แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๔   

ประวัติพระจุนทเถระ

3.png


ท่านพระจุนทะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่า นางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่า นาลันทะ แว่นแคว้นมคธ เดิมชื่อว่า จุนทะ เมื่อบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเรียกท่านว่า “มหาจุนทะ”


ถึงแม้เรื่องราวของท่านที่มาในปกรณ์นั้น ฯ โดยมากใช้คำว่า “อายสฺมา มหาจุนฺโท” แปลว่า ท่านมหาจุนทะ แต่ที่เรียกว่า “จุนฺท สมณุทฺเทส” ก็มี ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร และได้เป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง

เมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปปรินิพพานที่กรุงกุสินารา ท่านก็เป็นผู้อุปัฏฐากติดตามไปด้วย เรื่องราวของท่านมีปรากฏในปกรณ์หลายแห่ง เมื่อพิจารณาตามเรื่องราวของท่านแล้ว สันนิษฐานได้ว่า ท่านเป็นพระธรรมกถึกองค์หนึ่ง เช่น สัลเลขสูตร มัชฌิมนิกาย หน้า ๖๖ ความย่อว่า


เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในนครสาวัตถี ท่านเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงทิฏฐิที่ประกอบด้วยคำของโลกว่า ภิกษุจะพึงทำอย่างไรจึงจะละทิฏฐิเหล่านั้นได้เด็ดขาด

พระบรมศาสดาทรงแสดงวิธีขัดเกลากิเลสให้ท่านฟังโดยอเนกปริยาย ท่านพระมหาจุนทะมีความปลาบปลื้มใจ อนุโมทนารับภาษิตของพระองค์ เรื่องที่ท่านให้โอวาทแก่ภิกษุโดยตรงก็มี เช่นในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๗๒


โดยความก็คือ สั่งสอนไม่ให้ภิกษุถือพวกถือเหล่า ยกภิกษุ ๒ พวกขึ้นเป็นตัวอย่าง คือ พวกภิกษุผู้เรียนคันถธุระฝ่าย ๑ พวกภิกษุผู้เรียนวิปัสสนาธุระฝ่าย ๑  

ตามปกติธรรมดาภิกษุย่อมสรรเสริญแต่ฝ่ายข้างตน ติเตือนอีกฝ่ายหนึ่ง ท่านสอนไม่ให้ทำเช่นนั้น สอนให้สำเหนียกศึกษาว่า คนจะเป็นฝักฝ่ายไหนก็ตาม พึงให้พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง สรรเสริญคุณงามความดีของกันและกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฯ

ท่านพระมหาจุนทะนั้น เมื่อครั้งพระสารีบุตรเถระพี่ชายไปนิพพานที่บ้านเดิม เพื่อโปรดมารดา ท่านได้ติดตามมาด้วย และได้รวบรวมบาตรและจีวร พร้อมทั้งอัฐิธาตุของท่านพระสารีบุตรนำมาถวายพระบรมศาสดาด้วย ฯ ท่าน
ดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๓   

ประวัติพระนาคิตเถระ

3.png


ท่านพระนาคิตะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา สำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องตอนที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านก็เคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาองค์หนึ่ง มีเรื่องที่มาในฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๕๙ เรื่องหนึ่งว่า ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงบ้านพราหมณ์ คฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้ทราบข่าวว่า พระองค์เสด็จมา จึงพากันจัดแจงของถวาย มีของเคี้ยวของฉันเป็นต้น แล้วพร้อมกันไปเฝ้าส่งเสียงอึงคะนึงดังอยู่นอกซุ้มประตู

สมัยนั้นท่านพระนาคิตะ เป็นผู้อุปัฏฐากพระองค์ เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับเสียงนั้นแล้ว จึงรับสั่งถามท่านพระนาคิตะว่า ดูก่อนนาคิตะ ชนพวกไหนนั่นพากันส่งเสียงอึงคะนึงอยู่เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน ท่านออกไปดูแล้วกลับมาทูลว่า พวกพราหมณ์และคฤหบดีชาวอิจฉานังคละได้พากันถือขาทนียโภชนียะมา เพื่ออุทิศถวายพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์


