แดนนิพพาน "โมทนาทุกดวงจิตถึงซึ่งแดนนิพพาน"

 

   

ค้นหา
เจ้าของ: pimnuttapa
go

ธรรมโอวาทสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี [คัดลอกลิงค์]

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๐

พระสงฆ์ที่บริสุทธิ์ดูยาก


(วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓)



สานุศิษย์ : เราจะมีทางสังเกตได้อย่างไรว่า พระองค์ไหนเป็นสงฆ์ ไม่เป็นสงฆ์ จะเป็นที่พึ่งของเราได้หรือไม่ ในยุคนี้

สมเด็จ : คือในยุคนี้ ถ้าในเมืองบางกอกรู้สึกจะดูยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสังเกตพระที่เป็นพระที่บริสุทธิ์นั้น ถ้าพระที่ปฏิบัติแล้ว จะยิ้มแย้มแจ่มใส แล้วก็จะไม่มีการติดในวัตถุใดๆ ทั้งสิ้น ในการสังเกตพระนั้น ถ้าพระที่ปาราชิก หรือปาจิตตีย์แล้ว ดวงตาจะมีความคล้ำ อันนี้ มันต้องสอนกันหลายด้าน

คือในสภาวะนั้นแหละ ให้สังเกตง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าจะดี จะไม่มีสิ่งเสพติดในยุคนี้ และจุดสำคัญก็คือ จะต้องมีความผ่องใสเป็นสรณะ การผ่องใสนั้น ไม่ใช่ว่าอ้วนพุงพลุ้ยอย่างกับพระสังกัจจายน์ พวกนี้พวกกินมาก

เพราะฉะนั้น อย่าให้อาตมาพูดอะไรมาก ในยุคปัจจุบันนี้ ซึ่งอาตมาก็เทศน์ไว้มากแล้วว่า อาตมาไม่ยอมถอยเข้าอนุสติฌาน มาตรวจเรื่องมนุษย์โลกในยุคนี้ มันเป็นยุคที่แสนจะทุเรศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักปู่สวรรค์ก็ต้องมาเกิดในยุคนี้ด้วย ในโลกมนุษย์
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๑

พระจับเงินได้หรือไม่


(วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๔)



พ.ท.สอน นิยมโชค : หลวงพ่อครับ ลูกมีเรื่องจะกราบเรียนถามหลวงพ่อ คือลูกตั้งใจจะบวช ทีนี้มันมีข้อสงสัยอยู่เรื่องหนึ่งครับ เวลานี้พระสองนิกายกำลังขัดแย้งกันเรื่องเงินครับ คือนิกายหนึ่งจับต้องเงินไม่ได้ อีกนิกายหนึ่งพกเงินได้ ลูกก็เลยไม่ทราบว่า จุดมุ่งหมายในเรื่องนี้เป็นอย่างไรครับ

สมเด็จ : ไอ้เรื่องสองนิกายนี้ เราอย่าไปพูดถึง พูดถึงว่าเราจะบวชแล้ว เราจะปฏิบัติจิตด้วยความบริสุทธิ์ เป็นสาวกของตถาคตหรือไม่

เรื่องนิกายนี้ อาตมาก็ได้บอกแล้วว่า เมื่อสมัยพระจอมเกล้า ร.๔ กำลังครองราชย์ พระเถระทั้งหลายยกยอปอปั้นพระจอมเกล้า ร.๔ จนเลยเถิด เลยตั้งธรรมยุตินิกายขึ้นมา ในเถรสมาคมยุคนั้น อาตมาค้านอยู่คนเดียวสู้ไม่ไหว ก็บอกแล้วว่า แต่ไหนแต่ไรมา สมเด็จโตเป็นคนที่ขวานผ่าซาก ยึดหลักว่า สิ่งจริงต้องว่าจริง

สุดท้ายก็แบ่งแยกสำเร็จ ตามเจตนาของเหล่าสอพลออัปรีย์ ผลสุดท้ายก็สร้างความยุ่งยากให้แก่ศาสนาในสองนิกายในขณะนี้

ทีนี้ ในขณะนี้ท่านจะบวช ท่านก็ต้องทำจริง ก็บอกว่า ฉันเป็นพระสำนักปู่สวรรค์ ไม่มีนิกาย ฉันเป็นลูกศิษย์ตถาคต สำหรับเรื่องปัจจัยนั้น ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นเฉพาะการยังชีพ เมื่อจำเป็นในการยังชีพแล้วไซร้ ก็มีติดตัวได้ไม่เกินอัตราที่จำเป็น ในการจับนั้นมันเป็นสิ่งสมมติ คือเรียกว่า เรายึดเงินหรือไม่

อาตมาไปไหนในสมัยนั้น บางครั้งรวยหน่อยก็มี ๑ บาท ๘๐ สตางค์ บางครั้งจนหน่อยก็มี ๑๘ สตางค์ ถ้าจนมากๆ ก็เหลือ ๘ สตางค์ ไอ้พวกนี้บ้าหวย เดี๋ยวตีเป็นหวยหมด มันก็อยู่ได้ สมเด็จโตอยู่ได้ เพราะว่าเราอย่ายึด เมื่อไม่ยึด ท่านก็จับเงินด้วยความไม่มีอุปาทาน ใช้เท่าที่จำเป็น อาตมาถือว่า ไม่เสียหาย

แต่ไม่ใช่ว่าเป็นพระแล้วพกปัจจัยเป็นถุงๆ เป็นพันๆ แล้วก็คอยจ้องว่าอีหนูคนไหนสวย กูจะได้สึกออกไปแต่งกับมึง ถ้าแบบนี้แล้ว อย่าบวชดีกว่า เสียผ้าเหลืองเขาหมด เสียผ้าเหลืองตถาคตหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าจะบวชก็บวช เราต้องถามตัวเราเองว่า –

หนึ่ง    เราพร้อมแล้วหรือที่จะบวช
สอง    เรามีความห่วงหรือไม่
สาม    เรามีความติดหรือไม่
สี่        เรามีความกลัวหรือไม่


ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่มาก ก็พยายามบวชใจก่อน แต่ทีนี้การให้สัจจะกับวิญญาณนั้น จำเอาไว้ว่า จะต้องทำตาม และต้องปฏิบัติเข้าใจไหม

