริงข้อนี้ ความเข้าใจก็ถูกต้องอย่างยิ่งอยู่แล้วในตัว


ความมุ่งหมายก็น้อมไปเพื่อนิพพาน อยู่ในตัว วาจา, การงาน, การเลี้ยงชีพ, ความเพียร, สติและสมาธิ ก็ไม่ทางที่จะผิด กลับเป็นความถูกต้องถึงที่สุดอยู่ในตัวและตลอดเวลา เป็นมรรคมีองค์แปดที่สมบูรณ์อยู่จริงตลอดเวลาเหล่านั้น เป็นการตัดอาหารของกิเลสอยู่ตลอดไป ในที่สุดก็มีกิเลสน้อยจนเป็นสมณะอันดับใดอันดับหนึ่ง หรือถึงอันดับที่สุดคือเป็นพระอรหันต์ได้จริง


      นี้คือ ความมหัศจรรย์ข้อสุดท้ายของอริยมรรคมีองค์แปด ที่ทำโลกให้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ โดยวิธีที่ทุกคนพอจะทำได้ นับว่าเป็นข้อน่าอัศจรรย์ประการที่สองของเถรวาทเรา ซึ่งน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง


     (ค) หลักพุทธศาสนาอย่างเถรวาท มีความมุ่งหมายที่จะอยู่เหนืออำนาจของการปรุงแต่งเสกสรรทุกชนิด รวมทั้งอำนาจของสิ่งที่เรียกกันว่า พระเป็นเจ้าด้วย ซึ่งสรุปแล้วจำแนกได้เป็น ๓ อย่าง คือ อำนาจสร้าง อำนาจการควบคุม และอำนาจการทำลาย นิพพาน ซึ่งมีธรรมชาติเป็น อชาตอภูต-อมต นั้น เป็นสภาพที่อยู่นอกเหนืออำนาจทั้งสามนั้น เถรวาทเราจึงถือว่า เป็นบรมธรรม


คำว่า “พระเป็นเจ้า” ตามที่อธิบายไว้ในลักษณะต่างๆ กัน ในคัมภีร์ต่างๆ ของทุกๆ ลัทธินั้น เมื่อนำเข้ามาจับกันกับหลักธรรมของพุทธบริษัทแล้ว อาจสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ พระเป็นเจ้าผู้สร้าง, พระเป็นเจ้าผู้ควบคุม, พระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้าง พระเป็นเจ้าผู้สร้าง คือพระเป็นเจ้าในขณะที่ทำการสร้างโลก และสิ่งต่างๆ ทุกชนิด ทำนองเดียวกับที่พระเป็นเจ้าผู้ควบคุม ในขณะที่ทำการควบคุมดูแลสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามอำนาจ และพระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้าง ในขณะที่ทำโลกนี้ให้อันตรธานไปอีกครั้งเป็นยุคๆ


***หมายเหตุ:
(๑) บาลี มหาวาร. สํ. (ไทย. ๑๙/ ๔๖๕-๖ / ๑๕๑๑-๒)



ตลอดเวลาที่อำนาจในการทำเช่นนั้น ยังเป็นไปเหนือจิตมนุษย์หรือมนุษย์ยังมีอุปาทาน เชื่อถือในความเป็นเช่นนั้นอยู่เพียงใด เขาก็ยังจะต้องเป็นผู้ถูกสร้าง ถูกควบคุม และถูกทำลายล้างอยู่ได้เพียงนั้น บางศาสนาได้มอบอำนาจทั้งสามนี้ ไว้ในพระเป็นเจ้าองค์เดียว และบางศาสนาจำแนกให้แก่พระเป็นเจ้าตั้งสามองค์หรือมากกว่า แต่ข้อนี้ไม่มีความสำคัญที่จะต้องคำนึงกัน ความสำคัญอยู่ที่ว่า จะมีพระเป็นเจ้าองค์เดียวหรือหลายองค์ก็ตาม ผู้นับถือพระเป็นเจ้าย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องบูชาและอ้อนวอนต่อพระเป็นเจ้านั้นๆ โดยทำนองเดียวกันหมด


การที่ต้องตกอยู่ในอำนาจ ๓ ชนิด ของสิ่งที่เรียกกันว่าพระเป็นเจ้าในทำนองนี้ แม้จะได้อยู่ในสวรรค์ของพระเป็นเจ้าเอง พุทธบริษัทไม่ยอมถือว่าเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ หรือเป็นอิสรภาพหรือเป็นความรอดพ้น หรือเป็นความหมดทุกข์โดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่า นิพพานแต่อย่างใด


การตกอยู่ใต้อำนาจทั้งสามในลักษณะเช่นนั้น ชื่อว่ายังคงตกอยู่ภายใต้อำนาจการเปลี่ยนแปลง ยังจะต้องหมุนเวียนไปในวนของวัฏฏสงสาร ยังอยู่ภายใต้การควบคุม ดลบันดาลของสิ่งอื่นๆ อย่างน้อยก็ของความหวังในอันที่จะเกิดในโลกที่ตนปรารถนา หรือของการกำจัดต้องอยู่ในโลกที่ตนปรารถนานั้นไปตลอดกาลนิรันดร โดยปราศจากอิสรภาพในการที่จะ “ไม่อยู่ หรือไม่เป็นอะไรเลย” ของจิตที่บริสุทธิ์แล้ว


พุทธบริษัทผู้มุ่งหวังแต่จะออกไปให้พ้นอำนาจหมุนเวียนของการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้าง อย่างซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุดนั้น ย่อมพิจารณาเห็นว่า การได้เพียงสวรรค์ในลักษณะเช่นนั้น ยังเป็นของที่เป็นเบื้องต้นเกินไปหรือต่ำเกินไป ยังยอมรับนับถือไม่ได้ เขาเหล่านั้นมุ่งมาดแต่จะได้ อิสรภาพที่ถึงที่สุด ความรอดที่ถึงที่สุด การทำลายความถูกผูกพันที่ถึงที่สุด แม้แต่การถูกผูกพันให้จำต้องอยู่ในสวรรค์นิรันดรนั่นเองด้วย


การปราศจากความผูกพันทุกชนิดที่ถึงที่สุดจริงๆ นั้น ย่อมนำมาซึ่งภาวะแห่งความเกษม (คือไม่มีอำนาจอะไรครอบงำ) อันสูงสุดแท้จริง และทั้งเป็นชนิดที่อาจรับได้ในชีวิตชาตินี้เอง อำนาจดลบันดาลในการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้าง ย่อมไม่มีอิทธิพลใดๆ เหนือจิตที่มีอิสระจากเครื่องผูกพันโดยประการทั้งปวง คือทั้งที่เป็นของมนุษย์และของสวรรค์ ภายใต้การนำของพระพุทธองค์ พุทธบริษัทได้พิจารณาเห็นความจริง ดังต่อไปนี้ คือ:-


(๑) อำนาจธรรมชาติในการสร้างสิ่งต่างๆ ที่ทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่า พระเป็นเจ้าผู้สร้างนั้น คือ อวิชชา (สภาพที่ปราศจากความรู้) ว่าอะไรเป็นความทุกข์ และอะไรเป็นความดับสนิทของความทุกข์) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างหรือปรุงแต่ง (อภิสังขาร) สิ่งต่างๆ ขึ้นโดยลำดับๆ ตามกฎในบาลีที่ว่า “อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา, สงฺขารปจฺจยา วิญฺญาณํ ฯลฯ” จนกระทั่งเกิดมีมนุษย์ที่เต็มอยู่ด้วยกิเลส และทำโลกนี้ให้ปั่นป่วนไปด้วยวิกฤตการณ์นานาประการ


(๒) อำนาจธรรมชาติในการควบคุมสิ่งทั้งปวง ที่ทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่า พระเป็นเจ้าผู้ควบคุมในที่ทุกหนทุกแห่งนั้น คือ กฎแห่งกรรมของธรรมชาติหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ กฎแห่งความเป็นเหตุและผลอันเนื่องกัน ซึ่งสัตว์ผู้ยังตกอยู่ภายใต้อำนาจ ความยึดถือในความดีความชั่ว ได้ผูกพันตัวเองเข้าไว้กับกฎนั้น โดยอาศัยอำนาจแห่งอวิชชาของสัตว์นั้นๆ เอง อีกนั่นเอง


(๓) อำนาจธรรมชาติในการทำลายล้าง ซึ่งทำอะไรบางอย่าง ให้ได้นามว่าพระเป็นเจ้าผู้ทำลายล้างนั้นก็เหมือนกัน ได้แก่ อวิชชา ที่อยู่ในรูปของตัณหาสามชนิด ซึ่งทำสัตว์โลกให้เดือดพล่านอยู่ ด้วยความทะยานอยากและความขวนขวายนานาชนิด และมึนเมาในกามคุณ รวมทั้งในความมั่งมีและอำนาจวาสนาอย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ จนกระทั่งเผชิญกันกับความพินาศของตนเอง


พวกเถรวาทเรามีวิธีการที่ทำให้เกิดการเห็นแจ้งแทงตลอดว่า อวิชชาอย่างเดียวนี่เอง แต่อยู่ในรูปลักษณะต่างๆ กัน ที่บันดาลให้เกิดอำนาจสร้างสรรค์ ควบคุม และทำลายล้างขึ้นในโลกมนุษย์ ในโลกนั้นๆ ให้ติดอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจนั้นๆ จนกระทั่งต้องวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ ดังตกอยู่ในกระแสน้ำวนไม่มีที่สุด


พวกเรายังได้เห็นแจ้งต่อไปอีกว่า หน้าที่ทางฝ่ายเราผู้เป็นสัตว์ที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้วนี้ ก็คือจะต้องทำการต่อสู้เพื่อทำลายรากเง้าของอำนาจที่ทำการสร้างการควบคุมและการทำลายล้างนั้นเสีย ซึ่งได้แก่อวิชชา ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง


เราไม่สามารถจะมอบตัวไว้กับความกรุณาของสิ่งที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า พระเป็นเจ้า ซึ่งมีหน้าที่แต่จะสร้าง จะควบคุม และจะทำลายล้าง แล้วย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ในรอบใหม่ ไม่มีที่สิ้นสุดเสียอย่างเดียว ถ้ารวมพระเป็นเจ้าเป็นองค์เดียว ก็คือ อวิชชา ถ้าแยกเป็น ๓ องค์ ก็คือ อภิสังขาร กรรม และตัณหา !


โดยการปฏิบัติตามอริยอัฏฐังคิกมรรค อันพระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ดังกล่าวแล้วข้างต้น เราจะสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า วิชชา อันเป็นคู่ปรับของอวิชชาขึ้นมาได้ สิ่งนี้เองจะช่วยให้เราเห็นสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง จนถึงกับจิตของเรามีโลกุตตรปัญญา มองเห็นความจริงอันสูงสุดที่ว่า


“ไม่ว่าในโลกไหนๆ ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือเอา แม้แต่สวรรค์ของพระเป็นเจ้า ไม่ว่าในภพวิธานใดๆ ไม่มีภาวะอย่างไหน ที่น่าไปเป็นไปอยู่ แม้ที่สุดแต่จะเป็น “ตัวเรา” เอง ซึ่งแท้จริงเป็นเพียงมายาของความยึดถือว่าตัวตน อันเกิดจากอวิชชาเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะเที่ยวสอดส่ายหาความเป็นอย่างใดๆ แม้ที่สุดแต่เป็นเทพเจ้าหรือสัตว์สวรรค์ของพระเป็นเจ้าเหล่านั้น


ความมี ตัวเรา ของเรานี้ ก็มิใช่อะไรอื่น นอกไปจากผลิตผลแห่งมิจฉาทิฏฐิของจิต เมื่อใดจิตหมดจดจากมิจฉาทิฏฐินี้แล้ว เมื่อนั้นความรู้สึกว่า ตัวเรา ก็หมดไป เหลืออยู่แต่จิตที่บริสุทธิ์ ซึ่งอยู่เหนืออำนาจการเสกสรรบันดาลของพระเป็นเจ้าทั้งหลาย จิตที่บริสุทธิ์นั้น ไม่ต้องการอะไร ไม่มีสิ่งผูกพันที่จะต้องเปลื้อง และไม่มี ‘ตัวเอง’ ที่จะต้องแบกต้องขน เพราะฉะนั้นมันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องการให้ใครช่วยเหลือ และทั้งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรนนิบัติใครที่ไหนเลย


ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จิตที่บริสุทธิ์จึงอยู่นอกขอบเขตอำนาจการเสกสรรบันดาลของพระเป็นเจ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในทางสร้าง หรือในทางควบคุม หรือในทางทำลาย ! นี้แล คือ อิสรภาพอันสูงสุด ความรอดพ้นอันสูงสุด ความหลุดจากข้อผูกพันอันสูงสุด และความดับทุกข์ทั้งปวงอันสูงสุด ซึ่งมีได้ในชีวิตชาตินี้เอง โดยไม่ต้องรอคอยโลกพระศรีอารย์หรือสวรรค์ของพระเป็นเจ้าชนิดใดๆ


นี่แหละคือ นิพพานของเถรวาทหรือบรมธรรมอันแท้จริงของมนุษยชาติ สิ่งนี้เป็นคุณประโยชน์อันสูงสุด ที่มนุษย์อาจทำให้มีแก่ตนได้ในชาติทันตาเห็นนี้ และสมตามพระพุทธวจนะที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา พุทธบุคคลทั้งหลาย กล่าวนิพพานว่าเป็นบรมธรรม ดังนี้ สิ่งนี้เป็นปัจจัตตัง จะรู้ได้เข้าใจได้ก็ต่อเมื่อเข้าถึงตนเอง และอยู่นอกเหนือความเข้าใจของกลุ่มชนที่ติดแน่นอยู่ในลัทธิที่เอาแต่จะแทรกฝิ่นให้แก่ประชาชนเสียท่าเดียว”


พุทธศาสนาอย่างเถรวาท ไม่มีเมืองพระเจ้า เมืองสวรรค์ที่ไหน ไว้เป็นเหยื่อล่อมหาชน ไม่มีพระเป็นเจ้าที่เป็นตัวเป็นตนหรือสิ่งใดๆ อื่น สำหรับให้คนยึดมั่น นอกจากมีแต่พระรัตนตรัย กล่าวคือ ภาวะแห่งความสะอาด สว่าง สงบของจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ แล้ว ภายในของบุคคลนั้นๆ เอง ตั้งอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้า เพื่อให้เขาทำให้ประจักษ์ขึ้นในใจตน ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้เอง พุทธศาสนาอย่างเถรวาท จึงอยู่ในฐานะที่ใครๆ ไม่สามารถจะจัดเข้าไว้ในกลุ่มที่เป็น “ยาเสพติดของประชาชน” ได้แต่อย่างใดเลย

งานธรรมทูตของลัทธิเถรวาท สามารถดำเนินไปได้ทั่วโลก โดยปราศจากกองทัพและปราศจากเหยื่อล่อ หรือสินจ้างใดๆ ตลอดถึงพิธีรีตองอันครึกครื้นสวยงามต่างๆ ในทางวัตถุนิยม แต่สามารถดำเนินไปได้ด้วยรสแห่งธรรมปฏิบัติที่มีให้ชิมล่วงหน้าทันที ที่แม้แต่ลองปฏิบัติ หรือด้วยอำนาจความมีเหตุผลอันอาจเป็นที่เข้าใจได้ ไปตั้งแต่แรกเริ่มได้ยินได้ฟังทีเดียว นั่นเอง ประวัติศาสตร์แห่งสากลศาสนาของโลกทุกยุคทุกสมัย เป็นเครื่องพิสูจน์อันเพียงพอในข้อนี้


    นี่แหละคือ ความน่าอัศจรรย์ประการที่สามของลัทธิเถรวาท ที่สามารถแยกตัวเองออกมาเสียได้ จากกลุ่มของการเป็น “ยาเสพติดของประชาชน” ดังกล่าวแล้ว


     (ง) เถรวาทเรา มีพระรัตนตรัย ชนิดที่เป็นของในภายในของตนเอง เป็นที่ตั้งแห่งการเข้าถึงด้วยปัญญา ในลักษณะแทนที่แห่งพระเป็นเจ้าในภายนอกของลัทธิอื่นๆ ซึ่งยึดกันด้วยความภักดีอย่างเดียว ดังนั้น จึงมีแต่ “พระเป็นเจ้าสำหรับปัญญา” ไม่ใช่พระเป็นเจ้าสำหรับความภักดี !


