แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๔   

ประวัติพระวักกลิเถระ

3.png



ท่านพระวักกลิ เกิดในตระกูลพราหมณ์ตระกูลหนึ่ง ในพระนครสาวัตถี ชื่อว่า วักกลิมาณพ เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์จนจบไตรเพท


ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวไปในนครสาวัตถี วักกลิมาณพได้ทัศนาการเห็นพระองค์ ก็บังเกิดความเลื่อมใสในพระรูปพระโฉมของพระองค์ไม่อิ่มไม่เบื่อหน่ายในการดู อยากจะดูอยู่ทุกเมื่อ จึงคิดว่า ถ้าเราบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว จักได้เห็นพระองค์อยู่เป็นนิตย์ ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงออกบวชในพระพุทธศาสนา

ครั้นบวชแล้วแทนที่จะท่องบ่นสาธยายธรรม และบำเพ็ญเพียรกัมมัฏฐาน แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ มัวเมาแต่เที่ยวดูพระรูปโฉมของพระบรมศาสดาอยู่เท่านั้น พระองค์ก็มิได้ตรัสว่าอะไรๆ กะท่าน ท่านก็เที่ยวตามชมเชยอยู่เช่นนั้น


ครั้นต่อมาพระบรมศาสดาตรัสสอนว่า ดูก่อนวักกลิ เธอต้องการดูกายที่เปื่อยเน่านี้เพื่อประโยชน์อะไร ดูก่อนวักกลิ ผู้ใดแลเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม แม้พระองค์ทรงตรัสสอนอย่างนี้แล้ว ท่านพระวักกลิก็ยังไม่ละซึ่งการดูพระองค์แล้วหลีกหนีไปที่อื่น พระบรมศาสดาจึงทรงดำริว่าภิกษุนี้ ถ้าไม่ได้ความสลดใจเสียบ้างแล้ว ก็จักไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร

ครั้นทรงดำริในพระทัยอย่างนี้แล้ว เมื่อจวนจะถึงวันเข้าพรรษา พระองค์จึงเสด็จไปสู่กรุงราชคฤห์นครในวันเข้าพรรษา พระองค์จึงมีพระพุทธฎีกาประณามขับไล่พระวักกลิเสียจากสำนักของพระองค์ว่า “อเปหิ วกฺกลิ” ดูก่อนวักกลิภิกษุ เธอจงหลีกไปให้พ้นจากสำนักของเราเถิด ฯ


ท่านพระวักกลิเกิดความน้อยใจว่า พระบรมศาสดาจะไม่ทักทายปราศรัยกะเราอีกแล้ว เราก็ไม่อาจจะอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ตลอดไตรมาส มีความเสียใจที่จะไม่ได้เห็นพระองค์ จึงหลีกออกจากพุทธสำนัก แล้วคิดว่าเรามีชีวิตอยู่จะมีประโยชน์อะไร เราจักกระโดดภูเขาตายเสีย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงลุกขึ้นไปยอดเขาคิชฌกูฏ ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบถึงความลำบากของท่าน จึงแสดงพระองค์ให้ปรากฏในที่เฉพาะหน้า และตรัสปลอบด้วยธรรมีกถา มีประการต่างๆ ท่านเกิดปีติและปราโมทย์อย่างแรงกล้า มาเฝ้าพระบรมศาสดาโดยทางอากาศ นึกถึงพระโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ข่มปีติบนอากาศเสียได้แล้ว ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ลงมาถวายบังคมพระบรมศาสดาที่เฉพาะพระพักตร์ ฯ  

ครั้นกาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงตั้งพระวักกลิไว้ในตำแหน่งผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสัทธาวิมุตติ พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา ท่านพระวักกลิดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๓   

ประวัติพระกังขาเรวตเถระ

3.png



ท่านพระกังขาเรวตะ บังเกิดในตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก ในพระนครสาวัตถี เป็นคนมีศรัทธา วันหนึ่งเป็นเวลาปัจฉาภัต
มหาชนชักชวนกันไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อจะสดับพระธรรมเทศนา

เรวตะนั้นก็ได้ไปกับมหาชน ครั้นถึงที่พระเชตวันมหาวิหารแล้ว นั่งอยู่ในที่สุดบริษัท พระบรมศาสดาตรัสเทศนา เรวตะเกิดความศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้อุปสมบทเป็นภิกษุสมดังปรารถนาแล้ว ท่านอุตส่าห์เรียนเอาซึ่งพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดาจารย์ ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในกัมมัฏฐานจนได้สำเร็จโลกิยฌาน กระทำฌานที่ตนได้แล้วนั้นให้เป็นที่ตั้ง เจริญวิปัสสนากรรมฐานสืบไป ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระเรวตะนั้นมักเกิดความสงสัยในกัปปิยวัตถุ คือสิ่งของที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ เป็นของควรแก่บรรพชิตจะพึงบริโภคใช้สอย เมื่อท่านได้กัปปิยวัตถุอันใดมาแล้ว ก็ให้คิดสงสัยอยู่ ต่อเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นกัปปิยวัตถุโดยถ่องแท้แล้ว จึงบริโภคใช้สอยกัปปิยวัตถุนั้น