พระบรมศาสดาจึงรับสั่งว่า นาคิตะ ฉันไม่ต้องการสมาคมด้วยยศ ต้องการแต่ความสงัดความวิเวก ท่านพระนาคิตะกราบทูลว่า ขอพระองค์จงทรงรับเถิด บัดนี้เป็นโอกาสอันสมควรที่พระองค์จะทรงรับ พระองค์ตรัสห้ามเสีย แล้วทรงแสดงอานิสงส์ของภิกษุผู้มีความมักน้อยเที่ยวอยู่ในป่า ยินดีเสนาสนะอันเงียบสงัด ฯ

ท่านพระนาคิตะนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง แต่ท่านจะได้สำเร็จมรรคผลในครั้งไหนไม่ปรากฏ แม้ในเรื่องที่กล่าวมานี้ ก็ไม่ได้พูดถึง แต่พึงเข้าใจว่า ท่านได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่าน
ดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๒   

ประวัติพระเมฆิยเถระ

3.png


ท่านพระเมฆิยะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน ประวัติที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว


และปรากฏว่า ท่านเคยเป็นผู้อุปัฏฐากพระบรมศาสดาด้วยองค์ ๑ ซึ่งมีมาในอุทาน หน้า ๑๐๒ มีความว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพตในกรุงจาลิกา มีท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลลาพระองค์เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม

เมื่อได้รับพุทธานุญาตแล้ว เวลารุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในบ้านนั้น เมื่อเวลากลับจากบิณฑบาต เดินเล่นมาตามริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นสวนมะม่วงร่มเย็นเป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ ใคร่จะทำความเพียรที่สวนนั้น

ครั้นกลับมาแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงห้ามว่า ดูก่อนเมฆิยะ เธอจงรอก่อน ฉันอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาเปลี่ยนเวรอุปัฏฐากแทนเสียก่อน ดังนี้ถึง ๓ ครั้ง ท่านพระเมฆิยะไม่เชื่อฟัง กราบทูลลาแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระองค์แล้วหลีกไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่สวนมะม่วงนั้น แต่หาได้สำเร็จมรรคผลอันใดสมควรตามความประสงค์ไม่ เพราะท่านถูกวิตก ๓ เข้าครอบงำ จึงกลับมาเฝ้ากราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสอนให้ตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการ คือ

๑. เป็นผู้มีกัลยาณมิตร


๒. เป็นผู้มีศีลสำรวมในปาฏิโมกข์

๓. เป็นผู้พูดวาจาเป็นสุภาษิต (วาจาที่ขัดเกลา คือพูดแล้วไม่นำมาซึ่งโทษ มีแต่จะนำมาซึ่งประโยชน์โดยส่วนเดียว)

๔. เป็นผู้มีความเพียรความบากบั่น

๕. เป็นผู้มีปัญญา ฯ

แล้วตรัสให้เจริญธรรมอีก ๔ อย่างคือ อสุภ เพื่อจะละซึ่งราคะ ๑ เมตตา เพื่อจะได้ละพยาบาท ๑ อานาปานสติ เพื่อจะได้ตัดเสียซึ่งวิตก ๑ อนิจจสัญญา เพื่อจะได้ถอนเสียซึ่งอัสมิมานะ ๑ ฯ

ท่านพระเมฆิยะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสั่งสอน ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียร ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านพระเมฆิยะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๑

ประวัติพระอุปวาณเถระ

3.png



ท่านพระอุปวาณะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์นั้นๆ ก็เล่าถึงแต่เพียงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว  


