แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๙   

ประวัติพระมหาโกฏฐิตเถระ

3.png


ท่านพระมหาโกฏฐิตะ เป็นบุตรของอัสสลายพราหมณ์ กับนางจันทวดีพราหมณี ในพระนครสาวัตถี ตระกูลของท่านเป็นตระกูลที่มีทรัพย์มาก เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ทรงทรมานอัสสลายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่าน ให้ละทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นอุบาสกแล้ว โกฏฐิตมาณพผู้บุตรก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่งได้สดับฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา มีท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌายะ ท่านพระโมคคัลลานะเป็นอาจารย์

ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อเวลาปลงผม ท่านพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐาน พอผลัดผ้าสาฎกสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ และวิโมกข์ ๓ ฯ


ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั้น เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี แม้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็ดี ชอบถามปัญหาในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั้นเนืองๆ

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงทำซึ่งมหาเวทัลลสูตรให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแตกฉานในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๐   

ประวัติพระโสภิตเถระ

3.png


ท่านพระโสภิตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี ชื่อว่า โสภิตมาณพ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาอักขรสมัยในลัทธิของพราหมณ์ วันหนึ่งได้ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ได้สดับฟังธรรมีกถาที่พระองค์ทรงแสดง บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เป็นพระขีณาสพอันประเสริฐ และเป็นผู้มีปกติสั่งสมซึ่งวสี ๕ ประการ ชำนาญคล่องแคล่วปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติในหนหลังได้

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างระลึกซึ่ง
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ฯ ท่านพระโสภิตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๑   

ประวัติพระนันทกเถระ

3.png


ท่านพระนันทกะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี
มารดาบิดาให้ชื่อว่า นันทกมาณพ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้านานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา


ท่านเป็นผู้มีความชำนิชำนาญในการระลึกซึ่งปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ท่านและสัตว์อื่นเคยอาศัยและบังเกิดในชาติก่อน (เป็นผู้ชำนาญการระลึกชาติหนหลังได้) และท่านเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ชี้แจ้งให้เป็นที่พอใจและเข้าใจได้โดยง่าย

ในตำนานปรากฏว่า ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ ประการ แก่นางภิกษุณีประมาณห้าร้อย ในที่เทศนา นางภิกษุณีเหล่านั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล และพากันชื่นชมยินดีในพระธรรมเทศนาของท่าน


พระบรมศาสดาทรงทราบ ในวันรุ่งขึ้นรับสั่งให้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีอีก ท่านก็ได้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีตามพระพุทธประสงค์ ยังนางภิกษุณีนั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พร้อมกันทั้ง ๕๐๐ องค์

เพราะอาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐาน คือตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่นางภิกษุณี ท่านพระนันทกะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๒   

ประวัติพระมหากัปปินเถระ

3.png


ท่านพระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของกษัตริย์ ในพระนครกุกกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อมา มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า อโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในสากลนคร แว่นแคว้นมัททรัฐ


พระเจ้ามหากัปปินะนั้น มีม้าเป็นราชพาหนะ ๕ ตัว คือ ม้าชื่อว่า พละ ๑ พลวาหนะ ๑ ปุปผะ ๑ ปุปผวาหนะ ๑ สุปัตตะ ๑ เมื่อพระองค์ทรงม้าตัวใดแล้ว พระราชทานม้า ๔ ตัว นอกนั้นให้แก่พวกอำมาตย์เพื่อเที่ยวไปสืบข่าว

ต่อมาวันหนึ่ง พระองค์ทรงม้าชื่อ สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พบพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากพระนครสาวัตถี*๑ ตรัสถามทราบความว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า บังเกิดขึ้นแล้วในโลก


พระองค์ทรงมีปีติโสมนัสบังเกิดศรัทธาแก่กล้าจนกระทั่งถึงลืมพระองค์ไป และได้ทรงพระราชทานรางวัลให้พวกพ่อค้าเหล่านั้นประมาณ ๓ แสน และพระองค์ทรงรับสั่งให้ไปรับเอากับพระอัครมเหสี และได้ทรงพระราชอักษรมอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีฝากไปด้วย

ครั้นแล้วพระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารประมาณ ๑ พัน ก็เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปพบแม่น้ำ ๓ แห่ง คือ แม่น้ำชื่อว่า อารวปัจฉา ๑ แม่น้ำชื่อ นีลวาหนา ๑ แม่น้ำชื่อ จันทภาคา ๑ ในแม่น้ำเหล่านั้น หาได้มีเรือแพที่บุคคลจะขี่ข้ามไปไม่


ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะประสบแม่น้ำสายที่ ๑ จึงได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ แม่น้ำสายที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ แม่น้ำสายที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยเดชะคุณพระรัตนตรัย แม่น้ำนั้นบังเกิดเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินไปได้โดยสะดวก ฯ

ส่วนพระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยข้าราชบริวารเสด็จมา มีพระราชประสงค์จะทรงบรรพชาอุปสมบทเฉพาะพระองค์ จึงได้เสด็จออกไปรับสิ้นหนทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ประทับอยู่ใต้ร่มไทรใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏ


พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร เสด็จถึงที่นั่นแล้วเสด็จลงจากหลังม้าพระที่นั่ง ทรงพระดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงรัศมีถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ส่วนพระนางอโนชาเทวีผู้เป็นอัครมเหสีได้ทราบเนื้อความในราชสาส์นจากพ่อค้า และทราบเรื่องราวตลอดแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงประทานรางวัลให้พวกพ่อค้าอีกประมาณ ๙ แสน รวมเป็น ๑๒ แสน และได้ทรงสละราชสมบัติ
พระนางอโนชาเทวีพร้อมบริวาร เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา

ดุจนัยหนหลัง พระบรมศาสดาแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระนางอโนชาเทวีพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกขุณี ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งบริวาร ฯ

ส่วนท่านพระมหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ได้สดับฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระราชเทวีนั้น ทรงส่งจิตไปตามแนวพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระบรมศาสดาทรงพาภิกษุพันรูปนั้นเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร

ท่านพระมหากัปปินะนั้น ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว มักเที่ยวเปล่งอุทานว่า “อโห สุขํ อโห สุขํ” แปลว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ดังนี้เสมอ พวกภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วสำคัญว่าท่านเปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะปรารภซึ่งสุขในราชสมบัติของตน จึงได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระบรมศาสดา

พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสถามทราบความจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรา มิได้เปล่งอุทานปรารภกามสุขหรือรัชชสุข เธอเกิดความปีติในธรรม เปล่งอุทานปรารภอมตมหานิพพาน ฯ

บางตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อพระมหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล


คราวแรกท่านไม่กล้าจะทรงสั่งสอนใคร เพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ภายหลังเมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้เป็นผู้สั่งสอนบริวารของท่าน ๑๐๐๐ รูป ให้ได้สำเร็จพระอรหัตผล

พระบรมศาสดาทรงปรารภความสามารถของท่านในเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท ฯ ท่านพระมหากัปปินะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ในธรรมบทภาค ๔ เรื่องกัปปินเถระวัตถุ เป็นสาวัตถี ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๓   

ประวัติพระสาคตเถระ

3.png


ท่านพระสาคตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี มารดาบิดาให้ชื่อว่า สาคตมาณพ ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิต ยังฌานสมาบัติ ๘ ประการ ให้บังเกิดขึ้น มีความชำนิชำนาญในองค์ฌานนั้น  

ครั้นกาลต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปตามชนบท บรรลุถึงภัททวติกาคามในพระนครโกสัมพี พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้น ฯ ท่านพระสาคตะได้เสด็จไปด้วย ตามตำนานท่านกล่าวว่า ในท่าชื่อว่าอัมพะ มีพญานาคมีฤทธิ์เดชกล้า ชื่อว่า อัมพติฏฐนาค ท่านพระสาคตะได้ทรมานพญานาคนั้นให้เสื่อมสิ้นฤทธิ์เดชแล้ว กลับไปยังสำนักพระบรมศาสดาที่ภัททวติกาคาม ฯ  


ส่วนพระบรมศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้นสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จไปยังพระนครโกสัมพี อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพี ได้ทำการต้อนรับเสด็จพระองค์ตามสมควร เมื่อได้ทราบว่าท่านพระสาคตะได้สู้กับพญานาคซึ่งอยู่ ณ ท่าชื่อว่าอัมพะ มีชัยชนะ พากันมีความปีติยินดี มีความประสงค์จะหาของอย่างดีเป็นที่พอใจถวาย จึงเข้าไปหาพระสาคตะไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง

แล้วกล่าวถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อะไรเป็นของหายากและชอบใจยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า สุราอ่อนใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายากและของชอบใจยิ่งของภิกษุทั้งหลาย จงจัดสุราเช่นนั้นไว้เถิด อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นจึงจัดสุรานั้นไว้ทุกๆ เรือน


