แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๙   

ประวัติพระทัพพมัลลบุตรเถระ

3.png


ท่านพระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสของพระราชเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามัลลราช มีนามเดิมชื่อว่า ทัพพราชกุมาร อาศัยที่ท่านเป็นราชบุตรของพระเจ้ามัลละ คำว่า “มัลลบุตร” จึงได้เป็นชื่อผสมกับนามเดิมว่า “ทัพพมัลลบุตร” ฯ  


ทัพพมัลลบุตรราชกุมารนั้น นับแต่วันประสูติมามีพระชนม์ได้ ๗ ปี ได้เข้าไปหาพระมารดาทูลอ้อนวอนขออนุญาตจากพระมารดา เพื่อจะบรรพชาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากพระมารดาแล้ว จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา

เมื่อได้สดับพระโอวาทของพระองค์แล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ฯ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อเวลาที่มีดโกนจดลงที่พระเศียร ฯ (เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา)


ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจสงฆ์เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งได้มีความดำริว่า เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ควรรับภารธุระสงฆ์ จึงได้กราบทูลความดำรินั้นแด่พระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงสาธุการว่า ดีละๆ ทัพพมัลลบุตร แล้วตรัสให้สงฆ์สมมติท่านเป็นภัตตุทเทสกะและเสนาสนคาหาปกะ

ท่านได้ตั้งใจทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จเรียบร้อยดี และเพราะท่านเป็นผู้ฉลาดในการนี้ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแต่งตั้งปูลาดเสนาสนะ ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพิจารณาอายุสังขารของท่านว่า สมควรจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ไปกราบทูลพระบรมศาสดา ก่อนจะนิพพานได้ทำประทักษิณเวียนรอบพระองค์รอบหนึ่ง แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะทะยานขึ้นสู่อากาศ นั่งขัดบัลลังก์บนพื้นอากาศอันหาระหว่างมิได้ แล้วเข้าเตโชสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศนั้นเอง

ท่านพระทัพพมัลลบุตรนิพพานเสียแต่เมื่อยังไม่ชรา มีอาจารย์บางท่านแก้ว่า เพราะท่านถูกพวกภิกษุชาวเมตติยภูมิหาเลศโจทย์ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ครั้นเมื่ออธิกรณ์นั้นได้วินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังพากันแช่งด่าท่านอีก ภิกษุผู้เป็นปุถุชนไม่รู้ก็พากันเชื่อถือรังเกียจท่าน แสดงอาการดูหมิ่น ไม่มีความนับถือในท่าน


ท่านเกิดความละอายใจในเรื่องนี้ จึงถวายบังคมลาพระบรมศาสดานิพพานเสีย ฯ บางอาจารย์ก็คัดค้านว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรจะเชื่อได้ เพราะว่าธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่มีความหวั่นไหวในโลกธรรม ละความยินดียินร้าย คือ การเข้าไปว่าร้ายแห่งชนเหล่าอื่นเสียแล้ว การที่ท่านนิพพานเสียแต่ยังหนุ่ม ก็เพราะว่าท่านมีอายุขัยเพียงเท่านี้เอง ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๐   

ประวัติพระอุทายีเถระ

3.png


ท่านพระอุทายี มีชาติภูมิอยู่ ณ ที่ไหน และเข้าบวชในพระพุทธศาสนา ในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์ต่างๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ฯ

ดังเรื่องที่มีในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๒๐๔ มีความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี ครั้งนั้นท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่หนึ่งซึ่งนั่งล้อมท่านอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านแสดงธรรมอยู่เช่นนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่เป็นของทำได้โดยง่ายเลย ผู้แสดงต้องตั้งธรรมไว้ในใจ ๕ อย่าง คือ ตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๑ เราจักแสดงธรรมชี้แจงอ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ๑ เราจักอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ ๑ เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น ๑

เรื่องนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่ใหญ่เช่นนั้น ก็ย่อมตั้งธรรม ๕ อย่างนั้นไว้ในใจ ธรรมเทศนาของท่านจึงเป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท นับว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาฉลาดในการแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี
ท่านพระอุทายีดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

