แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๔   

ประวัติพระกิมพิลเถระ

3.png



ท่านพระกิมพิละ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า กิมพิลกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว อนุรุทธศากยกุมารได้มาชวนบวชในพระพุทธศาสนา กิมพิลศากยกุมารมีความพอใจตกลงจะออกบวชด้วย จึงพร้อมด้วยศากยกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภัคคุ และโกลิยวงศ์* คือ เทวทัต พากันเสด็จออกจากพระนครพร้อมด้วยจตุรงคเสนา

เมื่อเสด็จถึงปลายพระนครแล้ว จึงให้พวกจตุรงคเสนากลับคืนพระนคร และเปลื้องเครื่องประดับสำหรับทรงมอบให้แก่อุบาลีภูษา แล้วสั่งให้กลับคืนพระนครจำหน่ายขายเครื่องประดับนั้นเลี้ยงชีพ แต่อุบาลีหาพอใจไม่ ใคร่จะออกบวชในศาสนาพระพุทธเจ้าด้วย จึงแขวนเครื่องประดับสำหรับทรงนั้นไว้ที่ต้นไม้ แล้วทูลความประสงค์ของตนให้แก่ศากยกุมารเหล่านั้นทรงทราบ กิมพิลศากยกุมารพร้อมด้วยศากยกุมารเหล่านั้น ได้พาอุบาลีติดตามเสด็จไปด้วย

ครั้นถึงที่เฝ้าพระบรมศาสดาซึ่งประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลลกษัตริย์แล้ว พากันทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุ
ในพระพุทธศาสนา

เมื่อพระกิมพิลศากยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ท่านพระกิมพิละนั้น ดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่มที่ ๒ จัมมขันธกะ ๑ หน้า ๑

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๓   

ประวัติพระภัคคุเถระ
3.png



ท่านพระภัคคุ เกิดในศากยราชตระกูล ในกรุงกบิลพัสดุ์ มีชื่อว่า ภัคคุกุมาร เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติแล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นพวกศากยกุมารซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดาเป็นอันมาก

วันหนึ่งอนุรุทธศากยกุมาร มีความประสงค์จะออกบวชตามเสด็จพระบรมศาสดาบ้าง จึงได้มาชักชวนภัคคุศากยกุมารให้ออกบวชด้วย ภัคคุศากยกุมารมีความพอใจในการที่จะอุปสมบทตามคำชักชวน จึงได้พากันเสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยเจ้าศากยราชกุมาร ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ กิมพิละ โกลิยวงศ์อีก ๑ พระองค์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลี ผู้เป็นนายภูษามาลา

ไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดาซึ่งเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แว่นแคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบทในธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระภัคคุศากยะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรในวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ท่านพระภัคคุนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่อายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๒   

ประวัติพระอานนทเถระ

3.png



ท่านพระอานนท์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระกนิษฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองพระนครกบิลพัสดุ์ พระมารดาพระนามว่า พระนางกีสาโคตมี เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์แล้ว ท่านก็เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา

ครั้งนั้นพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าในศากยวงศ์ ๔ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ ภัคคุ กิมพิละ และโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์ คือ เทวทัต รวมทั้งอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา รวมพระอานนท์เป็น ๗ พระองค์

เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทที่พระปุณณมันตานีบุตรกล่าวสอน ได้บรรลุโสดาปัตติผล ฯ ในวันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุผู้จะอุปัฏฐากพระองค์เป็นนิตย์ ด้วยว่าเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากของพระองค์ไม่คงตัวผลัดเปลี่ยนกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่พระองค์เดียวได้รับความลำบาก สงฆ์จึงได้เลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่ท่านจะได้รับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ได้ทูลขอพร ๘ ประการ ว่า

๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ

๓. อย่าโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในที่ประทับของพระองค์ ฯ

