แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 41899|ตอบ: 59
go

ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

หลวงปู่ดู่-3.jpg



ธรรมโอวาทหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา



ข้าพเจ้าได้คัดลอกเนื้อหาธรรมโอวาทของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มาจากหนังสือ “พรหมปัญโญบูชา” ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมประวัติและคำสอนของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีเนื้อหาส่วนของธรรมโอวาท จำนวน ๘๕ ตอน ดังนี้

สารบัญ


๑.    สมมุติและวิมุตติ                      ฺ        
๒.    อุปมา ศีล สมาธิ ปัญญา
๓.    หนึ่งในสี่                                          

๔.    แสงสว่างเป็นกิเลส ?
๕.    วัดผลการปฏิบัติด้วยสิ่งใด ?         

๖.    อารมณ์อัพยากฤต
๗.    ตรี โท เอก                                    
๘.    ต้องสำเร็จ
๙.    จะเอาโลกหรือเอาธรรม                 
๑๐.   แนะนำวิธีปฏิบัติ
๑๑.   การบวชจิต - บวชใน                 

๑๒.   ควรทำหรือไม่ ?
๓.   การอุทิศส่วนกุศลภายนอกภายใน
๑๔.   คำสารภาพของศิษย์
๑๕.   ทรรศนะต่างกัน                           
๑๖.   อุเบกขาธรรม
๑๗.   ข้อควรคิด    
                       
๑๘.   ไม่พยากรณ์
๑๙.   แนะนำวิธีวางอารมณ์    
           
๒๐.   อย่าพูดมาก
๒๑.   คิดว่าไม่มีดี          
                    
๒๒.   “พ พาน” ของหลวงพ่อ
๒๓.   การสอนของท่าน  
                  
๒๔.   หัดมองชั้นลึก
๒๕.   เวลาเป็นของมีค่า       
            
๒๖.   ต้องทำจริง
๒๗.   ล้มให้รีบลุก     
                     
๒๘.   อย่าทำเล่น
๒๙.   อะไรมีค่าที่สุด     
                     
๓๐.   ขอเพียงความรู้สึก
๓๑.   คลื่นกระทบฝั่ง        
                    
๓๒.   ปรารภธรรมเรื่อง “การเกิด”
๓๓.   กรรมฐานพาลจิตเพี้ยน   
            
๓๔.   จะไปทางไหน      
๓๕.   เปรียบศีล            
                     
๓๖.   บทเรียนทางธรรม
๓๗.   อานิสงส์การภาวนา
                  
๓๘.   ปลูกต้นธรรม
๓๙.   เทวทูต         
                           
๔๐.   สติธรรม
๔๑.   ธรรมะจากซองยา (บุหรี่)   
         