เมื่อเห็นพระสาคตเถระเที่ยวบิณฑบาตจึงนิมนต์ท่านว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงดื่มสุราอ่อนอันใสสีแดงดังเท้านกพิราบก่อน พระสาคตะก็ดื่มสุรานั้นทุกๆ เรือน ด้วยอำนาจสุราทำให้ท่านมึนเมาลืมสติ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายพยุงเธอไปสู่พระวิหาร แล้วทรงตำหนิติเตียนมีประการต่างๆ ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไปว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ” แปลความว่า “เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย”

ครั้นรุ่งขึ้นท่านพระสาคตะสร่างเมาได้สติ กราบทูลขอขมาให้พระบรมศาสดาทรงอดโทษแล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจในการทำเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อุตส่าห์เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นกาลต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงตั้งท่านพระสาคตะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้ฉลาดในเตโชกสิณสมาบัติ


ตามตำนานปรากฏว่า ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง ฯ ท่านพระสาคตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๔   

ประวัติพระอุปเสนเถระ

3.png


ท่านพระอุปเสนะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในบ้านชื่อนาลันทะ แคว้นมคธ เดิมชื่อว่า อุปเสนมาณพ อีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ว่า อุปเสนวังคันตบุตร ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร


เพราะพระสารีบุตรมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันถึง ๖ คน น้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ ๑ พระอุปเสนะ ๑ พระเรวตะ ๑ และน้องหญิง ๓ คน คือ นางจาลา ๑ นางอุปจาลา ๑ นางสีสุปจาลา ๑ รวมเป็น ๗ คน ทั้งพระสารีบุตร ฯ

อุปเสนมาณพนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิของพราหมณ์ ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิตทำกิจพระพุทธศาสนาตามหน้าที่


ครั้นท่านพระอุปเสนะบวชแล้ว มีพรรษาได้เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น ท่านคิดว่าจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญทวีมากขึ้นด้วยหมู่พระอริยสงฆ์ จึงได้อุปัชฌาย์อุปสมบทบวชกุลบุตร ภายหลังท่านพาศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถูกพระบรมศาสดารุกรานว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นผู้มีความมักมาก

เมื่อท่านกลับจากที่เฝ้าแล้ว จึงคิดว่าเราจะยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสาธุการ เพราะอาศัยบริษัทของเราให้จงได้ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านไม่ประมาท ตั้งใจเจริญซึ่งวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านประพฤติอยู่ในธุดงค์ ๑๓ ประการ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร จนมีสัทธิวิหาริกประมาณถึง ๕๐๐ องค์ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้พาสัทธิวิหาริกของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาทรงสาธุการแก่ท่านว่า สาธุ สาธุ อุปเสน ดูก่อนอุปเสนะ ดีละๆ ฉะนี้สมตามความที่ท่านคิดไว้


และพระองค์ได้ทรงแสดงซึ่งคุณแห่งพระอุปเสนะนั้นมีประการต่างๆ แล้วตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบในหมู่ชนทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ฯ ท่านพระอุปเสนะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๕   

ประวัติพระขทิรวนิยเรวตเถระ*

3.png


ท่านพระเรวตะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อนาลันทะ เป็นบุตรคนสุดท้องและเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวตมาณพ
เมื่อเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามของป่านั้น นำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวตะ”

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเรวตมาณพเจริญวัยมีอายุได้ประมาณ ๘ ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวตะคนเดียว ถ้าบวชเสียก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเรวตะบุตรของเราไว้ด้วยการให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้สมณะศากยบุตรมาพาไปบวชเสียอีกเลย


ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงไปขอหมั้นนางกุมาริกา ผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคลด้วย ครั้นเมื่อถึงวันกำหนดจึงประดับตกแต่งเรวตมาณพ พาไปเรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ฯ

ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวตมาณพเกิดความเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน เมื่อเสร็จการมงคลแล้ว จึงพากันจัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกานั่งในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในป่าประมาณ ๓๐
โยชน์ ซึ่งอยู่ในประเทศนั้น แล้วขอบรรพชา

ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะท่านพระสารีบุตรสั่งบังคับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผมเข้ามาบวชในสำนักของท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วย ไม่ต้องรับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะบิดามารดาของผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้นให้เรวตะบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึง ๒ ครั้ง พระองค์ตรัสห้ามเสียทั้ง ๒ ครั้ง จึงได้ยับยั้งอยู่ (เมื่อเรวตะสามเณรมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา)


พระเรวตะนั้น ครั้นครบบวชแล้วคิดว่า ถ้าว่าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากัมมัฏฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนระยะไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้สำนักอาศัยอยู่ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ฯ