๔. อย่าทรงพาข้าพระพุทธเจ้าไปในที่นิมนต์ ฯ

๕. ขอพระองค์จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ข้าพระพุทธเจ้ารับไว้ ฯ

๖. ให้ข้าพระพุทธเจ้าพาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ไกล เข้าเฝ้าในขณะที่มาแล้ว

๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามเมื่อนั้น ฯ  
         
๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ฯ


พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนั้น พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๔ อย่างข้างต้น ก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้นๆ จึงจะบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร


ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พร ๓ ข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้

ถ้าข้าพระองค์ไม่ได้พรข้อที่สุด จักมีผู้ถามข้าพระพุทธเจ้าในที่ลับหลังพระองค์ว่า ธรรมนี้พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ถ้าข้าพระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เขาจะพูดติเตียนได้ว่า ท่านไม่รู้แม้แต่เรื่องเท่านี้ ไม่ละพระบรมศาสดาเที่ยวตามเสด็จอยู่ ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนาน เพราะเหตุอะไร

ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพร ๘ ประการ อย่างนี้แล้ว พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามขอ

ตั้งแต่กาลนั้นมา พระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้ถึงชีวิตก็อาจสละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคิรีเสีย มิให้ทำอันตรายแก่พระองค์ได้


ด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเองและผู้อื่น มีสติทรงจำไว้ได้มาก มีความเพียรเอาใจใส่ในการเล่าเรียนสาธยายทรงจำ จึงเป็นผู้ฉลาดในการแสดงธรรมมาก

พระศาสดาจึงทรงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งภิกษุทั้งหลาย ๕ สถาน คือ เป็นพหูสูต ๑ มีสติ ๑ มีธิติ ๑ มีความเพียร ๑ เป็นพุทธอุปัฏฐาก ๑ อนึ่งอาศัยคุณความดีที่ท่านเป็นพหูสูต
เมื่อพระบรมศาสดานิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎก ฯ

ท่านได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงก่อนแต่วันที่จะทำสังคายนา ในปฐมสังคีติกถาเล่าว่า ก่อนวันที่จะทำสังคายนาวันหนึ่ง เมื่อท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นอุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔

ครั้นกาลต่อมาท่านพิจารณาถึงอายุสังขาร เห็นสมควรจะนิพพานแล้ว จึงไปสู่แม่น้ำโรหิณี ซึ่งมีอยู่ในระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ต่อกัน ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศ แล้วแสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดาและมนุษย์ ในที่สุดแห่งเทศนาได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีประการต่างๆ ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า


เมื่ออาตมานิพพานแล้ว ขอให้ร่างกายของอาตมานี้ จงแตกออกเป็น ๒ ภาค จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติศากยวงศ์ภาคหนึ่ง จงตกลงฝั่งข้างฝ่ายพระญาติโกลิยวงศ์ภาคหนึ่ง เพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้งสองฝ่ายนี้เกิดทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุแห่งอัฐิ

ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน* ณ เบื้องบนอากาศในท่ามกลางแห่งแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านก็แตกออกเป็น ๒ ภาค แล้วตกลงมายังภาคพื้นสมดังท่านอธิษฐานทุกประการ ฯ

* พระอานฺนทเถระ เมื่อพิจารณาตามตำนานแล้ว แปลกจากสาวกรูปอื่น โดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นบรรลุพระอรหัตแล้ว นิพพานในอิริยาบถ ๔ คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์บรรลุพระอรหัตในระหว่างอริยาบถ ๔ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยกิเลสนิพพาน และดับขันธปรินิพพานบนอากาศ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพาน


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๑   

ประวัติพระอนุรุทธเถระ

3.png



ท่านพระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกัน ๓ พระองค์ คือ พระเชษ
ฐา (พี่ชาย) พระนามว่า เจ้ามหานาม ๑ พระขนิษฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี ๑ รวมเป็น ๓ กับอนุรุทธกุมาร ถ้านับตามลำดับพระวงศ์ เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ

อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีปราสาท ๓ หลัง เป็นที่อยู่ในฤดูทั้ง ๓ สมบูรณ์ด้วยศฤงคารและบริวารยศ แม้ที่สุดคำว่าไม่มี ก็ไม่รู้และไม่เคยได้สดับเลย ฯ

ครั้งหนึ่งพระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นศากยกุมารซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียง มีคนรู้จักมาก ได้ออกบวชตามพระบรมศาสดา วันหนึ่งเจ้ามหานามผู้เป็นพระเชษฐา ผู้เป็น
พี่ชายมาปรารภเรื่องนี้แล้ว จึงปรึกษาอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ ในตระกูลเราไม่มีใครออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย เจ้าหรือพี่คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชบ้าง ฯ

อนุรุทธะตอบว่า น้องเคยเป็นคนที่ตั้งอยู่ในความสุข ไม่สามารถออกบวชได้ พี่บวชเองเถิด เจ้ามหานามจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเรียนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน พี่จะสอนให้เจ้า จงตั้งใจฟัง ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้ามหานามจึงสั่งสอนการงานของผู้อยู่ครองเรือน ยกการทำนาเป็นต้นขึ้นสอน

เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้ว ก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุด ที่สุดของงานไม่มีปรากฏ จึงคิดเบื่อหน่ายในการงาน พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้นพี่อยู่ครองเรือนเถิด น้องบวชละ

ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นจึงเข้าไปหาพระมารดา ทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช ขอพระแม่เจ้าอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระมารดาตรัสห้ามไม่ยอมให้บวช อนุรุทธะก็ยังอ้อนวอนขออนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง พระมารดาเห็นเช่นนั้น จึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช มาดำริถึงพระเจ้าภัททิยะผู้เป็นพระสหายของอนุรุทธะ ท่านคงไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วย จงบวชเถิด


อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้ว จึงไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ แล้วทูลตามโวหารของผู้คุ้นเคยกันว่า เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเราเนื่องด้วยบรรพชาของท่าน ในชั้นต้นพระเจ้าภัททิยะทรงปฏิเสธไม่ยอมบวช แต่ทนอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดตกลงใจยอมบวชด้วย อนุรุทธะจึงชวนศากยะอื่นได้อีก ๓ คน คือ อานันทะ, ภัคคุ, กิมพิละ, โกลิยวงศ์ คือ เทวทัต เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลาพร้อมใจกันออกจากเมืองไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ

อนุรุทธะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว เข้าไปอยู่ในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ ว่า

๑. ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่ ฯ

๒. ธรรมนี้ของผู้สันโดษโดยยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ ฯ

๓. ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่ ฯ

๔. ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน ฯ

๕. ธรรมนี้ของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง ฯ

๖. ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น ฯ

๗. ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม ฯ

เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนั้น พระบรมศาสดาเสด็จไปถึงทรงทราบว่า พระอนุรุทธะตรึกอย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ชอบละๆ อนุรุทธะท่านตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกชอบละ ถ้าอย่างนั้นท่านจงตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกเป็นที่ ๘ นี้ว่า

๘. ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่ให้เนิ่นช้า ฯ

ครั้นตรัสสอนพระอนุรุทธะอย่างนี้แล้ว เสด็จมาที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญเพียรไปก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ตั้งต้นแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุเสมอ ดังได้ยินมาว่า ยกเสียแต่กาลที่ฉันเท่านั้น กาลอันเหลือนอกนั้น ท่านย่อมพิจารณาแลดูซึ่งหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุ


ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างผู้มีทิพยจักษุญาณ ท่านพระอนุรุทธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๔๐   