๔๒.   ธรรมะจากโรงพยาบาล
๔๓.   ของจริง ของปลอม     
               
๔๔.   ให้รู้จักบุญ
๔๕.   อุบายธรรมแก้ความกลัว   
            
๔๖.   พระเก่าของหลวงพ่อ
๔๗.   จะตามมาเอง            
            
๔๘.   เชื่อจริงหรือไม่
๔๙.   พระที่คล้องใจ      
                  
๕๐.   จะเอาดีหรือเอารวย
๕๑.   หลักพุทธศาสนา     
                 
๕๒.   ของจริงนั้นมีอยู่
๕๓.   สนทนาธรรม        
                  
๕๔.   ผู้บอกทาง
๕๕.   บทเรียนบทแรก    
                  
๕๖.   หนึ่งในสี่ (อีกครั้ง)
๕๗.   วิธีคลายกลุ้ม         
               
๕๘.   อะไรได้ อะไรเสีย
๕๙.   อารมณ์ขันของหลวงพ่อ    
      
๖๐.   ของหายาก
๖๑.   คนหายาก      
                  
๖๒.   ด้วยรักจากศิษย์
๖๓.   ด้วยรักจากหลวงพ่อ   
            
๖๔.   ต้องเคยเจอกัน
๖๕.  หลวงพ่อกับศิษย์ใหม่     
        
๖๖.   คาถาของหลวงพ่อ
๖๗.   วัตถุสมบัติ ธรรมสมบัติ    
      
๖๘.   ทำไมหลวงพ่อ
๖๙.   “งาน” ของหลวงพ่อ     
        
๗๐.   ปาฏิหาริย์
๗๑.   เรื่องบังเอิญที่ไม่บังเอิญ  
      
๗๒.   หลวงพ่อบอกข้อสอบ
๗๓.   ตัวประมาท            
            
๗๔.   ของโกหก
๗๕.   ถึงวัดหรือยัง   
                     
๗๖.   รางวัลทุนภูมิพล
๗๗.   หลวงปู่ทวดช่วยชีวิต  
         
๗๘.   ทามาก็อต จิ
๗๙.   ไตรสรณาคมน์    
                  
๘๐.   ไม่พอดีกัน
๘๑.   ธรรมะจากสัตว์        
              
๘๒.   คุณธรรม ๖ ประการ
๘๓.   ที่สุดแห่งทุกขเวทนา
           
๘๔.   พุทธนิมิต
๘๕.   หลวงพ่อดู่ หลวงปู่ทวด

IMG_5095.1.png



ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :


ตอนที่ 1 - 20

http://www.dannipparn.com/thread-74-1-1.html


ตอนที่ 21 - 35

http://www.dannipparn.com/thread-74-2-1.html


ตอนที่ 36 - 57
http://www.dannipparn.com/thread-74-3-1.html


ตอนที่ 58 - 67

http://www.dannipparn.com/thread-74-4-1.html


ตอนที่ 68 - 77

http://www.dannipparn.com/thread-74-5-1.html


ตอนที่ 78 - 85

http://www.dannipparn.com/thread-74-6-1.html


o5.png



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :
           • หลวงพ่อดู่ พรหมปัญโญ. พรหมปัญโญบูชา: เมธา พรพิพัฒน์ไพศาล เรียบเรียง, ๒๕๔๑.

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑

สมมุติและวิมุตติ



ในวันสิ้นปีเมื่อหลายปีก่อน ผู้เขียนได้มาค้างคืนอยู่ปฏิบัติที่วัดสะแก และได้มีโอกาสเรียนการปฏิบัติกับหลวงพ่อ เรื่อง นิมิตจริง นิมิตปลอม ที่เกิดขึ้นภายในจากการภาวนา

ท่านตอบโต้ สรุปได้ใจความว่า

ต้องอาศัยสมมุติขึ้นก่อนจึงจะเป็นวิมุตติได้ เช่น การทำอสุภะหรือกสิณ ต้องอาศัยสัญญาและสังขารน้อมนึกเป็นนิมิตขึ้น ในขั้นนี้ไม่ควรสงสัยว่านิมิตนั้นเป็นของจริงหรือของปลอม มาจากภายนอกหรือออกมาจากจิต เพราะเราจะอาศัยสมมุติตัวนี้ทำประโยชน์ คือ ยังจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่ขึ้น แต่ก็อย่าสำคัญมั่นหมายถึงตนรู้เห็นแล้ว ดีวิเศษแล้ว

การน้อมจิตตั้งนิมิตเป็นองค์พระ เป็นสิ่งที่ดีไม่ผิด เป็นศุภนิมิตคือนิมิตที่ดี เมื่อเห็นองค์พระ ให้ตั้งสติคุมเข้าไปตรงๆ (ไม่ปรุงแต่งหรืออยากโน้นนี้) ไม่ออกซ้าย ไม่ออกขวา ทำความเลื่อมใสเข้า เดินจิตให้แน่วแน่ สติละเอียดเข้า ต่อไปก็จะสามารถแยกแยะหรือพิจารณานิมิตให้เป็นไตรลักษณ์จนเกิดปัญญาสามารถจะก้าวเข้าสู่วิมุตติได้

“ก็เหมือนแกเรียนหนังสือทางโลกแหละ มาถึงทุกวันนี้ได้ ครูเขาก็ต้องหลอกหัดให้แกเขียนหนังสือ หัดให้แกอ่านโน่นนี่ มันถึงจะได้ดีในบั้นปลาย นี่ข้าเปรียบเทียบแบบโลกให้ฟัง”


กล่าวโดยสรุปคือ ท่านสอนให้ใช้ประโยชน์จากนิมิตไม่ใช่ให้หลงนิมิต สอนให้ใช้แสงสว่างใช้สมาธิ ไม่ใช่ให้ติดแสงสว่างหรือติดสมาธิ

pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๒

อุปมา ศีล สมาธิ ปัญญา



ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงน้าสายหยุด ท่านได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลวงพ่อเคยเปรียบธรรมะของพระพุทธเจ้าเหมือนแกงส้ม แกงส้มนั้นมี ๓ รส คือเปรี้ยว เค็ม และเผ็ด ซึ่งมีความหมายดังนี้

