ตอนที่ ๑๒ ทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด
(วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒)
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา : ผมอยากจะถามหลวงพ่อว่า การกระทำอะไร จึงจะเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่โลกของเรา
สมเด็จ : จะให้อธิบายในแง่ของวัตถุ หรือในแง่ของจิตใจ ต้องตั้งประเด็นขึ้นมาก่อน
ดร.อาจอง : อะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ในแง่ไหนก็ได้ครับ
สมเด็จ : คือ ถ้าในการแห่งการเป็นอยู่ของการเป็นมนุษย์แล้วไซร้ เขาเรียกว่า ประโยชน์ทั้งหลาย ถ้าท่านยังติดคำว่ามีประโยชน์ ท่านก็ยังไม่เข้าซึ้งถึงคำว่าไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งสมมติแห่งการชิงดีชิงเด่นของเหล่ามนุษย์ทั้งหลายที่ตั้งกันขึ้นมา
แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้ทุกๆ คนรู้จักตัวเอง ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวโลภ ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวโกรธ ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวหลง ทุกๆ คนมีสติสัมปชัญญะพร้อมเสมอในการปฏิบัติตนว่า ตนเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ เพราะว่ามีกรรมในอดีตส่งผล นำตนให้มาเกิดในปัจจุบัน เพื่อในการใช้กรรม
เมื่อทุกคนเข้าซึ้งถึงสัจจะอันนี้แล้ว โลกมนุษย์นี้จะเป็นโลกที่ผ่องใส โลกมนุษย์นี้จะเป็นโลกที่แสนจะให้ประโยชน์แก่คนในดวงดาวอื่น ที่เขาอาจจะมาเยี่ยมเยือนโลกมนุษย์เราด้วย
แต่ทุกวันนี้ ที่โลกมนุษย์ไม่มีความดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าดวงดาวทั้งหลาย เพราะมนุษย์ลืมตน มนุษย์ไม่รู้จักตัวเอง มนุษย์พยายามคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด มนุษย์พยายามสร้างในความเจริญทางวัตถุ เพื่อเอามาเข่นฆ่ากัน ซึ่งอาตมาก็ได้เทศน์ไว้มากแล้ว
การที่โลกวิญญาณสั่งตั้งสำนักปู่สวรรค์นี้ ก็เพื่อจะมาให้มนุษย์ทั้งหลายรู้จักตัวเอง เมื่อมนุษย์รู้จักตัวเอง ก็ย่อมที่จะทิ้งทิฐิมานะแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงลงได้ เมื่อนั้นสันติสุขของโลกมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น วิญญาณก็จะได้ไปสู่สุคติในเทวโลก พรหมโลก บอกตรงๆ เวลานี้ นรกโลกไม่มีที่จะเก็บวิญญาณแล้ว วิญญาณเก่าที่เสวยกรรมยังไม่ทันปล่อยมาเกิด วิญญาณใหม่ก็ไปเป็นฝูงๆ
ดร.อาจอง : ผมอยากจะถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้นครับ ผมเองก็ได้ฝึกสมาธิมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังไม่รู้จักตัวเองดีเลยครับ
