แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๔   

ประวัติพระนันทเถระ
3.png

        


พระนันทะ เป็นบุตรพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยเติบใหญ่แล้วสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ อยู่ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ต่อมาพราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ ออกไปบวชประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ฯ และนันทมาณพพร้อมด้วยมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

วันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนนับถือและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก อยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพ ๑๖ คน คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

นันทมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำพวกนั้น จึงพากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ซึ่งประทับอยู่ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อพระบรมศาสดาอนุญาตแล้ว จึงได้ถามปัญหาของตนๆ ตามลำดับกัน ส่วนนันทมาณพนั้น ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๗ ว่า

นันทมาณพ. ชนทั้งหลายกล่าวว่ามุนีมีอยู่ในโลกดังนี้ ข้อนี้เป็นอย่างไร เขาเรียกคนถึงพร้อมด้วยญาณหรือถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตว่าเป็นมุนี ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยสดับ หรือด้วยความรู้ เรากล่าวว่า คนใดทำตนให้ปราศจากกองกิเลส เป็นคนหากิเลสมิได้ ไม่มีความหวังทะยานอยากเที่ยวอยู่ คนผู้นั้นแหละชื่อว่ามุนี ฯ

น. สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็น ด้วยความฟัง ด้วยศีลและพรต และด้วยวิธีเป็นอันมาก สมณพราหมณ์เหล่านั้น ประพฤติในวิธีเหล่านั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ข้ามพ้นชาติชราได้บ้างหรือไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทูลถาม ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ
        
พ. สมณพราหมณ์เหล่านั้น แม้ถึงประพฤติอย่างนั้น เรากล่าวว่าพ้นชาติชราไม่ได้แล้ว ฯ
        
น. ถ้าพระองค์ตรัสว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามห้วงไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว ?
        
พ. เราไม่ได้กล่าวว่า สมณพราหมณ์ อันชาติชรานั้นครอบงำแล้วหมดทุกคน แต่เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่าใดในโลกนี้ละอารมณ์ที่คนได้เห็นได้ฟังได้รู้ และศีลพรตกับวิธีเป็นอันมากเสียทั้งหมด กำหนดรู้ตัณหาว่าเป็นโทษ ควรละแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ สมณพราหมณ์เหล่านั้นแลข้ามห้วงได้แล้ว ฯ
        

น. ข้าพระพุทธเจ้าชอบในพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงแสดงธรรมอันไม่มีอุปธิ (กิเลส) ชอบแล้ว แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็เรียกสมณพราหมณ์เหล่านั้นว่า ผู้ข้ามห้วงได้แล้วเหมือนพระองค์ตรัส ฯ

เมื่อจบเทศนาปัญหาพยากรณ์ นันทมาณพพร้อมด้วยศิษย์ที่เป็นบริวาร ได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ เมื่อพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหามาณพนอกนี้เสร็จแล้ว นันทมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระนันทะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๓   

ประวัติพระอุปสีวเถระ

3.png



ท่านพระอุปสีวะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาวิชาการ


ต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ อุปสีวมาณพพร้อมด้วยมาณพผู้อื่นเป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย

ครั้นพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดอยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้แก่มาณพ ๑๖ คน ก็มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู


อุปสีวมาณพคนหนึ่งอยู่ในจำพวกมาณพ ๑๖ คนนั้น ได้พากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามถึงปัญหา ครั้นได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๖ ว่า

อุปสีวมาณพ. ลำพังข้าพระองค์ผู้เดียวไม่ได้อาศัยอะไรแล้ว ไม่อาจข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสได้ ขอพระองค์ตรัสบอกอารมณ์ที่หน่วงเหนี่ยว ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าควรอาศัยข้ามห้วงนี้ แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจงเป็นผู้มีสติเพ่งอากิญจัญญายตนฌาน อาศัยอารมณ์ว่าไม่มีดังนี้ ข้ามห้วงเสียเถิด ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เว้นจากการสงสัย เห็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความทะเยอทะยานอยากให้ปรากฏชัดทั้งกลางคืนกลางวันเถิด ฯ

อุ. ผู้ปราศจากความกำหนัดในกามทั้งหลายทั้งปวง แล้วล่วงกามอื่นได้แล้ว อาศัยอากิญจัญญายตนฌาน (คือ ความเพ่งใจว่า “ไม่มีอะไร” เป็นอารมณ์) น้อมใจแล้วในอากิญจัญญายตนฌานนั้นไม่มีเสื่อมบ้างหรือ

พ. ผู้นั้นจะตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้นไม่มีเสื่อม ฯ

อุ. ถ้าผู้นั้น จะต้องอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น ไม่มีเสื่อมสิ้นเป็นอันมาก เขาจะเป็นยั่งยืนอยู่ในอากิญจัญญายตนฌานนั้น หรือจะดับขันธปรินิพพาน วิญญาณของคนเช่นนั้นจะเป็นฉันใด ?

พ. เปลวไฟอันกำลังลมเป่าแล้วดับไป ไม่ถึงความนับว่าได้ไปแล้วในทิศไหน ฉันใด ท่านผู้รู้พ้นไปแล้วจากกองนามรูป ย่อมดับไม่มีเชื้อเพลิง (คือ ดับพร้อมทั้งกิเลสทั้งขันธ์) ไม่ถึงความนับว่าไม่เกิดเป็นอะไรฉันนั้น

อุ. ท่านผู้นั้นดับไปแล้ว หรือเป็นแต่ไม่มีตัว หรือจะเป็นผู้ตั้งอยู่ยั่งยืน หาอันตรายมิได้ ขอพระองค์ทรงพยากรณ์ความข้อความนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นทรงทราบแล้ว ?

