แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 32737|ตอบ: 68
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

S__42418183.1.jpg



รวมบทความพระอริยะ



     ข้าพเจ้าได้คัดลอกและรวบรวมบทความธรรมะจากหนังสือธรรมะต่างๆ โดยมีเนื้อหาทั้งหมด ๕๖ ตอน หวังเล็กๆ ว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากบทความดังกล่าว และได้เป็นข้อคิดแห่งธรรมะกลับไปพิจารณาด้วยการมีสติ ที่รู้จักใคร่ครวญไตร่ตรองตามอัธยาศัยแต่ละบุคคล ขอความสวัสดี และสมประสงค์ในธรรมอันบริสุทธิ์ จงมีแด่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงทุกคนเทอญ


l7.png



สารบัญ


๑.   พระอมตมหานิพพาน; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๒.   ตีเหล็กร้อนๆ; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๓.   ความโกรธ; สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี


๔.   ปฏิปทาภินิหารพระอาจารย์ในดง; พระอาจารย์ชาญณรงค์ อภิชิโต (ศิริสมบัติ) (ศิษย์ผู้น้องของพระครูเทพโลกอุดร)


๕.   พระพุทธวจนะ; หลวงปู่ปาน โสนันโท


๖.   จตุรารักษ์; หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล


๗.   หลวงปู่มั่น แสดงธรรมในวันวิสาขบูชา ณ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่


๘.   ความเพียรที่สละตาย; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๙.   เหตุใด ? อริยธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว แต่ผู้ศรัทธาไม่ได้ทำให้เป็นจริงขึ้น; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๐.  คบคนพาล พาลไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๑.  อย่าให้ใจเหมือน; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๒.  การฝึกซ้อมสติปัญญากับความเจ็บป่วย; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๓.  ปัจฉิมโอวาทของหลวงปู่มั่นในวาระสุดท้ายของชีวิต; พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ


๑๔.  ใต้รอยบาทหลวงพ่อเดิม; ท่านพระครูนิวาสธรรมขันธ์


๑๕.  พิจารณาเห็นธรรมในธรรม; หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๑๖.  อาหารของผู้บรรลุธรรมชั้นสูง; หลวงปู่ดูลย์ อตุโล


๑๗.  บทสวดทิพย์มนต์สมัยพระสมณโคดมเสวยพระชาติเป็นพระฤาษี; ท่านพ่อลี วัดอโศการาม


๑๘.  คำเตือนสติและโอวาทของท่านธัมมวิตักโก; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๑๙.  ทำอะไรไม่ผิดเลย; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๒๐.  สันติสุขจากการพึ่งตน; เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต


๒๑.  ละจนถึงที่สุด; พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)


๒๒.  ค้นพบสัจธรรม; พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด)


๒๓.  ปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๔.  ให้ตั้งสัจจะ; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๕.  คติธรรม…ธัมมุทเทส ๔; หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


๒๖.  หลวงปู่เล่าเรื่อง ประวัติพระแก้วมรกต; หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


๒๗.  พระคติธรรม; หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


๒๘.  มรรคผลนิพพาน อยู่ที่ตนเอง; หลวงปู่โต๊ะ


๒๙.  การกำจัดความโกรธ; หลวงปู่โต๊ะ


๓๐.  ธรรมวิจักขณกถา; พุทธทาสภิกขุ

        - ๑.   ธรรมวิจักขณกถา

        - ๒.   ส่วนสำคัญของพุทธศาสนาที่ทุกคนควรรู้

        - ๓.   ลักษณะที่น่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาอย่างเถรวาท

        - ๔.   ข้อควรทราบเกี่ยวกับหลักพุทธศาสนานิกายต่างๆ

        - ๕.   สิ่งที่เรายังสนใจกันน้อยไป

        - ๖.   การเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์จริง (อาสาฬหบูชาเทศนา)


๓๑.  ความสำเร็จ; พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)


๓๒.  ที่แท้ – ก็ใบลานเปล่า; พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ)


๓๓.  ธรรม คือ ธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ ธรรม; หลวงปู่สี ฉันทสิริ


๓๔.  เทพเทวดานิมนต์ให้หลวงปู่สีเทศน์; หลวงปู่สี ฉันทสิริ


๓๕.  การแสวงหาสัจธรรมคืออะไร?; หลวงปู่สุภา กันตสีโล


๓๖.  อริยทรัพย์; สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๘


๓๗.  หลวงพ่อโอภาสี ผู้บูชาเพลิง เป็นพุทธบูชา; พระมหาชวน มะลิพันธ์


๓๘.  ธรรมทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ; หลวงปู่หล้า จันโทภาโส


๓๙.  วิธีขจัดความว้าเหว่ ท้อแท้ และเกิดปัญหา; หลวงปู่หล้า จันโทภาโส


๔๐.  ภิกษุผู้ถือการไม่นอนเป็นวัตร; หลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต


๔๑.  กามกิเลสอนุสัย; หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


๔๒.  เทศนาปาฏิหาริย์ของหลวงปู่; หลวงพ่อเกษม เขมโก


๔๓.  หลักคำสอนของหลวงปู่มอก


๔๔.  ปรัชญาธรรมจากหลวงปู่; หลวงปู่คำพันธ์ โฆสปัญโญ


๔๕.  ปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า; สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙


๔๖.  ธรรมะในปริศนา ๑๒ ข้อ; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๗.  มนต์รัก; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๘.  ทำไฉน ? จึงจะฝันดี; หลวงปู่จันทร์ กุสโล


๔๙.  ธรรมจากหลวงพ่อ; พระนพีสีพิศาลคุณ


๕๐.  เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงปู่ยิด; หลวงปู่ยิด จันทสุวัณโณ


๕๑.  เทคนิคการฝึกสมาธิ; พระอาจารย์โชติ อาภัคโค


๕๒.  มหาสติปัฏฐานสูตร; หลวงพ่อกิตติศักดิ์ กิตติสาโร


๕๓.  อภัยทาน; พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


๕๔.  ธรรมดาของชีวิต เป็นเช่นนั้นเอง


๕๕.  บัณฑิตสามเณร


๕๖.  ประวัติและข้อธรรม-คำสอน และการใช้พระผงจักรพรรดิและลูกแก้วจักรพรรดิ; พระอาจารย์วรงคต วิริยธโร (หลวงตาม้า)




l28.png


ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 9

http://www.dannipparn.com/thread-61-1-1.html


ตอนที่ 10 - 19

http://www.dannipparn.com/thread-61-2-1.html


ตอนที่ 20 - 29

http://www.dannipparn.com/thread-61-3-1.html


ตอนที่ 30 - 33

http://www.dannipparn.com/thread-61-4-1.html


ตอนที่ 34 - 43

http://www.dannipparn.com/thread-61-5-1.html


ตอนที่ 44 - 48

http://www.dannipparn.com/thread-61-6-1.html


ตอนที่ 49 - 56

http://www.dannipparn.com/thread-61-7-1.html



(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 7 กันยายน 2566)

Rank: 8Rank: 8

g1.2.jpg



100150prueazd6zzanp4n1.png


ขอความสวัสดี และสมประสงค์ในธรรมอันบริสุทธิ์

จงมีแด่ท่านผู้อ่านทั้งหลาย จงทุกคนเทอญ


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

IMG_6443.1.JPG


ตอนที่ ๕๖

ประวัติและข้อธรรม-คำสอน

และการใช้พระผงจักรพรรดิและลูกแก้วจักรพรรดิ

IMG_5095.2.png


โดย

พระอาจารย์วรงคต วิริยธโร

(หลวงตาม้า)

(วัดพุทธพรหมปัญโญ (วัดถ้ำเมืองนะ)

ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่)

1.png



ชาตะภูมิ


หลวงตาม้า เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ ที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ในสกุล สุวรรณคุณ โยมบิดามีนามว่า วันดี โยมมารดามีนามว่า โสภา ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๓ คน


เมื่อท่านยังเล็กอยู่นั้น โยมมารดาได้นำท่านไปฝากให้คุณยายเลี้ยงดู ทำให้ท่านมีโอกาสและคุ้นเคยกับการเข้าวัดตั้งแต่เด็ก นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งสายพระป่าด้วย ซึ่งในงานนั้นท่านได้มีโอกาสพบเห็นพระธุดงค์สายพระป่า ผู้มีปฏิปทาจริยวัตรงดงามเรียบร้อย มาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก


10.1.png




ชีวิตฆราวาส


ต่อมาหลวงตาได้เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเข้ามาเป็นเด็กวัดอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรคณะ ๑๑ จากนั้นท่านจึงได้เข้าทำงานอยู่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ (สมัยนั้นอยู่บริเวณซอยอารีย์) และในช่วงที่ทำงานอยู่นี้เอง เพื่อนคนหนึ่งของท่านได้ไปบวชที่วัดสะแก ท่านก็ได้ตามไปร่วมงานบวชของเพื่อน และได้พบกับหลวงปู่ดู่เป็นครั้งแรก เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๐


นับแต่นั้น ท่านก็เทียวมาระหว่างกรุงเทพฯ-อยุธยา เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติต่างๆ กับหลวงปู่ดู่เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี และมีความรู้สึกอยากบวชมาตลอด เมื่อท่านปรึกษาเรื่องการบวชกับหลวงปู่ หลวงปู่ได้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระนั้น ใจต้องเป็นพระ บวชจิตให้เป็นพระ ตัวเราก็เป็นพระ ต้องเริ่มจากข้างในไม่ใช่ข้างนอก บางคนข้างนอกห่มจีวรเป็นพระแต่ใจเป็นโจร ก็ไม่เรียกว่าเป็นพระ