ด้วยเหตุนี้คำว่า “กังขา” ซึ่งแปลว่า “ความสงสัย” จึงได้นำหน้าชื่อของท่านว่า “กังขาเรวตะ”

พระกังขาเรวตะนี้ เป็นผู้ชำนาญในฌานสมาบัติอันเป็นโลกิยะและโลกุตตระเข้าสู่ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยได้โดยมาก ฌานสมาบัติอันเป็นพุทธวิสัยนั้น ท่านละเว้นโดยกำหนดมีน้อยยิ่งนัก


ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยินดีในฌานสมาบัติ ฯ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๒   

ประวัติพระสุภูติเถระ

3.png


ท่านพระสุภูติ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี ในวันหนึ่งเมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีทำการฉลองพระเชตวันมหาวิหาร สุภูติกุฎุมพีได้ไปสู่พระเชตวันมหาวิหารพร้อมกับด้วยท่านมหาเศรษฐี เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาแล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย จึงทูลขออุปสมบทในสำนักของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้นได้อุปสมบทสมความประสงค์แล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก จนชำนิชำนาญคล่องแคล่วแล้ว เรียนเอาพระกัมมัฏฐานอยู่ในป่า ไม่ช้าไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

ท่านพระสุภูติประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ อรณวิหาร ชำนาญด้วยโลกุตตรธรรม สำราญอยู่ด้วยหากิเลสมิได้ ๑ และเป็นทักขิเณยยบุคคล ผู้ควรรับซึ่งทักษิณาทาน ๑

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางอรณวิหารแลทักขิเณยยบุคคล ฯ ท่านพระสุภูติเถรนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๑   

ประวัติพระลกุณฏกภัททิยเถระ

3.png


ท่านพระลกุณฏกภัททิยะ* เกิดในตระกูลมั่งคั่ง ในพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพร้อมด้วยอุบาสกชาวนครนั้นเป็นอันมากไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้ว เกิดความศรัทธาเลื่อมใส อยากจะบวชในพระธรรมวินัย

ครั้นได้บวชสมความประสงค์แล้ว อุตส่าห์เล่าเรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักของพระบรมศาสดา บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผล ท่านยังเป็นเสขบุคคลอยู่

ครั้นกาลต่อมา ท่านเข้าไปหาพระสารีบุตรได้นั่งสนทนาธรรมิกถากับท่านโดยอเนกปริยาย เมื่อสนทนาอยู่ จิตท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ฯ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้นปรากฏว่าเป็นคนมีรูปร่างเล็กและต่ำเตี้ย ถ้าใครไม่เคยรู้จักและเคยเห็นท่านเลย หารู้ไม่ว่าเป็นพระ สำคัญเป็นสามเณรไป ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านมาเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วหลีกไป ในเวลานั้นภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๓๐ รูป เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้เห็นท่านหลีกไปเหมือนกัน

พระบรมศาสดา ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า พวกเธอเห็นพระเถระรูปหนึ่งเดินไปจากที่นี่บ้างไหม

พวกภิกษุ กราบทูลว่า ไม่เห็นพระพุทธเจ้าข้า

พ. เห็นมิใช่หรือ  

ภ. เห็นแต่สามเณรองค์หนึ่งพระพุทธเจ้าข้า

พ. นั่นแหละพระเถระ ไม่ใช่สามเณร

ภ. เล็กเหลือเกินพระพุทธเจ้าข้า ดังนี้ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกภิกษุหนุ่มและสามเณรเป็นต้น ที่เป็นปุถุชนเห็นท่านแล้วจับศีรษะท่านบ้าง ที่หูบ้าง ที่จมูกบ้าง แล้วพูดว่า “อา ! ยังไม่อยากสึกบ้างหรือ ยังยินดีประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธศาสนาหรือ” ดังนี้ แต่ท่านหาได้โกรธเคืองในภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นไม่ เพราะท่านเป็นขีณาสพ

ท่านพระลกุณฏกภัททิยะนี้ ปรากฏว่าเป็นผู้พูดไพเราะเสนาะโสดแก่ผู้ฟัง ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีเสียงไพเราะ ฯ เมื่อท่านพระลกุณฏกภัททิยะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ลกุณฏกภัททิยเถระ ในธรรมบทแปลว่า พระเถระที่อยู่ในนครภัททิยะ ชื่อว่าลกุณฏกะ โดยนัยนี้ ได้ความว่า เดิมท่านชื่อว่า ลกุณฏกะ แต่อาศัยท่านอยู่ ภัททิยนคร ฯ มหาชนจึงเรียกชื่อท่านประสมกับชื่อนครเข้าด้วยกัน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๕๐   