เช่นเรื่องที่มาในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค หน้า ๙๕ มีข้อความว่าด้วย เรื่องท่านนั่งสนทนากับท่านพระสารีบุตร กล่าวถึงโพชฌงค์ ๗ ประการ โดยมีเนื้อความในเรื่องนั้นว่า ครั้งนั้นพระอุปวาณะและพระสารีบุตรพำนักอาศัยอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี เมื่อเวลาเย็น ท่านพระสารีบุตรเที่ยวไปตากอากาศเล่น แล้วเข้าไปหาท่านอุปวาณะ นั่งสนทนาปราศรัยกันพอเป็นเครื่องร่าเริงใจแล้ว

แล้วท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถามพระอุปวาณะว่า ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ ท่านรู้ไหมว่าโพชฌงค์ ๗ ประการ ที่บุคคลอบรมไว้ดีแล้ว ย่อมอำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข ท่านพระอุปวาณะตอบว่า กระผมรู้


ท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปว่า “ดูก่อนอาวุโสอุปวาณะ เมื่อบุคคลมาปรารภโพชฌงค์ ๗ ประการ มีสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น แต่ละอย่างๆ ย่อมรู้ว่า จิตของเราพ้นดีแล้ว เราถอนถีนมิทธะได้ขาดแล้ว เราจะระงับอุทธัจจะได้ด้วยดีแล้ว เราตั้งใจทำความเพียรทำใจไม่ให้หดหู่ได้แล้วอย่างนี้ จึงชื่อว่า อำนวยผลให้อยู่เย็นเป็นสุข” ฯ

ท่านพระอุปวาณะ ได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากพระบรมศาสดา มีความปรากฏในตอนใกล้พระบรมศาสดาจะนิพพาน คือ ในครั้งหนึ่ง พระอุปวาณะยืนถวายงานพัดอยู่ ณ ที่เฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ถูกพระองค์รุกรานให้ถอยไปด้วยพระดำรัสว่า "อเปหิ ภิกฺขุ” ดูก่อนภิกษุ เธอจงหลีกไป อย่ายืนอยู่ข้างหน้าเรา ฯ


ท่านพระอานนท์ได้เห็นแล้ว จึงดำริว่าพระอุปวาณะองค์นี้เป็นผู้อุปัฏฐากใกล้เคียงพระองค์มานานแล้ว เหตุอะไรหนอพระองค์จึงทรงรุกรานให้หลีกออกไปเสีย เมื่อได้โอกาสแล้วเข้าไปกราบทูลถาม จึงได้ทราบเนื้อความนั้น เรื่องนี้นำมากล่าวเพื่อให้รู้ว่า ท่านพระอุปวาณะเคยเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง

เมื่อท่านพระอุปวาณะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ฯ ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ เข้าใจว่าคงนิพพานภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๐   

ประวัติพระอุทายีเถระ

3.png


ท่านพระอุทายี มีชาติภูมิอยู่ ณ ที่ไหน และเข้าบวชในพระพุทธศาสนา ในสำนักของใคร ณ ที่ไหน ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่าน เรื่องราวของท่านที่มีมาในปกรณ์ต่างๆ ก็กล่าวถึงเรื่องที่ท่านได้อุปสมบทแล้ว ฯ

ดังเรื่องที่มีในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย หน้า ๒๐๔ มีความว่า สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่วัดโฆสิตในพระนครโกสัมพี ครั้งนั้นท่านพระอุทายีนั่งแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่หนึ่งซึ่งนั่งล้อมท่านอยู่ ท่านพระอานนท์ได้เห็นท่านแสดงธรรมอยู่เช่นนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่เป็นของทำได้โดยง่ายเลย ผู้แสดงต้องตั้งธรรมไว้ในใจ ๕ อย่าง คือ ตั้งใจว่าเราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ ๑ เราจักแสดงธรรมชี้แจงอ้างเหตุผลให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ๑ เราจักอาศัยความเอ็นดูแสดงธรรม ๑ เราจักไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่ลาภสักการะ ๑ เราจักไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น ๑

