แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 33739|ตอบ: 61
go

ธรรมะสำหรับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ; หลวงปู่ทวด [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

9.2.jpg



ธรรมะสำหรับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์

และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ; หลวงปู่ทวด



ข้าพเจ้าได้คัดลอกหนังสือธรรมะ เทศน์โดย สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ ฉายา หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) จากหนังสือ "ธรรมะจากดวงวิญญาณบริสุทธิ์ หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด): ชุดการดำเนินตามแนวพระโพธิสัตว์" รวบรวมโดย เกหลง พานิช


ซึ่งเป็นหนังสือที่ผู้รวบรวมได้รวบรวมมาจากพระธรรมเทศนา ซึ่งดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ ฉายา หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด) ทรงเสด็จมาเทศน์โปรดสัตว์ในอดีตไว้ที่สำนักปู่สวรรค์


โดยผ่านร่างของมนุษย์ผู้เคยมีกรรมพัวพันและชาตินี้ครองชีวิตอย่างสะอาดดั่งผู้ทรงศีลที่ดี (อาจารย์สุชาติ โกศลกิติวงศ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ฉายาว่า "อริยวังโสภิกขุ" และบำเพ็ญอยู่อย่างสงบในป่า ปัจจุบันท่านมรณภาพแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘) มีนื้อหาทั้งหมด ๕๕ ตอน


คำเทศน์เหล่านี้ก็ได้บันทึก วัน เดือน ปี ไว้ เรียกว่าเป็นเรื่องของวิญญาณมาทำงาน ท่านจะเชื่อว่าหลวงปู่ทวดมาเทศน์หรือไม่ เป็นสิทธิเสรีภาพของท่าน แต่ขอให้ท่านอ่านสำนวนโวหารของการโต้ตอบนั้น ผู้รวบรวมคิดว่า ไม่ใช่คนธรรมดาจะตอบได้ และใคร่ขอร้องท่านผู้อ่าน จงอ่านอย่างใจเป็นกลางก่อนที่จะลงความเห็น เชื่อหรือไม่เชื่อ พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักกาลามสูตรไว้ให้พิจารณา เราควรใช้หลักนั้นให้เป็นประโยชน์


คุณเกหลง พานิช ผู้รวบรวมเห็นว่า คำสอนเหล่านี้ไม่ควรเก็บไว้รับรู้เฉพาะกลุ่มสานุศิษย์เท่านั้น จึงได้รวบรวมให้โครงการธรรมไมตรีดำเนินการจัดพิมพ์เผยแพร่ต่อไป

และถึงแม้ว่าเว็บแดนนิพพานจะก่อตั้งขึ้นมา เพื่อผู้ปรารถนาพระนิพพาน แต่ยังมีอีกหลายท่านที่ตั้งใจปรารถนาพระโพธิญาณหรือเป็นพระโพธิสัตว์และสานุศิษย์พระโพธิสัตว์ ข้าพเจ้าหวังว่าเนื้อหาบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ปรารถนาพระนิพพาน พุทธภูมิหรือพระโพธิสัตว์ และสานุศิษย์ของพระโพธิสัตว์ เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างบารมีและการทำงานช่วยกันโกยสัตวโลกให้พ้นทุกข์


ขอให้ทุกท่านที่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ จงประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญ ขอให้ดวงตาเห็นธรรมด้วยเถิด


o5.png



  ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
         เกหลง พานิช. ธรรมะจากดวงวิญญาณบริสุทธิ์ หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด): ชุดการดำเนินตามแนวพระโพธิสัตว์ เล่ม ๑-๔. กรุงเทพฯ: บริษัท สามวิจิตรเพรส จำกัด, พฤศจิกายน ๒๕๔๖.

(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 8 พฤษภาคม 2566)

Rank: 8Rank: 8

สารบัญ



หลักของพระพุทธศาสนา


สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ ฉายา หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด)