พระรัตนตรัยแห่งลัทธิเถรวาทโดยเฉพาะ ซึ่งกล่าวได้ว่าอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้าในลัทธิอื่นๆ นั้น มีหลักที่จะต้องพิจารณาให้เห็นชัด เป็น ๒ ความหมายด้วยกัน ดังต่อไปนี้ :-


ความหมายที่เป็นชั้นนอก ในตอนต้นๆ สำหรับผู้แรกศึกษานั้น พระรัตนตรัยมีถึง ๓ อย่าง โดยจำนวน คือ (ก) พระพุทธเจ้า หมายถึง ผู้ที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสอนสิ่งที่ได้ตรัสรู้แล้วนั้น (ข) พระธรรม หมายถึง สิ่งที่อยู่ในรูปของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นสิ่งที่ต้องสอนต้องปฏิบัติ ต้องทำให้แจ้ง เพื่อความรอดพ้นของบุคคลที่เข้ามาปฏิบัตินั้นเอง (ค) พระสงฆ์เจ้า คือ หมู่ชนที่ได้ฟังพระองค์สอนแล้วเข้าใจ ปฏิบัติแล้วเห็นแจ้งในสิ่งๆ เดียวกันกับที่พระองค์ทรงเห็น และโดยทำนองเดียวกันกับพระองค์ทรงทำมา


ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว ก็คือ พระพุทธเจ้า เป็นผู้ตรัสรู้แล้วสอนพระธรรม พระธรรมทั้งที่อยู่ในรูปของปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เห็นแจ้งแล้วสอนสืบๆ กันไป พระสงฆ์ คือหมู่ชนที่ประพฤติตามพระพุทธเจ้า เพื่อผลอันเดียวกัน รัตนะทั้งสาม ในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจเรียกได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจขนานนามให้ได้กรณีนี้ ว่า “พุทธิก-ตรีมูรติ” หรือพระเป็นเจ้าใน ๓ ปรากฏการณ์


ซึ่งเมื่อกล่าวตามความคิดของพุทธบริษัทเรา โดยเทียบกับลัทธิอื่นแล้ว ก็คือ “พระเป็นเจ้า” (ซึ่งในกรณีนี้ ได้แก่ พุทธภาวะ” ๑. สิ่งที่สามารถทำให้อะไรบางอย่าง ได้นามว่า “พระเป็นเจ้า” ๒. ทำชนบางพวกให้เข้าถึงความเป็นอันเดียวกับ “พระเป็นเจ้า” และ ๓. หมู่ชนที่สามารถเข้าถึงหรืออาจเข้าถึงโดยแน่นอนข้างหน้า ในความเป็นอันเดียวกันกับ “พระเป็นเจ้า” รวมเป็น ๓ อย่างด้วยกัน ดังนี้


แต่ใน ความหมายชั้นลึก สำหรับผู้ที่มีความเห็นแจ้งและมีความรู้สึกสูงแล้วนั้น พระรัตนตรัยมีเพียงอย่างเดียว โดยถือเอาคุณสมบัติภายในเป็นประมาณ ตามหลักที่ว่า “เอกีภูตมฺปนตฺถโต-โดยอรรถอันลึกซึ้งแล้ว รัตนะทั้งสาม เป็นของอย่างเดียวกัน” ดังนี้ ของสิ่งเดียวนี้ ได้แก่ ตัวสภาวะของ “บรมเขมธรรม แห่งความสะอาด-สว่าง-สงบ(อันพอจะเรียกให้สั้นลง เพื่อความสะดวกสืบไป แต่เพียงว่า “๓ ส.”) นั้นเอง


อันจะปรากฏแก่จิต ในเมื่อจิตมีความบริสุทธิ์ถึงระดับใดระดับหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้แล้วเป็นชั้นๆ นี่แหละ คือพระรัตนตรัยตัวแท้ หรือหัวใจของพระรัตนตรัย ที่ทำคนบางคนให้ได้นามว่าพระพุทธเจ้า ทำหมู่ชนบางหมู่ให้ได้นามว่าพระสงฆ์ และทำตัวเองให้ได้นามว่าพระธรรม ตลอดกาลไม่มีกำหนด


ทำไมข้าพเจ้าจึงกล่าวเช่นนี้ในกรณีหลังนี้? ทั้งนี้เพราะอาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อพิจารณาดูถึงบุคคลที่ได้ตรัสรู้และสอน ก็จะพบว่า ได้ตรัสรู้และทรงสอนเพื่อให้เข้าถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม แห่ง ๓ ส.” ดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีประจำอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์ ในฐานะเป็นแก่นสารทั้งหมดของพระหฤทัยนั้น แต่อย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา


และเพราะเหตุที่พระองค์ทรงมีสิ่งๆ นี้ ประจำอยู่ในพระหฤทัย แทนที่จะมีกิเลส พระองค์จึงได้พระนามว่าพระพุทธเจ้า ถ้าสิ่งๆ นี้ ไม่มีในพระหฤทัยแล้ว พุทธภาวะก็หมดไป สิ่งสำคัญสิ่งนี้ อันได้แก่ ภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นต่างหาก หาใช่มนุษย์ภาวะไม่ ที่เป็นองค์แท้ของพระพุทธเจ้า จึงพร้อมทั้งกาย อันเป็นฐานรองรับนั้น เป็นเพียงเปลือกหรือเพียงภาชนะสำหรับรองรับภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นเท่านั้น


เมื่อกล่าวกันถึงสิ่งที่พระองค์ทรงทราบและทรงสอน ท่านทั้งหลายจะเห็นได้สืบไปว่า สิ่งนั้นก็คือ สิ่งๆ เดียวกันกับตัวภาวะแห่ง “บรมเขมธรรมของ ๓ ส.” ซึ่งพระองค์ทรงมีประจำอยู่ในพระหฤทัยของพระองค์เองตลอดเวลาอีกนั่นเอง


ถ้ากล่าวอีกอย่างหนึ่ง ในกรณีนี้มีความสำคัญที่จะต้องมองให้เห็นชัด อยู่ ๓ ลักษณะ คือ :


(๑) ในทางทฤษฎีสิ่งที่สอนๆ กันนั้น ก็ได้แก่ ทฤษฏีหรือวิธีการแห่งการที่จะได้มายิ่งภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น


(๒) ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัตินั้น ก็ได้แก่ การปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นอีกนั่นเอง และ


(๓) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกเอาเอง ว่า “ในทางการเห็นแจ้ง” เพราะไม่มีคำอื่นที่จะเรียกให้ดีกว่านี้ได้นั้น สิ่งที่เห็นแจ้งแทงตลอดนั้น ก็คือภาวะแห่ง “พระบรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” นั้นโดยตรง โดยเหตุนี้ สิ่งที่พระองค์ทรงแสวง ทรงพบ ทรงปฏิบัติ ทรงรับผลของการปฏิบัติแล้วทรงสอนสืบมานั้น ก็ไม่มีอะไรอื่น นอกไปจากภาวะแห่ง “พระบรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” นั้น


ฉะนั้นสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นเอง เป็นองค์พระธรรมแท้ โดยใจความอันถูกต้อง และมีปริยัติกับปฏิบัติเป็นเสมือนหนึ่งแผนที่ และการเดินไปตามแผนที่ และมีปฏิเวธหรือการเห็นแจ้งแทงตลอดนั้น เป็นการถึงที่สุดของการเดิน  


แม้เมื่อจะกล่าวกันถึงหมู่ชนที่ฟังธรรมเข้าใจ แล้วปฏิบัติจนได้รับผลอย่างเดียวกันกับพระองค์นั้นเล่า หมู่ชนเหล่านั้น ก็ได้แก่ หมู่ชนผู้มีความเข้าใจในการที่จะทำตนให้ลุถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น และในที่สุดก็คือ หมู่ชนผู้ที่ได้ลุถึงภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นแล้ว มีสิ่งๆ นี้เป็นแก่นสารประจำใจแต่อย่างเดียวไปจนตลอดชีวิตอีกนั่นเอง


สิ่งที่เขาเข้าใจ แล้วปฏิบัติ และเห็นแจ้งแล้ว มีอยู่ในใจเขานั้นต่างหาก ที่เป็นองค์พระสงฆ์เจ้าองค์แท้ หาใช่ลำพังกายกับใจล้วนๆ ไม่ ใจพร้อมทั้งกาย ซึ่งเป็นเสมือนฐานรองรับนั้น คงเป็นได้แต่เปลือกหรือภาชนะสำหรับรองรับสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้นไปตามเดิม


เพราะเหตุดังกล่าวมา ตัวสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม ของ ๓ ส.” ดังที่กล่าวแล้วนั้นเท่านั้น ที่เป็นตัวแท้ของพระรัตนตรัยทั้งสามรัตนะ กล่าวคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผู้ใดสามารถทำสภาวะแห่ง “บรมเขมธรรม” นั้น ให้ปรากฏในใจของตนได้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าได้มีพระรัตนตรัยอันแท้จริง ชนิดที่ครบทั้ง ๓ รัตนะ พร้อมกันในคราวเดียว เพราะเป็นสิ่งที่มีลักษณะเป็น ๓ ใน ๑ อยู่ในตัวเองโดยเด็ดขาด เป็นของผู้นั้นจริงๆ โดยไม่มีทางจะเป็นอื่นไปได้


สรุปความว่า พระรัตนตรัย ซึ่งนับเป็นสาม โดยจำนวนตามความหมายในชั้นนอกก็ดี หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นับเป็นหนึ่ง โดยความหมายในชั้นลึกดังกล่าวแล้วข้างต้นก็ดี ย่อมตั้งอยู่ในฐานะแทนที่พระเป็นเจ้าของลัทธิอื่นๆ ในศาสนาอื่นๆ ที่มีการถือพระเป็นเจ้าในฐานะเป็นวัตถุสูงสุดโดยทำนองเดียวกัน


ผู้ที่เข้าถึงพระรัตนตรัยในลักษณะเช่นนี้ได้ ย่อมชื่อว่าเข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “พระเป็นเจ้า” แต่เป็นพระเป็นเจ้าตามความหมายของพวกพุทธบริษัท จึงปราศจากหน้าที่แห่งการสร้าง การควบคุม และการทำลายล้างสิ่งใดๆ โดยสิ้นเชิง นี่แหละคือ “พระเป็นเจ้า” ของพวกเถรวาทเรา ! ถ้าหากเราประสงค์จะมีกะเขาบ้าง และพระเป็นเจ้าสำหรับการเข้าถึงด้วยปัญญา โดยวิธีกล่าวแล้วข้างต้น ไม่ใช่สำหรับยึดถือด้วยความภักดี หรือความไว้วางใจอย่างเดียว


     นี้แล ความน่าอัศจรรย์ประการที่สี่ของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท


     
เพื่อนร่วมการเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย ! บัดนี้ เวลาแห่งการปาฐกถาจะได้สิ้นสุดลงแล้ว ข้าพเจ้าขอถือโอกาสสรุปความว่า


ประเทศของเราทั้งสอง จักต้องมีพุทธศาสนาอย่างเถรวาท อันบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตและวิญญาณ พร้อมทั้งเป็นเครื่องรักษาสัมพันธไมตรีพร้อมกันไปในตัว


ลัทธิเถรวาทเรา มีความบริสุทธิ์อยู่ดังเดิมได้ ซึ่งโลกนักศึกษาต่างยอมรับรองในข้อนี้ จึงยังคงเป็นสิ่งที่ควรเทิดทูนและยึดไว้ อัฏฐังคิกมรรค เป็นหัวใจของลัทธิ สามารถทำโลกไม่ให้ว่างจากพระอรหันต์ ในลักษณะที่ไม่เหลือวิสัยคนทุกคน ซึ่งเมื่อทำให้ถูกวิธีแล้วจะง่ายดายเหมือนของเบาลอยน้ำออกไปสู่ทะเล เป็นหลักที่ใช้ถือปฏิบัติได้ ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายโลกุตตระ


เรามีความมุ่งหมายที่จะอยู่เหนืออำนาจเร้นลับ แห่งการสร้าง การควบคุม และการทำลายของสรรพกิเลส กล่าวคือ การลุถึงนิพพาน ตามแบบของเถรวาท ซึ่งมีสภาพเป็นอชาตอภูต-อมต ไม่น้อมไปเพื่อความมีตัวตน หรือมีการอยู่ในโลกของพระเป็นเจ้าแต่อย่างใด


เรามีพระรัตนตรัยแท้ ชนิดที่เป็นความสะอาด-สว่าง-สงบ ของจิตที่หมดกิเลส เป็นที่พึ่ง เป็นที่สักการะ แทนที่พระเป็นเจ้าของลัทธิอื่นๆ การกระทำของเราเป็นการช่วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา มีเหตุผลชัดเจน อำนวยประโยชน์ที่จำเป็นแก่ชีวิตให้จริงๆ จนไม่อยู่ในวิสัยที่ใครๆ จะกล่าวว่าเป็นยาฝิ่นของประชาชนดังได้กล่าวแล้ว และสามารถต่อสู้หรือทำลายอิทธิพลของลัทธิวัตถุนิยมได้จริง


เราทั้งหลาย ก็อยู่ในสภาพที่จะรู้ จะเข้าใจ จะปฏิบัติ และเห็นแจ้งในผลของการปฏิบัติ ตลอดจนถึงกับสามารถสั่งสอนสืบต่อๆ กันไปได้จริง เพราะว่าเรามีจิตใจสูงพอที่จะเข้าใจในเรื่องจิตหรือวิญญาณที่สูงไปกว่าเรื่องของวัตถุ และในเรื่องโลกุตตระซึ่งเร้นลับจากเรื่องโลกียะทั้งหลายได้นั่นเอง

เมื่อกล่าวอย่างสำนวนภาษาไทย เพราะข้าพเจ้าไม่สามารถทราบสำนวนภาษาอื่น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า เราต้องไม่เป็นแรด เพราะแรดไม่สามารถที่จะฟังเสียงปี่อันไพเราะ โลกุตตรธรรมนั้น บรรเลงเพลงอันไพเราะอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราเป็นแรด เราก็จะไม่ได้ยิน


เมื่อ ๕๐๐ ปีเศษ ก่อนคริสต์ศักราชมาแล้ว ในประเทศกรีก ซึ่งโลกถือกันว่าเป็นดงปราชญ์ เฮรัคคลิตัส (Heraclitus) ได้เป่าปี่ให้แรดทั้งหลายของเขาฟังอย่างเหนื่อยเปล่า ! เขาเกิดพ้องสมัยกันกับพระพุทธองค์ ห่างกันไม่กี่ปี ได้โฆษณาทฤษฎี “แปนตาเร ทุกอย่างไหล” ของเขา ซึ่งมีใจความว่า


สิ่งทั้งปวง หรือที่รวมเรียกกันว่าโลกนี้ เป็นเพียงความไหลเนื่องกันไม่ขาดสาย ไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่อยู่จริง มีแต่ความเปลี่ยนแปลงทุกส่วน กำลังดับอยู่ตามกันไม่มีขาดสาย เหมือนความดับติดต่อกันของไฟที่กำลังลุกโพลงๆ อยู่


แปนตาเร ทุกอย่างไหล” ของเรานี้ ก็คือ “สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา” ของพระพุทธองค์นั่นเอง แต่คนทั้งหลายในที่นั้น ฟังไม่รู้เรื่องเลย แล้วยังกลับหาว่าเขาเป็น “มนุษย์ลึกลับ” ทั้งนี้ ก็เพราะไม่ใช่อะไรอื่น นอกไปจากประเทศกรีกในสมัยนั้น เป็นดงแรดแห่งปรัชญาวัตถุนิยม แรดเหล่านั้น ฟังเรื่องทางฝั่งโลกุตตระไม่เข้าใจ ทั้งที่โลกยกย่องกันว่า เป็นเมืองนักปราชญ์มาจนกระทั่งทุกวันนี้


เราทั้งหลาย จงภูมิใจเถิดว่า เราฟังเพลงแห่งโลกุตตรธรรมของพระพุทธองค์ได้ยินและเข้าใจ เราไม่ยอมเป็นแรด แห่งลัทธิที่เป็นยาเสพติดของประชาชน เพราะมัวหวังผลเป็นวัตถุนิยม ทั้งในเมืองมนุษย์และเมืองสวรรค์อย่างแน่นอน ปรัชญาของเถรวาท ต้องเป็นมโนนิยมโดยเด็ดขาด จึงมุ่งผลเป็นนิพพาน คือความอยู่นอกเหนืออำนาจของสิ่งทั้งปวง อันเป็นที่ตั้งแห่งความลุ่มหลง จนถูกสร้าง ถูกควบคุม ถูกทำลายล้างวนเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด


ประเทศของเราเหลืองอร่ามไปด้วยกาสาวพัสตร์ นั่นมันเป็นเครื่องหมายของผู้อยู่เหนืออำนาจของผู้สร้าง ผู้ควบคุม ผู้ทำลายล้าง เป็นเครื่องหมายของแสงสว่างหรือปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์ ความดับทุกข์ทั้งหลายได้สิ้นเชิง ไม่มีทางที่จะกลับเป็นทุกข์ได้อีกต่อไป


     นี้แลคือ ความน่ามหัศจรรย์แห่งหลักธรรมอันประเสริฐของเถรวาทเราโดยสรุป รวมทั้งความน่ามหัศจรรย์แห่งความเป็นเถรวาทินของพวกเราเองทุกๆ คนด้วย เราจะต้องรักษาคุณสมบัติอันนี้ไว้ ให้เหมือนเกลือรักษาความเค็มของมันเองไว้ได้ ตลอดกาลนิรันดร ฉันใดก็ฉันนั้น จงทุกคนเทอญ.

