แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๔   

ประวัติพระอุปเสนเถระ

3.png


ท่านพระอุปเสนะ เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อนางสารีพราหมณี ในบ้านชื่อนาลันทะ แคว้นมคธ เดิมชื่อว่า อุปเสนมาณพ อีกอย่างหนึ่งเรียกชื่อตามที่เป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ว่า อุปเสนวังคันตบุตร ท่านเป็นน้องชายของพระสารีบุตร


เพราะพระสารีบุตรมีพี่น้องร่วมท้องมารดาเดียวกันถึง ๖ คน น้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ ๑ พระอุปเสนะ ๑ พระเรวตะ ๑ และน้องหญิง ๓ คน คือ นางจาลา ๑ นางอุปจาลา ๑ นางสีสุปจาลา ๑ รวมเป็น ๗ คน ทั้งพระสารีบุตร ฯ

อุปเสนมาณพนั้น ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาไตรเพทตามลัทธิของพราหมณ์ ต่อมาได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิตทำกิจพระพุทธศาสนาตามหน้าที่


ครั้นท่านพระอุปเสนะบวชแล้ว มีพรรษาได้เพียงพรรษาเดียวเท่านั้น ท่านคิดว่าจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญทวีมากขึ้นด้วยหมู่พระอริยสงฆ์ จึงได้อุปัชฌาย์อุปสมบทบวชกุลบุตร ภายหลังท่านพาศิษย์ของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ถูกพระบรมศาสดารุกรานว่าเป็นโมฆบุรุษ เป็นผู้มีความมักมาก

เมื่อท่านกลับจากที่เฝ้าแล้ว จึงคิดว่าเราจะยังพระบรมศาสดาให้ตรัสสาธุการ เพราะอาศัยบริษัทของเราให้จงได้ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว ท่านไม่ประมาท ตั้งใจเจริญซึ่งวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ท่านประพฤติอยู่ในธุดงค์ ๑๓ ประการ

ตามตำนานปรากฏว่า ท่านได้เป็นอุปัชฌาย์บวชกุลบุตร จนมีสัทธิวิหาริกประมาณถึง ๕๐๐ องค์ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้พาสัทธิวิหาริกของท่านไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาทรงสาธุการแก่ท่านว่า สาธุ สาธุ อุปเสน ดูก่อนอุปเสนะ ดีละๆ ฉะนี้สมตามความที่ท่านคิดไว้


และพระองค์ได้ทรงแสดงซึ่งคุณแห่งพระอุปเสนะนั้นมีประการต่างๆ แล้วตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้นำมาซึ่งความเลื่อมใสโดยรอบในหมู่ชนทั้งชั้นสูงและชั้นต่ำ ฯ ท่านพระอุปเสนะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๓   

ประวัติพระสาคตเถระ

3.png


ท่านพระสาคตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี มารดาบิดาให้ชื่อว่า สาคตมาณพ ครั้นเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบรรพชาอุปสมบทถือเพศเป็นบรรพชิต ยังฌานสมาบัติ ๘ ประการ ให้บังเกิดขึ้น มีความชำนิชำนาญในองค์ฌานนั้น  

ครั้นกาลต่อมาสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปตามชนบท บรรลุถึงภัททวติกาคามในพระนครโกสัมพี พระองค์ได้เสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้น ฯ ท่านพระสาคตะได้เสด็จไปด้วย ตามตำนานท่านกล่าวว่า ในท่าชื่อว่าอัมพะ มีพญานาคมีฤทธิ์เดชกล้า ชื่อว่า อัมพติฏฐนาค ท่านพระสาคตะได้ทรมานพญานาคนั้นให้เสื่อมสิ้นฤทธิ์เดชแล้ว กลับไปยังสำนักพระบรมศาสดาที่ภัททวติกาคาม ฯ  


ส่วนพระบรมศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ในบ้านนั้นสมควรแก่พุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จไปยังพระนครโกสัมพี อุบาสกอุบาสิกาชาวพระนครโกสัมพี ได้ทำการต้อนรับเสด็จพระองค์ตามสมควร เมื่อได้ทราบว่าท่านพระสาคตะได้สู้กับพญานาคซึ่งอยู่ ณ ท่าชื่อว่าอัมพะ มีชัยชนะ พากันมีความปีติยินดี มีความประสงค์จะหาของอย่างดีเป็นที่พอใจถวาย จึงเข้าไปหาพระสาคตะไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง