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๒

ทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด


(วันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒)



ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา : ผมอยากจะถามหลวงพ่อว่า การกระทำอะไร จึงจะเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่โลกของเรา

สมเด็จ : จะให้อธิบายในแง่ของวัตถุ หรือในแง่ของจิตใจ ต้องตั้งประเด็นขึ้นมาก่อน

ดร.อาจอง : อะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ในแง่ไหนก็ได้ครับ

สมเด็จ : คือ ถ้าในการแห่งการเป็นอยู่ของการเป็นมนุษย์แล้วไซร้ เขาเรียกว่า ประโยชน์ทั้งหลาย ถ้าท่านยังติดคำว่ามีประโยชน์ ท่านก็ยังไม่เข้าซึ้งถึงคำว่าไม่มีประโยชน์ เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งสมมติแห่งการชิงดีชิงเด่นของเหล่ามนุษย์ทั้งหลายที่ตั้งกันขึ้นมา

แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้ทุกๆ คนรู้จักตัวเอง ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวโลภ ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวโกรธ ให้ทุกๆ คนไม่มีตัวหลง ทุกๆ คนมีสติสัมปชัญญะพร้อมเสมอในการปฏิบัติตนว่า ตนเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ เพราะว่ามีกรรมในอดีตส่งผล นำตนให้มาเกิดในปัจจุบัน เพื่อในการใช้กรรม

เมื่อทุกคนเข้าซึ้งถึงสัจจะอันนี้แล้ว โลกมนุษย์นี้จะเป็นโลกที่ผ่องใส โลกมนุษย์นี้จะเป็นโลกที่แสนจะให้ประโยชน์แก่คนในดวงดาวอื่น ที่เขาอาจจะมาเยี่ยมเยือนโลกมนุษย์เราด้วย

แต่ทุกวันนี้ ที่โลกมนุษย์ไม่มีความดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าดวงดาวทั้งหลาย เพราะมนุษย์ลืมตน มนุษย์ไม่รู้จักตัวเอง มนุษย์พยายามคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด มนุษย์พยายามสร้างในความเจริญทางวัตถุ เพื่อเอามาเข่นฆ่ากัน ซึ่งอาตมาก็ได้เทศน์ไว้มากแล้ว

การที่โลกวิญญาณสั่งตั้งสำนักปู่สวรรค์นี้ ก็เพื่อจะมาให้มนุษย์ทั้งหลายรู้จักตัวเอง เมื่อมนุษย์รู้จักตัวเอง ก็ย่อมที่จะทิ้งทิฐิมานะแห่งความโลภ ความโกรธ ความหลงลงได้ เมื่อนั้นสันติสุขของโลกมนุษย์ก็จะเกิดขึ้น วิญญาณก็จะได้ไปสู่สุคติในเทวโลก พรหมโลก บอกตรงๆ เวลานี้ นรกโลกไม่มีที่จะเก็บวิญญาณแล้ว วิญญาณเก่าที่เสวยกรรมยังไม่ทันปล่อยมาเกิด วิญญาณใหม่ก็ไปเป็นฝูงๆ

ดร.อาจอง : ผมอยากจะถามว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้นครับ ผมเองก็ได้ฝึกสมาธิมาสิบกว่าปีแล้ว แต่ยังไม่รู้จักตัวเองดีเลยครับ

สมเด็จ : คือในการที่จะฝึกตนให้รู้จักตัวเองดีขึ้นนี้ ท่านต้องวางจิตให้นิ่ง ให้ว่างจากสรรพสิ่งทั้งหลาย แล้วมาพิจารณาว่า กายนี้ประกอบด้วยอะไร เมื่อท่านรู้ว่ากายนี้ประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นการรวมของอสุภะแล้วไซร้ เมื่อนั้นท่านจะเกิดความคิดว่า อ๋อ นี่หรือคือตัวตนแห่งกายเนื้อ กายเนื้อจะต้องมีสิ่งลี้ลับซ่อนเร้นอยู่ นั่นคือ ท่านต้องวางจิตให้เฉย พิจารณาในอารมณ์ เพ่งในกายในกาย

ในการเพ่งเข้าสู่กายในกายนี้ ให้วางจิตไว้ที่นี้ (กึ่งกลางระหว่างหัวคิ้ว) ตั้งให้อยู่ตรงกลาง ตาในอย่าหลับ ตาในต้องลืม ลืม ลืมตาให้คล่อง กายทิพย์ของท่านอยู่ตรงนี้ (บริเวณท้ายทอย) กายทิพย์และจิตวิญญาณจะมารวมตรงนี้ (กึ่งกลางหน้าผาก) แล้วระหว่างนั่งนี่ เคยเกิดแสงวูบๆ ขึ้นมาหรือยัง

ดร.อาจอง : เคยมีครับ แต่เสร็จแล้วพยายามดับไม่ให้มันเกิด

สมเด็จ : สภาพการณ์อันนี้เขาเรียกว่า ยังไม่เข้าซึ้งถึงจุดแห่งความจริงของวิปัสสนา คือในพลังแห่งการรวมแสงนี้ ให้รวมเป็นวงกลมขึ้นมาก่อน โดยไม่ใช่รวมด้วยอุปาทาน การเกิดแสงนี้เพราะจิตนิ่ง ธาตุทั้งสี่เสมอ ภาวะธาตุทั้งสี่เสมอ พลังแห่งกายทิพย์จะรวม เข้าใจหรือยัง

ดร.อาจอง : ถ้าเผื่อเกิดแสง ให้พยายามรวมไว้เป็นวงกลมหรือครับ

สมเด็จ : รวมเป็นวงกลม แต่ไม่ใช่รวมด้วยอุปาทานนะ ขั้นแรก ถ้าจิตเรายังหมอง วงกลมนี้จะไม่ใสเหมือนลูกแก้ว การฝึกฌานญาณมันอยู่ตรงจุดนี้ แต่ทุกวันนี้ เกจิอาจารย์ทั้งหลายที่สอนในหลักวิปัสสนาได้หลงทางไปอย่างใหญ่หลวง ที่เราจะดึงกลับนั้นยาก