เรื่องนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระอุทายีแสดงธรรมแก่พุทธบริษัทหมู่ใหญ่เช่นนั้น ก็ย่อมตั้งธรรม ๕ อย่างนั้นไว้ในใจ ธรรมเทศนาของท่านจึงเป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท นับว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาฉลาดในการแสดงธรรมได้เป็นอย่างดี
ท่านพระอุทายีดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

พระอุทายีมีชื่อว่า มหาอุทายีก็มี แต่เมื่อดูที่มาเพียงในบาลีแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้สงสัยและเข้าใจยาก เพราะศัพท์บาลีท่านวางไว้ว่า “อายสฺมาอุทายี” แต่อรรถกถาท่านแก้เป็นพระโลลุทายี พระสาวกผู้มีนามว่า อุทายีมีหลายรูป เท่าที่ปรากฏชื่อที่รู้กันโดยมากมี ๓ องค์ คือ พระกาฬุทายี ๑ พระมหาอุทายี ๑ พระโลลุทายี ๑ ฯ พระโลลุทายีและพระอุทายี ๒ องค์นี้ มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้สงสัยว่าจะเป็นองค์เดียวกัน ฯ

ในอสีติมหาสาวก ๘๐ องค์ ที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงจัดไว้ในพุทธประวัติ ไม่ได้จัดพระโลลุทายีเข้าด้วย ทรงจัดเอาพระอุทายีเข้าในจำนวนนั้นองค์หนึ่ง เรื่องพระสาวก ๒ รูปนี้ ข้าพเจ้าเคยถามท่านผู้รู้มามากแล้ว ก็ไม่ได้รับคำอธิบายอันเป็นที่พอใจให้หายความสงสัยเสียได้ นอกจากจะค้นพบประวัติเดิมของท่านทั้ง ๒ องค์ เรื่องนี้ขอนักธรรมวินัยช่วยกันวิจารณ์เถิด ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๙   

ประวัติพระทัพพมัลลบุตรเถระ

3.png


ท่านพระทัพพมัลลบุตร เป็นพระราชโอรสของพระราชเทวี ผู้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้ามัลลราช มีนามเดิมชื่อว่า ทัพพราชกุมาร อาศัยที่ท่านเป็นราชบุตรของพระเจ้ามัลละ คำว่า “มัลลบุตร” จึงได้เป็นชื่อผสมกับนามเดิมว่า “ทัพพมัลลบุตร” ฯ  


ทัพพมัลลบุตรราชกุมารนั้น นับแต่วันประสูติมามีพระชนม์ได้ ๗ ปี ได้เข้าไปหาพระมารดาทูลอ้อนวอนขออนุญาตจากพระมารดา เพื่อจะบรรพชาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้รับอนุญาตจากพระมารดาแล้ว จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา

เมื่อได้สดับพระโอวาทของพระองค์แล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ ฯ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อเวลาที่มีดโกนจดลงที่พระเศียร ฯ (เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา)


ท่านเป็นผู้เอาใจใส่ในกิจสงฆ์เป็นอย่างดี ในครั้งหนึ่งได้มีความดำริว่า เราอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ควรรับภารธุระสงฆ์ จึงได้กราบทูลความดำรินั้นแด่พระบรมศาสดา เมื่อทรงทราบแล้ว ทรงสาธุการว่า ดีละๆ ทัพพมัลลบุตร แล้วตรัสให้สงฆ์สมมติท่านเป็นภัตตุทเทสกะและเสนาสนคาหาปกะ

ท่านได้ตั้งใจทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จเรียบร้อยดี และเพราะท่านเป็นผู้ฉลาดในการนี้ด้วย จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแต่งตั้งปูลาดเสนาสนะ ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพิจารณาอายุสังขารของท่านว่า สมควรจะปรินิพพานแล้ว จึงได้ไปกราบทูลพระบรมศาสดา ก่อนจะนิพพานได้ทำประทักษิณเวียนรอบพระองค์รอบหนึ่ง แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เหาะทะยานขึ้นสู่อากาศ นั่งขัดบัลลังก์บนพื้นอากาศอันหาระหว่างมิได้ แล้วเข้าเตโชสมาบัติ ครั้นออกจากสมาบัตินั้นแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ณ เบื้องบนอากาศนั้นเอง