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี


เสด็จพ่อท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ

๑.   
สำนักปู่สวรรค์และอุดมการณ์ ๑๐ ประการ


๒.   ปณิธาน ๘ ประการของพระโพธิสัตว์


๓.   จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ


๔.   สังคมพระโพธิสัตว์


๕.   การดำเนินงานตามแนวพระโพธิสัตว์


๖.   น้ำใจพระโพธิสัตว์


๗.   พรของพระโพธิสัตว์


๘.   พระโพธิสัตว์


๙.   สัจจบารมี

๑๐.  ความแน่วแน่


๑๑.  อารมณ์ของสตรีในการทำงานใหญ่


๑๒.  ความเงียบที่น่ากลัว


๑๓.  ความยิ่งใหญ่อันแท้จริง


๑๔.  ธรรมะเพื่อสันติสุข


๑๕.  การบูชาครู


๑๖.  โลกนี้ไม่มีใครยิ่งใหญ่กว่าใคร


๑๗.  การเป็นผู้ใหญ่กับกรรมตามสนอง


๑๘.  สังคมของมนุษย์


๑๙.  ตามรอยองค์สมณโคดม


๒๐.  ความสามัคคี


๒๑.  การทำบุญ


๒๒.  ทางสามแพร่ง


๒๓.  กฎแห่งอนัตตา


๒๔.  วิบากกรรมของประเทศ


๒๕.  ระวังภัย


๒๖.  ชิงลูกตะกร้อ


๒๗.  สิ่งศักดิ์สิทธิ์กับความอยู่รอดของประเทศ


๒๘.  พุทธภาวะ พุทธภาระ


๒๙.  งานพิทักษ์เอกราชและศาสนา


๓๐.  มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ


๓๑.  การเสียสละเพื่อส่วนรวม


๓๒.  คำอนุโมทนาของหลวงปู่ทวด


๓๓.  ชีวิตของนักพรต


๓๔.  มองกันคนละมุม


๓๕.  หลักการทำงานใหญ่


๓๖.  การปรับปรุงงาน


๓๗.  สิ่งอัศจรรย์ของโลก


๓๘.  ขันติบารมี


๓๙.  การเสวยกรรม


๔๐.  คนเสียสละอย่างแท้จริง


๔๑.  เตรียมตน


๔๒.  เมื่อเกิดเป็นมนุษย์


๔๓.  งานดุลกรรมระดับโลก


๔๔.  สันดานมนุษย์


๔๕.  ความวุ่นวายเกิดจากจิต


๔๖.  ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


๔๗.  การเป็นอยู่ของโลกวิญญาณ


๔๘.  สำนึกบุญคุณครู


๔๙.  การเป็นผู้นำที่ดี


๕๐.  อุเบกขาบารมี


๕๑.  การทำงานย่อมมีอุปสรรค


๔๒.  สันติเจดีย์


๕๓.  การอุทิศตนเพื่อสันติภาพ


๕๔.  งานพลิกประวัติศาสตร์โลก


๕๕.  โลกมนุษย์กำลังเข้าสู่ความสลาย

ปริศนาธรรมหลวงปู่ทวด

IMG_5095-removebg-preview.1.png



ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 7

http://www.dannipparn.com/thread-72-1-1.html


ตอนที่ 8 - 17

http://www.dannipparn.com/thread-72-2-1.html


ตอนที่ 18 - 27
http://www.dannipparn.com/thread-72-3-1.html


ตอนที่ 28 - 37

http://www.dannipparn.com/thread-72-4-1.html


ตอนที่ 38 - 47

http://www.dannipparn.com/thread-72-5-1.html


ตอนที่ 48 - 55

http://www.dannipparn.com/thread-72-6-1.html


Rank: 8Rank: 8

wp2_800.jpg



หลักของพระพุทธศาสนา

pngegg.5.3.1.png



• การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ นี่เป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

• ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นประธาน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ

• ความเพ่งพินิจย่อมไม่มีแก่ผู้หาปัญญามิได้ ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เพ่งพินิจ ผู้ใดมีความเพ่งพินิจทั้งปัญญา ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน

• ขันธ์ห้านั้นเป็นภาระหนักแล คนเราเป็นผู้แบกภาระไว้ การรับภาระเป็นทุกข์หนักในโลก วางภาระเสียได้เป็นสุข หมดความปรารถนาแล้วนิพพาน



154628r2eihu25uyrrqa22.jpg



สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์

หลวงปู่ทวด (เหยียบน้ำทะเลจืด)

pngegg.5.3.2.png


พระคาถาบูชา


อิติ อิติ โพธิสัตว์



คติธรรมประจำใจ


พูดมาก   เสียมาก

พูดน้อย   เสียน้อย

ไม่พูด   ไม่เสีย

นิ่งเสีย   โพธิสัตว์


*********


ไม่ยึด  ไม่ทุกข์  ไม่สุข

ละได้ย่อมสงบ



DSC01098.1.jpg



สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี)

(หรือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี)

pngegg.5.3.3.png



พระคาถาบูชา


นะโม โพธิสัตว์โต พรหมรังษี



ตักเตือนตนของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

การเป็นคน  ให้เหมือนคน  

ต้องเป็นคน  ไม่ถือตน

เมื่อถือตน  ย่อมเป็นคน  ไม่ถึงตน


การเป็นคน  ต้องเป็นคน  ไม่หยามคน

เมื่อหยามคน  ย่อมถึงการ  เป็นพาลชน

อันพาลชน  ย่อมพาลคน  ทั่วทุกทิศ

เมื่อพาลคน  วาระจิต  ย่อมเศร้าหมอง


ถือทิฐิ  อกุศล  

วาระกรรม  วิบากขึ้น  

ย่อมสนอง  คนพาลเอย



6.jpg



เสด็จพ่อท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ

เจ้าแห่งพิธีการของโลกวิญญาณ

(หัวหน้ารูปพรหม ๑๖ ชั้น ตำแหน่งผู้พิชิตมาร)

p4.png



พระคาถาบูชา


ชินนะปัญจะระ



พระโอวาทของเสด็จพ่อท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ


เกิดเป็นมนุษย์มีเวลาสั้นมาก ควรจะใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และมีคุณค่าต่อตนเอง

เวลาที่ท่านเสียไปโดยใช่เหตุ เช่น นั่งนินทา และหัวเราะโดยไร้สาระ ควรจะให้มีคุณค่าต่อจิตวิญญาณของตนเอง

การจะทำงานเพื่อมนุษยชาตินั้น ต้องมีใจเด็ดเดี่ยว ยอมทนทุกข์เพื่อสุขในบั้นปลาย เรื่องส่วนรวมต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว งานนั้นก็สำเร็จได้

Rank: 8Rank: 8

S__31309826.jpg


ตอนที่ ๑

สำนักปู่สวรรค์และอุดมการณ์ ๑๐ ประการ



สำนักปู่สวรรค์


สำนักปู่สวรรค์ ตั้งขึ้นโดยมติของโลกวิญญาณ อันมีพรหมโลก เทวโลก และนรกโลก สำนักปู่สวรรค์โลกวิญญาณตั้งอยู่ที่สวรรค์ ชั้นที่ ๕ เป็นที่พำนักของบรมครูของสวรรค์ ปู่ครูที่สวรรค์ หรือพวกมีวิชาความรู้บนสวรรค์ เทพพรหมทุกชั้นฟ้าที่เป็นพวกที่มีวิชาความรู้ เขาเอาที่นั่นเป็นที่พบปะกันบนสวรรค์

โดยมี สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ (หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด) เป็นองค์ประธานดูแลโลกมนุษย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ทรงเป็นองค์อำนวยการ และเสด็จพ่อท้าวมหาพรหมชินนะปัญจะระ ผู้พิชิตมาร หัวหน้ารูปพรหม ๑๖ ชั้น ทรงเป็นเจ้าแห่งพิธีการ ทั้ง ๓ พระองค์นี้ทรงเป็น “ท่านบรมครูสำนักปู่สวรรค์”