แล้วกล่าวถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ อะไรเป็นของหายากและชอบใจยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า พวกภิกษุฉัพพัคคีย์จึงบอกแก่อุบาสกเหล่านั้นว่า สุราอ่อนใสสีแดงดังเท้านกพิราบ เป็นของหายากและของชอบใจยิ่งของภิกษุทั้งหลาย จงจัดสุราเช่นนั้นไว้เถิด อุบาสกอุบาสิกาเหล่านั้นจึงจัดสุรานั้นไว้ทุกๆ เรือน


เมื่อเห็นพระสาคตเถระเที่ยวบิณฑบาตจึงนิมนต์ท่านว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงดื่มสุราอ่อนอันใสสีแดงดังเท้านกพิราบก่อน พระสาคตะก็ดื่มสุรานั้นทุกๆ เรือน ด้วยอำนาจสุราทำให้ท่านมึนเมาลืมสติ จึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายพยุงเธอไปสู่พระวิหาร แล้วทรงตำหนิติเตียนมีประการต่างๆ ในท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุมิให้ดื่มสุราเมรัยอีกต่อไปว่า “สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ” แปลความว่า “เป็นอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย”

ครั้นรุ่งขึ้นท่านพระสาคตะสร่างเมาได้สติ กราบทูลขอขมาให้พระบรมศาสดาทรงอดโทษแล้ว ก็บังเกิดความสังเวชสลดใจในการทำเช่นนั้น ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็อุตส่าห์เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นกาลต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงตั้งท่านพระสาคตะไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างเป็นผู้ฉลาดในเตโชกสิณสมาบัติ


ตามตำนานปรากฏว่า ท่านเป็นพุทธอุปัฏฐากองค์หนึ่ง ฯ ท่านพระสาคตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๒   

ประวัติพระมหากัปปินเถระ

3.png


ท่านพระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของกษัตริย์ ในพระนครกุกกุฏวดี เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อมา มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า อโนชาเทวี ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ในสากลนคร แว่นแคว้นมัททรัฐ


พระเจ้ามหากัปปินะนั้น มีม้าเป็นราชพาหนะ ๕ ตัว คือ ม้าชื่อว่า พละ ๑ พลวาหนะ ๑ ปุปผะ ๑ ปุปผวาหนะ ๑ สุปัตตะ ๑ เมื่อพระองค์ทรงม้าตัวใดแล้ว พระราชทานม้า ๔ ตัว นอกนั้นให้แก่พวกอำมาตย์เพื่อเที่ยวไปสืบข่าว

ต่อมาวันหนึ่ง พระองค์ทรงม้าชื่อ สุปัตตะ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารเสด็จประพาสพระราชอุทยาน พบพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ซึ่งมาจากพระนครสาวัตถี*๑ ตรัสถามทราบความว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า บังเกิดขึ้นแล้วในโลก


พระองค์ทรงมีปีติโสมนัสบังเกิดศรัทธาแก่กล้าจนกระทั่งถึงลืมพระองค์ไป และได้ทรงพระราชทานรางวัลให้พวกพ่อค้าเหล่านั้นประมาณ ๓ แสน และพระองค์ทรงรับสั่งให้ไปรับเอากับพระอัครมเหสี และได้ทรงพระราชอักษรมอบราชสมบัติให้แก่พระอัครมเหสีฝากไปด้วย

ครั้นแล้วพระองค์พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และอำมาตย์ราชบริพารประมาณ ๑ พัน ก็เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ในระหว่างทางเสด็จไปพบแม่น้ำ ๓ แห่ง คือ แม่น้ำชื่อว่า อารวปัจฉา ๑ แม่น้ำชื่อ นีลวาหนา ๑ แม่น้ำชื่อ จันทภาคา ๑ ในแม่น้ำเหล่านั้น หาได้มีเรือแพที่บุคคลจะขี่ข้ามไปไม่


ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้ามหากัปปินะประสบแม่น้ำสายที่ ๑ จึงได้ทรงระลึกถึงพระพุทธคุณ แม่น้ำสายที่ ๒ ระลึกถึงพระธรรมคุณ แม่น้ำสายที่ ๓ ระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยเดชะคุณพระรัตนตรัย แม่น้ำนั้นบังเกิดเป็นน้ำแข็ง ม้าเดินไปได้โดยสะดวก ฯ

ส่วนพระบรมศาสดาทรงทราบว่า พระเจ้ามหากัปปินะทรงสละราชสมบัติพร้อมด้วยข้าราชบริวารเสด็จมา มีพระราชประสงค์จะทรงบรรพชาอุปสมบทเฉพาะพระองค์ จึงได้เสด็จออกไปรับสิ้นหนทางประมาณ ๑๒๐ โยชน์ ประทับอยู่ใต้ร่มไทรใกล้ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา ทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏ


พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร เสด็จถึงที่นั่นแล้วเสด็จลงจากหลังม้าพระที่นั่ง ทรงพระดำเนินเข้าไปเฝ้าตามแสงรัศมีถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ประทับนั่งอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

พระบรมศาสดาทรงแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ

ส่วนพระนางอโนชาเทวีผู้เป็นอัครมเหสีได้ทราบเนื้อความในราชสาส์นจากพ่อค้า และทราบเรื่องราวตลอดแล้ว ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงประทานรางวัลให้พวกพ่อค้าอีกประมาณ ๙ แสน รวมเป็น ๑๒ แสน และได้ทรงสละราชสมบัติ
พระนางอโนชาเทวีพร้อมบริวาร เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา

ดุจนัยหนหลัง พระบรมศาสดาแสดงอนุปุพพิกถา ในที่สุดเทศนา พระนางอโนชาเทวีพร้อมด้วยบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของนางภิกขุณี ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมทั้งบริวาร ฯ

ส่วนท่านพระมหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ได้สดับฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระราชเทวีนั้น ทรงส่งจิตไปตามแนวพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา พระบรมศาสดาทรงพาภิกษุพันรูปนั้นเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร

ท่านพระมหากัปปินะนั้น ครั้นได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว มักเที่ยวเปล่งอุทานว่า “อโห สุขํ อโห สุขํ” แปลว่า “สุขหนอ สุขหนอ” ดังนี้เสมอ พวกภิกษุทั้งหลายได้ยินแล้วสำคัญว่าท่านเปล่งอุทานเช่นนั้น เพราะปรารภซึ่งสุขในราชสมบัติของตน จึงได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระบรมศาสดา

พระองค์รับสั่งให้เข้าเฝ้า พระบรมศาสดาตรัสถามทราบความจริงแล้วจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหากัปปินะบุตรของเรา มิได้เปล่งอุทานปรารภกามสุขหรือรัชชสุข เธอเกิดความปีติในธรรม เปล่งอุทานปรารภอมตมหานิพพาน ฯ

บางตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อพระมหากัปปินะพร้อมด้วยบริวารได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล


คราวแรกท่านไม่กล้าจะทรงสั่งสอนใคร เพราะยังไม่ได้รับพระบรมพุทธานุญาต ภายหลังเมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้เป็นผู้สั่งสอนบริวารของท่าน ๑๐๐๐ รูป ให้ได้สำเร็จพระอรหัตผล

พระบรมศาสดาทรงปรารภความสามารถของท่านในเรื่องนี้ให้เป็นต้นเหตุ จึงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่ภิกษุบริษัท ฯ ท่านพระมหากัปปินะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ในธรรมบทภาค ๔ เรื่องกัปปินเถระวัตถุ เป็นสาวัตถี ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๑   

ประวัติพระนันทกเถระ

3.png


ท่านพระนันทกะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี
มารดาบิดาให้ชื่อว่า นันทกมาณพ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาในสำนักของพระบรมศาสดา บังเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว ตั้งใจเจริญสมณธรรมบำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้านานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา


ท่านเป็นผู้มีความชำนิชำนาญในการระลึกซึ่งปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ที่ท่านและสัตว์อื่นเคยอาศัยและบังเกิดในชาติก่อน (เป็นผู้ชำนาญการระลึกชาติหนหลังได้) และท่านเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ชี้แจ้งให้เป็นที่พอใจและเข้าใจได้โดยง่าย

ในตำนานปรากฏว่า ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องอายตนะ ๖ ประการ แก่นางภิกษุณีประมาณห้าร้อย ในที่เทศนา นางภิกษุณีเหล่านั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล และพากันชื่นชมยินดีในพระธรรมเทศนาของท่าน


พระบรมศาสดาทรงทราบ ในวันรุ่งขึ้นรับสั่งให้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีอีก ท่านก็ได้ไปแสดงธรรมสั่งสอนภิกษุณีตามพระพุทธประสงค์ ยังนางภิกษุณีนั้นให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พร้อมกันทั้ง ๕๐๐ องค์

เพราะอาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคฐาน คือตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างให้โอวาทแก่นางภิกษุณี ท่านพระนันทกะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๖๐   

ประวัติพระโสภิตเถระ

3.png


ท่านพระโสภิตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ ในนครสาวัตถี ชื่อว่า โสภิตมาณพ เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ไปศึกษาอักขรสมัยในลัทธิของพราหมณ์ วันหนึ่งได้ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา ได้สดับฟังธรรมีกถาที่พระองค์ทรงแสดง บังเกิดความศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ เป็นพระขีณาสพอันประเสริฐ และเป็นผู้มีปกติสั่งสมซึ่งวสี ๕ ประการ ชำนาญคล่องแคล่วปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเครื่องระลึกชาติในหนหลังได้

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างระลึกซึ่ง
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น ฯ ท่านพระโสภิตะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๙   

ประวัติพระมหาโกฏฐิตเถระ

3.png


ท่านพระมหาโกฏฐิตะ เป็นบุตรของอัสสลายพราหมณ์ กับนางจันทวดีพราหมณี ในพระนครสาวัตถี ตระกูลของท่านเป็นตระกูลที่มีทรัพย์มาก เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ได้ทรงทรมานอัสสลายพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของท่าน ให้ละทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นอุบาสกแล้ว โกฏฐิตมาณพผู้บุตรก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

วันหนึ่งได้สดับฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดา เกิดศรัทธาเลื่อมใสใคร่จะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ออกบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา มีท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌายะ ท่านพระโมคคัลลานะเป็นอาจารย์

ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อเวลาปลงผม ท่านพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐาน พอผลัดผ้าสาฎกสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ และวิโมกข์ ๓ ฯ


ท่านพระมหาโกฏฐิตะนั้น เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา เมื่อเข้าไปหาพระเถระผู้ใหญ่ก็ดี แม้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาก็ดี ชอบถามปัญหาในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ นั้นเนืองๆ

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงทำซึ่งมหาเวทัลลสูตรให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงตั้งท่านไว้ในเอตทัคคฐานว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างแตกฉานในปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๘   

ประวัติพระกุมารกัสสปเถระ

3.png


ท่านพระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลังชนทั้งหลายเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ฯ


ได้ยินว่ามารดาของท่านมีความปรารถนาอยากจะบวชตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว ได้อ้อนวอนขออนุญาตจากมารดาอยู่บ่อยๆ มารดาบิดาไม่ยอมอนุญาต ครั้นต่อมานางมีสามี ตั้งครรภ์ขึ้นยังมิทันรู้ตัว นางอุตส่าห์ปฏิบัติสามีให้มีความยินดีแล้ว ก็อ้อนวอนขอบรรพชา

ครั้นเมื่อสามีอนุญาตแล้ว ได้ไปบวชอยู่ในสำนักนางภิกษุณีซึ่งเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ภายหลังนางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณีเห็นแล้วเกิดความรังเกียจ จึงได้นำตัวไปให้พระเทวทัตตัดสินชำระอธิกรณ์


พระเทวทัตตัดสินว่า ภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะให้สึกเสีย เมื่อนางได้ฟังคำของพระเทวทัตแล้วเกิดความเสียใจ จึงพูดว่าพวกท่านอย่าให้ฉันฉิบหายเลย ดิฉันไม่ได้บวชเฉพาะพระเทวทัต ขอพวกท่านจงพาดิฉันไปส่งสำนักพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด

พวกนางภิกษุณีจึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา และกราบทูลเนื้อความให้ทรงทราบ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า ภิกษุณีนี้ตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของชนเหล่าอื่น จึงรับสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ในเรื่องนั้นและให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถี มีนางวิสาขาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น มาพร้อมกัน

แล้วพากันพิสูจน์ก็รู้ชัดว่า นางมีครรภ์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสินในท่ามกล่างแห่งบริษัท ๔ ว่า นางภิกษุณีนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว

ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้นมีครรภ์ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม และให้นามสามัญว่า “กัสสปะ” ทารกนั้นเจริญวัยขึ้นด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ชนทั้งหลายจึงได้ชื่อว่า “กุมารกัสสปะ”


วันหนึ่งกุมารกัสสปะลงไปเล่นกับเพื่อนเด็กๆ ด้วยกันที่สนาม ได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกันถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีแม่มีพ่อตีเอาพวกเราเข้าแล้ว กุมารกัสสปะได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปกราบทูลพระราชา

ชั้นแรกพระองค์ตรัสบอกว่า แม่นมเป็นมารดา กุมารกัสสปะไม่เชื่อ อ้อนวอนถามอยู่บ่อยๆ พระองค์จึงตรัสบอกความจริง กุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกผนวช พระองค์ก็ทรงอนุญาต ได้พาไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นเมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ตามวินัยแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา อุตส่าห์เรียนเอาพระกรรมฐานในสำนักของพระบรมศาสดา เข้าไปสู่ป่า เพียรพยายามอยู่ก็ยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงกลับมาเรียนพระกรรมฐานให้วิเศษขึ้นอีก แล้วไปอยู่ที่อันธวัน ฯ


ครั้งนั้นสหายท่านซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกัน ในพระศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บรรลุอนาคามิผลไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาหาท่าน แล้วผูกปัญหาให้ ๑๕ ข้อ สั่งว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดา ชื่อว่าสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้เถิด ดังนี้แล้วส่งไป

ท่านพระกุมารกัสสปะก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นท่านได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา


ท่านมีความสามารถแสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรพิสดาร มีข้ออุปไมยพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในอุบายสั่งสอนบริษัท

อาศัยคุณสมบัติเช่นนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือแสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร ครั้นท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๗   

ประวัติพระปิลินทวัจฉเถระ

3.png


ท่านพระปิลินทวัจฉะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์วัจฉโคตร ชื่อว่า “ปิลินทะ” เรียกชื่อรวมกับโคตรด้วยว่า ปิลินทวัจฉะ เมื่อเจริญวัยวัฒนาการแล้ว บังเกิดศรัทธาแก่กล้า ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ฯ ครั้งนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” ซึ่งแปลว่า “เป็นคนถ่อย” อันเป็นคำหยาบคาย พวกภิกษุทั้งหลายเป็นอันมาก จึงเข้าไปกราบทูลเนื้อความนั้นแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งไปเรียกตัวเข้ามาเฝ้า

ครั้นท่านพระปิลินทวัจฉะเข้ามาเฝ้าแล้ว ทรงรับสั่งถามว่า ดูกรปิลินทวัจฉะ ฉันได้ทราบว่า เธอร้องเรียกพวกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า “วสละ” จริงหรือ ? จึงกราบทูลว่า จริงอย่างนั้นพระพุทธเจ้าข้า ฯ


ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนึกถึงบุพกรรมของท่านพระปิลินทวัจฉะได้ พระองค์จึงทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวลงโทษปิลินทวัจฉภิกษุเลย เธอมิได้ถือโทษโกรธแค้นร้องเรียกพวกเธอด้วยวาทะว่า “วสละ” ดอก

ปิลินทวัจฉภิกษุเคยถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์มาแล้ว ๕ ร้อยชาติ เธอเคยมีวาทะว่า “วสละ” มาแล้วสิ้นกาลช้านาน เพราะเหตุนั้น เธอจึงร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะเช่นนั้น ฯ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะนั้น ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่รักใคร่เจริญใจของเทพยดา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๖   

