ตอนที่ ๓๔ ประวัติพระราธเถระ
ท่านพระราธะ*๑ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อ ราธะ สกุลของพราหมณ์เป็นสกุลที่มั่งคั่งสกุลหนึ่ง เมื่อราธพราหมณ์แก่เฒ่าชราบุตรภรรยาไม่เลี้ยงดู เป็นคนยากจนเข็ญใจ จึงไปอาศัยเลี้ยงชีพอยู่กับพระภิกษุในพระเวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาราธพราหมณ์มีความประสงค์อยากจะบวช แต่ไม่มีใครบวชให้ เมื่อไม่ได้บวชสมประสงค์ จึงมีร่างกายอันซูบผอม มีผิวพรรณเศร้าหมองไม่ผ่องใส ฯ
พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นราธพราหมณ์ จึงตรัสถาม ทราบความแล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ใครระลึกถึงอุปการคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง ฯ
พระสารีบุตรกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกได้อยู่ วันหนึ่งข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ พราหมณ์นี้ให้อาหารแก่ข้าพเจ้าทัพพีหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสว่า ดีละๆ สารีบุตร สัตบุรุษเป็นคนกตัญญูกตเวที
ถ้าอย่างนั้น สารีบุตรให้พราหมณ์นั้นบวชเถิด ครั้นพระองค์ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชราธพราหมณ์อย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้เลิกการอุปสมบทด้วยสรณคมน์ ๓ ที่ได้ทรงอนุญาตไว้แล้วแต่เดิม ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป ทรงอนุญาตให้สงฆ์อุปสมบทกุลบุตรด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ฯ
ท่านพระราธะ เป็นองค์แรกในการอุปสมบทด้วยวิธีนี้ เมื่อท่านอุปสมบทแล้ว วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลว่า ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าโดยย่อๆ ที่ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังแล้ว จักหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นคนไม่ประมาท มีความเพียร ส่งจิตไปในภาวนา
พระบรมศาสดา ตรัสสอนว่า ราธะสิ่งใดเป็นมาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในสิ่งนั้นเสีย อะไรเล่าชื่อว่ามาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน มีความสิ้นไปเสื่อมไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ชื่อว่ามาร ท่านจงละความกำหนัดพอใจในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นเสีย
พระราธะรับโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว เที่ยวจาริกไปกับพระสารีบุตรไม่นาน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ครั้นเมื่อพระราธะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ท่านพระสารีบุตรพามาเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงปราศรัยตรัสถามว่า สัทธิวิหาริกของท่านนี้เป็นอย่างไร พระสารีบุตรกราบทูลว่า เป็นคนว่านอนสอนง่าย เมื่อแนะนำสั่งสอนว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนั้นไม่ควรทำ ท่านจงทำอย่างนั้น อย่าทำอย่างนั้นดังนี้ ไม่เคยโกรธ ฯ
พระบรมศาสดาตรัสสอนให้ภิกษุทั้งหลายถือเป็นตัวอย่างว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นคนว่าง่ายอย่างราธะเถิด เมื่ออาจารย์ชี้โทษสั่งสอน อย่าถือโกรธ ควรคบแต่บัณฑิตที่ตนเห็นว่าเป็นคนแสดงโทษ กล่าวข่ม ให้เป็นดุจคนชี้บอกขุมทรัพย์ให้ เพราะคบบัณฑิตเช่นนั้น มีคุณประเสริฐ ไม่มีโทษเลย ฯ
และทรงยกย่องสรรเสริญพระราธะว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านที่มีปฏิภาณ คือ ญาณแจ่มแจ้งในพระธรรมเทศนา ท่านพระราธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
*๑ ในธรรมบทภาค ๔ ว่า เมื่อเป็นคฤหัสถ์อยู่ในนครสาวัตถี พระศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ขณะประทับอยู่ในพระเชตวัน ฯ
|