แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
ดู: 96589|ตอบ: 84
go

อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

IMG_0078.4.JPG


อนุพุทธประวัติ  ๘๐  องค์



ข้าพเจ้าได้คัดลอกเนื้อหาประวัติแห่งอนุพุทธะ ๘๐ องค์ จากหนังสือ “อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์” ซึ่งเป็นหนังสือที่พรรณนาความเป็นไปแห่งพระสาวกผู้ใหญ่ตั้งแต่ต้นจนนิพพาน เนื้อความไม่ย่อนัก ไม่พิสดารนัก


ข้าพเจ้าได้ตรวจพิจารณาเห็นว่าหนังสืออนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์ ได้อำนวยประโยชน์ให้แก่กุลบุตรผู้จะเป็นศาสนทายาทช่วยกันประกาศพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แพร่หลาย ซึ่งเป็นทางบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อสัมมาปฏิบัติของผู้นับถือพระพุทธศาสนา เพราะเมื่อทราบแล้วจะได้พากันประพฤติปฏิบัติแต่ในทางดีงาม อันจะเป็นกุศลผลบุญในปัจจุบันและภายหน้าต่อไป  


L50.png



ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับข้อมูลจาก :

          คณะตรีมิตร. อนุพุทธประวัติ ๘๐ องค์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เลี่ยงเชียงเจริญ.


(แก้ไขข้อมูลล่าสุด : 31 กรกฎาคม 2566)

Rank: 1

สาธุ ครับ

Rank: 1

ขอบคุณครับ.

ขออนุโมทนาในวิริยะของท่านผู้นำบทความมาลง ได้ความรู้ และยังถ่ายทอดไปยังพุทธศาสนิกชนไปอย่างทั่วถึง สาธุ สกฺกาโรติ.

Rank: 8Rank: 8

bgpra.1.1.jpg


[ ขอความสุข สวัสดี และดวงตาเห็นธรรม จงมีแด่ทุกท่าน ]

l25.png


IMG_0086.3.JPG


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๘๐   

ประวัติพระองคุลิมาลเถระ

3.png


ท่านพระองคุลิมาละ* เป็นบุตรพราหมณ์ ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล ในพระนครสาวัตถี มารดาชื่อว่า นางมันตานีพราหมณี


เมื่อท่านคลอดจากครรภ์มารดา ได้บังเกิดเหตุอัศจรรย์ คือ บรรดาเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์อันมีอยู่ในเรือนนั้นก็ดี เครื่องพระแสงศัสตราวุธของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ดี ก็บังเกิดรุ่งเรืองเป็นเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ

ฝ่ายปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดา เมื่อเห็นเหตุนั้น จึงออกจากเรือน เล็งแลดูฤกษ์บน ฤกษ์ปรากฏในอากาศ ประหลาดใจหนักหนา ด้วยว่าบุตรนั้นจะเกิดเป็นโจร ครั้นเพลารุ่งเช้า จึงเข้าไปสู่ที่เฝ้า กราบทูลเนื้อความนั้นให้พระองค์จับกุมารประหารชีวิตเสีย แต่พระองค์หาทรงทำไม่ กลับสั่งให้บำรุงรักษาไว้

ปุโรหิตาจารย์ก็อภิบาลบำรุงรักษากุมารนั้นไว้ และให้นามว่า “อหิงสกกุมาร” แปลว่า กุมารผู้ไม่เบียดเบียน เพราะถือตามนิมิต ครั้นกาลต่อมา เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว มารดาจึงส่งอหิงสกกุมารไปพระนครตักศิลา เพื่อจะให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาและศิลปศาสตร์

เมื่อเจ้าอหิงสกกุมารไปถึงพระนครตักศิลาแล้ว ก็เข้าไปหาอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ขอศึกษาศิลปวิทยา อุตส่าห์กระทำวัตรปรนนิบัติเป็นอันดี และมีปัญญาเล่าเรียนได้ว่องไว แม้จะเล่าเรียนศิลปศาสตร์วิชาการใดๆ ก็รู้จบสิ้นทุกประการ เชี่ยวชาญกว่าสานุศิษย์ทั้งปวง จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ทิศาปาโมกข์