พ. ประมาณแห่งเบญจขันธ์ของผู้ที่ดับขันธปรินิพพานแล้ว มิได้มีกิเลส ซึ่งเป็นเหตุกล่าวผู้นั้นว่าไปเกิดเป็นอะไรของผู้นั้นก็มิได้มี เมื่อธรรมทั้งหลาย (มีขันธ์เป็นต้น) อันผู้นั้นจักได้หมดแล้ว ก็ตัดทางแห่งถ้อยคำที่จะพูดถึงผู้นั้นว่าเป็นอะไรเสียทั้งหมด ฯ
            
ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่อุปสีวมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดการแก้ปัญหา อุปสีวมาณพก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เมื่อการพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อุปสีวมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ท่านพระอุปสีวมาณพนั้น เมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่ ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๒   

ประวัติพระโธตกเถระ

3.png



ท่านพระโธตกะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เมื่อมีอายุพอสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรีผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ โธตกมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชตามไปศึกษาอยู่ด้วย ฯ

ในวันหนึ่งพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

ในมาณพ ๑๖ คน โธตกมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำพวกนั้น ได้พากันลาอาจารย์ แล้วพาบริวารเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาทีละคน ส่วนโธตกมาณพทูลถามเป็นคนที่ ๕ ว่า

โธตกมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว จะศึกษาข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดับกิเลสของตน ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงเป็นคนมีปัญญา มีสติ ทำความเพียรในศาสนานี้เถิด ฯ

ธ. ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์ หากังวลมิได้เที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก เหตุนั้นข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ขอพระองค์ทรงเปลื้องข้าพระพุทธเจ้าเสียจากความสงสัยเถิด ?

พ. เราเปลื้องใครๆ ในโลกผู้ยังมีความสงสัยอยู่ไม่ได้ เมื่อท่านรู้ธรรมอันประเสริฐ ก็จะข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสอันนี้เสียได้เองๆ

ธ. ขอพระองค์ทรงพระกรุณาแสดงธรรมอันสงัดจากกิเลสที่ข้าพระพุทธเจ้าควรจะรู้ สั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นคนโปร่งไม่ขัดข้องดุจอาการสงบระงับกิเลสเสียได้ ไม่อาศัยสิ่งหนึ่งสิ่งใด เที่ยวอยู่ในโลกนี้ ?

พ. เราจะบอกอุบายเครื่องสงบระงับกิเลส ซึ่งจะเห็นเอง ไม่ต้องเชื่อตามตื่นข่าว ที่บุคคลได้ทราบแล้ว จักมีสติข้ามความอยากที่ตรึงใจไว้ในโลกเสียได้แก่ท่าน ฯ

ธ. ข้าพระพุทธเจ้าชอบอุบายเครื่องระงับกิเลสอันสูงสุดเป็นอย่างยิ่ง ฯ

พ. ถ้าท่านรู้ว่าความทะยานอยาก ทั้งเบื้องบนเบื้องต่ำท่ามกลางเป็นเหตุให้ติดข้องอยู่ในโลก ท่านอย่าทำความทะยานอยากเพื่อจะเกิดในภพน้อยใหญ่ ฯ

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา โธตกมาณพส่งใจไปตามธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน เมื่อการพยากรณ์ปัญหาเสร็จแล้ว โธตกมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๑   

ประวัติพระเมตตคูเถระ

3.png



ท่านพระเมตตคู เป็นบุตรของพราหมณ์ในนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปมอบตัวยอมเป็นศิษย์พราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลเพื่อศึกษาศิลปวิทยา ฯ

ครั้นกาลต่อมาพราหมณ์พาวรีออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนเมืองอัสสกะกับเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ เมตตคูมาณพพร้อมมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว กิตติศัพท์ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วทุกทิศ พราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของศากยราชเสด็จทรงผนวช ได้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีผู้ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีอยากจะสืบสวนให้ได้ความจริง จึงผูกปัญหาให้มาณพ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ให้ไปกราบทูลถามดู

มาณพ ๑๖ คน ลาอาจารย์ แล้วพามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระพุทธานุญาตแล้ว ปุณณกมาณพได้ทูลถามปัญหาครบ ๓ ข้อ พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว เมตตคูมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๔ ว่า

เมตตคูมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า ขอพระองค์จงตรัสบอกข้อความที่จะพูดถามนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทราบว่า พระองค์ถึงที่สุดจบไตรเพท มีจิตอันได้อบรมดีแล้ว ทุกข์ในโลกหลายประการไม่ใช่แต่อย่างเดียวนี้ มีมาแล้วแต่อะไร ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ท่านถามเราถึงเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์เราจะบอกให้แก่ท่านตามรู้เห็น ทุกข์ในโลกนี้มีอุปธิ คือ กรรมและกิเลสเป็นเหตุ ล้วนเกิดมาก่อนแต่อุปธิ ผู้ใดเป็นคนเขลาไม่รู้ แล้วกระทำอุปธินั้นให้เกิดขึ้น ผู้นั้นย่อมถึงทุกข์เนืองๆ เหตุนั้นเมื่อรู้เห็นว่าอุปธินั้นเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ อย่ากระทำให้อุปธินั้นเกิดมี ฯ
            

ม. ข้าพระพุทธเจ้าทูลถามข้อใด ก็ทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามอื่นอีก ขอเชิญพระองค์ทรงแก้ อย่างไรผู้มีปัญญาจึงจะข้ามพ้นห้วงทะเลใหญ่ คือ ชาติ ชรา และโศกพิไรรำพันเสียได้ ขอพระองค์ทรงแก้ข้อนั้นประทานแก่ข้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าธรรมนั้นพระองค์คงทราบธรรมแล้ว ?