ประวัติพระภัททิยเถระศากยราชา

3.png



ท่านพระภัททิยศากยะ เป็นพระโอรสของพระนางศากิยกัญญาผู้พระนามว่า กาฬีโคธาราชเทวี ในกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระนามว่า ภัททิยราชกุมาร เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้เสวยราชสมบัติสืบศากยวงศ์ ต่อมาภายหลังอนุรุทธกุมารผู้สหายได้มาชักชวนให้ออกบรรพชา ในขั้นต้นภัททิยราชกุมารไม่พอใจจะออกบวชด้วย ผลที่สุดก็จำเป็นต้องยอมบวช จึงได้ไปทูลลาพระมารดาสละราชสมบัติ


เสด็จออกไปเฝ้าพระศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ พร้อมด้วยพระราชกุมาร ๕ องค์ คือ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เทวทัต ๑ เป็น ๗ กับทั้งอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลา ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ฯ  

ครั้นพระภัททิยะได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในพรรษาที่บวชนั้น ฯ เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดๆ คือ ในป่าก็ดี อยู่ใต้ร่มไม้ก็ดี อยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ก็ดี มักเปล่งอุทานในที่นั้นว่า “สุขหนอๆ” ดังนี้เสมอ ฯ


ภิกษุทั้งหลายได้ยินได้ฟังเช่นนั้นแล้ว จึงนำความไปกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะเปล่งอุทานอย่างนี้ คงจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ มัวนึกถึงสุขในราชสมบัติเป็นแน่ ไม่ต้องสงสัย

พระบรมศาสดาจึงรับสั่งให้หาพระภัททิยะมา และตรัสถามว่า ภัททิยะ ได้ยินว่าท่านเปล่งอุทานอย่างนั้นจริงหรือ ? จริงพระเจ้าข้า ฯ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อย่างไร จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ


ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องจัดการรักษาป้องกันทั้งภายในวังและนอกวัง ทั้งภายในเมืองและนอกเมืองตลอดทั่วราชอาณาเขต ข้าพระพุทธเจ้าแม้มีคนรักษาตัวอย่างนี้แล้วยังต้องหวาดกลัวรังเกียจสะดุ้งอยู่เป็นนิตย์

เดี๋ยวนี้ข้าพระพุทธเจ้าแม้อยู่ในป่าอยู่ในร่มไม้ แม้จะอยู่ในที่ว่างจากเรือนแห่งอื่นๆ ไม่กลัวแล้ว ไม่หวาดแล้ว ไม่รังเกียจแล้ว ไม่สะดุ้งแล้ว ไม่ต้องขวนขวาย มีขนตกเป็นปกติ ไม่ลุกชันเพราะความกลัว อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีวิต มีใจดุจมฤคอยู่

ข้าพระพุทธเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์อย่างนี้ จึงเปล่งอุทานอย่างนั้น ฯ พระบรมศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทาน ชมเชยขึ้นในเวลานั้น ฯ ท่านพระภัททิยะนั้นเกิดในตระกูลกษัตริย์ จัดว่าอยู่ในตระกูลสูง ทั้งท่านก็ได้เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติแล้วด้วย ถึงอย่างนั้นก็ยังสละราชสมบัติออกบวช

ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงได้รับความสรรเสริญจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๙   

ประวัติพระอุบาลีเถระ

3.png



ท่านพระอุบาลี เป็นบุตรแห่งนายช่างกัลบก ในนครกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า อุบาลี เมื่อเจริญวัฒนาแล้ว ได้เป็นผู้เลื่อมใส เจริญพระหฤทัยแห่งเจ้าในศากยวงศ์ ๕ พระองค์ ได้รับตำแหน่งเป็นนายภูษามาลาแห่งเจ้าศากยวงศ์นั้น ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่ที่อนุปิยนิคมอัมพวนารามของมัลลกษัตริย์ ฯ

ครั้งนั้นศากยกุมาร ๕ พระองค์ คือ ภัททิยะ ๑ อนุรุทธะ ๑ อานันทะ ๑ ภัคคุ ๑ กิมพิละ ๑ เป็น ๖ ทั้งเจ้าในโกลิยวงศ์คือ เทวทัต เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนา เพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามออกไปด้วย พากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ทูลขออุปสมบท