พระอุทายีมีชื่อว่า มหาอุทายีก็มี แต่เมื่อดูที่มาเพียงในบาลีแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้สงสัยและเข้าใจยาก เพราะศัพท์บาลีท่านวางไว้ว่า “อายสฺมาอุทายี” แต่อรรถกถาท่านแก้เป็นพระโลลุทายี พระสาวกผู้มีนามว่า อุทายีมีหลายรูป เท่าที่ปรากฏชื่อที่รู้กันโดยมากมี ๓ องค์ คือ พระกาฬุทายี ๑ พระมหาอุทายี ๑ พระโลลุทายี ๑ ฯ พระโลลุทายีและพระอุทายี ๒ องค์นี้ มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นองค์เดียวกัน ฯ

ในอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงจัดไว้ในพุทธประวัติ ไม่ได้จัดพระโลลุทายีเข้าด้วย ทรงจัดเอาพระอุทายีเข้าในจำนวนนั้นองค์หนึ่ง เรื่องพระสาวก ๒ รูปนี้ ข้าพเจ้าเคยถามท่านผู้รู้มามากแล้ว ก็ไม่ได้รับคำอธิบายอันเป็นที่พอใจให้หายความสงสัยเสียได้ นอกจากจะค้นพบประวัติเดิมของท่านทั้ง ๒ องค์ เรื่องนี้ขอนักธรรมวินัยช่วยกันวิจารณ์เถิด ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๑

ประวัติพระอุปวาณเถระ

3.png



ท่านพระอุปวาณะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็เล่าถึงแต่เพียงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว  


เช่นเรื่องที่มาในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้า ๙๕ มีข้อความว่าด้วย เรื่องท่านนั่งสนทนากับท่านพระสารีบุตร กล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ ประการ โดยมีเนื้อความในเรื่องนั้นว่า ครั้งนั้นพระอุปวาณะและพระสารีบุตรพำนักอาศัยอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี เมื่อเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปตากอากาศเล่น แล้วเข้าไปหาท่านอุปวาณะ นั่งสนทนาปราศรัยกันพอเป็นเครื่องร่าเริงใจแล้ว

แล้วท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถามพระอุปวาณะว่า ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ ท่านรู้ไหมว่าโพชฌงค์ ๗ ประการ ที่บุคคลอบรมไว้ดีแล้ว ย่อมอำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข ท่านพระอุปวาณะตอบว่า กระผมรู้


ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปว่า “ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ เมื่อบุคคลมาปรารภโพชฌงค์ ๗ ประการ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่ละอย่างๆ ย่อมรู้ว่า จิตของเราพ้นดีแล้ว เราถอนถีนมิทธะได้ขาดแล้ว เราจะระงับอุทธัจจะได้ด้วยดีแล้ว เราตั้งใจทำความเพียรทำใจไม่ให้หดหู่ได้แล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่า อำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข” ฯ

ท่านพระอุปวาณะ ได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดา มีความปรากฏในตอนใกล้พระบรมศาสดาจะนิพพาน คือ ในครั้งหนึ่ง พระอุปวาณะยืนถวายงานพัดอยู่ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ถูกพระองค์รุกรานให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า "อเปหิ ภิกฺขุ” ดูก่อนภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนอยู่ข้างหน้าเรา ฯ


ท่านพระอานนท์ได้เห็นแล้ว จึงดำริว่าพระอุปวาณะองค์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากใกล้เคียงพระองค์มานานแล้ว เหตุอะไรหนอพระองค์จึงทรงรุกรานให้หลีกออกไปเสีย เมื่อได้โอกาสแล้วเข้าไปกราบทูลถาม จึงได้ทราบเนื้อความนั้น เรื่องนี้นำมากล่าวเพื่อให้รู้ว่า ท่านพระอุปวาณะเคยเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง

เมื่อท่านพระอุปวาณะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ฯ ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ เข้าใจว่าคงนิพพานภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๒   