พ. เราจักแสดงธรรมที่จะพึ่งเห็นแจ้งด้วยตนเอง ในอัตภาพนี้ไม่ต้องพิศวงตามคำผู้อื่น คือ อย่างนี้ๆ ที่บุคคลได้ทราบแล้วจะเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามความอยากอันทำให้ติดอยู่ในโลกเสียได้แก่ท่าน ฯ

ม. ข้าพระพุทธเจ้ายินดีธรรมที่สูงนั้นเป็นอย่างยิ่ง ?

พ. ท่านรู้อย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณของท่านจะไม่ตั้งอยู่ในภพ ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติไม่เลินเล่อได้ทราบแล้ว ละความถือมั่นว่าของเราเสียได้แล้ว จะละทุกข์ คือ ชาติ ชรา และโศกพิไรรำพันในโลกนี้ได้ ฯ
            

ม. ข้าพระพุทธเจ้าชอบใจพระวาจาของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ธรรมอันไม่มีอุปธิ พระองค์ทรงแสดงชอบแล้ว พระองค์คงละทุกข์ได้แน่แล้ว เพราะว่าพระองค์ได้ทรงทราบธรรมข้อนี้แล้ว แม้ท่านผู้รู้ที่พระองค์ทรงสั่งสอนอยู่เป็นนิตย์ไม่หยุดหย่อน คงละทุกข์นั้นได้ด้วยเป็นแน่ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้มาถวายบังคมพระองค์ ด้วยตั้งใจจะให้สั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าเป็นนิตย์ไม่หยุดหย่อน เหมือนอย่างนั้นบ้าง ?
            
พ. ท่านรู้ว่าผู้ใดเป็นพราหมณ์ถึงที่สุดจบไตรเพท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแหละข้ามล่วงเหตุแห่งทุกข์ ดุจห้วงทะเลใหญ่นี้ได้แน่แล้ว

ครั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นคนไม่มีกิเลสอันตรึงจิต สิ้นความสงสัย ผู้นั้นครั้นรู้แล้วถึงที่สุดจบไตรเพทในศาสนานี้ ละธรรมที่เป็นเหตุติดข้องอยู่ในภพน้อยภพใหญ่เสียได้ เป็นคนมีความอยากสิ้นแล้ว ไม่มีกิเลสอันจะมากระทบจิต หาความทะเยอทะยานมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นแลข้ามพ้นชาติชราได้แล้ว ฯ
            

ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา เมตตคูมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว เมตตคูมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัย ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๒๐   

ประวัติพระปุณณกเถระ
3.png



ท่านพระปุณณกะ เป็นบุตรพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ


ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้กราบบังคมทูลลาออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน ฯ ปุณณกมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย ฯ

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว กิตติศัพท์ก็ลือกระฉ่อนไปทั่วทิศานุทิศ จนปรากฏแก่พราหมณ์พาวรีว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาตนว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนแก่ประชาชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก


พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู


มาณพทั้ง ๑๖ คน ลาอาจารย์ พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ ทูลถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นได้รับอนุญาตแล้ว จึงได้ทูลถามปัญหาตามที่พราหมณ์พาวรีผู้เป็นอาจารย์ผูกให้ ในมาณพ ๑๖ คนนั้น ปุณณกมาณพคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจำนวนนั้น ได้ทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๓ ว่า

บัดนี้มีปัญหามาถึงพระองค์ผู้หาความหวาดหวั่นมิได้ รู้เหตุที่เป็นรากเหง้าของสิ่งทั้งปวง


พระปุณณกมาณพ. ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลถามว่า หมู่มนุษย์ในโลกนี้ คือ ฤๅษี กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมาก อาศัยอะไรจึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ขอพระองค์ตรัสบอกความข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า หมู่มนุษย์เหล่านั้น อยากได้ของที่ตนปรารถนา อาศัยของที่มีชราทรุดโทรม จึงบูชายัญบวงสรวงเทวดา ฯ
            
ป. หมู่มนุษย์เหล่านั้น ถ้าไม่ประมาทในยัญของตน จะข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่ ?


พ. หมู่มนุษย์เหล่านั้น มุ่งลาภที่ตนหวังจึงพูดสรรเสริญ การบูชายัญรำพันถึงสิ่งที่ตัวใคร่ ดังนั้นก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า การบูชายัญเหล่านั้น ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติ ชราไปได้ ฯ
            
ป. ถ้าผู้บูชายัญเหล่านั้น ข้ามพ้นชาติชราเพราะยัญของตนไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ใครเล่าในเทวโลก หรือในมนุษยโลกข้ามพ้นชาติชรานั้นได้แล้ว ?

พ. ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนในโลกไหนๆ ของผู้ใดไม่มี เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก เรากล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งสงบระงับแล้ว ไม่มีทุจริตความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมอง ดุจควันไฟอันจับเป็นเขม่า ไม่มีกิเลสอันจะกระทบจิต หาความอยากทะเยอทะยานมิได้ ข้ามพ้นชาติชราไปได้แล้ว ฯ

ครั้นพระบรมศาสดาทรงแก้ปัญหา ที่ปุณณกมาณพทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา ปุณณกมาณพได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อพระศาสดาทรงพยากรณ์ปัญหาแห่งมาณพนอกนั้นเสร็จสิ้นแล้ว ปุณณกมาณพพร้อมมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวาร ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๙   

ประวัติพระติสสเมตเตยยเถระ

3.png



ท่านพระติสสเมตเตยยะ เป็นบุตรพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า ติสสะ มีนามโดยโคตรว่า เมตเตยยะ รวมเป็นนามเดียวว่า ติสสเมตเตยยะ เมื่อมีอายุสมควรแก่การเล่าเรียนแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ฯ

ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ถวายกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ ติสสเมตเตยยมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรีนั้น ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า พระโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน มีคนเชื่อและเลื่อมใส ยอมตนเป็นสาวกปฏิบัติตามคำสั่งสอนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงเรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