สมมติท่านจะปลูกบ้าน ท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางรากฐานให้มันแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับการฝึกวิปัสสนา ถ้าท่านไม่วางจุดแห่งกรรมฐานให้แข็งแกร่ง ให้สู่จุดแห่งเอกัคตาจิตแล้วไซร้ ท่านจะเข้าสู่จุดแห่งญาณ แห่งการรู้ในหลักของ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ได้หรือ

ฉะนั้น ในการฝึกที่จะให้รู้จักตัวเองมากขึ้นนั้น ให้ฝึกใหม่ คือ ให้วางหมดทุกตำรา แล้วทำจิตให้นิ่งๆ วินิจฉัยแห่งการแยกกายเนื้อนี้ก่อน สภาวการณ์แห่งการรู้อสุภะของกายเนื้อแล้วไซร้ ค่อยมาพิจารณาเข้าสู่กายในกาย


ศ.ดร.คลุ้ม วัชโรบล : อาจารย์ ดร.อาจอง และสานุศิษย์ในที่ประชุมต่างชื่นชมต่อคำอธิบายของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่งครับ

สมเด็จ : ก็รู้ว่านักวิทยาศาสตร์ทั้งสองนี่สนใจ ไม่งั้นจะมาเทศน์หรือวะ

pngegg.5.3.1.png




นั่งสมาธิแล้วเกิดปวดศีรษะ


อาจารย์ลัดดา ประเสริฐกุล : มีเพื่อนของลูกคนหนึ่งเจ้าค่ะ นั่งอยู่ในที่นี้ด้วย เขาเคยไปนั่งวิปัสสนาในป่าช้าเจ้าค่ะ

อาจารย์ภาวาส บุนนาค : ผมก็ตามๆ เขาไปอย่างนั้นแหละครับ

สมเด็จ : คือในการนั่งวิปัสสนากรรมฐานนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปนั่งในป่าช้า คือหาที่สงบฝึกก่อน ในการที่เขาจะไปฝึกในป่าช้าอะไรนั่น เขาเรียกว่า ไปลองว่าจิตของตนนี้นิ่งเพียงพอหรือไม่ต่างหากเล่า แล้วในการออกไปสู่ป่านั้น เขาไปทดสอบในความนิ่งของตนก่อน และถ้าท่านอยากจะเห็นผี ผีลุกขึ้นมา ท่านกลัวหรือไม่ ท่านต้องถามตัวเองก่อน

อาจารย์ภาวาส : ผมอธิษฐานว่า อย่าให้เห็นครับ (หัวเราะ)

อาจารย์ลัดดา : ลูกเป็นห่วงว่าเล่นกับผี เดี๋ยวผีเข้าตัว ต้องมารดน้ำมนต์ไล่กันแย่

อาจารย์ภาวาส : ผมเข้าใจว่า ผีก็พยายามจะเข้าผมเหมือนกัน รู้สึกมึนวิงเวียนศีรษะ จะเป็นไปเอง หรืออย่างไรไม่ทราบครับ

สมเด็จ : ในเรื่องการวิงเวียนศีรษะนี้ อาตมาจะอธิบายให้ มีหลักหลายอย่าง สภาพการณ์ถ้าท่านกำลังฝึกวิปัสสนากรรมฐานทั้งหลาย เกิดวิงเวียนศีรษะนั้น เขาเรียกว่า กำลังปรับธาตุ ธาตุทั้งสี่ในกายจะเสมอ ก็อาจจะวิงเวียนศีรษะ

อีกอย่างหนึ่ง ข้อที่สอง ท่านอาจจะเป็นโรคของศีรษะ โรคประสาท ก็อาจเกิดการวิงเวียนศีรษะระหว่างปรับธาตุ

ข้อที่สาม คือวิญญาณจะเข้าร่าง ถ้าวิญญาณพวกอมรมนุษย์ พวกกายหยาบแล้ว เขาจะบังคับประสาทส่วนบนของท่านก่อน ไม่เหมือนอาตมา อาตมาบังคับจิตก่อนไม่ให้จิตเคลื่อนไหว วิญญาณแทรกเข้ามา ถ้าพวกกายหยาบเขาจะบังคับประสาทก่อน เพราะฉะนั้นต้องดูกาละในระหว่างนั้น ว่าอยู่ในข้อไหน

ทีนี้ ถ้านิ่งแล้ว มีจิตแห่งความกลัว หรือผวาอยู่ เกิดความวิงเวียนศีรษะนี้ เขาเรียกว่า ธาตุมันเต้นผิดปกติ ก็จะวิงเวียนศีรษะ

ข้าหลวงสุทิน : ทีนี้ พวกฝึกใหม่ๆ ไม่สามารถบังคับจิตให้นิ่งได้ดังปรารถนา เพราะจิตนี้แกว่งไปแกว่งมาเหมือนลิง ไม่อยู่สุข ดังนั้นเป็นการยากที่จะทำให้จิตนิ่ง นั่นประการหนึ่ง และประการที่สอง การฝึกจิต มักจะเกิดอาการง่วงงาวหาวนอน สองประการนี้ ขอความกรุณาหลวงพ่อได้โปรดอธิบายด้วยครับ

สมเด็จ : ที่มันเกิดอาการง่วงก็เพราะว่า เวลาหลับตาแล้ว ตาในก็หลับด้วย มันก็เลยหลับไปเลย คือ การนั่งวิปัสสนา ตาข้างในจะต้องไม่หลับ แต่เปลือกตาปิดไว้เท่านั้น นั่นแหละ มันจึงไม่มีความง่วง เพราะว่ามันเป็นการบังคับจิตของมันอยู่ในตัว ที่ทุกวันนี้มันเกิดความง่วง เพราะมันหลับกันทั้งสอง ทั้งตานอกตาใน หลับแล้วก็นึกเอา นั่งนึกกันใหญ่ (ทุกคนหัวเราะ)

ข้าหลวงสุทิน :
ลูกเคยถามหลวงพ่อครั้งหนึ่งแล้วว่า เวลานี้อาจารย์บางสำนักก็บอกให้ลืมตา บางสำนักก็บอกให้หลับตา หลวงพ่อก็ให้หลับตา และบัดนี้ก็ได้รับความกระจ่างแจ้งขึ้นว่า ให้หลับตานอก ตาในไม่ให้หลับ คือเพียงแต่หรี่เปลือกตาลงเท่านั้นใช่ไหมครับ