จึงเป็นการทำงานของโลกวิญญาณโดยตรง เพื่อช่วยสัตวโลกที่กำลังตกอยู่ในทะเลแห่งความบ้าคลั่งในยุคแห่งกลียุคนี้ สำนักปู่สวรรค์มีหน้าที่แก้ เรียกว่า มีหน้าที่ปิดทองก้นพระ


อุดมการณ์ ๑๐ ประการของสำนักปู่สวรรค์


๑. ช่วยบำบัดทุกข์ทั้งกายและใจให้ชนทุกชั้น
๒. ประหารกิเลสของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัวให้เบาบางลง
๓. ทำลายความเชื่อที่งมงายหลงเข้าใจผิด
๔. ผดุงความเป็นธรรมของสังคม
๕. เทิดทูนพระมหากษัตริย์และสันติภาพเป็นสรณะ
๖. ส่งเสริมศาสนาให้ดีขึ้นทุกวิถีทาง
๗. ยินดีอุปถัมภ์นักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่หวังพระนิพพาน
๘. ร่วมมือกับผู้ปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์
๙. ส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรมเข้าสู่จิตใจเยาวชน

๑๐. ยืนยันโลกหน้ามีจริง เพื่อไม่ให้มนุษย์ที่ทำบาปมากขึ้น


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒

ปณิธาน ๘ ประการของพระโพธิสัตว์



ปณิธาน ๘ ประการของพระโพธิสัตว์


๑. พระโพธิสัตว์จักต้องบำเพ็ญตนให้เป็นคุณประโยชน์ต่อปวงสัตว์ โดยไม่ปรารถนารับผลตอบแทนใดๆ จากสัตว์ทั้งหลาย

๒. พระโพธิสัตว์สามารถเสวยสรรพทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้ โดยมิย่นย่อท้อถอย


๓. พระโพธิสัตว์สร้างคุณงามความดีไว้มิประมาณเท่าไร ก็สามารถอุทิศให้แก่สัตว์ทั้งหลายได้ ไม่หวงแหนตระหนี่ไว้


๔. พระโพธิสัตว์ตั้งจิตอยู่ในสมถธรรมอันสม่ำเสมอในปวงสัตว์ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ถ่อมตนไว้ไม่ลำพอง โดยปราศจากความขัดข้องใดๆ


๕. พระโพธิสัตว์เห็นพระโพธิสัตว์ทุกๆ องค์ ปานประหนึ่งเห็นพระพุทธองค์ อนึ่งพระสูตรใดที่ยังมิได้สดับตรับฟัง ครั้นได้มีโอกาสสดับตรับฟังแล้ว ก็ไม่บังเกิดความคลางแคลงกังขาอย่างไรในพระสูตรนั้นๆ


๖. พระโพธิสัตว์ไม่หันปฤษฏางค์ให้แก่ธรรมะของพระอรหันตสาวก แต่สมัครสมานเข้ากันได้กับธรรมะดังกล่าวนั้นๆ


๗. พระโพธิสัตว์ไม่เกิดความริษยาในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ผู้อื่น และไม่เกิดความหยิ่งทะนงในลาภสักการะอันบังเกิดแก่ตนเอง สามารถควบคุมจิตของตนไว้ได้


๘. พระโพธิสัตว์จักต้องหมั่นพิจารณาโทษของตนอยู่เป็นนิจ ไม่เที่ยวเพ่งโทษโพนทะนาโทษของผู้อื่น ตั้งจิตมั่นคงเด็ดเดี่ยวในการสร้างบารมีโกยสัตวโลกให้พ้นทุกข์

นี้แลชื่อว่าคุณธรรมอันเป็นคุณสมบัติ ๘ ประการของพระโพธิสัตว์ ผู้ใดปฏิบัติได้ตามนี้ ผู้นั้นก็จักได้เป็นพระโพธิสัตว์


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓

จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ



จริยธรรมของพระโพธิสัตว์ ๑๐ ประการ



๑. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ (มีความเจ็บไข้หรือโรคภัยเป็นธรรมดา)

๒. พระโพธิสัตว์ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่า จะไม่มีภยันตราย (มีภัยอันตรายเป็นธรรมดา)


๓. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ (ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา)


๔. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ (จะต้องมีมารขัดขวางการปฏิบัติโพธิจิตเป็นธรรมดา)

๕. พระโพธิสัตว์คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้ผลสำเร็จผลเร็ว (ปล่องวางเรื่องกาลเวลา ทำงานเพื่องาน)


๖. พระโพธิสัตว์คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้ผลประโยชน์จากเพื่อน (รักผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ)


๗. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอทุกอย่าง (ไม่มีความเห็นแก่ตัว)

๘. พระโพธิสัตว์ทำความดีแก่ผู้อื่น ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน (ต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์)


๙. พระโพธิสัตว์เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะมีหุ้นส่วนด้วย (ไม่ปรารถนาในลาภและสรรเสริญ)


๑๐. พระโพธิสัตว์เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนาจะได้โต้ตอบหรือฟ้องร้อง (การใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทา เป็นธรรมดาของโลก)

ขอให้พิจารณาทบทวนดูให้ดี จริยธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูงของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ เรียกว่า มหาอุปสรรค หรือเครื่องกีดขวางโพธิจิต คือ ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายหนีไม่พ้นสิ่งแวดล้อมที่ขัดขวางอย่างแน่นอน หากไม่รู้เท่าทันหรือเตรียมพร้อมไว้ก่อน ผู้ปฏิบัติธรรมจะท้อถอยหรือสูญเสียโอกาสไป