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

๒. ส่วนสำคัญของพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้(๑)


แสดง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๓


โดย

พุทธทาสภิกขุ
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

1.png


เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๓ เวลา ๑๕.๐๐ น. สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล(๒) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ประทานพระราชกรุณาต่อกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนาจากพระภิกษุผู้ทรงคุณความรู้เยี่ยมในทางธรรม ทรงนิมนต์พระราชชัยกวี (พุทธทาสภิกขุ) มาแสดงธรรมแก่นิสิต และพระองค์ท่านเองก็เสด็จมาทรงเป็นประธานของการแสดงธรรมปาฐกถาในครั้งนี้ด้วย โดยปรากฏว่ามีอาจารย์และนิสิตร่วมศึกษาพุทธธรรมจากพระราชชัยกวี (พุทธทาสภิกขุ) ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประมาณ ๓,๐๐๐ คน และนับเป็นครั้งแรกที่พระราชชัยกวี (พุทธทาสภิกขุ) ได้มาแสดงธรรมปาฐกถาในกลุ่มศึกษาพุทธศาสตร์ฯ.

อาตมภาพขอรับพระราชทานพระราชวโรกาศ เพื่อกล่าวธรรมกถาในรูปและวิธีของปาฐกถาอย่างธรรมดาสามัญเพื่อสำเร็จประโยชน์แก่นิสิตทั้งหลายเท่าที่จะมากที่สุดได้เพียงใด ขอถวายพระพร.

    นิสิต, ท่านสุภาพชน และสาธุชนทั้งหลาย

    โอกาสแห่งการบรรยายธรรมกถาในวันนี้ อาตมภาพมุ่งหมายจะกล่าวถึง “ส่วนสำคัญๆ เท่าที่นิสิตจะพึงทราบเกี่ยวกับพุทธศาสนา” เพราะฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายได้โปรดให้อภัย ถ้าหากว่าคำกล่าวทั้งหมดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่นิสิตเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าการกล่าวอย่างกำกวมหรือก้ำกึ่งกันระหว่างความมุ่งหมายสำหรับนิสิตกับสาธุชนทั่วไปนั้น ย่อมที่จะตัดทอนความแจ่มกระจ่างลงไปเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นให้ถือว่าความมุ่งหมายส่วนใหญ่นั้นกล่าวเพื่อประโยชน์แก่นิสิต ถ้าตรงกันกับความประสงค์ของท่านสาธุชนทั่วไป ก็เป็นอันว่าเป็นผลพลอยได้

ที่ว่าส่วนสำคัญๆ นั้น หมายถึง ส่วนสำคัญที่เรียกว่า ธรรมะหรือศาสนา เพราะคำว่าธรรมะและคำว่าศาสนาหรือพุทธศาสนานี้ใช้แทนกันได้ และที่เรียกว่า “ส่วนสำคัญๆ” นั้น อาตมาขอตั้งเป็นหัวข้อว่า ทำไมเราจึงต้องมาเกี่ยวข้องกับธรรมะหรือศาสนา และจะเกี่ยวข้องด้วยวิธีอย่างไร และสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือศาสนานั้นคืออะไร? และในที่สุดก็มีข้อเบ็ดเตล็ดเช่นว่า อุปสรรคหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการเข้ามาเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานี้ มีอะไรบ้าง? นี้เป็นข้อสำคัญ ซึ่งอาตมาจะได้กล่าวถึงข้อที่ว่า ทำไมเราจึงต้องเกี่ยวข้องกับธรรมะหรือศาสนา? เป็นข้อแรก

ถ้าทุกคนมีความคิดว่า เมื่อมีทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง มีมิตรสหายพร้อมหน้าเพียงเท่านี้เป็นการพอแล้ว ก็นับว่าเป็นเรื่องของพวกวัตถุนิยมจัด ไม่มีอะไรที่จะพูดกันอีกแล้วเกี่ยวกับพุทธบริษัทเรา แต่เนื่องจากพุทธบริษัทเราไม่ได้เป็นพวกวัตถุนิยมจัดหรือวัตถุนิยมโดยส่วนเดียว ย่อมมีความคิดสูงไปกว่านั้น คือต้องการจะถือเอาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุนั้นได้อีกด้วย จึงมีเรื่องทางฝ่ายที่เรียกว่า “จัดนิยม” หรือ “อุดมคติ”

หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือว่า ไม่ใช่วัตถุนิยมก็แล้วกัน นั่นคือส่วนหนึ่ง แปลว่า เรามีความมุ่งหมายเพื่อจะให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ซึ่งจะเรียกกันง่ายๆ เหมือนที่ใช้เรียกกันเป็นคำกลางระหว่างวิชาธรรมะหรือปรัชญา คือคำสากลที่ใช้สั้นๆ ว่า Summum Bonum หรือที่ขยายให้ชัดว่า The utmost goodness that Bonum หรือที่ขยายให้ชัดว่า The utmost goodness that man can get in this very life.

ขอให้ท่านนิสิตทั้งหลายเปิดดู Dictionary ที่เป็นคำอธิบายของคำว่า Summum Bonum ก็จะพบว่าได้แก่ สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์จะต้องถึงให้ได้ชั่วชาตินี้ในชีวิตนี้เอง เราพุทธบริษัททั้งหลายมีความมุ่งหมายที่จะให้ได้สิ่งนี้ เราจึงรู้สึกว่าเพียงแต่ได้ความสมบูรณ์ในทางวัตถุนั้นไม่พอ เพราะว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้

ลองเปรียบเทียบดู ขออภัยในการที่ต้องใช้อุทาหรณ์ เช่นว่า เราอยากจะมีชีวิตเหมือนผีเสื้อสีสวยๆ บินลอยไปมา ไม่ชั่วกี่วันก็ตาย อย่างนี้เอาไหม ก็คงจะสั่นหัว แม้ที่สุดแต่คนที่รักสวยรักงามอย่างยิ่ง หรือถ้าว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างยุง ไม่กี่วันก็ตาย โดยเกิดมาสูบเลือดคน อีกไม่กี่วันก็ตาย คงจะไม่มีคนเอา หรือถ้าตรงกันข้ามกับยุง เราจะเป็นสัตว์ที่แข็งแรง เช่น ช้างหรือสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างอื่น ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย จะเอาไหม? มากเกินไปก็ไม่มีใครเอา


หรือจะเกิดมาเหมือนลิงทะโมนนายฝูง ซึ่งมีลิงเพศตรงกันข้ามเป็นบริวารมากมาย เป็นจอมโจกของฝูงเอาไหม? พวกที่วัตถุนิยมจัดเกินไปเท่านั้นที่จะพอใจ แต่ในที่สุดก็จะสอดส่องหาสิ่งที่ดีที่สุด วนไปวนมาจนกว่าจะพบ ก็จะพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ติดเนื่องกับวัตถุอย่างเดียว หรือว่าลำพังวัตถุอย่างเดียว เราไม่สามารถจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

เราจะต้องพิจารณาดูให้ดี ว่าคนเราไม่ได้ประกอบด้วยวัตถุ หรือร่างกายอย่างเดียว ย่อมจะมีจิตใจอยู่ด้วย ถ้าหากว่าไม่มีความเต็มเปี่ยมทั้งทางกายและทางใจ ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะต้องกลวงเป็นโพรง คือว่าเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยมทางกาย หรือทางวัตถุแต่ทางใจนั้นว่างกลวงเป็นโพรง ความเป็นมนุษย์ที่กลวงเป็นโพรงอย่างนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง


คิดดูสักหน่อยก็จะเห็นได้ และปัญหายุ่งยากในโลกอื่นก็ตาม ถ้าจะมีย่อมจะเกิดมาจากมนุษย์ที่กลวงเป็นโพรงเช่นนี้ทั้งนั้น คือมีความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แต่ทางวัตถุหรือทางร่างกาย ส่วนทางจิตใจนั้นกลวงเป็นโพรง เพราะไร้ความเป็นมนุษย์ในทางจิตใจ

ที่นี้ เรามาพิจารณาดูว่า ทำไมคนจึงสนใจและลุ่มหลงแต่เรื่องทางวัตถุ ส่วนทางเรื่องจิตใจนั้นไม่ค่อยจะเหลียวแล และยิ่งกว่านั้น บางคนก็คัดค้านและขัดขวาง บางคนก็ดูหมิ่นดูถูกเรื่องในทางจิตใจ นี่ก็เพราะว่ามีสิ่งอยู่เหนือความเข้าใจของบุคคลประเภทนั้น แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะได้มีอยู่จริงและจริงอย่างยิ่งกว่าทางวัตถุเสียอีก คนเหล่านั้นก็ไม่เข้าใจและไม่คิดว่ามี เกี่ยวกับเรื่องนี้อยากจะขออธิบายด้วยตัวอย่าง ขออภัยที่จะยกตัวอย่างด้วยเรื่อง “อ้ายอ๊อด”

ท่านที่เป็นนักเรียน ย่อมเคยอ่านหนังสือแบบเรียนชั้นประถมต้นๆ เรื่องลูกสัตว์ คำว่า “อ้ายอ๊อด” หมายถึง ลูกกบในระยะที่มันยังว่าอยู่ในน้ำ ถ้าเผอิญแม่กบบอกว่า “บกมี” เพราะว่าแม่กบเคยขึ้นไปบนบก แม่กบก็บอกว่ามี และมีลักษณะเป็นอย่างนั้นๆ น่าดูกว่าในน้ำ อ้ายอ๊อดมันก็จะไม่ยอมเชื่อว่ามี ถ้าแม่ขืนพูดมากไป อ้ายลูกนั่นเองจะด่าว่าแม่พูดเท็จพูดไม่จริง พูดอย่างไร มันก็ไม่อาจรู้กันได้ จนกว่าอ้ายอ๊อดนั้นจะได้โตเป็นกบขึ้นไปดูบกได้ด้วยตนเอง

แต่ว่าท่านนิสิตทั้งหลายลองพิจารณาดูเถิดว่า มันมีลูกอ๊อดกี่เปอร์เซ็นต์ที่กลายเป็นกบขึ้นบกไปได้ มันน้อยเต็มที เพราะมันไม่รู้เรื่องบกแล้วมันยังดื้อ อ้ายอ๊อดย่อมจะดื้อต่อคำแนะนำสั่งสอนของพ่อ มันจึงตายเสียเป็นส่วนมาก ก่อนแต่ที่จะได้ขึ้นบก ถ้าท่านเข้าใจความข้อนี้ ท่านก็จะพบมูลเหตุของการที่เราไม่ประสบความสำเร็จแม้ในการศึกษาเล่าเรียน แล้วจะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงชีวิตในด้านจิต ด้านอุดมธรรมอันสูงสุดอย่างไรได้ ฉะนั้น เราจะต้องระมัดระวัง “ความเป็นอ้ายอ๊อด” นี้ให้มากอย่างยิ่ง เพราะว่าอุปสรรคเป็นศัตรูอย่างยิ่งทีเดียว

นี่ท่านจะเห็นได้ทันทีว่า เรื่องบกนั้นเข้าใจยากสำหรับสัตว์ที่เรียกว่าอ้ายอ๊อดฉันใด เรื่องฝ่ายจิตนิยมหรืออุดมคติที่ไม่ใช่วัตถุนิยมนั้น ย่อมเข้าใจยากสำหรับผู้ที่กำลังลุ่มหลงในฝ่ายวัตถุนิยมฉันนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักแยกกันออกไปให้เป็น ๒ ส่วน หรือ ๒ ฝ่าย และระมัดระวังให้ดี ทำให้เต็มที่สมบูรณ์ทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายจิตใจ ไม่เป็นมนุษย์ที่กลวงเป็นโพรงดังที่กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ท่านนิสิตทั้งหลายควรจะได้กำหนดจดจำความข้อนี้ไว้โดยสรุปสั้นๆ ว่า มันมีอยู่ ๒ อย่าง เช่นว่า ถ้าจะพูดถึงความตาย ก็ต้องมีความตาย ๒ อย่าง คือ ความตายทางร่างกายอย่างหนึ่ง และความตายทางวิญญาณอย่างหนึ่ง หรือถ้าจะพูดถึงความเป็นอยู่ มันก็มีความเป็นอยู่ ๒ อย่าง คือ ความเป็นอยู่ทางร่างกาย และความเป็นอยู่ในทางจิตหรือวิญญาณ หรือจะพูดถึงการได้ คือได้สิ่งที่ดีที่สุด มันก็ต้องแบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ได้สิ่งที่ดีที่สุดในทางร่างกาย และได้สิ่งที่ดีที่สุดในทางฝ่ายจิตหรือฝ่ายวิญญาณ

เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาในด้านคำพูด ขอท่านนิสิตได้ทราบว่า เรามีคำ ๒ คำนี้ คือ คำว่า ทางวัตถุ ทางกาย กับทางจิต ทางวิญญาณ เราใช้คำว่า physical เหมือนที่ใช้กันทั่วไปสำหรับทางวัตถุหรือทางกาย แต่ส่วนทางจิตหรือทางวิญญาณ เราไม่ใช้คำว่า mental แต่เราใช้คำว่า spiritual ทีนี้เผอิญคำว่า spiritual นี้ มักจะมองไปในแง่เป็นผี ปีศาจ หรือวิญญาณชนิดเป็นผีเป็นสางทำนองนั้น ไม่ใช่เลย! เราหมายถึงในด้านจิตใจที่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่มองด้วยตาเห็นไม่ได้ แต่เป็นส่วนสำคัญ

เพราะฉะนั้น เรื่องทางฝ่าย mental ที่เนื่องอยู่ด้วยมันสมองนี้ เราเอามาไว้ฝ่าย physical คือทางฝ่ายกาย ฝ่ายวัตถุหมด เหลือที่ตรงกันข้ามที่คู่กันก็คือ ฝ่ายวิญญาณหรือ spiritual และเราต้องการสิ่งที่เรียกว่า spiritual experience หมายถึง ความเจนจัด ประจักษ์ด้วยใจเองในเรื่องทางฝ่ายจิตหรือทางฝ่ายวิญญาณ ไม่เกี่ยวกับวัตถุร่างกาย สิ่งของ ได้แก่ การที่เราเคยผ่านสิ่งต่างๆ ปัญหายุ่งยากต่างๆ ทางใจมาแล้วอย่างมากมายเพียงพอ อันนี้จะเป็นมูลฐานสำคัญที่สุดสำหรับศึกษาเรื่องพระธรรมหรือพระศาสนา  

การที่เราไม่มีสิ่งเหล่านี้เพียงพอ นั่นแหละเป็นมูลเหตุให้เราเข้าใจพระพุทธศาสนาไม่ได้ แม้ว่าเราจะไปทำกรรมฐานหรือวิปัสสนาหรืออะไรก็ตามแต่ ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่เคยผ่านสิ่งที่เรียกว่า spiritual experience มาอย่างเพียงพอแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำได้สำเร็จ มันเป็นกรรมฐานท่องบ่น หรือกรรมฐานพิธีรีตองอะไรไปทำนองนั้น จบหรือสำเร็จอย่างที่เขาเรียกหรือตั้งให้ ไม่สามารถจะทำลายกิเลสอันแท้จริงได้ ฉะนั้นให้ทุกคนที่สนใจจะศึกษา จงได้ใฝ่สนใจศึกษาในด้านที่เกี่ยวกับจิตหรือวิญญาณนี้ให้มากด้วยส่วนหนึ่ง  

ทำไมเราจึงต้องสนใจหรือศึกษาส่วนที่เกี่ยวกับจิตใจหรือวิญญาณนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับธรรมะโดยเฉพาะ? ทั้งนี้เพราะเหตุว่าถ้าทางฝ่ายวัตถุนี้ไม่ได้รับความควบคุมด้วยธรรมะแล้ว จะเป็นไปเพื่อความทุกข์ทั้งนั้น เราจะมีทรัพย์มากมายเท่าใด เราจะมีอำนาจวาสนาเกียรติยศชื่อเสียงเท่าใดก็ตาม ถ้าไม่ได้รับการควบคุมที่ถูกต้องโดยทางธรรมะหรือทางจิตใจทางวิญญาณแล้ว แทนที่ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจวาสนาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ มันจะกลายเป็นโทษและนำมาซึ่งทุกข์

อาตมาชอบชี้ชัดๆ ด้วยตัวอย่างว่า สมมุติว่ามีเงินล้านหนึ่ง ถ้าผู้มีเงินนั้นไม่ประกอบด้วยธรรมะ เขาจะมีความทุกข์ล้านหนึ่งเท่ากับจำนวนเงิน แต่ถ้าเขามีธรรมะเขาก็จะมีความสุขล้านหนึ่งเท่ากับจำนวนเงิน ฉะนั้นจึงเป็นอันว่า สุขและทุกข์ไม่ได้อยู่ที่เงินอย่างเดียว มันอยู่ที่ว่ามีธรรมะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่