ประวัติพระโสณกุฏิกัณณเถระ*

3.png


ท่านพระโสณกุฏิกัณณะ เป็นบุตรของอุบาสิกาชื่อว่า กาฬีผู้โสดาบัน ในกรุงราชคฤห์ เดิมชื่อว่า โสณะ เพราะเหตุว่าท่านประดับเครื่องประดับที่หูควรค่าถึงโกฏิหนึ่ง จึงได้คำว่า “กุฏิกัณณะ” ตามหลังชื่อของท่านว่า “โสณกุฏิกัณณะ” ฯ  

เมื่อพระมหากัจจายนะอาศัยอยู่ที่ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรรฆระ ในอวันตีชนบท ฯ มารดาของโสณกุฏิกัณณะได้เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน เมื่อโสณกุฏิกัณณะเจริญวัยแล้ว ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกและเป็นผู้อุปัฏฐากท่านด้วย

ครั้นต่อมาโสณกุฏิกัณณะมีความปรารถนาจะบวช จึงเข้าไปหาท่านพระมหากัจจายนะ บอกความประสงค์ของตนให้ท่านทราบ ท่านได้ชี้แจงแก่โสณอุบาสกถึงการประพฤติพรหมจรรย์ว่า ลำบากอย่างไร แนะนำให้บำเพ็ญศาสนปฏิบัติในทางฆราวาส แต่โสณอุบาสกมีศรัทธาแก่กล้า ถึงแม้จะได้รับความลำบากอย่างไร ก็ยังปรารถนาเพื่อจะบวชอยู่ จึงได้อ้อนวอนขอให้ท่านสงเคราะห์อยู่เนืองๆ

ในที่สุดพระมหากัจจายนะก็ให้บวชเป็นสามเณรเท่านั้น เพราะในอวันตีชนบท มีภิกษุน้อย จะหาพระสงฆ์มีจำนวน ๑๐ รูป ที่เรียกว่าทสวรรค ให้อุปสมบทได้ยาก ฯ โดยล่วงไป ๓ ปี โสณสามเณรนั้น จึงได้อุปสมบท แล้วก็ศึกษาเล่าเรียนกรรมฐานอยู่ในสำนักอุปัชฌาย์

ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา

เมื่อออกพรรษาแล้ว มีความประสงค์อยากจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา เพราะยังไม่เคยเห็นพระบรมศาสดาเลย จึงได้ลาพระมหากัจจายนเถระ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ไปถวายบังคมพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำของท่าน และให้กราบทูลถึงการปฏิบัติพระวินัยบางอย่างอันไม่สะดวกแก่ภิกษุผู้อยู่ในชนบทนั้น มีการอุปสมบทเป็นต้น เพื่อได้รับพระพุทธดำริแห่งพระบรมศาสดา ฯ

ครั้นลาพระอุปัชฌาย์แล้ว* จัดแจงเก็บเสนาสนะ ถือเอาบาตรและจีวรออกจากอวันตีชนบทไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ครั้นถึงที่ประทับแล้วเข้าเฝ้า กราบถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ตรัสปฏิสันถารตามสมควร แล้วตรัสสั่งพระอานนท์จัดแจงที่พักให้ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระองค์

ในเพลาราตรีจวนจะสว่าง พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้ท่านถวายเทศนา ท่านได้แสดงพระสูตรอันแสดงวัตถุ ๘ ประการ ด้วยเสียงอันไพเราะ พระองค์ทรงสดับแล้วตรัสสาธุการชมเชยว่า ดีละๆ ภิกษุ แล้วตรัสถามถึงอายุพรรษาของท่านต่อไป ท่านได้กราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณกุฏิกัณณะได้โอกาสอันดีแล้ว จึงกราบทูลข้อความที่พระอุปัชฌาย์สั่งมา พระองค์ทรงทราบแล้วได้ทรงอนุญาตผ่อนผันให้ตามความประสงค์ (เรื่องนี้มีพิสดารในประวัติของพระมหากัจจายนะ) เมื่อท่านอยู่ในที่ประทับของพระบรมศาสดาพอสมควรแก่กาลแล้ว ได้กราบถวายบังคมลากลับมายังสำนักพระมหากัจจายนะตามเดิม

ครั้นกลับมาแล้ว ได้แสดงธรรมเทศนาที่ได้ถวายแก่พระบรมศาสดาให้มารดาของท่านฟังโดยทำนองนั้นๆ อีก ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๓ จัมมขันธกะ หน้า ๒๙-๓๐ ฯ อุทาน หน้า ๑๒๑-๑๒๕ ฯ


* ในอสีติมหาสาวกนิพพานกล่าวว่า เมื่อท่านลาพระมหากัจจายนะแล้ว และไปลามารดาอีก มารดาจึงได้ฝากผ้ากัมพลผืนหนึ่งให้เอาไปปูลาดพระคันธกุฎี ที่ประทับพระบรมศาสดา ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๙   

ประวัติพระจูฬปันถกเถระ

3.png


ท่านพระจูฬปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเกิดในระหว่างทาง ด้วยเหตุที่เป็นน้องชายมหาปันถกะ จึงเติมเครื่องหมาย “จูฬ” เข้าข้างหน้าว่า จูฬปันถกะ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระมหาปันถกะนั้น ฯ ประวัติของท่านในตอนต้น ก็พึงทราบความตามนัยที่กล่าวแล้วในประวัติของพระมหาปันถกะนั้นเถิด