ฝ่ายมาณพทั้งหลายอันเป็นเพื่อนเล่าเรียนด้วยกันนั้น ก็บังเกิดการริษยา จึงประชุมปรึกษากันเพื่อคิดอุบายทำลายเจ้าอหิงสกกุมารเสีย เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้ว ได้ไปยุยงอาจารย์ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง ในที่สุดอาจารย์ก็ปลงใจเชื่อ คิดหาอุบายที่จะกำจัดอหิงสกกุมารเสีย

เมื่อเห็นอุบายเป็นที่แยบคายแล้ว จึงพูดกับอหิงสกกุมารว่า มาณเว ดูก่อนมาณพ เจ้าจงไปฆ่าคนแล้วตัดเอานิ้วมือมาให้ได้พันนิ้ว แล้วจงนำมา เราจะประกอบศิลปศาสตร์อันชื่อว่าวิษณุ
อหิงสกกุมารจึงได้ฝืนใจทำ เริ่มจัดอาวุธ ผูกพันให้มั่นกับตัวแล้วก็ลาอาจารย์เข้าสู่ราวป่า เที่ยวพิฆาตฆ่ามนุษย์ อันเดินไปมาในสถานที่นั้นๆ

ครั้นฆ่าได้แล้ว มิได้กำหนดนับเป็นคะแนนไว้ ประการหนึ่งจิตของอหิงสกกุมารไม่ได้คิดว่าจะทำการบาปหยาบช้า เหตุดังนี้จึงมิได้กำหนดคนที่ตนฆ่าตาย ก็บังเกิดลบเลือนสงสัย ตั้งแต่นั้นมา เมื่อฆ่าคนตายแล้ว ก็ตัดนิ้วร้อยเป็นพวงไว้ ดุจพวงมาลา นับได้ถึง ๙๙๙ นิ้ว เพราะเหตุนั้น เจ้าอหิงสกกุมารจึงมีนามปรากฏว่า องคุลิมาลโจร แปลว่า โจรผู้ฆ่าคนเอานิ้วมือ

ข่าวคราวเรื่องนี้ก็ระบือกระฉ่อนไปตามนิคมชนบทต่างๆ มหาชนมีความสะดุ้งตกใจกลัว ก็พร้อมกันไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อกราบทูลให้พระองค์กำจัดเสีย เมื่อพระองค์ทรงทราบแล้ว จึงสั่งให้เตรียมพล เพื่อจะไปจับองคุลิมาลโจรฆ่าเสีย ปุโรหิตาจารย์ผู้เป็นบิดาทราบว่าอันตรายจะมีแก่บุตร จึงปรึกษากับนาง
มันตานีพราหมณี ให้นางมันตานีพราหมณีรีบออกไปก่อน เพื่อบอกเหตุนั้นให้แก่บุตรทราบ

ในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแลเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตผลขององคุลิมาลโจร ถ้าพระองค์ไม่ทรงเป็นพระภารธุระ ก็จะกระทำมาตุฆาตฆ่ามารดาเสีย จักเป็นเหตุเสื่อมจากมรรคผล จึงรีบเสด็จไปแต่เช้าตรู่

เมื่อพบเข้าแล้ว องคุลิมาลโจรก็ตรงเข้าไล่ทันที หมายจักพิฆาตเอานิ้วพระหัตถ์ แม้ไล่เท่าไรก็ไม่ทัน จนเกิดความเหนื่อยเมื่อยล้า จึงได้ร้องตะโกนให้พระบรมศาสดาหยุด พระองค์จึงตรัสตอบว่า พระองค์ท่านได้หยุดแล้ว แต่เขาก็ยังไล่ตามไม่ทัน
องคุลิมาลโจรจึงหาว่าพระองค์ตรัสมุสาวาท

พระองค์ก็ตรัสบอกว่า เราหยุดจากการทำอกุศลอันให้ผลเป็นทุกข์มานานแล้ว ส่วนท่านนั้นยังไม่หยุด

พระสุรเสียงนั้น ทำให้องคุลิมาลโจรรู้สึกสำนึกโทษของตัว จึงเปลื้องศัสตราวุธและองคุลีออกจากกายทิ้งไว้ในซอกภูเขา แล้วเข้าไปเฝ้าทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระองค์ก็ทรงอนุญาต ให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา แล้วทรงนำพาเข้าไปในพระเชตวันมหาวิหาร