สมเด็จ : คือในการที่จะฝึกตนให้รู้จักตัวเองดีขึ้นนี้ ท่านต้องวางจิตให้นิ่ง ให้ว่างจากสรรพสิ่งทั้งหลาย แล้วมาพิจารณาว่า กายนี้ประกอบด้วยอะไร เมื่อท่านรู้ว่ากายนี้ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นการรวมของอสุภะแล้วไซร้ เมื่อนั้นท่านจะเกิดความคิดว่า อ๋อ นี่หรือคือตัวตนแห่งกายเนื้อ กายเนื้อจะต้องมีสิ่งลี้ลับซ่อนเร้นอยู่ นั่นคือ ท่านต้องวางจิตให้เฉย พิจารณาในอารมณ์ เพ่งในกายในกาย
ในการเพ่งเข้าสู่กายในกายนี้ ให้วางจิตไว้ที่นี้ (กึ่งกลางระหว่างหัวคิ้ว) ตั้งให้อยู่ตรงกลาง ตาในอย่าหลับ ตาในต้องลืม ลืม ลืมตาให้คล่อง กายทิพย์ของท่านอยู่ตรงนี้ (บริเวณท้ายทอย) กายทิพย์และจิตวิญญาณจะมารวมตรงนี้ (กึ่งกลางหน้าผาก) แล้วระหว่างนั่งนี่ เคยเกิดแสงวูบๆ ขึ้นมาหรือยัง
ดร.อาจอง : เคยมีครับ แต่เสร็จแล้วพยายามดับไม่ให้มันเกิด
สมเด็จ : สภาพการณ์อันนี้เขาเรียกว่า ยังไม่เข้าซึ้งถึงจุดแห่งความจริงของวิปัสสนา คือในพลังแห่งการรวมแสงนี้ ให้รวมเป็นวงกลมขึ้นมาก่อน โดยไม่ใช่รวมด้วยอุปาทาน การเกิดแสงนี้เพราะจิตนิ่ง ธาตุทั้งสี่เสมอ ภาวะธาตุทั้งสี่เสมอ พลังแห่งกายทิพย์จะรวม เข้าใจหรือยัง
ดร.อาจอง : ถ้าเผื่อเกิดแสง ให้พยายามรวมไว้เป็นวงกลมหรือครับ
สมเด็จ : รวมเป็นวงกลม แต่ไม่ใช่รวมด้วยอุปาทานนะ ขั้นแรก ถ้าจิตเรายังหมอง วงกลมนี้จะไม่ใสเหมือนลูกแก้ว การฝึกฌานญาณมันอยู่ตรงจุดนี้ แต่ทุกวันนี้ เกจิอาจารย์ทั้งหลายที่สอนในหลักวิปัสสนาได้หลงทางไปอย่างใหญ่หลวง ที่เราจะดึงกลับนั้นยาก
สมมติท่านจะปลูกบ้าน ท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางรากฐานให้มันแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับการฝึกวิปัสสนา ถ้าท่านไม่วางจุดแห่งกรรมฐานให้แข็งแกร่ง ให้สู่จุดแห่งเอกัคตาจิตแล้วไซร้ ท่านจะเข้าสู่จุดแห่งญาณ แห่งการรู้ในหลักของ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ได้หรือ
ฉะนั้น ในการฝึกที่จะให้รู้จักตัวเองมากขึ้นนั้น ให้ฝึกใหม่ คือ ให้วางหมดทุกตำรา แล้วทำจิตให้นิ่งๆ วินิจฉัยแห่งการแยกกายเนื้อนี้ก่อน สภาวการณ์แห่งการรู้อสุภะของกายเนื้อแล้วไซร้ ค่อยมาพิจารณาเข้าสู่กายในกาย
ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล : อาจารย์ ดร.อาจอง และสานุศิษย์ในที่ประชุมต่างชื่นชมต่อคำอธิบายของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่งครับ
สมเด็จ : ก็รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนี่สนใจ ไม่งั้นจะมาเทศน์หรือวะ
นั่งสมาธิแล้วเกิดปวดศีรษะ
อาจารย์ลัดดา ประเสริฐกุล : มีเพื่อนของลูกคนหนึ่งเจ้าค่ะ นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย เขาเคยไปนั่งวิปัสสนาในป่าช้าเจ้าค่ะ
อาจารย์ภาวาส บุนนาค : ผมก็ตามๆ เขาไปอย่างนั้นแหละครับ