ในที่นี้จักกล่าวแต่ตอนที่เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาไป ซึ่งมีความว่า เมื่อพระมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชายได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว และเสวยวิมุตติสุข ใคร่จะให้ความสุขเช่นนั้นแก่จูฬปันถกะผู้เป็นน้องชายบ้าง จึงไปขออนุญาตจากตา เพื่อขอให้จูฬปันถกะบวช เศรษฐีผู้เป็นตาก็อนุญาตให้ตามประสงค์ พระมหาปันถกะจึงให้จูฬปันถกะบวช  


ครั้นจูฬปันถกะบวชแล้ว ปรากฏว่าเป็นคนทึบมาก พี่ชายสอนให้เรียนคาถาพรรณนาพระพุทธคุณเพียงคาถาเดียว เรียนอยู่ถึง ๔ เดือน ก็ยังจำไม่ได้ คาถานั้นว่า


   
“  ปทฺทมํ  ยถา  โกกนุทํ  สุคนฺธํ
     ปาโต  สิยา  ผุลฺลมวีตคนฺธํ
     องฺคีรสํ  ปสฺส  วิโรจมานํ
     ตปนฺตมาทิจฺจมิวนฺตลิกฺเข ”

        

แปลว่า “เธอจงดูพระศากยมุนีอังคีรสผู้มีพระรัศมีแผ่ซ่าน ออกจากพระวรกาย มีพระบวรพักตร์อันเบิกบาน ปานหนึ่งว่าดอกปทุมชาติชื่อว่าโกกนุท มีกลิ่นหอมย่อมขยายกลีบแย้มบานในกาลเช้า มีกลิ่นเรณูมิได้หายระเหยหอม ท่านย่อมรุ่งเรืองไพโรจน์ดุจดวงทิวากรอันส่องแสงแผดแสงอยู่บนอากาศฉะนั้น”


ท่านพระมหาปันถกะทราบว่า จูฬปันถกะน้องชายโง่เขลามาก จึงประณามขับไล่ออกเสียจากสำนักของท่าน ทั้งในเวลานั้น ท่านเป็นภัตตุเทศก์


หมอชีวกโกมารภัจจ์มานิมนต์ภิกษุฉันในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ไม่นับจูฬปันถกะเข้าด้วย พระจูฬปันถกะเกิดความน้อยใจคิดจะสึกเสีย จึงออกไปแต่เช้าตรู่ ได้พบพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ที่ซุ้มประตู พระองค์จึงตรัสถามว่า จูฬปันถกะ เธอจะไปไหน ในเวลาเช่นนี้


พระจูฬปันถกะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะไปสึก เพราะพี่ชายขับไล่ข้าพระพุทธเจ้า จูฬปันถกะเธอบวชเฉพาะพี่ชายของเธอเมื่อไร บวชเฉพาะฉันต่างหาก ก็เมื่อพี่ชายขับไล่แล้ว ทำไมไม่มาหาฉัน มานี่ เป็นฆราวาสจะได้ประโยชน์อะไร มาอยู่กับฉันดีกว่า


จูฬปันถกะเข้าไปเฝ้าที่ใกล้แล้ว พระองค์ทรงลูบศีรษะด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วพาไปนั่งที่หน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงประทานผ้าขาวอันบริสุทธิ์ ตรัสสั่งให้ลูบคลำทำบริกรรมไป ไม่นานผ้านั้นก็เศร้าหมองเหมือนผ้าเช็ดมือ จึงคิดว่าผ้านี้เป็นของขาวบริสุทธิ์อย่างเหลือเกิน แต่อาศัยได้มาถูกต้องอัตภาพนี้ จึงละภาวะเดิมเสีย กลายเป็นผ้าที่เศร้าหมองไปอย่างนี้


สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนา พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงตรัสสอนด้วยพระคาถา ๓ พระคาถา ในเวลาจบพระคาถา ท่านพระจูฬปันถกะได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ฯ


ในเวลาที่พระจูฬปันถกะลูบคลำทำบริกรรมอยู่นั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุประมาณ ๕๐๐ หย่อนอยู่องค์หนึ่ง เสด็จไปสู่เรือนหมอชีวกโกมารภัจจ์ ครั้นท่านได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ก็พอมาถึงเวลาฉัน หมอชีวกโกมารภัจจ์น้อมภัตเข้าไปถวาย


พระองค์ทรงปิดบาตรเสียตรัสว่า ภิกษุยังมาไม่หมด ยังเหลืออยู่ที่วิหารอีกองค์หนึ่ง หมอชีวกโกมารภัจจ์จึงใช้ให้คนไปตาม ในครั้งนั้นพระจูฬปันถกะนิรมิตพระภิกษุให้เต็มวิหารพันรูป เมื่อคนใช้ไปถึงเห็นพระมีมากตั้งพันรูป จึงกลับไปบอกหมอชีวกโกมารภัจจ์