ครั้นเวลารุ่งเช้า ท่านเข้าไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี ชาวพระนครได้เห็นท่านแล้วก็เกิดความตกใจกลัว พากันวิ่งหนีเป็นอลหม่าน พากันวิ่งเข้าไปในกำแพงพระราชวังปิดประตูเสีย และพูดจากันต่างๆ นานา บางคนพูดว่า ท่านพระองคุลิมาละปลอมเป็นสมณะเพื่อหลบหนีราชภัย บางคนพูดว่า เพื่อหวังจะประทุษร้ายคนภายในพระนคร


ท่านเที่ยวบิณฑบาตไปถึงไหนก็มีเสียงโจทก์กันเซ็งแซ่ไปถึงนั่น ไม่มีใครถวายบิณฑบาตเลยแม้แต่ทัพพีเดียว ภิกษุรูปใดไปกับท่าน ภิกษุรูปนั้นก็พลอยอดไปด้วย แต่ก็เป็นโชคดีอย่างหนึ่งของท่าน ท่านได้ทำน้ำมนต์ให้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง หญิงนั้นก็คลอดบุตรง่ายเหมือนเทน้ำออกจากกระออม  

ตั้งแต่นั้นมา ก็มีคนนิยมนับถือท่าน จนกระทั่งว่าแท่นที่ท่านนั่ง คนเอาน้ำไปรดแล้วใช้เป็นน้ำมนต์ ก็ได้ผลสมประสงค์เช่นเดียวกัน คาถาที่ท่านทำน้ำมนต์นั้นนิยมกันว่า ได้แก่


“ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.” ดังนี้

(ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ)

แปลว่า “ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่ฉันเกิดมาแล้วโดยอริยชาติ ยังไม่รู้สึกตัวว่าแกล้งปลงชีวิตมนุษย์สัตว์เลย ด้วยอำนาจสัจวาจานั้น ขอความสวัสดี จงมีแก่หล่อนและครรภ์ของหล่อนเถิด”  

ท่านพระองคุลิมาละนั้น เป็นผู้ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม แต่ว่าจิตฟุ้งซ่านไม่เป็นสมาธิได้ เพราะว่าคนที่ท่านฆ่า ประดุจดังว่ามาปรากฏอยู่เฉพาะหน้า


พระบรมศาสดาทรงทราบ จึงได้เสด็จไปแนะนำสั่งสอน ไม่ให้ระลึกถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วและสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้พิจารณาธรรมที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างเดียว

ท่านประพฤติตาม ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลนับเข้าในจำนวนอสีติมหาสาวกองค์หนึ่ง เมื่อท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

* ท่านพระองคุลิมาละ บางตำนานกล่าวว่า ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้สามีบริโภค แต่ในเอตทัคคบาลีปรากฏว่าท่านได้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้กล่าวไว้ เกรงว่าจะเกิน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๙   

ประวัติพระนาลกเถระ

3.png


ท่านพระนาลกะ เป็นบุตรของน้องสาวอสิตดาบสหรือกาฬเทวิลดาบส ในกรุงกบิลพัสดุ์ เมื่อครั้งพระมหาบุรุษประสูติใหม่ กาฬเทวิลดาบสไปเยี่ยมเยียน ได้เห็นพระลักษณะของพระมหาบุรุษมีลักษณะถูกต้องตามตำราพยากรณ์ศาสตร์ของพราหมณ์ว่า พระองค์ทรงผนวชแล้วจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก จึงแนะนำกะผู้หลานชายให้ออกประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์คอยพระองค์อยู่ นาลกะก็กระทำตามคำแนะนำ


เมื่อพระมหาบุรุษเจ้าเสด็จออกทรงผนวชอยู่ นาลกะได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามปัญหาโมไนยปฏิบัติ พระองค์ทรงพยากรณ์ให้โดยนัยเป็นต้นว่า พึงทำจิตให้เสมอในสัตว์และบุคคลทั้งปวง อย่าโกรธ อย่าโทมนัสขัดเคืองเมื่อถูกบริภาษ ในเวลาจบพยากรณ์ปัญหา นาลกะเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย

ครั้นท่านได้อุปสมบทแล้ว ทูลลาพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า อุตส่าห์พยายามทำความเพียรในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ ไม่ทำความสนิทสนมกับชาวบ้าน ไม่ติดในบุคคลและถิ่น เป็นผู้มักน้อยในที่จะถาม ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล


พระนาลกะป็นผู้ปฏิบัติในโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ และเป็นธรรมเนียมของผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ คงจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือน เป็นอย่างน้อย ๗ ปี เป็นอย่างกลาง ๑๖ ปี เป็นอย่างสูง และในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ จะมีสาวกผู้บำเพ็ญโมไนยปฏิบัติเพียงองค์เดียวเท่านั้น

ในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามโคตมะนี้ ได้จัดว่า พระนาลกะเป็นผู้บำเพ็ญเพียรโมไนยปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ นับแต่วันที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตผลมา ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่ได้เพียง ๗ เดือนเท่านั้น ก็ดับขันธปรินิพพานด้วยอิริยาบถยืน ณ เฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๘   

ประวัติพระมหาปรันตปเถระ

3.png


ท่านพระมหาปรันตปะ มีชาติภูมิเป็นมาอย่างไร เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในสำนักของใคร ณ ที่ไหน เมื่อบวชแล้วได้ทำอะไรบ้าง ยังไม่ได้พบที่มาแห่งประวัติของท่านเลย ข้าพเจ้าอุตส่าห์พยายามค้นคว้าในปกรณ์ต่างๆ ก็ไม่พบเรื่องราวของท่านแม้สักตอนเดียว


แต่มีเรื่องหนึ่งชื่อคล้ายคลึงกับท่าน คือพระเจ้าปรันตปะ ผู้เป็นพระราชบิดาของพระเจ้าอุเทน ในพระนครโกสัมพี ซึ่งมีในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๒ เรื่องพระนางสามาวดี แต่ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์ได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา มีหลักฐานอยู่เมื่อเวลาพระองค์เสด็จทิวงคต จะเข้าใจว่าเป็นท่านพระมหาปรันตปะ ก็ดูกระไรอยู่ คงจะเป็นไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้นในเรื่องราวของท่านพระมหาปรันตปะนี้ ขอให้เข้าใจไว้เพียงว่า ท่านได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคล นับเนื่องเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๗   

ประวัติพระเสลเถระ

3.png



ท่านพระเสละ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใคร ไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นพราหมณ์ชื่อว่า เสลพราหมณ์ ได้ศึกษาเรียนรู้จบไตรเพท มีความชำนิชำนาญ เป็นคณาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์ประมาณ ๓๐๐ คน


ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยภิกษุ ๑๒๕๐ องค์ เป็นบริวาร เสด็จจาริกไปยังอังคุตตราปชนบท บรรลุถึงอาปณนิคม เสด็จประทับอยู่ ณ นิคมนั้น ฯ เกณิยชฎิลได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระสมณโคดมศากยบุตรเสด็จออกทรงผนวชจากศากยตระกูล ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเสด็จมา มีความปรารถนาอยากจะเห็นพระองค์ จึงเข้าไปเฝ้า

ครั้นได้ฟังธรรมีกถาของพระองค์แล้วเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ เพื่อทรงเสวยในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงรับสั่งว่า ดูก่อนเกณิยะ ภิกษุสงฆ์ที่เป็นบริวารถึง ๑๒๕๐ องค์ ทั้งท่านก็เลื่อมใสในลัทธิพราหมณ์ด้วย เกณิยชฎิลทูลอ้อนวอนนิมนต์อย่างนั้นถึง ๓ ครั้ง พระองค์จึงทรงรับนิมนต์ด้วยอาการนิ่งอยู่


เมื่อเกณิยชฎิลทราบว่าพระองค์ทรงรับแล้ว จึงถวายบังคมกลับมาบอกแก่มิตรสหายและญาติสายโลหิตให้ช่วยกันจัดสิ่งของถวายพระในวันรุ่งขึ้น พวกชนเหล่านั้นต่างคนต่างช่วยกันจัดแจงตามสมควร ส่วนเกณิยชฎิลจัดแจงโรงฉันด้วยตนเอง ฯ

