ตอนที่ ๑๖ วิธีทำบุญโดยไม่ให้พระได้บาป
(วันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓)
สานุศิษย์ : การถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ควรปฏิบัติอย่างไร
สมเด็จ : พูดถึงในเรื่องการทำบุญ ต้องเข้าใจว่า ฆราวาสก็มีส่วนทำให้พระตกนรก เพราะอะไรเล่า
เพราะว่า พระภิกษุนั้น ลูกตถาคตต้องไม่มีการสะสม ทีนี้เมื่อท่านถวายผ้าเข้าไปมากๆ พระท่านก็รับไว้ แล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ก็เก็บๆ ตั้งๆ ๆ ใส่ตู้ไว้ บางทีก็มีแมลงตัวเล็กๆ หรือแมลงสาบแทะเสียหาย อันนี้ถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจ ทางโลกวิญญาณเขาถือว่า เป็นการทำลายเศรษฐกิจ บาปนั้นก็ตกอยู่กับพระสงฆ์
ท่านควรใช้วิธีการว่า สมมติว่า ท่านจะถวายผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศกุศลให้นาย ก สมมติว่าผ้านั้นราคา ๘๐๐ ท่านก็ถวายเป็นเงินไป โดยเขียนว่า ปัจจัยนี้ถวายเป็นค่าจีวร สบง เพื่ออุทิศให้นาย ก อะไร ก็ว่าไป แล้วเงินนั้น พระท่านก็จะได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกต่อไป
เพราะการเป็นพระนั้น ต้องไม่มีการสะสมใดๆ ทั้งสิ้น ท่านต้องพยายามให้พระสงฆ์มีจีวร สบง ให้น้อยที่สุด อย่าให้มีมาก มากแล้วเท่ากับเราไปสร้างบาปให้กับพระ โดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้น ถ้าท่านจะทำบุญแล้วให้ได้บุญ ไม่ใช่ทำบุญแล้วได้บาป คือทำให้พระต้องตกนรก ก็ขอให้ท่านใช้วิธีเขียนเป็นตัวหนังสือระบุวัตถุประสงค์ที่ท่านจะถวาย แล้วถวายเป็นเงิน เป็นปัจจัยไป วิธีนี้ท่านจะได้กุศลมาก แล้วพระก็จะได้ไม่ตกนรกด้วย
พระยักยอกเงินวัด ตกนรกขุมไหน
สานุศิษย์ : ถ้าพระโกงเงินวัด ยักยอกเงินวัด จะต้องตกนรกขุมไหนครับ
สมเด็จ : ไม่ต้องพูดถึงยักยอกเงิน หรือโกงเงินหรอก เพราะพระนั้น แม้เอาเงินของใครแม้เพียงบาทเดียว ถ้าเจ้าของเขาไม่ได้อนุญาต ก็ขาดจากการเป็นพระแล้ว หรือถ้ามีโยมปวารณา พระจะขออะไรจากโยมปวารณาก็จะต้องรู้ฐานะโยมปวารณาด้วย ไม่ใช่ขอแล้วโยมปวารณาต้องเดือดร้อน
เมื่อครั้งพุทธกาลก็เคยเกิดขึ้นมีเรื่องขึ้นมาว่า มีพระภิกษุองค์หนึ่ง ในขณะนั้นพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ปวารณาไว้ ในขณะที่ไปเยี่ยม บอกว่า ถ้าท่านต้องการอะไรก็มาเอาได้ ยินดีอุปัฏฐาก พระก็รับทราบ พอเข้าพรรษาพระนั้นก็ไปตัดไม้ในป่า ขนไม้ในคลังมาตอกใหญ่ สร้างกุฏิถาวรใหญ่โต โดยถือว่าพระเจ้าแผ่นดินอนุญาตไว้แล้ว
พระพุทธเจ้าก็ต้องบัญญัติวินัยออกมาว่า สิ่งของใครราคาเกินหนึ่งมาสก ถ้าได้มาโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาต ผู้นั้นขาดจากการเป็นพระภิกษุสงฆ์ทันที
เพราะการไปเอาของในคลังโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่าผิด เท่ากับเป็นการขโมย และถึงแม้มีโยมปวารณาไว้ คือยอมให้ด้วยความเต็มใจ ให้ภิกษุเรียกร้องขอเอาได้ก็ตาม เมื่อภิกษุจะขออะไร จะต้องรู้ฐานะของโยมปวารณาด้วย ขอแล้วจะต้องไม่ทำให้โยมปวารณาเดือดร้อน |