10.3.png




เหตุการณ์ก่อนบวช


ถึงแม้ว่าหลวงตาม้าจะยังเป็นฆราวาส แต่ท่านก็ใช้การบวชใจเป็นพระเรื่อยมาจนกระทั่งประมาณ ๑ ปี ก่อนที่ท่านจะออกบวชจริงๆ ขณะที่ท่านขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รถของท่านถูกรถอื่นเฉี่ยวจนตัวท่านลอยสูงแล้วตกลงมาหัวโหม่งกับพื้นถนนอย่างรุนแรงจนสลบไป


หลังจากนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว แพทย์บอกว่ากะโหลกศีรษะของท่านร้าว แต่โชคดีมากที่ไม่มีเลือดคั่งในสมอง และไม่มีบาดแผลรุนแรงใดๆ เลย หลังจากอยู่พักรักษาตัวเพียง ๓ เดือน กะโหลกศีรษะก็ประสานกันดีเหมือนเดิม หลวงตาเล่าให้ฟังว่า วันนั้นท่านแขวนเพียงพระและสวมแหวนของหลวงปู่ดู่เท่านั้น


10.4.png




บวชพร้อมทั้งกายและใจ


หลังจากที่ได้ผ่านการบวชจิต ได้รับการศึกษาแนวทางปฏิบัติต่างๆ จากหลวงปู่มาอย่างเต็มภูมิ และได้ผ่านอุบัติเหตุครั้งใหญ่แล้ว หลวงตาก็พร้อมจะบวชเป็นพระทั้งกายและใจ หลวงปู่ได้บอกว่า เวลาบวชต้องดูอุปัชฌาย์ ถ้าอุปัชฌาย์ไม่เป็นพระเราก็เป็นพระไม่ได้ แต่เนื่องจากหลวงปู่ดู่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์


หลวงตาจึงได้ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ณ วัดพุทไธศวรรย์ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูภัทรกิจโสภณ (หลวงพ่อหวล) เจ้าอาวาสวัดพุทไธศวรรย์ (สมณศักดิ์ปัจจุบันคือ พระพุทไธศวรรย์วรคุณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุนทรธรรมนิเทศ (บุญส่ง) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูพิจิตรกิจจาทร (เสน่ห์) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า " วิริยธโร "


10.5.png




บำเพ็ญบารมีธรรม


หลังจากบวชแล้ว หลวงตาต้องการจะออกธุดงค์เลย แต่หลวงพ่อหวลได้บอกให้ท่านอยู่ให้ครบพรรษาเสียก่อน ขณะที่จำพรรษาอยู่วัดพุทไธศวรรย์นั้น หลวงพ่อหวลผู้สืบทอดวิชาสายหลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช และวิชาเหล็กไหลจากสายหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ยังจะถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ ให้กับหลวงตาม้าด้วย


ทั้งที่ปกติท่านไม่เคยถ่ายทอดวิชาให้ใคร แต่หลวงตาก็ไม่ขอเรียน เพราะท่านรู้สึกว่าเรื่องของคาถาอาคมมีพิธีกรรมมาก ต้องใช้เวลาเรียนและจดจำมาก และตัวท่านเองก็สนใจแต่การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงปู่ดู่เพียงองค์เดียวเท่านั้นมาตลอด


หลังออกพรรษา หลวงตาก็มากราบลาหลวงปู่เพื่อออกธุดงค์ หลวงปู่จึงมอบเงินให้หลวงตาไว้ ๕๐๐ บาท รวมทั้งของใช้จำเป็นต่างๆ และได้หันไปหยิบรูปหล่อหลวงปู่ดู่เนื้อปูน มาให้หลวงตา ๑ องค์ และบอกกับหลวงตาว่า เอ็งไปไหน ข้าไปด้วย หากสงสัยอะไรในการปฏิบัติให้แกถามเอาจากพระองค์นี้


หลังจากกราบลาหลวงปู่ดู่แล้ว หลวงตาได้เดินทางโดยรถไฟไปยังเชียงใหม่ แล้วเริ่มออกธุดงค์ กำหนดจิตตามหาสถานที่ที่มีกระแสพลังงานเกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ดู่ไปเรื่อยๆ จนไปถึงวัดพระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม ท่านได้พบกับผู้เฒ่าคนหนึ่งที่ได้บอกเล่าถึงตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ว่ามีถ้ำที่มีบรรยากาศสงบสัปปายะ เหมาะกับการปฏิบัติธรรม ซึ่งท่านได้ฟังแล้วรู้สึกว่ามีลักษณะคล้ายกับที่ตามหาอยู่ ท่านจึงได้ออกธุดงค์ต่อไปยังตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว


เมื่อธุดงค์มาถึงตำบลเมืองนะ ในช่วงแรกหลวงตาได้ไปพักอยู่ที่ ถ้ำฮก ซึ่งหลวงตาได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำนี้ประมาณ ๑ เดือน แต่เนื่องจากถ้ำฮกเป็นถ้ำลึกที่มีทางน้ำใต้ดินไหลผ่าน ถ้ำมีความชื้นมาก ไม่สะดวกแก่การอยู่ปฏิบัติธรรมนัก ท่านจึงได้ออกธุดงค์หาถ้ำอื่นต่อไป


หลังออกจากถ้ำฮก หลวงตาได้ธุดงค์ตามกระแสพลังงานของหลวงปู่ดู่ไปเรื่อยๆ จนได้พบกับ ถ้ำเมืองนะ ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นไม้ขึ้นปกคลุมมากจนมองไม่เห็นปากถ้ำ แต่เมื่อแหวกต้นไม้เข้าไปกลับพบว่า ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำร้างนั้น กลับสะอาดสะอ้านมาก เหมือนมีใครมาปัดกวาดเช็ดถูอยู่ทุกวัน


ท่านจึงได้กำหนดจิตดู ก็พบว่าใต้ถ้ำแห่งนี้เป็นเมืองบาดาล และมีพญานาคอยู่เป็นจำนวนมาก คอยเฝ้ารักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ทวดและหลวงปู่ดู่เอาไว้ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเมืองนะแห่งนี้เรื่อยมา


หลังจากจำพรรษาที่ถ้ำเมืองนะได้ไม่นาน ก็มีลูกศิษย์หลวงปู่ดู่ตามขึ้นมาหาหลวงตา และเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่เล่าให้เขาฟังหมดทุกอย่าง ว่าหลวงตาจะไปอยู่ที่ถ้ำไหน ลักษณะของถ้ำเป็นอย่างไร ทั้งที่หลวงปู่ไม่เคยมาที่ถ้ำแห่งนี้ และไม่เคยออกจากกุฏิของท่านที่อยุธยาเลย และในเวลาต่อมา หลวงปู่ดู่ยังได้เมตตาอธิษฐานจิตพระหน้าตัก ๑๙ นิ้วองค์หนึ่ง ให้ลูกศิษย์นำขึ้นมาถวายให้หลวงตาประดิษฐานไว้ในถ้ำเมืองนะแห่งนี้อีกด้วย


นอกจากถ้ำเมืองนะจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่ดู่แล้ว ถ้ำนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับหลวงตาเป็นอย่างมาก หลวงตาเล่าว่า บริเวณกุฏิของท่านในปัจจุบันนี้ ตอนที่พบครั้งแรกท่านรู้สึกคุ้นเคยมาก รู้สึกว่ายังไงก็ต้องเอาตรงนี้เป็นที่พักให้ได้


ท่านจึงได้กำหนดจิตดู ก็พบว่าที่ตรงนี้เคยเป็นวัดมาก่อนตั้งแต่สมัยอยุธยา และบริเวณนี้เป็นที่ที่ท่านซึ่งเป็นพระในสมัยนั้นเคยอยู่จำพรรษามาก่อน โดยท่านได้พบหลักฐานเป็นบาตรดินเก่าที่แตกหัก ซึ่งเป็นบาตรเก่าของท่านตั้งแต่สมัยนั้นอยู่ในบริเวณนี้ด้วย



พระผง.jpg



ประวัติการสร้างพระผงกรรมฐาน

        

ในช่วงประมาณ ๓ ปีแรก ที่หลวงตามาปฏิบัติธรรมอยู่ถ้ำเมืองนะนั้น ท่านจะจำวัดในโลงศพเสมอ และยังได้ตั้งจิตอธิษฐานเร่งความเพียรปฏิบัติธรรมอยู่แต่ภายในบริเวณถ้ำโดยไม่ออกไปไหน เพื่อหวังจะได้บรรลุนิพพานในชาตินี้ แต่หลังจากที่ท่านเร่งปฏิบัติธรรม พิจารณาทบทวนธรรมะต่างๆ ที่หลวงปู่ดู่ได้ถ่ายทอดไว้ให้แล้ว ท่านก็ได้พบกระแสพลังงานเก่าของตนเอง ว่าท่านเคยปฏิบัติธรรมสร้างบารมี ตามแนวทางพระโพธิสัตว์ เช่นเดียวกับหลวงปู่ดู่ ครูบาอาจารย์ของท่าน
        

ต่อมา เมื่อหลวงปู่ดู่มรณภาพลง เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๓ ท่านจึงได้ออกจากถ้ำ เพื่อมาร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ โดยหลวงตาได้พิจารณาว่า เมื่อหลวงปู่ไม่อยู่แล้ว ก็ไม่มีใครคอยเป็นหลักในการแผ่เมตตาช่วยเหลือภพภูมิต่างๆ แทนหลวงปู่เลย ในขณะที่ตัวท่านเองเป็นลูกศิษย์ ที่ได้ศึกษากระแสพลังงานเหนือพลัง และความรู้ต่างๆ จากหลวงปู่มาอย่างเต็มภูมิ