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔

สังคมพระโพธิสัตว์



เจริญพร

สานุศิษย์ทั้งหลาย วันนี้ได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นการชุมนุมของ “ผู้เสียสละเข้ามาร่วมทำงาน” สังคมของฆราวาสในสายตาของคนภายนอกที่เรียกตนว่า “เจริญแล้ว” เขาก็จะเรียกพวกเรานี้เป็นพวกงมงายเป็นพวกบ้า


ทั้งนี้เราต้องคิดว่า  “การทำดีเพื่อส่วนรวมในสังคม” เป็นจุดสำคัญ เราจะต้องมีธรรมะเรียกว่า “ขันติ” และ “ทมะ” ต่ออุปทาน เพราะว่าในชีวิตแห่งการเป็นสัตวโลกที่ประกอบด้วยมนุษย์ “นานาจิตตัง” มนุษย์ส่วนมากถือดี อวดดี ยึดตน แล้วก็มีตัวอิจฉา ไม่อยากเห็นคนอื่นดีกว่าตนในสังคมปุถุชน

ในขณะนี้ เรากำลังจะสร้างสังคมใหม่ เพื่อให้มนุษย์ระลึกถึงนามธรรม และเตรียมตัวว่าตายแล้วไปไหน สังคมกลียุคเช่นนี้ มนุษย์มีตัวโลภ โกรธ และหลงครอบงำ ทีนี้ภาวะที่เราจะทำงาน จุดสำคัญเราจะต้องหนักแน่นและมีสติพร้อมในการวินิจฉัยเหตุการณ์ ข้อเท็จจริง และการที่จะเข้ามาสู่การทำงาน เพราะว่า สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วย “สังคมลมปาก” พลังแห่งสังคมลมปากเช่นนี้ จึงเป็นสังคมที่

เราจะต้องมีสติพร้อมในการวินิจฉัยเหตุการณ์
เราจะต้องมีสติพร้อมในการวินิจฉัยความจริงเท็จ
เราจะต้องมีสติพร้อมในการที่จะเข้ามาสู่การทำงาน


ทีนี้จุดสำคัญในการทำงานมีอยู่อย่างหนึ่งคือ การทำงานใหญ่นั้นต้องประกอบด้วยคนมากหน้านานาบุคคล เขาเรียกว่า คนเรานี้สังขารเป็นอนิจจัง สังขารเคลื่อนสู่ความสลายแห่งกายเนื้อ และทุกคนมีความสามารถของตนไม่เหมือนกัน รวมทั้งทุกคนต่างก็มีความคิดไม่เหมือนกัน ทีนี้ภาวะแห่งการที่มนุษย์มีความสามารถไม่เหมือนกัน มีความคิดไม่เหมือนกันเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดปัญหาขึ้น

เพราะฉะนั้นการทำงานกับคนทั้งหลายในหมู่มาก เราจะต้องใช้หลักวินิจฉัยให้ละเอียดและขจัดปัญหาในสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งเราเล็งเห็นเป็นสิ่งที่ร้ายให้ออกจากสมองและสังคมนั้นให้หมด ท่านจะต้องเข้าใจว่า จะต้องมีอารมณ์แห่งการกระทบของอายตนะทั้งภายนอกและภายใน ทำให้เราฟุ้งซ่านและตื่นเต้น


ทีนี้เราต้องอย่ามีความวิตกกลัวว่าจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เราต้องถือว่าการทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว เราต้องเป็นผู้ที่มีความสุขุมรอบคอบในการดูในการแลทั้งหลายที่เกิดขึ้น คือ เราต้องเข้าใจตามหลักพระพุทธศาสนาว่า

ภาวะทั้งหลายล้วนแต่มีเหตุผล
เหตุเกิดขึ้นต้องมีสมุฏฐาน
สมุฏฐานก่อให้เป็นปัจจัย


ฉะนั้นเราจะต้องมีสติพิจารณาถึงสมุฏฐาน ถึงเหตุที่จะเกิดขึ้นไว้แต่เนิ่นๆ ภาวะแห่งสังคมของมนุษย์ซึ่งต่างคนต่างมีกรรมของตนเป็นจุดเสวย ประเทศก็มีกรรมของประเทศ บ้านก็มีกรรมของบ้าน ศาสนาก็มีกรรมของศาสนา เราทำงานเราตั้งปณิธานได้ แต่เราอย่ายึดปณิธานนั้นๆ ปุถุชนทำอะไรก็จะมีผิดมีถูกรวมกันไปในชีวิตแห่งการเสวยกรรมในโลกมนุษย์ ทีนี้จะทำอย่างไรจึงจะทำงานผิดน้อยที่สุด วิธีปฏิบัติคือ

เราจะต้องมีสติพร้อม
เราจะต้องไม่เกียจคร้าน
และรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นและนำมาวินิจฉัยประกอบเรื่อง


เมื่อท่านมีองค์ประกอบเหล่านี้ครบแล้ว โครงสร้างของสังคมก็จะเจริญขึ้น สังคมนั้นๆ จะเข้าไปสู่ความหายนะยาก เพราะอะไรเล่า เพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ล้วนแต่มีผู้มีสติ ผู้ที่ร่วมในสังคมล้วนแต่ฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเตือนให้รู้ว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่งนั้น จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ


จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างขี้ฟัน ล้างมือ เสร็จแล้วก็จะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ เมื่อเราออกจากบ้านก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงานในสัมมาอาชีวะแห่งการเลี้ยงตนชอบ นี่คือความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัยสี่

ฉะนั้นเมื่อองค์สมณโคดมมีสังขารอยู่ได้บำเพ็ญบารมีในโลกมนุษย์ มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งยุค ได้พิจารณาถึงเหตุและโดยปัจจัยในสิ่งที่จะพ้นกองทุกข์ได้ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนแปลงตามภาวะกรรมวิบาก พระองค์ก็ได้วินิจฉัยว่า ในการที่จะให้เกิดช้าก็ดี ในการที่จะให้พบความสุขก็ดี ในการที่จะให้พ้นทุกข์ก็ดี มันอยู่ที่นามธรรม