ประวัติพระเมฆิยเถระ

3.png


ท่านพระเมฆิยะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านเคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์ ๑ ซึ่งมีมาในอุทาน หน้า ๑๐๒ มีความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพตในกรุงจาลิกา มีท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลลาพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม

เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว เวลารุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น เมื่อเวลากลับจากบิณฑบาต เดินเล่นมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นสวนมะม่วงร่มเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะทำความเพียรที่สวนนั้น

ครั้นกลับมาแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงห้ามว่า ดูก่อนเมฆิยะ เธอจงรอก่อน ฉันอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาเปลี่ยนเวรอุปัฏฐากแทนเสียก่อน ดังนี้ถึง ๓ ครั้ง ท่านพระเมฆิยะไม่เชื่อฟัง กราบทูลลาแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระองค์แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สวนมะม่วงนั้น แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดสมควรตามความประสงค์ไม่ เพราะท่านถูกวิตก ๓ เข้าครอบงำ จึงกลับมาเฝ้ากราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ

๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร


๒. เป็นผู้มีศีลสำรวมในปาฏิโมกข์

๓. เป็นผู้พูดวาจาเป็นสุภาษิต (วาจาที่ขัดเกลา คือพูดแล้วไม่นำมาซึ่งโทษ มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว)

๔. เป็นผู้มีความเพียรความบากบั่น

๕. เป็นผู้มีปัญญา ฯ

แล้วตรัสให้เจริญธรรมอีก ๔ อย่างคือ อสุภ เพื่อจะละซึ่งราคะ ๑ เมตตา เพื่อจะได้ละพยาบาท ๑ อานาปานสติ เพื่อจะได้ตัดเสียซึ่งวิตก ๑ อนิจจสัญญา เพื่อจะได้ถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ ๑ ฯ

ท่านพระเมฆิยะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านพระเมฆิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๓   

ประวัติพระนาคิตเถระ

3.png


ท่านพระนาคิตะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องตอนที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านก็เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง มีเรื่องที่มาในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๕๙ เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงบ้านพราหมณ์ คฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้ทราบข่าวว่า พระองค์เสด็จมา จึงพากันจัดแจงของถวาย มีของเคี้ยวของฉันเป็นต้น แล้วพร้อมกันไปเฝ้าส่งเสียงอึงคะนึงดังอยู่นอกซุ้มประตู

สมัยนั้นท่านพระนาคิตะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงรับสั่งถามท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ชนพวกไหนนั่นพากันส่งเสียงอึงคะนึงอยู่เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านออกไปดูแล้วกลับมาทูลว่า พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้พากันถือขาทนียโภชนียะมา เพื่ออุทิศถวายพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์


พระบรมศาสดาจึงรับสั่งว่า นาคิตะ ฉันไม่ต้องการสมาคมด้วยยศ ต้องการแต่ความสงัดความวิเวก ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับเถิด บัดนี้เป็นโอกาสอันสมควรที่พระองค์จะทรงรับ พระองค์ตรัสห้ามเสีย แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของภิกษุผู้มีความมักน้อยเที่ยวอยู่ในป่า ยินดีเสนาสนะอันเงียบสงัด ฯ

ท่านพระนาคิตะนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แต่ท่านจะได้สำเร็จมรรคผลในครั้งไหนไม่ปรากฏ แม้ในเรื่องที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ได้พูดถึง แต่พึงเข้าใจว่า ท่านได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่าน
ดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๔   

ประวัติพระจุนทเถระ

3.png


ท่านพระจุนทะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่า นาลันทะ แว่นแคว้นมคธ เดิมชื่อว่า จุนทะ เมื่อบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า “มหาจุนทะ”


ถึงแม้เรื่องราวของท่านที่มาในปกรณ์นั้น ฯ โดยมากใช้คำว่า “อายสฺมา มหาจุนฺโท” แปลว่า ท่านมหาจุนทะ แต่ที่เรียกว่า “จุนฺท สมณุทฺเทส” ก็มี ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร และได้เป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง

เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ท่านก็เป็นผู้อุปัฏฐากติดตามไปด้วย เรื่องราวของท่านมีปรากฏในปกรณ์หลายแห่ง เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวของท่านแล้ว สันนิษฐานได้ว่า ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง เช่น สัลเลขสูตร มัชฌิมนิกาย หน้า ๖๖ ความย่อว่า


เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี ท่านเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงทิฏฐิที่ประกอบด้วยคำของโลกว่า ภิกษุจะพึงทำอย่างไรจึงจะละทิฏฐิเหล่านั้นได้เด็ดขาด

พระบรมศาสดาทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลสให้ท่านฟังโดยอเนกปริยาย ท่านพระมหาจุนทะมีความปลาบปลื้มใจ อนุโมทนารับภาษิตของพระองค์ เรื่องที่ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุโดยตรงก็มี เช่นในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๗๒


โดยความก็คือ สั่งสอนไม่ให้ภิกษุถือพวกถือเหล่า ยกภิกษุ ๒ พวกขึ้นเป็นตัวอย่าง คือ พวกภิกษุผู้เรียนคันถธุระฝ่าย ๑ พวกภิกษุผู้เรียนวิปัสสนาธุระฝ่าย ๑  

ตามปกติธรรมดาภิกษุย่อมสรรเสริญแต่ฝ่ายข้างตน ติเตือนอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านสอนไม่ให้ทำเช่นนั้น สอนให้สำเหนียกศึกษาว่า คนจะเป็นฝักฝ่ายไหนก็ตาม พึงให้พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง สรรเสริญคุณงามความดีของกันและกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฯ

ท่านพระมหาจุนทะนั้น เมื่อครั้งพระสารีบุตรเถระพี่ชายไปนิพพานที่บ้านเดิม เพื่อโปรดมารดา ท่านได้ติดตามมาด้วย และได้รวบรวมบาตรและจีวร พร้อมทั้งอัฐิธาตุของท่านพระสารีบุตรนำมาถวายพระบรมศาสดาด้วย ฯ ท่าน
ดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๕   

ประวัติพระยโสชเถระ

3.png


ท่านพระยโสชะ เกิดมาในตระกูลชาวประมง ในนครสาวัตถี บิดาของท่านเป็นหัวหน้าของพวกชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมท่านชื่อว่า “ยโสชะ” เมื่อวันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น บรรดาภรรยาชาวประมง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรเป็นชายพร้อมกันในวันเดียว ใช่แต่เท่านั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อลงสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็พร้อมกันด้วย


เหตุนั้นหัวหน้าชาวประมงผู้เป็นบิดาของยโสชะ เมื่อทราบว่าเด็กในบ้านนั้นเกิดพร้อมในเวลาเดียวกันกับบุตรของตน จึงให้ค่าบำรุงเลี้ยงค่าน้ำนมเป็นต้นแก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสหายแห่งลูกชายของตน

เด็กเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ ลูกชายของหัวหน้าชาวประมงได้เป็นใหญ่กว่าเด็กเหล่านั้น โดยยศและโดยเดช เมื่อเจริญวัยใหญ่โตขึ้นแล้ว ได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

วันหนึ่งพวกสหายเหล่านั้นพากันถือแหไปเพื่อจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่ตัวหนึ่ง แต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อพวกชาวประมงทั้งหมดได้เห็นแล้ว พากันส่งเสียงดังขึ้นด้วยความดีใจ ปรึกษากันว่าบุตรของพวกเราจับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินคงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้


สหายเหล่านั้นทั้งหมดจับปลาใส่เรือนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้พระองค์ทอดพระเนตร พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรแล้ว ทรงพระดำริว่า พระบรมศาสดาคงทรงทราบเหตุที่ปลาเงินทองปากเหม็น จึงรับสั่งให้คนหาบปลานั้น แล้วเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พอถึงที่เฝ้าแล้ว ปลานั้นได้อ้าปากขึ้น กลิ่นปากเหม็นกลบทั่วพระนครทั้งหมด