ครั้งนั้นพระบรมศาสดาตรัสกะบุรุษนั้นว่า เจ้าจงไปแล้วบอกว่า “พระบรมศาสดาตรัสเรียกพระจูฬปันถกะ” บุรุษนั้นก็กลับไปบอกเหมือนอย่างนั้น ภิกษุตั้งพันพูดว่า ฉันชื่อจูฬปันถกะ บุรุษนั้นกลับมาอีก กราบทูลว่า ภิกษุเหล่านั้นชื่อจูฬปันถกะทั้งนั้นพระเจ้าข้า


พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุรูปใดพูดขึ้นก่อน จงจับมือภิกษุรูปนั้นไว้ ภิกษุที่เหลือนอกนั้น จักอันตรธานหายไป บุรุษนั้นทำเหมือนอย่างพระบรมศาสดาตรัสนั้น จึงได้พาพระจูฬปันถกะไปในที่นิมนต์ ในที่สุดแห่งภัตกิจ ท่านพระจูฬปันถกะได้ทำภัตตานุโมทนา ฯ


อาศัยที่ท่านประกอบด้วยมโนมยิทธิเช่นนั้น จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ ฯ ครั้นเมื่อท่านพระจูฬปันถกะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๘   

ประวัติพระมหาปันถกเถระ

3.png


ท่านพระมหาปันถกะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า ปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทาง มีน้องชายคนหนึ่งชื่อปันถกะ เพราะเหตุที่เกิดในหนทางเหมือนกัน เพราะท่านเป็นพี่ชายจึงเติมเครื่องหมายว่า “มหา” เข้าข้างหน้า จึงเป็นมหาปันถกะ ส่วนน้องชายเติม “จูฬ” เข้าข้างหน้า เป็นจูฬปันถกะ ฯ

มีเรื่องเล่าว่าในกรุงราชคฤห์ มีธิดาของเศรษฐีผู้มีทรัพย์คนหนึ่ง เมื่อเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาป้องกันรักษาอย่างเหลือเกิน ให้อยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ แต่ธิดานั้นเป็นหญิงโลเลในบุรุษ จึงได้เสียกับคนรับใช้ของตน ภายหลังกลัวคนอื่นจะล่วงรู้ จึงพากันหนีออกจากเรือนไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่เขาไม่รู้จัก


ต่อมาภรรยามีครรภ์ เมื่อครรภ์แก่แล้ว จึงปรึกษากับสามีว่าไปคลอดบุตรที่บ้านเดิม ส่วนสามีกลัวบิดาจะทำโทษแต่ขัดภรรยาไม่ได้ จึงรับรองว่าจะพาไป แต่แกล้งทำเป็นผลัดวันอยู่ว่าวันพรุ่งก่อนๆ จนล่วงเลยไปหลายวัน ภรรยาเห็นอาการดังนั้น ก็หยั่งรู้ความประสงค์ของสามี ฯ

ครั้นวันหนึ่ง สามีออกไปทำงานนอกบ้าน เห็นเป็นโอกาสดี จึงสั่งผู้คุ้นเคยกันที่อยู่เรือนใกล้เคียงกัน เพื่อบอกแก่สามี แล้วหนีออกจากเรือนเดินไปตามทาง พอถึงระหว่างทางก็คลอดบุตรเป็นชาย ฯ ส่วนสามีเมื่อกลับมาบ้านไม่เห็นภรรยา สืบถามทราบว่าหนีกลับไปบ้านเดิม จึงออกติดตามไปทัน ในระหว่างทางได้เห็นภรรยาคลอดบุตรแล้ว จึงพากันกลับมาอยู่ที่บ้านนั้นอีก และได้ตั้งชื่อทารกนั้นว่า “มหาปันถกะ” เพราะว่าเกิดก่อน ฯ

เมื่อมหาปันถกะเจริญวัยแล้ว ไปเล่นกับเด็กเพื่อนบ้านด้วยกัน ได้ยินเด็กเหล่าอื่นเรียก ปู่ ย่า ตา ยาย ส่วนตนไม่มีคนเช่นนั้นจะเรียกกับเขาบ้าง จึงไปถามมารดาว่า แม่ เด็กๆ พวกอื่นเรียกคนสูงอายุว่าตาบ้างยายบ้าง ก็ญาติของเราในที่นี้ไม่มีบ้างหรือ หนู ญาติของเราในที่นี้ไม่มี แต่ตาของหนูชื่อว่า ธนเศรษฐี อยู่ในเมืองราชคฤห์ ในที่นั้นญาติเรามีมาก ก็ทำไมแม่ไม่ไปอยู่ที่นั้น ฯ


ส่วนมารดาไม่บอกความจริงแก่ลูกชาย ลูกชายจึงรบกวนถามอยู่บ่อยๆ เกิดความรำคาญ จึงปรึกษากับสามีว่า พวกหนูเหล่านี้ รบกวนเหลือเกิน ขึ้นชื่อว่าบิดามารดาเห็นเข้าแล้ว จะฆ่ากินเนื้อเทียวหรือ อย่ากระนั้นเลย เราจงพาหนูนี้ไปเยี่ยมตาสักทีเถอะ