มาณพทั้ง ๑๖ คน ลาอาจารย์แล้ว พามาณพที่เป็นบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แคว้นมคธ ทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ ครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว อชิตมาณพถามปัญหาเป็นคนแรก ๔ ข้อ เมื่อจบการพยากรณ์ปัญหาของอชิตมาณพแล้ว ติสสเมตเตยยมาณพจึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๒ ว่า

ติสสเมตเตยยมาณพ. ใครชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ เต็มความประสงค์ในโลกนี้, ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยาน ดิ้นรนของใครไม่มี, ใครรู้ส่วนข้างปลายทั้ง ๒ (คืออดีตกับอนาคต) ด้วยปัญญาแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง (คือปัจจุบัน) พระองค์ตรัสว่าใครเป็นมหาบุรุษ ใครล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บให้ติดกันไปได้ ?
            
พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า ภิกษุผู้ประพฤติพรหมจรรย์สำรวมในกามทั้งหลาย ปราศจากความอยากแล้ว มีสติระลึกได้ทุกเมื่อ พิจารณาเห็นชอบแล้ว ดับเครื่องร้อนกระวนกระวายเสียได้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้สันโดษ คือ

เต็มความประสงค์ในโลกนี้ ความอยากซึ่งเป็นเหตุทะเยอทะยานดิ้นรนของภิกษุนั้นแลไม่มี ภิกษุนั้นแลรู้ส่วนข้างปลายทั้ง ๒ ด้วยปัญญา แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง เรากล่าวว่า ภิกษุนั้นแหละเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นแลล่วงความอยากอันผูกใจสัตว์ไว้ในโลกนี้ ดุจด้ายเป็นเครื่องเย็บผ้าให้ติดกันไปได้ ฯ
            

ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา ติสสเมตเตยยมาณพได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อมาณพนอกนั้นทูลปัญหาของตนๆ และพระบรมศาสดาทรงพยากรณ์แล้ว ติสสเมตเตยยมาณพพร้อมด้วยมาณพเหล่านั้น ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘   

ประวัติพระอชิตเถระ

3.png



ท่านพระอชิตะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ณ กรุงสาวัตถี เดิมชื่อว่า อชิตมาณพ เมื่อมีอายุสมควรแก่การศึกษาแล้ว มารดาบิดาได้นำท่านพระอชิตะไปฝากให้เป็นศิษย์เล่าเรียนศิลปวิทยา ในสำนักของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล

เมื่อพราหมณ์พาวรีคิดเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย ได้ถวายกราบบังคมทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากหน้าที่ปุโรหิต ออกบวชเป็นชฎิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ในที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ และอชิตมาณพพร้อมกับมาณพอื่นผู้เป็นศิษย์ ได้ออกบวชติดตามด้วยและอยู่ศึกษาศิลปวิทยาในสำนักของพราหมณ์พาวรีนั้น ฯ

ครั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศากยราชเสด็จออกบรรพชา ปฏิญญาพระองค์ว่าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ แสดงสั่งสอนประชุมชนเป็นอันมาก พราหมณ์พาวรีคิดหลากใจใคร่สืบสวนให้ได้ความจริง จึงได้เรียกมาณพผู้เป็นศิษย์ ๑๖ คน มีอชิตมาณพเป็นหัวหน้า ผูกปัญหาให้คนละหมวดๆ ให้ไปกราบทูลถามดู

อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพอีก ๑๕ คน กับทั้งบริวารพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ แล้วพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาคนละหมวดๆ เมื่อพระบรมศาสดาทรงประทานโอกาสอนุญาตแล้ว อชิตมาณพผู้เป็นหัวหน้า จึงกราบทูลถามปัญหาทีแรก ๔ ข้อ ว่า

อชิตมาณพ. โลกคือ หมู่สัตว์ อันอะไรปิดบังไว้ จึงหลงดุจอยู่ในความมืด ? เพราะอะไรเป็นเหตุจึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ ? พระองค์ตรัสว่าอะไรเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกนั้นให้ติดอยู่ ? และตรัสว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ?

พระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ว่า โลกคือ หมูสัตว์ อันอวิชชา* คือความไม่รู้แจ้งปิดบังแล้ว จึงหลงดุจอยู่ในที่มืด, เพราะความอยากมีประการต่างๆ และความประมาทเลินเล่อ จึงไม่มีปัญญาเห็นปรากฏ เรากล่าวว่า ความอยากเป็นเครื่องฉาบไล้สัตว์โลกให้ติดอยู่, และเรากล่าวว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของสัตว์โลกนั้น ฯ

อ. ขอพระองค์จงตรัสว่า อะไรเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำหลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้น จะละได้เพราะธรรมอะไร ?

พ. เรากล่าวว่า สติเป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องกันความอยากนั้น และความอยากนั้น จะละได้เพราะปัญญา ฯ

อ. ปัญญา สติ กับนามรูปนั้น จะดับไป ณ ที่ไหน ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลถามแล้ว ขอพระองค์ตรัสบอกข้อนี้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. เราจะแก้ปัญหาที่ท่านถามถึงที่ดับของนามรูปสิ้นเชิง ไม่มีเหลือแก่เธอ เพราะวิญญาณดับไปก่อน นามรูปจึงดับได้ ณ ที่นั้นเอง ฯ

อ. ชนผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ๒ พวกนี้ มีอยู่ในโลกเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบทูลถามถึงความประพฤติของชนพวกนั้น พระองค์มีปัญญาแก่กล้า ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ?