ท่านพระทัพพมัลลบุตรนิพพานเสียแต่เมื่อยังไม่ชรา มีอาจารย์บางท่านแก้ว่า เพราะท่านถูกพวกภิกษุชาวเมตติยภูมิหาเลศโจทย์ด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ครั้นเมื่ออธิกรณ์นั้นได้วินิจฉัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังพากันแช่งด่าท่านอีก ภิกษุผู้เป็นปุถุชนไม่รู้ก็พากันเชื่อถือรังเกียจท่าน แสดงอาการดูหมิ่น ไม่มีความนับถือในท่าน


ท่านเกิดความละอายใจในเรื่องนี้ จึงถวายบังคมลาพระบรมศาสดานิพพานเสีย ฯ บางอาจารย์ก็คัดค้านว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ควรจะเชื่อได้ เพราะว่าธรรมดาพระขีณาสพทั้งหลายย่อมไม่มีความหวั่นไหวในโลกธรรม ละความยินดียินร้าย คือ การเข้าไปว่าร้ายแห่งชนเหล่าอื่นเสียแล้ว การที่ท่านนิพพานเสียแต่ยังหนุ่ม ก็เพราะว่าท่านมีอายุขัยเพียงเท่านี้เอง ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๘   

ประวัติพระพากุลเถระ

3.png


ท่านพระพากุละ เป็นบุตรมหาเศรษฐีในพระนครโกสัมพี มีนามว่า “พากุละ” ด้วยเหตุที่ท่าน
พระพากุละอยู่ในตระกูลเศรษฐีทั้งสอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้อันตระกูลแห่งเศรษฐีทั้ง ๒ ชุบเลี้ยง ดังมีเรื่องราวปรากฏในตำนานว่า

เมื่อท่านเกิดได้ ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยประยูรญาติจัดแจงทำการมงคลโกนผมไฟ และขนานนามท่านพากุละ พี่เลี้ยงและนางนมได้พาท่านไปอาบน้ำชำระเกล้าที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งแหวกว่ายมาตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้า สำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง

นัยว่าทารกนั้น เป็นผู้มีบุญญานุภาพมาก เมื่ออยู่ในท้องปลาใหญ่ตัวนั้น ไม่ได้รับอันตรายใดๆ แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนคนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่อาศัยด้วยบุญญานุภาพของทารก จึงบังเอิญให้ปลานั้นเดือดร้อนกระวนกระวาย เที่ยวกระเสือกกระสนแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ และไปติดข่ายของชาวประมงชาวพระนครพาราณสี

เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่าย ปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเที่ยวเร่ร่อนขายตีราคาถึงหนึ่งพันกหาปณะ ฯ ในพระนครนั้น มีเศรษฐีคนหนึ่ง
พร้อมด้วยภรรยามีทรัพย์มาก แต่เป็นคนไร้บุตรและธิดา ได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ เมื่อได้แล่ปลานั้นออก จึงได้เห็นทารกนอนอยู่ในท้องปลา

ครั้นเห็นทารกนั้นแล้วเกิดความรักใคร่ราวกะบุตร จึงได้เปล่งอุทานวาจาขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า “เราได้ลูกในท้องปลา” ดังนี้ เศรษฐีและภรรยาได้เลี้ยงทารกนั้นไว้เป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย ฯ

ครั้นกาลต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดาและมารดาทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปสำนักพาราณสีเศรษฐี พอเห็นทารกนั้นก็จำได้ว่าเป็นบุตรของตน จึงขอทารกนั้นคืน แสดงเหตุตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พาราณสีเศรษฐีนั้นทราบ