ถ้าธรรมะเข้าไปเกี่ยวข้อง เงินหรืออะไรเหล่านี้ ก็จะอำนวยความสะดวก ไม่ทำความลำบากเดือดร้อนใจ หรือทำอันตรายอันใดให้เกิดขึ้น แต่ถ้าธรรมะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแล้วมันจะเป็นอันตรายจนหาความสุขไม่ได้เลย ฉะนั้นการที่มีเงินอย่างเดียวโดยไม่มีธรรมะนั้น จะเป็นอันรายหรือเป็นความจำเป็นที่จะต้องมีธรรมะสำหรับจัดให้สิ่งต่างๆ เป็นไปในทางที่จะไม่ให้เป็นทุกข์

เราจะมีทรัพย์ มีชื่อเสียง มีอำนาจวาสนา มีพวกพ้องบริวาร สังคม สมาคมอะไรก็ตาม ถ้าธรรมะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว ไม่มีทางที่จะเป็นอย่างอื่นได้ ประโยชน์อันแท้จริงของธรรมะมีอยู่อย่างนี้ในส่วนปัจเจกชน ส่วนสังคมที่ขยายออกเป็นวงกว้าง เช่น โลกหรือทั่วโลก มันก็อย่างเดียวกัน เพราะเหตุว่าสังคมมันก็คือส่วนรวมของปัจเจกชน
ถ้าปัจเจกชนเป็นอย่างไรสังคมก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นสังคมของคนไม่ฉลาด มันก็หมายความว่า ทุกคนในสังคมนั้นไม่ฉลาดอย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าธรรมะหรือพระศาสนาซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาทางจิตใจ เพราะจะทำให้ความเป็นมนุษย์นี้เป็นมนุษย์ครบทั้ง ๒ ซีก ทั้งภายนอกและภายใน และโดยผลที่ประสบอย่างยิ่งก็คือ ไม่ทำให้ความทุกข์เกิดขึ้น แต่ทำให้ทุกสิ่งเป็นไปในลักษณะที่น่าปรารถนา ผิดจากนี้แล้วก็เป็นไปเพื่อความยุ่งยากโกลาหลวุ่นวาย เป็นความทุกข์ในที่สุดโดยส่วนเดียว

เราจะเห็นได้ว่า แม้คนที่ฉลาดมีการศึกษาอย่างที่เรียกกันว่าอย่างโลกๆ นี้ดี แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีความสุข ยังอยู่ในสภาพที่เรียกว่า มีความรู้ท่วมท้นเอาตัวไม่รอด ในที่สุดก็ยังต้องฆ่าตัวตายอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าว่าธรรมะเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว สิ่งที่ไม่น่าดูน่าปรารถนาเหล่านี้ จะไม่มีไม่เกิดขึ้นได้เลย


เพราะฉะนั้นธรรมะไม่ใช่ยาขม ไม่ใช่เป็นเหมือนยาขมที่ทุกๆ คนเบื่อธรรมะไม่ใช่เหมือนกับของกินที่ไม่จำเป็น แต่ว่าเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับความเป็นมนุษย์ ธรรมะจึงไม่ใช่ของครึหรือพ้นสมัย เพราะว่าแม้มนุษย์ในสมัยนี้ หรือปัจจุบันนี้ ถ้าปราศจากธรรมะแล้ว จะไม่มีความเป็นมนุษย์ หรืออย่างมากที่สุดก็จะเป็นมนุษย์ที่กลวงเป็นโพรงอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

จึงกล่าวได้ในที่สุดว่า ธรรมะนี้ก็คือ เครื่องมือที่จำเป็นที่สุดในการที่จะทำให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้รับให้ทันในชีวิตนี้ ไม่ใช่ผัดไว้ชาติหน้า คือให้ได้สิ่งที่เรียกว่า อุดมธรรม หรือ Summum Bonum เรียกสั้นๆ อย่างนี้จำง่ายดี นี่เป็นอันกล่าวสรุปสั้นๆ ว่าทำไมเราจึงมาเกี่ยวข้องกับธรรมะหรือศาสนา

ต่อแต่นี้ อาตมาจะขอข้ามไปกล่าวถึงหัวข้อที่ว่า ธรรมะคืออะไร? ขอให้ท่านนิสิตทั้งหลายสนใจจำคำแม้โดยพยัญชนะ ไม่เฉพาะแต่โดยความหมายหรือเรื่องราวโดยส่วนเดียว

ในชั้นแรกเราจะได้วินิจฉัยถึง คำว่า “ธรรม” นี้ โดยตัวหนังสือ คือโดยพยัญชนะนั้น มันหมายถึงอะไร? โดยพยัญชนะมันแปลว่า สิ่งซึ่งทรงตัวอยู่ได้ ที่นี้มันมีแง่ที่จะอธิบายหรือดูกันให้เข้าใจว่า สิ่งซึ่งทรงตัวอยู่ได้นี้ ได้แก่สิ่งทุกสิ่ง


เพราะว่าบรรดาสิ่งที่ไม่เที่ยงและไหลเวียนเปลี่ยนแปลงเรื่อยนั้น มันก็เอาการไหลเวียนนั่นเอง เป็นการทรงตัวมันเอง กระแสแห่งการไหลเวียนนั้นเองคือตัวมันเอง หรือการที่ทรงตัวมันเองอยู่ก็ด้วยความเปลี่ยนแปลงหรือไหลเวียน ส่วนสิ่งที่ตรงกันข้ามไม่เปลี่ยนแปลงไม่ไหลเวียนนั่นแหละก็เป็นตัวมันเอง

ฉะนั้น จึงเป็นอันว่า ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรม โดยหลักของภาษาบาลีเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ทราบว่าจะใช้คำว่าอะไรดีในภาษาไทย จึงต้องใช้คำว่า “ธรรมะ” ไปตามเดิม ส่วนฝรั่งเขาพยายามที่จะแปลว่าคำว่าธรรมะนี้ออกไปเป็นภาษาอังกฤษเป็นต้น ทีแรกเขาคิดว่ามันแปลได้ เขาก็แปลเป็นคำต่างๆ ตามที่เขาเห็นว่าสมควร เช่นแปลคำว่าธรรมะว่า Truth คือความจริงบ้าง แปลว่า Law คือกฎบ้าง แปลว่า Norm คือหลักสำหรับยึดถือบ้าง ทำนองนี้ ผลสุดท้ายมันไม่พอทั้งนั้น มันใช้ได้แก่กรณีหนึ่งๆ เท่านั้นเอง ไม่อาจจะตรงกับความหมายของคำๆ นี้ทุกกรณี

เดี๋ยวนี้เขาจึงเลิกแปลธรรมคำนี้กันหมด นักศึกษาที่เป็นชาวต่างประเทศไม่อุตริไปแปลคำว่าธรรมเข้าอีกแล้ว คงใช้ทับศัพท์ว่า Dhamma ไปตามเดิม เช่นเดียวกับภาษาไทยเรา ปู่ ย่า ตา ยาย บรรพบุรุษของเราไม่เคยแปลคำๆ นี้ว่าอะไร จึงต้องใช้คำว่าธรรมะ–ธรรม–ธัมมไปตามเดิม เพราะนี่มันแปลไม่ได้ นี่เป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่ง ภาษาอื่นก็เหมือนกันอีก ฉะนั้นท่านจะต้องทราบไว้ว่าที่เรียกว่าธรรมะนั้น ต้องใช้คำนี้ไปตามเดิมแปลไม่ได้ นี้โดยพยัญชนะ

ทีนี้โดยอรรถะ คือโดยความหมาย อันนี้หมายความได้หลายอย่าง แล้วแต่เราจะให้หมายถึงอะไร จัดเป็นฝ่ายๆ พวกๆ เป็นเรื่องๆ แต่ละกรณีเช่นไร แต่ในกรณีที่สำคัญที่สุดที่ควรจะทราบก่อนอันอื่น ก็คือว่า

คำว่า ธรรม” นี้ หมายความถึงเหตุ หรืออำนาจ คืออำนาจที่บันดาลให้อะไรเป็นไปได้ ตามที่เราเห็นๆ กันอยู่ในฐานะที่เป็นกฎธรรมดาหรืออะไรทำนองนี้ เมื่อถามว่าอะไรเป็นเหตุ ก็ตอบได้สั้นๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั่นแหละเป็นต้นเหตุ

ถ้าท่านถูกชาวต่างประเทศถามว่า ในพระพุทธศาสนานี้มีพระเป็นเจ้าหรือ God ไหม? ก็ต้องตอบได้ว่ามี ถ้าเขาถามว่าอะไร? ก็คือธรรม แต่เราต้องทราบไว้ว่าการกล่าวเช่นนี้เพียงแต่เรามีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างอย่างเดียวกัน


God หรือพระเจ้านั้น มันสำคัญอยู่ที่ความหมาย เช่นอย่างว่า God the Creater พระเจ้าผู้สร้าง อย่างนี้เราก็มี คือ “ธรรม” นั่นเอง “ธรรม” เป็นสิ่งที่สร้างสิ่งทั้งหลาย บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและเป็นไป โดยอาการอย่างเดียวกันกับที่พระผู้เป็นเจ้าหรือ God สร้างโลกตามลัทธิของศาสนา นี่คือพระเป็นเจ้าสร้างโลก และเราก็มีสิ่งสร้างโลก คือ “ธรรม”

ต่อไปถึง God the Preserver คือ พระเป็นเจ้าที่ควบคุมโลกให้อยู่ในสภาพปัจจุบันอย่างนี้ เช่น ไม่ให้พระอาทิตย์กับพระจันทร์ชนกันอย่างนี้เป็นต้น หรือทุกๆ อย่างต้องเป็นไปตามกฎอย่างนี้ preserve สิ่งต่างๆ ไว้อย่างนี้ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” อีกนั่นเอง ธรรมในลักษณะที่ควบคุมโลกนี้ ขออย่าเพิ่งเข้าใจเป็นอย่างอื่น ขอให้ท่านเพ่งเล็งถึงว่า มันมีอำนาจอันหนึ่งซึ่งมูลเหตุที่ควบคุมโลกให้เป็นอย่างนี้ก็ได้ แต่เราเรียกว่า “ธรรม” พระพุทธเจ้าท่านก็เรียกมันว่า “ธรรม”

ถ้ากล่าวถึง God the Destroyer คือ พระเจ้าที่จะทำลายโลกให้สิ้นสุดลงเป็นคราวๆ มันก็คือ “ธรรม” อีกนั่นเอง เมื่อโลกนี้หมุนเวียนไปถึงรอบที่จะต้องสลายไป จะเรียกว่ามันถูกทำลายไปด้วยอำนาจของอะไร ก็ด้วยอำนาจของสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หรือพระเป็นเจ้าในลักษณะเช่นนี้

ทีนี้พระเป็นเจ้าในลักษณะที่เป็น God the Survivor คือ เป็นผู้ช่วยให้รอดพ้น เราก็ไม่มีอะไรนอกจาก “ธรรม” ธรรมเท่านั้นที่จะช่วยสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์

ถ้าว่าถึงพระเป็นเจ้า God the Refuge คือ เป็นที่พึ่งอาศัยที่ต้านทานต่อความทุกข์ เราก็ไม่มีอะไรนอกจาก “ธรรมะ”

ในความหมายอันอื่นที่แปลกออกไป เช่น God the Guide คือ ผู้นำสัตว์ไปให้ถูกทาง เราก็ไม่มีอะไรนอกจาก “ธรรมะ”

คำว่า God the Opener คือ ผู้เปิดสิ่งต่างๆ เปิดเผยสิ่งต่างๆ ให้เห็นให้ปรากฏออกมา เหมือนกับที่เขาสอนว่า พระเป็นเจ้าเปิดเผยสิ่งต่างๆ ให้มนุษย์ทราบ นี้เราก็ไม่มีอะไรนอกจาก “ธรรม” เป็นพระเป็นเจ้าผู้เปิด

หรือที่จะแยกออกไปถึงกับว่า พระผู้เป็นเจ้ามีในที่ทุกหนทุกแห่ง เช่น God the Omnipresent มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่เว้นที่ไหนเลยไม่ว่าในใต้ทะเลหรือก้นเหวที่ไหนก็ตาม มีพระเป็นเจ้าอยู่ทั้งนั้น คอยดูเราอยู่ทั้งนั้น พระเจ้าอย่างนี้เราก็มี ก็คือ “ธรรม” อีกนั่นเอง “ธรรมะ” จะมีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง
      
หรือถ้าจะว่า God the Omnipresent เป็นผู้สำคัญเป็นใหญ่เหนือสิ่งใดหมด เราก็ไม่มีอะไรนอกจาก “ธรรม” จนถึงกับพระพุทธเจ้าเองท่านได้ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ทั้งอดีต อีกทั้งอนาคต และปัจจุบันนั้นย่อมเคารพ ธรรม” อย่างนี้เป็นต้น นี้ “ธรรม” ในฐานะเป็น Omnipresent

God the Omnipresent หรือรู้สารพัดอย่าง เป็นสภาพที่มีความรู้ บรรจุอยู่ในสารพัดอย่าง ครบทุกอย่าง เราก็มีพระเป็นพระเจ้าอย่างนั้น และก็คือ “ธรรม” อีกนั่นเอง

ทีนี้เราเอาความหมายให้มันมากไปกว่านั้นจนถึงกับว่า God the Dictionary นี่ท่านทั้งหลายบางคนจะนึกขำ อาตมาเคยพบเขาใช้คำนี้กับพระเป็นเจ้า ในคำอธิบายเรื่องพระเป็นเจ้า เพราะว่า Dictionary หรือปทานุกรมนั้น มันมีอะไรไว้หมด หมายความว่า ปทานุกรมที่ดีนั้น เราไปเปิดค้นอะไรได้ทั้งนั้น พระเป็นเจ้าก็เป็นเหมือนกับปทานุกรม คือเปิดดูอะไรก็ได้ พระเป็นเจ้าอย่างนี้ก็มี คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” อีกเหมือนกัน

เป็นอันว่า เมื่อกล่าวโดยความหมายที่ว่าเป็น “เหตุ” ในฐานะอย่างเป็นพระเจ้านั้น เราก็มี คือสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นี้คือธรรม ที่เรียกว่าโดยเหตุหรือโดยอำนาจที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเป็นไป และมีอะไรครบถ้วนเหมือนกับที่เขาเรียกกันว่า “พระเป็นเจ้า” สารพัดอย่าง


ถ้าท่านมองเห็นองค์พระเป็นเจ้าองค์นี้ละก็ จะเห็นองค์ “ธรรม” ชนิดที่ดูด้วยตาไม่เห็น แต่ต้องดูด้วยปัญญา อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ แต่เห็นเนื้อหนังวัตถุร่างกายนี้ไม่ใช่เห็นตถาคต” ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้น จึงใช้สติปัญญาเป็นอย่างมาก จึงจะเห็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ลึกลับเด็ดขาดในทำนองที่เป็นเหตุเช่นนี้ นี่แหละคือ ธรรม

ท่านลองคิดดูที ว่าจะเอาภาษาไทยคำไหนมาใช้กับลักษณะต่างๆ เหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องเรียกว่า “ธรรม” ไปตามเดิม

ถัดไปอีก คือ “ธรรม” ในฐานะเป็นผล คือเป็นเหตุ แล้วก็เป็นผล คำว่า “ผล” นี่เราหมายถึง ปรากฏการณ์ทั่วไปคือ phenomena ทั่วไปที่ปรากฏแก่มนุษย์ นั่นก็เรียกว่า “ธรรม” อีกเหมือนกัน ไม่มีอะไรที่จะเรียกว่า “ธรรม” สิ่งที่ดีก็เรียกว่า “ธรรม” สิ่งที่ชั่วก็เรียกว่า “ธรรม
สิ่งที่มีรูปร่างก็เป็น “ธรรม”

ท่านย่อมเคยฟังพระสวดในที่ศพว่า กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา : - ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล ธรรมทั้งหลายที่กล่าวไม่ได้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล เพียง ๓ คำนี้เท่านั้นก็หมดแล้ว คือ ดี ชั่ว และกล่าวไม่ได้ว่า ว่าดีหรือชั่ว ๓ คำนั้น ทั้งหมดนี้เป็น “ธรรม” เสมอกันหมด นี้แปลว่าปรากฏการณ์ทั้งหมด ไม่ได้เป็นอะไรนอกจาก “ธรรม” และบาลีก็เรียกกันว่า “ธัมม” นี้จะชวนให้คนแรกศึกษางงไปหมด เพราะอะไรๆ ก็ “ธรรมะ” แต่ท่านต้องเข้าใจว่า “ธรรมะ” คำนี้มีความหมายอย่างนี้

ธรรมในความหมายต่อไปนี้คือ ธรรมะในฐานะที่เป็นกฎ คือกฎความจริง กฎธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นกฎแล้วก็เรียกว่า “ธรรม” ทั้งนั้น กฎธรรมดา หรือกฎธรรมชาติก็ตาม ตรงกับคำว่า law แต่มันก็รวมอยู่ในความหมายว่า “กฎ” ทั้งนั้น