พ. ภิกษุผู้มีธรรมได้พิจารณาเห็นแล้ว และชนผู้ต้องศึกษาอยู่ต้องเป็นคนไม่กำหนัดในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติอยู่ทุกอิริยาบถ ฯ

ครั้นสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงพยากรณ์ปัญหาที่อชิตมาณพกราบทูลถามอย่างนี้แล้ว ในที่สุดแห่งการแก้ปัญหา อชิตมาณพก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เมื่อจบโสฬสปัญหาพยากรณ์แล้ว อชิตมาณพพร้อมด้วยมาณพ ๑๕ คน กับทั้งบริวาร กราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านพระอชิตะดำรงชนมายุอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* โสฬสปัญหาทั้งหมด คัดจากพุทธานุภาพพุทธประวัติ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗   

ประวัติพระมหากัจจายนเถระ
3.png



พระมหากัจจายนะ เป็นบุตรพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตรหรือกัจจายนโคตร ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี ชื่อว่า กัญจนะ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้วเรียนจบไตรเพท เมื่อบิดาได้กระทำกาลกิริยาแล้ว ได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา ฯ


ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวโปรดสั่งสอนประชาชน ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง และยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม จึงมีพระประสงค์จะใคร่เชิญสมเด็จพระบรมศาสดาไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงสั่งกัจจายนะปุโรหิต ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เรียนจบไตรเพทไปทูลเชิญเสด็จ กัจจายนะปุโรหิตทูลลาจะบวชด้วย


ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยบริวาร ๗ คน ครั้นมาถึงที่ประทับพระบรมศาสดาแล้ว พากันเข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสเทศนาสั่งสอน ในที่สุดเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกันทั้ง ๘ คน แล้วจึงทูลขออุปสมบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา


ครั้นได้อุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญอาราธนาพระองค์เสด็จไปที่กรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระบรมศาสดาทรงรับสั่งว่า ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพร้อมด้วยบริวาร ๘ องค์ กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดากลับไปสู่กรุงอุชเชนีประกาศพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวพระนครเลื่อมใสแล้ว จึงกลับมาสู่สำนักของพระบรมศาสดาอีก ฯ

ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร เช่น ในครั้งหนึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้ว เสด็จเข้าวิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ช่องที่จะทูลถามเนื้อความ ที่พระองค์ตรัสโดยย่อให้เข้าใจกว้างขวาง เห็นความสามารถของท่านพระมหากัจจายนะ จึงได้อาราธนาขอให้ท่านอธิบายให้ฟัง


ท่านก็อธิบายให้ฟัง ฯ ท่านอธิบายให้ฟังโดยพิสดารแล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วโดยย่อความพิสดารอย่างนี้ ถ้าท่านทั้งหลายประสงค์ ก็จงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดากราบทูลถามเนื้อความเถิด พระองค์ทรงแก้อย่างไร จงจำไว้อย่างนั้น กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ


พระองค์ตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นผู้มีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความนั้นกะเรา เราก็แก้เหมือนอย่างที่กัจจายนะแก้แล้วอย่างนั้น เนื้อความแห่งธรรมที่เราแสดงแล้วโดยย่ออย่างนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงจำไว้เถิด ฯ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อธิบายความย่อโดยพิสดาร ฯ

ท่านพระมหากัจจายนะนั้น ได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติบางข้อ ซึ่งขัดต่อภูมิประเทศ เช่น เมื่อครั้งท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ภูเขาชื่อว่า ปวัตตะ แขวงเมืองกุรุรฆระ ในอวันตีทักขิณาปถชนบท อุบาสกผู้เป็นอุปัฏฐากของท่านองค์หนึ่ง ชื่อว่า โสณกุฏิกัณณกะ มีความประสงค์จะบวชในพระธรรมวินัย แต่ก็ได้เพียงบรรพชาเท่านั้น โดยล่วงไป ๓ ปีแล้ว จึงได้อุปสมบท เพราะในอวันตีทักขิณาปถชนบทหาภิกษุสงฆ์เป็นคณปูรกะไม่ได้


เมื่อโสณกุฏิกัณณกะได้อุปสมบทแล้ว มีความปรารถนาจะไปเฝ้าพระบรมศาสดา จึงไปลาท่านพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านก็อนุญาต และสั่งให้ไปถวายบังคมพระบาทพระบรมศาสดาด้วยเศียรเกล้าตามคำขอของท่าน แล้วให้กราบทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระองค์ทรงแก้ไขพระพุทธบัญญัติ ซึ่งขัดต่ออวันตีทักขิณาปถชนบท ๕ ข้อ คือ
            
.....ในอวันตีทักขิณาปถชนบท มีภิกษุน้อย ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยคณะภิกษุน้อยกว่า ๑๐ รูป ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูก่อนภิกษุ เราอนุญาตการอุปสมบทในปัจจันตชนบท ด้วยคณะมีพระวินัยธรเป็นที่ ๕” (ด้วยคณะสงฆ์ ๕ รูป) ฯ
            
.....มีพื้นที่ขรุขระไม่สม่ำเสมอ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าเป็นชั้นๆ ในปัจจันตชนบท”
            
.....พวกมนุษย์ต้องอาบน้ำทุกวัน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตการอาบน้ำเป็นนิตย์ ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการอาบน้ำได้เป็นนิตย์ในปัจจันตชนบท”
            
.....มีเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น บริบูรณ์ดีเหมือนมัชฌิมชนบท ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงอนุญาตเครื่องลาดทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะหนังแกะเป็นต้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเครื่องลาดที่ทำด้วยหนังสัตว์ มีหนังแพะ หนังแกะเป็นต้น” ฯ
            
