แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

รวมบทความพระอริยะ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๓

หลักคำสอนของหลวงปู่มอก


1.png



หลวงปู่มอก กล่าวว่า... “อะไรก็ตามแต่ข้อสำคัญอยู่ที่ใจเราเอง เราทุกข์ เราสุข เราไม่ทุกข์ เราไม่สุข ก็เพราะใจเราเอง”

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก็เพื่อให้เราได้ปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์กัน ทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะใจปรุงแต่งให้มันเกิด ต้องการให้ทุกข์มันดับ มันสิ้นไป ก็ต้องดับทุกข์อยู่ที่ใจ”

เมื่อมันอยู่ที่ใจ ไม่ว่าจะไปพำนักอยู่แห่งใดตำบลใด ก็สามารถตัดทุกข์ที่ใจได้ แต่ถ้าเลือกสถานที่ได้ซึ่งปลอดพ้นจากเสียงรบกวนใดๆ จิตใจก็นิ่งอยู่ในอาการสงบได้ เมื่อเรียบสงบ พลังจิตก็มีเพิ่มขึ้น ยิ่งสงบมากเพียงใด พลังจิตก็มีเพิ่มมากขึ้นเพียงนั้น เป็นเงาตามตัว

พลังจิตที่ว่านี้ ก็คือตัวสติปัญญานั่นเอง ความสงบเย็นตามธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนานั้น คือ ความสงบที่แท้ ที่ถูกต้อง เพราะว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็ง เกิดอำนาจ และเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ เป็นทางที่จะทำให้โลกเจริญอย่างแท้จริง  


ขอให้ดูที่องค์พระพุทธเจ้าก็จะเห็นได้ว่า ก็เพราะท่านอาศัยอำนาจแห่งความสงบเย็นในทางใจ พระองค์จึงสามารถทำงานได้ด้วยความองอาจกล้าหาญ และเข้มแข็งได้ตลอดเวลาจนกระทั่งถึงวินาทีแห่งการปรินิพพาน

ธาตุแท้ของความสงบเย็น คือการเกิดสติปัญญาที่สูงกว่าทิฐิ สามารถรู้แจ้งเห็นจริงว่า สรรพสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นไปตาม “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ล้วนแต่เกิดจากเหตุและปัจจัยปรุงแต่งกันทรงอยู่ชั่วขณะเท่านั้น หาสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรเป็นไม่มี ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว ที่เขาพูดว่า สิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอนถาวร คือลักษณะอาการของความไม่เที่ยงแท้แน่นอนถาวรของสรรพสิ่ง


ขอให้ย้อนไปดู โบราณวัตถุโบราณสถาน หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในชั่วอายุราวพันปีหรือร้อยปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่คงความมีศิลปะวิจิตรงดงาม ประณีต คงทนถาวร อยู่ในชั่วขณะที่ยาวนาน นั่นเป็นเพราะคนโบราณเขาทำไปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ทำไปด้วยความสงบเยือกเย็นในทางใจ ทำไปด้วยความสงบเยือกเย็นทางกาย ไม่ได้ทำไปด้วยความเร่าร้อนทะเยอทะยานอย่างคนสมัยนี้

ดังนั้น ความสงบเยือกเย็นในทางใจเท่านั้น เป็นสิ่งเดียวที่จะก่อให้เกิดพลังอย่างมหาศาล ในการอำนวยประโยชน์ให้สำเร็จโดยประการทั้งปวง “ความสงบ” นี่แหละ เป็นหัวใจเป็นแก่นสารที่สำคัญของชีวิต หากชีวิตใดไม่มีสิ่งนี้ ชีวิตนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีแก่น เหมือนต้นไม้ประเภทที่ไม่มีแก่น ซึ่งย่อมไม่ค่อยมีคุณค่าต่อการทำประโยชน์ จุดปลายทางที่แท้จริงของชีวิต ก็คือความสงบ ยอดของความสุขยอดแห่งความสงบ คือนิพพาน

พระพุทธองค์ ตรัสไว้ว่า “ธรรมที่ตถาคตแสดงนั้น เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับเย็นสนิท เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความรู้ครบถ้วน นี่แหละ ที่ไหนๆ ก็ทำได้ ใครๆ ก็ทำใจให้สงบได้ เพราะความสงบอยู่ที่ใจ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่จะเริ่มต้นทำเท่านั้น”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • หนังสือโลกลี้ลับ ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๓๕ ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๐: ภักดี เรียบเรียง. หน้า ๗๐, ๗๘-๗๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

หลวงพ่อเกษม๒.JPG


ตอนที่ ๔๒

เทศนาปาฏิหาริย์ของหลวงปู่

หลวงพ่อเกษม เขมโก

(สำนักปฏิบัติธรรมสุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง)

1.png



การแสดงพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ครูบาเจ้าเกษม เขมโก ในวันวิสาขบูชา ปี พ.ศ.๒๕๓๕ (๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕) นับว่าเป็นเทศนาโดยแท้

โดยหลวงปู่เทศนาเป็นใจความว่า “การสวดพระปริตร เช่น โมรปริตรนั้น ได้ผลทางสะเดาะเคราะห์การช่วยชีวิต การแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทุกชนิด แต่ถ้าคนหรือสัตว์นั้น ถึงคราวชะตาขาด เพราะกรรมหนักมาส่งผลแล้ว พระปริตรก็ช่วยไม่ได้

“หลายภาพ” ของสิ่งต่างๆ อันเป็นของศักดิ์สิทธิ์นั้นมีอยู่จริง ก็ช่วยใครต่อใคร ยกเว้นแต่ถึงคราว “ชะตาขาด” ก็ช่วยไม่ได้

ถ้าใครพูดว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยอะไรใครไม่ได้ เป็นของไม่มีจริง อย่างนี้ถือว่าพูดผิด เพราะยังไม่รู้จริง”

หลวงปู่เทศน์ว่า….


“ความศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง ดุจดังพ่อและแม่รักลูก และป้องกันลูกน้อย มิให้มีภัยมาเบียดเบียน แต่เมื่อลูกโตขึ้นเป็นหนุ่ม ประพฤติพาลเกเร ปล้นสะดมฆ่าคนตาย และถูกจับประหารชีวิตอย่างนี้ พ่อแม่ก็ช่วยไม่ได้”

เทศนาของหลวงปู่ครั้งนี้ดีแท้ ย่อมเป็นอุทาหรณ์เป็นอย่างดีแก่วงการพระเครื่องและเครื่องมงคลต่างๆ และได้คำตอบที่ชัดแจ้ง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • โลกลี้ลับ ๙๗ ปีที่ ๑๐ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๓๖: เจดีย์ทอง เรียบเรียง. หน้า ๒๘-๒๙.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๑

กามกิเลสอนุสัย

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

(วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)

1.png



เตือนสติให้สังวรเอาไว้ เมื่อ “อันตราย” นี้มาถึงตัวผู้พากเพียรบำเพ็ญธรรม

ครั้งหนึ่ง….หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้จาริกธุดงค์ ไปยังสถานที่อันวิเวกเพื่อเพ่งเพียรปฏิบัติธรรม ท่านได้ปักกลดบนภูเขาสูงลูกหนึ่งทางภาคเหนือ ขณะที่ท่านบำเพ็ญภาวนาเข้าสู่สมาธิจนจิตแน่วนิ่ง ได้ปรากฏนิมิตขึ้น

ในนิมิตนั้น….ท่านได้เห็นสตรีวัยกลางคนผู้หนึ่ง ซึ่งจำได้ว่าเป็นโยมอุปัฏฐาก เมื่อ ๕-๖ ปีล่วงมาแล้ว สตรีผู้นี้เคยมาอุปัฏฐากท่านด้วยความศรัทธาสุจริตใจ และในขณะนั้นหลวงปู่เทสก์ ก็มีความนึกคิดในสตรีผู้นี้เพียงแค่เป็นคนดีมีศีลธรรม มีกิริยาวาจาสุภาพเรียบร้อยสมเป็นอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา

และท่านมองดูรูปร่างผิวพรรณของสตรีคนดังกล่าวดุจสามัญชนทั่วไป ไม่เคยคิดแส่ส่ายฟุ้งซ่านไปในทางอื่นเลย แต่ในนิมิตที่อุบัติขึ้นขณะนั้น การณ์ปรากฏว่าสตรีผู้เคยเป็นโยมอุปัฏฐากมานั่งใกล้ชิดกับตัวท่าน ในจิตใจของท่านมีความรู้สึกว่าสตรีคนดังกล่าวกับท่านมีความผูกพันกันมา เคยอยู่ร่วมกันนับสิบๆ ปี ประหนึ่งเป็นบุพเพเสน่หาสันนิวาสกันมาแต่อดีตชาติ

แต่หลวงปู่เทสก์ก็ไม่ได้มีความรู้สึกนึกคิดของความกำหนัด ความใคร่แม้แต่น้อย จิตของหลวงปู่พลันเกิดความตระหนก ถอยกลับออกมาจากสมาธิธรรมทันที หลวงปู่เทสก์ก็ได้พิจารณาจิตของท่านอย่างละเอียด ปรากฏว่าไม่มีสัญญาอารมณ์โน้มนำไปในทางกิเลสตัณหาแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั่น ท่านยังลืมสตรีผู้เคยเป็นโยมอุปัฏฐากเนิ่นนานแล้ว

เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน หลวงปู่เทสก์จึงได้มองเห็นกามกิเลสอนุสัยที่ซุกซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของจิตอารมณ์ จนยากที่จะค้นพบตัวมันได้ หลวงปู่ก็ได้กล่าวถึงกามกิเลสอนุสัยข้อนี้ว่า…..

ผู้มีปัญญาแต่ขาดศรัทธา ความเพียร และความกล้าหาญ ก็ไม่สามารถจะค้นคว้าจับเอาตัวของมันออกมาประจันหน้าได้ และผู้มีศรัทธา ความเพียร และความกล้าหาญ แต่ขาดปัญญา ก็ไม่สามารถจะประหารมันได้เหมือนกัน และผู้มีศรัทธา มีความเพียรด้วย และมีความกล้าหาญ ประกอบด้วยปัญญา ประกอบความเพียรรักษาความดีนั้นๆ ไว้ ติดต่อกันอย่าให้ขาดนั่นแหละ จึงสามารถขจัดกิเลสอนุสัยให้หมดสิ้นไปได้

นักภาวนาผู้ได้ญาณทั้งหลาย กามกิเลสมันลวงให้ตกหลุมลึกด้วยเหตุนี้เอง กล่าวคือ เมื่อได้ปรากฏภาพนิมิตขึ้นมาดังนั้น ก็ถือเอาเป็นจริงเป็นจังว่า เคยเป็นบุพเพเสน่หาสันนิวาสกันมาแต่ชาติปางก่อน ก็เลยเกิดความเอ็นดูสงสาร กำหนดรักใคร่เป็นไปตามสายของมัน จนกระทั่งเสาะแสวงหาภาพนั้น แล้วก็นำไปเล่าความจริงในสิ่งที่ไม่น่าเล่าสู่กันฟัง ไฟฟ้าสายคู่ ไฟมันเดินอยู่แล้ว แม้โลหะของแข็งเมื่อเข้าใกล้กันแล้ว ไฉนจะทนอยู่ได้ จำจะต้องดึงดูดสัมพันธ์ให้เข้าหากันจนได้

เรื่องในทำนองนี้ นักภาวนาโดยเฉพาะพระ บางทีถึงขนาดเป็นพระอาจารย์ก็ได้เคยตกหลุมทะเลลึกมามากต่อมากแล้ว เมื่อเห็นภาพปรากฏเช่นนั้นแหละ แทนที่จะกลัวเห็นเป็นภัยอันตรายอันน่ากลัว แล้วจับเอาอาวุธลุกขึ้นต่อสู้เพื่อชิงชัย กลับไปสวามิภักดิ์ต่อข้าศึกเสียอย่างน่าเสียดาย พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสว่า

มนุษย์สัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในโลกนี้ทุกๆ ตัวตน ต้องได้เคยเป็นญาติ เป็นพี่น้อง เป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งกันและกัน ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง เพราะคนเรายังมีกรรมอยู่ ตายแล้วเกิดนับเป็นอเนกชาติ นับประสาอะไรเมื่อมาเห็นภาพปรากฏเพียงครั้งเดียว มายั่วยุแล้วตามมันไป