ครั้นปรึกษากันดังนั้นแล้ว สองสามีภรรยาก็พาลูกชายทั้ง ๒ ไปเมืองราชคฤห์ เมื่อถึงแล้วจึงพักอยู่ที่ศาลาหลังหนึ่งใกล้ประตูเมือง ให้คนไปบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นบิดา บิดาทราบว่า ลูกสาวพาหลาน ๒ คนมาเยี่ยม เศรษฐีมีความแค้นยังไม่หาย จึงบอกกับคนที่มาส่งข่าวว่า สองผัวเมียเขาอย่าเข้ามาให้ฉันเห็นหน้าเลย เมื่อต้องการอะไรก็เอาไปเลี้ยงชีวิตเถิด แต่ส่งหลานทั้งสองมาให้ฉัน


สองสามีภรรยาก็ถือเอาทรัพย์พอแก่ความต้องการแล้ว กลับไปอยู่ที่เดิม ฯ ส่วนเด็กทั้ง ๒ ก็อาศัยอยู่ในสำนักของตาจนเจริญวัยโตขึ้น ส่วนมหาปันถกะเมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้ไปฟังเทศน์กับเศรษฐีผู้เป็นตา ในสำนักของพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหารเสมอ  

ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใสศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงได้ลาตา ตาก็อนุญาตให้บวช และนำไปเฝ้าพระบรมศาสดา กราบทูลว่าเด็กนี้มีความศรัทธา ใคร่จะบวชในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดารับสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้จัดการบรรพชาเป็นสามเณร ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีแล้ว ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ


เมื่ออุปสมบทแล้ว เล่าเรียนพระพุทธวจนะได้มาก เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านพระมหาปันถกะสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์แล้ว จึงคิดว่าสมควรจะรับภารธุระสงฆ์ จึงเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาทูลอาสาจะรับหน้าที่เป็นภัตตุเทศก์ พระองค์ก็ทรงอนุมัติตาม แล้วประทานตำแหน่งให้แก่ท่าน ท่านได้ทำงานในหน้าที่นั้นเรียบร้อยเป็นอย่างดี ฯ

และท่านมหาปันถกะนั้น เป็นผู้อันพระบรมศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เจริญวิปัสสนา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๗   

ประวัติพระปิณโฑลภารทวาชเถระ

3.png



ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลภารทวาชโคตร ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ มีความชำนิชำนาญได้เป็นคณาจารย์บอกศิลปวิทยาแก่มาณพประมาณห้าร้อย ฯ


ได้ยินว่า ภารทวาชมาณพนั้น มีความโลภในอาหาร เที่ยวไปแสวงหาอาหารกับด้วยพวกมาณพผู้เป็นศิษย์ในที่ต่างๆ คือ ในที่ตนควรได้บ้างไม่ควรได้บ้าง เหตุนี้จึงมีนามปรากฏว่า “ปิณโฑลภารทวาชมาณพ”

เมื่อพระบรมศาสดาประกาศพระศาสนามาโดยลำดับ บรรลุถึงพระนครราชคฤห์ ปิณโฑลภารทวาชมาณพ ได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ ได้ฟังธรรมเทศนาแล้วเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ฯ

ครั้นพระปิณโฑลภารทวาชะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์เจริญสมณธรรม บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์ ๓ ประการ คือ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ฯ

ในวันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลนั้น ท่านถือเอาอาสนะเครื่องลาดไปสู่บริเวณวิหาร ปูลาดแล้ว เที่ยวบันลือออกซึ่งสีหนาทด้วยวาจาอันองอาจว่า “ยสฺส มคฺเค วา ผเล วา กงฺขา อตฺถิ โส มํ ปุจฺฉตุ” ดังนี้ แปลว่า ผู้ใดมีความสงสัยในมรรคหรือผล ผู้นั้นจงถามเราเถิด ฯ ท่านก็บันลือสีหนาทเช่นนั้น


อาศัยด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บันลือสีหนาท ฯ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๖   

ประวัติพระรัฏฐปาลเถระ

3.png


ท่านพระรัฏฐปาละ* เป็นบุตรของรัฏฐปาลเศรษฐีผู้เป็นหัวหน้าในหมู่ชนชาวถุลลโกฏฐิตนิคม แว่นแคว้นกุรุ สมัยหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จจาริกไปในแว่นแคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ บรรลุถึงถุลลโกฏฐิตนิคม ชาวบ้านถุลลโกฏฐิตนิคมได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาจึงพากันไปเฝ้า


บางพวกถวายบังคม บางพวกเป็นแต่พูดจาปราศรัย บางพวกเป็นแต่ประนมมือ บางพวกร้องประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่ ทุกหมู่นั้นพากันนิ่งอยู่ ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใสแล้ว ทุกคนก็ทูลลากลับไป ฯ

ส่วนรัฏฐปาลกุลบุตรครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้ว เกิดความเลื่อมใส ใคร่จะขอบวช พอพวกชาวนิคมนั้นกลับไปแล้ว จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลขอบรรพชา ครั้นได้ทราบว่าพระบรมศาสดาไม่ทรงบวชกุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาต จึงทูลลากลับไปบ้าน