รวมทั้งได้มาอยู่ที่ถ้ำเมืองนะ ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รวมกระแสพลังงานอันไม่มีประมาณของหลวงปู่ทวดหลวงปู่ดู่เอาไว้อีกด้วย ท่านจึงควรจะช่วยทำหน้าที่วางรากฐาน และเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติธรรม สร้างบารมี ช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลาย และสร้างพระเครื่องเพื่อใช้ในการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหลวงปู่ดู่ต่อไป


ในครั้งแรก หลวงตาไม่มั่นใจนักว่าจะสามารถทำหน้าที่แทนหลวงปู่ได้หรือไม่ จึงได้อธิษฐานจิตว่า ถ้าจะให้ท่านทำหน้าที่แทนหลวงปู่ได้ ขอให้หลวงปู่นำของที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่มาให้ภายใน ๓ เดือน


ซึ่งหลังจากท่านอธิษฐานได้เพียง ๒ เดือน ก็มีลูกศิษย์ของหลวงปู่ขึ้นมาที่ถ้ำ และมอบสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่กายของหลวงปู่ชิ้นหนึ่งให้กับท่าน ทั้งที่เขาบูชาของสิ่งนั้นมาในราคาแพงหลักแสน โดยเขากล่าวว่า อยู่กับเขาก็ไม่มีประโยชน์อะไร อยู่กับหลวงตามีประโยชน์กว่า และหลังจากนั้นก็เริ่มมีคนนำมวลสารของหลวงปู่ดู่มาถวายให้ท่านมากมายหลายอย่าง


ท่านจึงได้เริ่มเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติธรรมในสายโพธิญาณ แล้วสร้างพระตามแนวทางของหลวงปู่ดู่เรื่อยมา ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน โดยทำเป็นพิมพ์ต่างๆ เช่น พระสมเด็จองค์ปฐมบรมมหาจักรพรรดิประทับยืนปางเปิดโลก พระเหนือพรหม หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ พระศรีสยามเทวาธิราช ฯลฯ รวมถึงลักษณะปั้นเป็นลูกกลมๆ เรียกว่า ดวงแก้วมณีนพรัตน์


การที่หลวงปู่ดู่และหลวงตาม้าจัดสร้าง หรืออนุญาตให้สร้างพระเครื่องพระบูชา ก็เพราะเห็นว่า ยังมีบุคคลจำนวนมากที่ขาดที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเนื่องเพราะศิษย์หรือบุคคลนั้นมีทั้งที่จิตใจใฝ่ธรรมล้วนๆ กับที่ยังต้องพึ่งพิงกับวัตถุมงคลอยู่


หลวงปู่ดู่เคยกล่าวเป็นข้อคิดไว้ว่า “ติดวัตถุมงคล ก็ยังดีกว่าที่จะให้ไปติดวัตถุอัปมงคล” เพราะอย่างน้อยก็เป็นการดึงให้ใจอยู่กับพระเครื่อง การได้เห็นพระนับเป็นพุทธานุสติ ใจย่อมเป็นบุญ ซึ่งดีกว่าปล่อยให้ใจไปติดอยู่กับเหล้ายาหรือกิเลสสิ่งไม่ดีอื่นๆ


การสร้างพระของหลวงตานั้น ท่านจะนำมวลสารต่างๆ ของหลวงปู่ดู่มาผสมรวมกับปูนซีเมนต์ขาว และน้ำมนต์จักรพรรดิ จากนั้นจึงนำไปกดพิมพ์ออกมา แล้วนำไปอธิษฐานจิตปลุกเสก ด้วยกระแสพลังเหนือพรหมแห่งพระคาถามหาจักพรรดิ นอกจากนี้ พระเครื่องของหลวงตาทุกองค์ ยังได้ผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยวิชาภูตพระพุทธเจ้า จึงทำให้พระเครื่องของท่านสามารถดิ้นได้พูดได้ราวกับมีชีวิต


ดังนั้น ผู้ปฏิบัติที่หมั่นนำพระของท่านไปกำสวดมนต์ภาวนาอยู่เสมอ จนจิตสงบเบาสบาย และสามารถจูนพลังงานจิตของตน ให้เข้ากับพลังเหนือพลังอันบริสุทธิ์ที่ท่านได้อธิษฐานไว้ในพระได้ ย่อมสามารถนำพระของท่านมาใช้กำภาวนา ถามตอบแนวทางการปฏิบัติธรรมต่างๆ ได้ เสมือนราวกับว่ามีหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงตาม้า มาช่วยเหลือคอยตอบข้อสงสัยต่างๆ อยู่เบื้องหน้าตนเลยทีเดียว


นับแต่ครั้งแรกที่เริ่มสร้างพระจนถึงปัจจุบันนั้น หลวงตาได้สร้างพระผงกรรมฐานตามแนวทางของหลวงปู่ดู่ไว้แล้วมากกว่า ๑๐ ล้านองค์ ท่านจะสร้างพระทุกวันพระ ส่วนหนึ่งท่านจะเก็บไว้ในไห แล้วนำไปไว้ตามถ้ำหรือวัดต่างๆ เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาต่อไป และพระอีกส่วนหนึ่ง ท่านจะนำมาแจกให้ลูกศิษย์นำไปใช้กำสวดมนต์เจริญภาวนากัน โดยท่านสร้างพระผงกรรมฐานนี้ไว้เพื่อแจกเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ทำเพื่อจำหน่าย


หลวงตากล่าวว่า พระผงกรรมฐานนี้ ใครอยากได้ต้องมาขอที่ถ้ำ ท่านจะมอบพระที่เลี่ยมพลาสติกแล้วพร้อมประคำให้ ท่านบอกว่าถ้าไม่เลี่ยมให้ เมื่อได้ไปแล้ว ก็มักจะเอาไปวางไว้ ไม่เอามาใช้สวดมนต์ภาวนากัน ส่วนประคำก็ร้อยให้เพื่อจะได้นำพระมาห้อยคอ เพื่อใช้ปฏิบัติธรรมได้เลย


9.1.jpg



หลวงปู่ดู่ เคยกล่าวไว้ว่า

“ ถ้าใช้พระเป็น ถึงนิพพานได้เลย ”

a.png



พระผงกรรมฐาน เป็นพระใช้ มิใช่พระเก็บหรือสะสมเอาไว้เฉยๆ ในตู้ และไม่มีกำหนดว่ารุ่นใดเป็นรุ่นหนึ่งรุ่นสอง เพราะหลวงตาม้าและศิษย์ที่ได้รับการครอบวิชาให้สามารถสร้างพระตามสูตรนี้ได้นั้น มีการสร้างพระอยู่เรื่อยๆ


การเก็บพระผงกรรมฐานเอาไว้เฉยๆ ไม่คล้องคอติดตัว ไม่แช่ถังน้ำในบ้านเพื่อทำน้ำมนต์ไว้กินและอาบ ไม่ใช้เพื่อการปรับภพภูมิช่วยส่งวิญญาณ ถือว่าเสียประโยชน์เปล่า เสมือนกับมีเงินทองแล้วไม่รู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น


10.6.png




แสงสว่างแห่งบุญจากพระเครื่องของหลวงตา


กระแสพลังงานแห่งบุญบารมีอันบริสุทธิ์ ที่หลวงตาได้อธิษฐานจิตรวมลงสู่พระเครื่องของท่านทุกองค์นั้น นอกจากจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมจากพระธรรมธาตุที่เกิดขึ้นบนพระเครื่องที่ท่านสร้างแล้ว ยังมีลูกศิษย์หลายคนได้เคยเห็นกระแสพลังงานแห่งบุญอันสว่างไสวนั้นอย่างชัดเจนด้วยตนเองอีกด้วย


โดยเวลานำพระเครื่องมาใช้สวดมนต์ภาวนานั้น หลวงตามักจะแนะนำให้ปิดไฟ หรือจุดเทียนไว้ให้มีแสงสว่างเพียงไม่มาก เพื่อให้มีบรรยากาศสงบสัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติธรรม และยังช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ศึกษากระแสพลังงานแห่งบุญได้ด้วยตนเองอีกด้วย


โดยมีลูกศิษย์ที่นำพระของท่านไปหลับตาสวดมนต์และปิดไฟในห้องมืดสนิท แต่กลับเห็นแสงสว่างสีนวลๆ ส่องผ่านเปลือกตาที่หลับอยู่เข้ามาอยู่เสมอ บางคนก็ตกใจ ลืมตาดูว่าแสงอะไร แต่เมื่อลืมตาดูก็พบแต่ห้องมืดสนิท ปราศจากแสงใดๆ ส่องผ่านมา โดยแสงสว่างเหล่านี้ ไม่ใช่จะเห็นเฉพาะตอนหลับตาสวดมนต์ภาวนาเท่านั้น บางคนแม้ลืมตาอยู่ก็สามารถมองเห็นแสงสว่างนั้นได้เช่นกัน


หลวงตาได้เมตตาอธิบายว่า นั่นคือแสงสว่างแห่งบุญ ทุกครั้งที่เราได้ทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นใส่บาตร สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฯลฯ จะมีแสงสว่างแห่งบุญนั้นปรากฏขึ้นเสมอ เพียงแต่จิตเรายังไม่สบายหรือนิ่งละเอียดพอที่จะเห็นแสงสว่างนั้นได้เท่านั้น แต่เมื่อเรานำพระเครื่องมากำสวดมนต์ภาวนาจนจิตนิ่งเบาสบายดีแล้ว ก็ย่อมจะสามารถเห็นแสงสว่างอันเกิดจากบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้