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • เวียนว่าย/ตายเกิด. ราช เลอสรวง บรรณาธิการ: ตรงหัว. หน้า ๑๔๐-๑๔๓.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

หลวงปู่เปลื้อง.JPG


ตอนที่ ๔๐

ภิกษุผู้ถือการไม่นอนเป็นวัตร

หลวงปู่เปลื้อง ปัญญวันโต

(วัดบางแก้วผดุงธรรม จ.พัทลุง)

1.png



ในบรรดาธุดงค์ ๑๓ ข้อ พระที่ถือธุดงค์ข้อเนสัชชิก กล่าวคือ ถือการไม่นอนเป็นวัตร ประพฤติปฏิบัติอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ปัจจุบันหาแทบไม่มีแล้ว จะมีเพียงแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าจะให้ถือตลอดชีวิตนี่…หาได้ยากมาก

แต่สำหรับหลวงปู่เปลื้อง ท่านถือธุดงค์ข้อนี้เป็นวัตรมาตั้งแต่ท่านบวช เพราะท่านใช้ธุดงค์ข้อนี้เป็นเครื่องมือช่วยขัดเกลากิเลสให้เบาบางอย่างสำคัญ ในเมื่อท่านใช้การถือไม่นอนเป็นวัตร โอกาสที่ท่านจะบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรม ก็ย่อมมีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะท่านไม่ต้องไปเสียเวลากับการนอน ทำให้มีเวลาขัดเกลาจิตใจได้เต็มที่

หลวงปู่เปลื้องท่านเคยบอกว่า “อาตมาบวชเมื่ออายุล่วงกาลผ่านวัยมามาก ได้เพียรพยายามประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจังไม่ท้อทอย มีความตั้งใจมั่นคงในชีวิตพรหมจรรย์ อย่างที่ท่านกล่าวว่า ถวายกายตั้งสัจอธิษฐานเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อพิสูจน์หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา”

เมื่อปฏิบัติไปก็ได้ผลจริง รู้สึกว่าจิตมีสัจจะและทมะ
สัจจะ คือ ความจริงใจ ประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง

ทมะ คือ รู้จักข่มใจไว้ ไม่ให้ไหลไปตามกิเลส คือความอยาก


เมื่อดับความอยากได้ จิตก็ทวนกระแสโลก แล้วกลับไหลไปตามกระแสธรรม ทำให้เบากายเบาใจ จึงรู้ว่า

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
รสของธรรมย่อมชนะรสทั้งหมดของโลก
ธรรมตัดความโลภ โกรธ หลง
  

อันเป็นตัวรากฐานของความชั่วทั้งมวลได้ ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมอิ่มใจในธรรมรู้สึกพอ ไม่ติดในลาภ ในยศ ในสรรเสริญและสุข อันเป็นเครื่องมอมเมาของปุถุชน เมื่อบุคคลบรรเทาเมาทั้งปวง จิตก็จะคลายจากสิ่งให้โทษเหล่านั้น ไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา อันเป็นผลของการฝึกฝน อบรมจิตใจ


การศึกษาอบรมจิตนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้มากมายหลายวิธี ในความรู้สึกของอาตมานั้น ผู้ฝึกฝนดังกล่าวจะต้องมีสัจจะเป็นพื้นฐานก่อน สัจจะนั้นใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ในการงานทุกระดับทั้งคดีโลกและคดีธรรม เมื่อมีสัจจะแล้ว ควรมีทมะธรรม คือการรู้จักข่มใจ และอิทธิบาทธรรม คือ

ฉันทะ   ความพอใจ
วิริยะ    ความเพียรพยายาม
จิตตะ   เอาใจใส่ไม่ทอดธุระ
วิมังสา  หมั่นตรองถึงเหตุและผล


เมื่อได้อิทธิบาทธรรมเข้าหนุนสัจธรรมก็จะแก่กล้า สามารถประพฤติปฏิบัติไปได้ตามจุดมุ่งหมาย

ก่อนจบเรื่อง เหลือบไปเห็นบทกลอนที่คมคายของหลวงปู่เปลื้องอีกบทหนึ่ง ซึ่งได้ขยายความถึงชื่อของท่าน ที่ว่า “เปลื้อง” นั้น เปลื้องอะไรกันบ้าง

“หลวงตาเปลื้อง”     ครองผ้าเหลือง         เปลื้องกิเลส
เปลื้องละเพศ           ปฏิบัติธรรม              พระกรรมฐาน
เปลื้องนิวรณ์            ความเห็นผิด            จิตชื่นบาน
เปลื้องอาหาร           ที่เป็นพิษ                 ทำให้จิตเบา


เปลื้องตัว                เกียจคร้าน               การฝึกจิต
เปลื้องความ            เห็นผิด                    จิตโง่เขลา
เปลื้องไฟราคะ         เผาร่างขันธ์              คันแล้วเกา   
เปลื้องความเมา       สุขสำราญ                เรื่องการนอน


เปลื้องทั้งเงิน           เปลื้องทั้งทอง           ของมีพิษ
เปลื้องดวงจิต          ที่ไม่เชื่อธรรม            คำสั่งสอน
เปลื้องความทุกข์      เปลื้องความสุข         เปลื้องทุกตอน
เปลื้องความอาวรณ์  หลวงตาเปลื้อง         จบเรื่องเอย”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • โลกลี้ลับ ๘๖ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕: บรรเจิด สิงข์สวน เรียบเรียง. หน้า ๑๓-๑๕, ๑๗.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๙

วิธีขจัดความว้าเหว่ ท้อแท้ และเกิดปัญหา

หลวงปู่หล้า จันโทภาโส

(วัดป่าตึง จ.เชียงใหม่)

1.png



หลวงปู่หล้า จันโทภาโส แนะนำให้ละเว้น “นิวรณ์ห้าอย่าง” ที่กีดขวางมิให้บรรลุความดี มีห้าอย่างได้แก่ ความพอใจรักใคร่, ความพยาบาท, ความง่วงเหงาหาวนอน, ความฟุ้งซ่านรำคาญ, ความลังเลใจ ท่านสอนให้ภาวนากำจัดนิวรณ์ห้า