พาราณสีเศรษฐีนั้นไม่ยอม เศรษฐีผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นว่าจะไม่เป็นการตกลงกันแล้ว จึงได้ทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้ง ๒ ช่วยกันอภิบาลรักษาชุบเลี้ยง รับทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง

เศรษฐีทั้ง ๒ นั้น ได้ผลัดเปลี่ยนกัน รับทารกนั้นไปบำรุงเลี้ยงในตระกูลของตนๆ มีกำหนดเวลาคนละ ๖ เดือน อาศัยเหตุตามเรื่องที่กล่าวนี้ ทารกนั้นจึงมีนามว่า “พากุละ” จำเดิมแต่กาลนั้นมา พากุลกุมารได้รับการอภิบาลรักษาเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้ง ๒ เป็นอย่างดี จนเจริญวัยใหญ่โตขึ้น ฯ

เมื่อพระบรมศาสดาเที่ยวเสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมารพร้อมด้วยบริวาร พากันเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วก็เกิดความเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท


แล้วได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นาน ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ตั้งแต่บวชมาในพระพุทธศาสนาประมาณ ๖๐ ปี ไม่เคยจำพรรษาในบ้านเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษากายด้วยเภสัชโดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นเดียว ท่านก็ไม่เคยฉัน

ตามตำนานท่านกล่าวว่า การที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น ก็เพราะผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎีและให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน ฯ เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีโรคาพาธน้อย ฯ

กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพระพุทธศาสนา มีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชก ผู้เป็นสหายเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา


ท่านพระพากุละดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านเข้าเตโชสมาบัติ นั่งนิพพานท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้น ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๗   

ประวัติพระพาหิยทารุจิริยเถระ

3.png


ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ เป็นบุตรของกุฎุมพี ในแว่นแคว้นพาหิยรัฐ เมื่อเจริญวัยใหญ่ขึ้นแล้ว ได้ประกอบอาชีพในทางค้าขาย ครั้งหนึ่งไปค้าขายทางจังหวัดสุพรรณภูมิโดยทางเรือ พร้อมด้วยพวกมนุษย์เป็นอันมาก


เมื่อเรือกำลังแล่นไปในท่ามกลางมหาสมุทร ยังไม่ถึงที่ต้องประสงค์ เรือได้อัปปางลงในท่ามกลางมหาสมุทร พวกมนุษย์ทั้งหมดได้เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า ยังเหลืออยู่แต่พาหิยทารุจิริยะคนเดียว เกาะแผ่นกระดานได้แผ่นหนึ่ง อุตส่าห์พยายามแหวกว่ายไปขึ้นที่ท่าเรือชื่อว่าสุปารกะ ผ้านุ่งผ้าห่มไม่มีเหลือติดตัวเลย มองไม่เห็นอะไรที่จะทำเป็นผ้านุ่งห่ม จึงเอาเปลือกไม้บ้างใบไม้บ้างเย็บติดต่อกันเข้า ทำเป็นผ้านุ่งห่มถือกระเบื้องเที่ยวไป เพื่อขอทานอาหารเลี้ยงชีพ

พวกมนุษย์ได้เห็นแล้ว พากันสำคัญว่า ผู้นี้คงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งเป็นแน่นอน จึงพากันให้ทานข้าวต้มข้าวสวยเป็นต้น และนำเอาผ้านุ่งผ้าห่มไปให้ แต่พาหิยทารุจิริยะคิดว่า ถ้าเราจักนุ่งห่มผ้าที่เขานำมาให้ ลาภสักการะของเราก็จักเสื่อม จึงห้ามพวกมนุษย์เสีย ไม่ให้นำผ้านุ่งผ้าห่มมาให้อีกต่อไป คงนุ่งผ้าทำด้วยเปลือกไม้ตามเดิม และมีความสำคัญว่าตนเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง

ครั้งนั้นเทวดาที่เคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกันมาแต่ชาติก่อน ซึ่งไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้เล็งเห็นอาการของพาหิยทารุจิริยะเช่นนั้น จึงได้ลงมาว่ากล่าวตักเตือนให้สติว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ ฯ ท่านไม่ได้ทำเช่นนั้น จึงรู้สึกสำนึกตัวได้ว่า ตนไม่ใช่พระอรหันต์ การทำเช่นนี้เป็นการหลอกลวงโลก ไม่เป็นการสมควรเลย


เมื่อรู้สึกตัวเช่นนั้นแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่พระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดง มีการตักเตือนให้สำเหนียกศึกษาในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้น ท่านส่งใจไปตามพระธรรมเทศนา ในเวลาจบเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนากับพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสให้ไปแสวงหาบาตรและจีวรอยู่ ในเวลานั้นเผอิญมีนางยักษิณีตนหนึ่ง จำแลงเพศเป็นแม่โคนมวิ่งมาโดยกำลังเร็วขวิดท่านปรินิพพานเสีย ไม่ทันได้อุปสมบท ฯ

พระบรมศาสดาเที่ยวไปบิณฑบาตพร้อมภิกษุเป็นอันมาก ได้ทอดพระเนตรเห็นสรีระของท่านพาหิยทารุจิริยะ จึงรับสั่งให้ภิกษุจัดแจงฌาปนกิจ แล้วก่อพระสถูปบรรจุอัฐิไว้ ภายหลังพระบรมศาสดาทรงยกย่องสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างที่เป็นขิปปาภิญญา ตรัสรู้พลัน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๖   

ประวัติพระสีวลีเถระ

3.png


ท่านพระสีวลี เป็นพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ ฯ จำเดิมแต่พระราชโอรสมาถือปฏิสนธิในครรภ์พระมารดา ทำพระมารดาให้สมบูรณ์ด้วยลาภสักการะเป็นอันมาก แต่อยู่ในครรภ์พระมารดาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน จึงประสูติ เวลาประสูติก็ประสูติง่ายที่สุด เปรียบประดุจน้ำไหลออกจากหม้อ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ คือ


เมื่อพระนางมีครรภ์แก่ครบกำหนดประสูติแล้ว ได้เสวยทุกขเวทนาลำบากมาก พระนางจึงให้พระสวามีไปกราบถวายบังคมพระบรมศาสดา พระองค์ตรัสประทานพรให้ว่า “พระนางสุปปวาสา ผู้เป็นพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุขปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชบุตรผู้หาโรคมิได้เถิด” พระนางสุปปวาสาก็ได้ประสูติพระราชบุตร พร้อมกับขณะที่พระบรมศาสดาตรัสประทานพร

เมื่อทรงประสูติแล้ว พระญาติได้ขนานพระนามว่า “สีวลีกุมาร” ส่วนพระนางสุปปวาสานึกถึงเหตุการณ์ที่เป็นมาแล้ว มีความปรารถนาจะถวายมหาทานสัก ๗ วัน จึงให้สวามีไปอาราธนานิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อรับภัตตาหารในบ้านตลอด ๗ วัน พระราชสามีก็จัดตามความประสงค์ นางได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน (สีวลีกุมารนับแต่วันที่ประสูติมา ได้ถือธมกรกกรองน้ำถวายพระตลอด ๗ วัน)

เมื่อสีวลีกุมารเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ทรงออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตร ได้บรรลุผลตามความปรารถนา คือบรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา นัยว่าท่านได้บรรลุมรรคผลตั้งแต่เมื่อเวลาปลงผม คือ เวลามีดโกนจดลงที่ศีรษะ ครั้งที่หนึ่งได้บรรลุโสดาปัตติผล ครั้งที่สองได้บรรลุสกทาคามิผล ครั้งที่สามได้บรรลุอนาคามิผล ปลงผมเสร็จได้บรรลุพระอรหัตผล


ตั้งแต่นั้นมา ท่านพระสีวลีเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยปัจจัยลาภ เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้มีลาภมาก ฯ ท่านพระสีวลีนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๕   