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะ พระบรมศาสดารับสั่งให้รอก่อน เพราะว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกแก่ภิกษุผู้จะตามเสด็จตระเตรียม ครั้งนั้นได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร


พระเรวตะกระทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ตามตำนานกล่าวว่า พระเรวตะนิรมิตพระคันธกุฎี เพื่อเป็นที่พักของพวกภิกษุผู้เป็นบริวาร นิรมิตที่จงกรม ๕๐๐ ที่พักกลางวันกลางคืนก็ ๕๐๐ พระบรมศาสดาเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นถึงเดือนหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ ฯ

พระเรวตะชอบอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฯ พระเรวตะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
        
๑. ท่านใช้ตามหลังชื่อก็มี เช่น “เรวตขทิรวนิยเถระ”


* ประวัติพระเรวตะ เมื่อพิจารณาตามนัยที่มาในธรรมบทภาค ๔ ได้ความว่า พระเรวตเถระบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ปี ครบบวชแล้วไปอยู่ป่า ทำความเพียร ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้วพระบรมศาสดาและพระสารีบุตรเสด็จไปเยี่ยม ครั้งนั้นท่านคงยังเป็นสามเณรอยู่ ได้อุปสมบทภายหลัง ฯ ส่วนที่กล่าวในเรื่องนี้ถือเอาตามนัยอสีติมหาสาวกนิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๖   

ประวัติพระสีวลีเถระ

3.png


ท่านพระสีวลี เป็นพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ ฯ จำเดิมแต่พระราชโอรสมาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ทำพระมารดาให้สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก แต่อยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติ เวลาประสูติก็ประสูติง่ายที่สุด เปรียบประดุจน้ำไหลออกจากหม้อ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ คือ


เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ครบกำหนดประสูติแล้ว ได้เสวยทุกขเวทนาลำบากมาก พระนางจึงให้พระสวามีไปกราบถวายบังคมพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสประทานพรให้ว่า “พระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุขปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด” พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตร พร้อมกับขณะที่พระบรมศาสดาตรัสประทานพร

เมื่อทรงประสูติแล้ว พระญาติได้ขนานพระนามว่า “สีวลีกุมาร” ส่วนพระนางสุปปวาสานึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วัน จึงให้สวามีไปอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อรับภัตตาหารในบ้านตลอด ๗ วัน พระราชสามีก็จัดตามความประสงค์ นางได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน (สีวลีกุมารนับแต่วันที่ประสูติมา ได้ถือธมกรกกรองน้ำถวายพระตลอด ๗ วัน)

เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ทรงออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุผลตามความปรารถนา คือบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา นัยว่าท่านได้บรรลุมรรคผลตั้งแต่เมื่อเวลาปลงผม คือ เวลามีดโกนจดลงที่ศีรษะ ครั้งที่หนึ่งได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่สองได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่สามได้บรรลุอนาคามิผล ปลงผมเสร็จได้บรรลุพระอรหัตผล


ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระสีวลีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีลาภมาก ฯ ท่านพระสีวลีนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๗   

ประวัติพระพาหิยทารุจิริยเถระ

3.png


ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ เป็นบุตรของกุฎุมพี ในแว่นแคว้นพาหิยรัฐ เมื่อเจริญวัยใหญ่ขึ้นแล้ว ได้ประกอบอาชีพในทางค้าขาย ครั้งหนึ่งไปค้าขายทางจังหวัดสุพรรณภูมิโดยทางเรือ พร้อมด้วยพวกมนุษย์เป็นอันมาก


เมื่อเรือกำลังแล่นไปในท่ามกลางมหาสมุทร ยังไม่ถึงที่ต้องประสงค์ เรือได้อัปปางลงในท่ามกลางมหาสมุทร พวกมนุษย์ทั้งหมดได้เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า ยังเหลืออยู่แต่พาหิยทารุจิริยะคนเดียว เกาะแผ่นกระดานได้แผ่นหนึ่ง อุตส่าห์พยายามแหวกว่ายไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อว่าสุปารกะ ผ้านุ่งผ้าห่มไม่มีเหลือติดตัวเลย มองไม่เห็นอะไรที่จะทำเป็นผ้านุ่งห่ม จึงเอาเปลือกไม้บ้างใบไม้บ้างเย็บติดต่อกันเข้า ทำเป็นผ้านุ่งห่มถือกระเบื้องเที่ยวไป เพื่อขอทานอาหารเลี้ยงชีพ