พระภิกษุท่านให้ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ให้มีความพอดีพอสมควร อายตนะภายในภายนอกมากระทบกัน เช่น ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการถูกต้องสัมผัสนุ่มนวลอ่อนแข็ง พระพุทธองค์ให้ระวัง อย่ายินดียินร้าย เห็นรูปให้เห็นเป็นรูป เห็นคนก็ให้เห็นเป็นคนเห็นเป็นธรรมดา (ผู้ถามแทรกสอดขึ้นว่า เห็นแล้วมัน “เมา”) ท่านว่าเป็น
“กิเลส”

(ถามท่านต่อไปว่า กิเลสนี้จะตัดได้อย่างไร)


ท่านว่าอย่าไปคิด ให้อยู่เฉยๆ ไม่คิดปัจจุบัน ไม่คิดอนาคต อดีตที่ล่วงไปแล้วไม่ต้องคิด อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็ไม่ต้องคิด คิดหนักนอนไม่หลับ นานๆ เข้าเกี่ยวกับจิตใจ

(ถามท่านว่า จะไม่ให้คิดไม่ห่วงอะไรเลยหรือ เพราะยังอยู่ในโลกธรรมดาต้องอาศัยค้าขาย)


หลวงปู่ตอบว่า เป็นธรรมดาโลก อยู่อย่างพระอรหันต์อยู่ไม่ได้ พระอรหันต์นั้นบุญก็ไม่ทำ บาปก็ไม่ทำ ไม่มีการสร้างโน่นสร้างนี่ ทอดกฐินทอดผ้าป่าก็ไม่ต้องทำ แต่พระธรรมดาในปัจจุบันยิ่งต้อง “สร้างบุญ สร้างบารมี” (ท่านต่อเติมว่า) สงฆ์ทุกวันนี้ยังเป็น “สมมติสงฆ์” สงฆ์สมมติไม่ใช่พระอริยสงฆ์ นอกจากศรัทธาจะปลุกปั่นให้เป็นสุปฏิปันโน

มีนายทหารอากาศมาถามหลวงปู่ว่า “คน” มาจากอะไร หลวงปู่ตอบว่าคนมาจาก “กวน” เหมือนคนขนม กวนขนมกลายเป็นคนขึ้นมา (เมื่อพวกเราพูดต่อว่าคนนี่กวน: เพราะเป็นคนเลยต้องกวนอยู่ร่ำไป หลวงปู่หัวเราะ)


ท่านเล่าว่าไปสวดมนต์ที่กองบิน ๔๑ มีผู้ถามว่า “มนุษย์” มาจากอะไร ตอบว่ามนุษย์เป็นสัตว์มีใจสูง สัตว์มีหัวอยู่ข้างบน ถึงตรงนี้หลวงปู่ได้สาธกยกพระธาตุเจ้าที่ได้ไปนมัสการมาหมดถ้วนแล้วในล้านนาไทย ท่านพรรณนาเป็นคำประพันธ์ดังต่อไปนี้

“ บุญต้องหาม  บาปต้องละ

พระต้องสงบ  รบต้องชนะ

สละต้องกล้า  ค้าต้องกำไร

ใจต้องคิด  ผิดต้องแก้

เมื่อมีความพอ  ก็มีความสุข

ถ้าไม่อยากมีทุกข์  ก็อย่าจนใจ


ข้าศึกอะไร  ไม่เท่าเกิดตาย

สหายอะไร  ไม่เท่าบุญกุศล
ผลอะไร  ไม่ใหญ่เท่าผลบุญ
ไปเป็นหมู่  อยู่คนเดียวไม่เหลียวแลใครได้  
ยังหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น

บุญมาวาสนาช่วย  ที่ป่วยก็หายที่หน่ายก็รัก
บุญไม่มาวาสนาไม่ช่วย  ที่ป่วยก็หนักที่รักก็หน่าย
เหล็กกวงก้านย่าน  พรหมก็บ่พล่านตกใจ ”

4.png



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
           
คำสอนของหลวงปู่หล้า: เนื่องในวโรกาสอายุครบเก้าสิบสองปี วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๒. หน้า ๔๙-๕๑.
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

หลวงปู่หล้า2.JPG


ตอนที่ ๓๘

ธรรมทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ

หลวงปู่หล้า จันโทภาโส

(วัดป่าตึง จ.เชียงใหม่)

1.png



พระครูจันทสมานคุณ หรือหลวงปู่หล้า จันโทภาโส กล่าวว่า ที่ว่า “กรรม” นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่าเป็นเรื่อง “กรรมเก่า” มีเหตุการณ์อะไร พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็นกรรมอย่างนั้น ยกตัวอย่างเรื่อง “วิฑูฑภะ”

วิฑูฑภะนี้ เกิดจากเหตุครั้งแรก ได้มีการนิมนต์พระอานนท์ไปฉันในวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลไม่ได้เอาใจใส่พระที่เข้ามาฉันอาหาร เพราะมัวแต่วุ่นวายกับราชการงานเมือง พระทั้งหลายก็เลยไม่เข้ามารับพระราชทานฉันอาหาร คงเหลือแต่พระอานนท์รูปเดียว

พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงไปกราบทูลเรื่องนี้แก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุชอบไปที่สุดเฉพาะผู้ที่เป็นญาติ พระเจ้าปเสนทิโกศลอยากเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า จึงใช้คนไปขอธิดาของกษัตริย์ศากยะ (วงศ์พระพุทธเจ้า) เพื่อจะได้อภิเษกเป็นมเหสีต่อไป
ฝ่ายศากยะตกลงให้ส่งธิดาเจ้ามหานามไปเป็นพระเทวีของพระเจ้าปเสนทิโกศล เจ้ามหานามเป็นตาของพระพุทธเจ้า มีธิดาเกิดจากนางทาสีชื่อ นางวาสภขัตติยา มีรูปร่างสวยงาม

ที่ประชุมศากยวงศ์ได้ตกลงให้ส่งลูกนางทาสีนี้ไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ด้วยเหตุผลสำคัญยิ่งคือ ไม่อยากให้ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวดองร่วมวงศ์ เพราะพวกศากยะถือชาติถือตระกูลยิ่งนัก พระเจ้าปเสนทิโกศลพอพระทัยถึงกับแต่งตั้งนางเป็นพระเทวี มีบุตรด้วยกัน มาขอชื่อจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประทานชื่อว่า วิฑูฑภะ