“ธรรม” ในบรรดาที่ออกชื่อมาแล้วนี้ ยังไม่สำเร็จประโยชน์ ต้องมี “ธรรม” อีกความหมายหนึ่งหรือแขนงหนึ่ง คือ “ธรรม” ที่น่าปรารถนา ฉะนั้น จึงได้แก่ธรรมที่เป็นไปเพื่อความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรมที่เราปรารถนากันนัก ที่จะใช้เป็นที่พึ่ง ความดีก็คือธรรมะ ความถูกต้องก็คือธรรมะ ความจริงก็คือธรรมะ ความยุติธรรมก็คือธรรมะ และธรรมะในลักษณะเช่นนี้ ในความหมายเช่นนี้แหละที่เราประสงค์กันนัก

แม้ที่เราจัดกลุ่มเพื่อศึกษาพุทธศาสนาขึ้นเป็นกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี้ก็เพราะมุ่งหมายจะเข้าถึงสิ่งนี้คือ “ธรรมะ” ในความหมายที่เป็นความดี ความงาม ความจริง ความยุติธรรม หรืออื่นๆ ตามที่เราจะเรียก ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์เราเป็นอยู่ด้วยสันติสุข ทั้งโดยส่วนตัวหรือโดยทางสังคม ความหมายของคำว่า “ธรรม” มีอยู่อย่างนี้ โดยอรรถะหรือความหมาย

เราจะทำการวิภาค คือจำแนกให้เป็นพวกๆ นั้นไม่ไหว เพราะมีมากมาย แต่เราอาจจะยกพวกใหญ่ๆ มากล่าว เช่นว่า ธรรมที่เป็นพวกศีลธรรมและสัจธรรม ที่เป็นพวกศีลธรรม ก็คือ ระเบียบวางไว้สำหรับความผาสุกของสังคมทั่วไป ไม่อาจประพฤติธรรมสูงสุดถึงมรรคผลนิพพานได้ แต่สามารถประพฤติเสมอหน้ากันในส่วนศีลธรรมที่ทำความสงบสุขของสังคมนี้ เราเรียกว่า “ศีลธรรม”


ส่วนสัจธรรมนั้นลึกซึ้งลงไปถึง การทำจิตใจให้เข้าถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ไม่เคยนึกเคยฝัน คือสิ่งที่เรียกว่า มรรคผลนิพพาน สัจธรรมมีความมุ่งหมายอย่างนี้ นี่แสดงว่าธรรมส่วนที่เป็นศีลธรรม จำเป็นสำหรับสังคม ธรรมที่เป็นสัจธรรมก็มีไว้สำหรับปัจเจกชน แล้วแต่ใครมีความสามารถแสวงหา และประพฤติปฏิบัติได้เพียงไร นี่แหละคำตอบของคำถามที่ว่า “ธรรมคืออะไร” พอเป็นตัวอย่าง

ยังมีคำที่นักศึกษาทั้งหลาย จะผ่านหูผ่านตามากที่สุด คือคำว่า
ธรรม ที่เราได้ยินกันว่า ปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรม ปฏิเวธธรรม

ปริยัติธรรม คือ การเล่าเรียน จะเป็นการเล่าเรียนศึกษาอะไร ก็ย่อมสงเคราะห์เข้าในปริยัติธรรม เรียกว่า
ปริยัติธรรม ทีนี้พอทำจริงๆ ไปตามนั้น ไม่ได้หมายถึงการเรียน แต่หมายถึงการทำจริงๆ ตามนั้น เราเรียกว่า ปฏิปัตติธรรม ทีนี้ถ้าเป็นผลอันใดเกิดขึ้นมาอย่างถูกต้องตามนั้น ก็เรียกว่า ปฏิเวธธรรม คำว่า “ธรรม” จึงได้เป็น ปริยัติธรรม ปฏิปัตติธรรม และ ปฏิเวธธรรม

ถ้าทางฝ่ายศาสนา คำว่า “ปริยัติธรรม” ก็หมายถึง พระไตรปิฎก และเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎก “ปฏิปัตติธรรม” ก็หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างที่ได้ยินได้ฟังอยู่ทั่วไปแล้ว “ปฏิเวธธรรม” หมายถึง มรรค ผล นิพพาน แต่ว่าทั้งหมดนี้ เมื่อรวมสรุปแล้วจะเป็นเรื่องเรียนก็ดี เรื่องปฏิบัติก็ดี เรื่องได้ผลก็ดี ต้องเป็นไปเพื่อความดับทุกข์


เพราะฉะนั้นเราจึงเรียนเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ และได้ผลมาเป็นความดับทุกข์ ทั้งหมดเป็น “ธรรม” หมด ไม่มีอะไรเหลือ สรุปสั้นๆ ว่า สิ่งซึ่งอำนวยความดับทุกข์นี้คือ “ธรรม” ขอให้ทุกท่านมีความมุ่งหมายที่จะเข้าถึงสิ่งนี้ ใจความสำคัญสั้นๆ ของคำว่า “ธรรม” คืออะไร?” ก็มีอยู่อย่างนี้

ทีนี้เราจะมาถึงปัญหาข้อที่ ๓ ที่ว่า เราจะเกี่ยวข้องกับธรรมะด้วยอาการอย่างไร? ขออภัยที่จะขอแทรกคำว่า “เท่าที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า” เสียก่อน เพราะข้อนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องทราบ เพราะว่าเราได้รับธรรมะจากพระพุทธเจ้า ถ้าเอาพระพุทธเจ้ามาเป็นหลักสำหรับศึกษาเกี่ยวกับธรรม เราอาจจะแยกธรรมออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านนำมาสอน และธรรมะที่ท่านทรงรับจากภายนอกเข้ามา จะกล่าวตามลำดับ :

อย่างแรก ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ควรจะเข้าใจถึงคำว่า “สัพพัญญู” คำว่า สัพพัญญู แปลว่า รู้ทุกอย่าง แต่เรามักจะเข้าใจผิดๆ ท่านที่เป็นนักศึกษาไม่ควรจะเข้าใจผิด ควรเข้าใจให้ถูกว่า


คำว่า สัพพัญญู นี้คือ รู้ทุกอย่างเฉพาะที่ควรรู้ เท่าที่ควรรู้ก็คือ เท่าที่จะดับทุกข์ได้สิ้นเชิง ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างไปหมด

ขออภัย ไม่ใช่ว่าเราจะลบลู่พระคุณของพระพุทธเจ้า แต่เพื่อนิสิตทั้งหลายจะเข้าใจง่าย แม้ว่าท่านเป็นสัพพัญญู ถ้าว่าให้ท่านตรัสพูดเป็นภาษาจีนเดี๋ยวนี้ ท่านจะพูดได้ไหม? นี่มันไม่ใช่เรื่องในวงของสัพพัญญู วงของสัพพัญญูมีอยู่เฉพาะ แต่ว่าจะทำความดับทุกข์ได้หมดไปอย่างไรเท่านั้น แต่ว่าท่านยังคงทำให้คนจีนรู้เรื่องของท่านได้ ทั้งที่ท่านไม่ต้องพูดภาษาจีน ดังนี้เป็นต้น

รวมความแล้วก็คือว่า เรื่องต่างๆ ที่จะทำสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงให้พ้นทุกข์รวมทั้งตัวท่านเองแล้ว ท่านเป็นทราบหมด รู้หมด ไม่มีอะไรเหลือเลย นี่เรียกว่าสัพพัญญู ไม่มีความหมายเหมือนกับรู้ไปหมด รู้อย่างท่วมหัวแล้วเอาตัวไม่รอดซึ่งเราเป็นกันมากในสมัยนี้ หรือแทบทั้งโลก อย่างสมมุติว่าเราจะเอาความรู้ต่างๆ ในโลกที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้มารวมเข้ากันหมดแล้ว มันก็ยังไม่ดับทุกข์ให้แก่โลกได้ ความรู้อย่างนั้นไม่อยู่ในวงของสัพพัญญู สัพพัญญูจึงหมายถึง รู้ทุกอย่างเท่าที่จะดับทุกข์ให้สิ้นไปได้อย่างไร

สัพพัญญูนั้นรู้ธรรมะประเภทที่เรียกว่า อริยะ อริยธรรม. อริยะ แปลว่า ประเสริฐ แต่ความหมายตามตัวหนังสือนั้นแปลว่า ไปจากข้าศึก อริ แปลว่า ข้าศึก, ยะ แปลว่า ไป, อริยะ แปลว่า ไปจากข้าศึก หมายความว่า หมดข้าศึก หมดข้าศึกก็คือว่า หมดกิเลสและหมดทุกข์ ประเสริฐอยู่ตรงที่หมดกิเลสและหมดทุกข์ ฉะนั้นอริยธรรมหรือเญยยธรรม จึงหมายถึง ธรรมะที่ทำให้หมดกิเลสและหมดทุกข์ นี้เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้อย่างครบถ้วน อย่างที่เรียกว่า สัพพัญญู

ถ้าเราจะกล่าวธรรมะในฐานะที่เป็นของจริง หรือเป็นกฎเรียกว่า สัจจะ truth เราก็ยังต้องเรียกว่า อริยสัจจะ เราจะพูดว่าสัจจะเฉยๆ ไม่ได้ ต้องมีคำว่า อริยะ เข้ามาข้างหน้า เพราะว่าสัจจะเฉยๆ ไม่ได้ จริงไปเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร ก็มีแต่ก็เป็นความจริงหรือของจริงเหมือนกัน ดังนั้นคำว่าสัจจะจึงกว้างหรือพร่าไป ต้องเอาคำอริยะมาใส่ไว้ข้างหน้าเป็นอริยสัจจะ จึงเป็นของที่ประเสริฐไปจากข้าศึก คือกิเลสและดับทุกข์ได้ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้


ฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจให้ดีๆ ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือสัจจะหรืออะไรก็ตาม จะต้องมีความหมายของคำว่าอริยะ คือการมีค่าในทางดับทุกข์ เข้ามาเป็นความหมายที่สำคัญเสมอ

เดี๋ยวนี้เราไม่ใช้คำ “ธรรมะ” กัน แต่ใช้คำว่า “ศาสนา” แทน เช่นว่า
นับถือศาสนาอะไร พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา อย่างนี้เป็นต้น คำว่า “ศาสนา” นี้พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยใช้เลย เราใช้กันเองในภายหลัง ท่านใช้คำว่า ธรรม หรือ พรหมจรรย์

อย่างในประเทศอินเดียสมัยพุทธกาล ถ้าเราพูดกันเดี๋ยวนี้ว่า ท่านนับถือศาสนาอะไร เขาจะพูดว่า ท่านชอบใจธรรมของใคร คือท่านชอบใจ ธรรมะของพระสมณโคดม หรือ ธรรมะของนิคันถนาฏบุตร อย่างนี้เป็นต้น คำว่าศาสนาไม่มีใช้

คำว่าพรหมจรรย์” ไม่ได้แปลว่า เว้นจากการกระทำของบุคคลที่อยู่กันเป็นคู่ระหว่างเพศนั้นไม่ใช่ นั้นแคบที่สุด พรหมจรรย์ คือ การประพฤติอันประเสริฐ จะประเสริฐอย่างใดก็ตาม ที่ยกเป็นข้อประพฤติที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้มันประเสริฐอย่างยิ่ง เหนือกว่าความประพฤติทั้งหลายแล้ว เรียกว่า “พรหมจรรย์” ทั้งนั้น

ฉะนั้นพรหมจรรย์จึงหมายถึง การปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสให้หมดไปจนเป็นพระอริยเจ้า นี่เรียกว่า การประพฤติพรหมจรรย์ ฉะนั้นเมื่อท่านตรัสว่า เอหิ ภิกขุ พรหมจรยํจรถ แปลว่า “มาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดของทุกข์” ท่านใช้คำว่า พรหมจรรย์ แทนคำที่เราใช้กันว่า ศาสนา

ขอให้เข้าใจว่า คำว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้นั้นหมายถึงสิ่งนี้ หมายถึง อริยสัจจะ อริยธรรม หรือ พรหมจรรย์ คือแบบแห่งการครองชีวิตอยู่อย่างประเสริฐชนิดที่กิเลสและความทุกข์ย่ำยีไม่ได้ นั้นเรียกว่า “พรหมจรรย์” นี้คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ มันต้องเป็นไปเพื่อความดับทุกข์ทั้งนั้น


ทีนี้เราไม่ชอบสิ่งนี้เพราะไม่สนุก เราไม่ชอบเรื่องนอกเรื่องที่เรียกว่าปัญหาโลกแตก พออยากจะถามปัญหาทางธรรมะ เราก็ถามว่า ตายแล้วเกิดไหม? อะไรไปเกิด? เกิดอย่างไร? ดังนี้เป็นต้น นี่มันไม่เกี่ยวกับพรหมจรรย์ ไม่เป็นเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงยอมตอบคำถามเหล่านี้ ท่านทรงปัดออกไปว่าไม่ใช่เงื่อนต้นของพรหมจรรย์

เงื่อนต้นของพรหมจรรย์นี้หมายความว่า เรื่องที่ไปจับฉวยเข้าแล้วมันจะนำไปสู่ความดับทุกข์โดยตรง เรียกว่าเงื่อนต้นของพรหมจรรย์ เราจะพูดกันแต่เรื่องที่มันจะนำไปถึงความดับทุกข์สิ้นเชิงเท่านั้น จึงจะเป็นการพูดกันด้วยเรื่องธรรมะหรือเป็นพระพุทธศาสนา ถ้าถามว่าตายแล้วเกิดไหม? อะไรไปเกิด? อย่างนี้ขอยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องธรรมะเลย

ธรรมะหรือพรหมจรรย์ต้องเป็นไปเพื่อดับทุกข์โดยส่วนเดียว นี่เรียกว่ามันมีความหมายจำกัดอย่างยิ่งอย่างนี้ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้นั้น หมายถึง ธรรมะ หรือสัจจะ หรือพรหมจรรย์ รวมกันเข้าแล้วก็คือ แบบแห่งการเป็นอยู่ชนิดที่ความทุกข์และกิเลสจะเข้าครอบงำย่ำยีไม่ได้
      
ทีนี้ก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะที่พระองค์ทรงสอน

ขอให้นักศึกษาทั้งหลายจดจำเอาประโยคข้อความที่สำคัญอย่างยิ่งประโยคหนึ่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย! แต่ก่อนนี้ก็ดี เดี๋ยวนี้ก็ดี เราบัญญัติขึ้นสอนเฉพาะเรื่องทุกข์กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น” มันมี ๒ เรื่องเท่านั้น คือ เรื่องทุกข์ กับเรื่องดับไม่เหลือ เท่านั้น พระพุทธภาษิตยืนยันไว้ชัดอย่างนี้ เรื่องอื่นเป็นไปไม่ได้ตรัส และไม่ยอมตรัสถึง เพราะไม่ใช่เงื่อนต้นของพรหมจรรย์ดังที่กล่าวแล้ว

ถ้าท่านถูกถามโดยชาวต่างประเทศว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร สอนอะไร ต้องตอบเขาด้วยพระพุทธภาษิตนี้แหละว่า ปุพฺเพ จาหํ ภิกฺขเว เอตรหิ จ ทุกฺขญฺเจว ปญฺญาเปมิ ทุกฺขสฺสจ นิโรธํ แปลอย่างเมื่อตะกี้นั่นเอง ว่า “ภิกษุทั้งหลาย! เดี๋ยวนี้ก็ดี ก่อนหน้านี้ก็ดี เราบัญญัติสอนเฉพาะเรื่องทุกข์ และความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น” ฉะนั้นจึงให้ถือว่า นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอน


แต่สิ่งที่เรียกว่า ทุกข์ นั้นอาจขยายออกไปเป็น มูลเหตุของมัน ด้วย และ ความดับทุกข์ นั้นขยายออกไปเป็น วิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์ นั้นด้วย จึงเป็น ๒ คู่ หรือ ๔ อย่าง นี้เราเรียกว่า อริยสัจจ์สี่ หรือจตุราริยสัจจ์ นิสิตทั้งหลายจะเห็นได้ทันทีว่า มันไม่ใช่เรื่องครึหรือเรื่องพ้นสมัย หรือเรื่องของใครอื่น แต่เป็นเรื่องสำหรับมนุษย์ทุกคนจะต้องรู้และปฏิบัติให้เด็ดขาดลงไปจนทำลายความทุกข์เสียได้

ถ้าจะให้สรุปเป็นรูปปรัชญาหรืออะไรทำนองนั้น มันก็มีอยู่ประโยคหนึ่ง คือเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อมีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ในบรรดาคำสอนทั้งหมดที่พระพุทธองค์ได้ทรงสอนไปนี้ ถ้าจะสรุปให้สิ้นเหลือเพียงประโยคเดียวจะได้ไหม? และว่าอย่างไร? พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ได้ และท่านตรัสสรุปว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” เป็นบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย


ธรรมทั้งหลายทั้งปวงในที่นี้ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามาแล้วข้างต้น โดยไม่ยกเว้นอะไรนับตั้งแต่ฝุ่นละอองเม็ดหนึ่ง จนถึงสิ่งที่มีค่าและถึงที่สุดที่พระนิพพานรวมอยู่ในคำว่า“ธรรม” ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทุกสิ่งนี้ แล้วทรงยืนยันต่อไปอีกว่า ถ้าฟังข้อนี้แล้วเป็นได้ฟังทั้งหมดที่ฉันสอน ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้แล้ว เป็นได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานี้ ถ้าได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติในข้อนี้แล้ว เป็นอันว่าได้รับประโยชน์ทั้งหมดที่จะได้รับจากพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวเราหรือของเรานั่นแหละ เป็นมูลเหตุให้เห็นแก่ตัว และผิดศีลผิดวินัย ผิดอะไรต่างๆ ที่ไม่ควรจะทำทั้งหมด แล้วก่อให้เกิดกิเลสตัณหาต่างๆ นานาชนิด จนกระทั่งเป็นทุกข์สิ้นเชิง มีมูลมาจากความยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า “เรา” หรือว่า “ของเรา” ทั้งนั้น

ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็จะไม่มีความเห็นแก่ตัว ก็ไม่มีทางผิดศีล ผิดพระวินัยได้ ไปพิจารณาดูเองจะเห็นได้ว่าขาดศีลข้อไหนก็ตาม ผิดกฎข้อไหนก็ตาม เป็นเพราะความเห็นแก่ตัว อยู่ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งทั้งนั้น จึงขอให้จำไว้สำหรับโต้ตอบกับชาวต่างศาสนาต่างชาติว่า


หัวใจของพุทธศาสนาทั้งหมดอยู่ที่ประโยคๆ นี้ ในฐานะที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เอง นอกนั้นที่เรียกหัวใจพระพุทธศาสนานั้น พวกเราชั้นหลังว่าเอาเอง พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัส สรุปกันอย่างนั้นอย่างนี้ก็มีเยอะแยะไป แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองมีอย่างนี้

ถ้าปฏิบัติข้อนี้ก็เป็นอันว่าปฏิบัติครบหมดทุกๆ อย่าง และเพราะว่า ความไม่เห็นแก่ตัว คือความที่ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ว่าตัวว่าของตัวนั่นแหละ คือความดับทุกข์ วิธีดับทุกข์ทั้งหมดไม่ว่าวิธีไหน จะต้องสรุปลงมาที่นี่ เรารักษาศีลทุกข้อ ก็เพื่อขจัดความเห็นแก่ตัว สมาธิ ก็ระงับความเห็นแก่ตัวให้ระงับไป
ทำวิปัสสนาหรือปัญญา ก็เพื่อให้ถอนทำลายล้างรากเง้าของความเห็นแก่ตัวให้หมดจากนิสัยสันดาน

การบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คือการหมดความเห็นแก่ตัวตามลำดับๆ จนหมดสิ้นเชิง ไม่มีความยึดถือว่าตัวของตัว จึงเป็นที่รวมหมดของใจความสำคัญของพระพุทธศาสนาทั้งหมดอย่างนี้ นี่เรียกว่า ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอน

ทีนี้ ก็จะกล่าวถึงธรรมะ ประเภทที่พระพุทธองค์ทรงยอมรับเข้ามาจากภายนอก หมายความว่า แต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติเหตุบังเกิดขึ้นก็มีคนที่สอนธรรมะอยู่แล้ว พระพุทธองค์ทรงประสบปัญหาที่ว่าจะทรงปฏิเสธหรือรับรองคำสอนเหล่านั้นอย่างไรดี ในที่สุดก็เป็นอันยุติว่า สิ่งใดที่เข้ากันได้กับคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะสอน ก็ทรงยอมรับเอามา ข้อนี้ทำให้เกิดมีคำว่า สนนํตน หรือคำสอนที่เป็นของเก่าขึ้นมา เช่นคำสอนที่ว่า

น หิ เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ แปลว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว อเวเรน จ สมฺมนฺติ เวรย่อมระงับด้วยความไม่มีเวร แล้วก็ลงท้ายด้วยคำว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน - นี้เป็นของเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งไหนไม่มีใครทราบมาก่อน พระพุทธเจ้าท่านรับเอามาสอน แล้วยังบอกว่าเป็น สนนฺตน ที่เก่าโบราณ

หรือคำว่า อหึสา ปรโม ธมฺโม ความไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะอย่างยิ่ง แม้นี้ก็เป็นของเก่าแก่ เป็น สนนฺตน โบราณ เราไม่อาจจะทึกทักว่าประโยคนี้ เป็นของพระพุทธศาสนา เราหาไม่พบว่าเป็นพุทธภาษิตในพระไตรปิฎก แต่ก็ยอมรับว่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง การสอนไม่เบียดเบียนนั้น เป็นธรรมะก็มีอยู่เก่าแก่อย่างนี้

ในส่วนสัจธรรมก็มี เช่นว่า นิพพาน พระอรหันต์ นี้เขาสอนกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า แต่มีความหมายเป็นอย่างอื่น พระอรหันต์ของเขามีความหมายเป็นอย่างอื่นมาก่อน พอพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้แล้ว ท่านทรงสอนเกี่ยวกับพระอรหันต์ เกี่ยวกับพระนิพพาน ท่านบัญญัติความหมายว่าเป็นอย่างนี้ๆ


เช่นว่า นิพพานที่จะเป็นความเพียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยกามคุณ อย่างที่คนบางพวกบัญญัติดังที่ปรากฏในพรหมชาลสูตรอย่างนี้ไม่ได้ หรือว่านิพพานจะเป็นเพียงสุขที่เกิดจากฌานชั้นลึก อย่างจตุตถฌานเป็นต้น เหมือนที่กล่าวไว้ว่าในพรหมชาลสูตรนั้นอีกเหมือนกัน อย่างนั้นก็ไม่ได้ นิพพานต้องเป็นความสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงอย่างนี้ๆ ทีเดียว

นี้เรียกว่าท่านทรงรับเอาคำ หรือรับหลักเกี่ยวคำนั้นๆ มาใช้ แล้วท่านก็ให้ความหมายใหม่อย่างนี้ก็มี นี้เรียกว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงรับเข้ามาเป็นคำสอนของท่านด้วย เป็นคำสอนในวงของศาสนานี้ด้วย อย่างนี้ท่านก็ต้องเข้าใจไว้ อย่าไปตู่เขา เพราะพระพุทธเจ้าท่านไม่ทรงประสงค์อย่างยิ่งที่จะตู่คนอื่น หรือจะให้สาวกของท่านตู่คนอื่น เพราะฉะนั้น พวกเราที่เป็นสาวกนี้จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ที่จะไม่ทำให้พระพุทธเจ้าท่านถูกกล่าวหาว่า ตู่คำสอนของลัทธิหรือของศาสนาอื่น

ท่านจะต้องจำไว้เป็นหลักว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน และธรรมที่พระพุทธองค์ทรงรับเข้ามาจากภายนอก หรือลัทธิอื่นที่มีอยู่ก่อนแต่ยังใช้ได้ นี้ก็รวมอยู่ในคำอธิบายของคำว่า ธรรมะคืออะไร

ข้อสุดท้ายที่ว่า เราจะเกี่ยวข้องกับธรรมะด้วยอาการอย่างไร? เราจะต้องรู้สึกสำนึกได้ดีว่า เราในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งก็มี พร้อมกันนั้นเราในฐานะที่เป็นคนไทยเป็นพุทธบริษัทก็มี และแคบเข้ามาเราในฐานะที่เป็นนิสิตนักศึกษาที่กำลังเรียนอยู่ก็มี

เราจะต้องรู้จักเข้าไปเกี่ยวข้องกับธรรมะให้เหมาะสม ในฐานะที่เป็นมนุษย์ คือมีจิตใจสูงสมคำว่ามนุษย์ ที่แปลว่า มีจิตใจสูงจนน้ำท่วมไม่ได้ กิเลสคือความทุกข์ เรียกว่าน้ำนี่แหละท่วมแล้วก็หมดความเป็นมนุษย์ เราต้องอยู่ในสภาพที่อย่างน้อยก็อยู่เหนือกิเลสไว้ตามสมควร

ในฐานะที่เราเป็นคนไทย ความหมายของคำๆ นี้ ดีที่สุดอยู่แล้ว แปลว่า อิสระ แต่ว่าเราอิสระหรือยัง ก็ต้องวินิจฉัย อะไรเป็นเครื่องทำความอิสระ? ไม่มีอะไรนอกจากธรรมะ! ธรรมะจะให้เราเป็นอิสระจากกิเลส เป็นอิสระจากความรู้สึก ว่าเป็นทาสทุกอย่างว่าทางไหนหมด

ในฐานะที่เราเป็นพุทธบริษัท ก็แปลว่า เราจะต้องเป็นพุทธบริษัทได้ถูกต้องตามความหมาย พุทธ แปลว่า รู้ว่าตื่น ว่าเบิกบาน เราจะต้องรู้ว่า อะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะเรื่องความดับทุกข์ เมื่อรู้แล้ว ก็เรียกว่า เราตื่นนอน คือตื่นจากหลับ หลับคือไม่รู้ หลับคือกิเลส พอเราตื่นแล้ว เราก็เบิกบานเหมือนกับดอกไม้ที่กำลังเบิกบานอยู่อย่างนี้

นิสิต นักศึกษาไม่ว่าใครหมด ถ้าจะเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง ก็จะต้องทำตนให้เข้าถึงความหมายของคำว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงจะเป็นพุทธบริษัทได้ ทีนี้ถ้าเรายังเป็นเด็กหรือหนุ่มสาวที่กำลังเรียกตัวเองว่านิสิต
กำลังอาศัยผู้รู้ทำการศึกษาอยู่ ก็แปลว่า ผู้ที่จะรู้ จะตื่น จะเบิกบาน กำลังจะรู้ จะตื่น จะเบิกบาน หรือว่าจัก จักคือแน่นอน จักรู้ จักตื่น จักเบิกบานโดยแน่นอน ขอให้เข้าใจความหมายของคำว่า นักศึกษา หรือนิสิตในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทไว้อย่างนี้

ถ้าหากว่าความรู้อย่างอื่น ที่เราเรียนเราศึกษากันเป็นควันอยู่นี้ ไม่สามารถทำให้เรารู้ เราตื่น เราเบิกบานได้แล้ว ขอได้เข้าใจเถิดว่ามันยังไม่พอ ที่จะทำให้เราเป็นนิสิตที่ถูกต้องหรือทำให้เราเป็นพุทธบริษัทที่ดี ถ้าความรู้ทางโลกๆ ทั้งหมดให้ได้แต่เพียงทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ ความเด่นในสังคม หรืออะไรทำนองนั้น แต่ไม่ทำให้รู้ ให้ตื่น ให้เบิกบานเกี่ยวกับความดับทุกข์ได้แล้ว พึงถือว่ายังไม่พอต้องขวนขวายต่อไป จนได้ถึงวัตถุที่ประสงค์มุ่งหมายนี้


ขอให้ถือว่าอันนี้แหละวัตถุประสงค์ของการที่เราตั้งกลุ่มเพื่อจะศึกษาพุทธศาสตร์ เพื่อเป็นพุทธบริษัทขึ้นมา ราจะรู้ จะตื่น จะเบิกบาน เรากำลังจะรู้ จะตื่น จะเบิกบาน และเราจักรู้ จักตื่น จักเบิกบานให้จงได้

เมื่อเราจะดูให้ละเอียดออกไปถึงข้อที่ว่า ในชีวิตประจำวันของเราผู้เป็นนิสิตอย่างนี้ เราใช้ธรรมะได้โดยวิธีไหนกัน? ขอให้ระลึกย้อนกลับไปถึงข้อที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้หยกๆ ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในประโยคว่า “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ข้อนี้อาจเข้าใจผิดกันไปมาก เช่น


เข้าใจไปว่า ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วจะทำไปทำไม? จะเรียนไปทำไม? แต่ทางที่ถูกนั้น ท่านต้องการให้คนเราทุกคนทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตที่ไม่ยึดมั่น ฉะนั้นจึงเข้าใจยากว่า จิตว่าง หรือ จิตไม่ยึดมั่นถือมั่น นี้มันเป็นอย่างไร? แล้วทำไมมันจึงทำการงานได้ เรียนได้ ทำอะไรก็ได้ ฉะนั้นจะต้องอธิบายคำว่า จิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนี้ ตามสมควร และด้วยการเปรียบเทียบเหมือนอย่างว่า

คนจะยิงปืน ยกปืนขึ้นมาจะยิง ถ้าเขาจะเป็นนักยิงปืนที่ดี เขาจะต้องมีจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น คือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวเราหรือตัวกูนี้ว่ากูจะยิงให้ถูก จะได้รางวัล จะมีชื่อเสียง เป็นต้น ความคิดที่เป็นความรู้สึกว่ามีตัวเรา หรือมีของเรานี้ต้องเอาออกไปให้หมด ให้เหลือแค่จิตว่าง เหลือแต่จิตที่ตั้งใจจะยิง และมุ่งหมายที่จะยิงให้ถูกเท่านั้น อย่างนี้จึงจะเรียกว่า สมาธิ

คำว่า
สมาธิ นั้นเข้าใจผิดๆ เช่นว่า จะต้องมี ambition ของผู้นั้นรุนแรง แล้วก็ลงมือทำไปอย่างรุนแรง ดังนี้แล้วจะยิ่งไม่ได้ คือจะยิ่งยิงผิด เพราะว่าใจมันสั่นระรัวอยู่ โดยที่หวั่นว่าตัวเราจะยิงไม่ถูกหรืออะไรทำนองนั้น ความยึดมั่นว่าด้วยตัวเราว่าของเรามันเข้าไปทำให้วุ่นไม่ว่าง เอา “ตัวเรา” ออกไปเสียไม่รู้ไม่ชี้ ไม่มีเราในขณะนี้ นี้มีแต่มือหรืออวัยวะพร้อมด้วยความรู้สึกที่ตั้งใจจะยิงให้ถูกอย่างเดียว มันก็เลยยิงถูกทุกที ในนิกายเซ็นของญี่ปุ่นบางแขนง เขาจึงมีพวกที่ฝึกยิงศรอยู่เป็นปีๆ โดยวิธีนี้แหละ ยิงศรแม่นเหมือนกับปาฏิหาริย์อย่างนี้เป็นต้น

อย่างที่ง่ายกว่านั้น ที่ว่าจิตว่างนั้น เช่นว่าเด็กคนหนึ่งร้องเพลงอยู่ตามธรรมดาของเขา ไม่มีความหมายอะไร อย่างที่เราเรียกว่าร้องเพลงหงิงๆ นี่ก็เรียกว่าในขณะนั้นเขามีจิตว่างอยู่ไม่มีความทุกข์ ทีนี้ถ้าคนนั้นร้องเพลงด้วยความกำหนัดด้วยความรัก หรือด้วยมีความหมายระหว่างเพศนั้น ไม่ใช่มีจิตว่าง เป็นจิตวุ่น และจะต้องเป็นทุกข์

อีกตัวอย่างหนึ่งว่า คนแจวเรือจ้างเหงื่อไหลกลางแดดหรือทวนน้ำดังนี้ ถ้าเขามีจิตว่าง เขาก็ร้องเพลงได้ และแจวเรือไปด้วยความสบายใจและร้องเพลงได้ แต่เผอิญประเดี๋ยวนั้นก็เกิดความคิดวุ่นขึ้นมา ก็มีตัวกูตัวตนขึ้นมา คิดถึงลูกเมียครอบครัวขึ้นมา จิตเขาวุ่นเขาก็ร้องเพลงไม่ออก แล้วเป็นทุกข์เหมือนกับตกนรกทั้งเป็นขึ้นมาทันที

ฉะนั้น เป็นอันว่าเราสามารถทำอะไรทุกอย่างด้วยจิตวุ่นหรือจิตว่างแล้วแต่กรณี และขอให้สังเกตว่าในขณะที่ว่างนั้นแหละคือไม่มีความยึดถืออะไร ว่าเป็นเราหรือเป็นของเรา และเรียกว่ามีจิตว่าง

ในการที่จัดดอกไม้จัดแจกันดังนี้ ที่เขาสอนกันมากในประเทศญี่ปุ่นจะต้องทำจิตให้ว่างเสียก่อน แล้วจึงเสียบดอกไม้ลงในที่เสียบ ดังนี้ พอเสร็จแล้วจะมีความหมายอย่างหนึ่งทีเดียวในดอกไม้ทั้งกลุ่มนั้น. ถ้าตนมีจิตวุ่นวายอยู่ด้วยความคิดว่าจะเอาชนะ วุ่นอยู่ด้วยตัวกูจะเด่นในการจัดดอกไม้นี้ เสียบลงไปแล้วมันจะได้เป็นอีกรูปหนึ่งต่างหาก ตัวครูบาอาจารย์ที่สอนวิชานี้ พอเขามาดูก็ดูออกหมดว่า แจกันนี้ถูกจัดด้วยคนจัดที่มีจิตวุ่นหรือจิตว่างมากน้อยเท่าใด