ภาวะนามธรรม ได้มีอำนาจฌาน ญาณ ในด้านมีสติพิจารณาตนกำกับไว้ว่า ในระหว่างการเป็นคนนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง หลังจากตายแล้วจะไปไหน สิ่งเหล่านี้ก็จะเตือนให้เราไม่ต้องมีทุกข์มาก การที่เราจะต้องไม่มีทุกข์มากนั้น

เราจะต้องรู้ว่า เรานี้ต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราจะต้องเป็นตัวของเราเอง และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเรา สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดเราไม่ควรทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานศาสนานั้น เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องใช้สมองและรับคำนินทาคำสรรเสริญมาก


สิ่งเหล่านี้ท่านทั้งหลายที่มีกรรมพัวพันกันมาในอดีต และได้เข้ามาร่วมในสังคม “ที่แหวกแนว” ในกลียุคเช่นนี้ ก็คิดว่าทุกคนจะต้องมาพบปะเพื่อการสนทนาธรรมก็ดี ปรึกษาการงานที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็ดี ได้เสียสละเวลามาพบและคุยกันย่อมก่อให้เกิดปัญญา ซึ่งปัญญาเกิดขึ้นได้ ๒ ทาง คือ

๑. ปัญญาที่เรียกว่า “ปัญญารู้บริสุทธิ์” ปัญญารู้บริสุทธิ์นั้นมันจะต้องเกิดจากการทำสมาธิจิตให้เป็นฌานญาน จึงจะเกิดปัญญารู้บริสุทธิ์


๒. ปัญญาอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ปัญญาจากการพบปะหรือปัญญาในโลกมนุษย์ ปัญญานี้เกิดจากการสนทนาปรึกษา เกิดจากความคิด เกิดจากการเห็น เกิดจากการอ่านมาก เป็นปัญญาที่เรียกว่า “ปัญญาจากภายนอกเข้าสู่ภายใน” ส่วนปัญญารู้บริสุทธิ์นั้นเกิดขึ้นจากการทำสมาธิจากภายในสู่ภายนอก

ขณะนี้ทุกคนที่มานั่งอยู่ในที่นี้ก็เรียกว่า มีปัญญาจากภายนอกเข้าสู่ภายในกันมาก จนเรียกว่า “อิ่มตัว” และกำลังค้นในเรื่องปัญญาจากภายในสู่ภายนอก อาตมาคิดว่าทุกคนคงตระหนักดี เวลานี้ภาวะโลกมนุษย์ร้อนเป็นไฟ เราจะต้องทำให้ดินแดนน้อยๆ แห่งหนึ่ง เป็นสถานที่สงบเยือกเย็นเกิดเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นสิ่งที่ให้โลกมนุษย์พิจารณาว่า

สิ่งลี้ลับในโลกนี้ยังมีอยู่มาก
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโลกนี้ยังมี
ความยุติธรรมของโลกนี้ยังมี


เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายที่เรียกว่า “ผู้มีกรรมน้อย” ได้มาร่วมใน “สังคมพระโพธิสัตว์” ในการบำเพ็ญตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็จำเป็นต้องอดทนต่อไป เพื่อช่วยส่วนรวม ให้ยึดมั่นตามเป้าหมายที่เราได้วางไว้ไม่มากก็น้อย หวังว่าทุกคนจงตั้งสติให้ดีและขอให้ทุกคนมีพลานามัยที่ดี


เขาเรียกว่ากายเนื้อดี จะทำให้กายในสบาย ทีนี้ ถ้าเราจะให้กายเนื้อดี เราจะต้องทำจิตใจให้สงบ เพราะว่าจิตที่ไม่รวมนิ่งย่อมฟุ้งซ่าน อันจะทำให้กายเนื้อแตก เพราะใช้ธาตุไฟมากเกินไป นี่เป็นหลักธรรมดาของ “หลักสรีรศาสตร์” ของมนุษย์

ฉะนั้นอาตมาก็ไม่มีอะไรจะเทศน์มากกว่านี้

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕

การดำเนินงานตามแนวพระโพธิสัตว์



การที่ท่านจะทำงาน ท่านต้องเข้าใจว่า งานทุกอย่างย่อมต้องมีอุปสรรค จะต้องมีการไม่เข้าใจงาน จะต้องมีการไม่สำเร็จบ้าง สัจจะแห่งความเจริญของการเป็นปุถุชน การที่จะร่วมกันทำงานนั้นสิ่งสำคัญคือ

- เราจะต้องทำด้วยความรัก (รักงานที่ทำ)
- ทำด้วยความฉันทะ (พอใจในงานที่ทำ)
- ทำด้วยความวิริยะ (ขยันในงานที่ทำ)
- ทำด้วยความอุตสาหะ (บากบั่นในงานที่ทำ)
- ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยในหมู่คณะ แนวงาน ผลงาน สิ่งที่ตั้งปณิธาน ก็จะมีทางสำเร็จ


ทีนี้การมาสู่สังคมของสำนักปู่สวรรค์นั้น ก็เท่ากับเรามาสู่อาณาจักรซึ่งเป็นอาณาจักรหนึ่ง เป็นอาณาจักรของผู้ที่จะเสียสละ เพื่อช่วยโกยสัตว์ให้พ้นทุกข์ ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า (เรายอมทุกข์เพื่อความสุขของคนอื่น) โดยเฉพาะในคนหมู่มากย่อมเกิด “นานาจิตตัง นานาวาระ นานากรรม” เพราะบางครั้งในหมู่คณะที่ทำงานย่อมต้องมีอารมณ์เกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งธรรมดาของการเป็นปุถุชน