สมัยนั้นเสลพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ที่เลื่อมใสของเกณิยชฎิล พร้อมด้วยมาณพผู้เป็นศิษย์ ๒๐๐ คน เที่ยวเดินเล่นผ่านไปทางอาศรมเกณิยชฎิล เห็นเขาจัดโรงฉันอยู่ จึงไต่ถามทราบความว่า นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งภิกษุสงฆ์มาฉัน ครั้นได้ทราบดังนั้นแล้ว มีความประสงค์อยากจะใคร่เห็นพระองค์ด้วย คิดว่าจะสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะจริงหรือไม่ จึงถามเกณิยชฎิลอีกว่า พระสมณโคดมเสด็จประทับอยู่ ณ ที่ไหน


เกณิยชฎิลก็ชี้ทางให้ไป จึงพาศิษย์ไปเฝ้าพระบรมศาสดา สนทนาปราศรัยไปพลางตรวจดูมหาปุริสลักษณะไปพลาง เห็นมีครบบริบูรณ์ทุกอย่าง จึงเปล่งวาจาชมเชยด้วยความเลื่อมใสแล้ว พร้อมด้วยบริษัทพากันทูลขอบรรพชาอุปสมบท เวลารุ่งเช้าพระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปในที่นิมนต์ ทรงเสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา

ส่วนท่านพระเสละพร้อมด้วยบริษัทออกจากหมู่ ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ฯ ท่านพระเสละนั้น นับเข้าในจำนวนพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๖   

ประวัติพระสภิยเถระ

3.png


ท่านพระสภิยะ มีชาติภูมิอยู่ที่ไหน เป็นบุตรของใครไม่ปรากฏในตำนาน ปรากฏแต่ว่าท่านเป็นปริพาชก ชื่อว่า สภิยะ สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร อันเป็นกลันทกนิวาปสถานในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นเทวดาที่เคยเป็นญาติสายโลหิตกันมาแต่ชาติก่อน ได้ผูกปัญหาให้แก่สภิยปริพาชกแล้วสั่งความว่า


ดูก่อนสภิยะ สมณพราหมณ์ผู้ใดแก้ปัญหาที่ท่านถามเหล่านี้ได้ ท่านพึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณพราหมณ์เหล่านั้น สภิยปริพาชกเรียนเอาปัญหาในสำนักของเทวดานั้น จำได้แล้วเที่ยวถามสมณพราหมณ์ที่เป็นคณาจารย์ใหญ่ซึ่งมียศปรากฏชื่อเสียง ครั้งนั้นมีครู ๖ คน คือ ปูรณกัสสปะ ๑ มักขลิโคศาล ๑ อชิตเกสกัมพล ๑ ปกุทธกัจจายนะ ๑ สัญชัยเวฬัฏฐบุตร ๑ นิคันถนาฏบุตร ๑ เป็นต้น

ครูเหล่านั้นก็พากันแก้ไม่ได้แม้แต่สักคนเดียว ยังซ้ำกลับพูดเยาะเย้ยสภิยปริพาชกมีประการต่างๆ เสียอีก ครั้งนั้น สภิยปริพาชกเมื่อถูกครูทั้ง ๖ คนเยาะเย้ยแล้วก็เกิดความท้อใจ คิดจะกลับไปเป็นคนเลวบริโภคกามคุณ ครั้นมาหวนคิดถึงพระสมณโคดมขึ้นมาได้ จึงตกลงใจจะไปเฝ้า แต่ยังมีความสงสัยในใจว่า พวกสมณพราหมณ์มีครูทั้ง ๖ เป็นต้น ก็เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ บวชมาเป็นเวลานาน เป็นคณาจารย์สั่งสอนหมู่ศิษย์ แต่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้


ไฉนพระสมณโคดมซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ ทั้งบวชใหม่ด้วย จะแก้ปัญหานี้ได้เทียวหรือ และได้บรรเทาความสงสัยด้วยตนเอง ถึงแม้พระสมณโคดมจะยังเป็นเด็กเล็กอยู่ก็จริง แต่พระองค์เป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพใหญ่ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์ กราบทูลขอโอกาสถามปัญหาหลายหมวดหลายตอน พระองค์ทรงแก้ได้ทุกหมวดทุกตอน

ได้ที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา สภิยปริพาชกเกิดความเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์รับสั่งให้อยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนเสียก่อน เพราะเป็นคนเดียรถีย์ เมื่อสภิยปริพาชกอยู่ติตถิยปริวาสครบกำหนด ๔ เดือนแล้ว ก็ได้อุปสมบทในพระพุทธศาสนา