รสเปรี้ยว หมายถึง ศีล ความเปรี้ยวจะกัดกร่อนความสกปรกออกได้ฉันใด ศีลก็จะขัดเกลาความหยาบออกจากกาย วาจา ใจ ได้ฉันนั้น


รสเค็ม หมายถึง สมาธิ ความเค็มสามารถรักษาอาหารต่างๆ ไม่ให้เน่าเสียได้ฉันใด สมาธิก็สามารถรักษาจิตของเราให้ตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีได้ฉันนั้น


รสเผ็ด หมายถึง ปัญญา ความเผ็ดร้อนโลดแล่นไปเปรียบได้ดั่งปัญญาที่สามารถก่อให้เกิดความคิด ขจัดความไม่รู้ เปลี่ยนจากของคว่ำเป็นของหงาย จากมืดเป็นสว่างได้ฉันนั้น


pngegg.5.3.2.png



ตอนที่ ๓

หนึ่งในสี่



ครั้งหนึ่งหลวงพ่อได้ปรารภธรรมกับผู้เขียนว่า.....

“ข้านั่งดูดยา มองดูซองยาแล้วก็ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า เรานี้ปฏิบัติได้ ๑ ใน ๔ ของศาสนาแล้วหรือยัง ถ้าซองยานี้แบ่งเป็น ๔ ส่วน เรานี่ยังไม่ได้ ๑ ใน ๔ มันจวนเจียนจะได้แล้วมันก็คลาย เหมือนเรามัดเชือกจนเกือบจะแน่นได้ที่แล้วเราปล่อย มันก็คลายออก เรานี่ยังไม่เชื่อจริง ถ้าเชื่อจริง ก็ต้องได้ ๑ ใน ๔ แล้ว”

ที่ว่า ๑ ใน ๔ นั้นอุปมาดั่งการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผลในพุทธศาสนา ซึ่งแบ่งเป็นขั้นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และอรหัตผล อย่างน้อยเราเกิดมาชาติหนึ่งชาตินี้ ได้พบพระพุทธศาสนาซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติอันล้ำค่าแล้ว หากไม่ปฏิบัติธรรมให้ได้ ๑ ใน ๔ ของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างน้อยคือ เข้าถึงความโสดาบัน ปิดประตูอบายภูมิให้ได้ ก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้ประมาทอยู่ เหมือนเรามีข้าวแล้วไม่กิน มีนาแล้วไม่ทำนา ฉันใดก็ฉันนั้น


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔

แสงสว่างเป็นกิเลส ?



มีคนเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า มีผู้กล่าวว่า การทำสมาธิแล้วบังเกิดความสว่างหรือเห็นแสงสว่างนั้นไม่ดี เพราะเป็นกิเลส มืดๆ จึงจะดี

หลวงพ่อท่านกล่าวว่า


“ที่ว่าเป็นกิเลสก็ถูก แต่เบื้องแรกต้องอาศัยกิเลสไปละกิเลส (อาศัยกิเลสส่วนละเอียดไปละกิเลสส่วนหยาบ) แต่ไม่ได้ให้ติดในแสงสว่างหรือหลงแสงสว่าง แต่ให้ใช้แสงสว่างให้ถูก ให้เป็นประโยชน์ เหมือนอย่างกับเราเดินผ่านไปในที่มืดต้องใช้แสงไฟ หรือจะข้ามแม่น้ำมหาสมุทรก็ต้องอาศัยเรือ อาศัยแพ แต่เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่ได้แบกเรือแบกแพขึ้นฝั่งไป”

แสงสว่างอันเป็นผลจากการเจริญสมาธิก็เช่นกัน ผู้มีสติปัญญาสามารถใช้เพื่อให้เกิดปัญญาอันเป็นแสงสว่างภายใน ที่ไม่มีแสงใดเสมอเหมือนดังธรรมที่ว่า


คนย่อมบริสุทธิ์ด้วยปัญญา

pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๕

วัดผลการปฏิบัติด้วยสิ่งใด ?



