ตอนที่ ๑ ประวัติพระอัญญาโกณฑัญญเถระ
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อว่า “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญวัยขึ้นได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทและรู้ลักษณะมนต์ คือตำราทายลักษณะ ฯ
คราวเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประสูติใหม่ได้ประมาณ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะตรัสให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหารในการพิธีทำนายพระลักษณะตามพระราชประเพณี แล้วเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์พวกนั้น ให้เป็นผู้ตรวจและทำนายลักษณะ ฯ
ครั้งนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญในการนี้ด้วย ทั้งนี้ได้รับเลือกเข้าในจำพวกพราหมณ์ ๘ คน แต่เป็นผู้ที่มีอายุกว่าเพื่อน ฯ พราหมณ์ ๗ คน ตรวจลักษณะแล้วทำนายคติแห่งพระมหาบุรุษเป็น ๒ ทางว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ฯ
ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์เห็นแน่แก่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออกผนวช จึงได้ทำนายคติแห่งมหาบุรุษเป็นทางเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกของโลกแน่ ฯ ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้าพระมหาบุรุษออกทรงผนวชเมื่อใด ตนเองยังมีชีวิตอยู่ จักออกบวชตามเมื่อนั้น ฯ
ครั้นมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ได้ทราบข่าว จึงชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ ๑ ภัททิยะ ๑ มหานามะ ๑ อัสสชิ ๑ รวมเป็น ๕ ซึ่งเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ ออกบวชติดตามพระมหาบุรุษ คอยปฏิบัติอยู่ทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใด จักเทศนาสั่งสอนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง ฯ
เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาอย่างเต็ม นับประมาณได้ถึง ๖ ปีแล้ว ทรงสันนิษฐานว่ามิใช่ทางพระโพธิญาณ ทรงใคร่พระทัยจะทำความเพียรในทางจิต จึงทรงเลิกทุกรกิริยานั้นเสีย ฝ่ายปัญจวัคคีย์ซึ่งมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าสำคัญว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละทิ้งพระองค์เสีย ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ฯ
เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ทรงดำริหาคนที่จะรับพระธรรมเทศนา นาทีแรกในชั้นต้นทรงระลึกถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุททกดาบสรามบุตร ซึ่งพระองค์ได้เคยไปพำนักอาศัยศึกษาในลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้ง ๒ ได้สิ้นชีพไปก่อนแล้ว ในลำดับนั้นทรงระลึกถึงพวกปัญจวัคคีย์ภิกษุทั้ง ๕ ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์มา ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ
ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงได้ทำกติกานัดหมายกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายจากความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย ก็แต่ว่าพึงแต่งตั้งอาสนะที่นั่งไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ
ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมกติกาการนัดหมายที่ทำกันไว้เสีย พร้อมกับลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังที่เคยทำมา แต่ยังแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง พูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ พระองค์ตรัสห้ามเสีย และตรัสบอกว่า เราได้ตรัสรู้อมฤตธรรมโดยชอบเองแล้ว ท่านทั้งหลายคอยตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงให้ฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจประพฤติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จักบรรลุอมฤตธรรมนั้น ฯ
เธอเหล่านั้นกล่าวคัดค้านพระองค์ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งว่า พระองค์คลายจากความเพียรเสียแล้ว ไฉนจะบรรลุอมฤตธรรมได้เล่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เธอทั้งหลายระลึกถึงกาลหนหลังว่า ท่านทั้งหลายได้ยินได้ฟังบ้างหรือว่า วาจาเช่นนี้เราได้เคยพูดแล้วในกาลก่อน ฯ ภิกษุปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบต่อไป
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระปฐมเทศนา ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีนามว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ฯ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรมได้บังเกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา”
ธรรมจักษุในที่นี้ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค เรียกท่านผู้ที่ได้บรรลุว่า พระโสดาบัน ฯ (เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว แต่ยังติดขันธ์ ๕ อยู่ ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ มิได้ถามขันธ์ ๕ ต่อพระองค์ เพราะทราบอยู่แล้ว อาทิ ท่านอัญญาโกณฑัญญะ พระองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า ยังติดขันธ์ ๕ อยู่ ก็หลุดพ้นจากขันธ์ ๕ ในเวลาต่อมา
และในหนังสือเล่มนี้ไม่ปรากฏเรื่องขันธ์ ๕ จึงมีความประสงค์จะให้ผู้สนใจอ่านศึกษา จึงเอาเรื่องที่พระองค์ตรัสสอนภิกษุสงฆ์ที่มาห้อมล้อมพระองค์ ในเวลากลางคืนวันเพ็ญ ขณะเมื่อพระองค์ประทับอยู่ที่บุพพารามวิหารในเรื่องขันธ์ ๕ มาให้ทราบโดยย่อว่า
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพราะฉะนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย เธอควรเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณทั้งสิ้น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา
นี่แหละภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับเมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายความยินดี เมื่อคลายความยินดีก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น รู้ว่าสิ้นความเกิดแล้ว สำเร็จพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีสิ่งอื่นที่จะต้องทำอีกแล้ว
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นก็ชื่นชมยินดี ขณะที่ตรัสอยู่นั้นภิกษุ ๖๐ องค์ ก็ได้สำเร็จพระอรหัต) จึงเปล่งอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” แปลว่า “โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยคำว่า “อญฺญาสิ” จึงได้คำนำหน้านามของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” ตั้งแต่กาลนั้นมา ฯ
อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” พระวาจานั้นย่อมสำเร็จเป็นอุปสมบทของท่าน
การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ฯ ผู้ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้เรียกว่า เอหิภิกษุ ฯ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับพระพุทธานุญาตเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ด้วยพระวาจาเช่นนั้นเป็นองค์แรก ฯ จำเดิมแต่นั้นมา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนท่านทั้ง ๔ ที่เหลือจากนั้นด้วยปกิณณกเทศนาให้ได้ดวงตาเห็นธรรม และรับให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาเช่นเดียวกัน ฯ
ในลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสเทศนาเป็นทางอบรมวิปัสสนาเพื่อวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันมีนามว่า “อนัตตลักขณสูตร” ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา จิตของท่านทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปทาน ท่านได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ ฯ
ในคราวที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งสาวกไปประกาศศาสนาคราวแรก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้ช่วยเป็นกำลังประกาศพระศาสนาองค์หนึ่ง แต่มิได้ปรากฏว่าไป ณ แว่นแคว้นแดนตำบลใด สันนิษฐานได้ว่า ท่านไปบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ แขวงกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน เพราะมีหลักฐานที่ท่านพาปุณณมานพผู้เป็นหลาน บุตรนางมันตานีซึ่งเป็นน้องสาวของท่านเข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ ฯ (จะพามาบวชในคราวนี้หรือคราวไหน ขอนักธรรมวินัยใคร่ครวญเถิด) ฯ
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า “ผู้รู้ราตรี” หมายถึง ท่านเป็นผู้เฒ่าอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านไม่มีความสบาย จึงได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดาไปอยู่ที่ป่า พระคันถรจนาจารย์กล่าวว่าฉัททันต์ ประมาณได้ ๑๒ ปี ได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ที่นั่น ก่อนพุทธปรินิพพาน ฯ
|