เป็นอันว่าจิตว่างจะทำงานไปได้อย่างหนึ่ง จิตวุ่นจะทำงานได้อีกอย่างหนึ่ง นี่เป็นเรื่องที่ขอแก้ปัญหาของผู้ที่เข้าใจว่า จิตว่างแล้วทำอะไรไม่ได้ บางคนมากกว่านั้น คือเข้าใจไปว่าพอจิตว่างก็แข็งเป็นก้อนหินท่อนไม้ไปเลยดังนี้

ในที่สุดเราต้องใช้หัวใจของพุทธศาสนาในประโยคที่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเรา ว่าของเรา นั่นแหละเอามาเป็นหลักในการพูด การคิด การทำทุกอย่าง ก่อนทำงานก็ต้องมีจิตว่าง ทำงานอยู่ก็ต้องมีจิตว่าง ได้รับผลของงานก็ต้องมีจิตว่าง มิฉะนั้นเราจะเป็นทุกข์ตลอดสาย


จนถึงกับอาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าจิตว่าง งานทุกอย่างจะเป็นสุข แม้แต่งานถูพื้นหรือว่างานโกยท้องร่องที่เหม็น งานจะเป็นสุขไปหมดถ้าจิตว่าง พอจิตวุ่นแล้ว งานอะไรก็ตามจะเป็นทุกข์ไปหมด แม้แต่งานที่เราเคยพอใจว่าสนุกน่าทำ มันก็ยังเป็นทุกข์ไปหมด เป็นอันว่า จงพยายามอยู่ด้วยจิตที่ว่างจากความเห็นแก่ตัว ว่างจากเรา ว่างจากการยึดถือว่าตัวตนของเรา ก็เป็นอันว่ามีชีวิตประจำวันอยู่ด้วยหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์

ข้อสุดท้าย ที่เป็นปกิณณกะก็คือ ข้อที่ว่าท่านจะต้องระวัง กิเลสนี้เป็นสิ่งที่ละได้โดยยาก ซึ่งอาตมาจะขอเล่าไว้ในรูปของนิทาน โดยที่แท้สิ่งที่เรียกว่านิทาน หรือนิทานชาดกนั้น มันเป็นเหมือนกับภาชนะที่ใส่ของมีค่า หรือเก็บรักษาของมีค่าให้คงอยู่ได้ ขอท่านอย่าได้เห็นว่าภาชนะเป็นของไม่สำคัญ จนถึงกับไม่สนใจไปเสีย เหมือนอย่างว่าเราจะหุงอาหาร โดยไม่มีหม้อมีถาดเราจะทำอย่างไร ฉะนั้นภาชนะจึงเป็นของจำเป็นในกรณีที่จะต้องรักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ให้สำเร็จประโยชน์ ธรรมะนี้ก็เหมือนกัน สรุปใส่ไว้ในภาชนะคือ ชาดกหรือนิทาน

ขอให้ไปอ่านพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงวิจารณ์คุณค่าของชาดกไว้ที่เล่มต้นหรือเล่มแรกของหนังสือชุดชาดกที่นิพนธ์ในรัชกาลนั้น ท่านจะเข้าใจความหมายของคำว่าชาดกหรือนิทาน แต่เดี๋ยวนี้ก็อีกนั่นแหละ พอเรามีภาชนะแล้วเราก็ติดอยู่ที่ภาชนะ เห็นชาดกหรือนิทานเป็นเพียงเรื่องอย่างนั้นอย่างนี้เสีย เข้าถึงความหมายของชาดกไม่ได้ เราจึงเลยดูถูกดูหมิ่นชาดก หรือนิทานที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาตั้งเยอะแยะนั้นแหละ


แต่ให้ลองเอาความจริงของสิ่งนี้ออกมาให้ได้ และอย่าไปเข้าใจว่า ความจริงมันอยู่ที่ว่า สัตว์พูดได้ ต้นไม้พูดได้ดังนี้ไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่าเขาพูดว่าอย่างไร นั่นมันสำคัญที่สุดอย่างนั้น อย่างนิทานที่เราชอบเล่ากันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และอาตมาก็อยากจะนำมาฝากนิสิตทั้งหลาย ก็คือ นิทานเรื่อง ตากะยาย

ยายกะตาสองคนผัวเมีย อยู่ด้วยกันมานานแล้ว แต่นิสัยตรงกันข้าม ยายเป็นคนกระด้าง ตานั้นเป็นคนอ่อนโยน เพราะมีธรรมะกับๆ ไม่มีธรรมะนั่นเอง ทีนี้นานเข้าก็เหลือวิสัยที่ตาจะทนไหว เพราะยายกระด้างยิ่งขึ้นทุกที ก็ต้องตัดสินใจบริจาค บริจาคก็คือว่า ห้ามว่าอย่าไปเที่ยวในป่า ก็ยิ่งจะไป ห้ามว่าอย่าเข้าไปใกล้เหวจะตก ก็ยิ่งเข้าไปใกล้ อย่าทูนก้อนหินหนักๆ เข้าไปใกล้เหว ก็ยิ่งจะทูน แล้วยายก็พลัดตกไปจริงๆ

ทีนี้เรื่องมันมีต่อไปว่า ปีศาจที่อยู่ในเหวนั้นขึ้นมาได้ เพราะพ้นจากคำสาปที่ว่าพอมีคนตกลงไปแทนแล้ว ให้ขึ้นมาได้ พอขึ้นมาได้แล้วก็อาละวาดคน เที่ยวสิงคน โลกก็โกลาหลวุ่นวายใหญ่ เพราะว่าแต่ก่อนนี้ไม่เคยมีผีสิงคน เดี๋ยวนี้ผีสิงคนก็เอะอะกันทั้งบ้าน ตาก็มาดูกับเขาด้วยเหมือนกัน


ทีนี้ผีเห็นตามาแต่ไกลก็เลยหนี เพราะผิดสัญญาที่สัญญากะตาไว้ ว่าขึ้นมาจากเหวแล้วอย่าไปเที่ยวยุ่งกับคน ผีวิ่งหนี ตาไล่ตี ในที่สุดผีล้มฟาดภูเขา น้ำมันในกะโหลกศีรษะกระเด็นไปทั่วโลกลงไปในสิ่งที่ต่อมาล้วนเกิดปัญหา เป็นความยุ่งยากของโลก เช่น กัญชา ยาฝิ่น ฯลฯ อย่างนี้

น้ำมันผี ลงไปในสิ่งเสพติดของละยาก ลงไปในบ่อนไพ่ก็ละยาก ลงไปในน้ำชากาแฟ แม้แต่บุหรี่กำลังสูบกันอยู่ นี้ก็ยังละยาก ทำให้เสียเงินไปปีหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยล้าน หรือว่ามันจะลงไปในที่บางแห่งที่มากขึ้นไปอีก ที่ทำให้นักศึกษาบางคนแอบขายปากกาหมึกซึมปลอกทอง ไปเสียค่าเต้นรำ ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ไปบอกพ่อแม่ว่าหายหรือไปซื้อของพอดีพอร้ายมาใช้แทน อย่างนี้คิดดูซิว่ามันเป็นอย่างไร? มันเป็นความละยากของอะไร?

ความละยากของกิเลสนี้ ขอให้แปลความหมายว่า มันเป็นความละยากอย่างยิ่ง จนถึงกับว่าเหมือนกับน้ำมันผี ไม่มีสบู่ที่จะล้างมันออกได้ ปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้รับผลร้ายของมันอยู่ทุกคนแล้ว ว่าแต่ว่านิทานหรือภาชนะนี้ไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ว่า เขาหมายความว่าอย่างไร เขาหมายความว่าก่อนหน้านี้ไม่มีผีอยู่ในโลก มันเพิ่มขึ้นเมื่อมีกิเลสของคนเรา เพราะมันมีความดึงดูด


ด้วยการที่มนุษย์นั้นฉลาดแต่ในการที่มอมกันด้วยการคิดประดิษฐ์ประดอยสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่างๆ มอมกันให้มึนเมาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอย่างยิ่ง มันจึงละยาก จนสภาพการณ์อย่างนี้มีขึ้นในโลกทั่วไป จนกระทั่งนักศึกษา เช่น ลูกศิษย์ก็ไม่เคารพครู อย่างนี้เป็นต้น เพราะตกอยู่ในสิ่งที่ดึงดูดเหล่านี้ ความเป็นอ้ายอ๊อดก็ละไม่ได้ คงดื้อต่อบิดามารดาของมันอยู่เรื่อยไป นี้ถ้าไม่ทราบ ไม่เข้าใจถึงสิ่งนี้ละก็ ไม่มีทางที่จะเข้าถึงสิ่งที่จะพึงได้จากธรรมะแต่อย่างใด

ฉะนั้น จึงหวังว่าบรรดานิสิต นักศึกษาทั้งหลายจะได้พิจารณาในสิ่งที่เล่าให้ฟังมาแล้วนี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งได้ทราบว่า ธรรมะคืออะไร และเราไปเกี่ยวข้องได้อย่างไร โดยไม่มีอุปสรรคและให้ประสบความสำเร็จในการมุ่งหวังจากการที่สร้างกลุ่มพุทธบริษัท แม้เพียงในวงนักศึกษาขึ้นมาในสโมสรมหาวิทยาลัยนี้ อย่างสำเร็จประโยชน์ทุกประการเทอญ

ธรรมกถาที่บันดาลเกิดมีขึ้นได้โดยพระเมตตา

สิ้นสุดลงด้วยเวลาเพียงเท่านี้ ขอถวายพระพร.


4.png


***หมายเหตุ:

(๑) คัดจาก น.ส.พ.พุทธศาสนา รายตรีมาศ ของคณะธรรมทาน-ไชยา ปีที่ ๒๙ เล่ม ๓-๔ สิงหาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๔
(๒) พระอิสริยยศในขณะนั้น

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

๑. ธรรมวิจักขณกถา


ธรรมเทศนาแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ


ในโอกาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา
ณ วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร

อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมื่อวันเพ็ญเดือนหก ที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐


โดย
พุทธทาสภิกขุ

1.png



ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ


บัดนี้ จักรับพระราชทานถวายวิสัชนา ในธรรมวิจักขณกถา ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี, ถ้ารับพระราชทานถวายวิสัชนาไป มิได้ต้องตามโวหารอรรถาธิบาย ในพระธรรมเทศนาบทใดบทหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระขันติคุณ ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอภัยแก่อาตมะผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร.


        
          นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ
        โย ธัมมัง ปัสสะติ, โส มัง ปัสสะติ โย ธัมมัง นะ ปัสสะติ, โส มัง นะ ปัสสะตีติ ธัมโม สักกัจจัง โสตัพโพ ติ ฯ

        

        ณ บัดนี้ จักได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ในธรรมวิจักขณกถา ดำเนินความตามวาระพระบาลี ดังที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทเบื้องต้นว่า โย ธัมมัง ปัสสะติ โส มัง ปัสสะติ ฯลฯ เป็นอาทิ


ซึ่งมีใจความว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเราตถาคต” ดังนี้ เป็นต้น เพื่อเป็นธรรมเทศนา เนื่องในโอกาสทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ตามพระราชประเพณี


ก็แล ในการกุศลวิสาขบูชานี้ พุทธบริษัททั้งหลายย่อมถวายการบูชาอันสูงสุด ด้วยกาย วาจา ใจ แด่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า การบูชาด้วยกาย ก็คือการเดินเวียนประทักษิณ เป็นต้น และการบูชาด้วยใจ ก็คือการน้อมระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น อยู่ตลอดเวลาแห่งการกระทำวิสาขบูชา


ก็แต่ว่าการกระทำทั้งสามประการนี้ จักสำเร็จประโยชน์เต็มที่ได้ ก็ด้วยการเห็นธรรมตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้นเอง


ดังนั้น จะได้ถวายวิสัชนาโดยพิสดาร ในข้อความจากพุทธภาษิตนั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้โดยประจักษ์อยู่แล้วว่า “พระพุทธองค์จริงนั้น คือสิ่งที่เรียกว่าธรรม” หรือ “ธรรมนั่นแหละ คือพระพุทธองค์องค์จริง” ด้วยเหตุนั้นเอง พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเราตถาคต ต่อเมื่อเห็นธรรม จึงชื่อว่าเห็นตถาคต

        
ก็แล ในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระสรีระร่างกายของพระองค์ได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนแห่งธรรมสำหรับรับเครื่องสักการบูชาแห่งสัตวโลกทั้งหลาย เป็นต้น ครั้นพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ก็มีพระบรมสารีริกธาตุ คือธาตุอันเนื่องกับพระสรีระนั้น ได้เหลืออยู่เป็นตัวแทนแห่งธรรมสืบไปตลอดกาลนาน ดังเช่นพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ ที่พุทธบริษัททั้งหลาย มีสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเป็นประธาน ได้กระทำสักการบูชาเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อสักครู่นี้

ข้อนี้สรุปความได้ว่า พระพุทธองค์พระองค์จริงนั้น ยังอยู่ตลอดกาล และเป็นสิ่งเดียวกันเสมอไป ได้แก่สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ส่วนนิมิตหรือตัวแทนแห่งธรรมนั้น เปลี่ยนแปลงไปได้ตามควรแก่สถานะ คือจะเป็นสรีระของพระองค์โดยตรงก็ได้ หรือจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุก็ได้ หรือจะเป็นอุทเทสิกเจดีย์ มีพระพุทธรูปเป็นต้นก็ได้ แต่ทั้งหมดนั้น ล้วนแต่มีความหมายอันสำคัญ สรุปรวมอยู่สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั่นเอง


คำว่า “ธรรม” คำนี้ เป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุดในโลก เป็นคำที่แปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ ได้มีผู้พยายามแปลคำคำนี้เป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้น ออกไปตั้ง ๒๐-๓๐ คำ ก็ยังไม่ได้ความหมายครบ หรือตรงตามความหมายของภาษาบาลี หรือภาษาของพุทธศาสนา ส่วนประเทศไทยเรานี้ โชคดีที่ได้ใช้คำคำนี้เสียเลย โดยไม่ต้องแปลเป็นภาษาไทย เราจึงได้รับความสะดวก ไม่ยุ่งยากลำบากเหมือนพวกที่พยายามจะแปลคำคำนี้เป็นภาษาของตนๆ


คำว่า “ธรรม” เป็นคำสั้นๆ เพียงพยางค์เดียว แต่มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้ง และน่ามหัศจรรย์อย่างยิ่งเพียงไร เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาดูอย่างยิ่ง ดังต่อไปนี้

ในภาษาบาลี หรือภาษาพุทธศาสนาก็ตาม คำว่า “ธรรม” นั้น ใช้หมายถึง สิ่งทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว หรือสิ่งไม่ดีไม่ชั่ว ก็รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” ทั้งหมด ดังพระบาลีว่า กุสลา ธัมมา, อกุสลา ธัมมา, อัพยากะตา ธัมมา, เป็นอาทิ


ลักษณะเช่นที่กล่าวนี้ของคำว่า “ธรรม” ย่อมเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่า “พระเป็นเจ้า” แห่งศาสนาที่มีพระเป็นเจ้า เช่น ศาสนาคริสเตียนเป็นต้น คำคำนั้น เขาให้ความหมายว่า สิ่งทุกสิ่ง รวมอยู่ในพระเป็นเจ้าเพียงสิ่งเดียว


ดังนั้น แม้ในวงพุทธศาสนาเรา ถ้าจะกล่าวกันอย่างให้มีพระเจ้ากะเขาบ้างแล้ว เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นี้เอง ที่ตั้งอยู่ในฐานะเป็น “พระเป็นเจ้า” อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ในพุทธศาสนานั้น หมายถึง สิ่งทุกสิ่งจริงๆ

เพื่อให้เห็นได้อย่างแจ้งชัดและโดยง่าย ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งทุกสิ่งอย่างไรนั้น เราอาจจะทำการจำแนกได้ว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งเหล่านี้ คือ


๑. ธรรมชาติทุกอย่างทุกชนิด ล้วนแต่เรียกในภาษาบาลีว่า “ธรรม” หรือธรรมในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาตินั่นเอง


๒. กฎของธรรมชาติ ซึ่งมีประจำอยู่ในธรรมชาติเหล่านั้น ก็เรียกในภาษาบาลีว่า “ธรรม” อีกเหมือนกัน นี้คือ ธรรม ในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ และมีความหมายเท่ากันกับสิ่งที่เรียกว่า “พระเป็นเจ้า” ในศาสนาที่ถือว่ามีพระเป็นเจ้าอยู่อย่างเต็มที่แล้ว


๓. หน้าที่ต่างๆ ที่มนุษย์จะต้องประพฤติหรือกระทำ ในทางโลก หรือทางธรรมก็ตาม นี้ก็เรียกโดยภาษาบาลีว่า ธรรม อีกเหมือนกัน มนุษย์ต้องประพฤติให้ถูกให้ตรงตามกฎของธรรมชาติ จึงจะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา มนุษย์ส่วนมากสมัยนี้หลงใหลในทางวัตถุมากเกินไป ไม่สนใจสิ่งที่เป็น ความสุขทางนามธรรม ข้อนี้เป็นการกระทำที่ผิดกฎของธรรมชาติ จึงเกิดการยากนานาประการที่เรียกว่า “วิกฤติกาล” ขึ้นในโลก จนแก้กันไม่หวาดไม่ไหว