สมเด็จ : คือในการนั่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปนั่งในป่าช้า คือหาที่สงบฝึกก่อน ในการที่เขาจะไปฝึกในป่าช้าอะไรนั่น เขาเรียกว่า ไปลองว่าจิตของตนนี้นิ่งเพียงพอหรือไม่ต่างหากเล่า แล้วในการออกไปสู่ป่านั้น เขาไปทดสอบในความนิ่งของตนก่อน และถ้าท่านอยากจะเห็นผี ผีลุกขึ้นมา ท่านกลัวหรือไม่ ท่านต้องถามตัวเองก่อน
อาจารย์ภาวาส : ผมอธิษฐานว่า อย่าให้เห็นครับ (หัวเราะ)
อาจารย์ลัดดา : ลูกเป็นห่วงว่าเล่นกับผี เดี๋ยวผีเข้าตัว ต้องมารดน้ำมนต์ไล่กันแย่
อาจารย์ภาวาส : ผมเข้าใจว่า ผีก็พยายามจะเข้าผมเหมือนกัน รู้สึกมึนวิงเวียนศีรษะ จะเป็นไปเอง หรืออย่างไรไม่ทราบครับ
สมเด็จ : ในเรื่องการวิงเวียนศีรษะนี้ อาตมาจะอธิบายให้ มีหลักหลายอย่าง สภาพการณ์ถ้าท่านกำลังฝึกวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย เกิดวิงเวียนศีรษะนั้น เขาเรียกว่า กำลังปรับธาตุ ธาตุทั้งสี่ในกายจะเสมอ ก็อาจจะวิงเวียนศีรษะ
อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่สอง ท่านอาจจะเป็นโรคของศีรษะ โรคประสาท ก็อาจเกิดการวิงเวียนศีรษะระหว่างปรับธาตุ
ข้อที่สาม คือวิญญาณจะเข้าร่าง ถ้าวิญญาณพวกอมรมนุษย์ พวกกายหยาบแล้ว เขาจะบังคับประสาทส่วนบนของท่านก่อน ไม่เหมือนอาตมา อาตมาบังคับจิตก่อนไม่ให้จิตเคลื่อนไหว วิญญาณแทรกเข้ามา ถ้าพวกกายหยาบเขาจะบังคับประสาทก่อน เพราะฉะนั้นต้องดูกาละในระหว่างนั้น ว่าอยู่ในข้อไหน
ทีนี้ ถ้านิ่งแล้ว มีจิตแห่งความกลัว หรือผวาอยู่ เกิดความวิงเวียนศีรษะนี้ เขาเรียกว่า ธาตุมันเต้นผิดปกติ ก็จะวิงเวียนศีรษะ
ข้าหลวงสุทิน : ทีนี้ พวกฝึกใหม่ๆ ไม่สามารถบังคับจิตให้นิ่งได้ดังปรารถนา เพราะจิตนี้แกว่งไปแกว่งมาเหมือนลิง ไม่อยู่สุข ดังนั้นเป็นการยากที่จะทำให้จิตนิ่ง นั่นประการหนึ่ง และประการที่สอง การฝึกจิต มักจะเกิดอาการง่วงงาวหาวนอน สองประการนี้ ขอความกรุณาหลวงพ่อได้โปรดอธิบายด้วยครับ
สมเด็จ : ที่มันเกิดอาการง่วงก็เพราะว่า เวลาหลับตาแล้ว ตาในก็หลับด้วย มันก็เลยหลับไปเลย คือ การนั่งวิปัสสนา ตาข้างในจะต้องไม่หลับ แต่เปลือกตาปิดไว้เท่านั้น นั่นแหละ มันจึงไม่มีความง่วง เพราะว่ามันเป็นการบังคับจิตของมันอยู่ในตัว ที่ทุกวันนี้มันเกิดความง่วง เพราะมันหลับกันทั้งสอง ทั้งตานอกตาใน หลับแล้วก็นึกเอา นั่งนึกกันใหญ่ (ทุกคนหัวเราะ)
ข้าหลวงสุทิน : ลูกเคยถามหลวงพ่อครั้งหนึ่งแล้วว่า เวลานี้อาจารย์บางสำนักก็บอกให้ลืมตา บางสำนักก็บอกให้หลับตา หลวงพ่อก็ให้หลับตา และบัดนี้ก็ได้รับความกระจ่างแจ้งขึ้นว่า ให้หลับตานอก ตาในไม่ให้หลับ คือเพียงแต่หรี่เปลือกตาลงเท่านั้นใช่ไหมครับ
สมเด็จ : อือม์ ใช่