พระองค์ทรงรับสั่งว่า ปลานี้ก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิละ เป็นพหูสูต มีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพุทธศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า


ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้ว จึงตรัสกปิลสูตร ในที่สุดเทศนา บุตรชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน มียโสชะเป็นหัวหน้าเกิดความเลื่อมใส ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้านั้น พากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้วได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นเสียงดังสนั่นก้อง จนได้ยินถึงพระกรรณ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า อานนท์ ภิกษุพวกไหนนั่น มาคุยกันเสียงดังลั่น เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน พระอานนท์กราบทูลให้ทราบแล้ว รับสั่งให้บอกภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ตรัสถามอีก


ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงประฌามขับไล่ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์ พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เที่ยวจาริกไปโดยลำดับบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ เข้าพรรษา ณ ที่นี้

อาศัยความไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานี้

ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์ใช้ให้ภิกษุไปเรียกพวกเธอมาเฝ้า พระอานนท์ได้ไปเรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าตามรับสั่ง

ครั้นถึงที่เฝ้าแล้ว ได้เห็นพระองค์นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ท่านรู้พากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิตาม ส่วนพระอานนท์เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึง ๓ ครั้งว่า ภิกษุอาคันตุกะมานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ฯ


ท่านพระยโสชะนั้นนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๖   

ประวัติพระสภิยเถระ

3.png


ท่านพระสภิยะ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใครไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นปริพาชก ชื่อว่า สภิยะ สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นเทวดาที่เคยเป็นญาติสายโลหิตกันมาแต่ชาติก่อน ได้ผูกปัญหาให้แก่สภิยปริพาชกแล้วสั่งความว่า


ดูก่อนสภิยะ สมณพราหมณ์ผู้ใดแก้ปัญหาที่ท่านถามเหล่านี้ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สภิยปริพาชกเรียนเอาปัญหาในสำนักของเทวดานั้น จำได้แล้วเที่ยวถามสมณพราหมณ์ที่เป็นคณาจารย์ใหญ่ซึ่งมียศปรากฏชื่อเสียง ครั้งนั้นมีครู ๖ คน คือ ปูรณกัสสปะ ๑ มักขลิโคศาล ๑ อชิตเกสกัมพล ๑ ปกุทธกัจจายนะ ๑ สัญชัยเวฬัฏฐบุตร ๑ นิคันถนาฏบุตร ๑ เป็นต้น

ครูเหล่านั้นก็พากันแก้ไม่ได้แม้แต่สักคนเดียว ยังซ้ำกลับพูดเยาะเย้ยสภิยปริพาชกมีประการต่างๆ เสียอีก ครั้งนั้น สภิยปริพาชกเมื่อถูกครูทั้ง ๖ คนเยาะเย้ยแล้วก็เกิดความท้อใจ คิดจะกลับไปเป็นคนเลวบริโภคกามคุณ ครั้นมาหวนคิดถึงพระสมณโคดมขึ้นมาได้ จึงตกลงใจจะไปเฝ้า แต่ยังมีความสงสัยในใจว่า พวกสมณพราหมณ์มีครูทั้ง ๖ เป็นต้น ก็เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ บวชมาเป็นเวลานาน เป็นคณาจารย์สั่งสอนหมู่ศิษย์ แต่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้


ไฉนพระสมณโคดมซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ทั้งบวชใหม่ด้วย จะแก้ปัญหานี้ได้เทียวหรือ และได้บรรเทาความสงสัยด้วยตนเอง ถึงแม้พระสมณโคดมจะยังเป็นเด็กเล็กอยู่ก็จริง แต่พระองค์เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพใหญ่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาหลายหมวดหลายตอน พระองค์ทรงแก้ได้ทุกหมวดทุกตอน