สมเด็จ : อือม์ ใช่

ข้าหลวงสุทิน : ตามความจริง สภาวะมันมักจะง่วง จะมีวิธีแก้อย่างไรครับ

สมเด็จ : ท่านนั่งแล้วเกิดความง่วงแล้วไซร้ ท่านควรจะลุกขึ้นเดินจงกรม ในการนั่งกรรมฐานแล้วเกิดความง่วงนี้ อาจจะเกิดจากการนอนไม่อิ่ม คือในการนั่งปฏิบัตินี้ ท่านจะต้องนั่งเป็นเวลาและนอนเป็นเวลา แบ่งเป็นขั้นๆ

อาตมาก็ได้เคยเทศน์ไว้แล้วว่า สมัยเมื่ออาตมามีสังขาร เช้า ตี ๕ อาตมาจะต้องตื่น ตื่นแล้วก็อาบน้ำ ไม่ว่ามันจะหนาวยังไงก็ต้องอาบ อาบเสร็จก็ไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ พอ ๖ โมงเช้า ก็ออกบิณฑบาต กลับมา ๗ โมง ถึง ๘ โมง เราก็ฉัน ฉันเสร็จ เราก็พัก ใครจะมาคุยอะไรก็ว่ากันไป

บ่าย ๓ โมง อาตมาปิดกุฏิ แล้วนอน ๒ ทุ่ม ตื่น ตื่นขึ้นมาทำอะไร ทำราชกิจพระจอมเกล้า ร.๔ เอ็งรู้หรือเปล่าว่า ราชการแผ่นดินของราชวงศ์จักรี อาตมาทำไว้ตั้งแยะ แต่อาตมาไม่ได้ชื่อหรอก เพราะทำอะไรเขาเรียกว่า มนุษย์เราถ้าทำอะไรได้ชื่อ มันไม่ได้บุญ

ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า ปิดทองหลังพระ อาตมาว่า ปิดทองหลังพระก็ยังได้บุญ เพราะว่าถ้ามีคนเดินไปข้างหลังมันยังเห็นทอง ถ้าท่านจะได้บุญอย่างจริงจังแล้วไซร้ ท่านต้องปิดทองก้นพระ พระแต่ละองค์หนักๆ นั่งทับเอาไว้ มองไม่เห็น

ทีนี้ ก็ในสภาวการณ์ ๒ ทุ่ม ทำถึง ๔ ทุ่ม บางทีก็ ๕ ทุ่ม แล้วนอนต่อ คือต้องแบ่งเวลา แบ่งจังหวะ ในการติดต่อ ในการรับแขก ในการอะไรก็แล้วแต่ ให้มันมีจังหวะ มีเวลา แล้วมันก็ไม่ง่วง มันก็จะเป็นไปตามรูปการณ์นั้นๆ


ข้อสำคัญเวลาจะนั่งวิปัสสนา อย่ามีการนัดแนะ เช่น หนุ่มสาวจะนัดไปดูหนังดูละคร ๑๐ โมง หรือ ๑๒ โมง ก็ว่ากันไป แล้วเหลือเวลาก่อนนัดสัก ๒-๓ ชั่วโมง มานั่งวิปัสสนา มันจะกลายเป็นวิปัสสนึกไป นึกว่าเดี๋ยวเราจะไปเที่ยวหนา นัดจะไปเที่ยวหนา แล้วมันจะนั่งได้อย่างไร

การนั่งวิปัสสนานั่น มันจะต้องวางหมดทุกๆ จิต จิตจะต้องว่างจากสรรพสิ่งแล้วค่อยนั่ง เมื่อนั้นแหละ ท่านจะรู้จักดวงใน รู้จักฌานญาณ ซึ่งอาตมาบอกแล้วไซร้ ต่อไปท่านย่อมที่จะรู้อะไรๆ

และในการที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยภาษามนุษย์ ในเรื่องของการถึงจุดแห่งความประภัสสรของวิมุตติจิตนั้น ถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ง่ายแล้วไซร้ องค์สมณโคดมคงจะไม่ประกาศธรรมไว้ว่า ผู้ใดถึงธรรม ผู้นั้นถึงตถาคต ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

เพราะว่าจุดแห่งการถึงวิมุตตินี้ มันอธิบายเป็นภาษามนุษย์ไม่ได้ ถ้าอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้แล้วไซร้ องค์สมณโคดมผู้มีพระปรีชาญาณอันเยี่ยมยอดคงไม่ทิ้งท้ายคำว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

เจริญพร

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๓

การทำงานร่วมกันกับคนหมู่มาก


(วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๐)



อาจารย์ทัศนีย์ บุรุษพัฒน์ : หลวงพ่อเจ้าคะ ลูกขอกราบเรียนถามหลวงพ่อว่า ในการปฏิบัติงานร่วมกันหลายๆ คนนี่ บางคนก็ยึดตนเป็นใหญ่ เราจะทำอย่างไร ที่จะขจัดความท้อถอย หรือความรู้สึกที่ว่าความตั้งใจมันลดน้อยลงไปได้บ้าง ลูกกราบขอวิธีแก้ไขค่ะ

สมเด็จ : คือในสภาวการณ์ การทำงานใดๆ ก็แล้วแต่ ย่อมมีอุปสรรค ทีนี้ ในการที่มนุษย์บางคนยึดตนเป็นใหญ่นั้น เพราะว่ามนุษย์ผู้นั้น ถูกครอบด้วยกิเลสตัณหาแห่งความลืมตน ถ้าเราทำงานในจุดมุ่งหมายแห่งความสุขของส่วนรวมแล้วไซร้ เราจะต้องทำแบบไม่มีอุปาทานแห่งการยึด คือว่า ใครจะใหญ่ก็ให้เขาใหญ่ไป ข้านี้เล็กเสมอ

โลกทุกวันนี้ยุ่งเหยิง เพราะมนุษย์แต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละเหล่า แต่ละชาติ ไม่พิจารณาในการปลงสังขารของตน ให้ไม่ยึดตน จึงทำให้อลเวงในโลกมนุษย์ ไม่มีวันสิ้นสุด แห่งการแก่งแย่งของลัทธิก็ดี การชิงดีในศาสนาก็ดี การชิงดีในการงานก็ดี