มนุษย์สมัยนี้ ต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจเหมือนคนในครั้งพุทธกาล และยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ มนุษย์สมัยนี้ มีการกักตุนเอาไว้เป็นของตัวหรือพวกของตัวมากเกินไป จนผิดกฎของธรรมชาติ จึงได้เกิดลัทธิอันไม่พึงปรารถนาขึ้นมาในโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดมาแต่ก่อน ดังนี้เป็นต้น


ข้อนี้เป็นตัวอย่างของการที่มนุษย์ประพฤติหน้าที่ของตนอย่างไม่สอดคล้องกันกับกฎของธรรมชาติ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประพฤติผิดต่อธรรมฝ่ายที่จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์ แต่ได้เป็นไปในฝ่ายที่จะสร้างความทุกข์ขึ้นมาในโลกอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้อย่างหนึ่ง


๔. ผลของการทำหน้าที่ หรือการปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นตามกฎของธรรมชาติ เช่น ความทุกข์ ความสุข หรือการบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือแม้ที่สุดแต่ความเป็นพระพุทธเจ้าของพระพุทธองค์ก็ดี ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผลของการทำหน้าที่ หรือการปฏิบัติไปทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ทุกชนิดทุกอย่างก็ล้วนแต่เรียกโดยภาษาบาลีว่า “ธรรม” อีกเหมือนกัน ทั้งหมดนี้ คือความหมายอันกว้างขวางของคำว่า “ธรรม” ซึ่งมีอยู่เป็นประเภทใหญ่ๆ ๔ ประเภท

สรุปแล้ว คำว่า “ธรรม” เพียงพยางค์เดียว หมายความได้ถึง ๔ อย่าง คือ หมายถึงตัวธรรมชาติก็ได้ หมายถึงกฎของธรรมชาติก็ได้ หมายถึงหน้าที่ ที่มนุษย์ต้องทำให้ถูกตามกฎของธรรมชาติก็ได้ และหมายถึงผลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้นๆ ก็ได้ นับว่าเป็นคำพูดคำหนึ่งที่ประหลาดที่สุดในโลก และไม่อาจจะแปลเป็นภาษาอื่นได้ ด้วยคำเพียงคำเดียว ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น


เมื่อสิ่งที่เรียกว่า
ธรรม มีมากมายมหาศาลอย่างนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นมา คนเราจะรู้ธรรมหรือเห็นธรรมได้ทั้งหมดอย่างไรกัน?


เกี่ยวกับข้อนี้ พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เองแล้วว่า เราอาจจะรู้ได้หมดและปฏิบัติได้ทั้งหมด ในส่วนที่จำเป็นแก่มนุษย์หรือเท่าที่มนุษย์จะต้องเข้าเกี่ยวข้องด้วย ส่วนที่เหลือนอกนั้นไม่ต้องสนใจเลยก็ได้ ข้อนี้ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า ธรรมที่ตถาคตได้ตรัสรู้ทั้งหมดนั้น มีปริมาณเท่ากับใบไม้กำมือเดียว ข้อนี้หมายความว่า ทรงนำมาสอนเท่าที่จำเป็นแก่การดับทุกข์โดยตรงเท่านั้น


ธรรมที่พระองค์ทรงนำมาสอนนั้น แม้จะกล่าวกันว่า มีถึง ๘๔๐๐๐ ข้อ หรือ ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ก็ตาม ก็ยังสรุปลงได้ในคำพูดเป็นประโยคสั้นๆ เพียงประโยคเดียวว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” ซึ่งแปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าตัวตนหรือของตน” ดังนี้


การรู้ข้อนี้ คือการรับรู้ธรรมทั้งหมด การปฏิบัติข้อนี้ คือการปฏิบัติธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และเป็นการมีชัยชนะเหนือความทุกข์ทั้งหมดได้ เพราะเหตุนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ของส่วนบุคคล หรือเป็นทุกข์ของโลกโดยส่วนรวมก็ตาม ถ้าผู้ใดเห็นธรรมส่วนนี้โดยประจักษ์ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้เห็นองค์พระตถาคตพระองค์จริงโดยแท้จริง


การเห็นธรรม ในที่นี้ เมื่อกล่าวโดยใจความหมายถึง การมีธรรมที่เป็นความดับทุกข์อยู่แล้วในตน และเห็นประจักษ์อยู่แล้วภายในใจตนว่าความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร นี่แหละคือหนทางออกทางเดียวของพวกเรา ซึ่งเป็นมนุษย์สมัยปัจจุบันนี้ ที่อาจจะเห็นพระพุทธองค์พระองค์จริงได้ ทั้งนี้เขากล่าวกันว่า พระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้วตั้งสองพันกว่าปี แต่เราอาจจะเห็นพระองค์ได้ โดยการนำมาใส่ไว้ในใจของเราเสียเลย นับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก

ข้อที่ควรทราบ ยังมีสืบไปอีกว่า สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั้น นอกจากจะเป็นคำพูดที่ประหลาดที่สุด โดยแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้ และหมายถึงสิ่งทุกสิ่งไม่ยกเว้นอะไรเลยดังนี้แล้ว ยังเป็นของประหลาดในข้อที่ว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ก่อนสิ่งทั้งปวง เช่นเดียวกับสิ่งที่เรียกว่า “พระเป็นเจ้า” ในศาสนาของพวกที่มีพระเป็นเจ้านั้นเหมือนกัน ข้อนี้ปรากฏอยู่ในบาลีขุททกนิกายชาดกว่า “ธัมโม หะเว ปาตุระโหสิ ปุพเพ” ซึ่งแปลว่า “ธรรมได้ปรากฏอยู่ก่อนแล้วแล” ดังนี้เป็นต้น


“ธรรม” ในลักษณะเช่นนี้ในทางพุทธศาสนา หมายถึงกฎของธรรมชาติ หรืออำนาจอันลึกลับสูงสุดเหนือสิ่งใด ที่บันดาลให้สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ นานา อยู่ฝ่ายหนึ่งหรือประเภทหนึ่งและอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้าม คือไม่มีการเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง อันได้แก่ตัวกฎธรรมชาติ หรืออำนาจอันนั้นนั่นเอง ดังนี้ ถ้าผู้ใดได้รู้ ได้เห็น หรือได้เข้าถึงธรรมประเภทหลังนี้แล้ว ก็จะไม่หลงใหลในธรรมประเภทที่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป นับว่าเป็นสิ่งที่น่าประหลาดมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่ง
        
อีกประการหนึ่ง สิ่งที่เรียกว่า
ธรรม นี้ ยังเป็นสิ่งที่มีอยู่ตลอดกาล ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นต้นเสียอีก สมมุติว่า ถ้าเอาอายุของดวงอาทิตย์เป็นต้น ไปเปรียบกับอายุของธรรมแล้ว ก็จะมีลักษณะเหมือนกันกับการเอาอายุของยุงตัวหนึ่งไปเปรียบกับอายุของดวงอาทิตย์อีกนั่นเอง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่น่าขบขันและน่าคิดอย่างไม่มีอะไรเหมือน ทั้งนี้ก็เพราะว่าธรรมนั้น ก็คือสิ่งที่เป็นความสมดุลหรือเหมาะสมที่จะคงอยู่ตลอดกาลนั่นเอง


กฎทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าคือ “สิ่งใดเหมาะสมที่จะอยู่ สิ่งนั้นจะคงอยู่หรือเหลืออยู่ สิ่งใดไม่เหมาะสมที่จะอยู่ คือเข้ากันไม่ได้กับสิ่งแวดล้อมเป็นต้นแล้ว สิ่งนั้นจะสูญไป” ดังนี้ นั้นก็คือ กฎของธรรมโดยตรง และธรรมนั่นแหละเป็นเพียงสิ่งเดียว ที่จะยังคงอยู่ตลอดกาลอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆ


ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” นั้น จึงตั้งอยู่ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุดเหนือสิ่งใด จนกระทั่งแม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกพระองค์ ก็ล้วนแต่ทรงเคารพธรรม มีธรรมเป็นที่เคารพ ไม่อาจจะมีสิ่งอื่นเป็นที่เคารพ นอกจากธรรมเพียงสิ่งเดียว ทั้งที่พระพุทธเจ้าเอง เป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ธรรม หรือทำให้ธรรมนั้นปรากฏแก่สายตาของสัตว์ทั้งปวง ซึ่งไม่อาจจะมองเห็นได้ด้วยสติปัญญาของตนเอง ข้อความนี้ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงรำพึงและตรัสไว้เองในคราวที่ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ซึ่งมีปัญหาเกิดขึ้นว่า พระพุทธเจ้าจะทรงอยู่โดยมีอะไรเป็นที่เคารพหรือหาไม่ดังนี้

ข้อความทั้งหมดตามที่กล่าวมานี้ ถ้าจะสรุปความให้สั้นที่สุด ก็จะสรุปได้ความว่า เนื้อตัวจิตใจเราทั้งหมด ก็คือธรรม กฎธรรมชาติที่ควบคุมเราอยู่ ก็คือธรรม หน้าที่ที่เราจะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาตินั้นๆ ก็คือธรรม และในที่สุด ผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นแก่เรา ตลอดจนถึงการบรรลุมรรคผลในขั้นสุดท้ายของเรา ก็คือธรรม อีกนั่นเอง


ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ธัมมทีปา ธัมมสะระณา ซึ่งแปลว่า ท่านทั้งหลายจงมีธรรมเป็นดวงประทีป จงมีธรรมเป็นที่พึ่งอาศัยเถิด ดังนี้ และพร้อมกันนั้น ก็ได้ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดไม่เห็นธรรม ผู้นั้นไม่เห็นเราตถาคต แม้ว่าผู้นั้นจะจับมุมจีวรของเราถืออยู่แล้วก็ตาม” ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น


บัดนี้ เป็นการกล่าวได้ว่า เป็นโชคดีมหาศาล เป็นบุญกุศลมหาศาลของประชาชนชาวไทย ที่ได้มีมหาอัตตาหรือตนหลวงที่เป็นดวงวิญญาณของประเทศชาติ ที่เป็นธรรมิกราชา คือเป็นตนหลวงที่ประกอบด้วยธรรม เป็นตนหลวงที่ทรงสรรเสริญธรรม เป็นตนหลวงที่ทรงชักชวนประชาชนในธรรม เป็นตนหลวงที่ทรงโปรดปรานผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม และทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพื่อความมีแห่งธรรมในประเทศไทย และตลอดจนโลกทั้งปวง ดังมีพระราชภารกิจต่างๆ ปรากฏเป็นประจักษ์พยานอยู่ แก่สายตาของประชาชนชาวไทยทั้งมวลแล้ว

ส่วนที่ควรนับว่าเป็นกรณีพิเศษในวันนี้นั้น คือสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารได้เสด็จมาถึงเมืองไชยานี้ เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา ในที่เฉพาะหน้าที่แห่งพระธาตุเจดีย์ อันเป็นที่ประดิษฐานแห่งพระบรมสารีริกธาตุนี้ ย่อมเป็นการกระทำที่ส่งเสริมความมีอยู่แห่งธรรมในจิตใจของประชาชนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป หรืออย่างน้อยก็จะยังคงมีอยู่อย่างพอเพียงแก่การที่จะคุ้มครองประชาชนส่วนนี้ ให้ตั้งอยู่ในธรรมและให้มีความร่าเริงกล้าหาญในการประพฤติธรรมสืบต่อไปตลอดกาลนาน

แม้ว่าเมืองไชยานี้ จะเป็นเมืองโบราณมาแล้วแต่สมัยศรีวิชัย เคยรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนามาแล้วอย่างยิ่ง ถึงกับแม้แต่บทกล่อมลูกของชาวบ้าน ก็มีการกล่าวถึงนิพพานมาแล้วก็ตาม(๑)

ขอแต่บัดนี้ ตกอยู่ในสภาพที่ต้องการสิ่งกระตุ้นเตือนใจในทางธรรมเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการเสด็จพระราชดำเนินมาจนถึงที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ ในสภาวการณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และสวัสดีมงคลแก่ประชาชนในถิ่นนี้อย่างมหาศาลเหลือที่จะเปรียบปาน


ขอให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร จงได้ทรงทราบถึงความจริงข้อนี้โดยประจักษ์ แล้วทรงสำราญพระราชหฤทัยตามวิสัยแห่งธรรมราชา ผู้ทรงชักชวนประชาชนทั้งหลายในทางแห่งธรรม จงทุกประการเถิด

     

ธรรมเทศนา สมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ ขอถวายพระพร.

4.png


***หมายเหตุ:

(๑) บทกล่อมลูกพื้นเมืองมีว่า...มะพร้าวนาฬิเกร์ ตนเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ..เอย – ผู้จัดพิมพ์

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

1.png


ตอนที่ ๓๐

ธรรมวิจักขณกถา

พระธรรมเทศนาแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

และ
ส่วนสำคัญของพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้


ธรรมปาฐกถาแสดงถวายสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ



โดย

พุทธทาสภิกขุ

3.png



คำนำสำนักพิมพ์


หนังสือเล่มนี้ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม โดยนำเรื่องที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมารวมไว้ในเล่มเดียวกัน และใช้ชื่อหนังสือตามชื่อเรื่องที่เด่นที่สุดในบรรดาเรื่องทั้งหมดในเล่ม แบบเดียวกับหนังสือเป็นชุดๆ ตามเรื่องที่คณะเผยแพร่วิธีการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (ผชป.) เคยจัดทำไว้ในชุดเอกสารชุดมองด้านใน ดังเป็นที่แพร่หลายอยู่โดยทั่วไป


        
เรื่องต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ได้พิมพ์ ให้เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยเฉพาะพระธรรมเทศนาเรื่อง “ธรรมวิจักขณกถา” ซึ่งแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่วัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ดูเหมือนไม่ปรากฏว่าได้รวมพิมพ์ไว้ในที่ใดเลย เนื้อหาในเรื่องนี้ได้เน้นให้เห็นความสำคัญของคำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว


        
เรื่องที่สอง ส่วนสำคัญของพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้ ได้แสดงถวายแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ แสดงให้เห็นความสำคัญของธรรม “ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต, ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ” พร้อมทั้งได้ขยายความของธรรมะ ในประเด็นต่างๆ ที่ควรรู้มากขึ้น


        
เรื่อง “สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยไป” ปาฐกถาท่ามกลางที่ประชุมใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกชนสัมพันธ์แห่งโลก ท่ามกลางชาวพุทธชั้นผู้นำทั่วโลกซึ่งได้มาประชุมกันที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ ปาฐกถาครั้งสำคัญครั้งนี้ ท่านได้กล่าวถึงธรรมะในระดับสากล เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาธรรมในมุมมองที่กว้างยิ่งขึ้น


        ส่วนเรื่อง “ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท” เป็นการทำสังคายนาพุทธศาสนาในประเทศนั้น กับเรื่อง “ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนานิกายต่างๆ” แสดง ณ สมาคมพุทธบริษัทไทย-จีนประชา มีผู้แปลเป็นภาษาจีน ทั้งสองเรื่องนี้ได้ให้ความรู้อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับหินยาน-มหายาน ซึ่งผู้ศึกษาพุทธศาสนาให้มีความรู้จะต้องศึกษากันอย่างกว้างขวาง


       สำหรับเรื่องสุดท้าย คือเรื่อง “การเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง” เป็นเรื่องที่มีเนื้อหาคล้ายกับเรื่องที่หนึ่ง หรือเรื่องที่สอง แต่ขยายความมากขึ้น ให้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติได้ดี
        
ข้าพเจ้าได้รับอนุญาตจากท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุให้จัดพิมพ์เรื่องต่างๆ ของท่านได้ โดยคัดเลือกเรื่องจากเรื่องต่างๆ ท่านได้เน้นว่าควรใช้อักษรตัวใหญ่ และตรวจตราให้ถูกต้องกับต้นฉบับเดิม ทั้งนี้เป็นการอนุญาตด้วยวาจาและหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ข้าพเจ้ามีเจตนาดีในการช่วยพิมพ์งานของท่านและได้กระทำมายี่สิบกว่าปีแล้ว หากมีข้อผิดพลาดใดๆ เกี่ยวกับการจัดพิมพ์ ขอให้ท่านผู้รู้ได้โปรดทักท้วงด้วย เพื่อจะได้แก้ไขให้ถูกต้องไม่มีผิดพลาดต่อไป.


อรุณ เวชสุวรรณ

๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔


100150prueazd6zzanp4n1.png



สารบาญ


๑.   ธรรมวิจักขณกถา


๒.   ส่วนสำคัญของพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้


๓.   ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท


๔.   ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนานิกายต่างๆ


๕.   สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยไป


๖.   การเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง


4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :

          อรุณ เวชสุวรรณ. หนังสือธรรมวิจักขณกถา. ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-6 17:38 , Processed in 0.117657 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.