รวมทั้งแสงสว่างจากเทพพรหมทั้งหลายที่มาอนุโมทนากับบุญที่เราได้ทำ และแสงสว่างแห่งบุญบารมีอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระโพธิสัตว์ พระอริยสงฆ์ เทพพรหมทุกๆ พระองค์ ที่หลวงตาได้อธิษฐานจิตรวมลงสู่พระเครื่องของท่านได้


ทุกๆ ครั้งที่หลวงตาสวดบทพระคาถามหาจักรพรรดิ หรืออธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องต่างๆ นั้น ท่านจะอธิษฐานจิตรวมบุญบารมีอันไม่มีประมาณทั้งหมดส่งเป็นกระแสพลังเหนือพลังไปสู่พระเครื่องที่ท่านได้เคยสร้างไว้ทุกๆ องค์เสมอ ดังนั้นจึงเท่ากับว่าพระเครื่องที่ทุกท่านได้รับจากหลวงตาไปทุกๆ องค์นั้น ได้รับการอธิษฐานจิตปลุกเสกจากหลวงตาอยู่ตลอดเวลา


และหากหมั่นนำไปสวดมนต์ภาวนา ทำจิตให้เบาสบายดีแล้ว ก็อาจมีโอกาสได้เห็นแสงแห่งบุญบารมีนั้น ที่หลวงตาได้เมตตาอธิษฐานจิตไปสู่พระเครื่องทุกองค์ เพื่อคอยช่วยเหลือดูแลลูกศิษย์ลูกหาทุกคนทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยตาของตนเอง ดังมีลูกศิษย์หลายคนได้เคยพบเห็นและพิสูจน์แจ่มแจ้งมาแล้ว


กระแสบุญบารมีอันบริสุทธิ์สว่างไสว ที่หลวงตาได้เมตตาอธิษฐานจิตรวมลงสู่พระเครื่องของท่านทุกองค์นี้เอง ทำให้นอกจากจะใช้พระเครื่องของท่านในการปฏิบัติธรรมได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้แผ่บุญส่องสว่างชี้นำทางให้เหล่าภพภูมิต่างๆ ทั้งหลาย ที่ยังวนเวียนทุกข์ทรมานในโลกนี้ ให้ได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีมีความสุขมากขึ้น


รวมทั้งยังสามารถใช้โน้มนำให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย หรือเหล่าวิญญาณ ภูตผีปีศาจ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุต่างๆ ความทุกข์ยากลำบากชีวิต การเงินไม่คล่องตัว ฯลฯ ให้กลับกลายมาเป็นมิตรกับเรา มาร่วมช่วยสร้างบุญกุศลและบารมีกับเราต่อไปได้อีกด้วย ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไป


10.8.png



แก้วจักรพรรดิ (แก้วมณีนพรัตน์)

แก้วจักรพรรดิ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แก้วมณีนพรัตน์ นั้น สร้างมาตั้งแต่สมัยที่หลวงปู่ดู่ยังทรงขันธ์อยู่ โดยท่านใช้ปูนซีเมนต์ขาวผสมกับพระผงจักรพรรดิ ปั้นเป็นลูกกลมๆ เจาะรูทะลุตรงกลาง แล้วร้อยเชือกแจกเด็กๆ แถววัดสะแก เคยมีเหตุการณ์ที่เด็กแขวนลูกแก้วจักรพรรดิตกน้ำแล้วไม่จม ทำให้เป็นที่ต้องการของชาวบ้าน อีกทั้งว่ากันว่าขอได้ตามใจนึก จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ลูกแก้วสารพัดนึก


หลวงตาม้า เป็นผู้สืบทอดวิชาการสร้างพระผงจักรพรรดิ (พระผงกรรมฐาน) และลูกแก้วจักรพรรดินี้มาจากหลวงปู่ดู่ แต่เนื่องจากการทำลูกแก้วจักรพรรดิด้วยผงปูน ต้องใช้วิธีปั้นทีละลูก ใช้เวลาทำมาก และเนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถผลิตลูกแก้วสำเร็จ และหาซื้อได้ง่าย ลูกศิษย์จึงซื้อลูกแก้วเหล่านั้นมาให้หลวงตาอธิษฐานจิตให้เป็นลูกแก้วจักรพรรดิ


ซึ่งหลวงตาบอกว่า มีคุณสมบัติเหมือนกับลูกแก้วจักรพรรดิที่ทำจากผงปูนทุกประการ สามารถใช้แทนกันได้ ด้วยเหตุนี้ ลูกแก้วจักรพรรดิของหลวงตาจึงมีแบบชนิดที่เป็นผงปูนปั้นกับชนิดที่เป็นแก้วสำเร็จ


ลูกแก้วจักรพรรดินี้ สามารถนำมาใช้บูชาติดตัว ใช้กำเอา ช่วยภาวนาทำสมาธิ ใช้อธิษฐานเพื่อทำน้ำมนต์ หรือใช้ในการอธิษฐานเพื่อปรับภพภูมิก็ได้ เช่นเดียวกับพระผงกรรมฐานทุกประการ


ในกรณีของการใช้เพื่อปรับภพภูมิ ทำให้ผู้ที่ทำการแผ่บุญไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ บ่อย แต่จะใช้การวางลูกแก้วไว้ในสถานที่นั้นแทน แล้วอธิษฐานขอให้ลูกแก้วจักรพรรดิแผ่บุญออกไปเองโดยอัตโนมัติ เหล่าวิญญาณที่ประจำอยู่ตรงสถานที่นั้น หรือเร่ร่อนผ่านไปยังสถานที่นั้น เมื่อเห็นแสงแห่งบุญที่เปล่งออกจากลูกแก้ว ก็จะสามารถอนุโมทนาในบุญนี้ได้ตลอด


การวางลูกแก้วตามสถานที่ต่างๆ เพื่อปรับภพภูมิ จึงเป็นการสงเคราะห์โลกทั้งหลายไม่มีประมาณ และเมื่อมีการขยายพื้นที่ในการวางลูกแก้วจักรพรรดิกว้างขวางออกไปเพียงไร พื้นที่ในการแผ่บุญบารมีก็จะยิ่งกว้างไกลออกไปเพียงนั้น


10.2.png



design-mira1.jpg



การปฏิบัติน่ะ  ถ้าทำจริงนะไม่ยาก  ที่ยากน่ะไม่พากันทำ
(ให้สวด)  ก่อนนอน  ตื่นนอน  กินข้าว  อาบน้ำ
ใครจะใหญ่เกินกรรม


4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :

          คณะศิษยานุศิษย์หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ หลวงตาม้า วิริยธโร. ใครจะใหญ่เกินกรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๗, ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๕

บัณฑิตสามเณร

1.png


พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า...
“การฝึกฝนตนนั้นเป็นคุณธรรมอย่างสูง ฉะนั้น ควรที่ทุกคนควรเริ่มฝึกฝนตนได้แล้ว โดยวิธีการต่างๆ แล้วแต่ถนัด ขอให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นเป็นใช้ได้”

ดั่งมีใจความดำเนินเรื่องดังนี้คือ ในกาลอันล่วงมาแล้วช้านาน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า “กัสสป” มีพระขีณาสพสองหมื่นรูปเป็นบริวารได้เสด็จไปสู่กรุงสาวัตถี ชาวกรุงสาวัตถีได้ถวายอาคันตุกทาน รวมกัน ๘ คนบ้าง ๑๐ คนบ้าง ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อเสร็จจากภัตกิจแล้ว พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาว่า

“อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย คนบางคนในโลกนี้คิดว่า เราให้ของซึ่งเป็นของตนเองเท่านั้น ไม่ชักชวนผู้อื่น จึงให้ทานด้วยตนเองเท่านั้น เขาย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว

บางคนชักชวนคนอื่น ไม่ให้ด้วยตนเอง เขาย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว บางคนไม่ให้ด้วยตนเอง ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้บริวารสมบัติทั้งไม่ได้โภคสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว บางคนให้ด้วยตนเองบ้าง ทั้งชักชวนผู้อื่นบ้าง เขาย่อมได้ทั้งบริวารสมบัติ ได้ทั้งโภคสมบัติ ในที่ๆ ตนเกิดแล้ว”

ชายบัณฑิตคนหนึ่ง ซึ่งยืนฟังอยู่ในนั้น มีความประสงค์อยากได้ทั้ง ๒ อย่าง จึงกราบทูลขอนิมนต์พระองค์พร้อมด้วยบริวารสองหมื่นรูป เสด็จไปในเรือนของเขา จากนั้นเขาก็ป่าวประกาศให้ชาวเมืองได้รู้

ในเมืองนั้น มีชายยากไร้เข็ญใจอยู่คนหนึ่ง นามว่า “มหาทุคคตะ” ชายบัณฑิตนั้นจึงชวนเขาให้มาทำบุญร่วมกัน แต่มหาทุคคตะ กล่าวว่า “โอ......ไม่ไหวแล้วเพื่อนเอ๋ย การถวายทานนั้นเป็นหน้าที่ของคนมีทรัพย์ ส่วนเราซิ ! ข้าวจะกินเช้าเย็นก็ไม่มี แล้วเราจะเอาที่ไหนมาถวายแก่ภิกษุเล่า ไม่เอาแล้วเพื่อนยาก”