เมื่อเติบโตขึ้นมา วิฑูฑภะอยากรู้จักญาติฝ่ายมารดา จึงทูลถามพระชนนีตน ฝ่ายพระเทวี (ผู้เป็นลูกนางทาสี) ก็ได้แต่อ้ำอึ่ง วิฑูฑภะจึงรบเร้าขอไปเยี่ยมพระญาติฝ่ายศากยะและได้รับอนุญาตให้ไป (เป็นครั้งเท่าใดไม่ได้บอกไว้) ไปแต่ละครั้งหมู่ศากยะผู้ใหญ่ไม่เคยอยู่ให้เข้าเฝ้าเลย ทิ้งไว้แต่เหล่าวัยรุ่นเด็กๆ มาต้อนรับ


วิฑูฑภะสงสัยต้องเลิกทัพกลับไปทุกครั้ง ครั้งหนึ่งทหารของวิฑูฑภะลืมดาบ จึงกลับเข้ามาเอาดาบ เห็นหญิงชรากำลังใช้น้ำนมล้างที่ๆ จัดให้วิฑูฑภะนั่ง จึงถามยายเฒ่านั้นว่า ยายทำอะไร ยายตอบว่า ล้างๆ ที่ “ลูกอีนางทาส” มานั่ง เจ้านายให้เอาน้ำนมมาล้าง ทหารผู้นั้นรีบไปกราบทูลวิฑูฑภะ

เมื่อเข้าใจหายสงสัยแล้ว วิฑูฑภะโกรธแค้นนัก ได้กล่าวปฏิญาณว่า “ถ้ากูได้เป็นกษัตริย์สาวัตถีเมื่อใด กูจะเอาชีวิตพวกศากยะ เอาเลือดพวกมันมาล้างที่นั่งกู” อยู่มาวันหนึ่ง วิฑูฑภะตามเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก่อนเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลถอดเครื่องทรง “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” ออกไว้ข้างนอก

วิฑูฑภะถือโอกาสลักเครื่องทรง และกลับเข้าพระนครมาสั่งปิดประตูเมืองทุกด้าน พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเมืองไม่ได้ เลยนอนตายอยู่หน้าเมือง เพราะอากาศหนาวจัด วิฑูฑภะได้เป็นกษัตริย์ จึงยกทัพไปตีเมืองศากยะ ขณะยกทัพไปครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สองนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมาห้ามทัพไว้ จนถึงครั้งที่สาม พระพุทธเจ้าเล็งเห็นว่า “กรรมของพวกเขา” แล้วก็มิได้เสด็จมาห้ามทัพ “ปล่อยไปตามเรื่อง”

ทัพวิฑูฑภะไปถึงเมืองศากยะก็ยิงธนูเข้าไป ฝ่ายศากยะนั้นใฝ่สันติมิได้โต้ตอบจึงพ่ายแพ้ วิฑูฑภะเข้าไปจัดการตัดคอพวกศากยะทั้งหมด ยกเว้นเจ้ามหานามผู้เป็นตา เมื่อสำเร็จโทษศากยะเสร็จแล้วก็ยกทัพกลับมาพักพล ในระหว่างทางพวกทำบาปหนักขึ้นพักตอนบน พวกทำบาปน้อยพักข้างล่าง เกิดเหตุมดกัดทั้งกองทัพ พวกทำบาปหนักพากันหนีลงไปข้างล่าง ส่วนพวกทำบาปน้อยพากันขึ้นข้างบน บังเกิดเหตุฝนตกใหญ่น้ำท่วม พัดกองทัพจมน้ำตายหมด

(จบเรื่องวิฑูฑภะแล้ว หลวงปู่หล้ายังได้เสริมเรื่อง พระเจ้าอชาตศัตรูคบพาลที่ชื่อ เทวทัต ผู้ได้ฌานโลกีย์ในตอนแรก ทำอิทธิฤทธิ์ให้อชาตศัตรูเลื่อมใส ในที่สุดอชาตศัตรูเป็นขบถจับพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระบิดาขังไว้แล้วตั้งตนเป็นกษัตริย์ เทวทัตเข้ายุยงให้ใช้ช้างนาฬาคิรีทำร้ายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแผ่เมตตาจนช้างนาฬาคิรีสงบลงได้และเดินกลับเข้าที่อยู่


หลวงปู่หล้าได้ยกคาถา “นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง….เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท” พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายว่า ช้างนาฬาคิรีและช้างปาลิไลยกะเป็น “หน่อพระเจ้า” คือจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป

หลวงปู่ว่าคาถาบาลียืนยันพุทธทำนาย ท่านว่าพุทธทำนายไม่มีผิดพลาด อย่างสุเมธฤาษีทำถนนถวายพระพุทธเจ้าทีปังกร ก็ได้มาเป็นพระพุทธเจ้า “โคดม” จึงนิยมเรียกขานว่า พระพุทธเจ้าย่อมบำเพ็ญบารมีสี่อสงไขยเป็นมหากัป ที่จริง ๒๐ อสงไขย ถ้าพระพุทธเจ้าทำนายแล้วย่อมไม่ผิด

คำสอนข้อนี้มีหลักสำคัญยิ่งคือ “ธรรมทั้งหลายย่อมมาจากเหตุ” เป็นเรื่องของเหตุผลโดยแท้ หลวงปู่หล้าท่านสอนอย่างมีเหตุผล โดยแสดงตั้งแต่เบื้องต้นแล้วผลเป็นอย่างไร เช่น เหตุเกิดเพราะพระเจ้าปเสนทิโกศลอยากเป็นญาติกับพระพุทธเจ้า และเหตุเกิดเพราะพวกศากยะถือชาติถือตระกูล ตลอดจนเหตุเกิดเพราะพระเจ้าอชาตศัตรูคบเทวทัตผู้เป็นพาล พวกเราได้ฟังนิทานธรรมของท่านแล้วก็ได้สติและคิดตาม)

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          • คำสอนของหลวงปู่หล้า: เนื่องในวโรกาสอายุครบเก้าสิบสองปี วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๓๒. หน้า ๕๙-๖๒.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

11987.jpg


ตอนที่ ๓๗

หลวงพ่อโอภาสี ผู้บูชาเพลิง เป็นพุทธบูชา

พระมหาชวน มะลิพันธ์

(วัดหลวงพ่อโอภาสี กรุงเทพฯ)