ประวัติพระวังคีสเถระ

3.png


ท่านพระวังคีสะ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนตามคัมภีร์ในลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท และได้เรียนมนต์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ฉวสีสมนต์ เป็นมนต์เครื่องพิสูจน์ซึ่งศีรษะแห่งซากศพแม้ตายแล้วตั้งสามปี ให้รู้ว่าไปเกิดเป็นอะไร ณ ที่ไหน

และวังคีสพราหมณ์ได้อาศัยมนต์นั่นเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ คือในขั้นต้นได้แสดงศิลปะนั้น ให้ปรากฏโดยความจริงแก่พวกชนในพระนครนั้นก่อน พวกพราหมณ์นี้เลี้ยงชีพได้ จึงได้พาเที่ยวไปสู่ชนบทน้อยใหญ่ประกาศแก่มนุษย์ทั้งเหล่าว่า วังคีสพราหมณ์นี้รู้มนต์วิเศษ ร่ายมนต์แล้วเอาเล็บเคาะที่ศีรษะแห่งสัตว์ผู้ตายแล้ว ย่อมรู้ได้ว่าผู้นี้ไปบังเกิดในนรก ผู้นี้ไปบังเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ผู้นี้ไปเกิดในเปรตวิสัย ผู้นี้ไปบังเกิดในมนุษยโลก ผู้นี้ไปเกิดในเทวโลกดังนี้ ฯ

พวกมนุษย์ทั้งหลายได้ยินประกาศดังนั้น ก็มีความประสงค์อยากจะถามถึงพวกญาติของตนๆ บ้าง จึงให้ทรัพย์ตามกำลังของตนมากบ้างน้อยบ้าง แล้วถามถึงที่เกิดของพวกญาติของตนๆ พวกพราหมณ์เหล่านั้น พาวังคีสพราหมณ์เที่ยวไปในนิคมชนบทอย่างนี้แล้ว กลับมายังพระนครสาวัตถีพักอยู่ใกล้พระเชตวันมหาวิหาร

วันหนึ่งในเวลาเช้า พวกพราหมณ์เหล่านั้นได้เห็นพวกมนุษย์เป็นอันมาก ถือดอกไม้ธูปเทียนเพื่อจะไปฟังพระเทศน์ในพระเชตวันมหาวิหาร จึงว่าพวกท่านจะไปที่นั่นทำไม ก็คนที่จะดีวิเศษเช่นกับวังคีสพราหมณ์ของพวกเราไม่มี เธอรู้มาก พวกมนุษย์เถียงว่า วังคีสพราหมณ์จะรู้อะไร คนที่จะเหมือนกับด้วยพระบรมศาสดาของพวกเราไม่มี เมื่อต่างพวกต่างเถียงกันไม่ตกลง จึงได้พร้อมกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร

พระบรมศาสดาทรงทราบว่า พวกวังคีสพราหมณ์มาสู่ที่เฝ้า พระองค์จึงรับสั่งให้นำศีรษะคนตายมาแล้ว ๕ ศีรษะ คือศีรษะของสัตว์ที่เกิดในนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน มนุษยโลก เทวโลก ๔ ศีรษะ ศีรษะพระขีณาสพศีรษะ ๑ ตั้งไว้ลำดับกัน เมื่อวังคีสพราหมณ์เข้าเฝ้าแล้ว

พระองค์ตรัสถามว่า ฉันได้ทราบว่า ท่านร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะมนุษย์ที่ตายแล้ว ย่อมรู้ที่เกิดของเขาหรือ ?

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามศีรษะของสัตว์ ๔ ศีรษะ ที่เกิดในที่ทั้ง ๔ วังคีสพราหมณ์ก็ทายถูกต้องหมด

พระองค์จึงตรัส สาธุการว่า ดีละๆ ถูกต้องแล้ว ลำดับนั้นพระองค์จึงตรัสถามศีรษะที่ ๕ ว่า ผู้นี้ไปเกิดที่ไหน ?