ฉะนั้น ในการทำงานนี้ เราต้องถือว่า เราทำด้วยเจตนาแห่งความแน่วแน่ของอุดมการณ์ ที่เราจะต้องทำ และในหมู่ผู้ร่วมงานนั้น บุคคลที่ยึดตนเป็นใหญ่ เราถือว่าบุคคลนั้นไม่ถึงการเป็นคน และตัวเราเองก็อย่าเป็นบุคคลที่ถูกเขาประณามว่า ไม่ถึงการเป็นคนด้วย คือ วางจิตให้นิ่ง ให้เฉย ให้สงบ แล้วทำอย่างมีสติพร้อม ย่อมไม่มีความท้อถอย

ถ้าเราเกิดความท้อถอย อาตมาก็เคยบอกแล้วว่า ท่านจงตั้งมโนยิทธิแห่งการคิดถึงการทำงานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ดี องค์พระเยซูก็ดี องค์มะหะหมัดก็ดี เขาเหล่านี้ ระหว่างที่ประกาศสัจจะในโลกมนุษย์ เต็มไปด้วยการขัดขวางของเจ้าลัทธิต่างๆ ปัญหาในหมู่คณะ ผู้ร่วมงานที่ชิงดีชิงเด่น


เช่น พระพุทธองค์ถูกการผจญของเทวทัต พระเยซูถูกกษัตริย์แห่งอาหรับตรึงกาเขน พระมะหะหมัดต้องถูกไล่ออกจากซาอุดีอาระเบีย เขาเหล่านี้ล้วนแต่เจอบุคคลที่ร่วมงานยึดตนเป็นใหญ่

ในการทำงานในคนหมู่มาก องค์สมณโคดมก็บอกแล้วว่า “นานาจิตตัง” เมื่อบุคคลที่ร่วมงานทั้งหลายยังไม่สำเร็จอรหันต์ คำว่าขัดแย้งขัดขวาง ย่อมมีในหมู่คณะนั้นๆ เป็นของธรรมดา

ปัญหาอยู่ที่ว่า เราเสนอตนเข้ามารับใช้มนุษย์ด้วยกันแล้วไซร้ เรามีความแน่วแน่แห่งมโนยิทธิของตนว่า ข้านี้ยินดีพลีชีพเพื่อผลสำเร็จของงาน


เมื่อเรามีสัจจะแห่งความแน่วแน่ในสิ่งนี้แล้ว เราต้องไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย ไม่ฟังเสียงนก เสียงกา เสียงครหานินทา หรือสรรเสริญ เมื่อนั้น ผู้นั้นก็จะทำในสิ่งใดๆ สำเร็จลุล่วงตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ในทางปรารถนาในทางที่ดี
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๔

อย่ายึดชีวิตให้จริงจังมากเกินไป


(วันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๔)



สมเด็จ : พระพุทธเจ้าสอนว่า ความสุขอันแท้จริงก็คือ ท่านต้องวางอุปาทานในสรรพสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ทันในอายตนะแห่งความเคลื่อนไหวของธรรมชาติ ให้ตามทัน ยิ้มรับวิบากกรรมที่จะเกิดขึ้น

คือ อย่ายึดชีวิตให้จริงจังนัก ถ้าท่านยึดจริงจังเกินไป ท่านมีความกระวนกระวายมาก จิตท่านไม่สงบ ภาวะแห่งจิตท่านไม่สงบ จะทำให้ท่านเกิดความทุรนทุราย เมื่อท่านเกิดความทุรนทุราย ประสาทท่านตึงเครียด ปัญญาย่อมไม่มีทางเกิด

เพราะฉะนั้น ในการที่จะให้ท่านมีปัญญาเกิดก็คือ ท่านจงรับทราบว่า ท่านเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เพราะท่านมีกรรมของท่านเป็นปัจจัยแห่งสมุฏฐาน ที่ให้ท่านเกิดมาเพื่อใช้กรรมนั้นๆ ตามวิบากของกุศลและอกุศล

ท่านวางจิตให้นิ่งๆ อย่ามีความอุปาทานในความจริงจังกับชีวิตของการเป็นคน ยิ้มต้อนรับทั้งทุกข์และสุข ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่เอาคนอื่นมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบตัวเรา จิตท่านย่อมมีความสงบ ภาวะจิตสงบนี้แหละ จะทำให้ท่านมีสมาธิ ภาวะแห่งสมาธินี้แหล่ จะทำให้ท่านเกิดปัญญาในการพิจารณาว่า

การเป็นคนกอบโกยวัตถุ ตายไปก็เอาไปไม่ได้ เรามีโอกาสที่จะสร้างงานให้กับสังคม เรามีโอกาสที่จะช่วยโปรดสัตวโลกที่ยึดอยู่ในอัตตาทิฐิ ให้ช่วยกันระงับความฟุ้ง เมื่อท่านเข้าถึงภาวะอันนี้ ท่านย่อมเข้าซึ้งคำว่า ศาสนาเป็นอย่างไร
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๕

หลักแห่งการถึงธรรม


(วันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔)



สมเด็จ : ทั้งนี้และทั้งนั้นท่านทั้งหลาย ท่านมาสู่การเป็นสาวกของตถาคต ท่านมาสู่การเป็นพุทธมามกะนั้น ท่านต้องคิดว่า ท่านได้เกิดในที่ประเสริฐแล้ว ที่ได้เห็นแสงสว่างแห่งธรรมะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระโอษฐ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ได้ศึกษาในสิ่งที่เรียกว่า พระธรรมที่องค์สมณโคดมทิ้งให้เราศึกษา

ทีนี้ภาวะทั้งหลาย หลักแห่งการถึงธรรมนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ว่า ท่านอ่านมาก แล้วพูดมาก ท่านจะถึงธรรม

ธรรมะแห่งพุทธะนั้น ท่านจะต้องพยายามปฏิบัติตนให้เข้าสู่การขัดเกลากายในกายของท่านให้สะอาดบริสุทธิ์ รู้ถึงธาตุแท้แห่งการเป็นสาวกตถาคต