แต่เมื่อเรามีอารมณ์ไม่พอใจเกิดขึ้นแล้ว เราต้องแลให้ดี พิจารณาว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะให้เพื่อนร่วมงานด้วยกันอย่ามีความแหนงใจ ฉะนั้นอย่าเก็บความในใจไว้ ทุกคนต่างก็ได้ให้สัจจะว่า “ปากกับใจต้องตรงกัน” คือทุกคนจะต้องมีคติว่า เรามาสู่สังคมนี้ เป็นสังคมของพี่ ของน้อง ของชาติ และของโยมที่มีกรรมพัวพันกันมา เมื่อมาสู่สังคมเดียวกันนี้ จำเป็นที่จะต้อง

๑. เมื่อไม่เข้าใจในการทำงานก็ควรขจัดออกไปเสีย


๒. สิ่งทั้งหลายควรพูดกันด้วยใจจริง เสร็จแล้วก็ควรขจัดออกไปเสียเลิกกันไป อย่ายึดอารมณ์ที่มีความแคลงใจกัน อยู่ในครรลองของระเบียบวินัยที่หมู่คณะได้วางไว้ในองค์กรนั้นๆ ในอาศรมนั้นๆ ในวัดนั้นๆ ก็จะเจริญตามเป้าหมายของงานได้ แต่ถ้าเรามาร่วมงานแล้ว ตั้งแง่ตั้งงอนมาถืออารมณ์ ไม่ถือในแนวทางแห่งความสามัคคีในหมู่คณะ ก็ไม่สามารถทำให้เกิดผลงานที่ดีได้ เพราะไม่ทำตามครรลองของระเบียบที่วางไว้

ฉะนั้นจึงใคร่จะให้คติว่า ถ้าท่านจะเป็นคณะกรรมการก็เท่ากับเสนอตัวเข้ามาเป็น “กรรมกร” นั่นเอง คือเข้ามารับใช้คนอื่น จึงควรทำงานอย่างมีครรลอง มีระเบียบถ้อยทีถ้อยอาศัย เปิดอกซึ่งกันและกัน สังคมก็จะเจริญได้นาน และจะสามารถเผยแผ่สัจธรรม เผยแผ่อุดมการณ์เข้าสู่จิตใจมนุษย์ในสยามได้มาก

การทำงานนั้นจุดสำคัญเราต้องมี “ขันติบารมี” เป็นหลัก ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มีจิตใจเสื่อม พลังที่จะนำนามธรรม นำเรื่องสวรรค์ นำเรื่องนรกเข้าสู่จิตใจผู้มีจิตใจเสื่อมนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก


ฉะนั้นทุกคนจงมีกำลังใจ เมื่อเราได้ปวารณาตัวเพื่อความสุขของคนอื่น เราได้มาร่วมสังคมที่เป็นกรรมกร เพื่อรับใช้คนอื่น มาให้บริการคนอื่น และทุกคนต้องมีพลานามัยดีคือ สังขารของตนดี จึงจะทำงานได้ ต้องอยู่อย่างมีระเบียบวินัยในการควบคุมตัว คือ

๑. อย่าอยู่ในที่หนาวเกินไปและร้อนเกินไป


๒. กินอาหาร (สิ่งปฏิกูลบำรุงปฏิกูล) ให้ขันธ์อยู่ ต้องอย่ากินให้มากเกินไปและอย่าให้หิวเกินไป


๓. เรื่องการนอน ก็อย่านอนมากเกินไปและอย่าน้อยเกินไป เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ดำเนินตามสายกลาง


วางระเบียบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ รู้จักให้สังขารที่ปรุงแต่งนี้ ได้เดิน ได้นั่ง ได้นอนตามธรรมชาติแห่งขันธ์ ๕ ของการเป็นมนุษย์ แล้วเมื่อนั้นก็จะมีพลานามัยดี การที่พลานามัยดี เราจะต้องควบคุมจิตใจให้ดี ต้องอย่ามีอารมณ์ร้าย อย่าให้อารมณ์โทสะ โมหะ โลภะ เข้ามาครอบครองมากเกินไป

ทีนี้เราจะต้องควบคุมอารมณ์แห่งโทสะ โมหะ และอารมณ์แห่งโลภะได้ ก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณากายในกาย ด้วยการทำกรรมฐานหรือทำสมาธิให้จิตนิ่ง ให้จิตเป็นหนึ่งเพื่อพักผ่อน ให้ธาตุอยู่เป็นปกติ เมื่อจิตเป็นหนึ่งก็ส่องให้เกิดปัญญาขึ้น ก็ย่อมที่จะเป็นคนมีความเจริญในการเป็นมนุษย์

เจริญพร

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖

น้ำใจพระโพธิสัตว์



พระประมวล - กราบนมัสการหลวงปู่ที่เคารพ โปรดให้โอวาทด้วยครับ

หลวงปู่ทวด - คือการใช้พลังจิต มีบารมีของเทพพรหมผ่านในการรักษาโรคนั้น เป็นเรื่องที่เขาเรียกว่า ความพิสดารของจิต จำเป็นที่จะต้องได้รับการชำระจากกิเลส จิตจะต้องสงบ จะต้องยิ้มผ่องใส จะต้องปราศจากในความโลภ ความโกรธ ความหลง จิตนั้นจะต้องเป็นเอกัคตาจิตอย่างเป็นหนึ่ง พลังจิตอันนั้นก็คงที่ และก็จะเป็นพลังที่สามารถช่วยมนุษย์ให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บแห่งกายเนื้อนั้นได้ นอกจากโรคกรรมวิบากขนาดหนัก