มีผู้ปฏิบัติหลายคน ปฏิบัติไปนานเข้าชักเขว ไม่ชัดเจนว่าตนปฏิบัติไปทำไม หรือปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังครั้งหนึ่ง เคยมีลูกศิษย์กราบเรียนถามหลวงพ่อท่านว่า

“ภาวนามาก็นานพอสมควรแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ มีนิมิตภายนอก แสงสีต่างๆ เป็นต้น ดังที่ผู้อื่นเขารู้เห็นทางปฏิบัติกันเลย”

หลวงพ่อท่านย้อนถาม สั้นๆ ว่า


ปฏิบัติแล้ว โกรธ โลภ หลง แกลดน้อยลงหรือเปล่าล่ะ ถ้าลดลง ข้าว่าแกใช้ได้”


pngegg.5.3.2.png


ตอนที่ ๖

อารมณ์อัพยากฤต



เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้กราบเรียนถามหลวงพ่อว่าอารมณ์อัพยากฤตไม่จำเป็นต้องมีได้เฉพาะพระอรหันต์ ใช่หรือไม่ ? ท่านตอบว่า

“ใช่ แต่อารมณ์อัพยากฤตของพระอรหันต์ท่านทรงตลอดเวลาไม่เหมือนปุถุชนที่มีเป็นครั้งคราวเท่านั้น”

ท่านอุปมาอารมณ์ให้ฟังว่า เปรียบเสมือนคนไปยืนที่ตรงทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปทางดี (กุศล) อีกทางหนึ่งไปในทางที่ไม่ดี (อกุศล) ท่านว่า อัพยากฤตมี ๓ ระดับ คือ

• ระดับหยาบ คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉยๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น


• ระดับกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิ มีสติ มีความสงบของจิต วางอารมณ์จากสิ่งที่ดี ที่ชั่ว ดังที่เรียกว่า อุเบกขารมณ์


• ระดับละเอียด คือ อารมณ์ของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีทั้งอารมณ์ที่คิดปรุงไปในทางดีหรือในทางไม่ดี วางอารมณ์อยู่ได้ตลอดเวลาเป็นวิหารธรรมของท่าน


pngegg.5.3.3.png



ตอนที่ ๗

ตรี โท เอก



ครั้งหนึ่งผู้เขียนจะจัดทำบุญเพื่อเป็นกตัญญูกตเวทิตาธรรมน้อมถวายแด่หลวงพ่อเกษม เขมโก เนื่องในโอกาสที่หลวงพ่อท่านมีอายุครบ ๗๔ พรรษา เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘

ผู้เขียนได้เรียนถามหลวงพ่อว่า

“การทำบุญอย่างไร จึงจะดีที่สุด”


หลวงพ่อท่านได้เมตตาตอบว่า

“ของดีนั้นอยู่ที่เรา ของดีนั้นอยู่ที่จิต


จิตมี ๓ ชั้น ตรี โท เอก

ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย โทก็ปานกลาง

เอกนี่อย่างอุกฤษฏ์


มันไม่มีอะไร.....ก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ตัวอนัตตานี่แหละเป็นตัวเอก

ไล่ไปไล่มา ให้มันเห็นสังขารร่างกายเราตายแน่ๆ


คนเราหนีตายไม่พ้น

ตายน้อย ตายใหญ่

ตายใหญ่ก็ตายหมด ตายน้อยก็หลับ

ไปตรองดูให้ดีเถอะ.....”

pngegg.5.3.4.png



ตอนที่ ๘

ต้องสำเร็จ



หลวงพ่อเคยสอนว่า.....

“ความสำเร็จนั้นมิใช่อยู่ที่การสวดมนต์อ้อนวอนพระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้วทุกอย่างต้องสำเร็จไม่ใช่จะสำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้ แล้วครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ทำตามแบบเป็นตัวอย่างให้เราดู อัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด


เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ขอให้ลงมือทำทันที ข้าขอรับรองว่าต้องสำเร็จ ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น อยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ”


ขอให้ตั้งปัญหาถามตัวเองว่า “สิ่งนั้น บัดนี้เราได้ลงมือทำแล้วหรือยัง ?”

pngegg.5.3.5.png



ตอนที่ ๙

จะเอาโลกหรือเอาธรรม



บ่อยครั้งที่มีผู้มาถามปัญหากับหลวงพ่อโดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติมิตร หรือคนอื่นๆ มาปรารภให้หลวงพ่อฟังอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจผู้เขียนว่า

“โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม”


ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า


“เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้นไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเองแก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง


ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้วต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา เพราะธรรมแท้ๆ ย่อมเกิดจากในตัวของเรานี้ทั้งนั้น”