ทุกวันนี้ ศาสนาพุทธอยู่ในภาวะที่เรียกว่า ต้องการพุทธมามกะที่แท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่ารับศีลแบบนกแก้วนกขุนทองเท่านั้น จะต้องปฏิบัติศีลให้ถึงในหลักแห่งศีลห้า แค่ศีลห้าก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปพูดถึงศีลแปดหรอก เพราะหากท่านเข้าซึ้งถึงศีลห้าอันนี้ ท่านก็ย่อมที่จะมีความสะอาด สุจริตในอารมณ์จิต


ภาวะนั้นแหล่ ท่านก็ย่อมมีความปลื้มปีติของท่านเอง พลังแห่งความปลื้มปีตินี้แหล่ จะช่วยให้ท่านถึงในการเป็นคนดี ถึงการประพฤติดี ถึงการตายดี

pngegg.5.3.1.png




ศาสนาไม่ทำให้คนขี้เกียจ


สมเด็จ : ทุกวันนี้มนุษย์ยุ่งเหยิง ทุกวันนี้โลกยุ่งเหยิง เพราะมนุษย์ทั้งหลายไม่ยอมหันมาค้นตัวเอง ไม่ยอมหันมาศึกษาตัวเอง ชอบเอาแต่ศึกษาค้นหาความผิดของคนอื่น จึงเกิดความยุ่งเหยิงในโลกมนุษย์

แล้วท่านจะถามว่า ศาสนาพุทธทำให้คนขี้เกียจใช่ไหม ที่ชอบให้นั่งสมาธิ จะทำให้ประเทศเราเป็นประเทศที่เรียกว่า ไม่ทันประเทศอื่น คืออันนี้ เป็นสิ่งไม่จริงหรอก ท่านทำสมาธิได้มาก จิตท่านสงบมาก เมื่อจิตท่านสงบมาก ปัญญาท่านย่อมเกิดมาก


นี่เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติที่จะทำให้ท่านถึงการที่เรียกว่า ช่วยเหลือพัฒนาให้ประเทศชาติของท่านเจริญเทียบเทียมอารยประเทศทั้งหลาย ที่กำลังชิงดีชิงเด่นกันในโลกมนุษย์ขณะนี้ และถ้ามนุษย์ทั่วทั้งโลกรู้จักหยุดการกระทำทั้งหลายแล้ว สันติสุขก็จะเกิดขึ้นในโลกมนุษย์

pngegg.5.3.2.png




แก่นของศาสนา


สมเด็จ : งานของอาตมานี้ อย่าลืมว่า หลวงปู่ก็ดี อาตมาก็ดี ไม่ใช่ว่ามาแค่เทศน์แค่นี้ หรือมาแค่รักษาโรคแค่นั้น การรักษาเหล่านี้ เทพพรหมธรรมดาก็มาทำกันได้ ซึ่งท่านก็รู้อยู่ว่ามีเยอะแยะ แต่การมา คือมีหลักการที่จะทำงานปรับปรุงศาสนา ให้ถึงแก่นของศาสนา ไม่ใช่เป็นกระพี้ของศาสนาอย่างในทุกวันนี้

แล้วจะทำอย่างไรเล่า ให้ถึงแก่นของศาสนา ก็ต้องอาศัยมนุษย์ทั้งหลายที่มีความพัวพัน ที่สนใจมาร่วมประกอบการ เรียกว่า สละความสุขแห่งการเห็นแก่ตัวเองออกไป เผยแผ่ธรรมให้เขาเหล่านั้น ละทิ้งทิฐิมานะแห่งการยึดตน ให้หันมาพิจารณาว่า


ชีวิตเราเกิดมาชาติหนึ่งนั้น เราจะต้องเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ทำความเจริญให้แก่ศาสนา ไม่ใช่เป็นมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว ที่ทำลายความสุขส่วนรวม ทำความฉิบหายให้แก่ศาสนา โดยการเอาศาสนาบังหน้า อย่างมนุษย์ทั้งหลายที่มีอยู่มากในเวลานี้ ะนั้น ศาสนาจะเจริญได้ต้องอาศัยท่านเข้าซึ้งถึงคำว่าศาสนา เมื่อนั้นย่อมเจริญในโลกมนุษย์ได้

ทีนี้ จะทำอย่างไรให้เข้าถึงในหลักศาสนาอันแท้จริงได้ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาแห่งการทำ และพยายามชำระจิต มนุษย์ทั่วโลกทุกคนหยุดความคิด ๕ หรือ ๑๐ นาที ต่อหนึ่งวัน ความร่มเย็นในโลกมนุษย์จะเพิ่มพลังน่าอยู่ขึ้นอีกหนึ่งวัน

เจริญพร

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๖

สมาธิดีผีไม่กล้าเข้า


(วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๓)



พระเชาวน์ ญาณวีโร : ผมสงสัยว่าจะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้ผีเข้า

สมเด็จ : ทำสมาธิให้แข็ง

พระเชาวน์ : ทำสมาธิอย่างเดียวหรือครับ เขาว่าใบหนาดนี่กันไม่ให้ผีมายุ่งกับเราได้ จริงหรือเปล่าครับ

สมเด็จ : ผีมันจะเล่นมึง ต่อให้ใบหนาดอะไรนั่น มันก็เข้าได้ มันอยู่ที่กระแสจิต กระแสจิตแห่งความคิด แห่งความแน่วแน่ในพลังของสมาธิแล้ว ย่อมจะชนะในสิ่งที่เรียกว่า พวกอมรมนุษย์ พวกรุกขเทวดา

พระเชาวน์ :
สมาธินี่ ห้ามผีเข้าได้หรือครับ แล้วอย่างหลวงพ่อสมเด็จ ทำไมต้องบอกให้ร่างทรงนั่งสมาธิ หลวงพ่อถึงจะมา

สมเด็จ : นี่มันกระแสอีกกระแสหนึ่ง กระแสสะอาด น้ำต่อน้ำกลืนกัน คำว่าผีกับผู้สำเร็จนี่มันต่างกัน