วังคีสพราหมณ์ ร่ายมนต์แล้วเคาะศีรษะ ก็ไม่รู้จักที่เกิด เพราะเป็นศีรษะพระอรหันต์ จึงนิ่งเฉยอยู่

พระบรมศาสดา ตรัสถามว่า เธอไม่รู้หรือวังคีสะ ฯ

พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่รู้

พ. ฉันรู้

ว. พระองค์ รู้ด้วยอะไร ?

พ. รู้ด้วยกำลังมนต์ของฉัน ฯ

ครั้งนั้นวังคีสพราหมณ์จึงกราบทูลขอเรียนมนต์นั้น พระองค์ตรัสว่า คนที่ไม่บวชฉันให้ไม่ได้ วังคีสพราหมณ์นั้นจึงคิดว่า ถ้าเราเรียนมนต์นี้ได้แล้ว เราก็จักเป็นใหญ่ในชมพูทวีปทั้งสิ้น ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงส่งพราหมณ์นั้นไป และสั่งว่าพวกท่านจงรอเราอยู่นั่นแหละสัก ๒-๓ วัน เราจักบวชในสำนักของพระบรมศาสดา

ครั้นวังคีสะได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาจึงประทานกรรมฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์ ตรัสสั่งให้ท่องบ่นบริกรรมซึ่งมนต์นั้น ครั้นท่านสาธยายมนต์นั้นอยู่อย่างนี้ พวกพราหมณ์ก็คอยมาถามอยู่ว่า เรียนมนต์ได้แล้วหรือยัง ? ท่านตอบว่า รอก่อนกำลังเรียน โดยร่วงไป ๒-๓ วันเท่านั้น พระวังคีสะก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ครั้นท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ไปเฝ้าพระบรมศาสดาในที่ใดๆ ณ กาลใดๆ ย่อมกล่าวคาถาสรรเสริญพระคุณของพระองค์บทหนึ่งก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างปัญญาปฏิภาณในการผูกบทบาทคาถา ครั้นท่านพระวังคีสะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๕   

ประวัติพระกุณฑธานเถระ

3.png



ท่านพระกุณฑธานะ
เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า ธานมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาศิลปวิทยาของพราหมณ์จบไตรเพท ภายหลังได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

ตั้งแต่วันที่ได้อุปสมบทปรากฏว่า มีรูปหญิงรูปหนึ่งเที่ยวติดตามไปข้างหลังของท่าน แต่ท่านไม่เห็นรูปนั้น เห็นแต่พวกมหาชนเท่านั้น ครั้นท่านเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน พวกมนุษย์ได้ถวายภิกษาแก่ท่าน ๒ ส่วน แล้วพูดว่า นี้ส่วนของท่าน นี้ส่วนของหญิงสหายของท่าน ฯ ตั้งแต่นั้นมา พวกมนุษย์จึงพากันเรียกท่านว่า กุณฑธานะ ฯ

ส่วนภิกษุผู้ไม่รู้ความจริง เห็นอาการเช่นนั้นเกิดความรังเกียจกลัวว่าจะเกิดโทษกับพวกตนด้วย จึงบอกให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีขับไล่ท่านออกเสียจากวิหาร อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ไม่ขับ จึงบอกแก่นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขาก็ไม่ขับไล่เหมือนกัน


พวกภิกษุเหล่านั้นจึงถวายพระพรทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่พระวิหารด้วยพระองค์เอง ทรงพิสูจน์ให้ได้ความจริงแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใส รับสั่งให้เข้าไปบิณฑบาตในพระราชวัง และบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พวกภิกษุเห็นดังนั้นก็กลับซ้ำติเตียนว่า เป็นคนชั่วช้า ทั้งพระราชาทั้งพระกุณฑธานะ

พระกุณฑธานะโกรธ กล่าวโต้เหมือนอย่างนั้นบ้าง ครั้นพระบรมศาสดาทราบ กลับติเตียนแล้วทรงห้าม และทรงแสดงเรื่องรูปหญิงสาวนั้นให้พวกภิกษุทราบความจริง แล้วได้แสดงธรรมเทศนาด้วยพระคาถา ๒ คาถา

ในเวลาจบเทศนา ท่านพระกุณฑธานะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ภายหลัง พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้จับสลากเป็นปฐม เมื่อท่านพระกุณฑธานะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 01:42 , Processed in 0.056059 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.