ตอนที่ ๒๐ ประวัติพระปุณณกเถระ
ท่านพระปุณณกะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ
ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้กราบบังคมทูลลาออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ ปุณณกมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว กิตติศัพท์ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วทิศานุทิศ จนปรากฏแก่พราหมณ์พาวรีว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก
พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู
มาณพทั้ง ๑๖ คน ลาอาจารย์ พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาตามที่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ผูกให้ ในมาณพ ๑๖ คนนั้น ปุณณกมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๓ ว่า
บัดนี้มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง
พระปุณณกมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น อยากได้ของที่ตนปรารถนา อาศัยของที่มีชราทรุดโทรม จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ฯ
ป. หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ?
พ. หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภที่ตนหวังจึงพูดสรรเสริญ การบูชายัญรำพันถึงสิ่งที่ตัวใคร่ ดังนั้นก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า การบูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ ชราไปได้ ฯ
ป. ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้น ข้ามพ้นชาติชราเพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลกข้ามพ้นชาติชรานั้นได้แล้ว ?
พ. ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนในโลกไหนๆ ของผู้ใดไม่มี เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เรากล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริตความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟอันจับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ ข้ามพ้นชาติชราไปได้แล้ว ฯ
ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปุณณกมาณพได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ปุณณกมาณพพร้อมมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
|