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๐

แนะนำวิธีปฏิบัติ



เคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งมีปัญหาถามว่า นั่งปฏิบัติภาวนา แล้วจิตไม่รวม ไม่สงบ ควรจะทำอย่างไร ท่านแก้ให้ว่า


“การปฏิบัติ ถ้าอยากให้เป็นเร็วๆ มันก็ไม่เป็นหรือไม่อยากให้เป็น มันก็ประมาทเสีย ไม่อยากเป็นก็ไม่ว่า ทำใจให้เป็นกลางๆ ตั้งใจให้แน่วแน่ในกัมมัฏฐานที่เรายึดมั่นอยู่นั้น แล้วภาวนาเรื่อยไป เหมือนกับเรากินข้าว ไม่ต้องอยากให้มันอิ่ม ค่อยๆ กินไปมันก็อิ่มเอง ภาวนาก็เช่นกัน ไม่ต้องไปคาดหวังให้มันสงบ หน้าที่ของเราคือ ภาวนาไป ก็จะถึงของดีของวิเศษในตัวเรา แล้วจะรู้สึกชัดขึ้นมาว่าอะไรเป็นอะไร ให้หมั่นทำเรื่อยไป


pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๑๑

การบวชจิต - บวชใน



หลวงพ่อเคยปรารภไว้ว่า.....

จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มีศีล รักในการปฏิบัติ จิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คน มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เท่าเทียมกันทุกคน ไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะแต่อย่างใด ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง

ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า.....
“ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น มีคำกล่าวว่า


พุทธัง สรณัง คัจฉามิ…ให้นึกถึงว่า เรามีพระพุทธเจ้า ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ของเรา


ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ…ให้นึกว่า เรามีพระธรรม ให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์


สังฆัง สรณัง คัจฉามิ…ให้นึกว่า เรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์


แล้วอย่าสนใจขันธ์ ๕ หรือร่างกายของเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช ชายก็เป็นพระภิกษุ หญิงก็เป็นพระภิกษุณี อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมมบารมีขั้นอุกฤษฏ์ทีเดียว”


pngegg.5.3.2.png


ตอนที่ ๑๒

ควรทำหรือไม่ ?



ครั้งหนึ่ง มีลูกศิษย์หลวงพ่อผู้สนใจธรรมปฏิบัติกำลังนั่งภาวนาเงียบอยู่ ไม่ห่างจากท่านเท่าใดนัก บังเอิญมีแขกมาหาศิษย์ผู้นั้นแต่ไม่เห็น ก็มีศิษย์อีกท่านหนึ่งเดินเรียกชื่อท่านผู้กำลังนั่งภาวนาอยู่ด้วยเสียงอันดัง และเมื่อเดินมาเห็นศิษย์ผู้นั้นกำลังภาวนาอยู่ก็จับแขนดึงขึ้นมาทั้งที่กำลังนั่งภาวนา

เมื่อผู้นั้นห่างไปแล้ว หลวงพ่อท่านจึงเปรยขึ้นมาว่า

“ในพุทธกาลครั้งก่อน มีพระอรหันต์องค์หนึ่งกำลังอยู่นิโรธสมาบัติ ได้มีนกแสกตัวหนึ่งบินโฉมผ่านหน้าท่านพร้อมกับร้อง “แซ๊ก” ท่านว่านกแสกตัวนั้นเมื่อตายแล้วได้ไปอยู่ในนรก แม้กัปนี้พระพุทธเจ้าผ่านไปได้พระองค์ที่สี่แล้ว นกแสกตัวนั้นยังไม่ได้ขึ้นมาจากนรกเลย”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓

การอุทิศส่วนกุศลภายนอกภายใน



มีบางท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายของหลวงพ่อ ซึ่งท่านเมตตาทำเป็นปกติ จึงมีความหวังว่าเมื่อคนตาย หลวงพ่อท่านจะเมตตาให้บุญส่งวิญญาณส่งจิตไปสวรรค์ ไปนิพพานได้ ด้วยตนเป็นผู้เข้าวัดทำทานและปรนนิบัติหลวงพ่อนาน

หลวงพ่อท่านก็เมตตาเตือนว่า
“ถ้าข้าตายไปก่อน แล้วใครจะส่ง (บุญ) ให้แกล่ะ”

ด้วยความไม่เข้าใจ ท่านผู้นั้นจึงตอบว่า
“ขอให้หลวงพ่ออยู่ต่อไปนานๆ ให้พวกผมตายก่อน”