ผู้สำเร็จขัดด้วยวิญญาณแห่งความสิ้นของอวกิเลส ก็เสมือนหนึ่งผู้ที่จะรองรับนี้ จะต้องพยายามขัดจิตของตนให้เหมือนน้ำ ลองเอาน้ำกับน้ำมันไปผสมกัน ปนกันได้ไหม ผีนั้นเปรียบเสมือนหนึ่งน้ำมัน มนุษย์ก็อยู่กับพวกน้ำมัน เขาเรียกพวกอมรมนุษย์ พวกรุกขเทวดา พวกปีศาจที่ใกล้มนุษย์ ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า โอปปาติกะชั้นต่ำ พวกนี้ก็มีความอยาก มีความหลงดังเช่นมนุษย์ธรรมดา

พระเชาวน์ : แล้วการนั่งสมาธิ มีอำนาจสมาธิทางจิตของร่างทรง ไม่ขัดกับหลวงพ่อสมเด็จหรือครับ

สมเด็จ : เขาวางกระแสจิตให้นิ่งเฉย ภาวะแห่งกระแสจิตนิ่ง จิตวิญญาณของอาตมาก็เข้าได้

พระเชาวน์ : ถ้าใช้สมาธิต้านเอาไว้ ไม่ให้เข้าได้ไหมครับ

สมเด็จ : ต้องอย่าลืมว่า กระแสฌานที่ต้านวิญญาณชั้นสูงนั้น เสมือนหนึ่งว่า ฝึกสมาธิส่วนมากเป็นดวงไฟแค่ ๑๐ แรงเทียน กระแสจิตของพระโพธิสัตว์ กระแสจิตของพรหมชั้นสูง ๑๐๐ แรงเทียน เพราะฉะนั้น ๑๐ เจอ ๑๐๐ สิบจะอยู่หรือไม่
บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๗

สื่อมวลชนที่ดี


(วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๐)



สมเด็จ : อาตมาจะขอเทศน์ถึงคำว่า “การเป็นนักสื่อมวลชน”

การเป็นนักสื่อมวลชนนั้น เขาเรียกว่า เป็นคนกลาง การเป็นคนกลางนั้น เป็นยากที่สุดในโลกมนุษย์ สภาวะการเป็นคนกลาง จะต้องมีหลักแห่ง

หนึ่ง    เชาวน์
สอง    ปฏิภาณ
สาม    ไหวพริบ


จะต้องรอบรู้สารพัด จึงจะเป็นคนกลางได้ การเป็นคนกลางลำบากอย่างไร เพราะสภาพการณ์คำพูดของคนหนึ่งจะถ่ายทอดให้อีกคนหนึ่ง เราจะต้องรู้อารมณ์ของฝ่ายตรงข้าม ที่เราเข้าไปพูดนั้นเป็นอย่างไร

การเป็นสื่อมวลชนที่ดีนั้น จะต้อง

หนึ่ง ต้องมีอุดมการณ์ ว่าตัวเรานี้สละแล้วซึ่งความสุขส่วนตัวเพื่อปฏิบัติการเพื่อความสุขของส่วนรวม ฉะนั้น การเป็นตุลาการก็ดี การเป็นทนายแผ่นดินก็ดี การเป็นนักการค้าก็ดี การเป็นสื่อมวลชนก็ดี จะต้องมีอุดมการณ์อันนี้ ถึงแม้ท้องเราจะอด เราก็ต้องอยู่ในหลักแห่งสัจธรรมอันเที่ยงแท้

สอง เมื่อมีอุดมการณ์จะโกงไม่เป็น การเป็นคนกลางนั้น ในวิถีการใดก็แล้วแต่ นอกจากค้าขาย ค้าหมู ค้าควาย ค้าที่ นั่นแหละถึงจะมีทางรวย ถ้าเป็นคนกลางแห่งการที่จะดำเนินเพื่อสันติสุขของโลกมนุษย์แล้วไซร้ จะรวยยาก เพราะมนุษย์เรานี้ ถ้ามีอุดมการณ์ก็จะโกงไม่เป็น ถ้าจะโกงก็ย่อมไม่มีอุดมการณ์

ในวิถีการใดก็แล้วแต่ ถ้าเราจะเป็นสื่อมวลชน หรือเป็นคนกลางใดก็แล้วแต่ จะต้องวางหลักแห่ง ๓ ประการ ว่า

หนึ่ง   เรานี้ไม่ใช่มีปากกาแล้ว ก็แล้วแต่เราจะเขียน


สอง   เราจะต้องวินิจฉัยเหตุผลทุกๆ ฝ่าย ทุกๆ ด้าน


สาม   ถ้าคนหนึ่งด่าคนหนึ่ง เราจะทำอย่างไร ให้อีกคนหนึ่งเข้าใจสภาพของอีกคนหนึ่ง


ดังนี้ จึงจะเป็นสื่อมวลชนที่ดี เข้าใจไหม

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

ตอนที่ ๑๘

ความขัดแย้งของผู้นับถือศาสนา


(วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๖)



สมเด็จ : ใครมีปัญหาธรรมะอะไรไหม

คุณพินิจ : ขอประทานกราบเรียน เจ้าประคุณสมเด็จด้วยความเคารพอย่างสูง เกล้ากระผมได้ฟังปัญหาจากพุทธศาสนิกชนหลายคนด้วยกัน ท่านเหล่านี้ก็ไม่มีความคิด ไม่มีปัญญาที่จะแก้ได้ ก็ได้ฝากกราบเรียนถามเจ้าประคุณสมเด็จ คือว่า


เขาเหล่านี้ ต้องทำงานร่วมกับศาสนิกชนหลายศาสนา เช่น มุสลิม คริสต์ ซิกข์ ทำไมมักจะมีสิ่งที่ขัดกัน จึงฝากมาถามท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ว่าจะทำอย่างไรดีครับ ที่จะทำงานของเขาได้ลุล่วงไป โดยไม่มีอะไรขัดกัน

สมเด็จ : เจริญพร ในปัญหาศาสนานั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่มนุษย์ไม่เข้าใจในวิบากในเรื่องกรรม ทุกๆ ศาสนาสอนตนไปสู่ในการที่เรียกว่า ให้มีความสุข ทุกๆ ศาสนาสอนตนเพื่อที่จะหลุดพ้นจากทุกข์