ท่านพระสภิยะนั้นหลีกอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล นับเนื่องในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ฯ ท่านพระสภิยะดำรงเบญจขันธ์อยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๗๕   

ประวัติพระยโสชเถระ

3.png


ท่านพระยโสชะ เกิดมาในตระกูลชาวประมง ในนครสาวัตถี บิดาของท่านเป็นหัวหน้าของพวกชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมท่านชื่อว่า “ยโสชะ” เมื่อวันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น บรรดาภรรยาชาวประมง ๕๐๐ คน ก็คลอดบุตรเป็นชายพร้อมกันในวันเดียว ใช่แต่เท่านั้น ท่านกล่าวว่า เมื่อลงสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็พร้อมกันด้วย


เหตุนั้นหัวหน้าชาวประมงผู้เป็นบิดาของยโสชะ เมื่อทราบว่าเด็กในบ้านนั้นเกิดพร้อมในเวลาเดียวกันกับบุตรของตน จึงให้ค่าบำรุงเลี้ยงค่าน้ำนมเป็นต้นแก่เด็กเหล่านั้น ด้วยประสงค์ว่า ต่อไปจะได้เป็นสหายแห่งลูกชายของตน

เด็กเหล่านั้นทั้งหมดได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกัน ค่อยเจริญขึ้นโดยลำดับ ลูกชายของหัวหน้าชาวประมงได้เป็นใหญ่กว่าเด็กเหล่านั้น โดยยศและโดยเดช เมื่อเจริญวัยใหญ่โตขึ้นแล้ว ได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

วันหนึ่งพวกสหายเหล่านั้นพากันถือแหไปเพื่อจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาทองใหญ่ตัวหนึ่ง แต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อพวกชาวประมงทั้งหมดได้เห็นแล้ว พากันส่งเสียงดังขึ้นด้วยความดีใจ ปรึกษากันว่าบุตรของพวกเราจับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินคงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้


สหายเหล่านั้นทั้งหมดจับปลาใส่เรือนำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อให้พระองค์ทอดพระเนตร พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรแล้ว ทรงพระดำริว่า พระบรมศาสดาคงทรงทราบเหตุที่ปลาเงินทองปากเหม็น จึงรับสั่งให้คนหาบปลานั้น แล้วเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พอถึงที่เฝ้าแล้ว ปลานั้นได้อ้าปากขึ้น กลิ่นปากเหม็นกลบทั่วพระนครทั้งหมด

พระองค์ทรงรับสั่งว่า ปลานี้ก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กปิละ เป็นพหูสูต มีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในพุทธศาสนาพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า


ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้ว จึงตรัสกปิลสูตร ในที่สุดเทศนา บุตรชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน มียโสชะเป็นหัวหน้าเกิดความเลื่อมใส ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระบรมศาสดา ครั้นได้อุปสมบทแล้ว หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้านั้น พากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้วได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นเสียงดังสนั่นก้อง จนได้ยินถึงพระกรรณ พระองค์ทรงรับสั่งถามว่า อานนท์ ภิกษุพวกไหนนั่น มาคุยกันเสียงดังลั่น เหมือนพวกชาวประมงแย่งปลากัน พระอานนท์กราบทูลให้ทราบแล้ว รับสั่งให้บอกภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ตรัสถามอีก


ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงประฌามขับไล่ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์ พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เที่ยวจาริกไปโดยลำดับบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎีมุงและบังด้วยใบไม้ เข้าพรรษา ณ ที่นี้

อาศัยความไม่ประมาท อุตส่าห์บำเพ็ญเพียรสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานี้

ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์ใช้ให้ภิกษุไปเรียกพวกเธอมาเฝ้า พระอานนท์ได้ไปเรียกภิกษุเหล่านั้นมาเฝ้าตามรับสั่ง

ครั้นถึงที่เฝ้าแล้ว ได้เห็นพระองค์นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ท่านรู้พากันนั่งเข้าอาเนญชสมาธิตาม ส่วนพระอานนท์เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึง ๓ ครั้งว่า ภิกษุอาคันตุกะมานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอาเนญชสมาธิอยู่ ฯ


ท่านพระยโสชะนั้นนับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ฯ

4.png


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2024-11-27 23:39 , Processed in 0.056198 second(s), 16 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.