นี่เป็นจุดชวนคิดในคติเตือนของท่านที่บอกเป็นนัยว่า การไปสุคติหรือการหลุดพ้นนั้น ต้องปฏิบัติต้องสร้างด้วยตนเองเป็นสำคัญ มิใช่หวังพึ่งบุญพึ่งกุศลผู้อื่น การอาศัยผู้อื่นเมื่อตายแล้วนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยที่อาจจะได้ อีกทั้งยังเป็นความไม่แน่นอนด้วย สู้ทำด้วยตัวเองไม่ได้


เป็นแง่คิดให้คิดว่า ต้องปฏิบัติตนให้มั่นใจในตนเองตั้งแต่ก่อนตาย เมื่อถึงเวลาจำต้องทิ้งขันธ์จะไม่ต้องมัวกังวลต่อภพชาติภายหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติให้รู้แจ้งในธรรมตั้งแต่ปัจจุบันชาตินี้เป็นยิ่งทีเดียว

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔

คำสารภาพของศิษย์



เราเป็นศิษย์รุ่นปลายอ้อปลายแขมและมีความขี้เกียจเป็นปกติ ก่อนที่เราจะไปวัด เราไม่เคยสนใจทำอะไรจริงจังยาวนาน คือเราสนใจทำจริงจังแต่ก็ประเดี๋ยวเดียว เมื่อเราได้ไปวัดด้วยความอยากเห็นอยากรู้เหมือนที่เพื่อนบางคนเขารู้เขาเห็น เราจึงพยายามทำแต่มันไม่ได้ ความพยายามของเราก็เลยลดน้อยถอยลงตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่ความอยากของเรามันไม่ได้หมดไปด้วย พอขี้เกียจหนักเข้า เราจึงถามหลวงพ่อว่า

“หนูขี้เกียจเหลือเกินค่ะ จะทำยังไงดี”


เราจำได้ว่าท่านนั่งเอนอยู่ พอเรากราบเรียนถาม ท่านก็ลุกขึ้นนั่งฉับไว มองหน้าเรา แล้วบอกว่า


“ถ้าข้าบอกแกไม่ได้กลัวตาย แกจะเชื่อข้าไหมล่ะ”


เราเงียบเพราะไม่เข้าใจที่ท่านพูดตอนนั้นเลย

อีกครั้งหนึ่งปลอดคน เรากราบเรียนถามท่านว่า “คนขี้เกียจอย่างหนูนี้ มีสิทธิ์ถึงนิพพานได้หรือไม่”

หลวงพ่อท่านนั่งสูบบุหรี่ยิ้มอยู่และบอกเราว่า
“ถ้าข้าให้แกเดินจากนี้ไปกรุงเทพฯ แกเดินได้ไหม”

เราเงียบแล้วยิ้มแห้งๆ ท่านจึงพูดต่อว่า


“ถ้าแกกินข้าวสามมื้อ มันก็มีกำลังวังชา เดินไปถึงได้ ถ้าแกกินข้าวมื้อเดียว มันก็พอไปถึงได้แต่ช้าหน่อย แต่ถ้าแกไม่กินข้าวไปเลย มันก็คงไปไม่ถึง ใช่ไหมล่ะ”

เรารู้สึกเข้าใจความข้อนี้ซึมซาบเลยทีเดียว แล้วหลวงพ่อท่านก็พูดต่อว่า


“เรื่องทำม้งธรรมะอะไรข้าพูดไม่เป็นหรอก ข้าก็เป็นแต่พูดของข้าอย่างนี้แหละ”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕

ทรรศนะต่างกัน



เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันในวงของปฏิบัติธรรม หลวงพ่อท่านได้ให้โอวาทเตือนผู้ปฏิบัติไว้ว่า “การมาอยู่ด้วยกัน ปฏิบัติด้วยกันมาก เขาย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนคนธรรมดาอยู่ ทิฐิมานะความเห็นย่อมต่างกัน ขอให้เอาแต่ส่วนดีมาสนับสนุนกัน อย่าเอาเลวมาอวดกัน

การปรามาสพระก็ดี การพูดจาจ้วงจาบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์หรือท่านที่มีศีลมีธรรมก็ดี จะเป็นกรรมติดตัวเราและขัดขวางการปฏิบัติธรรมในภายหน้า ดังนั้นหากเห็นใครทำความดี ก็ควรโมทนาบุญยินดีด้วย แม้ต่างวัดต่างสำนักหรือแบบปฏิบัติต่างกันก็ตาม