รัฏฐปาละเข้าไปลามารดาบิดาจะออกบวช มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละก็พูดอ้อนวอนเป็นหลายครั้ง มารดาบิดาก็ไม่ยอม รัฏฐปาละเสียใจลงนอนไม่ลุกขึ้น อดอาหารเสียไม่กิน คิดว่าจักตายเสียในที่นี้ หรือจักบวชเท่านั้น มารดาบิดาจึงไปหาสหายรัฏฐปาละ ขอให้ช่วยห้ามปราม สหายเหล่านั้นก็ไปช่วยห้าม เมื่อเห็นว่ารัฏฐปาละไม่ยอม จึงคิดว่าถ้ารัฏฐปาละไม่บวชจักตาย หาเป็นคุณอย่างหนึ่งอย่างใดไม่

ถ้ารัฏฐปาละได้บวช มารดาบิดาเราจักได้เห็นรัฏฐปาละตามเวลาที่สมควร เมื่อรัฏฐปาละบวชแล้ว หากเบื่อหน่ายในการประพฤติเช่นนั้นก็กลับมาที่นี่อีก ครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปหามารดาบิดาของรัฏฐปาละชี้แจ้งเหตุผลให้ฟัง มารดาบิดาของรัฏฐปาละก็เห็นด้วยเลยยอมตาม แต่เมื่อบวชแล้ว ขอให้มาเยี่ยมบ้าง


สหายเหล่านั้นก็กลับไปบอกความนั้นแก่รัฏฐปาละ รัฏฐปาละทราบว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว ดีใจลุกขึ้นเช็ดตัว แล้วอยู่บริโภคอาหารพอร่างกายมีกำลัง ไม่กี่วันแล้วไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลว่ามารดาบิดาอนุญาตแล้ว พระองค์ก็โปรดให้บวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

ครั้นพระรัฏฐปาละบวชแล้วไม่นานประมาณสักครึ่งเดือน พระบรมศาสดาเสด็จจากถุลลโกฏฐิตนิคมไปประทับที่เมืองสาวัตถี ส่วนพระรัฏฐปาละตามเสด็จไป ท่านตั้งอยู่ในความไม่ประมาท บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนา ได้สำเร็จพระอรหัตผลถึงที่สุดของพรหมจรรย์แล้ว ถวายบังคมลาออกจากสาวัตถี เที่ยวจาริกไปถึงถุลลโกฏฐิตนิคม พักอยู่ที่มิคจิรวันพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกุรุ


ในเวลาเช้าท่านเข้าไปบิณฑบาตในนิคมนั้น จนถึงที่ใกล้เรือนของท่าน นางทาสีเห็นท่านแล้วก็จำได้ จึงบอกเนื้อความนั้นให้แก่มารดาบิดาของท่านทราบ จึงได้นิมนต์ท่านไปฉันในเรือนในวันรุ่งขึ้น และอ้อนวอนให้ท่านกลับมาครอบครองสมบัติก็ไม่สมประสงค์ เมื่อพระรัฏฐปาละฉันเสร็จแล้วก็กล่าวคาถาอนุโมทนาพอเป็นทางให้สังเวชในร่างกาย แล้วจึงกลับมิคจิรวัน ฯ

ส่วนพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระรัฏฐปาละทรงจำได้ เพราะรู้จักมาแต่เดิม เสด็จเข้าไปตรัสปราศรัยแล้วประทับ ณ ราชอาสน์ ตรัสถามว่า รัฏฐปาละผู้เจริญ ความเสื่อมมีสี่อย่างที่คนบางจำพวกต้องเข้าแล้วจึงออกบวช คือ แก่ชรา ๑ เจ็บป่วย ๑ สิ้นโภคทรัพย์ ๑ สิ้นญาติ ๑ ฯ ความเสื่อม ๔ อย่างนี้ไม่มีแก่ท่าน ท่านรู้เห็นหรือได้ฟังอย่างไรจึงได้ออกบวช  


มหาบพิตร มีอยู่ ธรรมุทเทศ (ธรรมที่แสดงขึ้นเป็นหัวข้อ) ๔ ข้อ ที่พระบรมศาสดาซึ่งเป็นผู้รู้เห็น เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงแสดงขึ้นแล้ว ซึ่งอาตมภาพได้รู้เห็นแล้วจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ข้อนั้น คือ

ข้อ ๑ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำๆ เข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน ฯ

ข้อ ๒ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกันไม่เป็นใหญ่จำเพาะตน ฯ

ข้อ ๓ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของๆ ตน จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป ฯ

ข้อ ๔ ว่า โลก คือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา ดังนี้ ฯ


ครั้นท่านพระรัฏฐปาละ ทูลเหตุที่ตนออกบวชแก่พระเจ้าโกรัพยะอย่างนี้แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ทรงเลื่อมใส ตรัสอนุโมทนาธรรมกถา แล้วเสด็จกลับไป ฯ ส่วนท่านพระรัฏฐปาละ เมื่อพำนักอาศัยอยู่ในนิคมนั้นพอควรแล้ว ก็กลับมาอยู่ในสำนักของพระบรมศาสดา