ประวัติพระขทิรวนิยเรวตเถระ*

3.png


ท่านพระเรวตะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อนาลันทะ เป็นบุตรคนสุดท้องและเป็นน้องชายของท่านพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวตมาณพ
เมื่อเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้นามของป่านั้น นำหน้าชื่อว่า “ขทิรวนิยเรวตะ”

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อเรวตมาณพเจริญวัยมีอายุได้ประมาณ ๘ ปี มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดแล้ว ยังเหลืออยู่แต่เรวตะคนเดียว ถ้าบวชเสียก็จะไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรจะผูกพันเรวตะบุตรของเราไว้ด้วยการให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้สมณะศากยบุตรมาพาไปบวชเสียอีกเลย


ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงไปขอหมั้นนางกุมาริกา ผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคลด้วย ครั้นเมื่อถึงวันกำหนดจึงประดับตกแต่งเรวตมาณพ พาไปเรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ฯ

ในขณะเมื่อทำการมงคล เรวตมาณพเกิดความเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน เมื่อเสร็จการมงคลแล้ว จึงพากันจัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกานั่งในรถคันเดียวกัน เมื่อมาในป่าประมาณ ๓๐
โยชน์ ซึ่งอยู่ในประเทศนั้น แล้วขอบรรพชา

ไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะท่านพระสารีบุตรสั่งบังคับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผมเข้ามาบวชในสำนักของท่าน ท่านทั้งหลายจงบวชให้เธอด้วย ไม่ต้องรับอนุญาตจากบิดามารดา เพราะบิดามารดาของผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ครั้นพวกภิกษุเหล่านั้นให้เรวตะบวชเป็นสามเณรแล้ว จึงส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ ท่านมีความประสงค์จะเยี่ยม จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึง ๒ ครั้ง พระองค์ตรัสห้ามเสียทั้ง ๒ ครั้ง จึงได้ยับยั้งอยู่ (เมื่อเรวตะสามเณรมีอายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยนิยมแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา)


พระเรวตะนั้น ครั้นครบบวชแล้วคิดว่า ถ้าว่าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติจักติดตามมาพบเรา จึงเรียนเอากัมมัฏฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือเอาบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนระยะไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้สำนักอาศัยอยู่ที่นั้น อุตส่าห์เจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ฯ

เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว พระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะ พระบรมศาสดารับสั่งให้รอก่อน เพราะว่าพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกแก่ภิกษุผู้จะตามเสด็จตระเตรียม ครั้งนั้นได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร


พระเรวตะกระทำการต้อนรับเป็นอย่างดี ตามตำนานกล่าวว่า พระเรวตะนิรมิตพระคันธกุฎี เพื่อเป็นที่พักของพวกภิกษุผู้เป็นบริวาร นิรมิตที่จงกรม ๕๐๐ ที่พักกลางวันกลางคืนก็ ๕๐๐ พระบรมศาสดาเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้นถึงเดือนหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ ฯ

พระเรวตะชอบอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงตั้งท่านในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฯ พระเรวตะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
        
๑. ท่านใช้ตามหลังชื่อก็มี เช่น “เรวตขทิรวนิยเถระ”


* ประวัติพระเรวตะ เมื่อพิจารณาตามนัยที่มาในธรรมบทภาค ๔ ได้ความว่า พระเรวตเถระบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๗ ปี ครบบวชแล้วไปอยู่ป่า ทำความเพียร ได้บรรลุพระอรหัตผลภายในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้วพระบรมศาสดาและพระสารีบุตรเสด็จไปเยี่ยม ครั้งนั้นท่านคงยังเป็นสามเณรอยู่ ได้อุปสมบทภายหลัง ฯ ส่วนที่กล่าวในเรื่องนี้ถือเอาตามนัยอสีติมหาสาวกนิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 01:52 , Processed in 0.054549 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.