ไม่มีใครผิดหรอก เพราะจุดมุ่งหมายต่างก็เป็นไป เพื่อความพ้นทุกข์เช่นกัน เพียงแต่เราจะทำให้ดี…..ดียิ่ง…..ดีที่สุด เท่านั้น ขอให้ถามตัวเราเองเสียก่อนว่า “แล้วเราล่ะถึงที่สุดแล้วหรือยัง ?”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖

อุเบกขาธรรม



เรามักจะได้เห็นการกระทำที่เป็นคำพูดและการแสดงออกอยู่บ่อยๆ ส่วนการกระทำที่เป็นการนิ่ง ที่เรียกว่ามีอุเบกขานั้น มักไม่ค่อยได้เห็นกัน ในเรื่องการสร้างอุเบกขาธรรมขึ้นในใจนั้น ผู้ปฏิบัติใหม่เมื่อได้เข้ามารู้ธรรม เห็นธรรม ได้พบเห็นสิ่งแปลกๆ และคุณค่าของพระพุทธศาสนา มักเกิดอารมณ์ความรู้สึกว่าอยากชวนคนมาวัด มาปฏิบัติให้มากๆ โดยลืมดูพื้นฐานจิตใจของบุคคลที่กำลังชวนว่า เขามีความสนใจมากน้อยเพียงใด

หลวงพ่อท่านบอกว่า

“ให้ระวังให้ดีจะบาป เปรียบเสมือนกับการจุดไฟไว้ตรงกลางระหว่างคน ๒ คน ถ้าเราเอาธรรมะไปชวนเขา เขาก็ไม่เห็นด้วย ปรามาสธรรมนี้ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า ก็เท่ากับเราเป็นคนก่อแล้วเขาเป็นคนจุดไฟ บาปทั้งคู่ เรียกว่า
เมตตาจะพาตกเหว”

แล้วท่านยกอุทาหรณ์ สอนต่อว่า

“เหมือนกับมีชายคนหนึ่งตกอยู่ในเหวลึก มีผู้จะมาช่วย คนที่หนึ่งมีเมตตาจะมาช่วย เอาเชือกดึงขึ้นจากเหว ดึงไม่ไหวจึงตกลงไปในเหวเหมือนกัน คนที่สองมีกรุณามาช่วยดึงอีก ก็ตกลงเหวอีก คนที่สามมีมุทิตามาช่วยดึงอีก ก็พลาดตกเหวอีกเช่นกัน คนที่สี่สุดท้ายเป็นผู้มีอุเบกขาธรรม เห็นว่าเหวนี้ลึกเกินกว่ากำลังของตนที่จะช่วย ก็มิได้ทำประการใด ทั้งๆ ที่จิตใจก็มีเมตตาธรรมที่จะช่วยเหลืออยู่ คนสุดท้ายนี้จึงรอดชีวิตจากการตกเหวตาม เพราะอุเบกขาธรรมนี้แล”


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗

ข้อควรคิด



การไปวัด ไปไหว้พระ ตลอดจนการสนทนาธรรมกับท่าน สมควรที่จะต้องมีความตั้งใจและเตรียมให้พร้อมที่จะรับธรรมจากท่าน มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดเป็นโทษได้ ดังเรื่องต่อไปนี้

ปกติของหลวงพ่อท่านมีความเมตตาอบรมสั่งสอนศิษย์ และสนทนาธรรมกับผู้สนใจตลอดมา วันหนึ่งมีผู้กราบนมัสการท่าน และเรียนถามปัญหาต่างๆ จากนั้นจึงกลับไป        

หลวงพ่อท่านได้ยกเป็นคติเตือนใจให้ผู้เขียนฟังว่า
“คนที่มาเมื่อกี้ หากไปเจอพระดีละก็ลงนรก ไม่ไปสวรรค์นิพพานหรอก”

ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า
“เพราะเหตุไรครับ”

ท่านตอบว่า
“ก็จะไปปรามาสพระท่านน่ะซิ ไม่ได้ไปเอาธรรมจากท่าน”