ธรรมดาผู้ชักชวนย่อมเป็นผู้ฉลาด ถึงทุกคนจะบอกปฏิเสธเท่าไหร่ ก็หาทางชักชวนจนได้ ดังว่า.. เพื่อนยาก...ชาวพระนครที่นอนสูง บริโภคอาหารที่ดีๆ เพราะเขาได้ทำบุญไว้แต่ชาติปางก่อน ส่วนเพื่อน ! หาเช้ากินเย็น ก็ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง นั้นแหละ...ขอให้เพื่อนรู้ไว้เถิด เพราะไม่ได้ทำบุญกุศลไว้แต่ชาติปางก่อนละ”

มหาทุคคตะ “ข้อนั้นเรารู้ดี”

ชายบัณฑิต “เมื่อรู้แล้ว ทำไมเพื่อนจึงไม่ทำตามเล่า ขณะนี้เพื่อนก็ยังหนุ่มๆ มีเรี่ยวแรงแข็งขัน แกทำงานรับจ้างแล้วให้ทานตามกำลังจะไม่ควรละหรือ”

มหาทุคคตะ เมื่อได้ยินคำพูดเช่นนั้น ก็เกิดความสังเวชสลดใจ เลยบอกชายบัณฑิตว่า ตนมีศรัทธาเลี้ยงอาหารแก่ภิกษุเพียงรูปเดียวเท่านั้น

ครั้นมหาทุคคตะไปสู่เรือนตนแล้ว พอบอกภรรยาของเขาก็มีความยินดี โดยมิได้ว่ากล่าวว่าสามีแต่ประการใด แต่กลับพูดว่า “เราทำดีแล้ว ชาตินี้เราทุกข์เข็ญใจ เห็นจะไม่ได้ทำบุญกุศลไว้แต่ปางก่อนกระมัง เอาเถอะ...เราทั้ง ๒ คน ไปทำงานรับจ้าง แล้วเอารายได้นั้นมาซื้ออาหารถวายแก่ภิกษุสักรูปหนึ่งเถิด”

ดังนั้น เขาจึงไปทำงานรับจ้างอยู่ในบ้านของเศรษฐี โดยไม่เลือกประเภทของงาน เศรษฐีจึงกล่าวว่า “ดีแล้ว...พรุ่งนี้เราจะเลี้ยงพระ ๒๐๐-๓๐๐ รูป ขอให้เธอมาผ่าฟืนให้แก่เราเถิด” ว่าแล้วก็มอบมีดและขวานให้ มหาทุคคตะขะมักเขม้นอย่างแข็งขันด้วยความอุตสาหะ คว้ามีด วางขวาน ทิ้งขวาน ฉวยมีด ผ่าฟืนไป ข้างฝ่ายภรรยาของเขาก็ไปทำงานรับจ้างในเรือนเศรษฐีเช่นเดียวกัน โดยทำการตำข้าว ซึ่งนางทำด้วยความยินดีร่าเริงยิ่ง

ด้านเศรษฐีและภรรยาเห็นความขยันขันแข็งของทั้งสอง ดังนั้นจึงเพิ่มรางวัลให้เป็นพิเศษ และเลื่อมใสที่เขาทั้งสองจะทำบุญเลี้ยงพระ จึงให้สินจ้างแก่พวกเขาไปมากมาย แล้วทั้งสอง เมื่อได้ค่าจ้างก็กลับมาสู่เรือน จัดแจงทานไว้สำหรับภิกษุ

ครั้นถึงรุ่งเช้า มหาทุคคตะจึงออกบ้านเพื่อเก็บผักตามประสาคนจน พร้อมทั้งร้องรำทำเพลงไปตามทาง เมื่อชาวประมงได้ยินเสียงก็จำได้ เรียกเขาเข้าไปหา แล้วถามว่า

“แกจะทำอะไร จึงได้ร่าเริงนัก” มหาทุคคตะ ตอบว่า “พรุ่งนี้...เราจะเลี้ยงพระหนึ่งรูป”  “เออ...ดีแล้ว พระที่เลี้ยงจักอิ่มไปด้วยผัก”

“โธ่ ! เพื่อนเอ๋ย...จักทำอย่างไรได้ ก็เรามันจนนี่นา” “ถ้าอย่างนั้น...ขอให้เพื่อนไปเอาปลากับเราก็แล้วกัน” ว่าแล้ว จากนั้นก็ร้อยปลาตะเพียนจำนวน ๔ ตัวให้ไป และก็ในวันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาเช้าตรู่ ก็เห็นมหาทุคคตะเข้าไปปรากฏในข่ายแห่งพระญาณ จึงทรงดำริว่า

“เหตุอะไรจักเกิดขึ้นหนอ ! ทรงทราบว่ามหาทุคคตะจักเลี้ยงภิกษุรูปหนึ่ง แต่หากเว้นจากเราเสีย มหาทุคคตะจักไม่ได้ภิกษุเลย” นั่นเป็นเพราะชายบัณฑิตข้างต้นไม่ได้ใส่ใจ เลยไม่ได้เขียนชื่อมหาทุคคตะว่าเป็นผู้ถวายทานแก่ภิกษุด้วยผู้หนึ่ง

“เอาเถอะ เราจักทำการสงเคราะห์ชายยากจนคนนี้” ดำริเสร็จแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงประทับอยู่ในพระคันธกุฏีนั่นเอง

ฝ่ายผู้จัดการทาน ได้จัดภิกษุส่งไปสู่เรือนของพวกชนเหล่านั้นๆ ตามความประสงค์ ครั้นพอถูกมหาทุคคตะทวนก็ได้สติขึ้นมาในขณะนั้นว่า “โธ่...ตาย! อย่าให้ฉันฉิบหายเลย ฉันลืมจริงๆ ขณะนี้ภิกษุก็จัดให้คนอื่นหมดแล้ว เอาอย่างนี้เถอะ...ขอให้คุณลงไปกราบทูลพระศาสดาในวิหารเถิด”

แล้วเขาก็รีบเดินดุ่มไปกุฏิโดยทันที ครั้นเมื่อถึงแล้วก็ได้กราบบังคมทูลว่า “พระเจ้าข้า...ขอพระองค์จงทำความสงเคราะห์แก่คนยากเถิด”

ฝ่ายพระราชาและยุพราชคอยทอดพระเนตรดูอยู่ ก็ได้เห็นพระศาสดามอบบาตรให้แก่มหาทุคคตะนำไป ชาวเมืองทั้งหลายเมื่อเห็นมหาทุคคตะได้บาตรของพระศาสดาไป ก็คิดอิจฉา จึงเข้ารุมล้อมขอบาตรจากเขา และต่างก็พูดว่า “มหาทุคคตะ! ขอให้ท่านจงรับเอาเงินหนึ่งแสน..สองแสน..สามแสนนี้เถิด เพราะท่านเป็นคนทุกข์ยาก”

มหาทุคคตะกล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่ให้ จะถวายภัตตาหารแด่พระศาสดา” ดังนั้นชาวเมืองต่างอ้อนวอนขอบาตรพระศาสดา เมื่อไม่ได้จึงกลับไปด้วยความผิดหวัง เมื่อมหาทุคคตะนำบาตรพระศาสดามาแล้ว ก็จัดแจงถวายอาหารแด่พระองค์ หลังจากนั้นเมื่อพระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงทำอนุโมทนา และเสด็จลุกจากอาสนะ โดยมีมหาทุคคตะตามส่ง

ชั่วอึดใจต่อมา ครั้นเขากลับมาสู่เรือนตนแล้ว ก็ปรากฏว่าภายในเรือนของตนเต็มไปด้วยแก้ว ๗ ประการ มหาทุคคตะจึงคิดว่า “โอ...ทานของเรา ให้ผลในวันนี้” จากนั้นเขาก็ได้กลายเป็นเศรษฐีในพระนคร และเขากับภรรยาก็ตั้งหน้าทำบุญมาเรื่อยจนสิ้นอายุ

เมื่อเขาจุติ (ตาย) แล้วก็ไปบังเกิดในแดนสวรรค์ ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ จนสิ้นพุทธันดรหนึ่ง แล้วจุติจากชาตินั้นมาถือปฏิสนธิในท้องของตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ ในกรุงสาวัตถี ลำดับนั้น นางจึงเกิดแพ้ท้องขึ้น คิดอยากถวายทานแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งมีพระสารีบุตรเถระเป็นประมุข เมื่อนางได้ถวายทานแล้ว ความแพ้ท้องก็ระงับไป ในขณะที่เด็กอยู่ในท้อง นางได้ทำการมงคลถึง ๗ ครั้ง

เมื่อครบกำหนดแล้ว นางก็คลอดตามสบาย ในวันตั้งชื่อ นางได้นิมนต์ภิกษุ ๕๐๐ รูป มีธรรมเสนาบดีเป็นประมุข เมื่อเสร็จจากภัตกิจแล้ว พระสารีบุตรจึงถามว่า “เด็กนี้ชื่ออะไร” หญิงตอบว่า “เมื่อเด็กนี้เกิดแล้วในเรือนนี้ คนตาบอด หูหนวกได้หายหมดพระเจ้าข้า”

พระสารีบุตรท่านจึงว่า ฉะนั้นควรชื่อ “บัณฑิต” พอบัณฑิตมีอายุได้ ๗ ขวบ ญาติพี่น้องก็ได้เอาไปมอบไว้กับพระสารีบุตรเถระ เพื่อให้บวชในสำนักของท่าน พระสารีบุตรก็ได้บวชให้ตามความประสงค์ หลังจากบัณฑิตบรรพชาแล้ว ก็ได้ตั้งใจบำเพ็ญความเพียร ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตผลตั้งแต่อายุได้ ๗ ปี