ก่อนแต่จะอุปสมบท พวกเจ้าศากยะเหล่านั้น ได้ทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาก่อน พระองค์ก็ได้โปรดให้บวชอุบาลีก่อน เมื่อพระอุบาลีอุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระกรรมฐานที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ท่านไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญความเพียร ไม่ช้าก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมาก เป็นผู้สามารถจะนำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยเป็นอย่างดี ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างที่ท่านได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ ๓ เรื่อง คือ ภารตัจฉกวัตถุ ๑ อัชชุกวัตถุ ๑ กุมารกัสสปวัตถุ ๑ ฯ

ด้วยเหตุนี้ ท่านพระอุบาลีจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย ฯ

ภายหลังเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ท่านได้ถูกสงฆ์สมมติให้เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยปิฎกด้วย เพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้ เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๘

ประวัติพระราหุลเถระ

3.png



ท่านพระราหุล เป็นพุทธโอรสกับพระนางยโสธรา (พิมพา) พระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม

วันหนึ่งพระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา ซึ่งเป็นพระราชเทวีเก่าของพระองค์ พระราชเทวีได้ส่งราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอพระราชสมบัติที่ตนควรจะได้ ราหุลกุมารออกไปเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่างๆ

ครั้นเห็นพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับ จึงร้องทูลขอราชสมบัติและเสด็จตามไปด้วย พระบรมศาสดาทรงดำริว่า ก็บรรดาทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่จะถาวรมั่นคง และประเสริฐกว่าอริยทรัพย์มิได้มี ควรที่เราจะให้อริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

เมื่อทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า ถ้าอย่างนั้นพระสารีบุตรจงบวชให้ราหุลเถิด ครั้งนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่ มีอายุยังไม่ครบอุปสมบท พระสารีบุตรจึงทูลถามว่า จะโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชราหุลกุมารอย่างไร พระบรมศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้ให้เป็นอุบัติเหตุ จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตร ที่มีอายุยังไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณรด้วยให้สรณคมน์ ๓ ฯ

เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้วตามเสด็จพระบรมศาสดา และพระอุปัชฌายะของตนไป ครั้นเมื่อมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ วันหนึ่งท่านพระราหุลอยู่ที่สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่นทรงแสดงเทศนาราหุโลวาทสูตรเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้น แล้วเสด็จกลับไป ฯ

วันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนเทศนามหาราหุโลวาทสูตร*๑ ซึ่งว่าด้วยรูปกรรมฐาน ยกธาตุ ๕ อย่างคือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ๑ อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ๑ เตโชธาตุ ธาตุไฟ ๑ วาโยธาตุ ธาตุลม ๑ อากาศธาตุ ช่องว่าง ๑ ขึ้นแสดง ให้พิจารณาด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างไรว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นเรา ส่วนนั้นไม่ใช่ของเราเป็นต้น ฯ

ในที่สุดตรัสสอนในกรรมฐานอื่นให้เจริญภาวนา คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา ครั้นทรงสอนจบแล้ว พระราหุลมีจิตยินดีในคำสอนของพระบรมศาสดา

ภายหลังพระราหุลได้ฟังพระโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนา คล้ายกับโอวาทที่ตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นแต่ที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ ๕ ท่านส่งจิตไปตามพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ท่านพระราหุลเป็นผู้ใคร่ศึกษาธรรมวินัย ตามตำนานท่านกล่าวไว้ว่า ท่านพระราหุลนั้นครั้นลุกขึ้นแต่เช้าแล้ว จึงไปกอบทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ในเวลานี้ข้าพเจ้าพึงได้รับซึ่งโอวาทคำสั่งสอนแต่สำนักพระบรมศาสดา หรือแต่สำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือแห่งข้าพเจ้านี้ ฯ