.....พวกมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมถวายจีวรแก่ภิกษุไปแล้วในภายนอกสีมาด้วยคำว่า “พวกข้าพเจ้าถวายจีวรผืนนี้ แก่ภิกษุชื่อนี้” เมื่อพวกเธอเหล่านั้นกลับมาแล้ว พวกภิกษุในวัดแจ้งความให้พวกเธอทราบ พวกเธอรังเกียจ ไม่ยินดีรับ ด้วยเข้าใจเสียว่าผ้านั้นเป็นนิสสัคคียะ (จำต้องสละ เพราะล่วง ๑๐ ราตรีแล้ว) ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพึงตรัสบอกการปฏิบัติในจีวรเช่นนั้น ฯ ในข้อนี้มีพระพุทธานุญาตว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตเพื่อให้ภิกษุยินดีรับจีวรที่ทายกถวายลับหลังนั้นได้ ผ้ายังไม่ถึงมือภิกษุตราบใด จะนับว่าเธอเป็นผู้มีสิทธิ์ในผ้านั้นเต็มที่ยังไม่ได้ตราบนั้น”
            
ท่านพระมหากัจจายนะนั้น เป็นผู้มีรูปงาม มีผิวเหลืองดุจทอง มีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า บุตรเศรษฐีมีชื่อว่า โสเรยยะ ในโสเรยยนครเห็นท่านแล้วคะนองใจยิ่งนัก ด้วยอำนาจอกุศลจิตเพียงเท่านี้ เพศชายแห่งโสเรยยเศรษฐีบุตรนั้นกลับเป็นเพศสตรี เธอได้รับความอับอายเป็นอย่างยิ่ง จึงหนีไปอยู่นครอื่น จนกระทั่งได้สามีมีบุตรด้วยกัน ๒ คน ภายหลังได้ไปขอขมาให้ท่านอดโทษแล้ว จึงกลับเป็นบุรุษตามเดิม ฯ


ตามความในมธุรสูตรว่า ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ใจความย่อในสูตรนั้นว่า เมื่อท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชธานีอวันตีบุตรเสด็จไปหา แล้วทรงตรัสว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัจจายนะผู้เจริญ พวกพราหมณ์ถือว่า พวกเขาเป็นผู้ประเสริฐสุด เกิดจากพรหม ท่านเข้าใจว่าอย่างไร ฯ  


ท่านพระมหากัจจายนะทูลตอบ แล้วแสดงวรรณะ ๔ เหล่านี้ไม่ต่างกัน ครั้นพระเจ้ามธุรราชสดับแล้วเกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถระกับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ฯ


พระเถระทูลห้ามว่า อย่าถึงท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของท่านเป็นสรณะเถิด ฯ พระเจ้ามธุรราชจึงตรัสถามว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน ได้ทราบความว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเสียแล้ว


จึงตรัสว่า ถ้าพระองค์ได้ทรงสดับว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จในที่ใด แม้ใกล้ไกลเท่าใด พระองค์ก็คงจะเสด็จไปเฝ้าให้จงได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ข้าพระองค์ขอถือพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ปรินิพพานแล้ว กับพระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ฯ  


ข้อนี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ท่านพระมหากัจจายนะมีชีวิตอยู่มาภายหลังแต่พระพุทธปรินิพพาน ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ


4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖   

ประวัติพระมหากัสสปเถระ

3.png



ท่านพระมหากัสสปะ เป็นบุตรกปิลพราหมณ์กัสสปโคตรในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐ ชื่อ ปิปผลิ อีกอย่างหนึ่งเรียกตามโคตรว่า กัสสปะ
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี บุตรีพราหมณ์โกสิยโคตร ณ สาคลนคร จังหวัดมคธรัฐ เนื้อความในเรื่องนี้มีว่า

เมื่อปิปผลิมาณพมีอายุได้ ๒๐ ปีแล้ว พราหมณ์ผู้เป็นบิดา พร้อมกับนางพราหมณีผู้มารดา ปรึกษากันหาภรรยาให้แก่บุตรของตน จึงมอบสิ่งของมีเงินและทองเป็นต้น ให้แก่พราหมณ์ ๘ คน แล้วส่งไปเพื่อให้แสวงหาหญิงที่มีลักษณะงดงาม มีฐานะเสมอกับด้วยสกุลของตน

พราหมณ์ ๒ คน รับสิ่งของทองหมั้นแล้ว เที่ยวไปได้บรรลุถึงสาคลนคร ในพระนครนั้น มีธิดาของพราหมณ์โกสิยโคตรคนหนึ่ง ชื่อว่า ภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี รูปร่างงดงามสมกับเป็นผู้มีบุญ พราหมณ์เหล่านั้นครั้นได้เห็นแล้ว จึงเข้าไปสู่ขอกับบิดามารดาของนาง เมื่อเป็นการตกลงแล้ว มอบสิ่งของทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคล และส่งข่าวให้แก่กปิลพราหมณ์ทราบ ฯ

ส่วนปิปผลิมาณพเมื่อได้ทราบดังนั้นแล้ว ไม่ได้มีความประสงค์จะแต่งงานเลย จึงเข้าไปในห้องเขียนจดหมายบอกความประสงค์ของตนให้แก่นางทราบว่า “นางผู้เจริญ จงได้สามีที่มีชาติและโคตรโภคสมบัติเสมอกับนาง อยู่ครอบครองเรือนกัน จงเป็นสุขเถิด ฉันจักออกบวช ภายหลังนางอย่าเดือดร้อน"

ครั้นเขียนเสร็จแล้วมอบให้คนใช้นำไปส่งให้ แม้นางภัททกาปิลานีก็มีความประสงค์เช่นเดียวกัน จึงได้เขียนจดหมายมอบให้คนใช้นำมา ฯ คนใช้ทั้ง ๒ มาพบกันในระหว่างทาง ต่างไต่ถามความประสงค์ของกันและกันแล้ว จึงฉีกจดหมายออกอ่านแล้วทิ้งจดหมาย ๒ ฉบับนั้นเสียในป่า เขียนจดหมายมีเนื้อความแสดงความรักใคร่ซึ่งกันและกันใหม่ แล้วนำไปส่งให้แก่คนทั้ง ๒