ข้าหลวงสุทิน : ตามความจริง สภาวะมันมักจะง่วง จะมีวิธีแก้อย่างไรครับ
สมเด็จ : ท่านนั่งแล้วเกิดความง่วงแล้วไซร้ ท่านควรจะลุกขึ้นเดินจงกรม ในการนั่งกรรมฐานแล้วเกิดความง่วงนี้ อาจจะเกิดจากการนอนไม่อิ่ม คือในการนั่งปฏิบัตินี้ ท่านจะต้องนั่งเป็นเวลาและนอนเป็นเวลา แบ่งเป็นขั้นๆ
อาตมาก็ได้เคยเทศน์ไว้แล้วว่า สมัยเมื่ออาตมามีสังขาร เช้า ตี ๕ อาตมาจะต้องตื่น ตื่นแล้วก็อาบน้ำ ไม่ว่ามันจะหนาวยังไงก็ต้องอาบ อาบเสร็จก็ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ พอ ๖ โมงเช้า ก็ออกบิณฑบาต กลับมา ๗ โมง ถึง ๘ โมง เราก็ฉัน ฉันเสร็จ เราก็พัก ใครจะมาคุยอะไรก็ว่ากันไป
บ่าย ๓ โมง อาตมาปิดกุฏิ แล้วนอน ๒ ทุ่ม ตื่น ตื่นขึ้นมาทำอะไร ทำราชกิจพระจอมเกล้า ร.๔ เอ็งรู้หรือเปล่าว่า ราชการแผ่นดินของราชวงศ์จักรี อาตมาทำไว้ตั้งแยะ แต่อาตมาไม่ได้ชื่อหรอก เพราะทำอะไรเขาเรียกว่า มนุษย์เราถ้าทำอะไรได้ชื่อ มันไม่ได้บุญ
ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ปิดทองหลังพระ อาตมาว่า ปิดทองหลังพระก็ยังได้บุญ เพราะว่าถ้ามีคนเดินไปข้างหลังมันยังเห็นทอง ถ้าท่านจะได้บุญอย่างจริงจังแล้วไซร้ ท่านต้องปิดทองก้นพระ พระแต่ละองค์หนักๆ นั่งทับเอาไว้ มองไม่เห็น
ทีนี้ ก็ในสภาวการณ์ ๒ ทุ่ม ทำถึง ๔ ทุ่ม บางทีก็ ๕ ทุ่ม แล้วนอนต่อ คือต้องแบ่งเวลา แบ่งจังหวะ ในการติดต่อ ในการรับแขก ในการอะไรก็แล้วแต่ ให้มันมีจังหวะ มีเวลา แล้วมันก็ไม่ง่วง มันก็จะเป็นไปตามรูปการณ์นั้นๆ
ข้อสำคัญเวลาจะนั่งวิปัสสนา อย่ามีการนัดแนะ เช่น หนุ่มสาวจะนัดไปดูหนังดูละคร ๑๐ โมง หรือ ๑๒ โมง ก็ว่ากันไป แล้วเหลือเวลาก่อนนัดสัก ๒-๓ ชั่วโมง มานั่งวิปัสสนา มันจะกลายเป็นวิปัสสนึกไป นึกว่าเดี๋ยวเราจะไปเที่ยวหนา นัดจะไปเที่ยวหนา แล้วมันจะนั่งได้อย่างไร
การนั่งวิปัสสนานั่น มันจะต้องวางหมดทุกๆ จิต จิตจะต้องว่างจากสรรพสิ่งแล้วค่อยนั่ง เมื่อนั้นแหละ ท่านจะรู้จักดวงใน รู้จักฌานญาณ ซึ่งอาตมาบอกแล้วไซร้ ต่อไปท่านย่อมที่จะรู้อะไรๆ
และในการที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษามนุษย์ ในเรื่องของการถึงจุดแห่งความประภัสสรของวิมุตติจิตนั้น ถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ง่ายแล้วไซร้ องค์สมณโคดมคงจะไม่ประกาศธรรมไว้ว่า ผู้ใดถึงธรรม ผู้นั้นถึงตถาคต ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
เพราะว่าจุดแห่งการถึงวิมุตตินี้ มันอธิบายเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้ ถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้แล้วไซร้ องค์สมณโคดมผู้มีพระปรีชาญาณอันเยี่ยมยอดคงไม่ทิ้งท้ายคำว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
เจริญพร
|