ด้วยเหตุนั้น ท่านพระราหุลจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ใคร่ในการศึกษา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ร.ศ.๑๑๒ หน้า ๑๒๗-๑๒๘ ฯ ๒-หน้า ๑๓๕-๑๔๑ ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๗   

ประวัติพระนันทเถระศากยะ

3.png



ท่านพระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดาทำให้บรรดาประยูรญาติทั้งหลายมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้นเมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติทั้งหลาย ได้ถือเอานิมิตนั้นถวายพระนามว่า นันทกุมาร ฯ
            

เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศสุจริตธรรมให้ได้ความเชื่อความเลื่อมใส

ในวันหนึ่งมีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทกุมารและพระนางชนปทกัลยาณี พระองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสอวยชัยให้พรเพื่อเป็นมงคลแล้ว แล้วเสด็จกลับ

ส่วนนันทกุมารถือบาตรตามเสด็จไป นึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ไม่สามารถจะทูลเตือนได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนนางชนปทกัลยาณีที่จะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้นจึงร้องสั่งว่า “ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา”

ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า “นันทะ เธอจักบวชหรือ” นันทกุมารแม้มีใจไม่สมัครจะบวชแต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความไม่พอใจว่า จะบวช

ครั้นบวชแล้วหวนระลึกถึงแต่คำพูดที่นางชนปทกัลยาณีที่ร้องสั่งไว้เมื่อมาอยู่เสมอ มีความเบื่อหน่ายไม่ผาสุกในอันจะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา ฯ

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง จึงได้พาเที่ยวจาริกไปในที่ต่างๆ ให้ได้เห็นหญิงที่มีรูปร่างสวยงามกว่านางชนปทกัลยาณี ให้พระนันทะละความรักรูปนางชนปทกัลยาณีเสีย มุ่งหมายอยากได้รูปหญิงสาวสวยๆ งามๆ ยิ่งไปกว่านั้นต่อไป ความจริงก็ได้เป็นเช่นนั้น

จนผลที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงสาวที่สวยๆ งามๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์เพื่อจะได้หญิงสาวที่รูปสวยๆ งามๆ จนข้อความรู้กันทั่วไปในหมู่ภิกษุพากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง

ท่านพระนันทะเกิดความละอายหลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เกิดความดำริขึ้นในใจว่า ความรักไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความสลดใจบรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรก็ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

เมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ที่สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจของโลกธรรม และเป็นผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๖   

ประวัติพระกาฬุทายีเถระ

3.png



ท่านพระกาฬุทายี เป็นบุตรมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติ*๑ คือ เกิดพร้อมกับมหาบุรุษ เดิมชื่อว่า อุทายี ท่านกล่าวว่าอุทายีกุมารนั้น เป็นคนมีผิวพรรณค่อนข้างดำ เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี เมื่อ
กาฬุทายีเจริญวัยแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระมหาบุรุษเจ้า เป็นผู้สนิทสนมและคุ้นเคยกับพระมหาบุรุษมาก ฯ

ครั้นเมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จเทศนาสั่งสอนแก่เวไนยสรรพสัตว์ เมื่อเวลาพระองค์ประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์มหานคร พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดาทรงทราบ มีพระราชประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้อำมาตย์คนหนึ่ง พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ให้ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา ฯ


อำมาตย์รับพระราชโองการแล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ไม่ได้ทูลเชิญสมเด็จพระบรมศาสดา และทั้งไม่ได้ส่งข่าวให้พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ ฯ