ทีนี้ ในปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่เรียกว่า สาวกรุ่นหลังไม่เข้าใจ ไม่เข้าซึ้งถึงสัจจะแห่งความจริงของศาสนา ก็เลยมาแบ่งแยกศาสนากันเอง แล้วมาถือนั่นถือนี่

ทีนี้ ถ้าพูดในเรื่องศาสนาอันแท้จริงแล้ว ทุกๆ ศาสนาไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางเดียวกัน คือไปสู่โลกวิญญาณเหมือนกัน ไปสู่การที่ว่าให้หลุดพ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ก็ดี ศาสนาโซโลมอนก็ดี ศาสนาอิสลามก็ดี ศาสนาขงจื้อก็ดี เล่าจื้อก็ดี ล้วนแต่สอนในหลักแห่งปรัชญา ให้ทุกคนมุ่งสู่การพ้นทุกข์ มุ่งสู่การหลุดพ้น

การที่มาแบ่งแยกแตกต่างกันในโลกมนุษย์นั้น เพราะสืบเนื่องจากอรรถกถาจารย์ ฎีกาจารย์ในยุคต่อมาที่ไม่เข้าใจถึงศาสนา ไม่เข้าซึ้งถึงคุณธรรม ไม่รู้จริงแห่งธรรมะ จึงมาเขียนฎีกา อรรถกถาขยายให้แตกความกัน

ดังเช่นพุทธศาสนาเรา เมื่อก่อนนั้นพุทธศาสนาไม่มีนิกาย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็มีพวกมหาดเล็กทั้งหลาย ที่เรียกว่าประจบสอพลอ พยายามให้พระจอมเกล้า ร.๔ แยกเป็นนิกายธรรมยุติขึ้น เป็นศตวรรษที่เรียกว่ารวมกันไม่ได้


ในขณะนั้น อาตมาได้ค้านเต็มที่ว่า พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้มีการแตกแยก ทุกคนเป็นพุทธบุตร ทุกคนเป็นพุทธสาวก การที่จะมามีธรรมยุติ มหานิกายนั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่ว่าน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ อาตมาค้านคนเดียวไม่ไหว ก็เลยแตกเป็นนิกายขึ้นมา

ฉะนั้น ในสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งสมมติแห่งมนุษย์ที่เรียกว่า ยุคหลังไม่เข้าใจถึงศาสนา จึงแบ่งแยก ทุกๆ ศาสนา ทุกๆ บรมศาสดาเกิดขึ้นในโลกมนุษย์นั้น เพราะว่าในขณะนั้น ในพื้นภาคนั้นมีกลียุคเกิดขึ้น โลกวิญญาณจึงได้ส่งบรมศาสดาแต่ละองค์ แต่ละรูป ลงมาเพื่อที่จะโปรดมนุษย์ ไม่ใช่ส่งมาเพื่อแบ่งแยก

ในสภาวะที่วิญญาณมาเกิดในโลกมนุษย์นั้น เขาเรียกว่า

จิตวิญญาณ       ของตน        เป็นเอกะ
ประภัสสร         ยิ้มผ่องใส     ให้จิตหนึ่ง
ภาวะกรรม        วิบากขึ้น       นำตนสู่
เทพพรหมลง    มติไซร้         ให้เกิดขึ้น
เพื่อนำธรรม      แสงสว่าง      สู่มนุษย์
วิบากกรรม       พืชพันธุ์        เข้าครอบงำ
ถูกโทสะ          และโมหะ     รวมโลภะ
เข้าแทรกแซง   สู่กายเนื้อ      ปิดจิตเดิม
ความสุกงอม    ความสว่าง     ถูกบดบัง
ด้วยกิเลส        ตัณหา          อุปาทาน
ปัจจุบัน           ครอบงำ        ขัดไม่ออก
จึงวิบาก          ถึงรู้จริง         ถ่องแท้ธรรม ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้น ก็หมายถึงว่า บรมศาสดาแต่ละองค์ลงมานั้น องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ขัดเกลาจิตดั้งเดิมที่จะไปสู่โลกวิญญาณได้สะอาด ละเอียดกว่าองค์อื่นที่ลงมา เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า คนรุ่นหลังที่ไม่เข้าใจศาสนา จึงมาทะเลาะกัน

ถ้าทัศนะอาตมาแล้ว ก็เรียกว่า ทุกๆ ศาสนาควรปรับเข้าหากัน อย่าให้เรื่องศาสนามาเป็นเรื่องแบ่งแยกความเป็นไทยของเรา อย่าให้เรื่องศาสนามาเป็นเครื่องทำลายประเทศของเรา

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้นำของประเทศควรจะพิจารณา ทั้งฝ่ายสังฆจักรและฝ่ายราชจักร


คุณพินิจ : ขอกราบขอบพระคุณที่ได้รับความสว่างจากเจ้าประคุณสมเด็จครับ

บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html

Rank: 8Rank: 8

9.png



มนุษย์นั้น  กระทำสิ่งใดก็แล้วแต่
ถ้าทรยศต่อสัจจะของตัวเองแล้ว
มนุษย์นั้นจะก้าวไปไหน  อยู่ใน
สถานที่แห่งใดก็ไม่มีความเจริญ


png-transparent-gold-colored-border-metal-gold-jewelry-chemical-element-gold-coi.png



ชาติกำเนิดเป็นเพียงสิ่งประกอบ
ผลงานและเกียรติประวัติต่างหากที่ชี้คุณค่า


png2.png



ปฐพีนี้ความชั่วคู่กับความดี
ท่านจะเป็นคนดีหรือคนชั่ว
อยู่ที่ท่านเผลอหรือไม่


บันทึกของมิรา : http://www.dannipparn.com/forum-36-1.html
‹ ก่อนหน้า|ถัดไป

สมาชิกที่เพิ่งอ่านหัวข้อนี้

คุณต้องเข้าสู่ระบบก่อนจึงจะสามารถตอบกลับ เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

แดนนิพพาน ดอท คอม

GMT+7, 2025-1-8 04:12 , Processed in 0.040238 second(s), 15 queries .

Powered by Discuz! X1.5

© 2001-2010 Comsenz Inc. Thai Language by DiscuzThai! Team.