ได้ที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา สภิยปริพาชกเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์รับสั่งให้อยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนเสียก่อน เพราะเป็นคนเดียรถีย์ เมื่อสภิยปริพาชกอยู่ติตถิยปริวาสครบกำหนด ๔ เดือนแล้ว ก็ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ท่านพระสภิยะนั้นหลีกอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล นับเนื่องในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ฯ ท่านพระสภิยะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๗   

ประวัติพระเสลเถระ

3.png



ท่านพระเสละ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใคร ไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นพราหมณ์ชื่อว่า เสลพราหมณ์ ได้ศึกษาเรียนรู้จบไตรเพท มีความชำนิชำนาญ เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน


ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒๕๐ องค์ เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปยังอังคุตตราปชนบท บรรลุถึงอาปณนิคม เสด็จประทับอยู่ ณ นิคมนั้น ฯ เกณิยชฎิลได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเสด็จมา มีความปรารถนาอยากจะเห็นพระองค์ จึงเข้าไปเฝ้า

ครั้นได้ฟังธรรมีกถาของพระองค์แล้วเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงเสวยในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงรับสั่งว่า ดูก่อนเกณิยะ ภิกษุสงฆ์ที่เป็นบริวารถึง ๑๒๕๐ องค์ ทั้งท่านก็เลื่อมใสในลัทธิพราหมณ์ด้วย เกณิยชฎิลทูลอ้อนวอนนิมนต์อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง พระองค์จึงทรงรับนิมนต์ด้วยอาการนิ่งอยู่


เมื่อเกณิยชฎิลทราบว่าพระองค์ทรงรับแล้ว จึงถวายบังคมกลับมาบอกแก่มิตรสหายและญาติสายโลหิตให้ช่วยกันจัดสิ่งของถวายพระในวันรุ่งขึ้น พวกชนเหล่านั้นต่างคนต่างช่วยกันจัดแจงตามสมควร ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงฉันด้วยตนเอง ฯ

สมัยนั้นเสลพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ที่เลื่อมใสของเกณิยชฎิล พร้อมด้วยมาณพผู้เป็นศิษย์ ๒๐๐ คน เที่ยวเดินเล่นผ่านไปทางอาศรมเกณิยชฎิล เห็นเขาจัดโรงฉันอยู่ จึงไต่ถามทราบความว่า นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาฉัน ครั้นได้ทราบดังนั้นแล้ว มีความประสงค์อยากจะใคร่เห็นพระองค์ด้วย คิดว่าจะสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะจริงหรือไม่ จึงถามเกณิยชฎิลอีกว่า พระสมณโคดมเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน


เกณิยชฎิลก็ชี้ทางให้ไป จึงพาศิษย์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา สนทนาปราศรัยไปพลางตรวจดูมหาปุริสลักษณะไปพลาง เห็นมีครบบริบูรณ์ทุกอย่าง จึงเปล่งวาจาชมเชยด้วยความเลื่อมใสแล้ว พร้อมด้วยบริษัทพากันทูลขอบรรพชาอุปสมบท เวลารุ่งเช้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปในที่นิมนต์ ทรงเสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา

ส่วนท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัทออกจากหมู่ ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านพระเสละนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๘   

ประวัติพระมหาปรันตปเถระ

3.png


ท่านพระมหาปรันตปะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน เมื่อบวชแล้วได้ทำอะไรบ้าง ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่านเลย ข้าพเจ้าอุตส่าห์พยายามค้นคว้าในปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่พบเรื่องราวของท่านแม้สักตอนเดียว


แต่มีเรื่องหนึ่งชื่อคล้ายคลึงกับท่าน คือพระเจ้าปรันตปะ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน ในพระนครโกสัมพี ซึ่งมีในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องพระนางสามาวดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มีหลักฐานอยู่เมื่อเวลาพระองค์เสด็จทิวงคต จะเข้าใจว่าเป็นท่านพระมหาปรันตปะ ก็ดูกระไรอยู่ คงจะเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นในเรื่องราวของท่านพระมหาปรันตปะนี้ ขอให้เข้าใจไว้เพียงว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคล นับเนื่องเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-1 23:54 , Processed in 0.042191 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.