1.png



หลวงพ่อโอภาสี หรือพระมหาชวน มะลิพันธ์ แห่งอาศรมบางมด ระหว่างที่ท่านไปปักกลดบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่สวนส้มบางมดแล้ว ท่ามกลางความเงียบสงบ หลวงพ่อโอภาสีก็เริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจ ด้วยสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตลอดวันตลอดคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงเบื้องหน้าของท่านนั้น ก็มีกองไฟลุกโพรงอยู่อย่างโชติช่วงตลอดเวลา

การที่เป็นเช่นนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นพุทธบูชา เพราะไม่มีธูปเทียน ก็ต้องกระทำด้วยประการเช่นนี้ นอกจากนี้แล้ว ยังได้ทราบว่า ท่านจะฉันอาหาร หรือทำภัตกิจอย่างมากไม่เกิน ๓ คำ นี่เป็นการแสดงว่าท่านพยายามอย่างมากที่จะกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นไป


การที่พุทธศาสนิกชนถวายของแก่ท่าน แล้วท่านกลับเอาไปผสมประชุมเพลิง จนเกือบกล่าวได้ว่า ในกุฏิหลังเล็กที่ราษฎรชาวบ้านปลูกไว้แก่ท่านนั้น เกือบจะหาสิ่งมีค่าอันใดมิได้เลยนั้น หลวงพ่อโอภาสีได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“โดยปกติ แสงฟ้าเผาผลาญสรรพสิ่ง สิ่งอื่นๆ จนมอดไหม้เป็นจุณมหาจุณไปสิ้นนั้น ก็จัดว่าเป็นธาตุที่มีความร้อนสูงอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นจิตใจของมนุษย์ยังมีความร้อนแรงยิ่งกว่ากองเพลิงนั้นเสียอีก คือความร้อนของมนุษย์นั้นถูกเผาผลาญดวงจิตด้วยโลภะ โมหะ ราคะ อวิชชา ฯลฯ

การที่ท่านได้นำเอาวัตถุปัจจัยทั้งหลาย ที่อุบาสกอุบาสิกานำมาถวายไปทำลายเผาผลาญนั้น มิได้เป็นการกระทำอย่างที่เขาวิจารณ์ว่าเป็นคนวิกลจริตนั้นดอก แต่เป็นการพุทธบูชาสักการะแด่อำนาจพุทธานุภาพ ปัจเจกพุทธะ อนุพุทธะ ที่ได้เป็นที่สักการบูชาของมนุษย์และเทวดาทั้งหลายมาแล้วในอดีต


จงดลบันดาลให้อานุภาพเหล่านั้น มาช่วยดับร้อน ผ่อนคลายจิตใจของมนุษย์ ให้บรรเทาเบาบางลงจากอำนาจแห่งความมืดมนดังกล่าว หรือเป็นการดับกิเลสทั้งหลายให้หมดไปนั้นเอง”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
          หนังสือพระประวัติและอภินิหารพระเครื่องหลวงพ่อโอภาสี บางมด กรุงเทพฯ: บุรี รัตนา เรียบเรียง. หน้า ๓๗-๔๑.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๖

อริยทรัพย์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถระ)

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๘

(วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ)

1.png



คำว่า ทรัพย์ นี้ หมายถึง สิ่งที่บุคคลจะถือกรรมสิทธิ์ได้ รวมเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ เป็นสังหาริมะ ของเลื่อนที่ได้ ๑ เป็นอสังหาริมะ ของเลื่อนที่ไม่ได้ ๑

ทรัพย์ของโลกล้วนเป็นเหตุก่อทุกข์ ทั้งในยามมั่งมี ทั้งในยามอัตคัด ทั้ง ๒ ด้านเช่นนี้ เข้าหลักที่ท่านว่า ความมีก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะต้องระแวดระวังรักษา ทะนุถนอมไม่อยากให้อันตรธานพลัดพรากจากไป และทั้งจะชวนให้อนุชนผู้ใจทรามเร่าร้อนใจคอยสาบแช่ง


และความไม่มีก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ เพราะจะต้องพยายามตรากตรำแสวงหา ทนหนาวทนร้อนอดกินอดนอน เพื่อแก้ความไม่มี เมื่อคราวชราทุพพลภาพก็ยังไม่มี พอเป็นสินน้ำใจแก่ลูกหลาน ลูกหลานก็พลอยลำบากใจ ที่ต้องทนเลี้ยงดู ด้วยจำใจตามประเพณี

ทางพระพุทธศาสนาท่านจึงวางหลักสันโดษ คือ ให้รู้จักยินดีเท่าที่มีที่ได้มา ไม่สอนให้เที่ยวทะเยอทะยานในสิ่งที่ยังไม่มีไม่ได้ หรือเที่ยวแส่เห็นดีเห็นชอบ เห็นสวยเห็นงามในส่วนของคนอื่น อย่างเห็นเขาขึ้นคานหามเอามือประสานกันฉะนั้น เป็นการละเลยฐานะตนเองตามที่เป็นจริง


อย่างไรเสียสิ้น เมื่อได้อัตภาพเป็นชาวโลกนี้ จำนวนที่จะต้องแสวงหาทรัพย์สมบัติของโลกนี้ไว้บำรุงตนพอสุขสบายตามฐานะ แต่ไม่ควรหลงยึดถือหรือตกเป็นทาสของทรัพย์สมบัติจนลืมตัว ควรสำนึกตนเพียงอาศัยหาความสุขสบายพอสมควรแก่อัตภาพเพียงชาตินี้เท่านั้น เพราะถึงคราวแตกกายทำลายชีวิตไปแล้ว ก็ต้องทิ้งทรัพย์สมบัติของโลกนี้ได้ปกครองใช้สอยสืบไป ไม่สามารถนำติดตนไปสู่โลกอื่นได้

พระพุทธองค์มีพระพุทธประสงค์ให้บุคคลมีทรัพย์สมบัติ ซึ่งสามารถติดตามบุคคลไปได้ทุกโลกที่เกิด จึงได้ทรงสอนพุทธบริษัทให้รู้จักทรัพย์อีกประเภทหนึ่ง คือ คุณธรรมความดีงามที่เกิดกับกาย วาจา ใจ ทรงยกย่องว่าเป็นอริยทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์อย่างเลิศ หรือทรัพย์ของท่านผู้เลิศ ดังที่ท่านแสดงไว้ว่า