ทีนี้สำหรับในสิ่งที่จะตั้งปรารถนานั้น ต้องเข้าใจว่าความปรารถนาของมนุษย์ เป็นสิ่งที่คิดได้ แต่กรรมเป็นสิ่งที่จะส่งผล และบุญวาสนาที่สะสมมาก็ย่อมที่จะสำเร็จสัมฤทธิ์ผล แต่ในฐานะที่คิดจะช่วยเพื่อนมนุษย์นั้นน่ะ ก็มีความแน่วแน่แห่งอารมณ์ของการเป็น ที่เขาเรียกว่า จิตโพธิสัตว์ เพราะฉะนั้นการที่จะประพฤติปฏิบัติการเป็นพระโพธิสัตว์นั้น พระโพธิสัตว์จะต้องมี “ขันติ” เป็นหลัก

พระโพธิสัตว์จะต้องทนทุกข์ทรมานทุกอย่าง เพื่อความสุขของคนอื่น เพื่อความสุขของสัตวโลก เพื่อความสุขของหมู่คณะ เพื่อความสุขของเผ่าพันธุ์ เพื่อความสุขของคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง นั่นคือ พระโพธิสัตว์บารมี


ฉะนั้นในการคิดทุกอย่าง เราต้องอย่าคิดแต่ได้ เราต้องคิดความเสียด้วย ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ปุถุชนทั่วไปตั้งเป้าหมาย ตั้งความหวัง ตั้งสิ่งโน้นสิ่งนี้สูงเกินไป และสิ่งโน้นสิ่งนี้ ถ้าไม่สมความคิด ไม่สมความหวัง ไม่สัมฤทธิ์ผล เกิดความเสียใจ เกิดความท้อใจ เกิดความน้อยใจ เป็นต้น

เพราะฉะนั้นในการที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อมนุษย์นั้น

๑. จะต้องอย่ามีจิตหวั่นไหวในอารมณ์คำพูดของคนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง


๒. จะต้องตั้งมั่นในสติ และจุดสำคัญวิชาจะไม่เสื่อม ต้องเคารพครูบาอาจารย์ ความกตัญญู วิชานั้นจึงไม่เสื่อม


๓. พยายาม “ละ” ถึงที่สุด พระโพธิสัตว์จะไม่มีอะไรติดตัว และพระโพธิสัตว์จะต้องพร้อมที่จะควักตา ตัดแขน ตัดขา ควักหัวใจ ผ่าไส้ ผ่าท้องให้กับผู้ขอ นั่นจึงจะเรียกว่า เป็นพระโพธิสัตว์ที่แท้จริง


แต่ถ้าสภาวะการดุลกรรมในสภาวะอะไรทั้งหลาย และในสภาวะการทำงานก็ต้องเป็นทีมงาน ทีมงานที่ดีทุกคนจะต้องเก็บอารมณ์ เก็บความพอใจไม่พอใจส่วนตัวออกไป เราจะต้องแยกคำว่า “ส่วนตัว” “ส่วนรวม” ออกจากจิตของเราให้ได้ และสิ่งที่คิดก็จะสัมฤทธิ์ผลได้


(วันเสาร์ที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑)

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗

พรของพระโพธิสัตว์



ในภาวะทั้งหลายการเป็นมนุษย์ ท่านบอกว่า ท่านได้มีการผิดพลาด ท่านต้องเข้าใจว่า ในการทำงานทุกอย่าง ผู้ไม่เคยผิดแสดงว่าผู้นั้นไม่เคยทำงาน แต่เราจะทำอย่างไร จึงให้มันผิดน้อยที่สุด ภาษาของนักปราชญ์เขามีคำหนึ่งว่า จงรับความจริงและอภัยให้กับความผิดพลาดที่ผ่านไป


ที่นี้ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย ชีวิตแห่งการตายนั้นก็ง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นซิยาก เราจะทำอย่างไรจึงให้อยู่ได้อย่างสบาย ในภาวะแห่งการอยู่ที่จะอยู่อย่างสบายนั้น เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์

ทีนี้เราจะอยู่อย่างอารมณ์เช่นนี้ได้นั้น จะทำอย่างไรก็คือ อยู่อย่างมีธรรมารมณ์ของเราเอง การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ของเราเองนั้นคือ อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคนและรู้หน้าที่ในการงาน คือรู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นสิ่งที่เราจะต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน ทำเพื่อหวังผลประโยชน์ ทำเพื่อหวังลาภสักการะ


ถ้าเราทำงานเพื่อสิ่งที่เราจะต้องทำ ไม่ใช่ทำเพื่อผลตอบแทน ทำเพื่อหวังผลประโยชน์ ทำเพื่อหวังสักการะ ถ้าเราทำการงานเพื่อหวังผลต่างๆ แล้ว ถ้าสิ่งที่เราหวังนั้นไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราก็ย่อมเกิดความโทมนัส เกิดความเสียใจ เกิดความน้อยใจ เกิดความเวทนา แต่ถ้าเราอยู่อย่างชีวิตที่ว่า เกิดเพราะกรรม อยู่เพราะกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมที่จะมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง

การมีชีวิตอยู่นั้น เราจะอยู่อย่างเพื่อเงินตรา หรืออยู่อย่างเพื่อชื่อเสียง หรืออยู่เพื่อเกียรติยศ หรืออยู่อย่างเพื่อวัตถุ หรือถ้าเราอยู่อย่างที่กล่าวมาแล้ว ก็เท่ากับเราไม่เป็นตัวของตัวเอง คืออยู่อย่างเอาชีวิตจิตวิญญาณแห่งการเกิดนั้นมาฝากอยู่กับสิ่งสมมุติ ฝากอยู่กับเงินที่มนุษย์สมมุติขึ้นมาใช้ ฝากกับชื่อเสียงที่ไม่มีตัวตน ฝากอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์ที่ตั้งขึ้นมา ฝากอยู่กับวัตถุที่ไม่จีรังที่ต้องสลาย นั่นเป็นการอยู่อย่างงมงาย อยู่อย่างโง่เขลา