ส่วนสมเด็จพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา เมื่อไม่เห็นพระราชโอรสเสด็จมา และทั้งไม่ได้ทราบข่าวด้วย จึงใช้อำมาตย์พร้อมทั้งบริวาร ๑ พัน ไปอีก อำมาตย์ก็ไปบวชเสีย ไม่กลับมาส่งข่าวให้ทราบ โดยนัยนี้ถึง ๙ คนแล้ว ครั้นวาระที่ ๑๐ จึงตรัสสั่งให้กาฬุทายีอำมาตย์ ซึ่งเป็นคนคุ้นเคย และเป็นคนที่โปรดปรานของพระบรมศาสดาให้ไปทูลเชิญเสด็จ


กาฬุทายีอำมาตย์ทูลลาบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว พาบริวาร ๑ พัน ไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาบรรลุพระอรหัตผลแล้ว พร้อมด้วยบริวารก็ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา  

ครั้นกาฬุทายีอำมาตย์ได้อุปสมบทแล้ว เมื่อถึงเหมันตฤดู ท่านเห็นเป็นกาลอันสมควรที่จะทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดาให้เสด็จคืนนครด้วยคาถา ๖๐ แล้ว ทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นพุทธบริวาร ไปกรุงกบิลพัสดุ์ ฯ


เมื่อท่านกาฬุทายีทราบว่า พระบรมศาสดาเสด็จกลับคืนพระนครกบิลพัสดุ์ จึงล่วงหน้าไปก่อน และแจ้งข้อความนั้นให้แก่พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบ พระมหากษัตริย์พร้อมด้วยพระประยูรญาติและประชาชนเกิดความเลื่อมใส ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านทุกๆ วัน ที่มาแจ้งข่าว

ส่วนสมเด็จพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๒ หมื่น เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ตามมรรคาวันละโยชน์ ในเมื่อเสด็จตามมรรคา ท่านกาฬุทายีได้มาสู่สำนักของพระเจ้าสุทโธทนะแจ้งระยะทางให้ทรงทราบ พระมหากษัตริย์ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่ท่านแล้ว จะให้นำไปถวายแด่สมเด็จพระบรมศาสดาทุกๆ วัน


ท่านได้เทศนาสั่งสอนให้มหาชนเกิดความเลื่อมใส ด้วยความสามารถของท่านในเรื่องนี้ ท่านพระกาฬุทายีจึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ยังสกุลที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ฯ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

*๑ ผู้ที่บังเกิดพร้อมในวันเดียวกันกับพระมหาบุรุษ เรียกว่า สหชาติ มี ๗ คือ ไม้มหาโพธิ ๑ พระนางยโสธรา (พิมพา) มารดาของราหุล ๑ ขุมทองทั้งสี่ ๑ ช้างพระที่นั่ง ๑ ม้ากัณฐกะอัศวราช ๑ นายฉันนะอำมาตย์ ๑ กาฬุทายีอำมาตย์ ๑ ฯ ทั้ง ๗ นี้บังเกิดพร้อมกันกับมหาบุรุษเจ้า ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๓๕   

ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ

3.png



ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ “ปุณณะ” เรียกนามตามที่เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณีว่า ปุณณมันตานีบุตร ฯ

ปุณณมาณพเป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งนางมันตานีพราหมณีเป็นน้องสาวของท่าน การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้เป็นลุงเป็นผู้ชักนำให้มาบวช

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ได้ให้ปุณณมาณพผู้เป็นหลานชายบวชในพระพุทธศาสนา ครั้นพระปุณณะบวชแล้ว ไปอยู่ในประเทศชื่อชาติภูมิ ไม่ช้านัก บำเพ็ญเพียรก็ได้สำเร็จพระอรหัต ฯ

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ อย่าง คือ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ปรารภความเพียร บริบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ ความรู้เห็นในวิมุตติ แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้น และสั่งสอนให้บริษัทตั้งอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการนั้นด้วย

ในเวลานั้นที่ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้น ทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปสนทนาปราศรัยกัน แล้วไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ

ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาแก้ไข ชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้ง ๒ ต่างอนุโมทนาภาษิตของกันและกัน ฯ

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้นอาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณเช่นไรแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-20 09:47 , Processed in 0.066997 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.