“ขุมทรัพย์ คือบุญของผู้ใด เป็นหญิงก็ตามเป็นชายก็ตามฝังไว้ดีแล้ว ด้วยการเสียสละการสงบกาย วาจา ใจ ความสำรวมและความฝึก ขุมทรัพย์นั้นชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆ ไม่อาจผจญได้ เป็นของติดตามตนได้


โภคสมบัติทั้งหลายของเขาต้องละทิ้งไป นำไปได้แต่ขุมทรัพย์คือบุญ และบุญไม่ใช่สาธารณะแก่ชนอื่น ใครก็ลักไม่ได้ ฉะนั้น ขุมทรัพย์คือบุญที่ติดตามตนไปได้ นักปราชญ์พึงนำขุมทรัพย์คือบุญนั้นเถิด”

นี้แสดงว่า บุญ คือการอบรมบ่มนิสัยให้บริสุทธิ์ด้วยคุณความดีอย่างเดียว เป็นอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์อย่างเลิศ เป็นทรัพย์ภายใน เพราะแม้ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ย่อมไม่ยากจนทรัพย์สมบัติของโลกนี้ ในเมื่อมีอริยทรัพย์ประจำอัธยาศัย ทั้งจะอาศัยขุมทรัพย์คือบุญที่กำลังอบรมอยู่ก่อให้มีเกียรติ มียศเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน

เมื่อถึงสมัยทำลายขันธ์สิ้นชีวิต สละทรัพย์สมบัติของโลกให้ผู้อื่นปกครองต่อไปแล้ว ก็ยังได้อาศัยบุญที่อบรมไว้ให้ติดตามสนองในภพชาติต่อไปได้ ชาติหน้าก็ย่อมรื่นเริงบันเทิงใจ เพราะบุญติดตามส่งเสริมอยู่ตลอดไปอีก บุญสามารถชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาดนับแต่ชาตินี้ตลอดชาติหน้า จึงสามารถติดตามเป็นผลสนองถึงชาติต่อไปได้ ส่วนทรัพย์สินเงินทอง สนองให้ความสุข ปลื้มใจได้เฉพาะชาตินี้เท่านั้น จึงไม่เลิศประเสริฐเท่ากับขุมทรัพย์คือบุญ

หากจะย้อนพิจารณาถึงพระพุทธประวัติ ก็ปรากฏว่าพระองค์เป็นรัชทายาท มีโอกาสเสวยราชเป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมือง ถ้าจะถือความร่ำรวยด้วยจำนวนทรัพย์สมบัติเป็นเครื่องหมายความยิ่งใหญ่ ด้วยเกียรติยศชื่อเสียงกันแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสด็จออกทรงผนวชแสวงหาคุณธรรม คืออริยทรัพย์อันประเสริฐอีกเลย แต่เพราะทรัพย์สินเงินทองทั้งหลายเหล่านั้น ยังไม่เลิศประเสริฐเท่าอริยทรัพย์ คือคุณธรรมคือบุญ พระองค์จึงต้องเสด็จออกค้นคว้าหาอริยทรัพย์ที่พระองค์ยังมิได้ประสบต่อไป จนกว่าตรัสรู้

ถ้าพิจารณาถึงลักษณะบุคคลที่พระพุทธองค์ตรัสให้แสดงการอ่อนน้อมคารวะก็มีแต่ทรงยกผู้เจริญด้วยอายุชาติ เจริญด้วยคุณธรรม พระองค์หาได้ทรงยกผู้ร่ำรวยทรัพย์สมบัติเป็นเศรษฐีไปด้วยไม่ เคยมีปัญหาถกเถียงกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ทรัพย์กับปัญญา ข้างไหนจะประเสริฐกว่ากัน เมื่อพิจารณาด้วยเหตุและผลอันถ่องแท้แล้ว ย่อมรับรองได้ว่าปัญญาประเสริฐกว่าทรัพย์ ดังท่านมหากบิลเถระกล่าวไว้ว่า

“ถึงสิ้นทรัพย์ ผู้มีปัญญาก็อยู่ได้ แต่เพราะไม่ได้ปัญญาแม้มีทรัพย์ก็เป็นอยู่ไม่ได้”

จึงเป็นอันรับรองได้ว่า ปัญญา คือคุณธรรมที่นำให้รู้จักเหตุแห่งความเสื่อมความเจริญแล้ว ดำรงตนอยู่ในเหตุแห่งความเจริญตลอดไปนี้ เป็นตัวบุญคืออริยทรัพย์ประการหนึ่ง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • โลกทิพย์ ๓๐๗ ปีที่ ๑๔ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๓๘: กองบรรณาธิการ เรียบเรียง. หน้า ๑๓-๒๓.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๕

การแสวงหาสัจธรรมคืออะไร?

หลวงปู่สุภา กันตสีโล

(วัดสิริสีลสุภาราม จ.ภูเก็ต)

1.png



หลวงปู่สุภา กันตสีโล ศิษย์ฝ่ายบรรพชิตของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านได้กล่าวเรื่องนี้ว่า

การแสวงหาสัจธรรม ก็คือ การแสวงหาความจริง ความจริงที่พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสว่า สิ่งใดเกิดสิ่งนั้นก็ต้องดับ และสิ่งใดดับสิ่งนั้นก็ย่อมเกิดอีก มันวนเวียนๆ อยู่อย่างนี้ หลักสัจธรรมมันมีอยู่แค่นี้ แต่ตัวเราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านั้น จะทำอย่างไรให้รู้จริง ให้เห็นจริง และให้เข้าถึงจริงๆ

ทางออกที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ก็คือ การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงสิ่งนั้น ปฏิบัติเพื่อให้เห็นสิ่งนั้น ปฏิบัติเพื่อให้รู้สิ่งนั้น และการปฏิบัติจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเข้าถึงสิ่งนั้น ส่วนนี้เราจึงหัดนั่งสมาธิมาทำกรรมฐานกัน เพื่อฝึกจิตใจให้เป็นสมาธิ ไม่วอกแวก หยั่งจิตให้ลึกในธรรม ให้เข้าถึงสัจธรรมนั้น