แต่ถ้าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุข อยู่อย่างมีความเป็นมนุษย์ ภาษาปักษ์ใต้ เรียกว่า ตนอยู่อย่างแลตน แลตนนั้นแหล่ คือการอยู่อย่างแท้จริง ความเงียบมีสัจจะ ความเงียบมีธรรมะ การแลตนย่อมที่จะรู้การบกพร่องตนได้ เปรียบเสมือนหนึ่งชีวิตเราเดินไปข้างหน้า ตัวเราย่อมมองไม่เห็นตัวเราเอง ต่อเมื่อมีคนอื่นมองหลังเราตามมาและอธิบายถึงตัวเรา จึงรู้ว่าเป็นอย่างไร

ฉะนั้นการที่จะอยู่นั้น ต้องอยู่อย่างมีความหวัง คือเราต้องถือว่าอยู่อย่างมีประโยชน์ อยู่อย่างให้คนอื่นคิดถึงด้วยความบริสุทธิ์ อยู่อย่างมีหน้าที่ที่เราเกิดมาต้องทำ เพราะเราเป็นคน


คนเรานั้น ถ้าจะเป็นคนดีต้องหัดมีความเมตตาเป็นหลัก มีความกรุณาเป็นสรณะ มีความอภัยเป็นจิตใจ เพราะจิตใจถ้ามีอภัยต่อกันและกันแล้ว จิตใจนั้นเป็นจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง เพราะเราอยู่อย่างไม่มีความอาฆาต อยู่อย่างมีความเมตตา อารมณ์แห่งความเมตตาของจิตนั้นแหละ จะทำให้อารมณ์ของเราเกิดปีติอย่างดีตลอดเวลา

ในเมื่อท่านทั้งหลายก็อุตส่าห์สมัครตนมาเป็นสานุศิษย์ มาสมัครเป็นสาวกของอาตมา ก็ขอให้ท่านต้องอยู่อย่างอารมณ์แห่งการเป็นพระโพธิสัตว์ คือมีอารมณ์แห่งการให้ มีอารมณ์แห่งการอภัย มีอารมณ์แห่งความไม่ยึด มีอารมณ์แห่งความนิ่งเฉย มีอารมณ์แห่งการที่จะต้องยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างในกฎของอนิจจัง อนัตตา

ในวันนี้ท่านทั้งหลายก็อุตส่าห์มากันมาก และท่านที่ไม่ได้มาก็ส่งกระแสจิตมาก็ดี ก็ขออนุโมทนาในการที่ท่านทั้งหลายตั้งใจอุตส่าห์วิริยะคิดถึง และท่านทั้งหลายยังได้ช่วยกันบำเพ็ญอีกอารมณ์หนึ่ง คือ


ท่านได้ร่วมกันบำเพ็ญอธิษฐานบารมี เพื่อให้โลกเกิดสันติ เพื่อให้มนุษย์อยู่อย่างเป็นสุข เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเอกราช ซึ่งเป็นอารมณ์ดีมาก เพราะว่าการอธิษฐานนั้นเป็นการตั้งสัจจะเพื่อแผ่เมตตาให้กับสัตวโลก จิตแห่งการอธิษฐานนี้นับว่าเป็นจิตที่สูง คือท่านได้พยายามปรับจิตวิญญาณของท่านให้เป็นผู้ให้ ไม่ใช่ผู้ขอและไม่ใช่เป็นผู้ยึ

เพราะฉะนั้นอาตมาจึงหวังว่า ถ้าท่านทั้งหลายร่วมกันอธิษฐานและพยายามปฏิบัติจิตวิญญาณ ให้อธิษฐานเรื่อยๆ ไป เท่ากับท่านได้ทำงานสำคัญของการเป็นมนุษย์ที่ดี คือ

• ท่านได้พยายามฝึกจิตวิญญาณของท่านให้มีเมตตาเพื่อสัตวโลก
• ฝึกให้จิตใจนั้นไม่เป็นคนคับแคบ
• ฝึกให้ตนเป็นผู้เสียสละ


เพราะฉะนั้น ธรรมารมณ์แห่งการอธิษฐานนี้แหละ เป็นธรรมารมณ์ของพระโพธิสัตว์ที่สรรเสริญมนุษย์ว่า มนุษย์ผู้นั้นเริ่มมีอารมณ์แห่งการเป็นพระโพธิสัตว์ และท่านทั้งหลายก็ขอพร

อาตมาก็ขอบอกท่านว่า พรที่ดีที่สุด ก็คือ การให้ ให้ทุกอย่างแก่สัตวโลก ให้ทุกอย่างแก่เพื่อนมนุษย์ ให้ทุกอย่างแก่ประเทศชาติที่ท่านอยู่ ให้ทุกอย่างแก่สังคมที่ท่านเกี่ยวข้อง ให้ทุกอย่างแก่หมู่คณะที่ท่านมีกิจส่วนร่วม นั่นคือ พรอันสูงสุด


ฉะนั้นเราก็ขอให้ท่านจงมีพรนี้ประจำใจ สำหรับท่านที่จะขอให้พลานามัยสุขภาพแข็งแรงนั้น เราก็ขอให้ท่านได้พรนี้ด้วยพลังจิตแห่งบารมีที่เราสะสมมา และสำหรับใครที่อธิษฐานว่า ขอให้ท่านร่ำรวยนั้น เราอยากให้ท่านรวยน้ำใจ ไม่ใช่รวยทรัพย์ รวยวัตถุ และการรวยทรัพย์ รวยวัตถุ ย่อมไม่สามารถที่จะนำจิตวิญญาณของท่านขึ้นสูงไปถึงพระนิพพานได้

ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายที่ท่านขอเรา ก็ให้ตามที่ท่านขอ แต่ให้ด้วยหลักระเบียบและให้แบบอารมณ์พระโพธิสัตว์

เจริญพร

(วันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑)

‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-12-1 00:48 , Processed in 0.054517 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.