ครั้นกาลต่อมา การอาวาหมงคลเป็นการสำเร็จเรียบร้อย แต่คนทั้ง ๒ ไม่มีความประสงค์ สักแต่ว่าอยู่ร่วมกันเท่านั้น ไม่ได้ถูกต้องกันเลย แม้เวลาจะขึ้นสู่เตียง คนทั้งสองก็ไม่ได้ขึ้นทางเดียวกัน ปิปผลิมาณพขึ้นข้างขวา และนางภัททกาปิลานีขึ้นข้างซ้าย เมื่อถึงกลางวันก็ไม่ได้มีการหัวเราะยิ้มต่อกันเลย ฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีบุตรหรือธิดา

สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งคั่งมาก มีการงานที่เป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์ก็มาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานก็มาก ครั้นต่อมาบิดามารดาทำกาลกิริยาแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติและดูแลการงานนั้นสืบตระกูล ฯ

สามีภรรยาทั้ง ๒ นี้มีความเห็นร่วมกันว่า ผู้อยู่ครองเรือนต้องคอยนั่งรับบาป เพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดี มีใจเบื่อหน่าย พร้อมใจกันจะออกบวช จึงไปแสวงหาผ้ากาสายะและบาตรดินจากร้านตลาด แล้วปลงผมกันและกัน แล้วนุ่งผ้ากาสายะ ถือเพศบรรพชิต ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก สะพายบาตรเดินลงจากปราสาทหลีกหนีไป

ปิปผลิเดินหน้า นางภัททกาปิลานีเดินตามหลัง พอไปถึงทาง ๒ แพร่งแห่งหนึ่ง จึงแยกออกจากกัน ปิปผลิเดินไปทางขวา นางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้าย บรรลุถึงสำนักนางภิกษุณี ภายหลังได้บวชเป็นภิกษุณีและได้บรรลุพระอรหัตผล ฯ

ส่วนปิปผลิ เมื่อเดินไปได้พบสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร ซึ่งเรียกว่า พหุปุตตนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาลันทาต่อกัน มีความเลื่อมใสเปล่งวาจาประกาศว่า พระศาสดาเป็นศาสดาของตน ตนเป็นสาวก พระศาสดาทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ด้วยการประทานโอวาท ๓ ข้อว่า: -

๑. กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรง ไว้ในภิกษุผู้เป็นเฒ่าและปานกลางเป็นอย่างแรงกล้า ฯ

๒. เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความดังนี้ ฯ

๓. เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือ พิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ ฯ

            
ครั้นประทานโอวาทแก่พระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป ท่านได้ฟังพุทธโอวาทที่ทรงสั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่ ๘ แต่อุปสมบทก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ

ตามปกติธรรมดาท่านพระมหากัสสปะนั้น ถือธุดงค์ ๓ อย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ๑ ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๑ และถืออยู่ป่าเป็นวัตร ๑ ด้วยเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์ ฯ นอกจากนี้ท่านยังมีความดีที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องอีกหลายสถานเช่น: -

๑. ทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไป ทรงประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้มักน้อยสันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่าง


๒. กัสสปะเข้าไปใกล้ตระกูลชักกายและใจห่าง ประพฤติเป็นคนใหม่ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกายวาจาใจในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้น เพิกเฉยแล้วตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญก็จงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีใจฉันใดผู้อื่นก็มีใจฉันนั้น ฯ

๓. กัสสปะมีจิตประกอบไปด้วยเมตตากรุณาแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ฯ

๔. ทรงสั่งสอนภิกษุให้ประพฤติดีประพฤติชอบ
ยกท่านพระมหากัสสปะเป็นตัวอย่าง ฯ


ท่านพระมหากัสสปะนั้นดีแต่ในการปฏิบัติ หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ธรรมเทศนาอันเป็นอนุสาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากธัมมสากัจฉากับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง ท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่พุทธปรินิพพาน ฯ ในเมื่อพระบรมศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ ดูท่านจะไม่ออกหน้านัก เป็นเพียงพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกองค์สำคัญ เมื่อพระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว ฯ คือ


ในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้ ๗ วัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่สุภัททวุฑฒบรรพชิต กล่าวคำมิดีมิชอบต่อพระธรรมวินัย ในคราวเมื่อเดินทางมาจากปาวานคร ปรึกษาหารือในทางที่จะทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้เป็นแบบฉบับ พระสงฆ์ก็ยินยอมเห็นพร้อมด้วย ท่านจึงเลือกภิกษุผู้ทำสังคายนาได้ ๕๐๐ องค์

การทำสังคายนาในครั้งนั้น ทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธาน ได้พระอุบาลีและพระอานนท์เป็นกำลังสำคัญ เป็นผู้วิสัชนาพระวินัยและพระธรรมโดยลำดับกัน ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำอยู่ ๗ เดือน จึงได้สำเร็จเรียกว่า ปฐมสังคีติ ฯ


เมื่อท่านทำสังคายนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้สำเร็จการอยู่ที่พระเวฬุวนารามในกรุงราชคฤห์ ปฏิบัติธรรมเป็นนิตย์ ดำรงชนมายุสังขาร ประมาณได้ ๑๒๐ ปี ท่านก็ได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ระหว่างกลาง กุกกุฏสัมปาตบรรพตทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์มหานคร ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕   

ประวัติพระโมคคัลลานเถระ

3.png



ท่านพระโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นนายบ้านชื่อว่า โกลิตะตามโคตรแห่งบิดา อีกอย่างหนึ่งเขาเรียกตามความที่เป็นบุตรนางโมคคัลลีว่า
โมคคัลลานะ” ท่านเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว พวกสพรหมจารีก็เรียกท่านว่า โมคคัลลานะ ทั้งนั้น ฯ