พวกมนุษย์ได้เห็นแล้ว พากันสำคัญว่า ผู้นี้คงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นแน่นอน จึงพากันให้ทานข้าวต้มข้าวสวยเป็นต้น และนำเอาผ้านุ่งผ้าห่มไปให้ แต่พาหิยทารุจิริยะคิดว่า ถ้าเราจักนุ่งห่มผ้าที่เขานำมาให้ ลาภสักการะของเราก็จักเสื่อม จึงห้ามพวกมนุษย์เสีย ไม่ให้นำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้อีกต่อไป คงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกไม้ตามเดิม และมีความสำคัญว่าตนเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ครั้งนั้นเทวดาที่เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาแต่ชาติก่อน ซึ่งไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้เล็งเห็นอาการของพาหิยทารุจิริยะเช่นนั้น จึงได้ลงมาว่ากล่าวตักเตือนให้สติว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ฯ ท่านไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงรู้สึกสำนึกตัวได้ว่า ตนไม่ใช่พระอรหันต์ การทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวงโลก ไม่เป็นการสมควรเลย


เมื่อรู้สึกตัวเช่นนั้นแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง มีการตักเตือนให้สำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ท่านส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ในเวลาจบเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนากับพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสให้ไปแสวงหาบาตรและจีวรอยู่ ในเวลานั้นเผอิญมีนางยักษิณีตนหนึ่ง จำแลงเพศเป็นแม่โคนมวิ่งมาโดยกำลังเร็วขวิดท่านปรินิพพานเสีย ไม่ทันได้อุปสมบท ฯ

พระบรมศาสดาเที่ยวไปบิณฑบาตพร้อมภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นสรีระของท่านพาหิยทารุจิริยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุจัดแจงฌาปนกิจ แล้วก่อพระสถูปบรรจุอัฐิไว้ ภายหลังพระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างที่เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้พลัน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๘   

ประวัติพระพากุลเถระ

3.png


ท่านพระพากุละ เป็นบุตรมหาเศรษฐีในพระนครโกสัมพี มีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่าน
พระพากุละอยู่ในตระกูลเศรษฐีทั้งสอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้ง ๒ ชุบเลี้ยง ดังมีเรื่องราวปรากฏในตำนานว่า

เมื่อท่านเกิดได้ ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยประยูรญาติจัดแจงทำการมงคลโกนผมไฟ และขนานนามท่านพากุละ พี่เลี้ยงและนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้าที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้า สำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง

นัยว่าทารกนั้น เป็นผู้มีบุญญานุภาพมาก เมื่ออยู่ในท้องปลาใหญ่ตัวนั้น ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนคนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่อาศัยด้วยบุญญานุภาพของทารก จึงบังเอิญให้ปลานั้นเดือดร้อนกระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ และไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี

เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ร่อนขายตีราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะ ฯ ในพระนครนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง
พร้อมด้วยภรรยามีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา ได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ เมื่อได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารกนอนอยู่ในท้องปลา

ครั้นเห็นทารกนั้นแล้วเกิดความรักใคร่ราวกะบุตร จึงได้เปล่งอุทานวาจาขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “เราได้ลูกในท้องปลา” ดังนี้ เศรษฐีและภรรยาได้เลี้ยงทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ฯ

ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสำนักพาราณสีเศรษฐี พอเห็นทารกนั้นก็จำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ


พาราณสีเศรษฐีนั้นไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกันแล้ว จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้ง ๒ ช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยง รับทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง

เศรษฐีทั้ง ๒ นั้น ได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกนั้นไปบำรุงเลี้ยงในตระกูลของตนๆ มีกำหนดเวลาคนละ ๖ เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องที่กล่าวนี้ ทารกนั้นจึงมีนามว่า “พากุละ” จำเดิมแต่กาลนั้นมา พากุลกุมารได้รับการอภิบาลรักษาเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้ง ๒ เป็นอย่างดี จนเจริญวัยใหญ่โตขึ้น ฯ

เมื่อพระบรมศาสดาเที่ยวเสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมารพร้อมด้วยบริวาร พากันเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วก็เกิดความเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท


แล้วได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นาน ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนาประมาณ ๖๐ ปี ไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษากายด้วยเภสัชโดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นเดียว ท่านก็ไม่เคยฉัน

ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น ก็เพราะผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎีและให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน ฯ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีโรคาพาธน้อย ฯ

กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพระพุทธศาสนา มีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชก ผู้เป็นสหายเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา


ท่านพระพากุละดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้น ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 22:56 , Processed in 0.065496 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.