แนวทางการปฏิบัติอย่างนี้ หลายสำนักหลายอาจารย์มีเคล็ดลับในการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป แต่ถึงอย่างไรทุกสำนักทุกอาจารย์ ก็ดำเนินตามวิถีทางที่พระพุทธองค์ท่านเคยปฏิบัติมา และมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือเข้าใจให้ถึงสัจธรรม และเพื่อข้ามพ้นกองทุกข์ต่างๆ นานาที่มีอยู่รอบตัว เราจะต้องปฏิบัติธรรม ทำสมาธิให้จิตได้ดวงธรรม

ดวงธรรม ก็คือ ความสว่าง

ความว่าง ก็คือ ความสว่างในทางปัญญา ที่ทำให้เราสามารถรู้และมองเห็นสัจธรรมได้ลึกซึ้งลงไป รู้จริงแม้กระทั่งภายในจิตใจของเราเอง เมื่อเรารู้ว่า เราเป็นอะไร เกิดมาอย่างไร และมีที่ไปอย่างไร มันก็ไปเข้าหลักสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นก็ต้องดับ

เมื่อเราผ่านการศึกษาค้นคว้ากับผู้รู้ต่างๆ และปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่องถึงบ่อเกิดของการเกิดต่างๆ เพื่อที่จะหาทางปฏิบัติให้หลุดพ้นจากหลักข้อนี้ คือไปสู่ วิมุตติ ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องดับอีกแล้วนั่นเอง

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หนังสือพุทธาคมฉบับพิเศษ รวมเกจิอาจารย์ศิษย์ หลวงปู่ศุข. หน้า ๑๓.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๔

เทพเทวดานิมนต์ให้หลวงปู่สีเทศน์

หลวงปู่สี ฉันทสิริ

(วัดเขาถ้ำบุญนาค จ.นครสวรรค์)

1.png



หลวงปู่สี ฉันทสิริ ท่านชาตะในปลายรัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี และท่านมรณภาพเมื่อวันพุธที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๐ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง ซึ่งตรงกับปลายสมัยรัชกาลที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี ขณะที่มีอายุได้ ๑๒๘ ปี ซึ่งท่านเป็นพระภิกษุที่มีอายุยืนนานถึง ๗ รัชกาล

หลวงปู่สี เคยนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอบรมให้เหล่าเทพและเทวดาฟังในป่าเขา เมื่อท่านถูกนิมนต์ให้เทศน์ มีความว่า...

คุณโยมเทพบุตร เทพธิดา ผู้มีความปีติสุข ความอิ่มเอิบในทิพยสมบัติเป็นเครื่องอยู่ เป็นผู้นิราศแล้วจากทุกข์ทั้งปวง แม้กระนั้นคุณโยมก็มิได้อยู่บนความประมาท หลงอยู่ในทิพยสมบัติ มีจิตปรารถนาจะได้รับรสพระธรรม เป็นที่น่ายินดีอนุโมทนา ความปรารถนาในกุศลธรรมนี้ เป็นบุญที่ควรอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง

คุณโยมทั้งหลายที่เสวยทิพยสมบัติอยู่ จงพิจารณาให้ดี จะเห็นว่ายังเป็นโลกที่ไม่มีแก่นสาร อาจกล่าวได้ว่าเป็นโลกที่ไม่มีตัวตน เป็นแต่แสงสว่างแผ่ซ่านอยู่ อันเป็นโลกที่ละเอียดอ่อน ด้วยอำนาจของจิตที่เป็นกุศลธรรม ให้โยมปรากฏให้อาตมาได้เห็น ก็ด้วยอำนาจของจิตอธิษฐาน

“จิต” เป็นนามธรรม ไม่มีรูปที่จะประกอบกรรมดีหรือชั่วได้อย่างมนุษย์ แต่จิตก็สามารถบริจาคทาน เจริญสมาธิ รักษาศีล ได้เช่นกัน คุณโยมผู้เป็นเทพทั้งหลายพึงใช้จิตบริจาคทาน ใช้จิตรักษาศีล ใช้จิตเจริญสมาธิ การบริจาคทานด้วยจิต ก็คือ ให้ความกรุณา และให้ความเมตตาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย นับได้ว่าเป็นทานบารมีอันยิ่งใหญ่

“ศีล” ก็ย่อมรักษาได้ด้วยจิต จิตของคุณโยมเป็นกุศลจิต จึงนับได้ว่า ได้รักษาศีลไว้โดยสมบูรณ์

“สมาธิ” ก็คือ ทำจิตให้ตั้งมั่น อะไรที่เป็นอุบายให้จิตตั้งมั่น ก็คือ การตามระลึกนึกถึงอนุสติ ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่ง มีระลึกนึกภาวนาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า เป็นต้น จิตภาวนาคำว่าพุทโธ ให้เป็นอารมณ์จิตอยู่สม่ำเสมอต่อเนื่อง กุศลธรรมก็จะสูงขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อคุณโยมผู้เป็นเทพได้ตระหนักว่า ความเป็นเทพนั้นยังเป็นโลกิยสมบัติ เป็นสิ่งสมมุติไม่คงทนถาวร เสื่อมได้ หมดได้ สิ้นไปได้ ก็จงอย่าประมาท เวลาสวรรค์แม้แต่จะยาวนานกว่าโลกมนุษย์ถึงร้อยเท่า พันเท่า จะพ้นจากไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้นไม่ได้


สิ่งสมมุติทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วย่อมดับ ความสุขอันนี้ก็จะกลายเป็นทุกข์หรือจะต้องไปเกิดใหม่ตามภูมิ ตามกรรมดี กรรมชั่วของตน ที่ยังเหลืออยู่ จงขวนขวายละสมบัติไปสู่ “วิมุตติ” เถิด จึงจะพ้นจากการเวียนว่ายในวัฏสงสาร

ด้วยเหตุนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสย้ำเป็นคำสุดท้าย ก่อนที่พระองค์ท่านปรินิพพานว่า “ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม ความไม่ประมาทนั้นคือ ควรระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนได้กระทำมาดีแล้ว และพากเพียรกระทำต่อไปมิให้ขาดสาย”

4.png


ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         • หนังสือชีวประวัติ, วัตรปฏิบัติ, ปฏิปทา, และปาฏิหาริย์ หลวงปู่สี ฉันทสิริ เล่มที่ ๑: ชนินทร์ ดีนาน (หลานหลวงปู่สี) ข้อมูล และจักรภพ เจริญรัตน์ เรียบเรียง. หน้า ๗๒-๗๔.

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-6 18:22 , Processed in 0.111007 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.