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หนังสือโลกลี้ลับ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐: ภักดี เรียบเรียง. หน้า ๗๔-๗๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๔

ธรรมดาของชีวิต เป็นเช่นนั้นเอง
1.png



พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า... บรรพชิตก็ตาม ฆราวาสก็ตาม ผู้หญิงก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า

๑. เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้


๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้


๔. เราจะต้องพลัดพรากจากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รักที่พอใจทั้งหลายทั้งปวงเป็นธรรมดา ไม่อาจล่วงพ้นไปได้


๕. เรามีกรรมเป็นของของตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม (หมายความว่าต้องรับมรดกกรรมที่เราทำไว้), มีกรรมเป็นแดนเกิด, มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์, มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย, บุรุษก็ตาม, สตรีก็ตาม ทำกรรมอันใดไว้ก็จักได้รับผลแห่งกรรมนั้น


สัตว์
ผู้มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดาไม่อาจล่วงพ้นไปได้ เป็นการบอกสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเมื่อไรยังเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่ถ้าปฏิบัติตามหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จักพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตายไปได้

แต่ในระหว่างที่เรายังวนเวียนอยู่ในความแก่ ความเจ็บ และความตาย ความพลัดพรากสูญเสีย และความที่จะต้องเป็นผู้มีกรรม ได้รับผลของกรรม ยังไม่สามารถจะอยู่เหนือกรรมได้ เราก็ควรทำชีวิตให้มีคุณภาพ แก่ก็แก่อย่างมีคุณภาพ

ถึงเวลาเจ็บก็เจ็บอย่างมีสติสัมปชัญญะ เจ็บอย่างเอาความเจ็บมาเป็นเครื่องมือพัฒนาคุณธรรม โรคทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่เรา ไม่ได้เกิดขึ้นแก่เราคนเดียว เกิดขึ้นแก่คนอื่นด้วย ลองไปดูเถอะที่โรงพยาบาล มันต้องมีเพื่อนร่วมเจ็บกับเราอยู่


ดังนั้นในทางศาสนาจึงบอกให้มีจิตเกื้อกูลต่อกัน มองดูกันในฐานะเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย พอคิดได้อย่างนี้ ความอาฆาตพยาบาท ความเกลียดชัง ความรู้สึกไม่ดีๆ อะไรต่างๆ ถึงจะไม่หายไปหมด มันก็ลดลงไป เพราะเห็นเขาเป็นเพื่อนเราในฐานะหนึ่ง ฐานะเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน ก็ต้องพลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่รักที่พอใจ

นึกถึงความสูญเสียทีไร ก็ให้นึกถึงพระพุทธเจ้าไว้บ่อยๆ ว่า ท่านเสียสละราชสมบัติออกมาบวช ไม่ได้ยึดว่าอะไรเป็นของพระองค์เลย เมื่อมาบวชแล้วก็จาริกไปในที่ต่างๆ แบบอนาคาริกมุนี เป็นมุนีผู้ที่ไม่มีเรือน ไม่มีอะไรเป็นของพระองค์เลย วัดเชตวันที่เขาสร้างถวายก็ถวายสงฆ์ วัดเวฬุวันที่พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวายก็ถวายพระสงฆ์ วัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนาเขาถวายสงฆ์ ไม่ได้ยึดถือเป็นของพระองค์ ไม่มีอะไรเป็นของพระองค์เลยแม้แต่น้อย

ก็เป็นเรื่องที่เป็นกำลังใจให้กับพวกเราที่เป็นชาวพุทธว่า ท่านมีถึงขนาดนั้นแล้ว ท่านยังสละออกมาเป็นผู้ไม่มี แล้วอย่างเราๆ นี่จะมีอะไรสูญเสีย มันเหมือนกับว่าเทียบกับท่านแล้ว มันเทียบกันไม่ได้เลย ถึงเราจะรู้สึกว่ามันเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่สำหรับเรา เมื่อนึกถึงท่านแล้วขี้ปะติ๋วเหลือเกิน คือมันเล็กน้อยเหลือเกินในสิ่งที่เรารู้สึกสูญเสียหมดแล้ว หรือสูญเสียมากมายอะไรอย่างนั้น

ความรู้สึกต่างๆ ของคนเรา ความรู้สึกทุกข์ก็ตาม ความรู้สึกเศร้าโศก ความรู้สึกได้มาต่างๆ ก็ตาม มันอยู่ที่ความรู้สึก มันไม่ได้อยู่ที่สิ่งได้มา หรือสิ่งที่สูญเสียไป ถ้าเป็นมหาวีรสตรี มหาบุรุษ อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่สูญเสียไปที่คนอื่นรู้สึกว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับบุคคลเช่นนั้นไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อะไรเลย เพราะไม่มีอะไรจะสูญเสีย เพราะไม่ได้ยึดถืออะไรว่าเป็นของตน เป็นแต่เพียงอาศัยใช้ชั่วคราว ตอนที่มีชีวิตอยู่ เพราะในที่สุดเราก็ต้องละสิ่งทั้งปวงไป

ฉะนั้นให้พิจารณาถึงกรรมให้มากๆ ในชีวิตประจำวัน เราทำกรรมทุกวัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มีเจตนาที่จะทำกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง เพียงแต่คิดมันก็เป็นกรรมแล้ว กรรมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว มันมากมายเหลือเกินในแต่ละวันๆ สลับซับซ้อนกันอยู่ในจิตของเรา สะสมมานานหลายแสนปี หลายล้านปี ในสังสารวัฏที่ยาวนี้


เพราะฉะนั้นให้นึกถึงกรรมว่า เราจะต้องเป็นไปตามอำนาจของกรรม แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้ พยายามเปลี่ยนแปลงให้มันดี กรรมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แล้วแต่เราจะทำ แล้วแต่เราจะเปลี่ยนแปลงให้มันเป็นอย่างไร เพราะมันไม่เที่ยง ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยให้ดี มันจะเปลี่ยนไปในทางดี ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยไม่ดี มันจะเปลี่ยนไปในทางไม่ดีเช่นกัน

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หนังสือธรรมดาของชีวิตเป็นเช่นนั้นเอง: มูลนิธิดวงแก้ว ในพระสังฆราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. วศิน อินทสระ เรียงเรียง. สิงหาคม ๒๕๔๙ (พิมพ์ครั้งที่ ๔) หน้า บทสรุป ๑๘๗-๑๙๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๓

อภัยทาน

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป

(วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่)

1.png



คนที่ไม่เคยทำบุญ เขาก็ทำบุญไม่ได้ เพราะไม่มีศรัทธาที่จะบริจาคทาน เขาไปกราบพระเฉยๆ ส่วนคนที่เคยทำบุญก็ได้แค่การทำบุญเท่านั้น แต่เขาก็ยังรักษาศีลไม่ได้ เราก็ต้องศึกษา คนที่เคยรู้จักทำบุญไว้แล้วก็มารักษาศีลด้วย ก็ได้แค่ทำบุญและรักษาศีลเท่านั้น แต่ยังไปนั่งสมาธิภาวนาไม่ได้ เราก็ควรทำความเข้าใจภูมิปัญญาของแต่ละคน

คนที่เริ่มต้นฝึกหัดนั่งภาวนาทำสมาธิใหม่ๆ เราก็ต้องรู้จักภูมิของเขา คนที่นั่งสมาธิดีแล้วเราก็ควรรู้จักคนกำลังลำเลียงปัญญาพิจารณาเรื่องกิเลส เรื่องธรรมะ ก็ควรที่จะฝึกเราให้รู้ภูมิของเขา ไม่ต้องขัดข้องต่อซึ่งกันและกัน เพราะความสามารถแต่ละบุคคลย่อมไม่สม่ำเสมอกัน การที่จะสม่ำเสมอกันได้ต้องขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในขั้นเดียวกัน

คนที่ปฏิบัติได้ขั้นเดียวกัน สมมุติว่าคนทำบุญก็รู้จักว่าทำบุญ แล้วมีความสุขแค่ไหน คนรักษาศีลได้เป็นผู้มีศีลภูมิใจในศีลของตนแค่ไหน จะรู้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องถามใคร คนนั่งเจริญเมตตาภาวนาจิตใจสงบเป็นสมาธิ จะรู้ตนเองว่าจิตเป็นสมาธิมีความสุขแค่ไหน คนที่มีสติปัญญาว่องไวเฉลียวฉลาด ดูกิเลสในหัวใจของตนเองและชำระกิเลสออกไปได้ จะทำให้ตนเองมีความสุขแค่ไหน ทุกคนย่อมรู้ได้ด้วยตนเอง

“พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมะสิ่งที่ควรรู้ ควรตรองตามเห็นเป็นจริงได้ตามสภาวะของธรรม พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสั่งสอนสิ่งที่ไม่มี ไม่สามารถที่จะรู้ได้ หากเรามีความสามารถรู้ได้แค่ไหน เราก็ได้ความสุขแค่นั้น”

บัดนี้ พวกเราก็ต้องพากันตั้งใจ เพื่อจะให้อภัยทานแก่คนที่มีภูมิปัญญาต่ำกว่าตน หากคนที่มีภูมิปัญญาสูงกว่าเรา เราก็ไม่ต้องอิจฉาเขา เพราะเขาเรียนได้สูงกว่าเรา ปฏิบัติได้ดีกว่าเรา เราก็ควรที่จะรู้ตนเอง ท่านจึงให้รู้ตนเอง ไม่ให้ยกตนข่มท่าน หรือไม่ให้อ่อนน้อมถ่อมตนจนเกินไป ตรงนี้สิเป็นเรื่องของกิเลสทั้งนั้นเอง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่. ธรรมสาระ เล่มที่ ๒๑ "ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ" ถาวร-กิ่งแก้ว ไชยคุปต์ รวบรวม. ๒๕๔๐-๒๕๔๒. หน้า ๖-๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๒