หลวงพ่อเคยเตือนพวกเราไว้ว่า การไปอยู่กับพระอรหันต์ อย่าอยู่กับท่านนาน เพราะเมื่อเกิดความมักคุ้นแล้ว มักทำให้ลืมตัวเห็นท่านเป็นเพื่อนเล่น คุยเล่นหัวท่านบ้าง ให้ท่านเหาะให้ดูบ้าง ถึงกับออกปากใช้ท่านเลยก็มี การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการปรามาสพระ ลบหลู่ครูอาจารย์ และเป็นบาปมาก ปิดกั้นทางมรรคผลนิพพานได้ จึงขอให้พวกเราสำรวมระวังให้ดี


Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘

ไม่พยากรณ์



เกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติธรรมแล้วจะได้สำเร็จมรรคผลนิพพานหรือไม่ เคยมีพระภิกษุท่านหนึ่งได้มากราบนมัสการและเรียนถามหลวงพ่อว่า

“หลวงพ่อครับ กระผมจะได้สำเร็จหรือไม่ หลวงพ่อช่วยพยากรณ์ทีครับ”

หลวงพ่อนิ่งสักครู่หนึ่งก่อนตอบว่า   
“พยากรณ์ไม่ได้”

พระภิกษุรูปนั้นได้เรียนถามต่อว่า      
“เพราะเหตุไรหรือครับ”

หลวงพ่อจึงตอบว่า “ถ้าผมบอกว่าท่านจะได้สำเร็จ แล้วท่านเกิดประมาทไม่ปฏิบัติต่อ มันจะสำเร็จได้อย่างไร และถ้าผมบอกว่าท่านจะไม่สำเร็จ ท่านก็คงจะขี้เกียจและละทิ้งการปฏิบัติไป นิมนต์ท่านทำต่อเถอะครับ”


pngegg.5.3.1.png



ตอนที่ ๑๙

แนะนำวิธีวางอารมณ์




หลวงพ่อเคยพูดเสมอว่า “ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต”


สำหรับคนที่ไม่เคยปฏิบัติแล้วไม่รู้จะดูที่ไหนอะไร จะดูอะไร รู้สึกสับสน แยกไม่ถูกเพราะไม่เคยดู ไม่เคยสังเกตอะไร เคยอยู่แต่ในความคิดปรุงแต่ง อยู่กับอารมณ์แต่แยกอารมณ์ไม่ได้ ยิ่งคนที่ยังไม่เคยบวช คนที่อยู่ในโลกแบบวุ่นวาย ยิ่งดูจิตของตนได้ยาก

หลวงพ่อได้เปรียบให้ผู้เขียนฟัง โดยท่านกำมือและยื่นนิ้วกลางมาข้างหน้าผู้เขียนว่า เราภาวนาทีแรกก็เป็นอย่างนี้ สักครู่ท่านก็ยื่นนิ้วชี้ออกมา สักครู่ก็ยื่นนิ้วนางพร้อมกับมือไหวเล็กน้อย และท่านก็ยื่นนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อยตามลำดับออกมาจนครบ ๕ นิ้ว ท่านทำมือโคลงไปโคลงมา เปรียบการภาวนาของนักปฏิบัติที่จิตแตก ไม่สามารถรวมใจให้เป็นหนึ่งได้

ผู้ฝึกจิต ถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างจนสงบไม่ได้และไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตใจให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริงได้ว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรที่ควรละ



pngegg.5.3.2.png



ตอนที่ ๒๐

อย่าพูดมาก



“เวลาปฏิบัติ พอจะได้ดีหน่อย มันอยากจะพูด อยากจะเล่าให้ใครฟัง จริงไหมล่ะแก ข้ารู้ ข้าก็เคยเป็นมา”

หลวงพ่อท่านกล่าว แล้วเล่าเรื่องเป็นอุทาหรณ์ว่า

“มีพระองค์หนึ่งปฏิบัติจิตสงบดี แล้วเกิดนิมิตเห็นพระพุทธเจ้านับร้อยองค์เดินเข้ามาหา ท่านมีความปีติเอิบอิ่มยินดีมาก อยากจะเล่าให้หมู่เพื่อนทราบ ผลปรากฏว่าพระรูปนั้นทำสมาธิอีกเป็นเดือนก็ยังไม่ปรากฏจิตสงบดีถึงระดับที่เคยนั้นเลย”

ถึงตรงนี้ ท่านสั่งเลยว่า
“แกจำไว้เลยนะ คนที่ทำเป็น เขาไม่พูด คนที่พูดนั่นยังทำไม่เป็น”


‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 22:51 , Processed in 0.069471 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.