อาศัยคุณที่ท่านเป็นผู้บวชด้วยศรัทธาแต่เดิม และกว่าจะบวชได้ก็แสนยากลำบากนัก ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บวชด้วยศรัทธา ฯ ท่านพระรัฏฐปาละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* รัฏฐปาลสูตร ในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ หน้า ๓๙๓

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๕   

ประวัติพระโสณโกฬิวิสเถระ

3.png



ท่านพระโสณโกฬิวิสะ เป็นบุตรของอสุภเศรษฐี ในจัมปานคร เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาจนคลอด ตลอดพวกชนชาวพระนครนำเครื่องบรรณาการมามอบให้แก่เศรษฐีเป็นอันมาก เมื่อคลอดแล้วมีสีผิวพรรณผุดผ่องงดงาม มารดาบิดาจึงได้ขนานนามว่า “โสณ” โกฬิวิสะเป็นชื่อแห่งโคตร


โสณเศรษฐีบุตรนั้น เป็นคนสุขุมาลชาติ มีโลมาที่ละเอียดอ่อนบังเกิดขึ้นที่ฝ่าเท้าทั้ง ๒ ได้รับการบำเรอจากมารดาบิดาเป็นอย่างดี เพราะบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธ ใคร่จะทอดพระเนตรโลมาที่ฝ่าเท้าของโสณเศรษฐีบุตร จึงรับสั่งให้ไปเฝ้าพระบรมศาสดา

โสณเศรษฐีบุตรพร้อมด้วยชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น ก็เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาตามคำสั่ง ได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ที่พระองค์ตรัส ชาวบ้านประมาณ ๘ หมื่น เกิดความเลื่อมใส ได้แสดงตนเป็นอุบาสกแล้วหลีกไป

ส่วนโสณเศรษฐีบุตรเข้าไปกราบทูลแด่พระบรมศาสดาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เห็นว่าผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์สมบูรณ์สิ้นเชิง ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ไม่ทำได้ง่ายดายเลย ข้าพระพุทธองค์อยากจะบวช ขอพระองค์ทรงโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด

พระบรมศาสดาก็ทรงโปรดให้บวชตามประสงค์ ครั้นโสณโกฬิวิสะบวชแล้วไปทำความเพียรอยู่ที่สีตะวัน ทำความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมไม่หยุดจนเท้าแตก ก็ไม่ได้บรรลุธรรมพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง


จึงมาดำริในใจว่า บรรดาสาวกของพระบรมศาสดาที่ปรารภความเพียรแล้ว เราก็เป็นคนหนึ่ง ถึงอย่างนี้จิตของเราก็ยังไม่พ้นจากอาสวะทั้งปวงได้ สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ ถ้ากระไรเราจะสึกออกไปบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศลเถิด จะเป็นการดีกว่า

ฝ่ายพระบรมศาสดาได้ทรงทราบว่าพระโสณโกฬิวิสะปรารภความเพียรเดินจงกรมจนเท้าแตกแล้ว ดำริเช่นนั้นจึงเสด็จไปถึงที่อยู่แห่งพระโสณโกฬิวิสะตรัสสอนให้ปรารภความเพียรแต่พอปานกลาง ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก ยกธรรมขึ้นเปรียบเทียบด้วยสายพิณ ๓ สาย ครั้นตรัสสอนแล้ว เสด็จกลับไปที่ประทับ

พระโสณโกฬิวิสะตั้งอยู่ในโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอน ปรารภความเพียรแต่พอประมาณ ไม่ยิ่งนัก ไม่หย่อนนัก เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ครั้นต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดากราบทูลว่า พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว มีภาระของหนักอันวางแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้ว มีธรรมที่ประกอบไว้ในภพสิ้นรอบแล้ว รู้ชอบแล้ว จึงพ้นแล้วจากอาสวะ


ภิกษุผู้อรหันต์นั้นน้อมเข้าไปแล้วในคุณ ๖ สถาน คือ น้อมไปแล้วในบรรพชา ๑ ในที่สงัด ๑ ในความสำรวมไม่เบียดเบียน ๑ ในความสิ้นแห่งความถือมั่น ๑ ในความสิ้นแห่งความอยาก ๑ ในความไม่หลง ๑ ดังนี้เป็นต้น

พระบรมศาสดาได้ทรงฟังแล้วสรรเสริญว่า พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์พระอรหันต์กล่าวแต่เนื้อความ ไม่นำตนเข้าไปเปรียบ เพราะท่านได้ปรารภความเพียรด้วยความอุตสาหะอย่างแรงกล้า แต่ครั้งยังไม่บรรลุอรหัตผล

พระบรมศาสดาจึงตรัสยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ปรารภความเพียรในพระพุทธศาสนา ท่านพระโสณโกฬิวิสะนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-20 09:56 , Processed in 0.052862 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.