มหาสติปัฏฐานสูตร

หลวงพ่อกิตติศักดิ์ กิตติสาโร

(วัดป่าหนองหลุบ จ.ขอนแก่น)

1.png



สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งเป็นสภาพของการปรุงแต่งที่เกิดขึ้นกับปัจจุบันที่จิตนั้นได้สัมผัสรับรู้อยู่ทุกขณะทุกขั้นตอนว่า นี่คือ ธรรมะที่เป็นขันธ์ ๕ ซึ่งย่อลงมาเหลือ ๒ คือ รูปกับนามเท่านั้น

พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติในแบบวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งท่านย่อลงมาเหลือ ๒ คือ รูปกับนาม ว่าอารมณ์วิปัสสนานั้นมีอยู่ ๖ อย่าง


อารมณ์วิปัสสนา มี ๖ ชนิด เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ ก็มี ขันธ์ ๕, อายตนะ ๑๒, ธาตุ ๑๘, อินทรีย์ ๒๒, อริยสัจ ๔, ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ อันนี้เป็นอารมณ์วิปัสสนา คือ สิ่งที่ต้องกำหนดรู้ให้ทันปัจจุบัน อันนี้เป็นอารมณ์วิปัสสนาภูมิ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมฝ่ายวิปัสสนาจะต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคืออารมณ์สมถะ อะไรคืออารมณ์วิปัสสนา

อารมณ์สมถะ ซึ่งเป็นความสงบ มีอยู่ ๔๐ กองชนิด เรียกว่า กรรมฐาน ๔๐ ก็มี
กสิณ ๔๐, อสุภะ ๑๐, อนุสติ ๑๐, อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑, พรหมวิหาร ๔, จตุธาตุววัตฐาน ๑, อรูปฌาน ๔

เมื่ออาตมาได้เห็นและได้รู้ในสิ่งที่เป็นนิมิตเครื่องหมายก็มาพิจารณาทางธรรมใน จุลลสุญญตาสูตร เกี่ยวกับเรื่องความว่างอย่างเบา มหาสุญญตาสูตร ความว่างอย่างยิ่ง ในมหาสติปัฏฐานสูตร และในธาตุกรรมฐาน ในพระธรรมที่เป็นพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้

เช่นแสดงให้กับพระราหุลว่า……..ดูก่อนราหุล เธอจงครองธาตุดินดยความเป็นอนัตตา อย่าครองธาตุดินด้วยความเป็นอัตตาเลย เธอจงครองธาตุน้ำ ด้วยความเป็นอนัตตา อย่าครองธาตุน้ำด้วยความเป็นอัตตาเลย เธอจงครองธาตุลมด้วยความเป็นอนัตตา เธอจงอย่าครองธาตุลมด้วยความเป็นอัตตาเลย เธอจงครองธาตุไฟด้วยความเป็นอนัตตา เธอจงอย่าครองธาตุไฟด้วยความเป็นอัตตาเลย

อันนี้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้กับพระราหุล ก็คือ ทรงแสดงเรื่องความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตน ความว่างเปล่าจากตัวตนในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นรูปที่ประชุมกันใหญ่ เรียกว่า รูปใหญ่ๆ มีธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม


และในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในหมวดต่างๆ เรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เข้าไปพิจารณาเห็นกายว่า ที่จริงในอิริยาบถทั้งหลายตั้งแต่ อานาปานสติ ซึ่งเป็นหมวดลมหรือหมวดกายก็ดี ลมหายใจก็เป็นเพียงสักว่าเป็นธาตุลม เพราะในการสรุปข้อสุดท้ายแต่ละหมวดที่พระองค์ทรงสรุปไว้ คือ

เธอเป็นเพียงมีสติที่อาศัยเป็นเครื่องอาศัยระลึก มีสัมปชัญญะเป็นเครื่องรู้ แต่เธอจะต้องไม่ติดอยู่ เธอจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในโลกเลย ก็มองเห็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของกายก็ดี เป็นธรรมชาติที่ไม่ควรยึดมั่น ว่างเปล่าจากตัวตน เห็นเวทนาก็ดี ทั้งทุกข์ เฉยก็ดี ว่างเปล่าจากตัวตน จิตก็ดี เป็นธรรมชาติว่างเปล่าจากตัวตน แม้ธรรมก็ดีเป็นของว่างเปล่าทั้งนั้น ไม่มีตัวตนในกาย เวทนา จิต ธรรม ในอิริยาบถทั้งหลายและในสติปัฏฐานทั้งหมด เป็นเพียงธรรมะเท่านั้น ซึ่งธรรมะไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

เพราะฉะนั้น แม้การพิจารณาลมหายใจ อาตมาก็พิจารณาดู ออ…ลมหายใจอยู่ในจุลลสุญญตาสูตร มหาสุญญตาสูตรก็ดี พระองค์ทรงตรัสว่า


เธอจงเป็นผู้ไม่มีนิมิต อยู่ในดิน อยู่ในป่า อยู่ในบุคคล อยู่ในสัตว์ เป็นผู้มีสติอยู่กับลมหายใจ เธอชื่อว่าเป็นผู้ก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง บัดนี้เราว่างจากสัตว์ จากบุคคล จากบ้าน จากเรือน จากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ แต่ไม่ว่างอยู่ธาตุเดียวคือ ภาวะของลม นั่นคือ การก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง จนกระทั่งสุดท้ายก็ว่างเปล่าไม่มีตัวตน

เพราะฉะนั้นในธาตุดิน ธาตุน้ำ ก็เป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่า ว่างเปล่าจากตัวตน ไม่มีตัวตนในสิ่งที่เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นคือธรรมชาติที่เป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรมก็คือ จิตใจ มโน วิญญาณเหล่านี้เป็นพยัญชนะที่เรียกตามกัน แต่ความหมายก็คือ ธรรมชาติรู้ ธาตุรู้


ธาตุรู้เป็นนามธรรม สิ่งที่ถูกรู้ก็เป็นเพียงรูปธรรม นามธรรมก็ว่างเปล่าจากตัวตนในธาตุรู้ สิ่งที่ถูกรู้รูปธรรมที่ประชุมกันอยู่เท่านั้น ทั้งผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ต่างว่างเปล่าทั้งนั้น นั่นคือ ธรรมชาติที่เป็น สุญตา

สุญตา คือ ความว่าง ที่มีอยู่ในความมี และไม่เป็นอะไรที่ไม่มี จะเป็นคนเป็นสัตว์ มันมีอยู่ในสภาวะที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเพียงรูปธรรมและนามธรรมอาศัยซึ่งกันและกัน เกิดดับเท่านั้น จิตใจก็จะดำเนินอยู่ในสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นถูก


พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ คือ การแจกแจงเกี่ยวกับเครื่องสืบต่อที่มีอยู่ในชีวิตของเรา คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสัมผัส ใจกับอารมณ์ทั้งหลาย ถ้ามองเห็นว่าอายตนะทั้งภายนอกและภายในเป็นรูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น

มีความเห็นอย่างนี้ชื่อว่า เป็นความเห็นถูก เป็นสัมมาทิฏฐิ เห็นถูกหยั่งลงชื่อว่า เป็นผู้มีความดำริถูก เมื่อมีความดำริถูก วาจาก็ย่อมพูดถูก การกระทำก็ย่อมทำถูก ความเป็นอยู่หรือสัมมาอาชีพ ความผ่องแผ้วของใจก็จะถูกต้อง ฉะนั้น ความเพียรสัมมาวายามะก็จะถูก สติที่ระลึกก็จะเป็นสติที่ถูกต้อง สมาธิความตั้งมั่นของจิตก็จะเป็นความถูกต้องของจิต เรียกว่า สัมมาสมาธิ

เมื่ออริยมรรคมีองค์แปดเจริญขึ้นอย่างนี้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ของสัตว์นั้นย่อมบริสุทธิ์หมดจด ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ยิ่งด้วยปัญญา ก็คือ กำหนดรู้ทุกขอริยสัตว์ ได้แก่

อุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ หรือยึดมั่นในรูปในนามว่าเป็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ละธรรมที่ควรละยิ่งด้วยปัญญาอันชอบ ก็คือ อวิชชาตัณหา ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทำความเจริญยิ่ง ได้แก่ สมถวิปัสสนา ผู้นั้นชื่อว่าได้กระทำให้แจ้งซึ่งธรรมะที่ควรทำให้แจ้งอย่างยิ่งด้วยปัญญา เรียกว่า วิชชา หรือ วิมุตติ คือ ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้

เพราะฉะนั้นบุคคลผู้มีความเห็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้เจริญอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปด เมื่อบุคคลเจริญอยู่ในอริยมรรคมีองค์แปดถูกต้อง ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ดำเนินไปใน โพธิปักขยธรรม ๓๗ ประการ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง คือ ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘ ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย อันนี้คือ สิ่งที่เป็นธรรมะ