ท่านเกิดในตำบลไม่ห่างไกลจากกรุงราชคฤห์ และได้เป็นสหายที่รักใคร่กันกับอุปติสสมาณพ มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะตระกูลทั้ง ๒ นั้น เป็นสหายสืบเนื่องกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษและเป็นตระกูลที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์และบริวารเสมอกัน

ครั้นเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ด้วยกัน แม้จะไปไหนหรือทำอะไรก็ไปกระทำด้วยกัน จนกระทั่งเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาก็บวชพร้อมกัน ต่างกันแต่ว่าได้ดวงตาเห็นธรรมครั้งแรกคนละคราว พึงทราบเรื่องราวตามที่กล่าวแล้วในประวัติพระสารีบุตรเถระ ในที่นี้จะกล่าวตั้งแต่อุปสมบทแล้วไป ฯ

จำเดิมแต่ท่านได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แขวงเมืองมคธ อ่อนใจนั่งโงกง่วงอยู่ พระบรมศาสดาเสด็จไปที่นั่น ทรงสั่งสอนแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วง มีประการต่างๆ ดังต่อไปนี้

             ๑. โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก ฯ


             ๒. ท่านควรตริตรองพิจารณาถึงธรรม ที่ตนได้ฟังแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตัวเอง ฯ


             ๓. ท่านควรสาธยายธรรมที่ตัวได้ฟังมาแล้ว และได้เรียนแล้วอย่างไรโดยพิสดาร


             ๔. ท่านควรยอนหูทั้งสองข้าง และลูบด้วยฝ่ามือ ฯ


             ๕. ท่านควรลุกขึ้นยืนแล้ว ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ฯ


             ๖. ท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ ความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิต ให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรห่อหุ้มทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ฯ


             ๗. ท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก ฯ  


             ๘. ท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้น ฯ


ครั้นตรัสสอนอุบายสำหรับระงับความง่วงอย่างนี้แล้ว พระองค์ทรงสั่งสอนให้สำเนียกในใจต่อไปอีกว่า เราจักไม่ชูงวง (คือ การถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล ฯ เราจักไม่พูดคำซึ่งที่เป็นเหตุให้เถียงกัน ถือผิดต่อกัน ฯ และตรัสสอนให้คลุกคลียินดีด้วยที่นอนที่นั่งอันเงียบสงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้นสมณวิสัย ฯ


เมื่อตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหามิความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน มีพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐสุดกว่าเทวดามนุษย์ทั้งหลาย ฯ

พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับแล้วว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรถือมั่น เธอทราบชัดธรรมทั้งปวงเธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสุขก็ดีเป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่ายเป็นเครื่องดับ เป็นเครื่องสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น

เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้จำเพาะตัว และทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี


ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุได้ชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ฯ ท่านพระโมคคัลลานะปฏิบัติตามโอวาทที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอน ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหัตในวันนั้น ฯ

ครั้นพระโมคคัลลานะ ได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว ท่านได้เป็นกำลังใหญ่ของพระบรมศาสดา ในอันยังการพระพุทธดำริให้สำเร็จ เพราะท่านมีฤทธานุภาพมาก จึงได้รับการยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า ท่านเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางเป็นผู้มีฤทธิ์ ฯ และได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่กันกับพระสารีบุตรในอันอุปการะภิกษุเข้ามาบวชในพระธรรมวินัย

ดังกล่าวแล้วในประวัติท่านพระสารีบุตรว่า พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ยังบุตรให้เกิด พระโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว

พระสารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ฯ ด้วยเหตุนี้จึงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้าย ฯ

พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะไม่ค่อยจะมีที่เป็นโอวาทให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ก็มีอนุมานสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำให้คนเป็นผู้ว่ายากหรือง่าย ที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ร้อยกรองไว้ในในมัชฌิมนิกาย ฯ

พระโมคคัลลานะเข้าใจในนวกรรมด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้สร้างบุพพารามที่กรุงสาวัตถี พระบรมศาสดารับสั่งให้ท่านเป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ดูแลนวกรรม ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะ ปรินิพพานก่อนพระบรมศาสดา มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านพำนักอาศัยอยู่ ณ ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า บรรดาลาภสักการะทั้งหลายที่เกิดขึ้นแก่พระบรมศาสดาในครั้งนี้ ด้วยอาศัยพระโมคคัลลานะ เพราะท่านพระโมคคัลลานะสามารถไปนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ ชักนำให้เกิดความเลื่อมใส ถ้าพวกเรากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิฝ่ายของพวกเราก็จักรุ่งเรืองขึ้น ฯ

เมื่อปรึกษากันดังนั้นแล้ว จึงจ้างโจรผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะ ฯ ตามตำนานท่านกล่าวว่า เมื่อโจรจะมาคิดทำร้ายฆ่าท่านพระโมคคัลลานะแจ้งเหตุนั้น จึงหนีไปเสียถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ ท่านพิจารณาเห็นว่ากรรมตามทัน จึงไม่หนี พวกโจรผู้ร้ายทุบตีจนแหลกสำคัญว่าตายแล้ว จึงนำสรีระของท่านไปซ่อนไว้ในพุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วพากันหนีไป ฯ

ท่านพระโมคคัลลานะยังไม่ถึงมรณะ เยียวยาอัตภาพให้หายด้วยกำลังฌานแล้ว เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ทูลลากลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิม ในวันดับแห่งกัตติกมาส ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้วรับสั่งให้เก็บอัฐิธาตุมาก่อพระเจดีย์ที่ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-28 01:29 , Processed in 0.049223 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.