ท่านพระจูฬปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ด้วยเหตุที่เป็นน้องชายมหาปันถกะ จึงเติมเครื่องหมาย “จูฬ” เข้าข้างหน้าว่า จูฬปันถกะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระมหาปันถกะนั้น ฯ ประวัติของท่านในตอนต้น ก็พึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในประวัติของพระมหาปันถกะนั้นเถิด
ในที่นี้จักกล่าวแต่ตอนที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาไป ซึ่งมีความว่า เมื่อพระมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชายได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว และเสวยวิมุตติสุข ใคร่จะให้ความสุขเช่นนั้นแก่จูฬปันถกะผู้เป็นน้องชายบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตา เพื่อขอให้จูฬปันถกะบวช เศรษฐีผู้เป็นตาก็อนุญาตให้ตามประสงค์ พระมหาปันถกะจึงให้จูฬปันถกะบวช
ครั้นจูฬปันถกะบวชแล้ว ปรากฏว่าเป็นคนทึบมาก พี่ชายสอนให้เรียนคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า
“ ปทฺทมํ ยถา โกกนุทํ สุคนฺธํ
ปาโต สิยา ผุลฺลมวีตคนฺธํ
องฺคีรสํ ปสฺส วิโรจมานํ
ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ”
แปลว่า “เธอจงดูพระศากยมุนีอังคีรสผู้มีพระรัศมีแผ่ซ่าน ออกจากพระวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบาน ปานหนึ่งว่าดอกปทุมชาติชื่อว่าโกกนุท มีกลิ่นหอมย่อมขยายกลีบแย้มบานในกาลเช้า มีกลิ่นเรณูมิได้หายระเหยหอม ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ดุจดวงทิวากรอันส่องแสงแผดแสงอยู่บนอากาศฉะนั้น” ฯ
ท่านพระมหาปันถกะทราบว่า จูฬปันถกะน้องชายโง่เขลามาก จึงประณามขับไล่ออกเสียจากสำนักของท่าน ทั้งในเวลานั้น ท่านเป็นภัตตุเทศก์
หมอชีวกโกมารภัจจ์มานิมนต์ภิกษุฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับจูฬปันถกะเข้าด้วย พระจูฬปันถกะเกิดความน้อยใจคิดจะสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถกะ เธอจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้
พระจูฬปันถกะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่ข้าพระพุทธเจ้า จูฬปันถกะเธอบวชเฉพาะพี่ชายของเธอเมื่อไร บวชเฉพาะฉันต่างหาก ก็เมื่อพี่ชายขับไล่แล้ว ทำไมไม่มาหาฉัน มานี่ เป็นฆราวาสจะได้ประโยชน์อะไร มาอยู่กับฉันดีกว่า
จูฬปันถกะเข้าไปเฝ้าที่ใกล้แล้ว พระองค์ทรงลูบศีรษะด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วพาไปนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ ตรัสสั่งให้ลูบคลำทำบริกรรมไป ไม่นานผ้านั้นก็เศร้าหมองเหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่าผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างเหลือเกิน แต่อาศัยได้มาถูกต้องอัตภาพนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไปอย่างนี้
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนา พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงตรัสสอนด้วยพระคาถา ๓ พระคาถา ในเวลาจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ฯ
ในเวลาที่พระจูฬปันถกะลูบคลำทำบริกรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ หย่อนอยู่องค์หนึ่ง เสด็จไปสู่เรือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ก็พอมาถึงเวลาฉัน หมอชีวกโกมารภัจจ์น้อมภัตเข้าไปถวาย
พระองค์ทรงปิดบาตรเสียตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีกองค์หนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงใช้ให้คนไปตาม ในครั้งนั้นพระจูฬปันถกะนิรมิตพระภิกษุให้เต็มวิหารพันรูป เมื่อคนใช้ไปถึงเห็นพระมีมากตั้งพันรูป จึงกลับไปบอกหมอชีวกโกมารภัจจ์
ครั้งนั้นพระบรมศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า เจ้าจงไปแล้วบอกว่า “พระบรมศาสดาตรัสเรียกพระจูฬปันถกะ” บุรุษนั้นก็กลับไปบอกเหมือนอย่างนั้น ภิกษุตั้งพันพูดว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ บุรุษนั้นกลับมาอีก กราบทูลว่า ภิกษุเหล่านั้นชื่อจูฬปันถกะทั้งนั้นพระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใดพูดขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ ภิกษุที่เหลือนอกนั้น จักอันตรธานหายไป บุรุษนั้นทำเหมือนอย่างพระบรมศาสดาตรัสนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถกะไปในที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตกิจ ท่านพระจูฬปันถกะได้ทำภัตตานุโมทนา ฯ
อาศัยที่ท่านประกอบด้วยมโนมยิทธิเช่นนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ ฯ ครั้นเมื่อท่านพระจูฬปันถกะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