ตอนที่ ๑๑ ประวัติพระอุรุเวลกัสสปเถระ
ท่านพระอุรุเวลกัสสปะ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร มีน้องชาย ๒ คน ชื่อว่า กัสสปะตามโคตรทั้งนั้น แต่ผสมนามตามที่อยู่ของท่านเข้าด้วยว่า นทีกัสสปะ และ คยากัสสปะ ฯ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้เรียนจบไตรเพท ฯ ท่านมีมาณพเป็นบริวาร ๕ ร้อยคน
ครั้นต่อมาพิจารณาเห็นลัทธิที่ตนนับถือ ไม่เป็นแก่นสาร จึงได้พาน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารออกบวชเป็นชฎิลบำเพ็ญพรตบูชาเพลิง คือ นักบวชจำพวกที่เกล้าผมเชิง เรียกตามโวหารสมัยนั้นว่า ฤาษี ตั้งอาศรมอยู่ตามลำดับกัน ท่านตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลอุรุเวลา แคว้นมคธ จึงได้นามตามที่อยู่ของท่านว่า “อุรุเวลกัสสปะ”
ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาในทิศานุทิศนั้นๆ แล้วพระองค์ทรงพิจารณาเห็นความบริบูรณ์แห่งอุปนิสัยของชนชาวมคธเป็นอันมาก มีพุทธประสงค์จะทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้น ณ แคว้นนั้น และทรงพระพุทธดำริจะพาท่านอุรุเวลกัสสปะผู้มีอายุมาก เป็นที่นับถือของมหาชนมานานตามเสด็จไปด้วย
จึงเสด็จพระพุทธดำเนินไปโดยลำพังพระองค์เดียว มุ่งตรงไปยังอุรุเวลานิคม ในระหว่างทางเสด็จ ได้เทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน และประทานอุปสมบทให้ แล้วส่งไปประกาศพระศาสนา พระองค์เสด็จพระพุทธดำเนินต่อไป
เมื่อถึงอุรุเวลานิคมแล้ว ตรัสขอพำนักอาศัยกับท่านอุรุเวลกัสสปะ ท่านอุรุเวลกัสสปะมิได้เต็มใจรับ ผลที่สุดเมื่อขัดไม่ได้ ก็ให้พำนักอาศัย พระองค์ได้ทรงทรมานพระอุรุเวลกัสสปะ ด้วยอภินิหารมีประการต่างๆ จนให้ท่านเห็นว่า ลัทธิของตนที่ถืออยู่นั้น หาแก่นสารมิได้ จึงเกิดความสลดใจ แล้วละลัทธิเดิมเสีย พากันลอยบริขารแห่งชฎิลในแม่น้ำ ทูลขออุปสมบท พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา พร้อมด้วยบริวาร ๕ ร้อย ฯ
ครั้นกาลต่อมาเมื่อน้องชายทั้ง ๒ คน พร้อมด้วยบริวารของตนได้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเหมือนกับท่านแล้ว ฯ สมเด็จพระบรมศาสดาจึงได้พาภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป ออกจากอุรุเวลาเสด็จไปยังตำบลคยาสีสะใกล้แม่น้ำคยา แล้วเสด็จประทับอยู่ ณ ที่นั้น
ครั้นทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นอินทรีย์แก่กล้าแล้ว จึงตรัสเทศนา “อาทิตตปริยายสูตร” โปรด เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเทศนาอยู่ จิตของภิกษุเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน กล่าวคือภิกษุเหล่านั้นได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระขีณาสพ ฯ
พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ พอสมควรแก่พระพุทธอัธยาศัย แล้วพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๑ พัน ๓ รูป เสด็จจาริกไปโดยตามลำดับถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ สวนตาลหนุ่มอันชื่อว่า ลัฏฐิวัน ฯ
พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธทรงทราบข่าว จึงพร้อมด้วยข้าราชบริพารเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า พระบรมศาสดาได้ทอดพระเนตรเห็นข้าราชบริพารของพระเจ้าพิมพิสารมีอาการต่างๆ พระองค์จึงได้ทรงสั่งพระอุรุเวลกัสสปะ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนเหล่านั้น ประกาศให้ทราบว่า ลัทธิเก่านั้นอันหาแก่นสารมิได้ ท่านกระทำตามรับสั่ง ทำให้มหาชนเหล่านั้นสิ้นความเคลือบแคลงสงสัย แล้วตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา
พระองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” ในที่สุดเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๑๑ ส่วน ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วน ๑ ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ครั้งนี้จัดว่าท่านได้ช่วยเป็นกำลังพระศาสดาในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ฯ
นอกจากนี้ ท่านยังได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามสมควรแก่กำลังความสามารถ และรู้จักเอาใจบริษัท ปรากฏว่ามีบริวารถึง ๕ ร้อย ฯ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีบริวารมาก”
(ความเป็นผู้มีบริวารมาก เป็นผลแห่งความรู้จักเอาใจบริษัท รู้จักสงเคราะห์ด้วยอามิสบ้างด้วยธรรมบ้าง ตามต้องการอย่างไร ฯ ภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้อันบริษัทรักใคร่นับถือ สามารถควบคุมบริษัทไว้อยู่เป็นผู้อันจะพึงปรารถนาในสาวกมณฑล) ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่พอสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ
|