เมื่อย่อลงมาเหลือสอง คือ รูปกับนามที่ว่างเปล่าจากตัวตน เป็นการดำเนินอยู่ในธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่ไม่ติดกับรูป ไม่ติดกับเสียง ไม่ติดกับความประพฤติที่เศร้าหมอง ไม่ติดกับพระธรรม ไม่ติดกับธรรมะ แม้มีธรรมะก็เป็นสักว่าเป็นธรรม เพราะธรรมะทั้งปวงเป็นของว่างจากตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
           • “หลวงพ่อกิตติศักดิ์ กิตติสาโร ผู้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนา” โลกทิพย์ ๔๐๔ ปีที่ ๒๓ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖: กองบรรณาธิการ เรียบเรียง. หน้า ๓๐-๓๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๑

เทคนิคการฝึกสมาธิ

พระอาจารย์โชติ อาภัคโค

(วัดภูเขาแก้ว จ.อุบลราชธานี)

1.png



เมื่อประมาณเดือนสองเดือนก่อนได้มีโอกาสฟังธรรมจาก พระอาจารย์โชติ อาภัคโค แห่งวัดภูเขาแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี มีคำพูดประโยคหนึ่งซึ่งรู้สึกสะดุดใจ คือท่านบอกว่า “ความสงบจะเกิดได้ ต้องไม่รำคาญ”

ท่านบอกว่า ความรำคาญมันจะเป็นอุปสรรคอย่างสำคัญที่กั้นใจไม่ให้สงบ
ฉะนั้น ในเมื่อเราเริ่มฝึกสมาธิก็จงกำหนดให้แน่วแน่อยู่กับอารมณ์กรรมฐาน อย่าปล่อยใจให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปกับอารมณ์อื่นใด จนใจเกิดความรำคาญ


ในขณะที่ฝึก สมมติว่ามีเสียงดังเข้ามารบกวน เราก็ต้องทำใจให้ได้ คือไม่รำคาญไปกับเสียงนั้น ถ้าเสียงดังเข้ามากระทบหู แล้วเรารู้สึกรำคาญไปกับเสียงนั้นด้วย ใจมันก็จะหลุดจากอารมณ์กรรมฐาน แล้วไปเกาะอยู่กับเสียง ทำให้เสียสมาธิ


ฉะนั้นเวลาทำสมาธิ ถ้าจะให้ได้ผลก็มีความจำเป็นอย่างเหลือเกิน ที่จะต้องปล่อยวางความรำคาญให้ได้ ซึ่งข้อนี้อาจจะยากหน่อย สำหรับคนที่รำคาญเก่งๆ แต่ถ้าเราอยากจะเอาดีทางฝึกสมาธิ ถึงยากก็จะต้องยอม

พยายามฝึกปล่อยวางความรำคาญน้อยลง และก็เลิกรำคาญไปเองในที่สุด ข้อสำคัญ ขอให้ฝึกทำบ่อยๆ เวลาเสียงดังๆ อะไรเข้ามารบกวน ก็จงทำใจให้เป็นปกติ อย่างหลงรำคาญไปกับมัน จงทำใจให้เป็นปกติเข้าไว้ ใจก็จะเข้าถึงความสงบได้ไม่ยาก และนี่ก็คือเทคนิคการฝึกสมาธิอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งได้มาจากพระอาจารย์โชติ อาภัคโค แห่งวัดภูเขาแก้ว

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • โลกลี้ลับ ฉบับที่ ๖๘ ประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๓๓. หน้า ๑๐๖.
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๐

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงปู่ยิด

หลวงปู่ยิด จันทสุวัณโณ

(วัดหนองจอก จ.ประจวบคีรีขันธ์)

1.png



เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลวงปู่ยิด คือ หนึ่งปีท่านอาบน้ำครั้งเดียว และเป็นการอาบน้ำที่ค่อนข้างพิสดารคือ ท่านชอบให้ลูกศิษย์ญาติโยมผู้ศรัทธานำแปรงลวดมาด้วย และนำมาขัดถูกายของท่านแรงๆ ยิ่งแรงยิ่งดี

หลวงปู่ยิดจะยิ้ม จะหัวเราะถูกใจ หากศิษย์ถูตัวท่านด้วยแปรงลวดอย่างรุนแรง บางครั้งแรงจนขนแปรงลวดหลุดออกมาเป็นขุยๆ แต่ท่านหัวเราะบ้าง ยิ้มบ้าง ให้พรบ้าง ถูกอกถูกใจท่านยิ่งนัก!

ผู้ที่มาอาบน้ำหรือสรงน้ำให้ท่าน ไม่ใช่มีคนเดียว ทยอยมากันเป็นร้อยๆ พันๆ คน คนแล้วคนเล่าที่มาขัดถูผิวกายของท่านด้วยแปรงลวดทองเหลือง

“ระวังหลวงพ่อเจ็บ!” บางคนเอ่ยขึ้นเพราะเพิ่งมาใหม่…

“อ๊ะ! ไม่เป็นอะไรหรอกโยม!”


“หลวงปู่ยิด กล่าวยิ้มๆ แรงๆ ยิ่งดี...หนึ่งปีครั้ง ใครไม่ขัดต้องรอปีหน้า!”


“ยิ่งขัดแรงๆ ยิ่งได้บุญ…โยมขัดแรงๆ ไม่ต้องเกรงใจอาตมา”


“หลวงพ่อ…อาบน้ำ…สรงน้ำ ขัดด้วยแปรงลวดนี้ เป็นปริศนาธรรมหรือเปล่าครับหลวงพ่อ! ?”  บางคนถามอย่างสงสัย

“คิดเอาเองซิ…..โยม!” หลวงปู่ยิดกล่าวด้วยอารมณ์ดี


บางคนคิดว่าเป็นปริศนาธรรม พลางพูดกับพวกตนเองว่า

“พวกเราไม่ควรนำเอาแปรงลวดขัดหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อหมดกิเลสแล้ว แต่พวกเราน่าจะขัดตัวพวกเราเอง….”


“ใช่ซิ! พวกเรามันพวกกิเลสหนา….ต้องขัดแรงๆ กิเลสถึงจะหลุด!” บางคนคล้อยตาม บางคนพูดออกทะเล้นว่า….“ก่อนกิเลสจะหลุด…หนังกำพร้ามันจะหลุดไปหมดก่อนนะนา!” เรียกเสียงฮาได้พอสมควรทุกๆ ปี

ที่น่าประหลาดคือ หลังจากอาบน้ำแล้ว หลวงพ่อจะมีวรรณะผุดผ่องมากขึ้น มีร่างกายแข็งแรงมากขึ้น…กล่าวว่า ถ้าเป็นคนทั่วไป คนเอาแปรงลวดมาขัดคนแล้วคนเล่ากว่าจะหมดคน เลือดคงแดงทั้งตัว ส่งโรงพยาบาลได้เลย

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
        • เจดีย์ทอง เรียบเรียง. หน้า ๓๕.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

พระมหาทองอินทร์.JPG


ตอนที่ ๔๙

ธรรมจากหลวงพ่อ

พระนพีสีพิศาลคุณ

(วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่)

1.png



หากเกิดนิมิต อย่าให้จิตกลัว จงพิจารณาว่า นิมิตกับจิตนี้ มิใช่อันเดียวกัน จิตอันหนึ่ง นิมิตอันหนึ่ง พยายามรักษา อย่าให้หลงนิมิต ถ้าจะดับนิมิต ให้บริกรรม (พุทโธ)

กาลัญญุตา รู้จักกาล ทำตามเวลา
ทำถูกเวลา ทำทันเวลา ทำตรงเวลา


รักชาติ คือ รักอย่างไรจึงจักเรียกว่า รักที่ถูก รักชาติต้องรักคน รักของ และรักระเบียบฯ


บุญ ย่อมเจริญทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ แก่ชนผู้สร้างวัดวาอาราม ปลูกสวนไม้ดอก ไม้ผล ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา สร้างสะพาน สระน้ำ บ่อน้ำ และบ้านเรือนที่พักอาศัยให้เป็นทาน

ศีล ยังประโยชน์ให้สำเร็จตราบเท่าชรา ศรัทธาตั้งมั่นแล้วยังประโยชน์ให้สำเร็จ ปัญญาเป็นรัตนะของคนทั้งหลาย บุญอันโจรลักไปไม่ได้

พวกหมู่เกวียน พวกโค ต่างเป็นมิตรของคนเดินทาง มารดาเป็นมิตรในเรือนของตน สหายเป็นมิตรของคนมีธุระเกิดขึ้นเนืองๆ บุญที่ตนเองบำเพ็ญแล้วเป็นมิตร ติดตามตนไปในโลกหน้า บุตรเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทั้งหลาย ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง เหล่าสัตว์ที่มีชีวิตอาศัยอยู่พื้นแผ่นดินอาศัยฝนเลี้ยงชีพอยู่

ตัณหายังคนให้เกิด จิตของคนนั้นย่อมพล่านไป สัตว์ย่อมเวียนว่ายในสงสาร ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของคน กรรมเป็นที่พำนักของสัตว์ทั้งหลาย ศรัทธาเป็นเพื่อนของคน ปัญญาย่อมปกครองคน สัตว์ยินดีในนิพพานก่อนพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ ชื่อย่อมครอบงำสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงที่ยิ่งขึ้นไปยิ่งกว่าชื่อไม่มี สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ชื่อ

โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ จิต โลกอันตัณหาย่อมนำไป อันตัณหาย่อมเสือกไสไป โลกทั้งหมดย่อมเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่งคือ ตัณหา

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • พระนพีสีพิศาลคุณ: อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ: คณะศิษยานุศิษย์ เรียบเรียง, ๒๕๔๘. หน้า ๗๘-๗๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 04:10 , Processed in 0.098340 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.